foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

nai hoi ken

ในภาคอีสานดั้งเดิมนั้น มีลักษณะทำ การเกษตรแบบยังชีพ (subsistence) เป็นส่วนมาก คือ ทำการเกษตรเพื่อที่จะนำผลิตผลมาบริโภคในครัวเรือนของตน เช่น ปลูกข้าวไว้กิน ปลูกฝ้ายไว้ทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม เลี้ยงไหมไว้เอาเส้นใยมาทอผ้างามๆ ไว้ใส่เอาบุญ เป็นต้น การเกษตรส่วนใหญ่จะเน้นที่การทำนาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการทำนายังคงใช้แรงงานจากคนและสัตว์อยู่มาก บริเวณปลูกข้าวที่สำคัญคือ ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำสายสำคัญ รวมทั้งที่ลุ่มกว้างใหญ่ที่เรียกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรกรยังมีการใช้แรงงานไม่เต็มที่ตลอดทั้งปี กล่าวคือ ใช้แรงงานทำนาในช่วงฤดูฝน เก็บเกี่ยวช่วงฤดูหนาว ในช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงที่ทำงานไม่เต็มที่มากที่สุด เพราะปัจจัยหลักในการเกษตรต้องใช้น้ำ ที่จะมีเพียงพอในฤดูฝน ยังไม่มีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ เลยต้องโยกย้ายไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ บ้างก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหางานทำที่นั่นแทน ทิ้งให้คนแก่และเด็กๆ อยู่เฝ้าบ้านเดิมรอฤดูกาลทำนาอีกครั้ง

kasetakam 01

ในปัจจุบันนี้ มีการตื่นตัวที่จะปลุกพืชเพื่อการค้าขายทำเงินมากขึ้น หลังจากที่มีการประกาศใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 (ตำนานเพลงผู้ใหญ่ลี) จึงมีการแผ้วถางป่าโคก ป่าดอน เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปอ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทั้งนี้ เพราะตลาดมีความต้องการมากขึ้น ดังนั้น ภาคอีสานจึงประสบกับปัญหาป่าไม้ถูกบุกรุก แผ้วถาง เพื่อการทำไร่มากขึ้น (โดยเฉพาะแถบบุรัรัมย์ โคราช ทางอำเภอนางรอง หนองกี่ เสิงสาง หนองบุญนาก โชคชัย) ต่อมาภาคอีสานมีการพัฒนาชลประทานมากขึ้น โดยมีการพัฒนาระบบชลประทานแบบอ่างเก็บน้ำมากที่สุด อ่างเก็บน้ำเล็กๆ ที่สร้างขึ้นมากกว่า 100 แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะยังมีพื้นที่อีกจำนวนมากที่อยู่นอกเขตชลประทาน

อาชีพการเลี้ยงสัตว์ของคนอีสาน

ภาคอีสาน มีพื้นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุอาหาร ไม่มีน้ำหลากแบบที่ราบลุ่มภาคกลาง จึงทำให้ผืนดินขาดแร่ธาตุอาหารที่สำคัญ ราษฎรได้รับผลตอบแทนจากการทำการเกษตรที่ต่ำมาก ในภาคอีสานจึงมีการเลี่ยงสัตว์แบบพื้นเมืองเป็นส่วนมาก คือ จะเลี้ยงโค (วัว) กระบือ (ควาย) พันธุ์พื้นเมืองเป็นฝูงเล็กๆ ปล่อยให้หากินหญ้าตามไร่นา ในป่าทามริมน้ำ ริมหนองบางแห่ง

โคพื้นเมืองโคอีสาน

ลักษณะประจำพันธุ์

โคพื้นเมืองของไทย จัดอยู่ในกลุ่มโคอินเดีย Bos indicus มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Bos Taurus L. มีลักษณะใกล้เคียงกับโคพื้นเมืองของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย ลักษณะรูปร่างกระทัดรัด ลำตัวเล็ก ขาเรียวเล็ก ยาว เพศผู้มีหนอกขนาดเล็ก มีเหนียงคอ แต่ไม่หย่อนยานมาก หูเล็ก หนังใต้ท้องเรียบ มีสีไม่แน่นอน เช่น สีแดงอ่อน เหลืองอ่อน ดำ ขาวนวล น้ำตาลอ่อน และอาจมีสีประรวมอยู่ด้วย โดยทั่วไปมีลำตัวสีน้ำตาลแกมแดง แต่อาจมีสีแตกต่างกันหลายสี หน้ายาวบอบบาง หน้าผากแคบ ตะโหนก (hump) เล็ก เหนียงคอ (dewlap) และหนังใต้ท้องไม่มากนัก ใบหูเล็ก นิสัยเปรียว ตื่นตกใจง่ายรักฝูง จดจำฝูงได้ดี มีความแข็งแรงทนทาน และอดทนมาก จึงเป็นโคสำหรับใช้งานโดยแท้จริง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมอากาศร้อนชื้น โรคพยาธิ และแมลงได้ดี เลี้ยงง่ายโดยปล่อยให้หากินตามทุ่งหญ้าสาธารณะ ตามป่าละเมาะ ไล่ต้อนตามป่าเขา สามารถใช้เศษเหลือจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก นอกจากนี้ยังใช้ต้นทุนในการเลี้ยงดูต่ำกว่าโคพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

kasetakam 10

โคพันธุ์พื้นเมือง หรือ วัวกระโดน มีขนสั้นเกรียน โดยทั่วไปมีลำตัวสีน้ำตาลแกมแดง แต่อาจมีสีแตกต่างกันหลายสี หน้ายาน บอบบาง หน้าผากแคบ ตะโหนกเล็ก เหนียงคอ และหนังใต้ท้องไม่มากนักมีรูปร่างขนาดเล็ก น้ำหนักแรกเกิด 16 กก. น้ำหนักหย่านมเมื่ออายุ 200 วันเฉลี่ย 94 กก. น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 300 - 350 กก. เพศเมีย 22 - 250 กก. อายุเมื่อให้ลูกตัวแรก 2.71 ปี ระยะการอุ้มท้อง 270 - 275 วัน ช่วงห่างการให้ลูก 395 วัน

เนื่องจาก นโยบายการเลี้ยงโคที่รัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ได้เน้นการผลิตเพื่อการบริโภค และทดแทนการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคพันธุ์ต่างประเทศทั้งพันธุ์แท้และลูกผสม (พวกตัวใหญ่ หูยาว ที่เคยฮิตกันมาพักหนึ่ง คนขายน้ำเชื้อรวย คนเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นหนี้) จนทำให้โคพื้นเมืองไม่ได้รับความเอาใจใส่ในด้านการเลี้ยงดู การปรับปรุงสายพันธุ์ และขาดการอนุรักษ์พันธุ์อย่างจริงจัง ทำให้โคพื้นเมืองซึ่งสามารถเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพแวดล้อมของเกษตรกร ถูกละเลยไปทั้งๆ ที่โคพื้นเมืองมีคุณลักษณะที่โดดเด่น เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงดูของเกษตรกร และสภาพท้องถิ่น มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมมานับพันๆ ปี

การกระจายของประชากรโคพื้นเมืองอีสาน หรือวัวกระโดน เลี้ยงกันมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งตอนล่างและตอนบน เพื่อใช้ลากจูงพาหนะ เทียมเกวียน และเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ โดยเฉพาะในงานพิธีและเทศกาลที่สำคัญ (บ่ได้ล้มงัวเลี้ยงหมู่รู้สึกว่างานไม่ยิ่งใหญ่สมฐานะ)

พันธุ์กระบือ (ควาย) พื้นเมือง

ควาย หรือ กระบือ สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กระบือป่า และ กระบือบ้าน สำหรับกระบือบ้านก็แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ กระบือปลัก (Swamp buffalo) และกระบือแม่น้ำ (River buffalo) กระบือทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์ตระกูลและสายพันธุ์เดียวกัน กระบือไทยเป็นประเภทกระบือปลัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คือ Bubalus Bubalis

จากการศึกษาทางด้านชีวโมเลกุล พบว่า กระบือปลักมีจำนวนโครโมโซม 24 คู่ ส่วนกระบือแม่น้ำจะมีจำนวนโครโมโซม 25 คู่ และสามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่างกันได้ กระบือปลักมีการเลี้ยงกันมากในประเทศจีนตอนใต้ ประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ และออสเตรเลีย และในประเทศไทย เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานและใช้เนื้อเป็นอาหาร (ทางอีสานจะนิยมเนื้อวัวมากกว่าเนื้อควาย ควายที่เลี้ยงจึงถูกส่งลงไปโรงฆ่าสัตว์ในภาคกลางมากกว่า)

kasetakam 11

กระบือปลัก (Swamp buffalo) กระบือปลักเป็นสัตว์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่างๆ ทางตะวันออกไกล ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า จีนตอนใต้ กัมพูชา และลาว เป็นต้น ในสมัยก่อนเกษตรกรจะเลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานในไร่นา ใช้บรรทุกสิ่งของและลากจูง เมื่อกระบืออายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร สำหรับประเทศไทย กระบือพื้นเมืองจะเป็นกระบือปลัก อาจจะเป็นเพราะว่าลักษณะทั่วไปของกระบือชนิดนี้ จะชอบนอนแช่ปลัก ชอบลงน้ำเมื่อมีอากาศร้อน มีรูปร่างล่ำสัน ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบนโค้งไปข้างหน้า หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง คอยาว และบริเวณใต้คอจะมีบั้งคอซึ่งมีขนขาวเป็นรูปตัววี (Chevron) หัวไหล่และอกนูนเต็มได้ชัดเจน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ ที่เป็นสีขาวเผือกก็มีอยู่บ้างเห็นได้ทั่วไป

กระบือแม่น้ำ (River buffalo) กระบือแม่น้ำ พบมากในประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออก เป็นกระบือที่ให้นมมากและมีลักษณะเป็นกระบือนม เลี้ยงไว้เพื่อรีดนม กระบือแม่น้ำจะมีหลายสายพันธุ์ พันธุ์มูร่าห์ พันธุ์นิลีราวี พันธุ์เมซานี พันธุ์เซอติ และพันธุ์เมดิเตอเรเนียน เป็นต้น กระบือประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่รูปร่างแข็งแรง ลักษณะทั่วไปมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้นและบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก

วัว-ควาย จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อชุมชน ทั้งในสถานะปัจจัยการผลิต คือ ใช้แรงงานในการลากคราด ไถนา (เพราะมีกำลังอดทนกว่าวัว และชอบน้ำมากกว่าวัว) ผลิตปุ๋ยคอก เป็นพาหนะอำนวยความสะดวกในการเดินทางคมนาคมขนส่ง (เทียมเกวียน) เป็นสิ่งแสดงถึงสถานะทางสังคม เป็น 'มูลมัง' (สมบัติ) สำหรับลูกหลานเวลาแต่งงานมีเหย้ามีเรือน แยกครอบครัวเป็นของตนเอง และเป็นสินค้าที่สามารถขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวบ้าง

kasetakam 02

สภาพสังคมแต่เดิม "การขายวัว-ขายควาย ให้กับคนในท้องถิ่นนั้นเป็นไปได้ยาก" ทั้งนี้เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็เลี้ยงวัว-ควาย ไว้ใช้งานในครัวเรือนเหมือนๆ กัน 'ตลาดวัว-ควาย' ในขณะนั้นจึงอยู่ในท้องถิ่นภาคกลาง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางยาวนาน รอนแรมหลายเดือน เดินทางจากสุดขอบภาคอีสานผ่านโคราช ข้ามภูเขาดงพญาไฟไปสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางทางอยุธยา ก่อนเข้าสู่เมืองหลวง

ดังนั้นการจะนำ วัว-ควาย ไปขาย จึงต้องอาศัยการรวมตัวเดินทางกันเป็นหมู่คณะ เพื่อความปลอดภัย และจากการเดินทางในลักษณะนี้เอง ได้บ่มเพาะประสบการณ์ให้กับกลุ่มชาวบ้านที่นำวัว-ควายไปค้าขาย มีผู้นำกลุ่มในการเดินทางไปค้า กลายเป็นตำนาน "นายฮ้อย" ในเวลาต่อมา

"นายฮ้อย" ตำนานผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า

"นายฮ้อย" คือ เรื่องราวของกลุ่มพ่อค้า ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในท้องถิ่นภาคอีสาน โดยเฉพาะนายฮ้อยวัว-ควาย นับเป็นตำนานอีกบทหนึ่งที่ไม่ได้มีเฉพาะบทบู๊ หากแต่เต็มไปด้วยการสะสมองค์ความรู้ และภูมิปัญญา เกี่ยวกับวัว-ควาย และการค้าขายในยุคสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนสิ่งของดังในอดีต

เมื่อเอ่ยคำว่า "นายฮ้อย" หลายคนคงมีภาพ "นายฮ้อยเคน" ในละครเรื่องดัง "นายฮ้อยทมิฬ" ของ ลุงคำพูน บุญทวี ในเนื้อเรื่อง กล่าวถึงชายชาตินักเลงที่เป็นหัวหน้าขบวนต้อนวัว-ควายฝูงใหญ่ไปขายยังต่างถิ่น ต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ ระหว่างเดินทางมากมาย ซึ่งภาพในชีวิตจริงของพ่อค้าวัว-ควายภาคอีสานสมัยก่อน มีวิถีชีวิตไม่ต่างกันนัก เพียงแต่ในละครอาจมีการสอดแทรกเรื่องราว สีสัน ความรัก ความทุกข์ โศก เพื่อเพิ่มความสนุกสนานตื่นเต้น และชวนให้ติดตามมากกว่าเรื่องจริงบ้างเท่านั้น

kasetakam 03

อันที่จริงคำว่า "นายฮ้อย" เป็นภาษาท้องถิ่นภาคอีสาน ที่เรียกกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทในการค้าขาย และมักเรียกตามชื่อประเภทสินค้า ดังนั้น กลุ่มคนที่ค้าขายวัว-ควาย จะถูกเรียกขานว่า "นายฮ้อยวัว-ควาย" แต่อาจเพราะนายฮ้อยวัว-ควาย มีบทบาทสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานใกล้ชิด มากกว่ากลุ่มพ่อค้าสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของชาวอีสานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ชาวบ้านมีการเลี้ยงวัว-ควาย เป็นอาชีพที่ควบคู่กันมากับการทำนา ทำไร่ นั่นเอง

"นายฮ้อย" หมายถึง ผู้ที่เป็นหัวหน้าในการค้าขาย เป็นผู้ที่มีบารมี มีอำนาจรู้จักเส้นทางการค้าขายเป็นอย่างดี เป็นที่เกรงขาม และชาวบ้านให้ความนับถือ สาเหตุที่เรียก "นายฮ้อย" เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น รูปแบบของการค้ามีทั้งแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของ และการใช้เงินตรา ในสมัยก่อนนิยมใช้ "เงินเหรียญ" (ยังไม่มีเงินที่เป็นธนบัตรดังปัจจุบัน) เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน การเก็บรักษาเงินของพ่อค้าในสมัยนั้น ใช้ผ้าเย็บเป็นถุง ขนาดของถุงกว้างพอเหมาะกับความกว้างของเงินเหรียญ แล้วเอาเงินเหรียญบรรจุลงในถุง ชาวบ้านเรียก "ถุงเงิน" แบบนี้ว่า “ถุงไถ่” เวลาพ่อค้าเดินทางไปค้าขายก็มักจะเอาถุงไถ่ร้อยเป็นพวง สอดเข้าแขน บางทีก็พันไว้รอบเอว หรือไม่ก็เอาคล้องไว้ที่คอม้า พ่อค้าที่พกเงินถุงไถ่ไปค้าขายจึงถูกเรียกว่า "นายฮ้อย" เพราะร้อยเอาถุงเงินไว้รอบแขน รอบเอว นั่นเอง

"นายฮ้อย" เป็นอาชีพพ่อค้าที่ทำการเดินทางไปค้าขายยังต่างถิ่น ต่างแดน เส้นทางการค้าขายมีทั้งทางบกและทางน้ำ การค้าขายของนายฮ้อยนั้นจะเรียกชื่อ "นายฮ้อย" ตามด้วยสิ่งที่นายฮ้อยทำการค้าขาย เช่น ถ้าค้าขายกระบือก็จะเรียกว่า "นายฮ้อยกระบือ" ถ้าค้าเกลือก็จะเรียก "นายฮ้อยเกลือ" ค้าหมูก็จะเรียกว่า "นายฮ้อยหมู" เป็นต้น

ลักษณะของผู้เป็นนายฮ้อย

ผู้ที่จะเป็น "นายฮ้อย" นั้น ไม่มีการหาเสียงอย่างผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองทั้งหลาย เป็นความเห็นดี เห็นชอบ ของเพื่อนฝูง หรือเฒ่าแก่ในหมู่บ้าน โดยเพื่อนฝูงหากขอร้องให้เป็น และพร้อมกันยกยอกันขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องเคารพนับถือเชื่อฟังกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ร่วมเป็นร่วมตายกัน สำหรับนายฮ้อยนั้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบของหมู่คณะทุกประการ ประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญดังนี้ คือ

  • เป็นผู้ชำนาญเส้นทางในการค้าขาย
  • เป็นผู้มีกริยา วาจาดี พูดจาคล่องแคล่ว สื่อสารกับผู้อื่นได้ดี
  • เป็นผู้รู้กฎหมาย ระเบียบ และประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ  เป็นผู้มีปัญญา ความฉลาดในการติดต่อสังคม ในการซื้อขาย ในการรักษาทรัพย์ ในการรักษาชีวิต เป็นต้น
  • เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต โอบอ้อมอารี มีเมตตาจิต ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่คดโกง ฉ้อฉล เบียดบังเอาเปรียบในลูกน้องของตน
  • เป็นผู้มีความแกล้วกล้าสามารถ อาจหาญ มีการยอมเสียสละ ต่อสู้เหตุการณ์โดยไม่หวั่นไหว
  • เป็นผู้เก่งทางวิชาอาคม อยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า ตีไม่แตก จับไม่อยู่ เป็นต้น
  • เป็นผู้ฉลาดในการวางแผน เช่น จะออกเดินทางในเวลาใด ควรจะให้ใครออกก่อน อยู่ท่ามกลาง และอยู่ตามหลัง พักกลางวันและพักค้างคืนที่ใด จะให้น้ำให้หญ้าแก่สัตว์อย่างไร ไปช้าไปเร็วขนาดใด เป็นต้น
  • เป็นผู้รู้จักสอดส่องมองรู้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ที่จักเกิดขึ้นในภายภาคหน้า

อาชีพค้าขายโดยพ่อค้าชาวอีสานที่ทำการไปค้าต่าง หรืออาชีพ "นายฮ้อย" นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่หลังจาก ปี พ.ศ. 2398 กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลได้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า "สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง" หลังจากที่ได้ทำสนธิสัญญาแล้ว ทำให้เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนจากระบบแบบเลี้ยงตัวเอง กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า กล่าวคือ ระบบแบบเลี้ยงตัวเองนั้นระบบการค้าภายในประเทศ จะอยู่ในขอบเขตที่ส่วนใหญ่จะเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของ และการใช้แรงงานรับจ้างก็ยังไม่มีแพร่หลาย

แต่หลังจากที่ได้มีสนธิสัญญาแล้ว ก็ทำให้รูปแบบการผลิตเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การผลิตเพื่อการค้าในประเทศเพิ่มมากขึ้น ระบบการผลิตเพิ่มขึ้นก็ทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจในส่วนกลางขยายตัวอย่างกว้างขวาง และมีการลงทุนมากขึ้น จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสานนั้น สภาพเศรษฐกิจยังเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง การผลิตมีปริมาณไม่มาก และลู่ทางในการหาเงินก็มีน้อย จึงทำให้ชาวอีสานลงมาทำนารับจ้าง ขายแรงงานในแถบภาคกลางปีละหลายพันคน

kasetakam 04

ในการเดินทางเพื่อที่จะไปรับจ้างทำนา ก็จะมีผู้ที่นำทางลงไปยังภาคกลาง ก็คือ "นายฮ้อย" ในช่วงที่การคมนาคมยังไม่ดีเท่าที่ควรนั้น ในช่วงที่ยังไม่มีเส้นทางรถไฟ "นายฮ้อย" จะพาแรงงานรับจ้างนี้ลงไปพร้อมกับฝูงวัวควายที่ตนต้อนลงไปขาย โดยนายฮ้อยคนหนึ่งจะคุมคนตั้งแต่ 17 ถึง 120 คนโดยนายฮ้อยจะได้รับค่าตอบแทนต่อรายหัว ตั้งแต่ประมาณ 2 ถึง 10 บาท อาชีพนายฮ้อยจึงเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดี

การค้าขายโดยทั่วไปในภาคอีสานนั้น การค้าขายถือเป็นอาชีพที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ที่ควบคูไปกับการการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ชาวนาจะมีเวลาว่างถึง 6 เดือน ในช่วงนี้เป็นโอกาสให้ชาวนาแสวงหารายได้เพื่อมาจุนเจือครอบครัว และเสียภาษี ด้วยเวลาที่ว่างเว้นจากการทำนานี้เอง จึงทำให้นายฮ้อยทำการรวบรวมทุนออกหาซื้อสินค้าตามหมู่บ้านต่างๆ สินค้าที่ซื้อก็มี ผลเร่ว ครั่ง เขาสัตว์ หมู วัว ควาย เป็นต้น นายฮ้อยคนเดียวจะค้าขายสินค้าเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

สมัยนั้น นายฮ้อยพวกพ่อค้าวัว-ควาย ต้องไล่ต้อนสัตว์ลงไปยังที่ราบลุ่มภาคกลาง จะต้องผ่านเขตเขาใหญ่ ซึ่งว่ากันว่ามี "มหาโจรเขาใหญ่" คอยสกัดทำร้าย ปล้นสดมภ์เป็นประจำ ด่านผู้ร้ายที่สำคัญเป็นเขตอันตรายสีแดง ก็คือบริเวณ "ปากช่อง" และ "ช่องตะโก" พวกพ่อค้าทั้งหลายจะขี้ขลาด ตาขาว ลาวพุงดำผ่านไม่ได้ ต้องกล้าเก่ง ฮึกหาญ เตรียมต่อสู้ทุกคน ไม่เขาก็เรา ขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชายต้องบุกให้ผ่านพ้นอันตรายให้จนได้ นายฮ้อยต้องมีปืน มีดาบ ติดตัวอยู่เสมอ เมื่อมีเวลาเหตุการณ์ ต้องออกหน้าออกตาในการต่อสู้ ถ้านายฮ้อยดีก็ปลอดภัยทั้งขาไปขากลับ

เมื่อเวลาขากลับนั้น จวนจะถึงบ้านแล้ว ต้องหยุดพักแรมในสถานที่ใดที่หนึ่งก่อน แล้วส่งข่าวไปหาทางบ้านว่า "พรุ่งนี้จะได้เดินทางกลับมาถึงบ้านเวลาประมาณเท่านี้เท่านั้น" ก่อนจะถึงบ้านประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร จะต้องจุดประทัดหรือยิงปืนเป็นเครื่องสัญญาณ ฝ่ายพี่น้องลูกเมียได้ยินสัญญาณแล้วก็เตรียมตัวออกไปต้อนรับห่างจากบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีบรรณาการฝากต้อนกัน โดยความร่าเริงบันเทิงใจ ฝ่ายภรรยาบางคนถึงกับน้ำตาคลอเลย เพราะความปลื้มปีติที่ได้พบหน้าสามีของตน พวกพ่อค้าทั้งหลายมักจะเตรียมเสื้อผ้าใหม่สวยงามมาจากเมืองหลวง ขนมหลากหลาย ที่ขาดไม่ได้คือ "ประทัด" มาแจกลูกหลานของตนในเวลานั้น พวกเด็กๆ เวลาได้รับของแจกก็ดีใจใหญ่ เดินจุดประทัดกลับบ้านสนั่นหวั่นไหว เป็นที่เอิกเกริกกันทั้งหมู่บ้าน

สำหรับการเอาวัวควายไปขายในสมัยนั้น ได้ยินผู้ที่เคยไปเล่าให้ฟังว่า "การเดินไปกว่าจะถึงแหล่งขายลำบากมาก บางครั้งเกิดวัวควายเจ็บป่วยล้มตายจนขาดทุนป่นปี้ก็มี หรือวัวควายเกิดเจ็บป่วยแล้วรักษานานหาย ต้องขายขาดทุนก็มี บางครั้งเกิดโจรผู้ร้ายวางแผนแย่งชิงเอาไปก็มี บางครั้งเกิดการต่อสู้กับพวกผู้ร้าย ถูกบาดเจ็บไปก็มี เกิดต่อสู้กันถึงตายก็มี บางครั้งเกิดไปผ่านอหิวาตกโรค หรือ ฝีดาษ ซึ่งกำลังเกิดระบาดระหว่างทาง" โดยมากมักเป็นบ่อยที่โคราช เกิดป่วยหรือตายด้วยโรคระบาดนั้นก็มี จนเป็นคำร่ำรือที่ว่า "ใครผ่านดงพญาไฟไปได้ ถือว่ายอดคน"

ฝ่ายพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง และลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน เป็นห่วงใยผู้ที่จากไปมากที่สุด คอยฟังข่าวคราวสุขทุกข์ของผู้จากไปอยู่ทุกวิถีทาง และคอยการกลับว่าวันไหนหนอจะโผล่หน้ามาถึงบ้าน (สมัยที่ยังไม่มีการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่อย่างปัจจุบัน) คอยแล้วคอยเล่าจนเป็นจินตนาคติพังเพยว่า

เหมือนนกยางคอยปลา เหมือนนกกะทาคอยปลวก เหมือนลูกรวกอยู่น้ำคอยท่าหมู่ฝน... "

kasetakam 05

ความคิดและความเชื่อของ "นายฮ้อยอีสาน" ในเรื่องของความคิดของนายฮ้อยเกี่ยวกับการค้านั้น ไม่มีการพัฒนารูปแบบให้ดีขึ้นเท่าที่ควร เนื่องจากนายฮ้อยที่เดินทางไปค้าขายต่างแดนนั้น จะไม่นิยมซื้อสินค้ากลับมาขายยังถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ แต่จะซื้อเพียงของฝากติดไม้ติดมือมาเท่านั้น เนื่องจากนายฮ้อยอีสานไม่นิยมการค้าขายเพื่อมุ่งสร้างกำไร และมุ่งเร่งสร้างทุน แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายฮ้อยจะเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทเป็นผู้ได้นำเอาวัฒนธรรมจากต่างถิ่นเข้ามา เห็นได้จากการที่นายฮ้อยได้นำเอาวัฒนธรรมต่างๆ จากภาคกลางเข้ามา เช่น ภาษาพูด ค่านิยม การละเล่น การแสดงเพื่อความบันเทิง หรือแนวคิดใหม่ๆ ทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ได้แพร่ขยายเข้าสู่ภาคอีสาน และการที่นายฮ้อยได้ต้อนวัวควายไปค้าขายที่ภาคกลาง และการที่ชาวอีสานได้มีโอกาสทำการติดต่อค้าขาย หรือไปรับจ้างทำนาในภาคกลาง โดยการที่นายฮ้อยได้นำพาไปนั้น จึงเป็นการแลกเปลี่ยนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมที่เด่นชัดในเวลาต่อมา

ส่วนในเรื่องของความเชื่อของ "นายฮ้อย" นายฮ้อยจะมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น และความเชื่อของแต่ละบุคคล ความเชื่อส่วนใหญ่จะออกมาในรูปของเครื่องราง ของขลัง ฤกษ์ยาม ผีสางเทวดา เห็นได้จากการที่จะเคลื่อนขบวนคาราวานไปค้าขายในแต่ละครั้งนั้น นายฮ้อยจะประกอบพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อเป็นศิริมงคลทุกครั้ง เช่น มีการทำพิธิบายศรีสูตรขวัญให้แก่นายฮ้อย และผู้ที่ติดตาม ตลอดจนฝูงควาย การกำหนดทิศในการออกเดินทาง

การสิ้นสุดของบทบาทของนายฮ้อย บทบาทของนายฮ้อยเริ่มเสื่อมลง เนื่องมาจากการคมนาคมมีความสะดวกสบายขึ้น กล่าวคือ มีเส้นทางรถไฟผ่านจากภาคกลางสู่อีสาน การคมนาคมทางบกเริ่มมีความทันสมัยขึ้น มีการก่อสร้างถนนมิตรภาพ ถนนสายเอเชียพาดผ่านประเทศไทย จากภาคตะวันตกสู่ภาคอีสาน คนเริ่มนิยมทำการค้าขายโดยใช้รถไฟเป็นหลัก เพราะมีความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการขนส่ง

แทนที่จะเดินเป็นคาราวานต้อนวัวควายไปขาย ก็เปลี่ยนมาเป็นต้อนขึ้นรถไฟไปขาย ก็จะสะดวกมากกว่า และในช่วงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ทำการสนับสนุนให้มีการคมนาคมทางบกอย่างเต็มที่ นี่เป็นสาเหตุที่ต้องทำให้นายฮ้อยเริ่มสูญหายไป

kasetakam 06

สรุป ภาคอีสานในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือในช่วงก่อนการคมนาคมจะมีความสะดวกมากขึ้น มีทางรถไฟ ทางรถยนต์ อาชีพการค้าขายการเป็นนายฮ้อยถือว่า มีความสำคัญต่อช่าวอีสานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอาชีพที่หาเงินได้งาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าครอบครัวใดที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นนายฮ้อย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี อาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอีสานเลยก็ว่าได้ และนายฮ้อยแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี

แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียด้าย เนื่องจากระบบการค้าแบบนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว นอกจากบทบาทของนายฮ้อยที่สะท้อนถึงเรื่องเศรษฐกิจของอีสานแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนอีสานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม อะไรอีกมากมาย ซึ่งความเชื่อในเรื่องแบบนี้ก็ยังมีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ตำนาน "นายฮ้อย" นักเลงโตแห่งทุ่งกุลาฯ

พ่อเฒ่าสัว อาสา วัย 73 ปี อดีตนายฮ้อยแห่งบ้านหาญฮี ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า ในช่วงที่เป็นนายฮ้อยจะต้อนวัว-ควายไปค้าขายที่จังหวัดชลบุรี โดยจะออกเดินทางภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว คือ ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ แต่ละครั้งประมาณ 3 เดือน ในกลุ่มนายฮ้อยจะมีการจัดลำดับของนายฮ้อย ตัวพ่อเฒ่าสัวเองเป็นนายฮ้อยที่อยู่กลุ่มของ "นายฮ้อยใหญ่" ชื่อ "นายฮ้อยดี นธีนาม" แต่ละครั้งจะรวมกลุ่มกันประมาณ 50 คน วัว-ควาย รวมๆ แล้วเป็นพันตัว จะมีการกำหนดจำนวนวัว-ควายที่แต่ละคนจะนำไป นายฮ้อยใหญ่จะนำไปได้ 20 ตัว นายฮ้อยลูกน้องจะนำไปได้คนละ 14 ตัว เป็นต้น

"ในช่วงนั้น นายฮ้อยเริ่มทำหน้าที่เป็นพ่อค้าแล้ว ต้องลงทุนซื้อวัว-ควายเอง ครั้งหนึ่งประมาณ 4,000 - 5,000 บาท ได้กำไรเที่ยวหนึ่งประมาณ 3,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าเยอะมาก หากจะขาดทุนก็เพราะถูกขโมยวัว-ควาย ระหว่างทางเท่านั้น" อดีตนายฮ้อยสัว บอก

ความยากลำบากของการเดินทาง และเพื่อให้การเดินทางแต่ละครั้งสามารถขายวัว-ควาย ได้เงินกลับมาบ้าน "นายฮ้อย" จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในการดูลักษณะสัตว์ที่เป็นมงคล-อัปมงคล หรือลักษณะสัตว์ที่เลี้ยงโตเร็ว มีความรู้เทคนิคในการเลี้ยงสัตว์ และการดูแลป้องกันรักษาโรคสัตว์ รวมทั้งการประเมินราคา และการต่อรองการค้าขายวัว-ควาย ด้วยบทบาทดังกล่าวคนในชุมชนจึงให้ความเชื่อถือเป็นภูมิปัญญาทางด้านนี้ของชุมชนตลอดมา

kasetakam 07

ประสงค์ ยมนัตถ์ หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาภูมิปัญญานายฮ้อยวัว-ควาย ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) กล่าวว่า จากการศึกษาบทบาทของนายฮ้อยวัว-ควาย ในแถบ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า บทบาทของนายฮ้อยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมค่อนข้างมาก

นายฮ้อยนักเลงโต เป็นรุ่นแรก ช่วงปี พ.ศ. 2475 - 2505 นายฮ้อยรุ่นนี้ ภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า ติดจะเป็น "นักเลงโต" อยู่ในตัวพอสมควร สูงด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ มีประสบการณ์ในทางการค้า มีความเป็นผู้นำที่ผู้อื่นยอมรับ และให้เครดิตการซื้อขายวัว-ควาย จากเจ้าของเป็นอย่างดี จะต้องคุมกองทัพวัว-ควาย ลูกน้องอีกจำนวนมากไปขายยังเมืองล่าง (ภาคกลาง) และยังเป็นผู้ที่มีเครือข่ายนายฮ้อยด้วยกัน ที่พึ่งกันและกันตลอด มีประเพณีการไปยามเสี่ยว (เยี่ยมเพื่อน) ที่ต้องปฏิบัติตลอดเวลา กับเพื่อนเครือข่ายนายฮ้อยผู้ทำอาชีพค้าขายวัว-ควายด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แหล่งสินค้า ที่สำคัญที่สุด รู้จักเทคนิคการค้าขาย การต่อรองราคา

รุ่นต่อมาถือเป็นนายฮ้อยรุ่นกลาง อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2505 - 2520 เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงการค้าขายวัว-ควาย เริ่มมีถนนหนทางการคมนาคมสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องไล่ต้อนไปขายที่ภาคกลาง แต่มีการใช้รถบรรทุก หรือไม่ก็จะมีพ่อค้าจากภาคกลางขึ้นมาซื้อแล้วขนไปขายเอง ทำให้บทบาทนายฮ้อยวัว-ควาย จำกัดบทบาทอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก เปลี่ยนบทบาทเป็นการนำวัว-ควาย จากนอกพื้นที่เข้ามาขายในตลาดนัดวัว-ควาย และขายไปนอกพื้นที่ แต่เครือข่ายของนายฮ้อยด้วยกันเองก็ยังมีความจำเป็น และมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องอยู่

kasetakam 08

ในขบวนการค้าขายของนายฮ้อยรุ่นนี้ เมื่อมีการซื้อขายวัว-ควาย จะมีการกำหนดจุดนัดพบกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหรือที่มาของ "ตลาดนัดวัว-ควาย" ในท้องถิ่น นายฮ้อยรุ่นนี้ก็ยังเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งการดูลักษณะสัตว์ การเลี้ยงดูและรักษาโรคสัตว์ การค้าขายเน้นวัว-ควายที่นำไปใช้งานเป็นหลัก

สารคดีเงา : นายฮ้อยสู่นายทุน

"ความเจริญ" ผลกระทบภูมิปัญญาดั้งเดิม

แม้ว่า "นายฮ้อย" จะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาเนิ่นนาน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ภาพนายฮ้อยแบบดั้งเดิม อย่างนายฮ้อย "เคน" หรือนายฮ้อยยุคแรกๆ ก็เริ่มเลือนหายไป มีภาพของนายฮ้อยรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่

นายฮ้อย…อย่าตั๋วะเพิ่นเด้อ… "

ถ้อยคำหยอกเหย้านี้จะได้ยินเสมอเมื่อ นายฮ้อยรุ่นใหม่ หรือ นายฮ้อยเหยียบเชือกขาย (ซื้อวัวควายมา ขายไปเอากำไรง่ายๆ ในตลาดนัด) ไปที่ไหนๆ หรือพูดจาในเรื่องใดๆ ภาพลักษณ์ของนายฮ้อยรุ่นนี้ คือ ความกะล่อน เจ้าเล่ห์ สิ่งเดียวที่พวกเขาคิดคำนึงถึง คือ "กำไร" จากการซื้อ-ขายวัว-ควายเป็นหลัก เพราะนายฮ้อยรุ่นนี้จะซื้อขายวัว-ควายในตลาดนัดเป็นหลักนั่นเอง

นายฮ้อย จำลอง สีแดง นายฮ้อยรุ่นเหยียบเชือกขาย วัย 51 ปี ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า นายฮ้อยรุ่นเขา หรือ อย่างเขา "ขี้ตั๋วะ" (โกหก เจ้าเล่ห์) จริงๆ พร้อมกับเล่าประสบการณ์ประกอบเป็นตัวอย่างว่า "ตอนผมอายุ 16 ปี เริ่มเป็นนายฮ้อย ซื้อควายเผือก ราคา 350 บาท และก็จูงไปขายต่อ ก่อนขายก็ไปพูดจาโกหกเขาว่า 'โอ้โห ควายตัวนี้ไถนาเก่งมาก ผมเมื่อยเดินตามไม่ทัน ผมอยากเปลี่ยนกับควายของพ่อเฒ่า แกก็คิดว่าเราเป็นเด็กคงโกหกไม่เป็น แกก็เลยเอาเลย เราก็ขอแถมเงินจากแกอีก 50 บาทแกก็ให้มา เป็นอันว่าเราได้ควายตัวใหม่เพิ่มเงินมาอีกด้วย'

"…บางทีไปซื้อควายกับเจ้าของที่เป็นหญิง ควายเขาสมบูรณ์ดี ผมดูก็รู้ว่าขายได้เป็นหมื่น แต่จะกดราคาเขาแค่ 7,000 ก็บอกว่าควายแม่ใหญ่ขาถก (ขาเป๋ ขากระเผลก เพราะความไม่แข็งแรง) แล้วเราก็ให้ลูกชายจูงไป เราเดินตามก็แอบเตะขา ควายก็เสียหลักเราก็บอกว่านี่ไง ขาถกเห็นๆ แม่ใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ ตามไม่ทัน ก็ยอมขายให้ ก็โกหกอยู่เป็นประจำ"

kasetakam 09

หากดูผิวเผิน อาจดูเหมือนว่า "นายฮ้อย" กับ "พ่อค้าคนกลาง" ในปัจจุบันต่างก็ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน แล้วเหตุใดนายฮ้อยจึงยังคงมีบทบาทอยู่ในตลาดค้าขายวัวควายอีสานอยู่ได้

นายฮ้อยจำลอง กล่าวว่า "พ่อค้าแค่จับวัว-ควายก็เอาไปขาย แต่นายฮ้อยรู้จักวัว-ควายทุกอย่าง ชาวบ้านที่เลี้ยงใครต้องเข้าตลาดนัดเอาวัว-ควายไปขาย ทุกคนในหมู่บ้านต้องไปหานายฮ้อย ให้นายฮ้อยดูวัว-ควายให้ว่า มันจะได้ราคาเท่าไหร่ ตรงนี้ละที่ความเป็นนายฮ้อยจะได้เปรียบในปัจจุบัน เพราะถือว่าอย่างน้อยก็มีความชำนาญรู้จักการตีราคา ชาวบ้านจะขายให้นายฮ้อย และนายฮ้อยจะไปขายให้พ่อค้าต่ออีกที"

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร : ลูกผู้ชายควายงาม

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)