foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan vocation

นอีสานในยุคสมัยก่อนนั้น จะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการสานด้วยด้ายเหนียวทำเป็นเครือดักสัตว์ ทั้งบนบกอย่าง ซิงนกคุ่ม ในน้ำอย่าง แห สวิง มอง (ตาข่าย อวน) เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ไนล่อน ก็เข้ามาแทนที่ ไนล่อน/พลาสติกที่เหนียวทนทานสานด้วยเครื่องจักรมาแทนด้าย จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้ หวาย เส้นใยพืช เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานกัน ดังนี้

แห มอง สวิง

ทั้งสามชื่อนี้ล้วนมาจากภูมิปัญญาของคนโบราณ ในการสานด้วย "ด้าย" เหนียว คงทน มีขนาด รูปร่าง และช่องตาข่ายที่แตกต่างกันตามความต้องการ หรือวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เป็นการจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารแบบพอเพียง ไม่ล้างผลาญเพื่อการค้าอย่างในยุคปัจจุบัน เป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านโดยแท้ มีการถ่ายทอดความรู้ และภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอด แต่เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเข้ามา ทำให้ความรู้เหล่านี้ไม่ได้รับการสืบทอด ด้วยมองว่า "เสียเวลา ไม่ทันกิน" นั่นเอง

แห

แห คือ เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ที่ถักเป็นตาข่ายใช้ทอด (เหวี่ยง) ให้แผ่เป็นวงลงในน้ำ แล้วต้องดึงขึ้นมาจากน้ำ ให้ขอบชายแหรวบปลาเข้ามาในเพา (ขอบถุงตาข่ายแห) ให้ได้ปลาจำนวนมาก เพื่อการยังชีพ หรือเพื่อประกอบอาชีพของคนชั้นล่างของสังคม ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะยังไม่เคยเห็นคนชั้นสูงหรือคนชั้นกลางใช้แหเพื่อการหาปลาเป็นอาหาร หรือหาปลาเพื่อการจำหน่ายเป็นประจำ แต่จะเป็นเพียงครั้งคราวของบุคคลชั้นดังกล่าว เพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลินในยามว่างเท่านั้น

san hae 02

ดังนั้น แห จึงถือเป็นเครื่องมือเพื่อการยังชีพ หมายถึงใช้จับปลาเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันและใช้ประกอบอาชีพ คือใช้จับปลาเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเช่น แลกข้าว แลกเกลือ หรือจำหน่ายนำเงินมาซื้อเครื่องนุ่งห่มของชาวบ้านในชนบท แห จึงถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่แท้จริง เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นห่วงโซ่ในเรื่องอาหารและรายได้ในชีวิตประจำวัน แหจึงได้รับการพัฒนาและเอาใจใส่ เริ่มจากการได้รับการถ่ายทอดเบื้องต้นจากบรรพบุรุษ แล้วลองผิดลิงถูก จนเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์เฉพาะตัวของบุคคล ความแตกต่างของความเชื่อ เรื่องแห ทั้งโครงสร้าง ขนาด วิธีทอด วิธีย้อม และวิธีการต่างๆ ที่ดีแล้ว คล้ายๆ กัน แต่ลึกๆ แล้วมีหลายอย่างที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ดังความเชื่อโบราณอีสานที่ว่า

ชายที่หว่านแหไม่ “มน” (กลม) ถือเป็นชายที่ไม่สมบูรณ์พอที่จะแต่งงานได้ ดังนั้นต้องฝึกหัดเหวี่ยงแหให้มนก่อน คือหาอยู่หากินได้พ่อตาจึงจะยกลูกสาวให้ "

ในอดีตนั้น แหทําจากเชือกป่านหรือปอเทืองซึ่งได้จากการปลูก แล้วตัดต้นป่านหรือปอเทืองนี้แช่น้้ำ 10 –15 วัน แล้วนํามาทุบให้เนื้อไม้แตกเป็นเส้นๆ จากนั้นจึงนําแผ่นเหล็กมาขูดให้เป็นเส้นๆ นําไปตากแห้ง และปั่นเป็นเชือกใช้สานแหซึ่งลําบากมาก และปัจจุบันก็ไมมี่ให้เห็นอีก (แม้กระทั่งต้นปอ) เพราะหันไปใช้ด้ายไนล่อนแทนที่แล้วเพราะหาได้ง่าย สะดวกที่สุด นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวัฒนธรรมในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจน

แห ใช้ทอด (เหวี่ยง) ในภาษากลาง แต่คนอีสานจะเรียกว่า "ตึกแห" เพื่อหาปลาในน้ำ อาจเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่ หนอง บึง สระน้ำ หรือแม้แต่ในนาที่มีน้ำขังหรือแห้งขอด แต่ไม่ต้องแปลกใจที่มีการตึกแหบนโคก (บนบก) เช่น หว่านแห่จับกบตอนหน้าฝนในสมัยก่อน (มีกบจำนวนมากออกมาร้องเรียกหาคู่) จับไก่ จับนก หรือแม้แต่จับหมา จับงู ที่ใช้วิธีการไล่จับแล้วไม่ได้ผล เหนื่อยเกินเหตุ หว่านแหคลุมจับง่ายกว่า เป็นต้น

แห มีหลายขนาดทั้งความกว้างของวงแห ความยาวของแห ทางอีสานจะนับความยาวเป็นศอก แหที่มีความกว้างและยาวมากๆ (เช่น ยาว 9 ศอก) มักจะมีเชือกยาวมัดที่จอมแห (กึ่งกลางด้านบนของแห) เพื่อใช้หว่านหรือเหวี่ยงหาปลาในแม่น้ำใหญ่ มีน้ำลึก เมื่อทอดแห (หว่าน หรือเหวี่ยง) ออกไปแล้วจะสาวเชือกดึงแหขึ้นมา เพาแหที่มีลูกตะกั่วถ่วงน้ำหนักด้านล่างจะหุบเข้าเพื่อรวบปลาเข้ามาในแห ส่วนแหขนาดวงกว้างน้อยและยาวไม่มากนัก จะใช้ทอดหาปลาในห้วย หนองที่มีน้ำตื้น เป็นต้น

san hae 01

การสานแหและอุปกรณ์

การสานแห ส่วนมากแล้วชาวบ้านอีสานจะใช้เวลาว่างจากงานไร่ นา สวน ทำการสานแห หรือคนที่มีอายุมากๆ (ทั้งชาย/หญิง) ไม่สามารถจะออกไปทำงานหนักๆ ได้ อยู่เฝ้าบ้านเลี้ยงหลาน จึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ บางคนสานเพื่อให้ลูกหลานเอาไปเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงครอบครัว ในสมัยโบราณ ส่วนมากแล้วจะไม่มีการซื้อขายกัน จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารกันบ้างเท่านั้น นอกเสียจากมีผู้คนมาขอซื้อจึงสานขายให้ถ้ามีเวลา เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ชายนิยมนำไปจับปลาสะดวกและง่ายต่อการจัดเก็บรักษา การสานแหให้เสร็จแต่ละผืนจะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน จึงสำเร็จ ปกติก็ไม่รีบร้อนในการสานสักเท่าไร มีเวลาว่างช่วงไหนก็สานช่วงนั้น เพราะบางคนไม่ได้มีเวลาเพียงสานแหอย่างเดียว ต้องหุงหาอาหารรับประทาน เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดูแลบ้าน เป็นต้น ไม่จำกัดเวลาที่ทำ จึงมีอิสระในการทำงาน

การสานแห มีมาช้านานแล้ว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการทำมาหากิน และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีวิตในอดีต มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ตามหมู่บ้านในพื้นที่ต่างๆ เช่น หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ทั้งแม่น้ำโขง ชี มูล แม่น้ำสงคราม ลำเซบก เซบาย เป็นต้น แต่การสืบทอดก็นับวันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

อุปกรณ์สำหรับการสานแห มีดังนี้

  • ด้าย ที่มีความเหนียว ขนาดเส้นใหญ่เล็กตามขนาดของตาแห (ช่องแห) และความยาวที่ต้องการ ปัจจุบันนิยมใช้ด้ายไนล่อนที่มีความเหนียว
  • กิม หรือ ชีม บางแห่งเรียก ชนุน มีลักษณะเป็นไม่ไผ่แบน หนาประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กว้าง 1 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หัวแหลมมน ประมาณ1 ใน 3 ส่วนของความยาว เจาะทะลุยาวตามส่วน1 ใน 3 มีเดือยตรงกลาง ส่วนท้ายใช้มีดควงให้เป็นตัวยู (ปัจจุบัน ใช้ไม้พลาสติกสำเร็จรูป มีให้เลือกหลายๆ ขนาด)
  • ไม่ไผ่ หรือ ปาน มีลักษณะการเหลาไม้ไผ่คล้ายไม้บรรทัดยาว 5-6 นิ้ว หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ความกว้างขึ้นอยู่กับขนาดของตาของแหที่ต้องการ
  • กรรไกร สำหรับตัดด้าย
  • ลูกแห หรือ ลูกโซ่ตะกั่ว สำหรับถ่วงให้แหจมน้ำได้รวดเร็ว
  • สีย้อมแห ให้มีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม เมื่อจมลงน้ำจะกลมกลืนไปกับน้ำจนปลามองไม่เห็น (จริงป๊ะ) ส่วนใหญ่จะเป็นสีจากธรรมชาติที่ช่วยให้แหมีความคงทน ใช้ได้นาน หรืออาจจะไม่ใช้ก็ได้

วิธีการสานแห

  • เริ่มจากส่วนจอมแห ลักษณะทำจอมมีบ่วง ไว้สำหรับห้อยแขวนระหว่างสาน โดยใช้ไม้แบบตอกตะปูหรือตะปูเกลียว 4 ตัวทำการพันด้ายเป็นจอมแห 12 รอบ แล้วพันส่วนกลางให้แน่น ก่อนจะถอดออกจากสกรูมาทบเข้ากันเป็นห่วงหรือจอมแห วิธีการตามคลิปข้างล่างนี้เลย

  • จะเริ่มต้นสานแหจากจอมแหก่อน เพิ่มและขยายรอบการถักออกและขยายตาข่ายให้กว้าง เพื่อที่จะทำให้เป็นวงกลมทั้งผืนบานออกตามขนาดที่ต้องการใช้งาน ขนาดในการสานแหนั้น ถ้าเป็นความยาวจะมีขนาดและหน่วยวัดเป็นศอก เช่น ห้าศอก เจ็ดศอก เก้าศอก และ สิบเอ็ดศอก ส่วนขนาดความกว้างนั้นยึดเอาขนาดของช่องตาข่ายเรียกเป็นเซ็น (เซนติเมตร) เช่น แหขนาดตาข่าย สองเซ็น สี่เซ็น ห้าเซ็น  เป็นต้น 
  • การสานแหโดยการถักห่วงจากจอมแห เรียกว่า "แขแห" ถ้าเริ่มด้วย 16 ห่วงเรียกว่า แขแห 16 จากแขแหชุดแรก สองรอบแรกต้องแข 16 จะเป็นหลักของชุดต่อไปจนถึงปากแห แขแห 16 นี้ และรอบที่สาม จะแขแหทุกระยะเว้น 2 ตาแห หรือเมื่อสานได้ 2 รอบ แขแหมีประโยชน์เพื่อจะช่วยให้แหบานแผ่กว้างขึ้นเรื่อยๆ รอบๆ จอมแห (แข คือ ส่วนที่จะไปช่วยเพิ่มจำนวน ปริมาณตาของแห เพิ่มความกว้างของแห ขยายออกเรื่อยๆ) เพื่อให้เข้าใจเห็นภาพดูตามคลิปนะครับ

ขอบคุณคลิปสอน การสานแห จากคุณนิธิศ ภู่เกลี้ยง

  • ความยาวของแหจะวัดด้วยศอกของผู้ถักหรือสาน แต่ต้องนับจากจอมแห อันเป็นความเชื่อที่โบราณสอนไว้ ความยาวของแหวัดด้วยศอกของผู้ถักหรือสานแต่ต้องนับแขจากจอมแหแล้ว “ถูกโสก” หรือต้อง “ถูกโฉลก” อันเป็นความเชื่อที่โบราณสอนไว้ ถ้าไม่ถูกโสกจะใช้จับปลาได้น้อยหรือไม่เป็นมงคลซึ่งคําโสกแหมี 2 แบบคล้ายๆ กัน (ดูในเรื่องของโสกแหด้านล่าง)
  • เมื่อหมดขั้นตอนของการสานแล้ว จะถึงขั้นตอนติดลูกแห เรียกว่า ซูแห การติดลูกแหซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงโซ่เหล็ก หรือตะกั่ว จะต้องใช้เชือกหรือด้ายที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของเชือกหรือด้ายสานแหปกติ การซูแหหรือการใส่ลูกแหนี้ ถ้าเป็นแหขนาด 7 ศอกจะใช้ลูกแหทั้งหมด 1,300 ลูก ถ้าเป็นแห 9 ศอก ต้องใช้ลูกแห 1,500 ลูก ลูกแหที่นิยมกันคือลูกเหล็กหรือตะกั่วเพราะมีน้ําหนักดี เวลาที่จะติดลูกแหจะต้องดูก่อนว่า ตาแหถี่หรือห่าง ถ้าตาแหห่างจะนอน 2 สลับนอน 3 ถ้าเป็นแหถี่จะนอน 3 ล้วนๆ หากเป็นแหห่างซึ่งตาแหจะใหญ่จะใช้นอน 2 สลับกันที่นอน 3 เพราะว่าถ้านอน 3 ล้วนๆ ตาแหจะแบนออก เวลาผูกเพาตัวลูกแหจะหย่อนทําให้แหมีช่องโหว่ปลาจะหนีออกได้

การเอาแข หรือ ขยายตาแห ให้มีวงบานออก

การย้อมแห

การย้อมแห ก่อนจะนำแหไปหาปลา จะต้องย้อมแหเสียก่อนให้มีสีเข้มโดยวิธีธรรมชาติ ที่ชาวบ้านนิยมย้อมกันมาก ก็คือ ย้อมด้วยเลือดวัว เลือดควาย ผสมกับใบไม้ เช่น ใช้ใบบก ใบกะบาก เปลือกต้นมะม่วงน้อย เปลือกประดู่ ลูกตะโกดิบ โดยการโขลกหรือตำใบดังกล่าว อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยครกหินหรือครกไม้ขนาดใหญ่ แล้วคลุกกับเลือดวัวหรือเลือดควายในกาละมังขนาดใหญ่ โดยนำแหลงคลุกกับส่วนผสมที่เตรียมไว้ ใช้มือบีบคน/คลุกจนได้ที่แล้ว จึงนำแหนี้ไปนึ่ง ด้วยหวดประมาณครึ่งชั่วโมง (เลือดนึ่งสุกแล้ว) ก็นำแหไปตากหรือผึ่งแดด

จุดประสงค์ของการย้อมแห ก็คือ นอกจากเลือดและยางใบไม้ที่เหนี่ยวจะช่วยเคลือบเนื้อไนล่อน หรือปมขมวดที่สานกันของแหให้กลมกลืน น้ำซึมเข้าไม่ได้ แล้วยังทำให้เนื้อแหมีความลื่น จมน้ำได้เร็ว และสีของเปลือกไม้กับเลือด เมื่อนึ่งสุกแล้วจะทำให้แหมีสีดำ และมีความโปร่ง ง่ายต่อการสาวแห และง่ายต่อการเก็บปลา

การถ่วงแห

การถ่วงแห หลังจากตากแหแห้งดีแล้ว ปราชญ์ชาวบ้านบางท่านกล่าวว่า "แหก็ยังนำไปทอดหรือตึกไม่ได้ จะต้องนำแหมาถ่วงก่อน" โดยการใช้ไหบรรจุน้ำจนเต็ม แล้วนำไหนี้ไปใส่ในตัวแหแล้วมัดตีนแหให้แน่น ส่วนจอมแหมัดกับขอหรือกิ่งไม้ ทิ้งไว้ข้ามคืนโดยประมาณ จุดประสงค์เพื่อให้แหมีความกระชับ ยืดตึง และอยู่ตัว หลังจากนั้น แหปากนี้ก็พร้อมใช้ทอดหรือตึกได้เลย การเหวี่ยงแห (ทอดแห ตึกแห) ถือเป็นศาสตร์เฉพาะตัวจริงๆ จะต้องใช้ความรู้ ความสามารถเฉพาะตัวมากในการเหวี่ยงออกไปให้บานได้กลมๆ เป็นวงกว้าง (ส่วนผู้เขียน : ตัวทิดหมูนั้น มิอาจทำได้เลย เคยฝึกกับลุงบนเรือที่แม่น้ำมูลเมื่อหลายปีก่อนสมัยเป็นหนุ่ม ปรากฏว่า ไม่ได้ปลา แต่ผู้เหวี่ยงแหได้ลงไปติดอุ้มลุ้มอยู่ในแหที่เจ้าของหว่านลงไป เพื่อนบ้านแตกตื่นมาดูเพราะได้ยินเสียงน้ำกระจาย นึกว่าตึกแหได้ปลาค้าว ปลาปึ่งโตใหญ่ อยากหัวเจ้าของเด้ คักหลาย...)

การหว่านแห ตึกแห ให้มน โดย อีสานโปรดักชั่น

การเก็บรักษาแห

การตากแห หลังจากที่ใช้แหจับปลาเสร็จแล้ว ควรจะนำมากตากแดด ตากลมให้แห้ง สลัดเอาเศษไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ หรือเศษปลาเล็ก ปลาน้อยออกให้หมด เพื่อไม่ให้มีกลิ่นคาวของปลา ซึ่งแมลงสาบ หนู จิ้งจก และมดชอบ จะทำให้สัตว์เหล่านั้นมากัดแทะแหขาดได้ ดังนั้นจึงต้องนำแหมาผูกกับเชือก แขวนไว้หรือห้อยไว้กับต้นไม้ หรือขื่อบ้านที่สูงๆ โดยใช้เชือกมัดที่จอมแหแขวนไว้ และใช้ไม้ไผ่คาดตัวแหให้บานแผ่ออก เพื่อให้แหแห้งเร็ว และทำความสะอาดได้ง่าย หลังจากนั้นนำมามัดแบบก้นจก แล้วเก็บไว้ในกระสอบแขวนไว้ในที่สูง หรือในตู้เก็บของ

ข้อมูลจำเพาะของแหที่ควรรู้

  • แหถี่ (ตาเล็ก) มีตาเล็กกว่า1 นิ้ว
  • แหห่าง (ตาใหญ่) มีตาใหญ่กว่า 1 นิ้วขึ้นไป
  • ถ้าแบ่งตามลักษณะของแหล่งน้ำที่นำแหไปใช้ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำใหญ่อื่นๆ จะใช้แหขนาดยาว 10-15 ศอก หว่านแหจากตัวเรือแล้วห้าว (ดึง) แหขึ้นมาเพื่อจับปลา
  • ส่วนในพื้นที่ที่มีน้ำขังทั่วไปเช่น ห้วย หนอง คลอง บึงขนาดใหญ่มีน้ำมาก  จะใช้แหขนาดยาว 9 ศอก โดยการเหวี่ยงหรือหว่านแห จากเรือหาปลา สวนแหปากเล็กจะยาว 5 - 6 ศอก โดยการเหวี่ยงแหจากฝังหรือลุยน้ำเหวี่ยงแหในห้วย ในหนอง หรือนาน้ำท่วม
  • ถ้าแบ่งตามขนาดของแห นิยมใช้นิ้วมือเป็นเครื่องวัด คือ แหชี้ (ขนาดตาแหประมาณนิ้วชี้) แหโป้ (ขนาดตาแหเท่าหัวแม่มือ) แหสอง (ขนาดตาแหเท่าสองนิ้ว) แหสาม แหสี่ แหห้า แหหก แหเจ็ด แหแปด (ใช้นิ้วมือเป็นมาตรฐานขนาดของตาแห) แหตาใหญ่ๆ จะใช้ตึกปลาใหญ่ เช่น ปลาค้าว ปลาเคิง ปลาบึก ปลาปึ่ง (เทโพ)
  • โสกแห คือ การนับความยาวแหเป็นศอกของผู้สาน จากจอมแหไปจนถึงปลายแหที่ใส่ลูกแห ให้ตกตำแหน่งที่ดีที่สุด ตามความเชื่อแต่โบราณที่ว่า "ถ้าไม่ถูกโสกหรือโฉลกจะจับปลาได้ไม่ "หมาน" หรือ "ได้น้อย" หรือไม่เป็นมงคลนั่นเอง" โสกนั้นมี 2 แบบ ดังนี้

โสกแบบที่ 1

แขแห แขปลา มาเปล่า
เน่าซาน คานหัก ผักเหมือด
เลือดแดง แกงส้ม ต้มหัว ขั้วลิ้น ปิ้นตา "

โสกแบบที่ 2

แขแห แขปลา มาเปล่า
เน่าซาน คานหัก ผักเหมือด
เลือดติด จิดปิดจี่ปี่ บี้หัว แม่ครัวนั่งตากแดด "

ความหมายของโสก

  • มาเปล่า เลือดติด จิดปิดจี่ปี่ บี้หัว ขั้วลิ้น ปี้นตา ถือว่า ไม่ถูกโสก ไม่เป็นมงคล
  • แขแห, แขปลา, ผักเหมือด, แกงส้ม, ต้มหัว ถือว่า พอได้พอกินแต่ไม่มาก
  • เน่าซาน คานหัก แม่ครัวนั่งตากแดด ถือว่า ถูกโฉลก เป็นมงคลหาปลาได้เยอะ เยอะจนคานหัก นั่งขอดเกล็ดไม่เสร็จง่าย คือ ทำทั้งคืนทั้งวันจนตะวันขึ้น แดดจัดก็ยังทำอยู่

เมื่อสานแหจวนจะได้ความยาวตามที่ต้องการแล้ว จึงนับโสก เมื่อจะถึงจุดที่หยุดทำแขแหอีกต่อไป ถ้าตกโสกดีก็จะหยุดสานคือโสก เน่าซาน คานหัก แม่ครัวนั่งตากแดด (เป็นความเชื่อตามภูมิปัญญาอีสานดั้งเดิม ปัจจุบันนี้มีแหสานสำเร็จจากเครื่องจักรมาขายก็คงไม่ได้นั่งนับโสก แต่จะถือเอาความยาวตามแหล่งน้ำที่จะใช้ และขนาดช่องตาที่จะใช้จับปลาขนาดใดเป็นหลัก)

อ้างอิงจาก : แห ผศ.ปกรณ์ คุณารักษ์, ธรรมทัศน์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม – ตุลาคม ๒๕๔๗

มอง ข่าย

มอง หรือ ข่าย เป็นเครื่องมือหาปลาที่ใช้ได้ตลอดปี ยกเว้นในช่วงที่น้ำไหลลงและแรงไม่สามารถใช้มองได้ ลักษณะของมองคือ เป็นตาข่ายซึ่งทำจากเส้นเอ็นขนาดเล็กหลายชนืด เช่น มองใยไหม มองใยบัว ซึ่งมองใยบัวมีขนาดเส้นเล็กกว่ามองใยไหม และยังมีมองเส้นใยหรือด้ายธรรมดาจะเส้นใหญ่และหนากว่าชนิดอื่น เครื่องมือหาปลาชนิดดักปลาที่ชาวบ้านนิยมใช้กันมากที่สุด คือ "มอง" หรือ "ข่าย" โดยใช้มองตาถี่ไปจนถึงมองตาใหญ่ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กมาก 2.5 เซนติเมตรไปจนถึงขนาด 21 เซนติเมตร ซึ่งเป็นมองที่มีตาขนาดใหญ่ที่สุด

san mong 01

มอง มีลักษณะเป็นตาข่าย มีทุ่นขนาดเล็กผูกติดด้านบน ส่วนปลายมองด้านล่างจะมีแท่งตะกั่วถ่วงให้มีน้ำหนัก ให้มองขวางลำน้ำไม่ปลิวไปตามน้ำ เพื่อดักปลา ความกว้างของตาข่ายขึ้นอยู่กับขนาดของปลาที่ต้องการ และฤดูกาลที่ปลาอพยพ ส่วนความยาวของมองก็ขึ้นอยู่กับความกว้างของแม่น้ำในพื้นที่นั้น และขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ด้วย

ปลาที่จับได้ คือปลาเกือบทุกชนิด ขึ้นอยู่กับการใส่มองแบบใด เช่น ในลำห้วยที่น้ำไม่ลึกมากนัก ใส่มองให้ลูกตะกั่วถึงดินก็จะได้ ปลาดุก ปลากด ปลาแขยง ปลาเนื้ออ่อน แต่ถ้าใส่ไม่ถึงดินก็จะได้ปลาผิวน้ำ คือ ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากุ่ม ปลาตะเพียน ปลาอี่ไท ซึ่งใช้มองตาถี่เล็กๆ ขนาด 1-4 เซนติเมตร ปลาพวกนี้จะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ ถ้าใส่มองช่วงเช้าจะมายามตอนเย็นๆ ถ้าใส่ตอนเย็นก็จะมายามตอนเช้า

หากต้องการจับปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาค้าว ปลาปาก ปลาโจก จะใช้มองขนาดตา 6-8 เซนติเมตร จะได้ขนาดปลาประมาณตัวละ 1 กิโลกรัม ถ้าใช้ตาข่ายขนาด 9-16 เซนติเมตร จะได้ปลาขนาด 2-4 กิโลกรัม เช่น ปลาอีตู๋ ปลาชะโด ปลาค้าวใหญ่ ปลาซวย ปลาเคิง แต่ถ้าใช้ตาข่ายขนาด 20 เซนติเมตรขึ้นไป ก็จะเป็นการจับปลาที่มีน้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัมขึ้นไป อย่างปลาบึก ปลาเคิง ปลาค้าว ปลาซวย ปลาหูหมาด ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีปลาขนาดนี้แล้ว คนจับเป็นการค้าเกินไป พลเมืองมากขึ้นจำนวนปลาในแหล่งน้ำลดลง

ບູນຍູ້ລູກແມ່ຂອງ ໄຫຼມອງ ຫາປາ บุนยู้ลูกแม่ของ ไหลมอง หาปลา

และยังขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ใช้ในการใส่มองด้วย เช่น

  • เดือนมีนาคม ปลาที่พบมาก และมักจะอพยพขึ้นเหนือน้ำในช่วงนี้ เป็นปลากระบอก ปลาเคียง ปลาแปบ ฯลฯ โดยใช้มองที่มีขนาดความกว้างของตา 2-3 เซนติเมตร
  • เดือนมกราคม – เมษายน จะทําการไหลมอง ปลาแกง ส่วนขนาดของมองที่ใช้ตามองขนาด 7-8 เซนติเมตร
  • เดือนเมษายน – มิถุนายน เป็นช่วงที่ปลาบึก ปลาเลิม ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงจะอพยพขึ้นวางไข่ มองที่ใช้จับปลาบึกและปลาเลิมก็จะทําขึ้นเพื่อจับปลาบึกและปลาเลิมโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีขนาดตา 21-60 เซนติเมตร

san mong 02

วิธีการใช้งานมอง

มอง หรือ ข่าย มีวิธีการใช้อยู่ 2 วิธี คือ "การวางมอง" ดักปลาไว้ตามบริเวณต่างๆ ตามน้ำโขงไว้ในช่วงเย็น รุ่งเช้าของอีกวันหนึ่งคนหาปลาจะลงไปดูว่ามีปลาติดหรือไม่ หากปลาติดก็จะเก็บเอาปลาออก จากนั้นก็จะวางมองไว้ตามเดิม ช่วงเย็นหลังกลับจากการทําไร่ สวน ก็จะลงมาดูอีกครั้งหรือเก็บกู้นํากลับเอามาที่บ้านเพื่อเอาปลาออก หากมีปลาติดอยู่มาก เมื่อเอาปลาออกจากมองหมดก็จะทําความสะอาดแล้วนํากลับไปวางไว้ในช่วงเย็น

อีกวิธีการหนึ่งเรียกว่า “ไหลมอง” คือ การปล่อยหรือทิ้งมองลงในแม่น้ำ บางครั้งก็ทิ้งมองจากบนเรือขวางแม่น้ำไว้ ดักปลาตรงที่มีปลาอาศัยอยู่ เช่น ใกล้แก่ง บ้างก็ไม่ต้องใช้เรือ แต่ปล่อยมองทิ้งไว้ตามชายฝั่งที่น้ำตื่น ทิ้งระยะเวลาสักพักแล้วค่อยมาดูผลว่าได้ปลาหรือไม่ ฤดูกาลที่ใช้ก็ตลอดทั้งปี ใช้ในระบบนิเวศบริเวณแก่ง และพื้นที่ทั่วไปในลําน้ำโขง น้ำมูล น้ำชี

ชนิดของมอง มีอยู่หลายชนิด ตามท้องถิ่นที่มีลำน้ำ แม่น้ำ กว้างใหญ่ มีความลึกแตกต่างกัน เท่าที่ปรากฏจากอดีตถึงปัจจุบันมีดังนี้

  • มองหยั่ง คือ มองที่ใช้ขึงตาข่ายขวางลำน้ำ ปลาจะว่ายมาติดมองหรือตาข่ายเอง โดยไม่ต้องทำอะไร แต่คนหาปลาบางคนอาจจะใช้ไม้ตีที่ผิวน้ำเพื่อให้เกิดเสียงดัง จนปลาตกใจว่ายหนีไปติดมอง ขนาดช่องตาข่ายของมองจะใช้ขนาด 3.5 - 10 เซนติเมตร
  • มองกวาด หรือ อวนลาก หรือ อวนทับตลิ่ง เป็นเครื่องมือที่ใช้ในช่วงหลังฤดูน้ำลด แต่ระดับน้ำยังลึกพอสมคร คือในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม มีขนาดยาวประมาณถึง 100 เมตร ใช้จับปลาได้ครั้งละมากๆ แต่ใช้แรงงานมากตั้งแต่ 7-10 คน ใช้เรือสองลำ โดยการยึดเผียกมอง (เชือก/ทุ่นด้านบน) ไว้กับริมฝั่ง ให้เรือลำที่หนึ่งพร้อมคน 3-4 คน พายเรือและวางข่ายตีวงออกไปในลำน้ำ แล้วพายเรือให้วงโค้งวกเข้าหาฝั่งอีกด้านหนึ่ง ส่วนเรืออีกลำจะทำหน้าที่ยามมอง ตามเก็บปลาจากมอง รวมทั้งคอยตรวจสอบมองไม่ให้ติดไม้หรือหินใต้น้ำ ด้วยการดำน้ำลงไปปลดมอง
  • มองถุง มองชนิดนี้จะใส่ตัดทางน้ำไหล ใช้ใส่ตอนน้ำไหลอ่อนๆ ตัวมองมีขนาดความยาว (ลึก) มากกว่ามองหยั่ง เพราะใช้มองธรรมดาสอนตอนมาเย็บติดกัน คร่าวบนร้อยด้วยเชือกผูกยึดกับไม้ริมฝั่งน้ำ คร่าวล่างถ่วงด้วยหิน เวลาใส่ลงในน้ำกระแสน้ำจะพัดมองโค้งเป็นรูปถุง ส่วนใหญ่นิยมใช้มองขนาด 4-6 เซนติเมตร สูง 12 เมตร ยาวกว่า 10 เมตร มองถุงเพิ่งจะมีมาไม่นานจากการคิดทำกันเอง จับปลาประเภทปลาหนังหรือปลาขาวขนาดใหญ่
  • ทุ่มมอง ใช้ได้ทั้งในลำน้ำใหญ่และตามหนองบึง วิธีการลงมองคล้ายกับมองหยั่ง แต่จะทิ้งในลักษณะเป็นวงกลม ผู้หาปลาจะใช้ไม้ที่มีห่วงเหล็กคล้องตรงปลาย เพื่อทำให้เกิดเสียงดัง หรือทางมะพร้าว/กิ่งไม้ ทุ่มลงไปในวงด้านในของมอง ให้เกิดเสียงดังใต้น้ำ ทำให้ปลาตกใจว่ายเข้าไปติดมอง
  • มองซิ่ง หรือโต่ง หรือโพงพาง เป็นเครื่องมือหาปลาชนิดดักปลา ที่ชาวบ้านมีการดัดแปลงมาจากมองที่ใช้หาปลากันทั่วไป เมื่อวันเวลาผ่านไป แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง จํานวนปลาลดลงมาก คนหาปลาจึงปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เครื่องมือและวิธีการหาปลา เพื่อให้จับปลาได้โดยการใช้มองที่มีขนาดต่างกัน ซึ่งจะใช้มองตาถี่กับมองตาใหญ่มาประกบกัน เพื่อให้ปลาขนาดเล็กและขนาดใหญ่ติดมอง เช่น ใช้มองขนาด 3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นมองตาถี่ ปะกบกับมองขนาด 10 เซนติเมตรที่มีขนาดใหญ่กว่า นํามอง 2 ขนาดนี้มาปะกบติดกัน คนหาปลาจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า เรียกว่า “มองซิ่ง” ปลาที่จับได้ ปลาทุกชนิด

    วิธีการใช้มองซิ่ง จะวางมองซิ่ง ตามบริเวณต่างๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลาในแม่น้ำใหญ่ ใช้จับปลาได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ โดยปลาใหญ่จะติดอยู่กับมองตาใหญ่ ส่วนปลาเล็กเมื่อเล็ดลอดมองตาใหญ่ไปก็จะติดอยู่กับมองตาถี่ ทําให้จับปลาได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ขนาดความถี่หรือห่างของตามองนั้น ขึ้นอยู่กับคนหาปลาจะประเมินว่า จะใช้จับปลาชนิดใด แล้วจะเลือกขนาดความถี่ของตามมองเบอร์ต่างๆ แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะกับชนิดของปลาที่ต้องการจับ ฤดูกาลที่ใช้ ก็ใช้ได้ตลอดทั้งปี ใช้ในระบบนิเวศบริเวณแก่งและพื้นที่ทั่วไปในลําน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี พบเห็นได้ทั่วไปในแม่น้ำโขงปัจจุบัน

ภูมิปัญญาท้องถิ่น : การซูมอง ถักมอง

การไหลมอง

ไหลมอง เป็นการเรียกชื่อตามวิธีการจับปลา ที่ปล่อยมองไหลขวางไปตามแรงน้ำ วิธีการนี้จะต้องใช้เรือล่องตามการไหลของมองด้วย เพื่อช่วยยามมองหรือเก็บมองเมื่อถึงท้ายลวง วิธีการไหลมองแบ่งย่อยออกได้อีก 3 รูปแบบ คือ

  • การไหลมองพื้นน้ำหรือไหลราบ วีธีนี้คนหาปลาจะถ่วงตะกั่วให้มองจมลงใกล้ติดพื้นดินใต้ท้องน้ำ
  • การไหลมองครึ่งน้ำ เป็นการถ่วงตะกั่วให้มองจมลงไปแค่กลางน้ำ หรือกึ่งกลางระหว่างท้องน้ำและผิวน้ำ
  • การไหลปลิว เป็นการไหลมองผิวน้ำ คนหาปลาจะเพิ่มทุ่นและลดตะกั่ว เพื่อให้มองลอยตั้งตัวอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อย การใช้มองด้วยวิธีการนี้จะต้องมี “ลวง” เฉพาะ ไม่สามารถไหลได้ทั่วไป เนื่องจากมองอาจเสียหายจากการเกี่ยวพันกับรากไม้ ตอไม้ หรือหิน ดังนั้นจึงมักมีการทําาความสะอาดลวง หรือ “ส่าวลวง” เพื่อเก็บหิน หรือเศษไม้ออกจากบริเวณดังกล่าว โดยมากแล้วลวงของวิธีการใช้มองประเภทนี้ จะอยู่บริเวณวัง ขุม หรือเวิน ที่พื้นใต้ล่างเป็นดิน หรือทราย

ยกเว้นการไหลมองครึ่งน้ำ และการไหลปลิว ที่พื้นน้ำอาจเป็นหินก็ได้ เนื่องจากมองไม่ขึงตัวถึงใต้ท้องน้ำ การไหลมองมักทําในสองฤดู คือ ฤดูปลาขึ้น เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม และฤดูปลาล่อง เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตามบางพื้นที่สามารถไหลมองได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงน้ำหลากมากในเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน

ในช่วงที่น้ำหลาก คนหาปลาจะไหลมองบริเวณห้วย หรือบุ่ง การไหลมองจะไหลทั้งวันทั้งคืน ใครมาก่อนจะได้ไหลก่อน หากมีคนจํานวนมากมาไหลร่วมกันจะมีการจัดคิวให้กับทุกคน โดยเฉพาะในช่วงปลาขึ้น ทําให้วันหนึ่งแต่ละคนจะไหลมองได้เพียง 1-3 รอบต่อวัน ขึ้นอยู่กับจําานวนคนที่มาไหลมองในวันนั้นๆ วันหนึ่งๆ จะได้ปลาประมาณ 10-20 กิโลกรัม

ข้อสังเกตในการใช้แหและมอง

การจับปลาโดยวิธีใช้แหเป็นเครื่องมือ ทำให้ปลาไม่บอบซ้ำ เพราะเครื่องมือเบาและเป็นการจับปลาที่ใช้เวลาไม่มาก ถ้าเป็นจับปลาโดย มอง ทำให้ปลาอาจตายก่อน และบอบซ้ำจากการดิ้นรนของปลาที่ถูกตาข่ายของมองรัดตัวนั่นเอง การจับปลาด้วยมองจะต้องใช้เวลานานกว่าจับด้วยอุปกรณ์จับปลาประเภท แห เพราะต้องรอให้ปลามาติดกับดักตาข่ายของมองก่อน ยกเว้น การจับปลาในบริเวณที่เลี้ยงไว้ในสระ หรือ โซนวังปลา (ที่ชาวบ้านนำกิ่งไม้มาวางไว้ในลำน้ำให้ปลาได้หลบเป็นที่พัก) จะได้ปลาในเวลาไม่นานนัก ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้จับปลาว่ามีเวลามากน้อยเพียงใด นั่นเอง 

san swing 03

สวิง

"สวิง" หรือ "หวิง” ในภาษาอีสาน ส่วนภาคกลางจะเรียกว่า “สวิง” ส่วนทางภาคเหนือ เรียกว่า “หิง” องค์ประกอบของสวิง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • “ตาขายทรงกรวย” จะทำการถักให้มีความยาว 1 ช่วงแขนของผู้ถัก ทํามาจากด้ายที่มีความเหนียว ด้านบนของสวิงจะกว้าง ด้านล่างจะแคบเรียวลงมาจนสุดปลาย
  • “กง” หมายถึง ขอบไม้ทําด้วยไม้ไผ่ หรือเครือไม้ ทําเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือทรงกลม หลังจากสานจนได้รูปแล้ว นํามาประกอบเข้ากับขอบไม้ไผ่ มีหลายขนาด ตั้งแต 20 เซนติเมตร จนถึงประมาณ 50 เซนติเมตรทั้ง 3 ด้าน

หากเป็นลักษณะการสานแบบสามเหลี่ยม ซึ่งพบเห็นได้ทางภาคอีสาน ส่วนทางภาคเหนือจะทําขอบเป็นวงกลม สวิงที่มีขนาดปากเล็กมีด้ามจะใช้ตักปลาที่ติดเบ็ด สวิงขนาดปากใหญ่จะใช้หาปลาตามลําห้วย หนองน้ำ ริมฝั่ง โดยการช้อน

การสานสวิง

จะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นกลม ปลายมน ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร พันเชือกไว้กลางเส้นไม้ คลายเชือกออกมาผูกตรงกลางก่อนเหมือนจอมแหสั้นๆ แล้วผูกริมออกมา ใช้ปลายไม้งัดสอดดึงผูกเป็นตาถี่ ขยายเป็นรัศมีวงกว้างออกเป็นรอบๆ จากตาแหเล็กๆ ค่อยๆ ขยายตาให้ห่างแต่ก็ยังถือว่าเป็นตาถี่อยู่ ขณะเดียวกันก็บังคับถักให้เป็นถุง ลักษณะเป็นถุงตาข่าย เมื่อเห็นว่าได้ความกว้างและความลึกพอที่กำหนดไว้ ตามกงหรือขอบวงกลมที่เตรียมไว้ ทำจากกิ่งต้นข่อยลอกเปลือกเหลือเนื้อไม้ดัดเป็นขอบวงกลม โดยรวมสวิงจะมีขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 40 – 50 เซนติเมตร เมื่อเห็นว่าได้ขนาดตามกำหนด แล้วจึงใช้เส้นไม้ไผ่ที่เหลาค่อนข้างแบนร้อยผูกตามช่องริมตาข่ายโดยรอบเป็นวงกลม ผูกปลายไม้ติดกัน นำไปทาบพอดีด้านในเส้นกงหรือขอบนอก ใช้ตะปูดอกเล็กๆ ตอกเส้นไม้ไผ่ติดกับกงขอบนอกห่างกันเป็นระยะ 3 เซนติเมตรโดยรอบ ก็จะได้สวิงที่สมบูรณ์

การสานสวิง

การสานหรือถักสวิง นี้ส่วนมากจะเป็นงานผู้หญิง และกลุ่มคนที่ใช้สวิงมากที่สุดคือกลุ่มผู้หญิงอีกนั่นแหละ เพราะสวิงมีน้ำหนักเบา บางคนก็จะสานเพื่อเอาไว้ใช้เอง บางคนก็ซื้อมาจากตลาด ราคาอันหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 80-90 บาท ไม่รวมค่าเข้าขอบซึ่งเป็นไม้ เพราะเวลาซื้อสวิงมาจากตลาดต้องนำมาเข้าขอบเอง

ปลาที่จับได้ ปลาหลด ปลาอีด ปลาฮากกล้วย ปลาขาว ปลาซิว ปลาสลาก ปลาก่อ ปลาดุก กุ้ง หอย ปู

วิธีการใช้ จับด้านบนของขอบสวิงช้อนปลาไปตามริมฝั่งน้ำ แล้วยกขึ้นมาดูว่า มีปลามาติดหรือไม่ ถ้าปลามาติดก็เอาปลาออกแล้วเอาใส่ข้องที่เตรียมไปด้วย ฤดูกาลที่ใช้ หาปลาได้ตลอดทั้งปี ใช้ในระบบนิเวศ ลําห้วย ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชี มูล บุ่งในป่าทาม หรือแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีความลึกไม่เกินระดับเอว พบเห็นได้ทั่วไปตามแม่น้ำโขง และลําห้วยสาขา และแถบลุ่มน้ำต่างๆ เนื่องจากเป็นเครื่องมือหาปลาที่นิยมใช้กันมาก

san swing 01

สวิงตาถี่ นอกจากใช้ช้อนจับปลาทั่วไปได้แล้ว ยังสามารถใช้กรองจับไข่มดแดงที่อยู่ในรังบนต้นไม้ได้ โดยการใช้เชือกผูกที่ริมโครงปากสวิงผูกต่อกับไม้ไผ่รวกลำยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร ผูกห่างจากปลายไม้ประมาณหนึ่งคืบ ใช้แหย่ไข่มดแดงประมาณเดือนสี่เดือนห้า หรือประมาณเดือนมีนาคม เมษายน ใช้ปลายไม้แหย่แทงเข้าใต้รังมดแดง แล้วเคาะเขย่าให้ไข่มดแดงร่วงหล่นในถุงตาข่ายสวิง ตัวมดแดงจะตกลงมาด้วยก็จะออกไต่หนี เมื่อสังเกตเห็นว่าหมดไข่แล้ว ก็จะเทจากถุงสวิงลงมาในถังที่มีน้ำขังอยู่ ไข่มดแดงจะตกลงใต้น้ำ ส่วนตัวมดจะลอยอยู่ผิวน้ำ ใช้ใบไม้หรือเศษผ้าคนกวนที่ผิวน้ำเพื่อให้มดแดงเกาะติดออกมาแล้วทิ้งไป จะกระทำเช่นนี้จากรังหนึ่งไปอีกรังหนึ่งให้ได้ไข่มดแดงที่พอใจ เทน้ำในถังทิ้งเหลือเพียงไข่มดและตัวอ่อนมดแดง

san swing 02

ใช้ใบไม้มาทำกระทง ตักไข่มดแดงไส่กระทงแบ่งขายได้ราคาดี สดๆ ใหม่ๆ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง ใครๆ ก็ซื้อต่อรองเพิ่มลดไข่มดกันได้ เมื่อนำมาประกอบอาหารใช้ไข่มดแดงแทนเนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู แกงขี้เหล็ก หรือแกงร่วมกับผักหวานป่าที่แตกยอดอ่อนออกมาช่วงเดือนห้าสัมพันธ์กันพอดี คนในเมืองซื้อมาผสมตีเข้ากับไข่ไก่ ไข่เป็ด ทอดเป็นไข่เจียวกินอิ่มอร่อยลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว

นอกจากนั้นในประเพณีโบราณอีสาน ยังมีการนำสวิงไปประกอบในพิธีการส่อนขวัญ เรียกขวัญของคนเจ็บ คนตายให้กลับมาอยู่บ้านอยู่เฮือน อีกด้วยลองไปอ่านเพิ่มเติมดูครับ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)