foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

heet m 06

บุญเดือนหก

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนหกแล้วให้นำเอาน้ำวารีสรงโสก ฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่ภาย อย่าได้ละเบี่ยงบ้ายปัดป่ายหายหยุด มันสิสูญเสียศรีต่ำไปเมือหน้า จงพากันทำแท้แนวคองฮีตเก่า เอาบุญไปเรื่อยๆ อย่าถอยหน้าหากสิเสีย "

บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง

thairocket

ในสองพิธีกรรมที่อยู่คนละภาคนี้ มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ในภาคกลางเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์

สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง ฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิต และเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝน ซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศ และเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานบุญ จึงถือว่างานบุญบั้งไฟเป็น งานบุญของพระยามาร ซึ่งจัดแข่งกับงานบุญของพระพุทธเจ้า

thai rocket 01

บุญบั้งไฟมีตำนานเล่าขานมานาน จากนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ เรื่องพระยาคันคาก ล้วนแต่กล่าวถึงการจุดบั้งไฟเพื่อให้แถน (เทวดา) ได้บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล ถือเป็นประเพณีอันสำคัญที่จะละเลยมิได้ เพราะมีความเชื่อว่า หากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟก็อาจจะก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ผู้คนในชุมชน งานบุญบั้งไฟเป็นงานใหญ่ ลงทุนสูง การจัดงานจะต้องเป็นไปตามการตัดสินใจของชุมชน หากปีใดเศรษฐกิจในชุมชนฝืดเคืองอาจจะต้องงดจัดงาน ซึ่งต้องไปทำพิธีขอเลื่อนการจัดที่ศาลปู่ตา (ศาลผีบรรพบุรุษหรือเทพารักษ์) ของหมู่บ้าน ความจริงแม้จะจัดหรือไม่ก็ต้องมีการไปกระทำพิธีเซ่นไหว้ที่ศาลปู่ตาอยู่ดี

don poo ta 1

ดอนปู่ตา หรือ ดอนตาปู่ หรือดอนเจ้าปู่
      ศูนย์รวมจิตใจอันเป็นกุศโลบาย ภูมิปัญญาของท้องถิ่นในการควบคุมจัดการวิถีชีวิตให้เป็นสุข

3diamondขั้นตอนการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟ

  • ประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ พระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไป แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน (ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน) และพ่อเฒ่าจ้ำ (หมอผีประจำหมู่บ้าน) ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป (พิธีกรรมนี้ไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง)
  • เมื่อตกลงจัดงาน ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกกล่าวเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า "เตินป่าว" ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้น ก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า "สลากใส่บุญ" เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมการต่างๆ ตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นฉบับ (ต้นฉบับ) ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพุทธศานาเข้าไปด้วย เช่น การบวชและการฮดสงฆ์ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง กองฮด พิธีการในการยกย่องพระสงฆ์
  • ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธา เพื่อร่วมสมทบกันสร้างบั้งไฟ (ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว) บอกบุญให้บ้านเรือน 3-4 หลังคารวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง (ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่) ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ (เพราะต้องจัดงานเลี้ยงญาติพี่น้องอยู่แล้ว)
  • ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำ หรือ "ผาม" หรือ "ตูบบุญ ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริง ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยใบไม้หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ
  • ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย "ฉบับ" ซึ่งมักจะเป็นพระ โดยมีลูกมือคือชาวบ้านผู้ชาย ในสมัยผมยังเป็นเด็ก 50 กว่าปีผ่านมาแล้ว ผมก็เป็นลูกมือพระด้วยการไปหาไม้สำหรับมาเผาเป็นถ่าน สำหรับคั่วผสมกับขี้เกีย (ดินประสิว) เรียกว่า การทำหมื่อ ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ หากปะทุช้าก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับจะกำหนดบอกมา

boon bang fire 3

การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่น เพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด (สมัยใหม่ใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากันดังภาพ)

boon bang fire 4

ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา (ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว) ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป (เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร)

ประเภทของบั้งไฟมีหลายชนิด ซึ่งเรียกกันตามขนาดและลักษณะของบั้งไฟ

  • บั้งไฟพลุ คือ บั้งไฟที่เมื่อจุดแล้วจะพุ่งขึ้นไปข้างบนแล้วจะแตกเป็นไฟพลุ
  • บั้งไฟดอก คือ บั้งไฟที่เมื่อจุดแล้วจะค่อยๆ พวยพุ่งขึ้นข้างบนอย่างช้าๆ และสวยงามคล้ายๆ กับต้นไม้ไฟ การจุดต้องฝังบั้งไฟไว้ในดินลึกพอสมควร เพื่อไม่ให้บั้งไฟกระเด็นขึ้นเมื่อเกิดแรงดัน
  • บั้งไฟตะไล ตื้อ (ดื้อ) คือ บั้งไฟที่เมื่อจุดแล้วจะวิ่งวนไปรอบๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายแน่นอน พุ่งไปทางนี้ที ทางโน้นที ประชาชนจะต้องคอยหลบหลีกรัศมีที่มันวิ่งไป ต้องคอยระวังและหนีเอาตัวรอด บั้งไฟชนิดนี้จะทำให้กลุ่มคนแตกฮือฮา เพราะการหลบหลีกเป็นที่สนุกสนานพอสมควร
  • บั้งไฟโบต (เรือ) ม้า จินาย (จิ้งหรีด) เป็นบั้งไฟขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เด็กจะใช้เล่นกัน
  • บั้งไฟขนาดเล็ก (ธรรมดา) คือ ขนาดของบั้งไฟที่ใช้หมื่อ (ดินปืน) น้อยกว่า 12 กิโลกรัม
  • บั้งไฟหมื่น เป็นบั้งไฟที่ใช้หมื่อตั้งแต่ 12 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 119 กิโลกรัม
  • บั้งไฟแสน เป็นบั้งไฟที่ใช้หมื่อตั้งแต่ 120 กิโลกรัมขึ้นไป
  • บั้งไฟล้าน เป็นบั้งไฟขนาดใหญ่ที่สุด (ที่เกิดมาเพราะการพนันขันต่อ ประกวดแข่งขันการจุดขึ้นไกล ขึ้นนานกว่าจนมองไม่เห็น) ใช้หมื่อมากกว่า 500 กิโลกรัมขึ้นไป (จริงๆ แล้วน่าจะเป็น 1200 กิโลกรัม แต่คงจะมีขนาดของกระบอกใหญ่เกินไป จุดแล้วอาจจะไม่ขึ้น หรือแตก ระเบิด จนเป็นอันตรายนั่นเอง)

นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล (เพื่อจุดในการแห่ร่วมด้วย) นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน

boon bang fire 5

เมื่อการเตรียมการในการต้อนรับ การทำบั้งไฟ การเอ้บั้งไฟให้สวยงาม เตรียมขบวนฟ้อนในวันแห่โฮมบุญ ทำนั่งร้านสำหรับการนำบั้งไฟขึ้นจุด แล้วก็จะถึงวันงานซึ่งมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องอีกดังนี้

  • ในวันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟไปยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน พร้อมนำเอาเหล้าไปด้วยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งใช้เซ่นสรวง มีการจุดบั้งไฟขนาดเล็กเรียก "บั้งเสี่ยง" เพื่อเสี่ยงทายดูถึงความอุดทสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาปีนั้น จากนั้นก็ดื่มเหล้าฟ้อนรำรอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน (งานนี้มีเฉพาะผู้ชายที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมพิธี)
  • จากนั้นก็พากันแห่บั้งไฟไปยังสถานที่จัดงานหรือหมู่บ้านเรียก วันโฮม (รวม) มีการเซิ้งออกท่าทางต่างๆ ของการร่วมเพศอยู่ด้วย อาจมีการเอา บักแบ้น ผูกรอบเอวไว้หลายอัน มีสายสำหรับชักให้กระดกขึ้นได้

boon bang fire 1

  • การแห่บั้งไฟ ผู้ร่วมขบวนนั้นดูเหมือนจะตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ปรกติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง หรือเอาโคลนพอกหน้า ขบวนเซิ้งจะแห่ไปตามหมู่บ้านเพื่อขอสาโทมากิน การเซิ้งจะมีคนจ่ายกาพย์ และคนตีกลองให้จังหวะเซิ้ง อยู่กลางขบวนฟ้อน เพื่อให้ผู้ฟ้อนเซิ้งได้ยินเสียงจังหวะและคำกลอน "ลำกาพย์เซิ้งได้ชัดเจน ดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกลอนเซิ้งได้ที่นี่

การละเมิดกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติกันทั่วไป มีคำอธิบายได้ว่า เป็นการปลดปล่อยคนให้หลุดจากกฎเกณฑ์ชั่วคราว ในอีสานสมัยก่อน ผู้ชายเมื่อแต่งงานต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้ชายจึงอยู่ในฐานะที่โดดเดี่ยว ต้องอยู่ในความควบคุมของญาติฝ่ายหญิง และต้องฝากอนาคตของตนไว้กับความเมตตาของครอบครัวฝ่ายหญิงด้วย เพราะจะสามารถสร้างหลักให้แก่ครอบครัวได้ ก็ด้วยการอุปถัมภ์ของพ่อตา เขยจะถูกจัดให้เป็นผู้ด้อยกว่าในทางพิธีกรรม (แสดงสะท้อนในเชิงประชดประชันจากนิทาน "พ่อเฒ่ากับลูกเขย") ดังนั้น การที่แสดงออกในทางพิธีกรรมในบุญบั้งไฟ จึงเป็นการปลดปล่อยจากกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะเรื่องเพศ การกล่าวถึงหรือแสดงอวัยวะเพศ เป็นความหยาบโลนที่สังคมปรกติไม่ยอมรับ

boon bang fire 2

  • ตอนบ่าย จะมีการตีกลองโฮม เพื่อให้ขบวนแห่ทุกขบวนไปรวมกันที่วัด ซึ่งจะหมายถึงการไปร่วมในพิธีบวชของบุตรหลาน หรือการฮดสงฆ์ ถ้ามีการบวชก็จะมีการแห่นาคด้วยม้า (ถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะพอทำได้) มีการจุดตะไลตามหลังม้าไปตลอดทาง หากมีการฮดสงฆ์อยู่ด้วย ก็จะแห่พระภิกษุที่ต้องการ "ฮด" นำหน้าเจ้านาคไป
  • กลางคืนจะมี การเส็งกลอง หรือแข่งตีกลองกัน โดยแต่ละหมู่บ้านจะนำกลองกิ่งของวัดในหมู่บ้านตนมาตีแข่ง ถือกันว่าถ้าหากแพ้ในการเส็งกลอง ก็จะไม่ใช้กลองนั้นอีกเลย จะต้องไปเสาะแสวงหากลองมาเส็งใหม่ในปีหน้า การเส็งกลองจะมีกันไปจนถึงเที่ยงคืน
  • รุ่งเช้าจะมีการทำบุญถวายจังหันพระ พอตกบ่ายก็มีการแห่บั้งไฟไปยังค้างที่เตรียมไว้ อาจใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นค้างก็ได้ การแข่งขันระหว่างหมู่บ้านก็มีเพียงบ้านใดจะสามารถยิงไปได้สูงกว่ากัน (ใช้การนับไปจนกว่าจะมองเห็นบั้งไฟหล่นพ้นก้อนเมฆลงมา) เป็นการแสดงความสามารถของช่างหรือฉบับของบั้งไฟบ้านนั้น หากบั้งไฟบ้านใดซุ (พ่นดินปืนออกมาแต่ไม่ขึ้น) หรือแตกระหว่างการจุด ช่างหรือฉบับก็จะถูกจับโยนลงตม คือโยนลงไปในโคลนเป็นที่สนุกสนานทั้งผู้โยนและถูกโยน (เปื้อนโคลนพอกัน)

boon bang fire 6

หมายเหตุปิดท้าย ในอดีตเราจะได้ยินว่าหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ทำบั้งไฟหมื่น ขึ้นสุดลูกหูลูกตา คำว่า หมื่น มาจากจำนวนน้ำหนักของดินประสิวที่ใช้ทำ ดินหมื่อ คือ 12 กิโลกรัม (ไม่นับรวมน้ำหนักของถ่านซึ่งเป็นส่วนผสม) จะบรรจุในลำไม่ไผ่ขนาดยาวประมาณ 3 เมตร ต่อมาหมู่บ้านใดทำบั้งไฟแสนคือ 120 กิโลกรัมดินประสิว (ใช้ลำตาลแทนไม้ไผ่ ใช้เทคนิคมัดพันลำตาลอย่างแน่นหนา) ก็ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ในปัจจุบันมีข่าวว่าบางแห่งมีบั้งไฟล้าน (ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะจริงถ้าไม่นับน้ำหนักของท่อเหล็กและหางรวมกันกับดินประสิว) กันบ้างแล้ว ไม่ทราบว่าจุดขึ้นพ้นพื้นดินเพียงใด ผู้เขียนหลับตานึกถึงภาพหากมีการระเบิดเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรหนอ ไม่อยากจะบรรยายครับ

สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวในอดีต ปัจจุบันงานประเพณียังคงอยู่ แต่ความเชื่อและวัฒนธรรมของงานบุญหายไป กลายไปเป็นการประกวดประชันกัน การวางเดิมพันเงินแสนเงินหมื่น มีกลุ่มบุคคลรับจ้างทำบั้งไฟเพื่อแลกกับการนำไปจุดแข่งขันมีการเดิมพันจำนวนมากๆ (เพราะเริ่มมีการเข้มงวดจำนวนบั้งไฟที่ใช้ในการจุดแต่ละที่จากฝ่ายปกครอง ถึงขั้นมีข่าวลือว่า ผีพนันลงขันสั่งย้ายนายอำเภอออกจากพื้นที่เพราะอนุญาตน้อยเกินไป) ไม่มีการพูดถึงดอนปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษอีกแล้ว เพราะทุกอย่างจัดเพื่อการท่องเที่ยว อย่างบุญบั้งไฟเมืองยโสธรคือตัวอย่าง (ไม่ทราบว่าอ้างเพื่อธุรกิจหรือไม่) น่าเสียดายที่ความงามในอดีตเริ่มจะเลือนหายไปจากอีสาน กลายเป็นตำนานให้กล่าวถึงเพียงเท่านั้น

บันทึกไว้เมื่อ 2 กันยายน 2545

 

ประเพณีการบวชควาย

ปกติงานบุญบั้งไฟอีสาน ทั้งในหมู่บ้านชานเมืองและชนบทห่างไกล คนมักจะให้ความสนใจกับขบวนแห่-ฟ้อน-เซิ้งบั้งไฟ ในวันแรกของงานที่เรียกว่า "วันโฮม" (วันรวมขบวนบั้งไฟแห่) และการจุดบั้งไฟหลายขนาดอันน่าตื่นเต้นในวันรุ่งขึ้นที่เรียกว่า "วันจูด" (วันจุดบั้งไฟ) แต่การจัดงานบุญบั้งไฟที่ บ้านแมด กิ่งอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด จะมีการจัดพิธีกรรมที่แตกต่าง แปลกตา น่าตื่นใจมากกว่าที่อื่นๆ หลายแห่ง คือ

buad kwai 01

เมื่อถึงวันโฮมหรือวันแห่ ทางหมู่บ้านจะมีการจัดให้มีพิธีกรรมบวชควาย ที่เรียกคนที่บวชเป็นควายว่า ควายจ่า หรือ ควายฮาด ซึ่งจะทำพิธีบวชในตอนเช้า โดยคนที่จะบวชเป็น “ควาย” จะทาใบหน้าและร่างกายเปลือยท่อนบนด้วยดินหม้อจนดำไปทั้งตัว รอบขอบตาทาด้วยสีแดงเห็นชัดเจน สวมหัวมีเขาที่ทำขึ้นเองโดยสมมติเป็นเขาควาย สะพายเฉียงไหล่ด้วย “พรวนทาม” ที่เป็นเครื่องสัญญาณเสียงคล้องคอควาย

ที่เอวของคนที่บวชควายมีท่อน “อวัยวะเพศชาย” ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนขนาดยาว-ใหญ่ ทาสีแดงที่ปลาย ผูกติดเอวอยู่ด้วยเชือก และมีสายเชือกผูกโยงไปข้างหลัง มีชายอีกคนหนึ่งที่สมมติเป็นเจ้าของควายจับปลายเชือกบังคับควาย เดินออกหน้าขบวนแห่ที่มีกลุ่มคนแต่งกายแปลกๆ ร่วมกันฟ้อนเซิ้งอย่างสนุกสนาน ประกอบดนตรีพื้นบ้านบรรเลงไปทั่วหมู่บ้าน เจ้าของควายที่ว่าบังคับควายนี้ จริงๆ แล้วจะจับเชือกดึงบังคับท่อนอวัยวะเพศไม้ที่ผูกเอวควายจ่าหรือควายฮาด ให้ขยับกระดกขึ้นลงไปตามจังหวะดนตรีและตามต้องการสนุก

การบวชควายในวันแห่บั้งไฟนี้ต้องไปบวชกับ “ผีปู่ตา” ที่ดอนปู่ตา ซึ่งชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นผีประจำหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านอีสานเชื่อกันว่าจะคอยปกป้องคุ้มครองคน-สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน และช่วยเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนในปีนั้นๆ คนที่บวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดในงานบุญบั้งไฟนี้ จะมีการสืบทอดกันต่อๆ มาตามสายเลือด หรือไม่ก็จะเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเครือญาติเดียวกันเป็นหลัก

buad kwai 02

ปกติแล้ว จะมีการเล่นกันเป็นกลุ่มหลายขบวนอย่างสนุกสนานทุกวัน และต่อเนื่องกันหลายวันก่อนถึงวันงาน รวมทั้งกลุ่มของคนที่จะบวชเป็นควายด้วย แต่เมื่อเข้าพิธีบวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดกับเจ้าปู่แล้ว ก็จะ “เล่นจริง” ในพิธีกรรมทั้ง 2 วัน ด้วยลีลาท่าฟ้อนเลียนแบบกิริยาท่าทางของควายจริง ทั้งลีลาการเดิน วิ่ง เป็นสัด และลีลาการม้วนตัวลงปลักตมตามนิสัยควาย จนสุดความสามารถที่จะแสดงได้ ซึ่งยาก-หนัก และเหนื่อยมาก ฉะนั้นคนที่เข้าพิธีบวชเป็นควาย นอกจากจะเป็นคนที่มีลีลาการแสดงที่สวยงามถูกใจชาวบ้านแล้ว จะต้องเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงด้วย

 

bulletจรวดเมืองไทย บั้งไฟเมืองยโสธร

บั้งไฟแสนกำลังพุ่งทะยานออกจากฐาน เคยมีเรื่องเล่ากันสนุกๆ ในวงสุราว่า ต้นกำเนิดของจรวดหรือยานอวกาศ
ที่อเมริกาและรัสเซีย ต่างก็พยายามที่จะส่งไปแข่งบารมีกันในอวกาศนั้น ได้ไอเดียมาจาก การทำบั้งไฟของชาวอีสาน "

bangfai yaso 01แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่พูดกันเล่นๆ แต่ว่าลักษณะของบั้งไฟ ที่ชาวอีสานจุดขึ้นในงานบุญบั้งไฟ ดูๆ ไปก็คล้าย จรวดลำน้อย ที่ทะยานตัวขึ้นสู่บนฟากฟ้าเช่นกัน เพียงแต่ว่า บั้งไฟอีสาน นั้นทะยานสู่ฟากฟ้าได้ไม่ไกล ถึงขนาดออกนอกโลก (ประมาณ 2-3 กิโลเมตร) และจุดประสงค์ของการทำบั้งไฟ ก็ไม่ใช่เพื่อการแสดงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี แต่การทำบั้งไฟในภาคอีสาน ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ทำขึ้นเพื่อนำไปจุดในงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญขอฝน บางแห่งเรียก บุญสัจจะ

บุญบั้งไฟ นิยมทำกันในเดือนหก ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย งานบุญบั้งไฟ จึงถือเป็นงานประเพณีประจำปี ที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้าน ไปร่วมงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี

ขบวนประกวดบั้งไฟซึ่งถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งถ้าพูดถึงงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องนึกถึงจังหวัดยโสธร เพราะเป็นจังหวัดที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟสืบทอดกันมาช้านาน และมีการจุดบั้งไฟแข่งขันกันเป็นงานใหญ่ ตั้งแต่ยังเป็นอำเภอที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี จนในปี พ.ศ. 2515 ยโสธรแยกออกมาตั้งเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย คนเมืองยศก็จึงยิ่งจัดให้ยิ่งใหญ่มโหฬารขึ้น จนถือเป็นงานประเพณีระดับชาติ และมีการกำหนดจัดเป็นประจำใน วันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูการทำนา เพราะกว่าร้อยละ 85 ของประชากรในจังหวัดเป็นเกษตรกร ที่ต้องอาศัยน้ำในการทำการเกษตร

ความพิเศษของงานบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ของชาวยโสธรนี้ ไม่เพียงแต่โด่งดังในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไกลไปถึงชาวเมืองโยชิดะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชากรส่วนหนึ่งยังคงมีอาชีพทำนา และมีประเพณีการจุดบั้งไฟ คล้ายกับจังหวัดยโสธร แต่ในความคล้ายก็มีความต่าง เพราะการจุดบั้งไฟของชาวโยชิดะ เป็นไปเพื่อการอวยพร และขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลให้ฝนตก และบั้งไฟของเขาจะเน้นการตกแต่งที่ความสวยงามมากกว่า การขึ้นของบั้งไฟจึงไม่สูงนัก ส่วนขบวนแห่ก็จะเรียบง่าย สนุกสนานน้อยกว่า การฟ้อนเซิ้งของชาวยโสธร และประเพณีนี้ทำในเดือนตุลาคมทุกปี 

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมบั้งไฟ ระหว่างเทศบาลเมืองยโสธรและตำบลชิชิบุ
เมืองโยชิดะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ตุลาคม 2554

bangfai yaso 05จากความบังเอิญ ที่มีความเหมือนในประเพณี จึงมีการพัฒนาไปสู่การศึกษา แลกเปลี่ยน วัฒนธรรม เป็นเมืองคู่มิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนกระทั่งได้มีการทำความตกลงระหว่าง โยชิดะและยโสธร ให้เป็นเมืองคู่แฝด เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2542 โดยทุกปีชาวเมืองโยชิดะ จะส่งบั้งไฟแฟนซีประเภทสวยงามมาร่วมจุดด้วย นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ในอนาคตยังอาจจะนำไปสู่การส่งเสริมด้านการศึกษา และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจต่อไปด้วย

แม้แต่ชาวต่างประเทศยังสนใจวิธีการทำบั้งไฟของช่างบั้งไฟ บั้งไฟมีหลายชนิด แต่ที่ยโสธรมีการแข่งขันบั้งไฟแฟนซี และบั้งไฟแสน โดยบั้งไฟแฟนซีเป็นบั้งไฟขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว และบรรจุดินประสิวไม่เกิน 4 กก. แข่งขันกันที่ความสวยงาม และลีลาลูกเล่นเมื่อจุดขึ้นฟ้า เช่นอาจจะมีร่มหลากสีสันกางออก หรือมีเสียงประกอบ ส่วนบั้งไฟแสนซึ่งเป็นบั้งไฟที่แข่งขันกัน โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้น บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุดก็เท่ากับว่าบั้งไฟขึ้นสูงที่สุด (ระดับที่เป็นแชมป์บั้งไฟจะขึ้นนานกว่า 2 นาที)

บั้งไฟแสนจึงต้องมีขนาดใหญ่ ความยาว 4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว และบรรจุดินประสิวหนัก 120 กก. นับเป็นบั้งไฟที่ทำยาก และต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะถ้าบั้งไฟนี้แตกแล้วจะเป็นอันตรายมาก เพราะฉะนั้นก่อนทำ "ช่างบั้งไฟ" ซึ่งเป็นผู้ทำบั้งไฟจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวงให้ถูกต้อง ตามหลักการทำบั้งไฟแสนเสียก่อนจึงจะลงมือทำ

boon bang fire 7

ในช่วงที่มีการจุดบั้งไฟนั้น นับเป็นช่วงตื่นเต้นและสนุกสนาน โดยเฉพาะช่างบั้งไฟจะต้องลุ้นมากกว่าใคร เพราะหากบั้งไฟไม่ขึ้นก็จะถูกโยนลงบ่อโคลนนัยว่าเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ปัจจุบันนั้น ไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ขึ้นก็จะมีการโยนโคลน เพื่อความสนุกสนานมากกว่า

ว่ากันว่าการทำบั้งไฟนั้น จะต้องมีการศึกษาเรียนรู้ มีครูและมีศิษย์สืบทอดกันมา โดยทั่วไปจะถ่ายทอดต่อกันเป็นคนๆ เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไปอยากเรียนก็จะเรียนได้หมด ครูจะเลือกถ่ายทอดให้ตัวต่อตัว สำหรับศิษย์ที่ครูเห็นว่ามีไหวพริบ และมีพรสวรรค์ด้านการทำบั้งไฟเท่านั้น จากเดิมที่มีการทำง่ายๆ ใช้ทักษะภูมิปัญญาของชาวบ้าน เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย โดยยังคงมีดินประสิวและถ่านเป็นส่วนผสมหลักรวมเรียกว่า "หมื่อหรือดินปืน" แต่เปลี่ยนตัวบั้งไฟจากการใช้ไม้ไผ่มาเป็นท่อเหล็กหรือท่อพีวีซีแทน เปลี่ยนจากการตำถ่านโดยใช้แรงงานคน มาใช้เครื่องป่นแทน ส่วนการบรรจุดินก็ใช้ระบบไฮดรอลิกมาช่วย ซึ่งการที่บั้งไฟจะขึ้นสูงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการบรรจุดินปืน และสูตรประสมดินปืนที่เป็นความลับเฉพาะของช่างบั้งไฟแต่ละคน

boon bang fire 8

จากวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญา และกุศโลบายอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษ ได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาด้วยแรงเชื่อและศรัทธาในอำนาจของเทพเทวดาที่บันดาลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และในปัจจุบันได้นำมาสู่การประกวด การแข่งขัน การเดิมพัน และความสนุกสนาน จนกลายเป็นงานประเพณีระดับชาติที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ก็อย่าลืมหันกลับไปมองอีกมุมหนึ่งด้วย

"ประเพณี" หรือ "สนามเดิมพัน" รายการเปิดปม "บ่อนบุญบั้งไฟ"

มุมของคนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ที่อยู่ในทิศทางที่ห้างจุดบั้งไฟหันไปหานะ น่ากลัวมาก ไม่รู้ว่ามันจะพุ่งทะลุผ่านหลังคาบ้าน ลงมาเมื่อไหร่ไม่รู้ ประเพณีเดิมเขาจุดแค่บั้งสองบั้ง แต่ตอนนี้จุดตั้งแต่เช้ายันเย็น (ไม่ได้นับว่าเท่าไหร่?) พวกเขาคงไม่สนุกด้วยเท่าไหร่หรอกนะท่าน... ผู้ว่า!

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)