คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ปราสาทหิน เป็นศิลปะของชนชาติขอมหรือเขมร ซึ่งได้แผ่อิทธิพลเข้ามาเหนืออาณาจักรทวารวดีในดินแดนอีสาน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ศิลปะเขมรเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลศิลปะอินเดีย ในภาคอีสานพบศิลปะเขมรหลายแห่งและหลายยุคสมัย คือ กำแพงพระ พระโค บาแค็ง เกาะแกร์ บาปวน นครวัด และบายน จึงอาจกล่าวได้ว่า อารยธรรมเขมรมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต คติความเชื่อ และการสร้างศาสนาคารในอีสานอย่างยิ่ง
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม วัสดุที่ใช้สร้างปราสาท ได้แก่ อิฐ ศิลาแลง หินทราย และไม้ เป็นเทวสถานที่คงทนอยู่ได้นาน ฝีมือการแกะสลักหินเป็นงานชั้นครู
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นสัญลักษณ์ในการปกครองของเทวราชาที่กษัตริย์เป็นสมมติเทพ
ปราสาทเขมร หรือ ปราสาทขอม เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างขึ้นโดยอาณาจักรเขมร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นต้นมา พบมากในประเทศกัมพูชา และในเขตอีสานใต้ของประเทศไทย ปราสาทขอมก่อสร้างด้วยวัสดุอิฐ หินทราย และศิลาแลง ด้วยศิลปะเขมร
จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า ชนชาติเขมรเริ่มรวมตัวเป็นอาณาจักรหรือรัฐ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 โดยพัฒนามาจากเมืองท่าที่ติดต่อค้าขายกับอินเดีย มีความเจริญภายใต้พื้นฐานของอารยธรรมอินเดีย ใช้ชื่อว่า อาณาจักรฟูนัน มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง (เวียดนามตอนใต้) และแม่น้ำโขงตอนใต้ (กัมพูชา) จนถึงบางส่วนในบริเวณของภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย โดยมีเมืองออกแก้ว (ตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม) เป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขาย และมีราชธานีนามว่า “วยาธปุระ” ใกล้เขาบาพนมในประเทศกัมพูชา
ต่อมาในปี พ.ศ. 1350 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ยกทัพขึ้นมาประกาศเอกราชจากอาณาจักรชวา และยังรวมอาณาจักรเจนฬาบกและเจนฬาน้ำที่แตกแยกเข้าด้วยกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรเขมรใหม่ และขนานนามใหม่ว่า เมืองกัมโพชน์ตะวันออก โดยแยกตัวมาจากอาณาจักรลโวทยหรือละโว้ หรือปัจจุบันเรียกว่า ลพบุรี พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงตั้งราชธานีของเมืองกัมโพชน์ในบริเวณทางเหนือของทะเลสาบเขมร พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจเข้าไปถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทยในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ
พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงสถาปนา ลัทธิเทวราชา คือ ยกฐานะกษัตริย์ให้เป็นเทพเจ้า หรือเทวาราชาเป็นกษัตริย์สูงสุด เป็นการปูพื้นฐานระบบเทวราชาให้อาณาจักรอื่นๆ เป็นแบบอย่าง รวมถึงสยามซึ่งรับระบบนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน ระบบเทวราชานี้มีส่วนทำให้พราหมณ์เข้ามามีบทบาทในราชสำนัก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์ต่างๆ และประกอบพิธีราชาภิเษกให้กับกษัตริย์
ลัทธิเทวราชา หรือ ระบบเทวราชา ต่างจากลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย คือ ก่อนหน้านั้นกษัตริย์เป็นเพียงมนุษย์ที่นับถือเทพเจ้า แต่ลัทธิราชานั้นถือว่ากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพเจ้า คือเทพเจ้าแบ่งภาคลงมาจุติเป็นกษัตริย์นั่นเอง เมื่อกษัตริย์เสวยราชย์แล้วต้องกระทำ 3 สิ่ง คือ
จากเหตุผล 2 ข้อหลังนี้เองที่เป็นประเพณีที่กษัตริย์เขมรทุกพระองค์ จะต้องสร้างปราสาทอย่างน้อยที่สุด 2 หลัง ส่วนรูปแบบของปราสาทขอมนั้นก็พัฒนารูปแบบมาจากศาสนสถานในประเทศอินเดีย ที่เรียกกันว่า ศิขร เป็นศาสนสถานของศิลปะอินเดียในภาคเหนือ และ วิมาน เป็นศาสนาสถานของอินเดียภาคใต้ นอกจากนี้ก็ยังได้รับอิทธิพลของ จันฑิ ศาสนาสถานในศิลปะชวาเมื่อครั้งที่อาณาจักรเจนฬาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรชวา
ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดรูปแบบงานศิลปกรรมเขมรที่เรียกกันว่า ปราสาทขอม หรือ ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่มีความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องด้วยปราสาทขอมเหล่านี้สร้างด้วยวัสดุที่เป็นอิฐ ศิลาทราย และศิลาแลง ซึ่งเป็นถาวรวัตถุจึงทำให้มีความคงทนจนถึงในปัจจุบัน
แต่ว่าปราสาทเขมร ก็มิได้มีเพียงในเขตแดนของประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังพบในบริเวณของประเทศลาว และประเทศไทย ซึ่งมีปราสาทเขมรอยู่มากมายเช่นกัน เนื่องจากในบางช่วงที่อาณาจักรเขมรมีความเข้มแข็ง ทำให้สามารถขยายอำนาจและดินแดนได้อย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้จึงมีปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นในดินแดนของประเทศอื่นๆ ด้วย
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 จะพบว่า มีปราสาทหินในประเทศไทยมีรูปแบบคล้ายกับปราสาทในกัมพูชา เป็น ศิลปะขอมแบบคลัง (หรือเกลียง) - บาปวน สมัยเมืองพระนคร (พ.ศ. 1550 - 1630) และเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่จัดเป็นศาสนสถานประจำเมือง มีโครงสร้างที่สำคัญ คือ ปราสาทประธานที่อยู่ตรงกลางอาจมีหลังเดียว เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง หรือเป็นหมู่ 3 หลัง 5 หลัง หรือ 6 หลัง เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทศีขรภูมิ
การกำหนดอายุของปราสาทในช่วงระยะเวลานี้ พิจารณาจากแผนผังของอาคารโดยรวม รวมทั้งรูปแบบของปราสาท เช่น มีการเพิ่มมุม และยอดปราสาทเป็นทรงพุ่ม สิ่งสำคัญที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบ และอายุ ได้แก่ ลวดลายประดับที่ทับหลัง หน้าบัน และเสาประดับกรอบประตู ลักษณะที่จัดเป็นศิลปะแบบคลัง-บาปวน ซึ่งปรากฏอยู่มาก ได้แก่ ทับหลังที่ประกอบด้วยลายหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัยอยู่ตรงกึ่งกลางด้านล่าง หน้ากาลมีลิ้นเป็นสามเหลี่ยม มีมือมายึด ท่อนพวงมาลัย มีภาพเล่าเรื่องเล็กๆ อยู่เหนือหน้ากาล เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้หรือลายกระหนกม้วนออกทั้ง 2 ข้าง ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ม้วนเข้า หากมีลายเฟื่องอุบะมาแบ่งท่อนพวงมาลัยออก เป็น 4 ส่วน จะจัดเป็นแบบคลัง แต่ถ้าไม่มี จะจัดเป็นแบบบาปวน
ส่วนใหญ่ของปราสาทขอมในประเทศไทยในสมัยนี้ จะพบลายดังกล่าวปะปนกันในศาสนสถานแหล่งเดียวกัน หรือในปราสาทหลังเดียวกัน ทำให้อาจกำหนดได้ว่า ศิลปะแบบคลัง-บาปวน ที่พบในประเทศไทยนั้น เป็นศิลปะต่อเนื่องสมัยเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ที่ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ภาพเมื่อคราวเว็บมาดเซ่อนำนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปเยือนปราสาทนครวัด ที่เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
ทับหลังในศิลปะแบบนครวัดส่วนใหญ่ จะนิยมสลักภาพเล่าเรื่อง ประกอบด้วยรูปบุคคลเล็กๆ เต็มพื้นที่ เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทศีขรภูมิ นอกจากนี้ ยังใช้หลักฐานของงานประติมากรรมประดับศาสนสถาน เป็นตัวกำหนดรูปแบบทางศิลปะ เช่น ประติมากรรมรูปบุคคลในศิลปะแบบบาปวน จะสังเกตได้จากทรงผมที่ถัก และเกล้าขึ้นไปเป็นมวยอยู่เหนือศีรษะ คางเป็นร่อง ชายผ้านุ่งด้านหน้าเว้าใต้พระนาภี ด้านหลังสูงขึ้นมาถึงกึ่งกลางหลัง ในขณะที่ศิลปะแบบนครวัดนิยมมงกุฎทรงกรวย มีเทริด (กระบังหน้า) และประดับเครื่องทรง
มีข้อสังเกตที่สำคัญทางด้านรูปแบบของปราสาทขอม ศิลปะแบบนครวัด ที่พบในดินแดนไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ที่มีลักษณะเฉพาะเกิดขึ้น โดยอาจถือเป็นงานที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น ได้แก่ การทำยอดปราสาทที่เป็นทรงพุ่ม เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง โดยเปลี่ยนการประดับชั้นหลังคาจากปราสาทจำลอง เป็นการประดับแผ่นหินที่อยู่ในรูปสามเหลี่ยม ที่เรียกว่า นาคปักแทน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาก่อนแล้ว
หลักฐานที่น่าสนใจในช่วงระยะเวลานี้คือ ได้พบว่า มีการสร้างปราสาทที่มีความสำคัญ และมีขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมทั้งได้พบหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น ศิลาจารึกที่กล่าวถึงพระนามผู้สร้าง ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ในระดับหนึ่งว่า บริเวณภาคอีสานตอนล่างนี้เป็นดินแดนสำคัญของอาณาจักรขอม โดยในบางสมัยอาจมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงที่มีบุคคลสำคัญมาปกครอง หลักฐานจากจารึกได้กล่าวถึง พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ซึ่งทรงสร้างปราสาทในแคว้นรอบนอกเมืองพระนคร หรือ "ดินแดนนอกกัมพุช" เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งทรงสร้างปราสาทหินพิมาย และนเรนทราทิตย์ ซึ่งสร้างปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ที่ควรกล่าวถึง มีดังต่อไปนี้
มีการตามรอยเส้นทางซึ่งปรากฏอยู่ในบทประพันธ์เลื่องชื่อ La Voie royale ของ อ็องเดร มาลโรซ์ (Andre Malraux) นักเขียนหนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งหลงไหลศิลปะในดินแดนแห่งอารยธรรมขอมโบราณแถบนี้ ได้เดินทางเข้ามาสู่เมืองเสียมเรียบ ตามรอยเส้นทางที่แปลเป็นไทยว่า "ราชมรรคา" จากดินแดนปราสาทขอมในเขมรถึงปราสาทหินพิมายในประเทศไทย (จุดประสงค์จริงๆ ของเขานอกจากการเดินทางท่องเที่ยวก็คือ การเสาะหาศิลารูปนางอัปสรเพื่อนำกลับไปขายในยุโรป)
ภาพแสดงเส้นทาง "ราชมรรคา" จากเมืองพระนครในเขมร ถึง เมืองพิมาย ในประเทศไทย
บ้านมีไฟ คือ "ธรรมศาลา" "ราชมรรคา" คือถนน เชื่อมถิ่นฐาน
ชัยวรมัน สร้างไว้ เป็นตำนาน ยุคโบราณ อาณาจักร นครธมจากศูนย์กลาง แยกทาง เป็นห้าสาย มีเสาราย เรียงสลัก งามสวยสม
ถนน สะพาน สเปียนใหญ่ ข้ามสายชล เป็นที่คน ชนสัญจร รอนเดินทางราชมรรคา เชื่อมโยง สองแผ่นดิน จากพื้นถิ่น โตนเลสาบ เมืองศูนย์กลาง
ผ่านช่องจอม มีตาเมือน เรือนพักทาง พอรุ่งสาง ผ่านบ้านบุ ลุพิมายธรรมศาลา มีไว้ ให้คนพัก เป็นบ้านหลัก มีไฟ ไล่อันตราย
เป็นจุดตรวจ ป้องกันภัย มิกล่ำกลาย ตั้งเรียงราย ตามถนน "ราชมรรคา"
คัดลอกและสำเนาจาก : คุณวรนัย, http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai
"เส้นทางสายราชมรรคา" ทั้ง 5 สายที่สร้างขึ้นในรัชสมัย พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 แผ่ขยายออกไปทุกทิศทางจาก "นครธม" หรือ "เมืองพระนคร" เป็นเส้นทางสายสำคัญดังนี้
เส้นทางจาก เมืองพระนคร หรือ นครธม มายัง เมืองพิมาย หรือ วิมายะปุระ ประเทศไทย ถือเป็นเส้นทางที่ยาวและไกลที่สุด สาเหตุที่ต้องมีการเดินทางไกลขนาดนั้น ข้อมูลส่วนหนึ่งระบุชัดเจนว่า "ไม่ใช่การขยายหรือเผยแพร่อาณาจักร แต่เป็นไปเพื่อเสาะแสดวงหาและแลกเปลี่ยนทรัพยากรเหล็กและเกลือ" ซึ่งมีมากในแถบอีสานบ้านเราในปัจจุบัน นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเชื่อที่สำคัญคือ การสร้างบารมีและความยิ่งใหญ่ด้วยการทำนุบำรุงพระศาสนา ก็เป้นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราพบ ความเชื่อมโยง พุทธ และ ฮินดู บนเส้นทางสายปราสาทนี้เสมอแบบแยกกันไม่ขาด
การเดินทางที่ไกลนี้เอง กษัตริย์ขอมในสมัยนั้น จึงให้ปลูกสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดรายทาง สำหรับผู้ที่ต้องสัญจรบนถนนทั้ง 5 สาย สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นมีทั้งศาสนสถาน โรงพยาบาลหรือเรียกว่า "อโรคยาศาลา" และบ้านพักคนเดินทาง เรียกว่า "ธรรมศาลา"
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : จากพิมายถึงชายแดนเขมร ตามรอยเส้นทางราชมรรคา (The Royal Route)
ถนนโบราณ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากเมืองพระนคร สู่พิมาย I ประวัติศาสตร์นอกตำรา
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)