คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นางคำกลอง ผู้ประพันธ์คือ นันทวงศาจารย์ นักปราชญ์คนสำคัญในช่วง จ.ศ. 897 (พ.ศ. 2078) ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าโพธิสารราช ถึงช่วง จ.ศ. 933 (พ.ศ. 2114) สมัยพระไชยเชษฐาธิราช หนังสือเรื่อง นางคำกลอง จึงคาดว่าประพันธ์ในช่วง พ.ศ. 2078 - 2114 เรื่องเล่าว่า พระยารุ้ง (นกยักษ์) ลงมากินชาวเมืองเขนธานี เจ้าเมืองจึงนำพระธิดาไปซ่อนไว้ในกลองใหญ่ ต่อมาเจ้าชายจุลนีแห่งเมืองเป็งจาลไปพบ จึงนำพระธิดาออกมาจากกลอง แล้วยกนางเป็นมเหสี
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลักษณะคำประพันธ์ คือ กลอนเทพาวะ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติเรื่องความอดทนและความกล้าหาญ สะท้อนขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมอีสาน
ผู้เขียนพยายามสืบค้นหาเรื่อง "นางคำกลอง" แล้วไม่พบ แต่เจอตัวละครที่มีชื่อเหมือนกัน (คล้ายกัน) ในนิทานเรื่อง "จำปา 4 ต้น" ซึ่งมีการผูกเรื่องราวไว้เหมือนกันทุกประการ (ผิดพลาดประการใด ท่านที่มีข้อมูลโปรดแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วย เพื่อปรับปรุงข้อมูลต่อไป) นิทานเรื่องนี้นำมาจาก หนังสือลำ เรื่อง “จำปาสี่ต้น” ของ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์สังคม สถาบันค้นคว้าศิลปวัฒนธรรมและภาษาศาสตร์ ของ สปป.ลาว เรื่องราวมีอยู่ว่า...
เมืองจักขิน มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีพ่อค้าวาณิชไปมาค้าขายอย่างเนืองแน่น อยู่ต่อมามีพญาฮุ้ง (เหยี่ยวรุ้ง) มาจับคนในเมืองกินทุกวัน เจ้าเมืองไม่อาจจะต่อกรกับพญาฮุ้งได้ มีผู้วิเศษที่เก่งกล้าสามารถหลายคนมาอาสาต่อสู้กับพญาฮุ้ง ก็ถูกจับกินจนหมดสิ้น เจ้าเมืองจึงนำพระธิดาชื่อ นางปทุมา ซ่อนไว้ในกลองยักษ์กลางเมือง พญาฮุ้งได้มาจับผู้คนกินจนกลายเป็นเมืองร้าง ประชาชนที่เหลืออยู่ต่างก็หนีไปอยู่เมืองอื่น
ท้าวจุลละนี ผู้ครองเมืองปัญจานคร ออกประพาสป่าล่าสัตว์ ได้หลงเข้ามายังเมืองร้าง จึงพาเสนาอำมาตย์สำรวจบ้านเมือง ได้พบกลองใบใหญ่อยู่กลางเมือง จึงได้ตีกลองเพื่อจะเป็นสัญญาณให้รู้ว่ามีคนมา ครั้นตีกลองก็ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องอยู่ในกลองนั้น จึงใช้พระขรรค์ผ่าหนังหน้ากลองพบ นางปทุมา เมื่อนำออกมาถามไถ่ได้ความว่า พญาฮุ้งจะมากินคนเมื่อได้ยินเสียงกลอง พระบิดาจึงนำนางมาไว้ในกลองเพราะโหรได้ทำนายว่า "จะมีผู้วิเศษมาปราบพญาฮุ้งได้" เมื่อพญาฮุ้งบินมาจากการได้ยินเสียงกลอง ท้าวจุลละนีก็ฆ่าพญาฮุ้งตายต่อหน้านางปทุมา
ท้าวจุลละนีจึงรับนางปทุมาเป็นชายาพากลับเมืองปัญจานคร ท้าวจุลละนีมีมเหสีฝ่ายขวาก่อนแล้วชื่อว่า นางอัคคี ทั้งสองก็รักใคร่ปรองดองกันดี ครั้งเมื่อนางปทุมาตั้งครรภ์ ฝันว่า "พระอินทร์เอาแก้วมาให้ 4 ดวง" โหรทำนายว่าจะได้โอรสมีบุญบารมีมาก นางอัคคีอิจฉาเพราะนางไม่มีโอรส แต่กระนั้นก็ตามนางก็ยังทำดีต่อนางปทุมาเสมอต้นเสมอปลาย
ครั้งเมื่อนางปทุมาจะประสูติโอรส นางอัคคีก็ออกอุบายเอาผ้าปิดตาปิดหูนางปทุมา โดยอ้างว่า "เป็นพระราชประเพณีของเมืองปัญจานคร" นางก็เอาลูกสุนัขมาเปลี่ยนลูกนางปทุมา แล้วให้นางทาสีนำกุมารทั้งสี่ไปลอยแพทิ้งน้ำไป เมื่อท้าวจุลละนีทราบว่า นางปทุมาคลอดบุตรเป็นสุนัขก็กริ้ว กล่าวหาว่านางสมสู่กับสุนัขจึงขับไล่ไปจากเมือง นางปทุมาอุ้มลูกสุนัขโดยเข้าใจว่าเป็นลูกของตน ไปอาศัยอยู่กับหญิงม่ายซึ่งเป็นคนใจร้าย ใช้นางทำงานหนักจนซูบผอม
กล่าวถึงกุมารทั้งสี่ที่ถูกลอยแพ แพได้ลอยไปติดอยู่ที่ท่าน้ำบ้านตายาย ตายายเห็นเป็นกุมารหน้าตาดีจึงเลี้ยงไว้ด้วยความเอ็นดู ความทราบถึงนางอัคคีว่ากุมารทั้งสี่ยังไม่ตาย จึงให้นางทาสีนำอาหารใส่ยาพิษมาให้กุมารกิน ตายายกลับจากนาเห็น กุมารทั้งสี่นอนตายกอดกันกลมก็โศกเศร้าสงสาร จึงนำไปฝังเรียงกันทั้ง 4 ศพ กาลเวลาผ่านไปไม่นานก็เกิดเป็น ต้นจำปาสี่ต้น ตายายดีใจที่ยังเห็นหลานทั้งสี่มีชีวิตอยู่ จึงหมั่นรดน้ำพรวนดินต้นจำปาจนงอกงาม
นางอัคคีทราบความอีก จึงสั่งให้เสนามาโค่นต้นจำปานำไปทิ้งน้ำเสีย ต้นจำปาลอยน้ำไปติดอยู่หน้าอาศรมฤาษี ฤาษีใช้มีดตัดต้นจำปาเห็นมีเลือดออกจึงรู้ว่าไม่ใช่ต้นจำปาทั่วไป พระฤาษีจึงเสกให้เป็นคนเหมือนเดิม ส่วนเจ้าคนเล็กนิ้วขาดเพราะพระฤาษีตัดตอนเป็นต้นจำปา พระฤาษีจึงต่อนิ้วเพชรให้มีอิทธิฤทธิ์ “ชี้ตายชี้เป็น” พระฤาษีสอนวิชาอาคมต่างๆ แก่กุมารทั้งสี่ ตั้งชื่อว่า จำปาทอง จำปาเงิน จำปานิล และคนเล็กชื่อ เจ้านล
พระอินทร์ทราบว่า นางปทุมา ได้รับความลำบากมาก จึงปลอมเป็นชีปะขาวเล่าเรื่องให้กุมารทั้งสี่ฟัง กุมารทั้งสี่จึงขอลาพระฤาษีติดตามมารดา ระหว่างทางเดินเข้าเมืองยักษ์ เจ้านลได้ชี้นิ้วเพชรปราบยักษ์ และชุบชีวิตยักษ์จนยักษ์ยกเมืองและธิดาให้ เจ้านลก็ให้พี่ๆ ได้ครองเมือง ได้พระธิดาเป็นชายาทั้งสามเมืองที่ผ่านมา แต่ก็ได้พำนักอยู่แต่ละเมืองไม่นานก็ลาไปติดตามมารดา
พระอินทร์ชีปะขาวมาส่งถึงเมืองปัญจานคร และบอกให้สี่กุมารปลอมตัวเป็นยาจกไปอาศัยอยู่กับยายเฒ่าเฝ้าสวน และสืบหามารดาจนพบว่า เป็นทาสีซูบผอม เมื่อทราบที่อยู่ของมารดาแล้ว ก็แต่งเครื่องทรงกษัตริย์สั่งให้ยายเฒ่าเฝ้าสวนพาไปพบมารดา เมื่อแม่ลูกพบกันและเล่าเรื่องแต่หนหลังก็โศกเศร้าอาดรู สี่กุมารให้ทรัพย์สินตอบแทนยายเฒ่าเฝ้าสวนจำนวนมาก และลงโทษหญิงม่ายใจร้ายที่ทารุณกรรมมารดาอย่างสาสม
เจ้านลคิดแค้นนางอัคคีมาก จึงชวนพี่ทั้งสามเหาะไปยังปราสาท แล้วเขียนสารถึงบิดาไว้ที่แท่นบรรทม ให้ส่งตัวนางอัคคีและนางทาสีคนสนิทไปลงโทษ และบอกความจริงทุกประการ ท้าวจุลละนีทราบดังนั้นก็ดีพระทัยที่โอรสทั้งสี่ยังมีชีวิตอยู่ วันรุ่งขึ้นจึงจับนางอัคคีและนางทาสีไปให้กุมารลงโทษ สี่กุมารจึงตัดสินให้ลอยแพนางอัคคีและนางทาสีไปในทะเลตามยถากรรม หลังจากนั้นพระองค์ก็นำราชรถไปรับนางปทุมากลับนคร
สี่กุมารก็พาพระมารดาเข้าเมืองพร้อมกับท้าวจุลละนี และให้ไปรับตายายที่เลี้ยงดูตนมาอยู่ในวัง ส่วนพี่ทั้งสามก็ขอลาไปปกครองบ้านเมืองกับพระชายา ส่วนเจ้านลก็ครองเมืองปัญจานครแทนบิดาสืบไป
ຕຳນານລາວ - ນິທານລາວ ນາງຄຳກອງ | นิทานลาว นางคำกลอง
ส่งท้าย : เพื่อความสมบูรณ์ในเนื้อหา ผู้เขียนขอนำเสนอนิทานตำนานลาว เรื่อง "นางคำกลอง" และลำเรื่องต่อกลอนของคณะรังสิมันต์ เรื่อง "จำปาสี่ต้น" มาให้ใด้รับทราบเรื่องราวให้ครบถ้วนสมบูรณ์กันครับ
ลำเรื่องต่อกลอน จำปาสี่ต้น โดย คณะรังสิมันต์ (หมอลำทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน)
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)