คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
กะโนบติงต็อง ภาษาเขมร แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เลียนแบบลีลา ท่าทาง การเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว มีจังหวะลีลาที่สนุกสนานเร้าใจ กะโนบติงต็องเกิดขึ้นครั้งแรกในจังหวัดสุรินทร์ เมื่อราวห้าสิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันนิยมเล่นทั่วไปในแถบอีสานใต้ และจังหวัดใกล้เคียง เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ต่อมาได้เพิ่มเนื้อร้องภาษาไทยขึ้นเพื่อความเข้าใจของผู้ชมที่หลากหลาย ใช้แสดงในงานรื่นเริงและงานเทศกาลต่างๆ
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ผู้เล่นแต่งกายเลียนแบบตั๊กแตนตำข้าวด้วยสีเขียวอ่อน ท่าเต้นเลียนแบบการกระโดดหรือการไหวตัวของตั๊กแตน มีขั้นตอน คือ ท่าบทไหว้ครู ท่าเชิดปากหลังกินอาหาร ท่าป้องดูเหยื่อ ท่าหยอกล้อหันหน้าเข้าหาคู่ ท่าสะกิด ท่าตี ท่าจิก และทำหยอกล้อ แล้วเดินเข้าหากันเป็นจบกระบวนท่ารำ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ความสนุกสนานเร้าใจโดยการเลียนแบบท่าทางจากตั๊กแตนตำข้าว
กะโน้บติงต๊อง เป็นการแสดงของชาวจังหวัดสุรินทร์ คำว่า กะโน้บติงต๊อง เป็นภาษาถิ่นของชาวอีสานใต้ แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว กะโน้บติงต๊องเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนาน ด้วยลีลาที่เลียนแบบมาจากการกระโดด หรือการโยกตัวของตั๊กแตน ท่าเต้นแต่ละท่าจะใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา เอว ท่าเต้นจะแสดงลีลาการเกี้ยวพาราสีระหว่างตั๊กแตนตัวเมียและตัวผู้ ลักษณะการละเล่นจะเป็นการเล่นเป็นหมู่ เป็นกลุ่มยิ่งผู้แสดงมากยิ่งเพิ่มความสนุกมากขึ้น
ยุคเริ่มแรก (พ.ศ. 2480-2506) กะโน้ปติงต็องเป็นการเล่น เต้นเลียนแบบลีลาท่าทางการเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว จากการคิดริเริ่มโดย นายเต็น ตระการดี ชาวบ้านโพธิ์กอง ตำบลไพล (ปัจจุบัน คือ ตำบลเชื้อเพลิง) อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อครั้งเดินทางเข้าไปในประเทศกัมพูชา โดยขบวนเกวียนสินค้า (เกลือ) ไปค้าขาย นำไปแลกเปลี่ยนปราเฮ๊าะ (ปลาร้า) จากประเทศกัมพูชา (เขมร) ในขณะที่หยุดพักเหนื่อยนายเต็น ได้มองเห็นตั๊กแตนตำข้าวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน และผสมพันธุ์กันอยู่ นายเต็นเฝ้าดูลีลาของตั๊กแตนคู่นั้นด้วยความประทับใจ เมื่อนายเต็นเดินทางมาถึงบ้าน จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาลีลาการเต้นของตั๊กแตนตำข้าวมาดัดแปลงและเต้นให้คนดูก็คงจะดี จึงนำแนวคิดนี้มาเล่าให้ นายเหือน ตรงศูนย์ดี หัวหน้าคณะกันตรึม ที่เล่นอยู่ในหมู่บ้านรำเบอะ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ทั้งสองจึงได้ร่วมกันแสดงต่อเนื่องกันมา การเล่นกะโน้ปติงต็องจะเต้นเป็นคู่ๆ เดิมมีผู้แสดงเพียง 2 คน เล่นสอดแทรกในวงมโหรีพื้นบ้าน
ต่อมานายยันต์ ยี่สุ่นศรี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโพธิ์กอง (ในขณะนั้น) ได้เห็นความสำคัญ และมีความชื่นชอบการแสดงกระโน้ปติงต็อง จึงได้เข้ามาร่วมแสดงเป็น 3 คน โดยมีนายเต็น และนายยันต์ เป็นผู้แสดงเข้าคู่กัน และนายเหือนจะเป็นผู้เป่าปี่สไล มีการด้นกลอนสดเป็นเนื้อร้อง แต่งกายโดยการนุ่งโสร่งและสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาว
ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการเต้นกะโน้ปติงต็องใช้วงกะโน้ป ซึ่งประกอบด้วย
ทำนองเพลงใช้ทำนอง กะโน้ปติงต็อง โดยบทร้องเพลงกะโน้ปติงตองในระยะแรกๆ ร้องเป็นภาษาเขมร ในระยะหลัง มีการแต่งเนื้อร้องตามงานหรือโอกาสที่ไปแสดง เพื่อให้เข้ากับงานนั้นๆ ใช้เนื้อร้องทั้งภาษาเขมรและภาษาไทยเพื่อให้ฟังง่ายขึ้น
การแต่งกายในการเล่นกะโน้ปติงต็อง ในระยะแรกจะนุ่งโสร่งใส่เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าขาวม้าคาดเอว (เป็นชุดที่ใช้เล่นดนตรีในวงมโหรี) ต่อมาพัฒนาขึ้น โดยแต่งกายเลียนแบบตั๊กแตนตำข้าว ใช้ผ้าสีเขียวตัดเป็นชุดแต่งกาย สวมหัวตั๊กแตน สวมปีกตั๊กแตน ถ้าเป็นตั๊กแตนตัวเมีย จะสวมกระโปรงสั้นๆ ทับอีกชั้นหนึ่ง
การเล่นกะโน้ปติงต็อง แต่เดิมใช้เล่นแทรกในวงมโหรีพื้นบ้าน ต่อมาในช่วงหลังใช้เล่นได้ทุกโอกาสในงานสนุกสนานรื่นเริง หรืองานเทศกาลต่างๆ ทั่วไป
ต่อมาในยุคที่สอง (พ.ศ. 2506-2540) นายเสนอ มูลศาสตร์ ซึ่งเป็นนายอำเภอปราสาทในขณะนั้น ได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน นำการแสดงกระโน้ปติงต็อง จากตำบลไพล อำเภอปราสาท ไปสู่การแสดงในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทำให้กระโน้ปติงต็องเกิดการแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน มีการปรับการแสดงให้เป็นรูปแบบมากขึ้น โดยมีการกำหนดท่าเดินออก ท่าเคารพผู้ชม การแปรแถวต่างๆ และมีการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับการแสดงกระโน้ปติงต็อง เพื่อให้การแสดงมีความน่าสนใจมากขึ้น ได้มีการส่งเสริมและเล่นกันอย่างแพร่หลาย
ในการเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย เมื่อเริ่มแสดง จะเต้นตามจังหวะเพลงกะโน้ปติงต็อง ส่ายตัว มือ แขน ขา ไปมา เลียนแบบลีลาของตั๊กแตนตำข้าวตามจังหวะดนตรีและคำร้อง ผู้เล่นจะเปลี่ยนลีลาการตั๊กแตนไปตามจังหวะดนตรี และคำร้องส่วนมากจะใช้บทร้องในแต่ละตอนเป็นช่วงเปลี่ยนท่า เนื้อเพลงหรือบทร้องจะสอดคล้องกับงานนั้นๆ ท่ารำจะมีขั้นตอนจากบทไหว้ครู ท่าตั๊กแตนเช็ดปากหลังกินอาหาร ท่าป้องตาดูเหยื่อ ท่าหยอกล้อกัน ท่าสะกิดกัน เป็นต้น และครูสมพงษ์ สาคเรศ ได้แต่งเนื้อเพลงประกอบการเต้น และก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น
กะโน๊บติงตอง โดย โรงเรียนสินรินทร์วิทยา
ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน) เป็นยุคปฏิรูปการศึกษา สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน และด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตร มีการจัดการศึกษาในเรื่องของ หลักสูตรท้องถิ่น ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มีการวิจัยในชั้นเรียน ที่เป็นบทบาทและภารกิจที่ครูผู้สอนต้องจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งการทำผลงานเพื่อเพิ่มวิทยฐานะ ก่อให้เกิดกระแสการศึกษาค้นคว้า วิจัย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่ง “กระโน้ปติงต็อง” เป็นการละเล่นและการแสดงหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการฟื้นฟูอย่างจริงจังในยุคนี้
กะโน๊บติงต็อง การละเล่นพื้นบ้านเลียนแบบของตั๊กแตนตำข้าว
ตัวเมีย ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1. เป็นชุดรัดรูปสีเขียวตองอ่อนทั้งตัว
ส่วนที่ 2. เสื้อผ้าไหมตรูยแสน์ก แขนกุดแบบสวมด้านหน้า ชายเสื้อด้านหน้าห้อยยาวลงมาถึงช่วงหน้าขาเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหลังตกแต่งด้วยระบายสีเขียว
ส่วนที่ 3. กรองคอปักด้วยเลื่อมสีทอง
ส่วนที่ 4. ปีกซึ่งมีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงและสวยงามมากยิ่งขึ้น มีลักษณะโปร่งบางซ้อนกัน 4 ชั้น โดยปีกด้านนอกจะมีสีเขียวเข้มและปีกในอีก 3 ชั้นก็จะมีสี อ่อนลงไปตามลำดับ สามารถกางหรือหุบปีกได้โดยใช้มือดึงก้านปีกขึ้น
ส่วนที่ 5. หน้ากากซึ่งก็มีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นการใช้สีสันที่เหมือนจริงขึ้นและใช้วัสดุแบบที่ทนทานขึ้นกว่าเดิม และ
ส่วนที่ 6. ทัดดอกไม้ที่บริเวณบนหูด้านซ้าย
ตัวผู้ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1. เป็นชุดรัดรูปสีเขียวตองอ่อนทั้งตัว
ส่วนที่ 2. เสื้อผ้าไหมตรูยแสน์ก แขนกุดแบบสวมด้านหน้า ชายเสื้อด้านหน้าห้อยยาวลงมาถึงช่วงหน้าขาเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหลังตกแต่งด้วยผ้าสีเขียวไม่มีระบาย
ส่วนที่ 3. กรองคอปักด้วยเลื่อมสีทอง
ส่วนที่ 4. ปีกซึ่งมีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงและสวยงามมากยิ่งขึ้น มีลักษณะโปร่ง บางซ้อนกัน 4 ชั้น โดยปีกด้านนอกจะมีสีเขียวเข้มและปีกในอีก 3 ชั้นก็จะมีสีอ่อนลงไปตามลำดับ สามารถกางหรือหุบปีกได้โดยใช้มือดึงก้านปีกขึ้น และ
ส่วนที่ 5. หน้ากากซึ่งก็มีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นการใช้สีสันที่เหมือนจริงขึ้นและใช้วัสดุแบบที่ทนทานขึ้นกว่าเดิม
การพัฒนารูปแบบการแสดงกระโน้ปติงต็อง ในจังหวัดสุรินทร์
โดย นางอัชราพร สุขทอง, นางพิศเพลิน พรหมเกษ และนางเกษราภรณ์ สุพรรณฝ่าย, 2550.
การแสดงระบำกะโน้บติงตอง หรือ เรือมกะโน๊บติงตอง จะใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงและขับร้อง โดยใช้เครื่องดนตรี กลองโทน ปี่ใน ซอด้วง ซออู้ และฉิ่ง เพื่อให้เกิดท่วงทำนองที่สนุกสนาน ต้นฉบับเริ่มแรกการขับร้องจะใช้ภาษาเขมร จนกระทั่งได้มีโอกาสไปแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ณ ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร จึงมีการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องให้มีภาษาไทยเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้ชมรับทราบความหมาย โดยมี นายวิลาส อินแปลง เป็นผู้ช่วยแต่งเนื้อร้องทำนอง ทำให้เพลงกะโน้ปติงต๊อง มี 2 ภาษาไทยและภาษาเขมร จนกระทั่งปัจจุบัน จากเดิมที่มีนักแสดงเพียง 2 คน ตอนนี้ไม่จำกัดจำนวนแล้ว ขึ้นอยู่กับสถานที่ของการจัดแสดงว่ากว้างขวางเพียงใด
กโน้บ ติงต็อง - น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์
[ อ่านเพิ่มเติม : การฟ้อนเลียนแบบกริยาสัตว์ ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)