คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
โดยทั่วไป ชาวอีสานมีสังคมแบบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยวประมาณ 7 - 9 เดือน ในแต่ละปีตลอดฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนเวลาว่างในช่วงฤดูร้อนประมาณ 3 – 5 เดือน ชาวอีสานจะทำงานทุกอย่างเพื่อเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการทำบุญประเพณี และการพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสต่างๆ เป็นวงจรของการดำรงชีพที่หมุนเวียนเช่นนี้ในแต่ละปี
“ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสาน ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นงานสำคัญของผู้หญิง ผ้าที่ทอจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อ ซิ่น (ผ้านุ่ง) ซ่ง (กางเกง) โสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ เครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ที่จะถวายพระในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้าผะเหวด
ผ้าทออีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะที่งดงาม ด้วยลวดลายที่นำมาจากวิถีชีวิตและธรรมชาติ เช่น ลายสัตว์ ลายพืชพรรณต่างๆ ผ้าทออีสานมีหลายประเภท ดังนี้
ผ้าขิด ตามความเชื่อของชาวอีสานถือว่า "ผ้าขิด" เป็นของสูง ใช้ห่อคัมภีร์ใบลาน ทำเป็นผ้าปูอาสนะ ผ้ากราบพระ นำมาเป็นผ้าคลุมหัวนาคในงานบวช ไม่นิยมใช้ผ้าขิดเป็นผ้านุ่งที่ต่ำกว่าเอว ผ้าขิดมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนกว่าการทอผ้าธรรมดา กล่าวคือ ใช้ไม้หรือสะกิดซ้อนเส้นยืนขึ้นแล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกวัดซ้อนขึ้นนั้น จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ ต้องใช้ความพยายามในความอดทนอย่างสูงจึงจะสามารถทอให้เป็นผืนผ้าได้ ปัจจุบันนิยมทำเป็นผ้าห่ม ผ้าคลุมไหล่ หมอน เป็นของกำนัลของผู้หลักผู้ใหญ่ในการทอดกฐิน งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลวดลายบนผ้าขิดคล้ายภาพกราฟิก เรขาคณิต ลวดลายมีหลายรูปแบบ เช่น สัตว์ พันธุ์ไม้ สิ่งของเครื่องใช้ และลายตามจินตนาการ มีสีหลายสีที่กลมกลืนมากกว่าตัดกัน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ลวดลายบนผ้าขิดมีความสัมพันธ์กับประเพณีท้องถิ่น ตามความเชื่อในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน ถือผ้าขิดเป็นของสูง
มัดหมี่ เป็นวิธีทอผ้าให้เกิดลวดลายที่เรียกว่า การมัดย้อม โดยมัดเส้นพุ่งหรือเส้นยืนด้วยเชือก ก่อนนำไปย้อมสีเพื่อให้เกิดสีและลายตามที่กำหนด แล้วจึงนำมาทอเป็นผ้าผืน เอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้ามัดหมี่อยู่ตรงที่รอยซึมของสี ที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด และการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งต่างๆ ของเส้นด้ายเมื่อนำขึ้นกี่ทอ มีแม่ลายพื้นฐาน 7 ลาย คือ หมี่ขอ หมี่โคม หมี่บักจัน หมี่กงน้อย หมี่ดอกแก้ว หมี่ข้อ และหมี่ใบไผ่ ที่ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ เช่น จากลายใบไม้ ดอกไม้ สัตว์ เป็นต้น ผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีลวดลาย สีสันอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีความมันเลื่อมจากเส้นไหม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การใช้เวลาว่างจากการทำนาและการเก็บเกี่ยวมาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทอผ้าเอาไว้ใช้ในงานประเพณีต่างๆ ลักษณะผ้าสามารถบอกสถานสมรสได้ ถ้ามีสามีแล้วจะเป็นผ้าสามชิ้นมาต่อกัน สำหรับหญิงสาวจะเป็นผ้าผืนเดียว
ผ้าแพรวา เป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของชาวกาฬสินธุ์ คำว่า "แพร" หมายถึง ผ้าผืนที่ยังไม่ได้ตัดเย็บ คำว่า "วา" หมายถึง ความยาว 1 วา ซึ่งชาวกาฬสินธุ์นิยมใช้เป็นผ้าสไบ ผ้าโพกหัว หรือผ้าพันคอ ใช้เฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบุญ งานมงคลหรืองานประเพณีต่างๆ สามารถแสดงฐานะทางสังคมของผู้สวมใส่ เนื่องจากผ้าแพรวาของชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น มีลวดลายวิจิตรงดงาม ต้องใช้ความสามารถและเวลาในการทอมาก ด้วยเป็นลายผสมระหว่างลายขิดกับลายจก บางผืนจึงอาจต้องใช้เวลาทอมากกว่า 3 เดือน เช่น ลายนาค ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของกาฬสินธุ์ มีความวิจิตรงดงามมากและละเอียดกว่าลายอื่นๆ จึงมีคุณค่าเปรียบเสมือนสมบัติติดกายของผู้สวมใส่
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบลวดลายผ้าแพรวามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าแพรวาของชาวภูไทแต่เดิมนั้นมีสีแดงคล้ำหรือสีปูนเป็นหลัก ปัจจุบันมีหลายสี
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยมีการทอลายต้นแบบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอด เรียกว่า "ผ้าแซ่ว" ซึ่งจะทอไว้หลากหลายลาย
ผ้ายกทอง เกิดจากการรวบกลุ่มนักออกแบบ โดยการนำของ อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผ้าที่นำลวดลายไทยและลายชั้นสูงแบบราชสำนักโบราณประยุกต์ รวมเข้ากับการทอผ้าแบบพื้นเมืองตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ความโดดเด่นของผ้าเกิดจากการเลือกเส้นไหมที่เล็กและบางเบา นำมาผ่านกรรมวิธีการฟอก ต้ม แล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลัก 3 สี ประกอบด้วยสีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล สีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกด้วยการยกดอกด้วยไหมทองจากประเทศฝรั่งเศส ลวดลายที่ทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางศาสนา ลายเรขาคณิต ลายแบบราชสำนักไทยโบราณ ปัจจุบันผลิตในนามของกลุ่มผ้าทอยกทอง "จันทร์โสมา" หมู่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ งานที่ทำให้มีชื่อเสียงคือ การทอผ้ายกทองทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 10) รวมถึงการทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผู้นำ 21 ประเทศ และผ้าคลุมไหล่ภริยาที่เข้าประชุม APEC ปี 2003
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีความโดดเด่นที่เป็นผ้ายกทองชั้นสูง ทอมือ ลวดลายงดงาม วิจิตรพิสดาร สีสันที่ได้ส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ แต่มีความคงทนไม่ซีดจางเร็ว
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อน งดงาม และศักดิ์สิทธิ์ จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์
ผ้าย้อมคราม เป็นผ้าฝ้ายย้อมสีที่ได้จากต้นครามธรรมชาติ ทนทานต่อการซัก สีครามที่ได้จากธรรมชาติเป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ นำมาเปลี่ยนคุณสมบัติให้เป็นสีที่ละลายน้ำได้ตามกรรมวิธีโบราณ โดยไม่ใช้สารเคมี แล้วทำการย้อมเย็น โดยการจุ่มลงในหม้อครามแล้วผ่านออกซิเจน เปลี่ยนคุณสมบัติกลับคืนเป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ จุ่มลงย้อมหลายๆ ครั้งจนกว่าจะได้โทนสีเข้มตามความต้องการ จึงทำให้สีไม่ตก และเส้นใยมีความเหนียวทนทานกว่าการย้อมโดยการต้ม มีรายงานการวิจัยรับรองว่า ครามมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ใส่แล้วดีต่อสุขภาพและป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอัลตร้าไวโอเลต ลวดลายที่พบบนผ้าย้อมครามแสดงถึงวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของผู้ทอ เช่น พรรณไม้และลายสัตว์
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ผ้าย้อมครามมีสีที่เป็นเอกลักษณ์สามารถย้อมให้เกิดโทนสีต่างๆ ได้ตามชนิดสีที่ผสมและเทคนิควิธีการ ผ้ามีกลิ่นเฉพาะตัวของเนื้อคราม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมี ขั้นตอนการผลิตประหยัดพลังงานและไม่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม
สุขสีคราม : บ้านพันนา จังหวัดสกลนคร
มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์เราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ http://www.otoptoday.com/ แล้วช็อปกันได้เลยครับ
[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : ผ้าทออีสาน 2 | ผ้ากาบบัวเมืองอุบล | การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม | ผ้าไหมสุรินทร์ | เครื่องมือทอผ้า ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)