คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ตำนานความเชื่องเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก
ความเชื่อเรื่อง "ผีและวิญญาณ" ของชาวอีสานซึ่งนับถือ ศาสนาพุทธ พราหมณ์ และผี มาผสมกลมกลืนในการประกอบพิธีกรรมในชีวิตของคนอีสานอยู่เสมอ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่างๆ งานศพ งานแฮกนา ฯ แม้เรื่องของผีจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ชาวอีสานก็เชื่อว่าผีมีจริง จนบางคนกล้ายืนยันว่า "ตนเองเคยเห็นผี" ในทัศนะของคนอีสานเชื่อว่า มีผีให้คุณ เช่น ผีปู่ตา เป็นผีประจำหมู่บ้าน คอยพิทักษ์คุ้มครองชาวบ้านตลอดทรัพย์สินอื่นๆ ของหมู่บ้าน โดยมีผู้ที่เป็นสื่อกลางติดต่อกับผีปู่ตา คือ "จ้ำ" ซึ่งจะเป็นมีบทบาทและทรงอิทธิพลต่อหมู่บ้านมาก ในฐานะเป็นทูตที่เชื่อมโยงระหว่างคนกับผี สามารถเจรจากับผีรู้เรื่อง "เฒ่าจ้ำ" จึงเป็นผู้นำชุมชนในเรื่องพิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผีปู่ตา" ชาวบ้านให้ความยำเกรงผีปู่ตามาก ส่วน "ผีตาแฮก" จะรักษาไร่นาให้มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์
ส่วน ผีให้โทษ เช่น "ผีปอบ" เกิดจากคนที่ไปเรียนคาถาอาคม อยู่ยงคงกระพัน แต่ไปทำผิดข้อห้าม "คะลำ" จึงกลายเป็นผีปอบเข้าสิงทำร้ายคน ความเชื่อเรื่องผีปอบยังมีอยู่มากในกลุ่มคนอีสาน เมื่ออพยพไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ปักษ์ใต้ หรือแม้แต่คนอีสานที่อพยพไปอยู่ที่ต่างประเทศ ก็มีผีปอบตามไปอยู่ไปกินด้วย ดังนั้นถ้ามีผีปอบเข้าที่ใดแสดงว่าที่นั้นมี "ฅนอีสาน" อยู่แน่นอน รวมทั้ง "ผีแม่ม่าย" ในยุคหลังๆ ที่เกิดจากความเชื่อว่า มาเอาชีวิตผู้ชายในหมู่บ้าน ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไปเจอหมู่บ้านใดแขวน "เสื้อแดง" ไว้ที่หน้าบ้าน แสดงว่า กำลังทำสิ่งป้องกันหลอกผีแม่ม่ายไม่ให้มาเอาชีวิตผู้ชายในครอบครัวไปนั่นเอง
ชาวบ้านอีสานมีการนับถือผี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผีบรรพบุรุษ" ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยปกปักรักษา ปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป นอกจากผีบรรพบุรุษแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องผีชนิดต่างๆ อีกมากมาย เช่น
การปลูกข้าวในยุคสมัยต่างๆ ตามแบบแผนวิถีชีวิตของคนไทย มุ่งปลูกข้าวเพื่อบริโภค เป็นหลัก เหลือบริโภคก็เก็บไว้ในยุ้งฉาง จะนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นๆ บ้าง ก็เฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เช่น แลกกับเสื้อผ้า อาหาร เกลือ ยารักษาโรคแต่ไม่นิยมขายข้าว ไม่แลกเปลี่ยนข้าวกับเครื่องประหัตประหาร ทั้งนี้เพราะคนไทยเชื่อว่า ข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มีเทพธิดา ชื่อว่า "แม่โพสพ" ประจำอยู่ ในท้องถิ่นบางแห่งเรียกว่า "นางโคสก" หรือ "แม่โคสก" เชื่อกันว่า นางมีอิทธิฤทธิ์ สามารถดลบันดาลความสมบูรณ์พูนสุขแก่ผู้ปฏิบัติชอบต่อนางได้ และถ้าปฏิบัติไม่ดีจะได้ผลตรงกันข้าม ในอดีตหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแต่ละปี ชาวบ้านจึงต้องจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้นาง และปฏิบัติต่อนางอย่างเคารพนอบน้อม
การทำนาให้ได้ผลดีนั้น จะต้องถือปฏิบัติเคารพบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น เทพเจ้า เทวดาอารักษ์ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งการปฏิบัติบูชาเซ่นไหว้ก็จะทำในโอกาส หรือวาระต่างๆ กัน เช่น พิธีจรดพระนังคัญแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีหลวง จัดขึ้นเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรคนในชาติ ส่วนคนในท้องถิ่นอื่นก็จะมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคนอีสานแล้ว จะยึดถือเอาเทวดา ภูตผี ในการทำการเกษตรกรรมดังนี้
ตาแฮก ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีเฝ้าไร่นา เมื่อชาวบ้านเข้าหักร้างถางพง เพื่อแปรสภาพที่ดินไปเป็นที่นา พวกเขาจะทำพิธีเชิญผีตาแฮกตนหนึ่งมาเป็นผู้เฝ้ารักษาที่นาและข้าวกล้า แต่ละปีเจ้าของนาจะต้องทำพิธีเซ่นสังเวยก่อนลงไถนา และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว จะต้องแบ่งข้าวสี่เกวียน (เกวียนจำลองเล็กๆ) ให้แก่ผีตาแฮกด้วยทุกปี
** ผีตาแฮก เป็นผีประจำท้องไร่ท้องนา ที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และดูแลทำให้ข้าวกล้าเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี จึงมีการเซ่นไหว้ ผีตาแฮกทุกปี คือ ก่อนลงมือปักดำ ฉะนั้น ในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมหลังเล็กๆ บางคนอาจปักเสาเป็นสัญญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้ คือ "ที่อยู่ของผีตาแฮก" หรือบางแห่งอาจทำรั้วถี่ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ซึ่งชาวบ้านจะทราบดีถึงที่อยู่ของผีตาแฮกนี้ การไหว้ผีตาแฮก หรือทำพิธีปักกกแฮก จะดำเนินการตอนช่วงจะเริ่มปักดำ สิ่งที่ใช้ในการทำพิธีปักกกแฮก ประกอบด้วย เหล้าขาว 1 ขวด ไก่ต้มสุกพร้อมเครื่องใน 1 ตัว บางคนอาจมีข้าวดำ ข้าวแดง ปลาร้า ด้วยก็ได้ ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู บุหรี่ น้า 1 ขวด แก้ว 2 ใบ กระติ๊บข้าวเหนียว
หลังจากนั้น นำของเซ่นไหว้ไปที่ที่อยู่ของ "ตาแฮก" แล้วจัดแต่งสำรับที่นำมาใส่ถาดเหล้า เปิดฝา กระติ๊บข้าวเหนียวเปิดออก น้ำและเหล้าเทใส่แก้วคนละใบ จุดเทียนตั้งไว้พร้อมกับกล่าวเชิญให้ผีตาแฮกมารับ หรือมากินของเซ่นไหว้ พร้อมกับบนบานให้ข้าวกล้าในนาของตนอุดมสมบูรณ์ โบราณนิยมแฮกนาดำวันอาทิตย์ แฮกนาหว่านวันจันทร์ ปักตาแฮก ปักกกแฮกและดำนาวันพฤหัสบดี ทำขวัญข้าววันอังคาร แฮกถางไฮ่ (ถางไร่) สุม (เผา) ไฮ่เอาวันศุกร์
ตาปู่ เป็น ผีประจำหมู่บ้าน อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน การสร้างหมู่บ้านจะต้องทำ ศาลปู่ตา หรือ ตูบปู่ตา แล้วทำพิธีอัญเชิญปู่ตาซึ่งถือเป็นผีบรรพบุรุษ ให้มาอยู่ทำหน้าที่คอยพิทักษ์รักษามนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารในหมู่บ้านให้ปลอดภัย การติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้านจะผ่านตัวแทน คือ คนทรง หรือที่เรียกว่า "จ้ำ" หรือ "พ่อเฒ่าจ้ำ" เมื่อถึงเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) ทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงปู่ตา และเสี่ยงทายเรื่องความสุขสบาย ความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้าน และทำนายปริมาณน้ำฝนในปีนั้นๆ
** คติความเชื่อ เจ้าภูมิ เจ้าไพร เจ้าป่า ผีสางนางไม้ เป็นคติความเชื่อของชาวอีสานมาแต่โบราณ ซึ่งชาวไทยอีสานเรียกว่า "ไทยน้อย" เมื่ออพยพครอบครัวไปตั้งหมู่บ้าน ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่แห่งหนใด มักเลือกชัยภูมิป่าที่เห็นเหมาะสม ทำพิธีตั้งพระภูมิบ้าน เรียกว่า "ปู่ตา" หรือ "ดอนปู่ตา" ให้เป็นพระภูมิเทพาอารักษ์ของหมู่บ้าน เพื่อคุ้มครองดูแลหมู่บ้านรักษาผู้คนและปศุสัตว์ ช่วยป้องกันอันตรายและภัย และมีผีตาแฮกคอยป้องกันรักษาพืชพันธ์ ไร่นา
"ผีปู่ตา" เป็นผีรักษาบ้าน รักษาเมือง ดูแลสังคมในหมู่บ้าน ไม่ให้มีการข่มแหงเอารัดเอาเปรียบกัน "ปู่" คือ พ่อของพ่อตา คือ พ่อของแม่ ชาวอีสานถือว่าเป็นญาติผู้ใหญ่จะต้องดูแลคุ้มครองลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข เวลามีกิจกรรมสาคัญๆ จะต้องบอกกล่าวเสมอ เช่น การทาบุญหมู่บ้าน การออกเรือนใหม่ การย้ายบ้านเข้ามาอยู่ใหม่ เป็นต้น จะไปต้องลา จะต้องมาบอกปู่ตา ซึ่งได้วางแนวปฏิบัติไว้ให้สังคมหลายอย่าง พ่อแม่จะด่าลูกอย่างหยาบคายก็ไม่ได้ผิดผีปู่ตา
แถน หรือ พญาแถน เป็นเทวดาหรือผีฟ้าอยู่บนสวรรค์ มีอำนาจบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ แก่มนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารบนโลกได้ ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือแถนมาก ยามทุกข์ร้อนสิ่งใด มักจะบนบานให้แถนช่วยเหลือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำนา คือ ชาวบ้านเชื่อว่า แถนมีอำนาจสั่ง ให้ฝนตกได้ แต่ละปีจึงมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาแถน เพื่อให้แถนสั่งให้ผู้มีหน้าที่ทำให้ฝนตก เช่น นาค พระพิรุณ ประทานฝนลงมาให้
เป็นสัตว์ในอุดมคติที่เชื่อกันว่า มีอยู่ในโลกบาดาล งานหรือหน้าที่ของนาค คือ การพ่นฝนให้ตกลงในจักรวาลนี้ อันประกอบด้วยมหาสมุทร มนุษย์โลก และป่าหิมพานต์ นาคเกี่ยวข้องกับ การทำนาในส่วนที่เป็นผู้ทำให้น้ำฝนตกลงในมนุษยโลก ทำให้มนุษย์ได้ทำนา นอกจากนี้ยังมีนาค อีกจำพวกหนึ่งที่เรียกว่า "นาคทรงแผ่นดิน" เมื่อทำพิธีแรกไถนา ชาวนาต้องดูวัน เดือน ปี และทิศ ที่จะบ่ายหน้าควาย ต้องไม่ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกล็ดนาค หรือเสาะเกล็ดนาค เพราะถ้า เป็นอย่างนั้นการทำนาในปีนั้นจะทำให้เกิดอุปสรรคต่างๆ ขึ้น
ชาวบ้านเชื่อกันว่า นางธรณี หรือ แม่ธรณี เป็นเทพเจ้าแห่งพื้นดิน ก่อนจะไถนาหรือปลูก ข้าว ต้องบอกกล่าวขออนุญาตต่อนางเสียก่อน และทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยพาหวาน (มีข้าวนึ่ง ไข่ไก่) 1 พา และขอให้นางธรณีช่วยปกป้องรักษาข้าวในนา อย่าให้มีศัตรูมาเบียดเบียน และขอให้ได้ทำนา ด้วยความสะดวกสบายตลอดฤดูกาล
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาหลวง (พิธีหลวง)
การแรกไถนาทำในเดือนหก วันฟู เวลาเช้า เจ้าของนาเป็นผู้ทำพิธี เทพเจ้าหลักที่อ้างถึงใน พิธีนี้คือ นางธรณี หรือ ผีตาแฮก แล้วแต่ใครจะนับถือองค์ไหน เทพเจ้าประกอบได้แก่ พระภูมิเจ้าที่ และ รุกขเทวดา กระทำพิธีในนาแปลงใดก็ได้ องค์ประกอบในพิธีมี พาหวาน 4 และ พายา 4 กอก (กรณี นับถือตาแฮก) องค์ประกอบนี้เปลี่ยนแปลงไปตามข้อปฏิบัติของแต่ละบุคคล
วิธีทำ นำเอาเครื่องประกอบเหล่านี้ไปเซ่นสังเวยบอกกล่าวว่า "มื้อนี้เป็นมื้อสันต์วันดี จะทำการแฮกไถนา ขอให้เทพเจ้า (ออกชื่อ) จงช่วยคุ้มกันรักษา ขยับขยายที่ให้ได้ทำนา อย่างสุขสบาย" แล้วเริ่มไถนาในทิศทางที่ตามเกล็ดนาค (ห้ามไถทวนเกล็ดนาค) ไถวน จำนวน 3 รอบแล้วหยุด ปล่อยควาย เป็นการเสร็จพิธี วันต่อไปจึงเริ่มไถเป็นปกติได้ พิธีนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เทพเจ้าคุ้มครองรักษาทั้งคน สัตว์ ข้าวกล้า และขออนุญาตต่อเทพเจ้า เพื่อเตรียมดินปลูกข้าวในปีนั้นๆ ตามความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมา
จัดขึ้นประมาณเดือนเจ็ดหรือเดือนแปด (มิถุนายน - กรกฎาคม) วันประกอบพิธีต้องเป็น วันฟู หรือวันจันทร์ หรือวันพฤหัสบดี หรือวันเกิดของเจ้าของนา แล้วแต่ใครจะเลือกนับถือ ทำพิธีเวลาเช้า พ่อบ้านหรือแม่บ้านเป็นผู้กระทำ เทพเจ้าที่อ้างถึงได้แก่ ผีตาแฮก หรือ นางธรณี แล้วแต่ ใครจะนับถือรูปใดก็บูชารูปนั้น สถานที่ที่ปลูกข้าวตาแฮกนั้นให้เลือกเอาบริเวณที่ใกล้ๆ กับโพนนา (จอมปลวก) หรือใกล้กกไม้ (โคนต้นไม้)
วิธีทำ เตรียมดินให้กว้างพอจะปลูกข้าวแฮกประมาณ 7 หรือ 14 กอ แล้วสร้างร้านสี่เสา เล็กๆ ขึ้นพอจะเป็นที่วางเครื่องสังเวยได้ เอาเครื่องสังเวยซึ่งเป็นเช่นเดียวกับพิธีแฮกไถนาวางบน ร้าน จากนั้นจึงกล่าวคำอ้อนวอนว่า "มื้อนี้มื้อสันต์วันดี พวกข้าจะมาปักแฮก ขอให้ตาแฮก (หรือนางธรณี) ช่วยคุ้มครองรักษาให้ข้าวกล้าในนางอกงาม ไม่มีพวกช้าง พวกควาย หรือ ไพร่พลมาทำลาย" แล้วจึงปักข้าวแฮก 7 หรือ 14 กอ ตามแต่นับถือ เป็นอันเสร็จพิธี
เป้าหมายของพิธี คือ ต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองข้าวกล้าให้งอกงาม ไม่มีโรคภัยมา เบียดเบียน สำหรับกรณีผู้นับถือตาแฮกจะบนบานว่า หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วจะแบ่งข้าวที่ได้ให้ ตาแฮก 4 เกวียน (เกวียนจำลอง)
โบราณอีสานจะตั้งบ้านตั้งเมือง ณ ที่ใด จะตรวจดูแม่น้ำและป่าไม้ก่อนสิ่งอื่นๆ เพราะแม่น้ำนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับแรก หากไปตั้งอยู่ไกลแม่น้ำจะไม่สะดวกในการทำมาหากิน อาหารที่จำเป็นของชาวอีสานอันดับแรกคือ ปลา ถ้าบ้านใกล้แม่น้ำจะหาปลากินง่าย ไม่ต้องขุดสระเลี้ยงปลา ในสมัยโบราณปลามีอุดมสมบูรณ์ อย่างว่า
บ้านข้อยพุ้นดินดำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง
ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น จักจั่นฮ้องคือฆ้องลั่นยาม "
ความสำคัญอันดับสองคือ ป่าไม้ เพราะมีประโยชน์ทั้งการนำไม้มาสร้างบ้านเรือน เป็นที่หาอาหารเช่น พืชผัก ผลไม้ เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง และสัตว์อื่นๆ การรักษาป่าของคนโบราณอีสานฉลาดนัก แทนที่จะมอบให้คนรักษาแต่ไม่มอบให้ เพราะคนรู้จักและเข้าใจคนว่าชอบแต่ได้ไม่ชอบเสีย และไม่ซื่อตรง แอบลักลอบทำการเอาประโยชน์ส่วนตน จึงมอบให้ผีปกปักรักษาป่า สร้างที่อยู่ให้ผี เรียก หอปู่ตา แล้วทำการเชิญผีมาอยู่ ผีที่ว่าก็หมายถึง ผีปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มาเฝ้าดูแลป่าและปกปักรักษาลูกหลาน ในแต่ละปีจะมีการเลี้ยงผี เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจและความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ป่าดอนปู่ตานี้จะอยู่ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน
การเลี้ยงผีปู่ตานี้จะจัดขึ้นในเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) วันพุธ (จะเป็นวันพุธสัปดาห์ไหนก็ได้) ตอนเช้า พิธีนี้มี "จ้ำ" เป็นผู้ดำเนินการ โดยป่าวประกาศให้ลูกบ้านทราบว่าจะทำพิธีวันไหน และให้ลูกบ้านบริจาคเงิน ข้าวของตามศรัทธาให้แก่จ้ำ เพื่อจะได้นำไปซื้อเครื่องเซ่นมาทำพิธี ซึ่งมีไก่ 3 ตัว เหล้า 1 ขวด บุหรี่ ยาสูบ หมาก ผ้าซิ่น ดอกไม้ และธูปเทียน
เมื่อถึงวันพิธี ชาวบ้านทุกครอบครัวไปร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นเวลาเช้า ณ ศาลปู่ตาประจำ หมู่บ้าน ในพิธีมีการเสี่ยงทายโดยใช้ไก่ 3 ตัว เป็นเครื่องเสี่ยงทาย 3 กรณี คือ
โดยดูจากลักษณะปลายขากรรไกรล่างทั้งสองข้างของไก่ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง การเสี่ยงทายอีกประการหนึ่ง คือ การเสี่ยงทายฟ้าฝนด้วยไม้วา โดยเอาไม้มาหนึ่งท่อนขนาดยาว 1 วาของจ้ำ (ผู้กระทำพิธี) นำมาเข้าพิธี โดยอธิษฐานว่า ถ้าฝนดีขอให้ไม้นี้ยาวกว่า 1 วาของจ้ำ ถ้าฝนแล้งขอให้ไม้สั้นกว่า 1 วาของจ้ำ เมื่อทำพิธีอธิษฐานแล้วก็เอาไม้มาวัดเทียบกับวาของจ้ำ แล้วให้ ทำนายตามผลที่ปรากฏ
ส่วนการทำนายตามลักษณะไก่ คือ ดึงเอาขากรรไกร (ปากล่าง) ของไก่ที่บูชาปู่ตาแล้วออกมา แล้วดูว่า ส่วนปลายขากรรไกรทั้งสองข้าง (ซึ่งมีลักษณะเป็นสองง่าม) เป็นอย่างไร
พิธีเลี้ยงผีปู่ตา เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำนา ปลูกข้าวอย่างใกล้ชิด ผลคำทำนายเป็นเช่นไร? ชาวบ้านมักจะนำไปเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวทำนาในปีนั้นๆ นอกจากนั้นปู่ตา ยังมีความสำคัญกับหมู่บ้านเพราะเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้อนุรักษ์ป่าไม้ชุมชนของหมู่บ้านนั้นๆ ให้ ยังคงอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชุมชนตราบเท่าลูกหลาน
ดอนปู่ตา นอกจากจะเป็น สถานที่เคารพสักการะ ที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจแล้ว ดอนปู่ตา ยังเป็น แหล่งอาหารสำคัญของหมู่บ้าน เพราะอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ ป่าไม้ที่ให้ร่มเงา ทั้งไม้เนื้อแข็ง ไม้ผล ไม้ไผ่ ที่ให้ทั้ง ใบ ดอก ผล และหน่ออ่อน ที่เป็นอาหารของคนในชุมชน มีเห็ดนานาชนิด และสัตว์ต่างๆ ที่เป็นอาหารได้ ดอนปู่ตาจึงเปรียบได้กับ ตลาดสด ใกล้บ้าน หรือ ตู้เย็นที่เก็บสะสมอาหารสดใหม่ให้กับชุมชนได้ประโยชน์ในทุกฤดูกาลนั่นเอง
ในปัจจุบันนี้ เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามามากๆ เรื่องของ "ดอนปู่ตา" ก็อาจจะจางหายไปในหลายๆ หมู่บ้าน ด้วยเหตุที่ดอนปู่ตาไปอยู่ในเส้นทางของการพัฒนา ตัดถนนหนทางให้กว้างขวาง (ไม่ได้ตัดอ้อมวกวนเหมือนกับทางเกวียนในอดีต) เราจึงได้ยินว่า ผีปู่ตามาเข้าฝันเถ้าจ้ำบอกว่า "เห็นสิอยู่หม่องเก่าบ่ได้ละเด้อ กูถืกบักกุดจี่ทอง (รถแทรกเตอร์) มันมาไถมาดุนจนตูบกูพังทลายลงเบิดแล้ว ทั้งๆ ที่เจ้าของของมัน (คนขับรถไถ) ก็พยายามดึงบังเหียน (คันบังคับรถ) ไว้อย่างสุดแฮงก็ยังเอาบ่อยู่ แฮ่งดึงมันแฮ่งมุดเข้ามาไถโพนและตูบของกูจนพังทลายลงเบิดแล้ว คือสิได้ไปหาหม่องอยู่ใหม่ บอกไทบ้านแหน่..." นับวันดอนปู่ตาจะสูญหายหมดไปจากคนอีสาน
รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน ผีปู่ตา
** คัดมาจาก "วิเคราะห์พิธีกรรมการบูชาและความเชื่อเกี่ยวกับผีตาแฮกในชุมชน
ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี"
โดย พระอธิการทิพเนตร ปญฺญาทีโป พระครูสิริสุตาภรณ์ และ พระมหาณัฐกิตติ อนารโท
ตำนานเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก | เต่า : สัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)