คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เครื่องทองเหลือง เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสีเป็นหลัก มีคุณสมบัติต้านทานการเกิดสนิมได้ดี จึงนำมาผลิตเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ขันทองเหลือง พานทองเหลือง แจกันทองเหลือง กระทะทองเหลือง ตลอดจนเครื่องตกแต่งทองเหลืองอีกมากมาย แต่เครื่องทองเหลืองที่มีชื่่อเสียงของภาคอีสานคือ เครื่องทองเหลืองของบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องทองเหลืองของที่นี่ไม่จำกัดชนิด และอัตราส่วนของทองแดงและสังกะสี เพราะผลที่ได้ลักษณะผิวของวัสดุไม่แตกต่างกัน ยกเว้นแต่เครื่องทองเหลืองที่มีหน้าที่ใช้สอยด้านเสียง เช่น กระดิ่ง ขิก กระพรวน เป็นต้น ต้องมีส่วนผสมของทองแดงในปริมาณมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังผสมดีบุกเข้าไปอีกด้วย ทองเหลืองที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่ได้จากการซื้อของเก่าจำพวก ขัน ก็อกน้ำ มือจับ กลอนประตู ฯลฯ หรือซื้อเศษทองเหลืองจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวจึงเป็นการผลิตที่มีกระบวนการรีไซเคิล ช่วยให้มีการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงโบราณ ลวดลายธรรมชาติ มีเส้นเหลี่ยม เส้นโค้ง
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผลิตภัณฑ์มีความดั้งเดิมโบราณทั้งรูปร่าง รูปทรง และลวดลาย เน้นในทางอนุรักษ์นิยม
บ้านปะอาว ชุมชนที่มีอายุมากกว่า 200 ปี และวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณ ที่ว่ากันว่าเป็นวิธีการเดียวกับการทำกระพรวนสัมฤทธิ์ สมัยบ้านเชียงเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน บ้านปะอาว เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของเมืองอุบลราชธานี
ตำนานของชุมชนบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นั้นมีว่า พระวอ และ พระตา ซึ่งเป็นชาวนครเวียงจันทน์ เป็นคนนำไพร่พลอพยพหนีราชภัยมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต หรืออาณาจักรล้านช้าง มาตั้งบ้านแปงเมืองที่หนองบัวลุ่มภู ที่ปัจจุบันเป็น จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน ต่อมาเกิดศึกสงคราม พระวอกับพระตาตาย ไพร่พลส่วนหนึ่งจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปะอาว พร้อมกับนำเอาภูมิปัญญาการทำทองเหลืองติดัวมาด้วย
การทำทองเหลืองที่บ้านปะอาวนี้มีกรรมวิธีทำแบบวิธีโบราณ เรียกว่า การหล่อแบบขี้ผึ้งหาย หรือ แทนที่ขี้ผึ้ง ที่สำคัญคือ ไม่มีการเขียนเทคนิคการทำทองเหลืองแบบนี้ไว้ในตำรามากนัก แต่เป็นการจดจำทำกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงไม่แปลกที่เดินเข้าไปในหมู่บ้าน แล้วจะเห็นลูกเด็กเล็กแดงที่บ้านปะอาวนั่งพันขี้ผึ้งเพื่อเตรียมที่จะนำไปหล่อเป็นสิ่งของเครื่องใช้อย่างขะมักเขม้น...
สถานที่ซึ่งรวบรวมการทำทองเหลืองของหมู่บ้านอยู่ที่ ศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ซึ่งตั้งขึ้นโดยชาวบ้าน ที่นี่นอกจากจะมีการหล่อทองเหลืองแล้วยังมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้กับลูกๆ หลานๆ ด้วย
วิธีการหล่อทองเหลืองแบบขี้ผึ้งหาย จะมีขั้นตอนหลายขั้นตอนมาก เริ่มจากการ ตำดินโพน หรือ ดินจอมปลวก ที่ผสมมูลวัวและแกลบ คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำดินที่คลุกเคล้าแล้วมาปั้นเป็นหุ่น หรือปั้นพิมพ์ที่แห้งแล้วใส่เครื่องกลึง ที่เรียกว่า โฮงเสี่ยน เพื่อกลึงพิมพ์ หรือ เสี่ยนพิมพ์ ให้ผิวเรียบและได้ขนาดตามต้องการ
เครื่องทองเหลือง : ไทยศิลป์
พอได้พิมพ์ที่มีขนาดตามต้องการแล้ว ก็จะ เคียนขี้ผึ้ง คือ ใช้ขี้ผึ้งที่ทำเป็นเส้นพันรอบหุ่น แล้วกลึงขี้ผึ้งด้วยการลนไฟ บีบให้ขี้ผึ้งเรียบเสมอกัน พร้อมกับพิมพ์ลายหรือใส่ลายรอบหุ่นขี้ผึ้งตามต้องการ แล้วจึงใช้ดินผสมมูลวัวโอบรอบหุ่นที่พิมพ์ลายแล้วให้โผล่สายฉนวนไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้โลหะหลอมไหลไปที่อื่น จากนั้นจึงใช้ดินเหนียวผสมแกลบเพื่อวางบนดินได้แล้วสุมเบ้าโดยวางเบ้าคว่ำ และนำไฟสุมเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออกจากเบ้า แล้วเทโลหะที่หลอมละลายลงในเบ้า ทิ้งไว้ให้อุณหภูมิเย็นลงแล้วก็จะแกะลูก คือ ทุบเบ้าดินเพื่อเอาทองเหลืองที่หลอมแล้วออกมากลึงตกแต่งด้วยเครื่องกลึงไม้และโลหะ
ขั้นตอนนี้เรียกว่า มอนใหญ่ คือ กลึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปร่างแล้ว และตกแต่งเติมรายละเอียดของลวดลายให้มีความคมชัดและสวยงาม
เสน่ห์การทำทองเหลืองของบ้านปะอาวนี้ ถึงขนาดที่กวีซีไรต์อย่างท่าน อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังได้นำไปเขียนเป็นบทกวีใน หนังสือเขียนแผ่นดิน ไว้ด้วยว่า....
....ตำดินปั้นเบ้าใส่เตาสุม ฟืนรุมไฟโรมเข้าโหมเบ้า
ไม้ซาก สุมก่อเป็นตอเตา ลมเป่าเริมเปลวขึ้นปลิวปลาม
แม่เตาหลอมตั้ง กลางไฟเรือง ทองเหลืองละลายทองก็นองหลาม
สูบไฟโหมไฟไล้ทองทาม น้ำทองเหลืองอร่ามเป็นน้ำริน
รินทองรองรอลงบ่อเบ้า ลูกแล้วลูกเล่าไม่สุดสิ้น
ต่อยเบ้าทองพร่างอยู่กลางดิน สืบสานงานศิลป์สง่าทรง
ลงลายสลักลายจนพรายพริ้ง ลายอิ้งหมากหวายไพรระหง
ดินน้ำลมไฟ ละลายลง หลอมธาตุทระนง ตำนานคน.... "
เรียกว่า เป็นอัจฉริยะทางภาษา ที่บอกเล่ากรรมวิธีทำทองเหลืองได้อย่างละเอียดและงดงามจริงๆ ชาวบ้านที่บ้านปะอาวคุยให้ฟังว่า เครื่องทองเหลืองของพวกเขาเคยเข้าฉากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มาแล้ว ทั้งตำนานพระศรีสุริโยทัย และตำนานพระนเรศวรมหาราช ไม่ว่าจะเป็น เชี่ยนหมากลายอิงหมากหวาย หรือ กาน้ำทองเหลือง เรียกว่า ไม่ธรรมดาเลยล่ะ
ผู้เขียนอุดหนุนกระดิ่งทองเหลืองของชาวบ้านปะอาวมาหลายลูก ไม่น่าเชื่อครับ เสียงดังกังวานทีเดียว และไม่ใช่มีแค่กระดิ่งครับ เครื่องทองเหลืองที่ผลิตจากบ้านปะอาว ยังมีให้เลือกทั้ง ผอบ เต้าปูน ตะบันหมาก ขันน้ำหัวไม้เท้า ซึ่งล้วนแล้วแต่มีลวดลายที่วิจิตรบรรจง สมกับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแห่งอาณาจักรล้านช้างโดยแท้
สนใจเครื่องทองเหลืองที่เป็นมรดกตกทอดของชุมชนแบบนี้ ติดต่อไปได้ที่ ศูนย์หัตถกรรม เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ที่ 170 หมู่ 5 บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 08-1548-4292, 08-3155-8265
สารคดีเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว : วัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
แจ้งให้ทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเรื่องราวมานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดสินค้านะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก ติดต่อตามชื่อ/ที่อยู่ท้ายบทความนั้น หรือเปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ
[ อ่านเพิ่มเติม : หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว | เคริ่องทองเหลืองบ้านปะอาว ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)