คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ผ้าผะเหวด ตามสำเนียงเสียงอีสาน คำว่า "ผะเหวด" มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึง พระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือฮีตสิบสอง ผ้าผะเหวด คือ ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรเพื่อใช้แห่ในงานบุญพระเหวด ซึ่งสมมติว่าเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง สมัยก่อนช่างแต้มรูปมักเป็นช่างพื้นบ้าน จึงใช้สีสันเลียนแบบธรรมชาติ ไม่เคร่งครัดเรื่องสัดส่วนของรูปร่างคน สัตว์ วัตถุสิ่งของมากนัก ตามคติความเชื่อของชาวอีสาน ผู้ใดฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียวและภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตรย
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบไม่เคร่งครัด ไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่วิจิตรบรรจง สื่อความหมายแบซื่อตรง ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะอิสระ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนบุคลกคนอีสานที่ซื่อๆ ง่ายๆ มีความสนุกสนาน สื่อถึงพุทธศาสนา
บุญผะเหวด หมายถึง บุญพระเวสสันดร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ มูลเหตุที่มีการทำบุญมีคติความเชื่อมาจากเรื่อง 'พระมาลัยสูตร' ว่า หากมนุษย์อยากจะได้พบพระศรีอริยเมตไตรย ให้รู้จักทำบุญ ละเว้นบาป และให้ฟังเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียว จะได้บุญกุศลใหญ่หลวง 'งานบุญผะเหวด' ของชาวอีสานมักจัดกัน 2 วัน
[ อ่านเพิ่มเติม : ฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ]
เมื่อสำรวจผ้าผะเหวดอีสานแบบผ้าวาดม้วนยาว สามารถพบได้ในชุมชนขนาดใหญ่ระดับตำบล เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งคือมีวัดหลายแห่ง มีพระเณรบวชเรียนอย่างต่อเนื่อง มีพระเถระที่ใส่ใจเรียนรู้การอ่านใบลาน มีมรรคทายก มีผู้ใหญ่บ้าน มีชาวบ้านที่ให้ความสำคัญแก่จารีตประเพณีที่เรียกว่า "ฮีตสิบสอง" โดยให้ความสำคัญมากที่สุดแก่ "ประเพณีบุญผะเหวด" ซึ่งเรียกว่า ประเพณีบุญใหญ่
ผ้าผะเหวดอีสานแบบม้วนยาว เป็นผลงานพุทธศิลป์ที่เขียนเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก เป็นภาพวาดที่ใช้ประกอบการเทศน์ผะเหวด ใช้ในพิธีเชิญพระเหวดสันดรเข้าเมือง และใช้ประดับรอบศาลาการเปรียญ หรือศาลาโรงธรรมในประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งเรียกว่า "บุญเดือนสี่" หรือ "บุญมหาชาติ" ผ้าผะเหวดแบบโบราณพบได้ทั้งในชุมชนผู้ไทและชุมชนอีสาน ความงามด้านศิลปพื้นบ้านในผ้าผะเหวดมีระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งนักวิชาการด้านจิตรกรรมปัจจุบันนิยม และยกย่องศิลปร่วมสมัยและศิลปของอารยชนที่เรียกว่า "งานวิจิตรศิลป์" มากกว่า ศิลปกรรมของชาวบ้าน (Folk Art)
ภาพผะเหวดสองมิติแบนๆ เป็นภาพวาดสีน้ำ มีลักษณะเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน ไม่มีการปรุงแต่งด้านเทคนิค ช่างวาดอย่างอิสระ มีความรู้สึก มีจินตนาการ มีชีวิตจริงแบบพื้นบ้าน แสดงผ่านฉาก ผ่านการแต่งกาย ผ่านประเพณี พิธีกรรม และผ่านงานรื่นเริง จุดมุ่งหมายของการวาดภาพผ้าผะเหวดคือ เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยและประกอบการเล่าเรื่อง การเทศน์ การสอนหลักธรรมเป็นหลักใหญ่ และเพื่อตกแต่งสถานที่เป็นหน้าที่รอง ช่างวาดมีศรัทธาเป็นพื้นฐานในการสร้างงาน และได้รับค่าตอบแทนจากผู้ว่าจ้างให้วาด ซึ่งมีศรัทธาในหลักธรรมคำสอน และเชื่อว่าการสร้างภาพผะเหวดได้อานิสงค์เช่นเดียวกับการฟังธรรม
ผ้าผะเหวดแบบม้วนยาว มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร และมีขนาดยาวประมาณ 13 - 30 เมตร การวาดภาพจะวาดเป็นช่องตามแนวนอน ผ้าผะเหวดขนาดสั้นที่สุดมีพื้นที่ประมาณ 13 ช่อง ขนาดยาวที่สุดประมาณ 18 ช่อง แต่ละช่องความยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่บรรจุอยู่ในแต่ละช่อง หนึ่งเหตุการณ์เรียกว่า หนึ่งอนุภาค ภาพวาดที่เป็นภาพสามมิติจะวาดเต็มกรอบภาพ เป็นภาพขนาด 6 นิ้วขึ้นไป ประกอบด้วยภาพวาดทั้งหมด 13 ช่องหรือ 13 กัณฑ์ ภาพวาดที่เป็นภาพสองมิติแบนๆ วาดหลายอนุภาคในหนึ่งกรอบภาพ วาดเต็มพื้นที่ เต็มโครงสร้าง ขนาดภาพทั้งคน ทั้งสิ่งมีชีวิต ทั้งอมนุษย์และสิ่งของ มีขนาดเล็กประมาณ 2 นิ้ว ภาพแนวนี้เป็นฝีมือของช่างพื้นบ้าน มีลักษณะคล้ายภาพวาดลายเส้นแบบโบราณที่ปรากฏในฝาผนังถ้ำและที่หน้าผา โดยทั่วไปเชื่อว่าเป็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์
โครงสร้างของนิทานผะเหวดสันดรเขียนเป็นโครงสร้างนิทาน หรือไวยากรณ์นิทานได้ดังนี้
โครงสร้างของนิทาน คืออะไร ศิราพร ณ ถลาง (2544) อธิบายว่า หมายถึงสิ่งที่กำหนดความเป็นนิทานแต่ละประเภท ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรมหลักของตัวละครที่นำมาเรียงร้อยต่อกันอย่างมีระบบสัมพันธ์กัน การศึกษาโครงสร้างของนิทานวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า นิทานในแต่ละวัฒนธรรมมีกฎในการดำเนินเรื่องของตนเอง (Self regulation) เช่นเดียวกับทีภาษาแต่ละภาษามีไวยากรณ์เป็นของตนเอง โครงสร้างของนิทานจะสะท้อนความคิด ระบบคิด และวัฒนธรรมของเจ้าของนิทาน
เมื่อพิจารณาโครงสร้างนิทานในผ้าผะเหวดแบบที่ยาวที่สุด ความคิดที่กำกับเนื้อหาของนิทาน คือความคิดเรื่อง นรกภูมิ มนุสสภูมิ สวรรค์ภูมิ อันได้รับอิทธิพลจากไตรภูมิพระร่วง ภาพวาดตอนต้นเรื่อง ส่วนที่เป็นปรารภเหตุการเล่านิทานผะเหวดสันดร พระมาลัยและพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนของพุทธศาสนา มีสถานภาพสูงส่งกว่าพระอินทร์และเทวดาบนสวรรค์ แม้ตอนจบในนรกภูมิ พระมาลัย และพระอินทร์ ก็มีสถานภาพเทียบเท่าเทพเจ้าผู้ปลดปล่อยบาป และความทุกข์ให้กับผู้ทำผิดศีลในโลกมนุษย์ โครงสร้างนิทานที่กำกับภาพวาดผ้าผะเหวด คือ ความเชื่อเรื่องสวรรค์ภูมิ มนุสสภูมิและนรกภูมิ นิทานเรื่องผะเหวดสันดรประกอบด้วยอนุภาคย่อย ที่เสนอตัวอย่างพฤติกรรมที่นำสู่สวรรค์ภูมิและนรกภูมิ เป็นแก่นแกนของเรื่อง ซึ่งไม่ตรงกับแก่นเรื่องในตัวบทลายลักษณ์ด้านวรรณกรรม และด้านกลอนเทศน์ผะเหวด ที่มุ่งเน้นนิพพานหรือการหลุดพ้น ความแตกต่างของแก่นเรื่องแสดงว่า การเขียนภาพผะเหวดของแต่ละชุมชน เป็นสิ่งที่แสดงถึงการคิดต่างอย่างมีเสรีภาพ แหวกจากแนวคิดของศูนย์กลางทางการเมือง ทางศาสนา ทางเศรษฐกิจในเขตนครและเขตเมือง
ส่วนภาพผะเหวดแบบที่สอง ประกอบด้วยภาพพระมาลัยขึ้นไปไหว้พระเกศเกล้าจุฬามณีบนสวรรค์ พร้อมกับพระอินทร์และเทวดา คู่กับภาพผะเหวด 13 กัณฑ์ โครงสร้างนิทานแนวนี้แสดงความเชื่อว่า การทำบุญ การบำเพ็ญปรมัตถทานหรือมหาทาน เป็นปัจจัยนำไปสู่สวรรค์ ภาพวาดวิถีนี้ไม่กล่าวถึงนรกภูมิ ขนาดของภาพเน้นตัวละครโดยวาดเป็นภาพขนาดใหญ่ แสดงพฤติกรรมและเล่าเรื่องราว แต่ภาพไม่สร้างความรู้สึก ไม่สร้างจินตนาการ ภาพวาดมีลักษณะแข็งทื่อเช่นเดียวกับโครงสร้างของภาพวาดแนวที่สาม ที่ไม่กล่าวถึงสวรรค์และนรก บอกเล่าเรื่องราวเฉพาะนิทานผะเหวดสันดรเท่านั้น
เป็นการวาดโดยประหยัดวัสดุ เพื่อวางจำหน่ายโดยเฉพาะ ผู้วาดดูเหมือนขาดศรัทธาในการสร้างงาน ในหนึ่งภาพจะบรรจุเหตุการณ์หนึ่งอนุภาคเท่านั้น การวาดแนวนี้คล้ายกับการวาดจิตรกรรมฝาผนังประดับรอบศาลาโรงธรรม ซึ่งมีขนาดกว้างยาวใหญ่ และมุ่งสอนพุทธศาสนาหลายเรื่อง มีทั้งศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนธรรม ประดับรอบศาลาโรงธรรม โครงสร้างเฉพาะนิทานผะเหวดสื่อความคิด เรื่อง อนิจลักษณ์ ความเปลี่ยนแปรของชีวิตและการให้ทาน ไม่ยึดติดในทรัพย์สินทั้งปวง
ภาพผะเหวดในฐานะพุทธศิลป์ที่มีทั้งการวาดแบบผ้าพระบฏและแบบผ้าม้วนยาว แบบภาพพิมพ์และจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม งานจิตรกรรมทุกรูปแบบมีหน้าที่สำคัญหลายประการ คือ เป็นภาพประกอบการเล่านิทานเรื่องผะเหวดสันดรให้เข้าใจง่าย ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังใช้ประดับศาลาโรงธรรม และใช้กั้นมุงสนามกลางแจ้งให้เป็นคีรีวงกตหรือเขาวงกต ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเวสสันดรขณะที่บำเพ็ญพรตเป็นดาบส ภาพผะเหวดม้วนยาวกรณีนี้ทำหน้าที่คล้ายฉาก ส่วนบทบาทแฝงเร้นที่สำคัญรองลงมา เกิดจากฝีมือของช่างวาดที่มีความสามารถสูง คุณภาพของภาพวาดเทียบได้กับวิจิตรศิลป์ เส้นและปลายพู่กันที่ระบายในพื้นผ้าสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจ เกิดเป็นรสมหัศจรรย์ตามเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะภาพแนวอีโรติคในกัณฑ์ชูชก กัณฑ์มหาพน กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์เพิ่ม ตอน พระมาลัยหรือพระพุทธเจ้าท่องแดนนรก ภาพแนวอีโรติคเหล่านี้ปรากฏเฉพาะฝีมือช่างพื้นบ้านอีสาน
ภาพผะเหวดที่มีอนุภาคเหตุการณ์อนุภาคเดียว ปรากฏในกัณฑ์ทศพร กัณฑ์จุลพล กัณฑ์มหาพน กัณฑ์วนปเวศน์และสักติกัณฑ์ ภาพผะเหวดที่มีอนุภาคเหตุการณ์หลายภาพ หลายอนุภาค ได้แก่ ปรารภเหตุการเล่าเรื่องผะเหวดสันดร กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์มัทรี นครกัณฑ์ กัณฑ์เพิ่มคือ พระพุทธองค์หรือพระมาลัยโปรดสัตว์นรก กัณฑ์ที่มีหลายอนุภาคเหตุการณ์คือ 3 - 7 อนุภาคคือ กัณฑ์มหาราช ความหลายอนุภาคของกัณฑ์นี้ส่งผลต่อการตีความแก่นหลักของเรื่องผะเหวดสันดร ภาพประกอบด้วยชูชกนำสองกุมารหลงทางสู่กรุงสีพี พระเจ้ากรุงสญชัยไถ่ตัวหลานทั้งสองจากชูชก ชูชกบริโภคอาหารจำนวนเจ็ดอย่าง อย่างละเจ็ดหม้อ ชูชกธาตุไฟแตกตาย พระสงฆ์ เณร อำมาตย์ ชาวบ้าน ทำพิธีส่งสกานหรือเผาศพชูชก ชาวบ้านฉลองเล่นรื่นเริงในงานศพชูชก ภาพลักษณ์ของชูชกในกัณฑ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งมี ไม่อดอยาก ไม่ได้ตายเพราะทุกข์ แต่ตายเพราะเสพสุขอย่างมหัศจรรย์ จึงมีผู้ศรัทธาบูชาเหรียญรูปชูชก เพื่อหวังผลความมั่งมีร่ำรวยเป็นสุข
เมื่อพิจารณาภาพผะเหวดม้วนยาวแบบสองมิติแบนๆ แนวจารีต ช่างวาดได้เพิ่มเติมเรื่องราว ซึ่งเป็นคติความเชื่อและเป็นวิถีจริยธรรม ที่เป็นบรรทัดฐานสำคัญของชีวิตประจำวัน คือเรื่องการลงโทษคนชั่ว การให้รางวัลคนดี และได้แสดงความเชื่อมั่นในบารมีของพระพุทธเจ้า บารมีของพระอรหันต์คือพระมาลัย ซึ่งเป็นศาสนบุคคลในประเพณีท้องถิ่น นับได้ว่าชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของผ้าผะเหวดสามารถประกอบสร้างทั้งพุทธศิลป์ คือ ภาพวาดในผ้าขนาดยาวๆ และสามารถต่อเติมวรรณศิลป์ที่เป็นเรื่องเล่าตามคตินิยมของชุมชน โดยไม่ติดกรอบประเพณีบุญผะเหวดแบบวัฒนธรรมหลวง
นอกจากนี้ภาพวาดบางผืน มีการผนวกกัณฑ์และตัดทอนบางกัณฑ์ เช่น ผนวกกัณฑ์จุลพนกับมหาพน หรือตัดทอนกัณฑ์วนปเวศน์และสักติกัณฑ์ การเรียงร้อยเรื่องแบบนี้คล้ายกับการเทศน์ผะเหวดในปัจจุบัน ที่รวบรัดตัดตอนเนื้อเรื่อง เพื่อประหยัดเวลาให้การทำบุญผะเหวดให้เสร็จโดยเร็ว เพราะต้องการเวลาไปทำงานอื่นในชีวิตประจำวัน และผู้ฟังเทศน์มีศรัทธาน้อยลง การทำบุญเป็นไปเพื่อสืบทอดประเพณีฮีตสิบสอง โดยขาดสำนึกทางศาสนาอย่างเข้าถึงแก่นแกนของความหมายหรือปรัชญาธรรม
ผ้าผะเหวดเป็น ศิลปกรรมของชาวบ้าน (Folk Art) ที่มีการประกอบสร้างอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี บทบาทหน้าที่สำคัญคือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ หน้าที่โดยตรงคือ บอกเล่านิทานผะเหวดสันดรผ่านภาพเขียนในหลายลักษณะ เช่น เป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ในพิธีอัญเชิญพระเหวดสันดรเข้าเมือง ในชุมชนขนาดใหญ่ ชาวบ้านทุกวัยจะพร้อมใจกันกระทำพิธีอัญเชิญสี่กษัตริย์ หรือหกกษัตริย์ คือ พระเหวดสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี นางผุสดี พระเจ้าสัญชัย จากเขาคีรีวงกตซึ่งเป็นป่าเข้าสู่เมืองคือ กรุงสีพี (หรือวัดในหมู่บ้าน) ชุมชนชาวนา ที่พระภิกษุและผู้สูงอายุเข้มแข็ง บรรยากาศตอนแห่พระเหวดสันดรเข้าเมืองจะสนุก และชาวบ้านรวมกลุ่มแสดงความสามัคคีอย่างเข้มแข็ง โดยเชื่อว่าการเกษตรกรรมจะได้ผลดีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์
แต่ในชุมชนเมืองที่ผู้คนค้าขายและรับราชการการแห่ผ้าผะเหวดไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญ บางแห่งตัดพิธีแห่ผ้าผะเหวดออกไป โดยให้เหตุผลว่าเสียเวลา ต้องทำงานอื่น บทบาททางสังคมของผ้าผะเหวดจึงลดลง นอกจากนี้ หากวัดสร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่จะวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง ผะเหวดสันดร ไว้รอบศาลา ผ้าผะเหวดจึงหมดบทบาทด้านการประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ใช้สอยสำคัญอีกประการหนึ่ง เยาวชนรุ่นลูกหลานจึงขาดโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสกับผ้าผะเหวดในพิธีอัญเชิญสี่กษัตริย์เข้าเมือง ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทสมมติที่ชาวบ้านเป็นผู้แสดงร่วมกัน ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในผลบุญ
เมื่อขาดพิธีกรรม ความคิดมุมมองที่มีต่อผ้าผะเหวดจึงเปลี่ยนไป เช่น ศรัทธาน้อยลง ความเชื่อมั่นในอานิสงส์ของการฟังเทศน์ให้ครบสิบสามกัณฑ์แล้วได้ขึ้นสวรรค์ ก็สั่นคลอน คงเหลือเฉพาะผู้มีอายุมากที่ฟังธรรม ในชุมชนขนาดเล็กบางวัดมีพระภิกษุเพียงรูปเดียว ความต่อเนื่องของประเพณีและการทำบุญให้ครบทุกขั้นตอนแทบเป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนที่ถูกตัดออกคือ การแห่ผ้าและการเทศน์ธรรมแบบครบถ้วนมีคุณธรรม การทำบุญเปลี่ยนแปลงจากการทำบุญเพื่อฟังธรรม เป็นการทำบุญให้ทานที่เน้นการบริจาคให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้ว เสียงการเทศน์แถมสมภาร คือ ประกาศยกย่องให้พรผู้บริจาคเงินดังกลบเสียงเทศน์ผะเหวด จนแทบไม่ได้ยินเสียงเทศน์ผะเหวด ส่งผลให้ตัวบทหรือคัมภีร์ผะเหวดขาดการสื่อสารไปยังชาวบ้าน การกล่อมเกลาทางศีลธรรมด้วยนิทานผะเหวดจึงลดทอนไม่ถูกผลิตซ้ำในด้านการรับสาร
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ วิธีการเขียนภาพผะเหวด วิธีการเขียนในจารีตเดิม ใช้การวาดภาพลายเส้นแล้วระบายสีน้ำ ผู้วาดต้องอ่านนิทานผะเหวดสันดรให้จบ ให้เข้าใจเป็นอะไร ฉากส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวของต้นไม้แซมแทรกในทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นเมือง เป็นบ้าน เป็นป่า โดยพื้นที่ป่ามีต้นไม้ นก ช้าง กวาง สัตว์ป่าและสัตว์น้ำมีมากกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ภาพวาดแบบเก่าที่เป็นสองมิติ ฉากที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติมีมากกว่ารูปตัวละครในทุกกัณฑ์
ส่วนภาพวาดยุคหลัง ที่เป็นภาพสามมิติจะมีเฉพาะรูปตัวละคร ไม่มีฉาก จึงขาดพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทางวัฒนธรรม ขาดมิติที่ผสานกลมกลืนระหว่างฉากและรูป รูปตัวละครแข็งทื่อไม่สร้างความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพ และภาพไม่สอดคล้องกับตัวบททางวรรณกรรม เป็นพุทธพานิชที่มีความง่ายแต่ไม่งาม ภาพวาดถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง แนวโน้มในอนาคตภาพวาดผ้าผะเหวดอาจเป็นเพียงภาพอดีที่เก่าแก่ ทรุดโทรมตามเวลา สำนึกของกลุ่มชาติพันธุ์ทางพุทธศาสนาในหมู่คนรุ่นใหม่อาจเลือนลาง ขาดความสืบเนื่องกับประเพณีบุญผะเหวด โดยเชื่อว่า พ.ศ. 2550 เป็นกึ่งพุทธกาลที่พยากรณ์ว่า พุทธศาสนาจะสิ้นสุดเมื่อมีอายุครบ 5,000 ปี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)