คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เครื่องเงิน ของอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มี 2 รูปแบบ โดยจำแนกจากวิธีการทำ คือ ตะเกา และปะเกือม ตะเกา คือ การใช้เส้นเงินดัดเป็นรูปทรงและลวดลายแต่ละชิ้น แล้วนำมาเชื่อมด้วยน้ำประสานทอง ส่วนประเกือมคือการใช้แผ่นเงินบางๆ ตีเป็นรูปต่างๆ โดยอัดชันไว้ภายใน ทำให้แกะลวดลายได้สะดวก ช่างทำเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงซึ่งยังคงสืบสานการทำเครื่องเงินโบราณนี้ไว้คือ ลุงป่วน เจียวทอง ผู้ทำลวดลายได้สวยงามกว่า 13 ลาย คือ ตั้งโอ๋ ดอกทานตะวัน ลำหอกทึบ ลำหอกโปร่งไข่แมงดา ดอกมะลิ รังผึ้ง รังแตน ดอกบัว ดอกพริก ขจร ระเวียง และตั้งโอ๋สามชั้น นอกจากนั้น ลุงป่วนยังทำเครื่องเงินผสมหินสีเป็นสร้อย แหวน และต่างหูอีกด้วย โดยยึดรูปแบบโบราณและใช้วิธีการทำแบบดั้งเดิมมาตลอด
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม การจัดวางลวดลายสวยงามด้วยการทำซ้ำ มีมิติ นูน เป็นร่อง มีทั้งสีสันเงินมันวาวและสีเงินด้านรมดำ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สมัยโบราณนิยมใส่เครื่องเงินร้อยลูกประคำสลับตะกรุดลงยันต์ ลงเวทมนต์คาถา เป็นเครื่องรางของขลัง ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หากมีไว้กับตัวจะทำให้เกิดความสบายใจ มีสิริมงคล และนำความสุขความเจริญ
หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ชมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณ เลือกซื้อเครื่องประดับเงิน สินค้าทำมือจากหมู่บ้านที่มีชื่อเสียง และโดดเด่นในด้านการผลิตประคำเงินที่มีเอกลักษณ์ ชาวบ้านเรียกกันว่า "ปะเกือม" นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม จนเป็นงานหัตถศิลป์ขึ้นชื่อ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ หรือกลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านโชค ตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 5 ตำบล โดยชื่อตำบลและกิ่งอำเภอ มาจากภาษาท้องถิ่น คำว่า เขวา เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งพบได้มากในพื้นที่ ส่วนคำว่า สิรินทร์ มาจากชื่อเจ้าเมืองเก่า
หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ เป็นชุมชนเก่าแก่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 270 ปี ประชาชนส่วนหนึ่งเป็นชาวเขมร ได้อพยพหนีความวุ่นวายของสงครามจากกรุงพนมเปญ เดินทางข้ามภูเขาที่บริเวณโคกเมือง โดยมีความสามารถด้านการตีทอง เป็นเครื่องประดับต่างๆ ด้วยภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ตกทอดสู่รุ่นต่อรุ่น จนในช่วงปี พ.ศ. 2500 - 2521 ได้หันมาตีเครื่องเงินแทนมาจนถึงทุกวันนี้ หากนักท่องเที่ยวสนใจเข้าชมการสาธิตทำเครื่องเงิน สามารถเดินทางไปชมได้ที่หมู่บ้านบ้านโชค และหมู่บ้านสดอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านโชว์การสาธิตทำเครื่องเงินด้วยมือ
จุดเด่นของหมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ คือ เครื่องประดับทำจากเครื่องเงินที่มีเอกลักษณ์ โดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ใช้วัตถุดิบเงินประมาณ 60% ผสานกับการนำ ประเกือม (ภาษาเขมร) หรือประคำเงิน (ภาษาไทย) เม็ดเงิน เม็ดทองชนิดกลมมาร้อยเป็นเครื่องประดับ อาทิ ประเกือมสุรินทร์ เป็นลูกกลมทำด้วยเงิน แตกต่างจากที่อื่นตรงรูปแบบและลวดลายมากถึง 13 ลาย เนื่องจากทำด้วยแผ่นเงินบางๆ ที่ตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมกับอัดครั่งไว้ภายใน ทำให้สามารถแกะลายได้สะดวก
ประเกือม มีตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 2.5 – 3 เซนติเมตร มีหลายลวดลาย ได้แก่ ถุงเงิน หมอน แปดเหลี่ยม หกเหลี่ยม กรวย แมงดา กระดุม โอ่ง มะเฟือง ตะโพน ฟักทอง จารย์ (ตะกรุด)
หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ นำประเกือม มาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม อาทิ กำไลข้อมือ สร้อยประคำ ต่างหู แหวน และเพิ่มความหลากหลายด้วยการผสมกับวัสดุชนิดอื่น อาทิ มุก นิล ลูกปัดหิน จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำหน่ายเป็นของที่ระลึก
เครื่องประดับเงินของหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ เป็นงานทำมือ (Handmade) ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีพัฒนาการจนมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. สนใจสั่งซื้อติดต่อที่ กลุ่มเครื่องเงินผ้าไหมเขวาสินรินทร์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท. สุรินทร์ โทร. 055-252742-3, 055-25 9907
รายการทั่วถิ่นแดนไทย : จังหวะชีวิตที่งดงาม บ้านเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
การเดินทาง ด้วยรถยนต์ จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร เมื่อเจอแยกขวามือ ให้ใช้เส้นทางหลวงสายสุรินทร์-จอมพระ ขับไปจนถึง กม.ที่ 14-15 จากนั้นเมื่อ เจอแยกขวา ขับไปอีก 4 กม.ก็จะเจอหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)