foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

newhome

นุ่ม-สาวชาวอีสาน เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตา-แม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกแล้วจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า "การออกเฮือน" แล้วไปหักล้างถางพงหาที่ทำนา (หากพ่อตา-แม่ยายไม่มีทรัพย์ไว้ให้)  ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณที่เหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักจะชักชวนกันไปตั้งบ้านขึ้นใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลเดินทางไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้เคียงกับที่นาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ขึ้น

huen isan 01

ในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนอีสาน มักเลือกทำเลที่เอื้อต่อการยังชีพ ซึ่งมีองค์ประกอบทั่วไปดังนี้

  1. แหล่งน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อาจเป็นหนองน้ำใหญ่หรือห้วย หรือ ลำน้ำที่แยกสาขามาจากแม่น้ำใหญ่ ที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝนส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำนาเลี้ยงสัตว์ ได้ในบางฤดูเท่านั้น ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า "เลิง วัง ห้วย กุด หนอง และท่า" เช่น เลิงนกทา วังสามหม้อ ห้วยยาง กุดนาคำ หนองบัวแดง ฯลฯ
  2. บริเวณที่ดอน เป็นโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง สามารถทำไร่และมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีทั้งที่ดอนริมแม่น้ำและที่ดอนตามป่าริมเขา แต่มีน้ำซับไหลมาบรรจบเป็นหนองน้ำ ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วนคำว่า "โคก ดอน โพน และโนน" เช่น โคกสมบูรณ์ ดอนสวรรค์ โพนยางคำ ฯลฯ
  3. บริเวณป่าดง เป็นทำเลที่ใช้ปลูกพืชไร่และสามารถหาของป่าได้สะดวก มีลำธารไหลผ่าน เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้าก็กลายเป็นหมู่บ้านและมักเรียกชื่อหมู่บ้านขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดง ป่า และเหล่า" เช่น โคกศาลา ป่าต้นเปือย เหล่าอุดม ฯลฯ
  4. บริเวณที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เหมาะในการทำนาข้าว และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณขอบหรือแนวของที่ราบติดกับชายป่า แต่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า "ป่าบุ่ง ป่าทาม" เป็นต้น
  5. บริเวณป่าละเมาะ มักเป็นที่สาธารณะ สามารถใช้เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหารได้ ตลอดจนมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่นำมาเป็นอาหารยังชีพ รวมทั้งสมุนไพรใช้รักษาโรค และเป็นสถานที่ยกเว้นไว้เป็น ดอนปู่ตา ตามคติความเชื่อของวัฒนธรรมกลุ่มไต-ลาว

สิ่งที่ต้องต้องพิจารณาสถานที่อันดับแรก ก่อนที่จะสร้างบ้านเรือนนั้น โดยปกติจะต้องเลือกเอาสถานที่มีความปลอดโปร่ง ไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีจอมปลวก ไม่มีหลุมผี ไม่มีตอไม้ใหญ่ และต้องดูความสูงต่ำ ลาดเอียงของพื้นดินว่า ลาดเอียงไปทางทิศใด และจะเป็นมงคลหรือไม่ ดังนี้

  • พื้นดินใด สูงหนใต้ ต่ำทางเหนือ เรียกว่า "ไชยะเต ดีหลี"
  • พื้นดินใด สูงหนตะวันตก ต่ำทางตะวันออก เรียกว่า "ยสะศรี-ดีหลี"
  • พื้นดินใด สูงทางอีสาน ต่ำทางหรดี เรียกว่า "ไม่ดี"
  • พื้นดินใด สูงทางอาคเนย์ ต่ำทางพายัพ เรียกว่า "เตโซ" เฮือนนั้นมิดี เป็น ไข้ พยาธิฮ้อนใจ

huan isan 01

เมื่อเลือกได้พื้นที่ปลูกเรือนแล้ว จะมีการเสี่ยงทายพื้นที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดข้าว 3 กระทง คือ ข้าวเหนียว 1 กระทง, ข้าวเหนียวดำ 1 กระทง และข้าวเหนียวแดง 1 กระทง นำไปวางไว้ตรงหลักกลางที่ดินเพื่อให้กากิน ถ้ากากินข้าวดำ ท่านว่าอย่าอยู่เพราะที่นั้นไม่ดี ถ้ากากินข้าวแดง ท่านว่าไม่ดียิ่งเป็นอัปมงคลมาก ถ้ากากินข้าวขาว ท่านว่าดีหลี จะอยู่เย็นเป็นสุข ให้รีบเฮ็ดเรือนสมสร้างให้เสร็จเร็วไว

การเลือกพื้นที่ที่จะปลูกเรือนอีกวิธีหนึ่งคือ การชิมรสของดินโดยขุดหลุมลึกราวศอกเศษๆ เอาใบตองปูไว้ก้นหลุม แล้วหาหญ้าคาสดมาวางไว้บนใบตอง ทิ้งไว้ค้างคืนจะได้ไอดินเป็นเหงื่อจับอยู่หน้าใบตอง จากนั้นให้ชิมเหงื่อที่จับบนใบตอง หากมีรสหวาน เป็นดินที่พออยู่ได้ มีรสจืด เป็นดินที่เป็นมงคล จะอยู่เย็นเป็นสุข มีรสเค็ม เป็นอัปมงคล ใครอยู่มักไม่ยั่งยืน มีรสเปรี้ยว พออยู่ได้แต่ไม่ใคร่ดีนัก จะมีทุกข์เพราะเจ็บไข้อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องกลิ่นของดินอีกด้วย โดยการขุดดินลึกราว 1 ศอก เอาดินขึ้นมาดมกลิ่นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าดินมีกลิ่นหอม ถือว่าดินนั้นอุดมดี เป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าดินมีกลิ่นเย็น กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว ถือว่าดินนั้นไม่ดี ใครปลูกสร้างบ้านอยู่เป็นอัปมงคล

การดูพื้นที่ก่อนการสร้างเรือน ชาวอีสานแต่โบราณถือกันมาก แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยยังใช้คติเดิมแต่มีการเลี่ยงหรือแก้เคล็ด เช่น การชิมดิน หากเป็นรสเค็มหรือเปรี้ยว ก็แก้เคล็ดโดยการบอกว่าจืด ส่วนการดมกลิ่นดิน หากมีกลิ่นเหม็นคาวก็จะบอกเอาเคล็ดว่าหอม เป็นต้น

ปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์ย่อมมี ที่อยู่อาศัย หรือ บ้าน เฮือน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ไม่ว่าเราจะไปทำมาค้าขาย ทำกิจการงานที่ใดก็ตาม เมื่อเสร็จกิจการงานแล้วก็จะกลับมายังบ้านพักอาศัยเสมอ เพราะบ้านเป็นที่ที่เราภาคภูมิใจ เป็นสิ่งที่รักและหวงแหน ความอบอุ่นเกิดภายในบ้าน นอนหลับสบายใจไร้ความกลัว และความหวาดระแวง แต่ถ้าปลูกบ้านไม่ถูกโฉลกกับเจ้าของ ความทุกข์ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นกับเรา ดังนั้น จึงควรเลือกวัน เวลา เดือน ปี โสกหรือโฉลก และวิธีปลูกบ้าน ให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมโบราณณ

  1. ปลูกเฮือนวันใดดี?
    • วันอาทิตย์ ท่านห้ามปลูกความอุบาทว์จัญไรจะเกิด
    • วันจันทร์ ท่านว่าปลูกได้จะมีลาภ ผ้าผ่อนท่อนสะไบบังเกิดแก่เจ้าของบ้าน
    • วันอังคาร ท่านห้ามปลูก จะเกิดอันตรายจากไฟ
    • วันพุธ ท่านว่าดี มีลาภเป็นของขาวเหลือง
    • วันพฤหัสบดี ท่านว่าดี จงปลูกเถิดจะได้ลาภและความสุขพูนทวี
    • วันศุกร์ ท่านว่า ห้ามปลูกจะมีทุกข์และสุขเท่ากันแล
    • วันเสาร์ ท่านห้ามปลูกเด็ดขาด จะเกิดถ้อยความมีคนเบียดเบียน และจะมีเรื่องเดือดร้อนใจ
  1. ปลูกเฮือนเดือนใดดี?
    • เดือนอ้าย (เดือน 1) ท่านว่า จะทำมาค้าขึ้น จะได้เป็นเศรษฐี เพราะกิจการค้านั้น
    • เดือนยี่ (เดือน 2) ท่านว่าดี มีศิริในการป้องกันศัตรูทั้งมวล
    • เดือนสาม ท่านห้ามปลูก จะมีภัย ศัตรูเบียนเบียด
    • เดือนสี่ ท่านว่า ปลูกดีจะมีลาภ จะมีความสุขกายสบายใจ
    • เดือนห้า ท่านว่าจะเกิดทุกข์ร้อนไม่สบายใจ
    • เดือนหก ท่านว่าประเสริฐ จะส่งผลให้เงินทองไหลมาเทมา
    • เดือนเจ็ด ท่านห้ามปลูก จะเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ที่หาไว้ได้แล้ว จักถูกโจรลัก หรือไฟไหม้
    • เดือนแปด ท่านห้ามปลูกเฮือนในเดือนนี้ เงินทองข้าวของที่เก็บไว้ จะมิอยู่คงที่แล
    • เดือนเก้า ท่านให้เร่งปลูกเฮือน ถ้ารับราชการจะได้รับการปูนบำเหน็จแล ถ้ามิได้รับราชการก็จะเจริญในการประกอบอาชีพแล
    • เดือนสิบ ท่านห้ามปลูก จะได้รับอันตรายจากโทษทัณฑ์ อาญาแผ่นดิน และการเจ็บไข้ได้ป่วย
    • เดือนสิบเอ็ด ท่านห้ามปลูกจะถุกคนหลอกลวงเอาของ และสิ่งที่ห่วงแหน
    • เดือนสิบสอง ท่านว่าควรเร่งปลูก จะได้เงินทองข้าวของ ช้างม้า ข้าทาสผู้ซื่อสัตย์แล
       
  2. ปลูกเฮือนปีใดดี?
    • ปีชวด ให้เอากิ่งไม้คูณหรือไม้ราชพฤกษ์ มัดเสาแล้วจึงยกเสาลงหลุม เป็นมงคลแล
    • ปีฉลู ให้เอาผ้าขาวม้าห่อกล้วยพันปลายเสา เอากิ่งตูม 3 กิ่ง มามัด จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีขาล ให้เอาข้าวใส่กระทง 3 อันมาวางบนเสา แล้วเอาน้ำมารด 3 ขัน จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีเถาะ ให้เอาใบตะเคียน ใบหูดหอม และต้นกล้วย มัดปลายเสา แล้วจึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีมะโรง ให้เอาผ้าห่อใบหูดหอม และกำยานพันปลายเสา แล้วยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีมะเส็ง ให้เอาใบทอง 2 กิ่ง ผูกปลายเสา เอาข้าวสุกใส่กระทง 3 กระทง ธูป 3 คู่ เทียน 3 คู่ บูชา แล้วจึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีมะเมีย ให้เอาใบขี้เหล็ก 3 กิ่งกวาดตั้งแต่ปลายเสาลงมาถึงต้นเสา 3 ที แล้วเอาน้ำรดปลายเสา 3 ขัน รอจังหวะถ้าได้ยินไก่ขัน จึงยกเสาลงหลุมมีโชคชัยแล (ถ้าไม่มีไก่ขันให้ขันสมมุติเอา)
    • ปีมะแม ให้เอาใบเงิน 3 ใบ ใบหมากตัวผู้และหมากตัวเมียอย่างละ 3 ใบ กล้วยสุก 3 หน่วย อ้อย 3 ข้อ ใส่ในหลุม แล้วจึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีวอก หรือปีระกา ให้เอาเทียน 3 เล่ม ไปผูกต้นเสาทางหัวนอน ต้นไหนก็ได้ จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีจอ หรือ ปีกุน ให้เอาข้าวตอกแตก 5 ดอก ใบบัวบก 5 ใบ รองตรงหัวเสาในหลุมก่อน จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
       
  3. วิธีขุดเสาเฮือน โบราณาจารย์ท่านว่า บ้านต้องปลูกใส่บนดิน ในดินมีทั้งแม่ธรณีและพญานาค (นาคดิน) เป็นอารักษ์ เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคล ท่านว่า ควรย้ายแม่ธรณีและทำให้ถูกต้องตามโครงการนาคดิน กล่าวคือ นาคดิน นี้เราจะต้องรู้จักว่า หัวนาค หางนาค หลังนาค และท้องนาค อยู่ทางทิศไหนในแต่ละเดือนที่เราจะปลูกบ้านก่อนเพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะถูกพิษนาค ทำให้เราเจ้าของบ้านต้องเดือดร้อน เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ควรปฏิบัติดังนี้
    • การย้ายแม่ธรณี
            ก่อนจะมีการขุดดินปลูกบ้าน โบราณท่านว่า ให้ย้ายแม่ธรณี และสิ่งของที่เป็นอาถรรพ์ทั้งหลายออกไปก่อน บ้านจึงจะเป็นบ้านอยู่สุข วิธีย้ายให้เอาเทียนเหลือง 1 คู่ ดอกไม้ขาว 1 คู่ แต่งใส่ขัน แล้วเอาผ้าขาวพาดบ่า (ห่มเฉลียงบ่า) เดินไปตรงกลางลานดินที่จะปลูกบ้าน แล้วกล่าวคำอัญเชิญว่า
           
      อุกาสะ ผู้ข้าขออัญเชิญแม่ธรณีเจ้าได้ออกจาก (หยับย้ายออกจาก) ที่ปลูกบ้าน เพราะที่ปลูกบ้านลูกหลานย่อมทิ้งสิ่งสกปรก ขอย้ายแม่ออกไปอยู่ข้างบ้าน แล้วขอให้แม่คุ้มครองปกป้องรักษาบ้าน และลูกหลานในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้แม่นำสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย หมายมีกระดูกเป็นต้น ขอให้แม่โยนทิ้งไปให้ไกล เอาเหลือไว้แต่สิ่งอันเป็นมงคลแก่ข้าเทอญฯ "

            แล้วนำเอาธูปเทียนนั่นทิ้งวางไว้ทางทิศตะวันตกของที่ปลูกบ้าน ส่วนผู้จะประกอบพิธีนี้จะให้คนแก่ที่มีศีลธรรม (ผู้ชาย) หรือจะเอาผู้ชายเจ้าของบ้านนั้นก็ได้
    • การหลีกพิษนาค ในเดือนที่เราเห็นว่าปลูกบ้านดี เช่น เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า และเดือนสิบสอง ควรจะรู้ว่าเดือนเหล่านี้ ส่วนของนาคส่วนใดอยู่ทิศใด เวลาขุดดินการโกยดิน และการวางเสาแอกเสาขวัญ จะวางได้ถูกทิศทาง จะได้ไม่รับอันตรายจากพิษนาค โบราณท่านว่าดังนี้
      • เดือนอ้ายและเดือนยี่ หัวนาคอยู่ทางทักษิณ (ทิศใต้) หางนาคอยู่ทางทิศอุดร (เหนือ) ท้องนาคอยู่ทางทิศปัจจิม (ตะวันตก) หลังนาคอยู่ทางทิศบูรพา (ตะวันออก) เวลาเข้าไปขุดดิน ให้เข้าไปในทางทิศท้องนาค โกยดินก็โกยไปทางทิศท้องนาคเช่นกัน คือทิศตะวันตก
      • เดือนสี่และเดือนหก หัวนาคอยู่ทางทิศปัจจิม หางนาคอยู่ทางทิศบูรพา หลังนาคอยู่ทางทิศอุดร ท้องนาคอยู่ทางทิศทักษิณ เมื่อเข้าไปขุดดินให้เข้าไปทางทิศท้องนาค โกยดินไปทางทิศอาคะเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อเอาเสาไปวางก็หันปลายเสาไปทางทิศอาคะเนย์
      • เดือนเก้า หัวนาคอยู่ทางทิศบูรพา หางนาคอยู่ทางทิศปัจจิม หลังนาคอยู่ทางทิศทักษิณ ท้องนาคอยู่ทางทิศอุดร การเข้าไปขุดเสาให้เข้าไปทางทิศเหนือ แต่การโกยดินและการหันปลายเสาเมื่อเอาไปวางปากหลุม ให้โกยและหันไปในทิศอิสาณ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
      • เดือนสิบสอง หัวนาคอยู่ทิศอุดร หางนาคอยู่ทางทิศทักษิณ หลังนาคอยู่ทิศบูรพา ท้องนาคอยู่ทางทิศปัจจิม ให้เข้าไปขุดเสาในทิศตะวันตก โกยดินไปทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) การเอาเสาไปวางก็ให้หันปลายเสาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นศิริมงคลนักแล
    • วิธีบูชานาค เพื่อเป็นสิริมงคลต่อบ้าน โบราณท่านให้ทำเครื่องเซ่นไหว้พญานาค ซึ่งประกอบด้วยธูปเทียน และเครื่องบวดต่างๆ วิธีการทำมีดังนี้
      • ให้เอาโต๊ะไปตั้งวางไว้ทิศหัวนาคอยู่ แล้วเอาของหวานใส่ เช่น บวดฟักทอง ใส่ถ้วยวางไว้ในถาด เอาดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ ธูป 5 คู่ ใส่ในถาดวางไว้บนโต๊ะ
      • ให้ทำธงใส่หลักไปปักข้างโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ทั้ง 2 ข้าง สำหรับผ้าทำธงให้ใช้สีตามเดือน ดังนี้
        เดือนสีธงเดือนสีธง
        เดือนอ้าย สีขาว เดือนยี่ สีขาว
        เดือนสี่ สีเหลือง เดือนหก สีเหลือง
        เดือนเก้า สีดำหรือสีนิล (เขียวแก่) เดือนสิบสอง สีแดง
      • กล่าวคำบูชา 1 จบ ว่า "อะยัง มะหานาโค อิทธิมันโต ชุติมันโต อิมินา สักกาเรนะ มะหานาคัง ปูเชมิ"

วิธีขุดเสา เมื่อเราทำเครื่องบูชาเสร็จแล้ว ให้ลงมือขุดหลุมเสาแฮก คนที่ถือเคร่งจริงๆ เวลาขุดหลุมเสาแฮกนั้น เขาจะเอาไม้คูณ หรือไม้ยอทำด้ามเสียมก่อน คนขุดก็จะตั้งชื่อให้ว่า "ท้าวเงิน ท้าวคำ ท้าวแก้ว ท้าวค้ำ ท้าวคูณ" ชื่อใดชื่อหนึ่งตามความเหมาะสม ให้เป็นผู้ขุดเสาแฮก แต่ถ้าจะตั้งชื่อคนขุดทั้ง 8 หลุม (เรือน 3 ห้องสมัยโบราณมีเสา 8 ต้นต่อเกย หรือเฉลียงอีก 4 ต้น จึงรวมเป็น 12 ต้น เกยไม่นับเป็นเรือน) ก็ให้ตั้งเพิ่มอีก 3 ชื่อ คือ ท้าวสุข ท้าวดี ท้าวมี แล้วให้ขุดเสาคนละเสา

สำหรับเสียมขุด นอกจากเสาแฮกแล้วจะเอาด้ามอะไรก็ได้ เฉพาะเสาเอกหรือเสาแฮก ให้ใช้เสียมไม้คูณ หรือไม้ยอ โดยให้ท้าวเงินเป็นคนขุด ในเวลาขุดหลุมเสาย่อมจะพบสิ่งที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคล ดังนั้นเมื่อพบแล้วให้แก้นิมิตแก้อาถรรพ์ ดังนี้

  1. ถ้าขุดไปพบกระดูก ท่านให้เอาน้ำสะอาดสรงแก้วแหวนเงินทอง มารดลงในหลุมเป็นศิริมงคลแล
  2. เมื่อขุดลงไปพบขนสัตว์หรือเชือก ให้ไปขอน้ำมนต์จากพระมารดหลุม เป็นศิริมงคลแล
  3. ถ้าขุดลงไปพบไม้ทราง ให้นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วเอาน้ำพระพุทธมนต์รดลงในหลุม เป็นศิริมงคลแล
  4. ถ้าขุดลงไปพบอิฐ หรือดินเหมือนขี้หนู ท่านให้เอาน้ำผึ้งแท้รดลงในหลุม เป็นศิริมงคลแล
  5. ถ้าของไม่ดีนอกจากนี้ ท่านให้เอาน้ำสรงพระพุทธรูปใส่ขันไว้ เอาดอกบัวหลวง และหญาแพรก ใส่ลงในหลุม แล้วเอาน้ำสรงพระพุทธรูปรดลงในหลุม เป็นศิริมงคลแล
  6. ก่อนเอาเสาแฮก (เสาเอก) ทางหัวนอนลงหลุม ให้เขียนกลใส่หลุมว่า "ปู่ก่อสร้างเป็นอาชญ์เฮือนหิน เงินคำมีหมื่นกือกองล้น" ต้นเสาขวัญทางตีนนอน (เสาขวัญ) ให้เขียนกลใส่ในหลุม ก่อนเอาเสาลงหลุมดังนี้ ."หลานก่อสร้างเป็นอาชญ์เฮือนหิน เงินคำมีหมื่นกือกองล้น" เขียนแล้วเอาลงใส่ในหลุมดังกล่าว
yok sao ake

ลักษณะที่ดินที่ไม่ควรปลูกเฮือน

  1. พื้นดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ท่านว่าไม่ควรปลูกบ้านเพราะเข้าลักษณะโลงผี จะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ควรแยกที่ดินนั้นเป็นสวนไม้ดอก ไม้ผล ด้วยการกั้นรั้วแบ่งเป็นสัดส่วนให้ที่ดินเปลี่ยนรูปร่าง ไปเสียส่วนหนึ่งก่อน แล้วจึงปลูกท่านว่าจะเป็นมงคลแล
  2. ที่ดินรีแหลมยาวรูปธง ท่านว่าไม่ควรปลูกบ้าน ถ้าจะปลูกควรแก้เคล็ดดังข้อ 1 เสียก่อน จึงปลูกบ้าน ท่านว่าจะเป็นมงคลแล
  3. อย่าปลูกบ้านกวมตอไม้ใหญ่ ถ้าจะปลูกก็ควรขุดออกให้หมดเสียก่อน มิฉะนั้นจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ท่านว่า มีภูติผีสิงอาศัยอยู่ในนั้น
  4. อย่าปลูกเฮือนอกแตก คือทำบ้านสองหลังเป็นฝาแฝด แต่ชายคาไม่ต่อกัน จะทำให้คนในบ้านทะเลาะวิวาทกัน
  5. อย่าปลุกเฮือนหงำเฮือน (ข่มเฮือน) คือทำเฮือนใหญ่ที่เป็นเสาเอกนั้น ต่ำกว่าเฮือนเล็กที่สร้างขึ้นใหม่ โบราณท่านว่า จะยากไร้อนาถา ไม่มีคนยำเกรง มีแต่คนข่มเหงแล

bulletเสาแฮก - เสาขวัญ

มีหลายคนได้ยินแต่คนพูด แต่ไม่รู้ว่า เสาแฮก เป็นต้นไหน เสาขวัญเป็นต้นไหน มันอยู่ตรงไหนของบ้าน ทำไมจึงเรียกอย่างนั้น? ตอนจะปลูกบ้าน โบราณอีสานมีเคล็ดวิธีผูกของเป็นมงคลที่เสาแฮกเสาขวัญอย่างไร และตอนก่อนจะเอาเสาลงหลุม เอาอะไรผูกเสาแฮก และเอาอะไรผูกเสาขวัญ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจก็ปฏิบัติไม่ถูก ขอแนะนำเพื่อความเข้าใจถูกต้อง ดังนี้

ความหมาย

  1. เสาแฮก คำว่า "แฮก" เป็นภาษาอีสานมีความหมายว่า แรก หรือ เริ่มแรก หรือ หนึ่ง หรือ ต้นที่หนึ่ง ดังนั้นคำว่าเสาแฮกจึงหมายถึงเสาต้นแรก ต้นที่หนึ่งที่เป็นเสาหลักของบ้าน มิได้หมายถึงลำดับการนับต้นเสาจากหัวแถวด้านใดด้านหนึ่ง
  2. เสาขวัญ คำว่า ขวัญ เป็นได้ทั้งภาษาอีสานและภาษากลาง หมายถึงต้นเสาที่เป็นมิ่งบ้าน ขวัญบ้าน โบราณอีสานถือว่าเป็น "เสาแม่บ้าน" ตั้งอยู่ติดกับเสาแฮก แต่อยู่ในแถวที่สอง เสาแฮกอุปมาเหมือนพ่อบ้าน เสาขวัญก็อุปมาเหมือนแม่บ้านนั่นเอง

ที่ตั้งของเสาแฮกและเสาขวัญ

เพื่อจะให้ผู้อ่านและเยาวชนรุ่นหลังได้รู้ว่า เสาแฮกเป็นต้นไหน เสาขวัญเป็นต้นไหน จะแสดงตำแหน่งที่ตั้งของเสาดังกล่าวให้ทราบ โดยยกตัวอย่างบ้านโบราณอีสาน ซึ่งเป็นบ้าน 3 ห้อง เสา 8 ต้น ถ้ามีเฉลียงก็ 12 ต้น

จะเสากี่ต้นก็ตาม ก็ให้เอาเสาต้นที่ 3 แถวที่หนึ่งทางหัวนอน นับจากซ้ายไปขวาเป็นเสาแฮก เอาเสาต้นที่ 3 แถวที่สองเป็นเสาขวัญ นับจากซ้ายมาทางขวา โดยผู้นับหันหน้าขึ้นไปทางหัวนอน

การผูกเสาแฮกเสาขวัญ

  • ผูกเสาแฮก ของที่จะใช้ผูกเสาแฮก นอกจากจะปฏิบัติตามวิธีปลูกบ้านตามปีแล้ว การผูกของที่เสาแฮกนั้นท่านให้เอาต้นกล้วยทะนีออง (กล้วยน้ำหว้า) ห้ามกล้วยทะนีใน (ตานีเม็ด) ต้นอ้อย กิ่งคูณ กิ่งยม กิ่งยอ และอักที่มีไหม หรือด้ายผูกไว้ตรงที่เป็นมุงคุล
  • ผูกเสาขวัญ ของที่จะผูกเสาขวัญนั้น โบราณท่านให้เอาเงิน 9 เหรียญ ไซ หัวหอม และเหมี่ยงหมาก

เคล็ดพิธีในการผูกของมุงคุล

  • การผูกเสาแฮก เมื่อได้ของมุงคุลแล้ว ท่านให้ตั้งคนส่วนหนึ่งทั้งหญิงและชายไปยืนอยู่ใกล้ๆ พ่อใหญ่ประเพณี (ผู้ดำเนินการ) ก่อน มิฉะนั้นจะตอบไม่ถูก เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว พ่อใหญ่ประเพณีจะเอาฝ้ายมุงคุลทุกอย่างไว้ให้หมด แล้วจะหยิบต้นกล้วยขึ้นมาก่อน แล้วทำทีจะผูกต้นเสา พร้อมทั้งเอ่ยเสียงดังว่า "เอา(ผูก)บ่อนจุ๊กุ๊หมูสีนี่ล่ะนอ?" ชาวบ้านที่ยืนอยู่ใกล้ๆ จะร้องส่งเสียงดังว่า "บ่ บ่ เอา" พ่อใหญ่ประเพณีก็จะขยับไปที่กลางเสา พร้อมร้องถามอีกว่า "เอา(ผูก)บ่อนจิ๊กีหางนาคนี่ล่ะนอ?" ชาวบ้านจะร้องตอบอีกว่า "บ่ บ่ เอาดอก" และพ่อประเพณีก็จะเดินไปที่ใกล้ปลายเสาพร้อมทั้งเอ่ยอีกว่า "เอา(ผูก)บ่อนหง่าไม้ตากห้อยถงเงินนี่ล่ะนอ?" ชาวบ้านจะร้องพร้อมกันว่า "เออๆ เอาบ่อนนี่หล่ะ" พ่อประเพณีก็จะผูกต้นกล้วย ต้นอ้อย กิ่งคูณ กิ่งยอ และอักรวมไว้ที่นั่น
  • การผูกเสาขวัญ เมื่อเสร็จจากเสาแฮกแล้ว ก็จะเป็นการนำของมุงคุลทั้งหมดไปผูกเสาขวัญ ด้วยการดำเนินการเช่นเดิม โดยเริ่มที่โคนเสาก่อน พ่อใหญ่ประเพณีจะร้องถามว่า "เอา(ผูก)บ่อนงัวแม่ลายปลายเขาย่องนี่นอ?" ชาวบ้านจะร้องตอบว่า "บ่ บ่เอา" พ่อใหญ่ฯ จะเดินต่อไปที่กลางเสาแล้วร้องถามว่า "เอา(ผูก)บ่อนฆ้องเก้ากำ คำเก้ากลุ่ม นี่นอ?" ชาวบ้านจะตอบว่า "บ่ บ่เอา บ่อนนี่ดอก" พ่อใหญ่ฯ จะเดินต่อไปใกล้ปลายเสา พร้อมกับร้องว่า "เอา(ผูก)บ่อนอยู่ซุ่ม กินเย็นนี่นอ?" ชาวบ้านจะร้องตอบว่า "แม่นแล้ว เอาหม่องนี้หล่ะ" พ่อใหญ่ฯ ก็จะผูกของมุงคุลทุกอย่างตรงนั้น จากนั้นก็ดำเนินการยกเสาลงหลุมตามวิธีการต่อไป

คาถาสวดตอนยกเสาลงหลุม

ในการยกเสาลงหลุม นอกจากจะเขียนคาถาลงใส่ในหลุม และเอาของมุงคุลผูกที่เสาแล้ว ถ้ามีพระพอที่จะนิมนต์มาได้ ก็นิมนต์มาสวดชยันโต รดเสาตอนยกเสาลงหลุมด้วย แต่ถ้าไม่มีพระ ก็ให้พ่อใหญ่ประเพณีสวดคาถา พร้อมเอาน้ำมนต์รดเสาไปด้วย คาถาสวดรดให้ว่าดังนี้

  1. ว่า "นโม ตัสสะ ฯลฯ สัมมาสัมพุทธัสสะ" 3 จบ
  2. ให้สวดคาถาว่า "สิทธิชะโย ชะยะติ มาระกัง มะนุสสาปิ จะ สัพเพ เทวา จะ คันธัพพา ปูชะยันตา ปัตถยันติ ตัมปิ ตัสสานุภาเวนะ สัพเพ สัตตู วินาสันตุ สัพพาเสนา อุปักกะมุง อมทูเร ทูเร สะวะหายะ" สวดจบเดียวพอ

 

ข้อปฏิบัติก่อนยกเสาลงหลุม

ตอนที่เรายกเสาไปวางที่ปากหลุมนั้น นอกจากการสวดคาถาแล้ว โบราณอีสานท่านให้หันปลายเสาไปในทิศทางที่เป็นมงคล ซึ่งจะสอดคล้องกับเดือนต่างๆ ดังนี้

เดือนที่ปลูกบ้านเฮือนทิศที่ดีในการหันปลายเสา
เดือนอ้าย - ยี่ ให้หันปลายเสาไปทางทิศอีสาน เจ้าของบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข
เดือนสี่ - หก ให้หันปลายเสาไปทางทิศอาคะเนย์ เจ้าของบ้านจะมีโชคแล
เดือนเก้า ให้หันปลายเสาไปทางทิศหรดี จะเกิดความสงบสุขภายในบ้าน
เดือนสิบสอง ให้หันปลายเสาไปทางทิศพายัพจะเกิดความรุ่งเรือง
เดือนสาม, ห้า, เจ็ด, แปด, สิบ, สิบเอ็ด ไม่แนะนำให้ปลูกเฮือนเพราะเป็นเดือนต้องห้าม
ถ้าปลูกเฮือนปีวอก หรือ ปีระกา ให้เอาเทียน 3 เล่มไปผูกต้นเสาทางหัวนอนต้นใดก็ได้ จึงยกเสาลงหลุม


การตั้งบันไดบ้าน

บันไดทางขึ้นบ้านนั้น เราอาจจะเลือกทิศทางตั้งไม่ได้ตามทิศที่ดีตามโหราจารย์ท่านระบุ ด้วยสาเหตุของที่ดิน ทิศทางเข้าออก แต่ถ้าเลือกได้ควรจะเลือกให้อยู่ในทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ทิศอุดร (ทิศเหนือ) และทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) แต่ถ้าเลือกไม่ได้ ในวันขึ้นบ้านใหม่ให้หาบันไดสำรองพาดตัวบ้านตามทิศที่ดีนั้น แล้วกระทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ เมื่อเสร็จพิธีก็ให้รื้อบันไดสำรองออกเสีย

bulletการขึ้นเฮือนใหม่

เมื่อสร้างบ้านเฮือนสำเร็จเสร็จสิ้น โบราณอีสานจะต้องมีพิธีกรรมในการขึ้นเฮือนใหม่ เอาฤกษ์เอาชัยเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ซึ่งต้องคำนึงถึงทิศ และวันที่เหมาะสม พร้อมทั้งการถือสิ่งของอันเป็นมงคลขึ้นบ้านดังนี้

  • ขึ้นทิศบูรพา (ตะวันออก) ให้เอาเงินทองใส่ขันถือเดินขึ้นก่อนจึงจะมีลาภ
  • ขึ้นทิศอุดร (เหนือ) ให้ขนเอาของขึ้นก่อน จะอยู่เย็นเป็นสุข
  • ขึ้นทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ให้เอาของขาว เช่น งา ผ้าขาว หรือของขาวที่เป็นมงคลอย่างอื่นก็ได้ขึ้นก่อน จะดีและมีลาภ

วันขึ้นบ้านใหม่ตามโบราณนิยมจะเป็นวันพุธ พฤหัสบดี และวันศุกร์ จะอยู่เย็นเป็นสุข และอย่าลืมดูยามที่เป็นมงคลประกอบด้วย ก่อนเวลาจะขึ้นบ้านใหม่จะแบ่งกลุ่มคนที่มาร่วมงานออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มีจำนวนมากจะทำหน้าที่เป็นเจ้าของบ้านอยู่กับบ้าน ให้เตรียมตุ่มใส่น้ำพร้อมกระบวย เอาใบกล้วยมาวางไว้ที่ดินตรงทางขึ้นบันได เอาหินมาทับไว้แล้วคอยดูอยู่ อีกกลุ่มหนึ่งมีประมาณ 3 คน เป็นชายหนึ่ง หญิงสอง ผู้ชายเป็นหัวหน้าใหญ่ใส่กุบเกิ้ง (หมวกงอบใหญ่) พายถงย่ามใบใหญ่ ในถงนั้นจะมีสิ่ว ฆ้อน ของค้ำคูณที่เป็นมงคลเช่น คุด เขา นอ งาช้าง เป็นต้น ส่วนผู้หญิงสองคนนั้นจะหาบกระบุงสายยาว หรือกระต่า แต่งตัวด้วยผ้าถุงใส่งอบ และใส่เสื้อดำจุบคาม ในกระบุงที่หาบมาจะมีเงิน ทอง เสื้อ และของกินทุกอย่าง

พอได้เวลาหัวหน้าจะถือไม้เท้าและใส่กุบเกิ้งพายถงเดินออกหน้า พอมาถึงบ้านแล้วจะยืนมองดูนิดหนึ่ง แล้วพาลูกหาบหญิงทั้งสองเดินเวียนขวา (ให้บ้านอยู่ด้านขวามือ) 3 รอบ มาหยุดยืนอยู่ที่บันได ยังไม่ขึ้น พวกที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งคอยจ้องอยู่แล้ว ก็ทำท่าขึงขังร้องถามออกไปว่า

  เจ้าของบ้าน เฮ้ย แม่นไผ หาบกระดอนคอนกระต่า ขนข้าวของสิไปไส?
พ่อพราหมณ์ โอย พวกข้าน้อย มาแต่เมืองหมั่นคำทองพุ้นดอก ได้ยินข่าวว่า ลูกหลานปลูกเฮือนใหม่ใส่หญ้าเต็ม ว่าสิมาค้ำมาคูณให้ ความเจ็บบ่ให้ได้ ความไข้บ่ให้มี ให้อยู่ดีมีแฮง บ่ให้ทุกข์ บ่ให้ยาก บ่ให้อึดให้อยาก บ่ให้ขาด บ่ให้เขิน จักอันจักแนว
เจ้าของบ้าน เออ คันสิมาค้ำมาคูณ ให้ลูกหลานคือว่านั่นได้หยังมาแหน่?
พ่อพราหมณ์ ได้มาพร้อมเหมิดสู่อย่างสู่แนวนั่นหล่ะ
เจ้าของบ้าน กุบส่องฟ้า ผ้าส่องดาว ได้มาบ่?
พ่อพราหมณ์ ได้มา
เจ้าของบ้าน ข้อยข้าหญิงชายได้มาบ่?
พ่อพราหมณ์ เออ ข้อยข้า หญิงชาย เครื่องใช้ไม้สอย เงินคำ ถ้วย บ่วง ข่วง จอง ข้าวน้ำ ถ้ำปลา (ไหปลาแดก) แก้วแหวนแสนสิ่ง แม่นได้มาเหมิด
เจ้าของบ้าน ของอยู่ของกินได้มาบ่?
พ่อพราหมณ์ ได้มา
เจ้าของบ้าน เหล้ายา ปลาปิ้ง ได้มาบ่?
พ่อพราหมณ์ ได้มา
เจ้าของบ้าน ความบ่อึด บ่อยาก บ่ทุกข์ บ่ยาก บ่ไข้ บ่หนาว ได้มาบ่?
พ่อพราหมณ์ ได้มา
เจ้าของบ้าน เออ คันเพิ่นมาค้ำมาคูณบ่ให้เจ็บ บ่ให้ไข้ บ่ให้อึด บ่ให้อยาก บ่ให้ทุกข์ บ่ให้ยากหยังจักแนวกะเชิญขึ้นมาพี้

จากนั้นพวกแขก หรือพ่อพราหมณ์ที่มาแต่เมืองมั่นคำทอง ก็จะเหยียบหินและล้างเท้า แล้วจึงก้าวขึ้นบ้าน เอาถงไปห้อยไว้ที่เสาแฮก ถงนี้จะเอาไว้ 7 วันจึงจะเอาออกได้ แต่ก่อนห้อยพ่อพราหมณ์จะหยิบเอาสิ่วกับฆ้อนออกมาจากถงย่าม แล้วเอาฆ้อนตีสิ่วเพื่อห้อยถง 7 ครั้ง และว่าคำค้ำคูณแต่ละครั้งดังนี้

"ตอกบาดหนึ่ง ให้ได้ฆ้องเก้ากำ ตอกบาดสอง ให้ได้คำเก้าหมื่น ตอกบาดสาม ให้ได้เล้าข้าวหมื่นมาเยีย ตอกบาดสี่ ให้ได้เมียสาวมานอนพ่างข้าง ตอกบาดห้า ให้ได้ช้างมาเทียมโฮง ตอกบาดหก ให้ได้ชายโถงมานอนเฝ้าเล้าข้าว ตอกบาดเจ็ด ให้ได้ผู้เฒ่ามานอนเฝ้าเฮือน โอมอุอะมุมะมูนมามหามูลมังสวาหุม" ตอกแล้วกะเอาถงห้อยไว้

การปูที่นอนต้อนรับ

ต่อจากนั้นทางฝ่ายเจ้าของบ้านก็จะบอกฝ่ายตนว่า "ไปเอาสาดเอาหมอนมาปูที่นอนต้อนรับพ่อใหญ่และพี่น้องที่แต่เมืองมั่นคำทองแม้สู" แล้วก็เอาสาดเอาเสื่อมาปูใกล้เสาห้อยถง และหันหัวไปทางห้อยถง ปูเสร็จแล้วกะเชิญพ่อใหญ่เมืองมั่นคำทองพักนอน

พ่อใหญ่ฯ จะนอนเอาผ้าคลุมหัวตลอดเท้า เจ้าของบ้านก็นอนเอาผ้าคุมหัวจดเท้าเช่นเดียวกัน แล้วทุกคนต้องทำเป็นล้มตัวลงนอนหลับพักผ่อน นอนกรน คร๊อกๆ สักครู่ให้คนใดคนหนึ่งส่งเสียงขันเช่นดังไก่ขัน 2 - 3 ครั้ง พ่อใหญ่และเจ้าของบ้าน รวมทั้งคนอื่นๆ ก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกัน

เจ้าของบ้านจะแก้ความฝันว่า "ฝันคืนนี้ฝันดีมีลาภ ฝันว่า พ่อใหญ่เอาไข่มาป้อนปันให้แต่เฮา เบิดกระบวน แล้วคนเมือเหมิดอ่อนฮ่อย ฝันว่านางนารถน้อยจูงแขนเข้าบ่อนนอน" เมื่อแก้ความฝันแล้วพ่อใหญ่มาแต่เมืองมั่นคำทอง ก็จะให้พรว่า "เออ นอนหลับให้เจ้าได้เงินพัน นอนฝันให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน มือแปนให้เจ้าได้แก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาน มารฮ้ายอย่ามาเบียน โอมสหมฯ"

ต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านเป็นมงคล

  1. ต้นไผ่ ต้นกุ่ม ปลูกทางทิศตะวันออก ท่านว่าป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ดีนัก
  2. ต้นยอ ต้นสารภี ปลูกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ท่านว่าป้องกันเสนียดจัญไร ดีนัก
  3. ต้นมะม่วง มะพลับ ปลูกทางทิศใต้ ท่านว่าป้องกันคนมาต้มตุ๋นได้ดีนัก
  4. ต้นขนุน (หมากมี่) ต้นคูณ ปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ท่านว่าป้องกันการใส่ร้ายป้ายสีดีนัก
  5. ต้นมะยม ต้นมะขาม ปลูกทางทิศตะวันตก ท่านว่าป้องกันการมีคดีความ การลอง การใส่ทางไสยศาสตร์ดีนัก
  6. ต้นมะกรูด มะนาว ส้มเขียวหวาน ปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ท่านว่าป้องกันคนมาปองร้ายได้ดีนัก
  7. ต้นหมากทัน (พุทรา) หมากสีดา (ฝรั่ง) ปลูกทางทิศเหนือ ท่านว่าป้องกันคาถาอาคมที่คนจะนำมาทำร้ายได้ทุกชนิดดีนัก
  8. ท่านให้ขุดสระไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกต้นไม้ที่เป็นหนาม เช่น หมากมี่ ท่านว่าจะป้องกันโรคระบาดดีนักแล

huan isan 02

คำว่า “บ้าน" กับ “เฮือน” (ความหมายเช่นเดียวกับ “เรือน”) สำหรับความเข้าใจของชาวอีสานแล้วจะต่างกัน คำว่า “บ้าน” มักจะหมายถึง “หมู่บ้าน” มิใช่บ้านเป็นหลังๆ เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านนาคำแคน หรือบ้านดงมะไฟ เป็นต้น ส่วนคำว่า “ เฮือน” นั้นชาวอีสานหมายถึงเรือนที่เป็นหลังๆ นอกจากคำว่า “เฮือน“ แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า “โฮง” หมายถึงที่พักอาศัยใหญ่กว่า “เฮือน” มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ

คำว่า “คุ้ม” หมายถึง บริเวณที่มี “เฮือน” รวมกันอยู่หลายๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัว เป็นต้น คำว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้

ชาวอีสานมีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่า หากสร้างเรือนให้ “ขวางตาเว็น” แล้วจะ “ขะลำ” คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุขบริเวณรอบๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีการตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อ แคร่ไว้ปั่นด้วย และเลี้ยงลูกหลาน นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน 

yok sao ake 2

การตั้งเสาเอกและกำหนดฤกษ์ดี (อีกตำรับหนึ่ง)

พิธีการยกเสาเอกของบ้าน เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการก่อสร้างบ้าน อาคาร สำนักงาน และอื่นๆ อีกมากมาย คนไทยเรามักจะหาผู้มีความรู้ในพิธีการขึ้นเสาเอกมาช่วยในการทำพิธี ซึ่งก็มีหลายตำรับตามแต่ละท้องถิ่น เราสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมได้ (ทุกตำรับล้วนแต่มีเคล็ลับ ความเชื่อดีๆ ทั้งนั้น) ทำไมต้องทำ ถ้าจะทำมีวิธีการ หรือต้องเตรียมการอย่างไร ไม่ยากครับทำตามนี้เลย

  1. เพื่อความเป็นศิริมงคลของบ้าน และคนที่อยู่อาศัยในบ้าน ทั้งนี้เพราะ เป็นการบอกกล่าว และขอขมาต่อเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าแม่ธรณี ที่เรามารบกวน ขอพื้นที่ปลูกสร้างบ้าน และขอความเป็นศิริมงคล แก่ผู้อยู่อาศัย
  2. เพื่อให้การก่อสร้างบ้านและอาคารนั้น สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เนื่องจากเมื่อทำพิธีไปแล้ว ช่างและคนงานก่อสร้าง ก็จะมีความมั่นใจ และสามารถทำงานได้เต็มที่ โดยทั่วไป แม้จะไม่มีพิธีการทำเสาเอก ช่างและคนงานก่อสร้างก็มักจะมีการขึ้นโต๊ะทำพิธีขอขมาต่อเจ้าที่เจ้าทางต่างๆเองอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการทำพิธีขึ้นเสาเอกด้วย ก็จะยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น
  3. ในการทำพิธีมีเกร็ดและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นมงคล และบางสถานที่ ก็อาจมีการเชิญพราหมณ์ หรือเชิญพระมาช่วยดำเนินการให้ด้วย จึงถือเป็นพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายมาก
  4. หาฤกษ์ขึ้นเสาเอก ทั้งนี้อาจกำหนดว่าจะปลูกในเดือนใด ก็ติดต่อผู้รู้เพื่อขอฤกษ์ในการทำพิธี ซึ่งโดยปกติฤกษ์นั้น จะต้องนำวันเดือนปีเกิด ของเจ้าบ้าน ไปทำการตรวจเช็ค และหาวัน และเวลาที่เป็นมหามงคลให้ พร้อมทั้งกำหนดตำแหน่งของเสา ที่จะทำพิธีเสาเอก ซึ่งเมื่อได้มาแล้ว ก็เตรียมหาของในการทำพิธี และอาจให้ผู้รับเหมาช่วยจัดหาให้ ด้วยดังนี้
  5. การเตรียมพิธีขึ้นเสาเอก ทางผู้รับเหมา ต้องทำการตอกเสาเข็มแล้วเสร็จทั้งหมดก่อน แต่ถ้าฤกษ์รอไม่ได้ ก็ต้องตอกเสาเข็มในหลุมของเสาเอกนั้นให้เสร็จเรียบร้อยก่อน
  6. ทางผู้รับเหมา ต้องทำการขุดหลุมเสาเอก และปรับระดับดินให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมทำพิธี และผูกโครงสร้างเหล็กของเสาเอกต้นนั้นให้เสร็จก่อน โดยให้ใช้เหล็กที่มีความสูงจากส่วนของฐานราก ขึ้นมาถึงพื้นชั้นสอง ซึ่งโดยปกติ จะมีความยาว ตั้งแต่สามเมตรขึ้นไป แล้วรอไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้ อย่างน้อยต้องทำเสร็จเรียบร้อยก่อนทำพิธีหนึ่งวัน
  7. ของมงคลที่เจ้าของบ้านต้องจัดหา หรือให้ผู้รับเหมาจัดหาให้ มีดังนี้ (หาได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่ถ้าหาได้ครบก็ดี)
    • เหรียญทอง เงิน อย่างละ 9 เหรียญ
    • ทรายเสก 1 ขัน
    • น้ำมนต์ 1 ขัน (พร้อมกำหญ้าคา 1 กำ)
    • ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วนเล็ก
    • ทองคำเปลว 3 แผ่น
    • ผ้าแพรสีแดง หรือสามสี ห่มเสา หรือผ้าขาวม้า 1ผืน
    • หน่อกล้วย อ้อย อย่างละ 1 หน่อ
    • ไม้มงคล 9 ชนิด (ถ้าประสงค์)
    • แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ 1 แผ่น
    • ข้าวตอกดอกไม้ 1 ขัน

ให้นำหน่อกล้วย และอ้อย อย่างละหน่อ พร้อมผ้าสามสี และ/หรือผ้าขาวม้า มาผูกติดกับเสาต้นที่จะทำพิธีขึ้นเสาเอก ซึ่งอาจให้ช่างหรือคนงานเป็นคนจัดการให้ แต่บางที่เจ้าของบ้านก็จะทำการผูกเองขั้นต้นเพื่อความเป็นมงคล ซึ่งต้องผูกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนฤกษ์ขึ้นเสาเอก ไม่งั้นจะไม่ทันหลังจากนี้ จะเป็นพิธีที่จะทำในวันขึ้นเสาเอก ซึ่งเราอาจเชิญพราหมณ์มาทำพิธีให้ ซึ่งเราก็เพียงตั้งโต๊ะรอ ของพิธีในส่วนของพราหมณ์ ท่านจะนำมาเอง หรือเราอาจเชิญพระที่วัดใกล้บ้านมาช่วยทำพิธี ซึ่งถ้าเชิญพระมา เราต้องตั้งโต๊ะและจัดจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ 1 ชุด และอาจจัดหาอาหารสำหรับฉันก่อนเพล แจ้งให้ท่านทราบ หรืออาจให้ผู้ใหญ่ที่เรานับถือมาเป็นประธานในพิธีก็ได้ หรือตัวเจ้าของบ้านเองเป็นหลัก และผู้อยู่อาศัย ถ้าครบทุกคนก็จะดีมาก

การตอกไม้มงคล 9 ชนิดในหลุมเสาก่อสร้างบ้าน

การตอกไม้มงคล 9 ชนิดในหลุมเสาก่อสร้างบ้าน

ลำดับพิธีการ

  1. วางสายสิญจน์ เริ่มจากโต๊ะบูชาไปบริเวณสถานที่ก่อสร้างเข้าสู่เสาเอก (ก่อนเวลาฤกษ์พอสมควร)
  2. เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานเพื่อเกิดสิริมงคล กราบพระ
  3. ไปที่หลุมเสาเอก เจ้าภาพตอกไม้มงคล 9 ชนิด ลงไปในหลุม
  4. วางแผ่นทอง นาก เงินในหลุมเสาเอก
  5. นำใบทอง นาก เงิน และเหรียญทอง เงิน ลงก้นหลุมแล้ว
  6. นิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์ โปรยทรายเสกที่หลุมเสา เจิมและปิดทองเสาเอก ซึ่งเราผูกหน่อกล้วย อ้อย และผ้าสีแดงหรือผ้าขาวม้าที่เสาเอก เรียบร้อยแล้ว
  7. ถือด้ายสายสิญจน์ พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี ช่างช่วยกันยกเสาเอก จนตั้งเรียบร้อย (ขณะยกเสานั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา)
  8. เจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงหลุมเสาเอก พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี
  9. เจ้าภาพอาจเตรียมเหรียญไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อผ่านพิธีแล้ว ให้ทำการโปรยไปรอบบ้าน เพื่อให้คนทั่วไปเก็บไปเป็นเงินก้นถุง เพื่อความเป็นศิริมงคล
  10. ช่างและคนงานจะทำการตีไม้รัดเสาเอกที่หลุม ตีแบบให้เรียบร้อยแล้วผสมปูนหรือคอนกรีต เพื่อทำการเทคอนกรีตหลุมเสาเอก โดยให้เจ้าของบ้าน เจ้าภาพ หรือผู้ใหญ่ที่นับถือ เป็นคนเทถังแรก ลงไปในหลุม คนในบ้านช่วยกันอีกในถังต่อมา หลังจากนั้นให้ช่างและคนงานเทต่อ และปาดปูนให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จพิธี

yok sao ake 3

ซึ่งในพิธีของทางพราหมณ์ อาจมีลำดับขั้นตอนที่เพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงจากนี้ โดยให้ทางพราหมณ์เป็นผู้กำหนด ของที่ใส่ลงไปในหลุม สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ทั่วไป อย่างไรก็ดี การขึ้นเสาเอก อาจถือเพียงฤกษ์ของวันและเวลาที่เป็นมงคล ส่วนการเตรียมของนั้น อาจไม่ต้องครบมากก็ได้ หาได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้น และทำตามพิธีได้มากน้อยแค่ไหน ก็แค่นั้น อย่างน้อยที่สุดให้ถือฤกษ์วันและเวลา พร้อมไม้มงคลทั้งเก้าชนิด ตอกลงไปในหลุมสาเอกแค่นี้ก็พอได้

กว่าจะเป็นกระท่อมน้อยของทิดหมู มักม่วน ใช้เวลาข้ามปีเลยครับ
กระท่อมน้อยของอ้ายทิดหมู มักม่วน ตอนกำลังก่อสร้าง (ปี พ.ศ. 2554)

ปีที่ปลูกเรือนเสริมสิริมงคล

  • ปลูกเรือนปีชวด
    ยกเสาเอก จงเอาไม้ราชพฤกษ์ปักเสามุมแรก ก่อนยกเสาเอกเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย และโปรยดอกไม้ 3 สี สีที่เป็นสิริมงคล ดอกกุหลาบ ดอกรัก ดอกพุทธ และบวงสรวงด้วย กล้วยที่เป็นมิ่งขวัญปีเกิด จะทำให้ อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญขึ้นนักแล
  • ปลูกเรือนปีฉลู
    ยกเสาเอก จงเอากล้วยและผ้าขาว พันเสาเอก เอากิ่งมะตูม 3 กิ่ง ปักที่เสาเอก และบวงสรวงด้วยลูกตาล ขนมฝอยทอง จะทำให้มีแต่สิ่งดีๆ เข้าบ้านและมีความสุขความเจริญ
  • ปลูกเรือนปีขาล
    ยกเสาเอก จงเอาข้าวสุก 3 กระทง และน้ำ 3 ขัน ขันเงิน ขันทอง ขันนาก รดที่ต้นเสาก่อนแล้วโปรย ดอกไม้ 3 ชนิด ดอกดาวเรือง ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย เพื่อเป็นเคล็ดให้ร่ำรวย อยู่เย็นเป็นสุข
  • ปลูกเรือนปีเถาะ
    ยกเสาเอก จงเอาใบตะเคียน ใบเฉียง ใบพร้าหอม ต้นกล้วย 1 ต้นห่อปลายเสา แล้วบวงสรวงด้วย หมูย่าง ปลายำ จะทำให้รุ่งเรืองนักแล
  • ปลูกเรือนปีมะโรง
    ยกเสาเอก จงเอาใบมะกรูด และกำยานพันปลายเสาก่อนแล้วจึงยกเสาเอก แล้วโปรยดอกไม้มงคล 7 ชนิด ดอกรัก ให้รักใคร่กัน ดอกดาวเรือง ให้เจริญรุ่งเรือง ดอกบัว ให้มีคนนับถือ ดอกกุหลาบ ให้สุขสด ชื่น ดอกบานไม่รู้โรย ให้มั่งมีอย่างไม่รู้โรย ดอกพุทธ ให้พระคุ้มครอง ดอกมะลิ ให้อยู่เย็นเป็นสุข อธิษฐาน จะทำให้ร่ำรวย มั่งมี เป็นสุขตลอดไป
  • ปลูกเรือนปีมะเส็ง
    ยกเสาเอก จงเอาใบสิงห์ 2 กิ่ง ผูกที่ปลายเสา และข้าว 3 กระทง ธูปเทียนจุดบูชา ทั้งบูชาดอกกุหลาบ พวงมาลัย มะลิสด ดอกรัก น้ำเย็น 6 ขัน แล้วพูดว่า มั่ง มี ศรี สุข ใช่ จึงยกเสาเอก จะทำให้รุ่งเรืองขึ้น
  • ปลูกเรือนปีมะเมีย
    ยกเสาเอก จงเอาใบขี้เหล็ก กวาดตั้งแต่ปลายเสาลงมาถึงโคนเสา 3 ครั้งแล้วเอาน้ำรดปลายเสา ให้อด ใจรอจนถึงเวลาไก่ขัน และบวงสรวง กล้วย มะพร้าว ส้ม จงลงเสาเอก จึงจะร่มเย็นเป็นสุข
  • ปลูกเรือนปีมะแม
    ยกเสาเอก จงเอาใบเงิน 3 ใบ หมากผู้ 3 ใบ หมากเมีย 3 ใบ แล้วเอาใบทั้งกล้วยอ้อยใส่ลงไปในหลุม ก่อน แล้วจึงยกเสาเอก แล้วบวงสรวง กล้วย อ้อย มะพร้าว ขอพรจะเสริมสิริมงคลให้มีโชคลาภตลอดไป
  • ปลูกเรือนปีวอก
    ยกเสาเอก จงเอาเทียน 3 เล่มแปะทองผูกข้างเสาด้านหัวนอนก่อน และนำใบเงิน ใบทอง ใบนาก ลงฐานหลุมแล้วจึงยกเสาเอกจะทำให้มั่งมี ศรีสุข ตลอดกาล
  • ปลูกเรือนปีระกา
    ยกเสาเอก จงเอาข้าวตอกกับใบบัวบก มาใส่รองรับเอาไว้ในหลุมเสาเอก และเสารอง หรือใส่ให้ครบ 4 ทิศ จะเสริมมงคลให้อยู้ร่มเย็นเป้นสุข และบวงสรวงด้วย ข้าว แกง แอปเปิล ดอกบัวหลวงขอพร จะทำให้มั่งมีศรีสุข
  • ปลูกเรือนปีจอ
    ยกเสาเอก จงเอาข้าวตอกกับใบบัวบก มาใส่รองรับเอาไว้ในหลุมเสาเอก หรือใส่ให้ครบ 4 ทิศ และบูชาด้วยดอกบัวเหลวง จะทำให้มีคนอุปถัมภ์ดีนักแล
  • ปลูกเรือนปีกุน
    ยกเสาเอก จงเอาดอกชบา 1 ดอกและดอกบัวอีก 1 ดอก ใส่หลุมเสาเอก แล้วลงเสาเอก ฤกษ์ 9.09 น. จะทำให้มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

กระท่อมน้อยของทิหมู มักม่วน
กระท่อมน้อยของอ้ายทิดหมู มักม่วน เสร็จเรียบร้อยต้นปี พ.ศ. 2555

line

 backled1

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)