คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ฅนอีสานในอดีตนั้น มีเครื่องใช้ไม้สอยมากมาย เนื่องจากธรรมชาติในพื้นถิ่นเต็มไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้หลากหลาย น้ำท่าบริบูรณ์ จึงมีการคิดค้นสร้างเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาใช้งานซึ่งมีทั้งคุณค่าความสวยงาม อรรถประโยชน์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทันสมัยยุคพลาสติกเข้ามา เครื่องใช้ในอดีตก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา เรามาย้อนอดีตกันว่ามีอะไรบ้าง
กระบวย น. ภาชนะสำหรับตักน้ำ ทำด้วยกะลามะพร้าว มีด้ามสำหรับจับ เรียก กระบวย บวย ก็ว่า อย่างว่า บวยบ่มีด้ามชิเสียทรงทังวาด เขาชิเอิ้นกะโป๋หมากพร้าว บ่มีเอิ้นว่าบวย (ย่า). dipper, ladle, esp. one made from coconut shell. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
กระบวย เป็นภาชนะตักน้ำทำด้วยกะลา มีด้ามถือ ในสมัยก่อนตามหน้าบ้านของชาวชนบทอีสาน มักจะตั้งซุ้มโอ่งน้ำหรือแอ่งน้ำ หรือบางแห่งเรียก "ฮ้านแอ่งน้ำ" ไว้ตามริมรั้วหน้าบ้าน โอ่งหรือแอ่งน้ำนี้ทำจากดินเผา เมื่อใช้บรรจุน้ำไปนานๆ จะมีตะไคร้น้ำเกาะด้านนอก ยิ่งมีเกาะมากเท่าใด แอ่งน้ำนั้นยิ่งจะมีความเย็นมากเท่านั้น ใครเดินผ่านเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ก็จะแวะดื่มน้ำเย็นๆ ได้ นับเป็นภูมิปัญญาหรือของดีในอดีตที่ยังไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง "ตู้เย็น" ใช้งาน ก็มีน้ำเย็นชื่นใจไว้ดื่มกิน ยิ่งบางบ้านจะนำดอกมะลิมาลอยก็ยิ่งมีความหอมชื่นใจยิ่งขึ้น
แม้ว่าจะขึ้นไปเยี่ยมบนบ้านเรือน เจ้าบ้านก็จะรีบยกน้ำมาต้อนรับแขกเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ หรือคนโทใส่น้ำ พร้อมกระบวยน้อย เพราะการลดความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการดื่มน้ำดับกระหาย การตั้งซุ้มโอ่งน้ำหน้าบ้านจึงเป็นการแสดงน้ำใจของชาวบ้าน โดยภาชนะตักน้ำที่วางคู่โอ่ง หรือแอ่งน้ำ คือ กระบวย ทำจากกะลามะพร้าวเสียเป็นส่วนมาก เพราะหาง่ายในท้องถิ่น อีกทั้งยังไม่น่าเสียดายนักหากสูญหาย ทำขึ้นใหม่ก็ไม่ยาก
การใช้กระบวยตักน้ำคงพัฒนามาจากการดื่มน้ำแบบดั้งเดิม คือ การใช้มือวักน้ำดื่ม การใช้ใบไม้บางชนิดห่อตักน้ำในลำธาร ห้วย หนองในอดีต ซึ่งตัวผู้เขียนเองเมื่อครั้งอดีตก็เคยลงท่ง ลงนา ไปเลี้ยงงัว ควาย หรือขึ้นโคกไปหายิงกะปอม อ้อมลงมาหาหอยริมห้วย เมื่อหิวน้ำก็จะใช้ใบไม้มาพับเป็นกระทงตักน้ำในห้วยดื่มกินแก้กระหาย สมัยก่อนยังบ่มีการใช้ยาฆ่าหญ้า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบปัจจุบัน ในห้วย ในหนองจึงมีน้ำสะอาดไว้ดื่มกินได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ส่วนสมัยนี้คือสิบ่แน่ใจดอก ย้านตายพ่ะนะ
บางทีก็จะมีการใช้เปลือกผลไม้ เช่น กะลามะพร้าว เปลือกหมากตูมกา ผ่าแล้วตากให้แห้ง นำมาขูดให้สะอาดใช้เป็นภาชนะตักน้ำ เพื่อความสะดวกจะทำด้ามจับถือได้สะดวก โดยทำจากไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้ ถ้าเป็นด้ามบวยที่ใช้ตักน้ำใช้ทั่วไป (ตักล้างมือล้างเท้า) นิยมทำคันจับหรือด้ามเรียบไม่มีการแกะสลักลวดลายแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นด้ามบวยที่ใช้ตักน้ำดื่ม จะมีการแกะสลักอย่างวิจิตรสวยงาม หางหรือปลายด้ามนิยมแกะสลักเป็นรูป "พระยานาค" ตามคติความเชื่อโบราณว่า "นาค" หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์จากนาคให้น้ำ ด้ามที่ติดกับตัวบวยจะบากใส่เข้าไปในรูของตัวบวย และทำให้แน่นไม่ให้หลุดเลื่อนด้วยการใส่ “ไล” (ลูกสลัก) เล็กๆ ไม่ใช้ตะปูที่เป็นโลหะเพราะจะเกิดสนิม บ้างก็จะตกแต่งประดิดประดอยกะลา และด้ามจับให้มีลวดลายอื่นๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ ดอกไม้ ใบไม้ อาจมีการลงรักทาชาดปิดทอง จนกลายเป็นศิลปหัตถกรรมที่ทรงคุณค่าได้
กระบวยมีหลายลักษณะ เช่น กระบวยตักน้ำดื่ม กระบวยตักน้ำรดต้นยาสูบ กระบวยตักน้ำล้างมือล้างเท้า กระบวยตักน้ำแกง เป็นต้น
กระบวยตักน้ำดื่ม จะเลือกทำจากกะลามะพร้าวที่แก่จัด ขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป รูปร่างกลมแป้น ฝากะลาค่อนไปข้างบน เพราะจะได้บรรจุน้ำได้มาก ขูดขัดผิวกะลาให้เป็นเงา ทำด้ามไม้จับยาวประมาณ 30 เซนติเมตร จะตกแต่งเป็นลวดลายก็ได้ โคนด้ามไม้จับทำเดือยฝังเข้าไปในรูกะลามะพร้าวให้แน่น กระบวยตักน้ำดื่มอาจดัดแปลงเป็นกระบวยตักแกงได้ หรือถ้าไม่ใช้กะลา จะใช้ตอกสานให้เป็นรูปกระบวย แล้วยาผิวด้วยชัน (เหมือนครุไม้ไผ่) ก็ใช้ตักน้ำดื่มได้เช่นเดียวกัน
กระบวยในปัจจุบันนี้มักจะทำจากสังกะสี อะลูมิเนียม ทองแดง หรือพลาสติก เพราะผลิตจำนวนมากแบบอุตสาหกรรม ทำให้มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย โดยยังใช้ตักของเหลวได้อย่างสารพัดเช่นเดิม
จอง น. กระจ่า ชื่อช้อนสำหรับตักแกง ทำด้วยกะลามะพร้าว มีด้ามสำหรับจับ เรียก จอง อย่างว่า จองบ่มีด้ามชิเสียทรงทังวาด เขาชิเอิ้นกะโป๋หมากพร้าว บ่มีเอิ้นว่าจอง (ย่า). coconut shell dipper with handle. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
กระจ่า คือ เครื่องใช้ในครัวสำหรับตักอาหาร ตัวกระจ่าทำด้วยกะลา ด้ามทำด้วยไม้ ใช้หวายผูกรัดตัวกระจ่าและด้ามให้ติดกัน กระจ่าที่ใช้อยู่ทั่วไปมีสามชนิด คือ
มีใช้กันในครัวไทยมาแต่โบราณ ก่อนจะพัฒนามาเป็น "ทัพพีโลหะ หรือพลาสติก" เช่นในปัจจุบัน
ยังมีกระจ่าอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "กระจ่าแบน" ตัวกระจ่าทำด้วยไม้ตาลเป็นแผ่นแบน มีด้ามไม้เนื้อแข็ง สำหรับการใช้ทำขนมเบื้อง
ไหปลาแดก หรือ ไหปลาร้า (ในภาษากลาง) เป็นภาชนะดินเผา มีรูปร่างป้อม ปากแคบ กลางป่อง ก้นสอบ ไหปลาแดกจะเป็นภาชนะเคลือบสำหรับกันความชื้น หรือเป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง หรืออาจเรียกว่า "ภาชนะดินเผาเนื้อหิน" (stoneware) ซึ่งลักษณะของเนื้อภาชนะดินเผาประเภทนี้จะแกร่งคล้ายหิน เพราะเนื้อดินถูกเผาจนหลอมละลายติดกัน น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ (ความพรุน 0.5-2%) โดยภาชนะประเภทนี้จะเผาด้วยอุณหภูมิสูง ประมาณ 1,220 – 1,350 องศาเซลเซียส
ไห น. ภาชนะเคลือบดินเผา ก้นเล็ก ปากเล็ก กลางป่อง มีหลายชนิด สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ ตามแต่จะใช้. earthen jar, jug, urn. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
ไหปลาแดก น. ไหสำหรับใส่ปลาร้า เรียก ไหปลาแดก ที่เรียกชื่อปลาแดกเพราะเอาปลา เกลือและรำข้าวมาผสมเข้ากันแล้ว นำไปตำในครกมองให้แหลก เรียก ปลาแดก ปลาแหลก ก็ว่า บ้างก็ว่า เพราะการนำปลาที่ตำแล้วมายัดลงในไหที่ปากแคบ การยัดปลากดดันลงในไห เรียก ปลาแดก. earthen jar used for fermented fish sauce. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
ไหปลาแดก หรือไหปลาเมื่อย เอ้ย! ปลาร้า จะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากไหประเภทอื่นๆ คือ บริเวณรอบปากไหจะทำเป็นขอบซ้อนกันสองชั้น มีประโยชน์คือ ใช้สำหรับใส่ถุงผ้าห่อขี้เถ้าปิดปากไห เพื่อป้องกันแมลงวันตอมและลงไปวางไข่ในไห รอบๆ ปากด้านนอกใส่น้ำกันไม่ให้หนอนแมลงวันไต่ชอนไชเข้าปากไหได้เช่นกัน ในภาคอีสานเรียกกันหลายชื่อตามสำเนียงถิ่นที่อยู่ เช่น ไหปลาร้า ไหปลาแดก หรือไหปลาแหลก ก็มี
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า การทำไหบรรจุปลาแดก หรือปลาร้าในพื้นที่ประเทศไทยนั้นมีมาแต่ในอดีต โดยมีการค้นพบหลักฐานอ้างอิงทางโบราณคดีคือ พบไหปลาร้าฝังรวมอยู่กับหลุมศพ ที่บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีอายุกว่า 3,000 ปี แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการถนอมอาหารโดยการหมักดองในสมัยอดีต
การทำปลาร้า หรือ ปลาแดก มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสานหรือในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก จากการที่ต้องเก็บถนอมปลาเอาไว้กินในยามขาดแคลน และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ปลา เกลือ และข้าว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า มีการทำอาหารในลักษณะเดียวกันกับปลาร้าอยู่ในหลายประเทศ แต่มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น
รายการ "เลาะลุยลาว" EP46 เส้นทางสายปลาแดก
การทำปลาร้า หรือ ปลาแดก จึงนับได้ว่า เป็นวัฒนธรรมร่วมในการถนอมอาหารของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในแต่ละประเทศล้วนมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใกล้เคียงกันคือ ปลา เกลือ และข้าว ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
"ปลาร้า ความอร่อยจาก 2 ลุ่มน้ำ" รายการ กินอยู่คือ ThaiPBS
[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ปลาแดกกับความมั่นคงในชีวิตของคนอีสาน ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)