คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ตำนานความเชื่องเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก
ประเพณีโบราณอีสานนั้น มีความเชื่อในเรื่องของภูติ ผี บรรพบุรุษ การจะกระทำสิ่งใดจะต้องมีการบนบาน บอกกล่าว เพื่อให้ผลแห่งการกระทำกิจการนั้นๆ สัมฤทธิ์ผล นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลแห่งการอุปโภค บริโภค อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป ในส่วนของการทำเกษตรกรรมนั้นก็จะการเลี้ยงตาแฮก ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนดังนี้
โบราณท่านนิยมแฮกนาดำวันอาทิตย์ แฮกนาหว่านวันจันทร์ ปักตาแฮก ปักกกแฮกและดำนานิยมทำวันพฤหัสบดี ทำขวัญข้าววันอังคาร แฮกถางไฮ่ สุมไฮ่เอาวันศุกร์ ให้เลี่ยงตาแฮกก่อนแล้วจึงไถแฮกนา ของเลี้ยงตาแฮกนั้น แล้วแต่เจ้าของนาเคยปฏิบัติมา แต่ส่วนมากมักจะใช้ไข่ต้มสุกที่ยังมิได้ปอกเปลือก เพราะเอาไว้ทายไข่หลังเลี้ยงตาแฮกแล้ว เหมือนไข่สูตรขวัญ ถ้าไข่เป็นน้ำ ทายว่า ปีนั้นฝนจะแล้ง ถ้าไข่เน่าหรือมีกลิ่น หรือเป็นสีดำ ทายว่า ศัตรูพืชจะรบกวน ถ้าไข่งามทายว่า ทำนาจะได้ผลดี
ให้เอาต้นกล้ามา 8 ต้น เอาขัน 5 มายกใส่หัว อธิษฐานถึงแม่โพสพ ให้มาค้ำคูณ วางขันลงข้างตาแฮก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปักกล้าลงแต่ละต้นให้ว่าดังนี้ ปักต้นนี้พุทธรักษา ปักต้นนี้ธรรมรักษา ปักต้นนี้สังฆรักษา ปักต้นนี้เผิ่นเสียให้กู้ได้ ปักต้นนี้เผิ่นไฮ้ให้กูมี ปักต้นนี้ให้ได้หมื่นมาเยีย ปักต้นนี้ให้ได้หมื่นเยีย ปักต้นนนี้ขวัญข้าวพันเล้า มาโฮม ครบ 8 ต้นแล้วเป็นอันว่าเสร็จพิธี
ปักกกแฮก หมายถึง การเอากล้าลงไปปักในไร่นาก่อนลงมือดำจริงๆ ท่านให้ตั้งขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) อธิษฐานที่งานนา เอากล้ามา 14 ต้น อธิษฐานถึงแม่โพสพดังกล่าวแล้ว ให้เอาต้นกล้าปักในนา (แบบดำนาปกติ) 14 ต้น แต่ให้ปักทีละต้นพร้อมกับเสกมนต์ดำนาดังนี้
"ไฮ่นี้ไฮ่ก้ำขวา นานี้นาท้าวทุม ท้าวทุมให้กูมาแฮกไฮ่กูจักแฮก ปักกกนี้นกจอกโตตาแหวนให้บินหนี ปักกกนี้แมงคาโตฮู้ฮ่ำกกข้าวให้บินหนี ปักกกนี้ให้ได้ฆ้องเก้ากำ ปักกกนี้ให้ได้คำเก้าหมื่น ปักกกนี้ให้อวนข้าวหมื่นมาเยีย ปักกกนี้ให้มานใหญ่ท่อมานอ้อย ปักกกนี้ให้มานน้อยท่อมานเลา ปักกกนี้ให้ได้เป็นเศรษฐีเพราะขายข้าว โอมสหุม"
แล้วเสกต่อว่า "โอมสิทธิการ ปู่ข้าวเอย ย่าข้าวเอย มื้อนี้แม่นมื้อสันต์ วันนี้แม่นวันดี ถูกทางผีบ่อห่อนเอื้อ ข้าวเฮี้ยผีบ่อห่อนเกิด จักเอามือแฮกนาผีก็บ่อห่อนใกล้ โอม ไชยะ วิรุฬหะ กก กอ ดอ ดก" แล้วเป่าไปยังข้าวที่ปักแล้ว 3 ที ถ้านามีน้ำก็กวักน้ำสาด 3 ที เป็นเสร็จพิธี
ชาวอีสานนั้นจะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชผลหลายขั้นตอน ก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้มีความเข้มแข็ง ด้วยธรรมชาตินั้นมีความไม่แน่นอนนัก ปีนี้อาจะมีฝนดี หรือมีฝนแล้ง หรือมีน้ำท่วมก็ไม่อาจคาดเดาได้ ในยุคนั้นยังไม่มีการนำเอาหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ ไม่มีการพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา จึงต้องอาศัยการเซ่นไหว้เทวาอารักษ์ ภูติผีเป็นหลัก โดยมีการทำพิธีกรรมต่างๆ ดังนี้
มีบ่อยที่บางคนปลูกพืชไม่ค่อยได้ผล ตกแต่ใบ แต่ผลไม่ค่อยมี บางคนมีผลดกมาก ใบมีพอสมควร บางคนมีผลดกแต่หล่นก่อนเวลาอันสมควร อาจจะเป็นที่ดูแลไม่ถูกวิธี ไม่มีความรู้ทางด้านการเกษตรที่ชัดแจ้ง หรือฤกษ์ยามในการเพาะปลูกอาจจะมีส่วนสัมพันธ์อยู่ด้วยก็ได้ ขอท่านผู้อ่านแฟนนานุแฟนจงเอาไปทดลองกันดูเถิด ผสมกับความฮู้ในวิทยาการการเกษตรแผนใหม่ โดยเฉพาะ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของพวกเฮาชาวไทย จักประสบผลสำเร็จพ้นจากความทุกข์ยากแน่นอน
การที่เราเอายาฉีด ไปฉีดบ้ง ฉีดปูนั้น ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี ท่านผู้อ่านลองเอาคาถาโบราณไปใช้กันดู
เขียนใส่ใบตาล หรือใบลาน เอาไม่ไผ่เหลาผ่าหัวใส่คาถาไว้ แล้วเอาไปเสียบไว้ใน 4 มุมของไร่นา (4 มุมคันแททุกไฮ่นา) ดีนักแล
ให้ตั้งคายขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) เทียนจุดทำน้ำมนต์ 1 เล่ม ตักน้ำใส่ภาชนะจะหม่า (แช่) ข้าวปลูกนั้นให้เอาผ้าขาวม้าพาดบ่า ยกขัน 5 ขึ้นว่า พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา แล้วปลงขันลงไว้ที่สูง จุดเทียนน้ำมนต์ (เทียนอะไรก็ได้) แล้วเอาเทียนหยดใส่น้ำในอ่างหม่าข้าวปลูกพร้อมกับสวดว่า นโม ตัสสะ ฯลฯ 3 จบ แล้วเสกคาถาว่า
สักกัตวา พุทธะระตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง หิตัง เทวะมะนุสสานัง
พุทธะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุปัททะวา สัพเพ ทุกขา วูปะสะเมนตุ เตสักกัตวา ธัมมะระตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง ปะริฬาหูปะสะมะนัง
ธัมมะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุปัททะวา สัพเพ ภะยา วูปะสะเมนตุ เตสักกัตวา สังฆะระตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง อาหุเนยยัง ปาหุเนยยัง
สังฆะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุปัททะวา สัพเพ โรคา วูปะสะเมนตุ เต
ใช้คาถานี้ด้วยความเคารพเชื่อมั่น ข้าวไม่เป็นบั่ว ไม่เป็นเพลี้ย แลฯ
การดำนาในสมัยก่อน ใช้แรงงานเยอะ ปวดหลังปวดเอวน่าดู
เมื่อปลูกข้าวแล้ว ก็ได้เวลาต้องทำการเก็บเกี่ยว โบราณอีสานเราก็จะมีวิธีการและฤกษ์ผานาที เพื่อความเป็นศิริมงคล ดังนี้
ให้เริ่มเกี่ยววันจันทร์ หรือวันพฤหัสบดี ลงมือได้ในเวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ 3 จบ แล้วให้พนมมือยกเกี่ยวขึ้นใส่หัวแล้วว่าคาถา ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ 3 จบ แล้วจึงลงมือเกี่ยวข้าว ก่อนเกี่ยวให้เอาดอกพุดน้อย หรือดอกไม้อื่นก็ได้ แต่ให้เป็นสีขาว 5 คู่ ใส่ขัน เอาแพพาดบ่านั่งต่อหน้าตาแฮก ยกขัน 5 นั้นขึ้นแล้วว่า
อุกาสะ ผู้ข้าขออนุญาตบาทคำ คุณตาแฮก คุณแม่โพสพ มื้อนี้มื้อดี ขออนุญาตตัดต้นข้าว อย่าได้ตกอย่าได้หล่น นกน้อย และฝูงหนู มวลศัตรูอย่าได้มาบังเบียด อุอะ มุมะ มูลมา "
ผู้ข้าขอเกี่ยวไฮ่ (บอกไฮ่ที่เอาสิเกี่ยว) นั้นก่อน แล้วจึงเกี่ยว
"การลงแขก" ขอแรงเกี่ยวข้าว วิถีชุมชนในอดีตที่หายไปเพราะมีรถเกี่ยวมาแทนที่
การทำลานนวดข้าว ให้ทำวันพุธ หรือวันเสาร์ เริ่มเวลาเช้า เลือกเอาที่ค่อนข้างสูง เสีย (ถาก) ลานเอาตอซังข้าวออก และปรับพื้นดินให้เรียบ สำหรับการทาลานด้วยขี้ควายหรือขี้วัวนั้นจะทำวันไหนก็ได้
การหาบ/ขนข้าวขึ้นลานให้ทำวันพฤหัสบดี เวลาเที่ยงวัน แต่งขัน 5 ไปเชิญฟ่อนข้าวจากจุดที่เราเกี่ยวครั้งแรกนั้น 7 ฟ่อนมา ให้พ่อบ้านหรือแม่บ้านเป็นคนทำก็ได้ คำอัญเชิญให้ว่า นะโม ฯลฯ 3 จบ แล้วให้ว่าคาถา 3 จบ ดังนี้ "ปัญจะ พีชา หะทะยัง สะหุม" แล้วจึงขนข้าวไปใส่ลานได้ ให้แยกฟ่อนข้าวที่เกี่ยวครั้งแรกออกไว้ สำหรับปลงข้าวในวันเคาะ (นวด) ข้าว เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังทำนาอยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าที่บ้านนอกนั้น (หลายสิบปีล่วงมาแล้ว) เพิ่นให้เคล็ดลับมาว่า "ให้ใส่เหล้าสาโทหวานๆ ไว้กลางลอมข้าวสัก 4-5 ไหซอง เพื่อเป็นมงคล" ตอนหลังมาเพิ่งได้กระจ่างว่า "ไหเหล้า" นี้ช่วยให้มีคนมาช่วยกันตี (เคาะ หรือ นวด) ข้าวมากมายโดยมิได้นัดหมายยาก เหตุผลท่านคงจะเดาออกนะขอรับ
การตีข้าว หรือ นวดข้าว ด้วยมือแบบนี้ก็เริ่มเลือนหายไปเพราะมีรถเกี่ยวข้าวแล้วสีใส่กระสอบได้เลย จนเกิดปัญหาตามมา
เมื่อขนข้าวขึ้นใส่ลานแล้ว ต้องมีการเคาะ (นวด) ข้าว การปลงข้าวให้ทำวันศุกร์ หรือวันเสาร์ก็ได้ ให้เตรียมดังนี้ ซวย 4 อัน เหล้าก้อง 1 ขวด ไข่หน่วย 1 หน่วย น้ำเต็มเต้า 1 เต้า ข้าวเต็มก่อง เผือกต้ม 2 หัว มันต้ม 2 หัว ขมิ้นขึ้น 5 หัว ข้าวต้ม ตีนงัว ตีนควาย (ข้าวต้มโคมธรรมดา) 1 คู่ ใบไม้เป็นมงคล (ใบคูณ ใบยม ใบยอ) อย่างละ 5 ใบ ผลไม้ตามฤดูกาล 5 ลูก ธูป 5 คู่ เทียน 5 คู่ และดอกไม้ขาว 5 คู่ แต่งใส่พานไว้ เอาข้าวที่แยกไว้ตอนตั้งลอมข้าว จำนวน 7 ฟ่อน มาวางข้างขวาพานเครื่องบูชานั้น 3 ฟ่อน ข้างซ้าย 3 ฟ่อน อีกฟ่อนหนึ่งที่เหลือเอาไม้เคาะข้าวรัดเอาไว้ ให้พ่อบ้านผู้ประกอบพิธีนั้น ยกพานขึ้นเหนือหัวแล้วว่าดังนี้
อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาสอาราธนา คุณเทวาและเจ้าที่ตาแฮก เจ้าแม่โพสพจงมาประสุม ชุมนุมกัน เมื่อมาแล้วผู้ข้าขอถวายเครื่องสักการะบูชากียาอันได้ทำไว้ แล้วขอให้ผู้แก่นแก้วจงเอนดูกูณา อย่าได้เป็นโทสาบาปข้อง ผู้ข้าขอเหยียบย่ำข้าวผู้มีพระคุณ ขอให้คูณกันมาไหลหลั่ง อั่งอั่งขึ้นคือน้ำแม่นะที อุอะ มุมะ มูลมา มหามูลมังสวาหุม "
เมื่อว่าแล้วให้วางพาบูชาลงแล้วจึงไปเคาะข้าว ฟ่อนที่เอาไม้ตีข้าวรัดไว้ ให้ว่าดังนี้
ให้ว่าดังนี้ จนเคาะหมดทั้ง 7 ท่อน ให้แยกฟ่อนหนึ่งที่เคาะครั้งแรกไว้ เอาเครื่องสักการะทั้งหมดในพาน ยัดเข้าในฟ่อนฟางฟ่อนแรกนั้น เอาฟางฟ่อนนั้นห่อแล้วมัดให้ดี เอาคันหลาวมาสอด แล้วเอาไปเสียบไว้บนลอมข้าว เอาไว้ 3 วัน จึงเอาออกได้ เมื่อหัวหน้าครอบครัวปลงข้าว และเคาะข้าวเป็นตัวอย่างแล้ว จากนั้นลูกหลานก็เคาะต่อไปได้เลย
เมื่อการนวดข้าวสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการนำข้าวจากลานขึ้นสู่เล้าข้าว ซึ่งก็จะมีพิธีการเพื่อเป็นศิริมงคลอีกเช่นเดียวกับขั้นตอนอื่นๆ เพื่อให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงบุญคุณของข้าว สืบต่อไป
เล้าเข้า หรือ ยุ้งข้าว ของคนอีสานนั้น ใช้เป็นที่เก็บข้าวเปลือกไว้เพื่อการบริโภค และใช้เก็บพันธุ์ข้าวเพื่อไว้ใช้ปลูกในปีต่อไป การปลูกเล้าเข้าตามโบราณประเพณีอีสานให้ถือฤกษ์วัน เดือนในการปลูกสร้างเหมือนกับบ้านเรือน แต่กำหนดให้เอาทิศทางของเฮือนเป็นหลักก่อนจะปลูกเล้าเข้า ทิศที่นิยมคือให้ปลูกเล้าเข้าทางทิศตะวันตกของเฮือน หรือทางหลังของบ้าน [ ดูรายละเอียดที่นี่ ]
ใช้วัวเทียมเกวียน ขนข้าวขึ้นเล้า
วันเอาข้าวขึ้นเล้า เป็นวันที่ขนเอาข้าวจากลานนวดข้าวเข้าบ้านโดยใช้การหาบ หริอขนด้วยวัวเทียมเกวียน จะนิยมทำกันในวันจันทร์ พฤหัสบดี หรือ ศุกร์ เวลาบ่าย 3 โมง ถึงบ่าย 5 โมง มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
แล้วเอาขันหรือกระบอกที่เตรียมไปตักขวัญข้าวนั้น ตักเอาขวัญข้าวใส่กระบุง อุ้มเดินกลับบ้าน เอาขึ้นเล้าไปวางไว้บนขื่อด้านหลังสุดตรงข้ามกับประตูเข้าเล้า หาอะไรครอบไว้เพื่อไม่ให้หนู หรือนกไปกินได้ ข้าวที่เก็บได้นั้นคือ "ขวัญข้าว" ซึ่งเราจะต้องเอามาผสมกับข้าวปลูก เพื่อทำพันธุ์ในปีต่อไป
เมื่อขนข้าวขึ้นเล้าแล้ว บางคนก็สู่ขวัญข้าวในวันนั้น บางคนก็เอาวันหลัง ที่นิยมทำกันก็คือ วันจันทร์, พูธ, พฤหัสบดี, วันศุกร์ หรือวันอาทิตย์ก็ได้ ไม่นิยมทำกันในวันอังคาร วันเสาร์ วันจม และวันเดือนดับ ในวันสู่ขวัญข้าวนั้นให้อัญเชิญเอาขวัญข้าวที่เราเก็บใส่ขัน หรือกระบอกไว้ดังกล่าวนั้นมาใส่ในพาขวัญ สู่ขวัญแล้วจึงนำไปเก็บไว้ยังที่เดิม (คำสู่ขวัญข้าว ดูรายละเอียดที่นี่)
ตามที่โบราณอีสานนิยมกัน เมื่อมีการขนข้าวขึ้นเล้าแล้ว เขาจะแยกเอาบางส่วนใส่กระสอบ หรือใส่กระเฌอเอาไว้สำหรับตำกิน กะให้พอกินถึงวันเปิดเล้า คือเมื่อเอาข้าวขึ้นเล้าและสู่ขวัญเสร็จ คนโบราณจะเปิดเล้าข้าวไว้ แต่การเปิดเล้าข้าวนั้น คนในภาคอีสานนิยมเปิดเล้า ตักกินข้าวเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ หรือวันมงคลอื่นๆ ทั้งนี้แล้วแต่ท้องถิ่นนิยม คาถาเปิดเล้าตักข้าวมากินว่า ดังนี้
"สุ รุ รุ กึตตัง ภัพพา ภัพพัง ร้านพระ ร้านปานะ โภชนะ อุทะกัง วาวัง ตัณฑุลานิ ปะริปูริตานิ สัพพะกาลัญจะ ภิยโยโส" เสกใส่น้ำหม่าข้าวนึ่งหรือหุงกิน ท่านว่ากินบ่บกจกบ่อลงสุขภาพร่างกายของผู้กิน ก็จะดีไปด้วย
เอาข้าวขึ้นเล้าควรเว้นวันเสาร์ ส่วนเดือนนั้นเดือนไหนก็ได้ แต่โบราณท่านให้ถือข้างขึ้น ข้างแรม ดังนี้
ถ้าขึ้น | 1-8-9-10 ค่ำ ผีช่วยกิน 1 ตน บ่ดีแล | |
ถ้าขึ้น | 2-3-4-5-7-12-14-15 ค่ำเป็นวันปลอด ดี เอาข้าวขึ้นเล้าเถิด ดีแล | |
ถ้าขึ้น | 6-11 ค่ำ ผีช่วยกิน 3 ตน บ่ดีแล | |
ถ้าขึ้น | 13 ค่ำ ผีช่วยกิน 2 ตน บ่ดีแล |
ถ้าแรม | 1-2-3-4-5-7-12-14-15 ค่ำเป็นวันปลอด ดี เอาข้าวขึ้นเล้าเถิด ดีแล | |
ถ้าแรม | 5-6 ค่ำ ผีช่วยกิน 3 ตน บ่ดีแล | |
ถ้าแรม | 7-8 ค่ำ ผีช่วยกิน 4 ตน บ่ดีแล | |
ถ้าแรม | 10-11-12 ค่ำ ผีช่วยกิน 2 ตน บ่ดีแล |
ตำนานความเชื่องเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)