คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ชาวข่า (บรู) เป็นกลุ่มชาติพันธ์หนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ชาวข่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแขวงสุวรณเขต แขวงสาละวัน และแขวงอัตปือของลาว ซึ่งเมื่อร้อยปีก่อน (ก่อน พ.ศ. 2436) ยังเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทย ชาวข่าอพยพมาอยู่ในท้องที่จังหวัดมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นส่วนมาก นักมานุษยวิทยาถือว่าชาวข่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเผ่าหนึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจจะสิบเชื้อสายมาจากขอมโบราณ ซึ่งเคยอยู่ในดินแดนของอาณาจักรเจนละ ซึ่งต่อมาเป็นอาณาจักรขอม และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งขอมเคยมีอิทธิพลครอบคลุมขึ้นมาถึงแล้วเสื่อมอำนาจลง ซึ่งพวกข่าอยู่ในตระกูลเดียวกับขอมและมอญเขมร ภาษาข่า เป็นภาษาในกระกูลเดียวกับขอมและมอญเขมร ภาษาข่าเป็นภาษาในตระกูลออสโตรอาเซียติค สาขามอญ เขมร ชาวข่ายังแบ่งแยกกันอีกเป็นหลายเผ่าพันธ์ เช่น ข่าย่าเหิน ข่าบริเวณ ข่าสุ ข่าตะโอด ข่าสอก ข่าสปวน ฯลฯ เป็นต้น
ชาวข่ามีได้เรียกตัวเองว่า "ข่า" แต่เรียกตัวเองเป็นพวก "บรู" ซึ่งแปลว่า "ภูเขา" คำว่า "ข่า" เป็นชื่อที่ชาวอีสานใช้เรียกขานพวกบรู คำว่า "ข่า" อาจจะมาจากคำว่า ข้าทาส ซึ่งชาวอีสานชอบเรียกพวกข้าทาสว่า ข่า หรือ ข่อย แต่ชอบออกเสียงไม้โทเป็นไม้เอก คือคำว่า ข้าเป็นข่า เพราะว่าในอดีตชายไทยในแถบลุ่มแม่น้ำโขงชอบไปจับเอาพวกข่า (บรู) ตามป่าดงมาเป็นข้าทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงประกาศห้ามมิให้ไปจับพวกข่ามาเป็นข้าทาสอีก ส่วนในประเทศเวียดนามเรียกพวกข่า ว่าพวก มอย (Moi)
ชนเผ่าข่าในอดีต
“…ชาวข่าไม่ได้เรียกตัวเองว่า ‘ข่า’ แต่เรียกตัวเองว่า ‘บรู’ แปลว่า ภูเขา หรือคนที่อยู่ในป่าใกล้เขา ตามลักษณะของชนชาติตนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ คือ รักสงบ มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามป่าเขา ซึ่งคำว่า ข่า ที่คนไทยเรียกนั้น หมายถึง ข้า, ขี้ข้า หรือ ทาส ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ว่า ‘ต้นกำเนิดเดิมของชื่อ ข่า เป็นภาษาลาว ไทยเรายืมชื่อนี้มาจากลาวใต้อีกทอดหนึ่ง มิใช่ชื่อที่ไทยคิดขึ้นเอง เพราะชนชาติข่าเป็นชนชาติของลาว ชื่อที่พวกลาวกลาง ลาวใต้ เรียกว่า ข่า นั้น พวกลาวเหนือ เรียกว่า ค้า ถ้าเทียบตามสำเนียงการเพี้ยนเสียงวรรณยุกต์แล้วก็ตรงกับคำภาษาไทยสำเนียงภาคกลางว่า ข้า แต่เนื่องจากชนเผ่าข่าอยู่ในลาว ไทยรู้จักชนพวกนี้โดยผ่านลาวกลางและลาวใต้ ไทยจึงเรียกเลียนเสียงลาวว่า ข่า เพราะเมื่อรับคำนี้มานั้นมิได้คิดเทียบเสียงกลับ และมิได้ตรวจสอบหาความหมายที่แท้จริงก่อน ดังนั้น คำว่า ข่า ในภาษาไทย ลาวกลาง ลาวใต้ จึงออกเสียงตรงกันหมดว่า ข่า แต่ความหมายและคำที่ถูกคือ ข้า"
ชาวข่าดั่งเดิมมักจะมีผิวดำคล้ำ ผมหยิก ทั้งหญิงและชาย ผู้ชายแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าเตี่ยว มีผมม้า ยาวประบ่า และนิยมใช้ผ้าแดงผูกคล้องคอ หรือ โพกศรีษะเป็นเอกลักษณ์ ตามประวัติเล่าว่า เนื่องจากบรรพบุรุษของชาวข่าได้ใช้ผ้าชุบเลือดสีแดงแนบติดกายไว้ก่อนสิ้นชีวิตในการต่อสู้แย่งชิงถิ่นที่อยู่กับชาวผู้ไทยในอดีต ในดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พวกข่าจึงถือว่าผ้าแดงเป็นเอกลักษณ์ของเขา ส่วนผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าซิ่นยาวถึงข้อเท้า แต่เปลือยอกท่อนบน ผู้ชายข่าเคยมีประวัติว่าเป็นนักรบที่ห้าวหาญ มีหน้าไม้พร้อมลูกดอกอาบยาพิษยางน่อง (ยางไม้ที่มียาพิษ) เป็นอาวุธประจำกายแม้ในสมัยที่ดินแดนลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ ทหารข่าของฝรั่งเศสบางหน่วยยังนิยมใช้หน้าไม้เป็นอาวุธ ปัจจุบันในแขวงอัตปือของลาว ก็ยังมีข้าราชการที่เป็นพวกข่ารับราชการอยู่ในตำแหน่งสูงๆ อยู่ไม่น้อย
ในจังหวัดมุกดาหาร เขตอำเภอเมืองมุกดาหาร ยังมีชาวไทยเชื้อสายข่าอยู่ที่บ้านพังคอง และบ้านนาเสือหลาย ในท้องที่อำเภอดอนตาล มีชาวไทยเชื้อสายข่า อยู่ที่บ้านบาก ในท้องที่อำเภอดงหลวง มีชาวไทยเชื้อสายข่าอยู่ที่ตำบลกกตูม บ้านส่านแว บ้านคำผักกูด บ้านโดกกุง บ้านปากช่อง บ้านหินกอง ซึ่งอยู่ในเขตภูพาน ต่อเขตกับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดสกลนคร จนมีคำกล่าวในอดีตว่า บ้านคำผักแพว แปวป่องฟ้า พาเซโต โซไม้แก่น แท่นหินลับ ซับห้วยแข้ แง้หอยมะบาน ด่านสามหัวขัว น้ำบ่อบุ้น ยางสามต้น อ้นสามขุย
ซึ่งปัจจุบันทางนิคมสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์ ที่อำเภอนิคมนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ได้อพยพพวกไทยข่า (บรู) จากภูพานซึ่งเป็นเขตรอยต่อ 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร จำนวน 171 ครอบครัวไป อยู่ที่หมู่บ้านร่มเกล้า ของนิคมสร้างตนเองคำสร้อย โดยได้จัดสรรที่ดินให้ทำกินและปลูกบ้านเรือนให้เป็นหมู่บ้านชาวไทยข่า ตลอดทั่งได้ช่วยเหลือให้ราษฎรเหล่านี้สามารถเลี่ยงตัวเองได้ และพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านที่เท่าเทียมกับหมู่บ้านอื่นๆ
ชาติพันธ์ไทยบรู ชนเผ่าข่า อัตลักษณ์ภาษา การแต่งกาย การฟ้อนรำ
ในจังหวัดอุบลราชธานี ชาวบรู เป็นชนเผ่าที่อพยพเข้ามาจากประเทศลาว และมีชาวส่วยส่วนน้อยอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้อพยพมาจากบ้านหนองเม็ก (ชาวป่าที่อพยพเร่ร่อน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ตามป่าเขา ที่สูง) บ้านลาดเสือ (ชาวที่ราบอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง) และบ้านเวินขัน (บ้านใหม่ตั้งระหว่างสองหมู่บ้าน) เนื่องจากถูกกดขี่และให้ทำงานหนัก อีกทั้งยังต้องเสียภาษีให้ฝรั่งเศส จึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ทางฝั่งไทยตามริมแม่น้ำโขง เช่น ที่บ้านเวินบึก บ้านท่าล้ง และบ้านหนองครก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ตอนแรกอพยพมาอยู่ที่บ้านท่าล้งที่ขึ้นไปทางเหนือ และบ้านหินครก (บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเวินบึกในปัจจุบัน) แต่เนื่องจากมีกรณีลักขโมยวัวควายของชาวบ้าน ทางราชการจึงให้ราษฎรบริเวณบ้านหินครก มาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านเวินบึก
การสู่ขอเพื่อขอแต่งงานต้องมีล่าม 4 คน (ชาย 2 หญิง 2) เทียน 4 เล่มและเงินหนัก 5 บาทเมื่อแต่งงานต้องมีเหล้าอุ (เหล้าไหแกลบ มีรสหวาน) 2 ไห ไก่ 2 ตัว ไข่ 8 ฟอง เงินหนัก 2 บาท หมู 1 ตัว และกำไลเงิน 1 คู่
การทำผิดประเพณี (ผิดผี) เช่น ห้ามลูกสะไภ้เข้าห้องนอนก่อนผัว ห้ามลูกสะไภ้รับของจากพ่อผัว ห้ามลูกเขยที่เข้าออกในบ้านออกจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ลูกเขยพกมีดหรือสวมหมวกเข้าบ้านพ่อตา หรือกินข้าวร่วมกับแม่ยาย การผิดจารีตประเพณี (ผิดผี) เช่นนี้ ลูกเขยต้องใช้เงิน 5 บาท หมู 1 ตัว ดอกไม้ ธูปเทียน 2 คู่ บุหรี่พื้นบ้านมวนด้วยใบตอง 2 มวน หมากพลู 2 คำ นำไปคาระวะต่อผี (วิญญาน) ของบรรพบุรุษทีมุมบ้านด้านตะวันออก หรือที่เตาไฟ หากเป็นลูกสะไภ้ก็ต้องใช้ผาขาวม้า 1 ผืน ผ้าซิ่น 1 ผืน ดอกไม้ ธูปเทียน 2 คู่หมายพลู 2 คำ บุหรี่ใบตอง 2 มวน ไปคาระวะต่อผีเช่นเดียวกัน
บรู เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย และเป็นชื่อเรียกภาษาอีกด้วย ข่าบรู มิใช่ ข่า แต่เป็นกูยกลุ่มหนึ่ง บรู หรือข่าบรู ถ้าเอาจริงๆ แล้ว เป็นกูยกลุ่มหนึ่ง ชาวบรูจริงๆ ไม่ใช่ข่า ถ้าจะเรียกให้ถูก ควรเรียกว่า "กวยมะไฮ"
คนบรูถือว่า ตัวเองมาสถานะสูงกว่าพวกข่าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นข่าระแงะ ข้ากระเซ็ง บรู อยู่ในคนกูย 5 กลุ่มของไทย ซึ่งมีดังนี้
ภาษาบรู จัดอยู่ในกลุ่มมอญ-เขมรเช่นเดียวกับภาษากูย (หรือส่วย) ดังนั้น ภาษาบรูจึงคล้ายกับส่วยหรือกูยมาก โดยเฉพาะศัพท์ต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้เหมือนกันแต่แตกต่างกันในการผสมคำ (มหาวิทยาลัยมหิดล กับ สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี ได้ศึกษาไว้)
สาวน้อยชาวไทข่า หรือ ชาวบรู
ภาษาบรูมีเฉพาะภาษาพูดเท่านั้น ไม่มีภาษาเขียน การออกเสียงเป็นลักษณะเฉพาะ เช่น “ร” นิยมออกเสียงในระดับต่ำกว่า ร ภาษาไทย ตัวพยัญชนะ “ต” และ “ท” ใช้ร่วมกันเพียงตัวเดียวโดยออกเสียงเป็นเสียงกลางๆ ระหว่างพยัญชนะทั้งสองเช่นเดียวกับ “ก” และ “ค” เป็นต้น เช่น
ศรีษะ (เปรอ) ฟัน (กะแนง) ตา (มั๊ด) เท้า (อาเยิง) มือ (อาเตย) ปาก (แป๊ะ) ควาย (ตะเรี๊ยะ) หมู (อะลี้) คนลาว (เลียว) เกลือ (บอย) น้ำ (เด่อะ) ข้าว (โด็ย) ข้าวเหนียว (โด๊ยดิ๊บ) ข้าวจ้าว (โด๊ยกะซาย) เรือ (ทั๊วะ)
ตอนเช้า (ตะรัม) กลางวัน (สิไงย) กลางคืน (สิเดา) ดื่มน้ำ (งอยเดอะ) กินข้าว (จาอาว๊ะ) สูบบุหรี่ (ยกฮืด) ผู้ชาย (ระกอง) ผู้หญิง (ระปัย) ฯลฯ
ส่วนการนับเลข ไม่มีเลข 0 ในการนับ เช่น
1 (มวย) 2 (บารร) 3 (ไป) 4 (โปน) 5 (เซิง) 6 (ตะปรั๊ด) 7 (ตะปูลล) 8 (ตะกวลล) 9 (ตะเก๊ะ) 10 (มันจิ๊ด) 11 (มันจิ๊ดละมวย) 12 (มันจิ๊ดละบารร) 20 (บารรละจิ๊ด) 21 (บารรจิ๊ดละมวย) 22 (บารรจิ๊ดละบารร) 100 (มวยกะแซ) 1,000 (มันจิ๊ดกะแซ) 10,000 (มันจิ๊ดมันจิ๊ดกะแซ)
ภาษาบรู บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ภาษาบรูนับวันจะสูญสลายไปด้วยเหตุที่เด็กรุ่นใหม่นิยมพูดภาษาไทยอีสาน (สำเนียงลาวอุบลราชธานี) ปัจจุบันเหลือหมู่บ้านที่พูดภาษาบรูมีอยู่ 2 แห่งคือ บ้านท่าล้ง หมู่ 5 ตำบลห้วยไผ่ และบ้านเวินบึก หมู่ที่ 8 ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มชาติพันธุ์บรู
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)