![]()
|
วันนี้นำเสนอศิลปินนักวาดภาพการ์ตูนสักคนครับ ด้วยเป็นเรื่องร่วมสมัยกับผมด้วย คือเป็นแฟนคลับการ์ตูนภาพสวยๆ ในยุคนั้น สถานที่เรียนของศิลปินและทำงานอยู่ในช่วงแรกๆ ก็อยู่แถวๆ ข้างบ้านที่ผมมาอยู่เพื่อเล่าเรียนเขียนอ่านช่วงประถมศึกษา ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นั่นเอง (ผมเรียนที่ เทศบาลวารินวิชาชาติ ตอนประถม มาต่อมัธยมที่โรงเรียนสงเคราะห์ศึกษา ใกล้ๆ กับโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ประมาณ 500 เมตร ผมเดินผ่านทุกวัน) เขาผู้นั้นคือ
เตรียม ชาชุมพร เกิดที่ บ้านหนองหวาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบ้านหนองหวาย แล้วไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3)
ระหว่างที่เรียนในช่วงปลาย ม.ศ. 3 เตรียมก็ได้รู้จักกับ จุลศักดิ์ อมรเวช (หรือ จุก เบี้ยวสกุล "น้าหมู") นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ที่เขาเรียนอยู่ จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของจุก เบี้ยวสกุล กระทั่งเมื่อจบ ม.ศ.3 แล้ว เตรียมจึงได้ทำงานเป็นครูผู้ช่วยสอน และสอบได้วาดเขียนโท โดยเขาสอนหนังสือและเขียนการ์ตูนไปด้วย
คุณอำพล เจน (นักเขียนการ์ตูนร่วมสมัยกับ เตรียม) เล่าว่า "พูดแบบลุกทุ่งก็คือ เตรียม ชาชุมพร เป็นคนที่ถูกปั้นขึ้นมาด้วยมือด้วยตีนของ ครูจุก เบี้ยวสกุล (น้าหมู)
สมัยที่น้าหมูยังอยู่โรงเรียนสิทธิธรรม วารินฯ เตรียมก็มาอยู่ด้วย หัดเรียนเขียนวาดจนเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัวแล้ว (วาดการ์ตูนส่ง ท้อปป๊อบ) น้าหมูเห็นว่า เตรียมยังมีเวลาว่างอยู่มากก็ให้เตรียมไปเป็นครูสอนวาดเขียนให้เด็กๆ ในโรงเรียนเป็นงานอดิเรกด้วย
นักวาดการ์ตูน "กลุ่มเบญจรงค์" จากซ้าย พี่โอม พี่สมชาย พี่เตรียม พี่พล พี่เฉลิม
เมื่อใดที่ผมว่างจากงานที่กรุงเทพฯ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่อุบลฯ ก็จะตรงไปหาน้าหมู และเตรียมที่โรงเรียนสิทธิธรรมทุกครั้ง เตรียมกำลังสอนเด็กๆ อยู่หน้ากระดานดำ เหลือบเห็นผมเดินผ่านหน้าห้องจะตรงไปหาน้าหมู ก็จะรีบปุบปับกุลีกุจอประกาศเสียงดัง ชนิดที่ว่าหูตึงๆ แบบผมยังได้ยินชัดแจ๋ว"
“นักเรียนเอากระดาษดินสอขึ้นมาวาด..(อะไรสักอย่าง) ครูจะไปธุระ”
แล้วก็โดดร่มออกมาหาผม ไปกินก๊วยเตี๋ยวเที่ยวกันทั้งวัน “ไม่กลัวน้าหมูตัดเงินเดือนเรอะ” ผมถามแล้วเตรียมตอบกลับมา “กูไม่มีเงินเดือนให้ตัดอยู่แล้วโว้ย”
เมื่อฝีมือการวาดเขียนใช้ได้ จุก เบี้ยวสกุล จึงนำงานการ์ตูนของเตรียมไปเสนอให้ทีมงานหนังสือการ์ตูน "ท้อปป๊อป" ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนแนวนิยายภาพ พิจารณาตีพิมพ์ เตรียม ชาชุมพร จึงได้เปิดตัวครั้งแรกในหนังสือ "ท้อปป๊อป" ด้วยเรื่อง "มังกรผยอง" นิยายภาพแนวเรื่องจีนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานั้น แต่ได้ลงพิมพ์เพียงตอนเดียวเท่านั้น เนื่องจาก "ท้อปป๊อป" ได้ปิดตัวเองลงในเวลาต่อมา
พี่เตรียม พี่สมชาย พี่เฉลิม พี่โอม
เมื่อน้าหมูอพยพโยกย้ายเข้ากรุงเทพฯ ก็ทิ้งเตรียมไว้ที่อุบลฯ โดยน้าหมูลงมือทำหนังสือ "หนุ่ม 74" ให้กับสำนักพิมพ์จักรวาล (สี่แยกพิชัย..ซอยนรอุทิศ) ได้สักพักใหญ่ๆ เตรียมซึ่งทนอยู่อุบลฯ ตามลำพังไม่ได้ ก็ตามมาหาน้าหมูถึงกรุงเทพฯ มาที่ออฟฟิศ หนุ่ม74 เลยครับ การเข้ากรุงในครั้งนั้น เตรียมไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง หวังพึ่งน้าหมู แต่น้าหมูไม่เล่นด้วย ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรกันหรือเปล่า ท่านบอกกับเตรียมสั้นๆ ว่า “ปีกกล้าขาแข็งแล้วให้บินเอง”
เตรียมนั่งซึมอยู่ที่โซฟารับแขกในออฟฟิศจนเลิกงาน ทุกคนทยอยกลับบ้านกันหมด รวมทั้งน้าหมูด้วย เหลือแค่ผม (อำพล เจน) คนเดียวที่ยังต้องทำงานเร่งด่วนต่ออีกหน่อย ผมเลยถามว่า “มึงจะไปนอนที่ไหนล่ะวะ“ เตรียมตอบสั้นๆ เหมือนพึมพำในลำคอว่า “บ่ฮู้”
ผมก็ยังงงๆ เลยถามต่อ “บ่ฮู้นี่แปลว่าอะไรวะ” เตรียมกล่าวเศร้าๆ ว่า “ว่าจะมาอยู่กับน้าจุก..”
สถานการณ์ตอนนั้นบีบบังคับให้ผมต้องเป็นที่พึ่งให้เตรียมแล้วครับ “กูนอนอยู่บ้านพี่สุนทร (ผู้จัดการโรงพิมพ์จักรวาล) มึงนอนกะกูได้บ่ล่ะ”
บ้านพี่สุนทรที่ผมอาศัยอยู่นั้น อยู่ริมคลองแถวๆ สามเสน พี่สุนทรยกเรือนคนใช้ให้ผมอยู่อาศัยโดยไม่เสียเงิน แต่มีเงื่อนไขให้ผมต้องดูแลหมาโดเบอร์แมนตัวหนึ่ง เอามันมานอนด้วย ผูกไว้กับขาเตียง พอเช้าก็พามันไปขี้เป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ซุกหัวนอน เตรียมก็เลยต้องมานอนดมเยี่ยวหมาอยู่กับผม ..ผลัดกันจูงหมาไปขี้กับสลับกับผม ถือเป็นกิจที่ต้องทำระหว่างนอนพักอยู่บ้านริมคลองนั้น
ในที่สุดผมก็เห็นว่า ที่นี่ไม่เหมาะสำหรับเตรียม... จะทำงานหรือทำอะไรส่วนตัวไม่สะดวกอย่างยิ่ง จึงชวนเตรียมออกไปหาบ้านเช่าอยู่ด้วยกัน
ผมพาเตรียมไปเช่าหอพักอยู่ในซอยวัดสังกัจจายน์ฝั่งธนฯ ถิ่นเก่าของผม และยังมีเพื่อนเรียนเพาะช่างอีกหลายคนเช่าอยู่หอเดียวกันนั้น พอให้เตรียมคลายเหงา ระหว่างนั้นเตรียมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหารายได้ ต้องมีงานทำ โดยการนำผลงานของเขาไปเสนอต่อ อาจ่รย์วิริยะ สิริสิงห ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดทำนิตยสาร “ชัยพฤกษ์ ฉบับวิทยาศาสตร์” ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช อาจารย์วิริยะ จึงมอบหมายให้เตรียมเขียนนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ โดยอาศัยการ์ตูนคอมมิคของต่างประเทศเป็นต้นแบบ และใช้นามปากกาว่า “ตรี นาถภพ” ต่อมา ณรงค์ ประภาสะโนบล (พี่รงค์) จึงได้ดึงตัวไปช่วยงานที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” และ “ตู๊นตูน” ซึ่งเป็นหนังสือในเครือสำนักพิมพ์เดียวกัน
ที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” แห่งนี้เอง ที่ศักยภาพของเตรียมได้เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ ทำให้ฝีมือของเตรียมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการนักวาดการ์ตูนในยุคนั้น
กับการ์ตูนเรื่องแรกหรือจะเรื่องที่สอง ผมก็จำไม่ได้แม่น อาจเขียนไปก่อนแล้วสักเรื่องสองเรื่องก็ได้ แต่ไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร เตรียมก็หันหน้ามาปรึกษาผม ผมเลยแนะนำว่า
“กูมีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากให้มึงเขียน จะเหมาะกับหนังสือชัยพฤกษ์ด้วย”
“เรื่องอิหยังล่ะหวา”
“เรื่องนี้นะ.. กูเองอยากเขียนใจแทบขาด แต่กูไม่มีปัญญาเขียนดอก มันบ่ใช่สไตล์กู เรื่องนี้กูว่ามึงคนเดียวที่เหมาะสมสุดๆ”
“เรื่องอิหยังหวา”
ผมพาเตรียมไปวงเวียนใหญ่ จำได้ว่าเคยเห็นหนังสือพ้อคเก็ตบุ้คที่มีเรื่องดังกล่าวนี้ ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือนั้นวางขายอยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือ "รวมเรื่องสั้นของ มน เมธี" คลับคล้ายคลับคลาว่าชื่อ ”น้ำใจไหลเชี่ยว” นึกลุ้นว่า จะมีใครชิงซื้อตัดหน้าไปก่อนหรือเปล่า
มน เมธี เป็นนามปากกาของ มานี ศุกรสูยานนท์ เป็นนักเขียนรุ่นเดียวกับ สุวรรณี สุคนธา น่าเสียดายที่ท่านกินยานอนหลับฆ่าตัวตายไปตั้งแต่ปี 2512 ก็ไปรื้อๆ ค้นๆ ที่ร้านขายหนังสือเก่าข้างวงเวียนใหญ่ ค้นแค่เดี๋ยวเดียวก็เจอ หนังสือเล่มนั้นมีเรื่องสั้นชื่อว่า..”รุ่นกระทง” ปนอยู่กับอีกหลายๆ เรื่อง
ผมบอกเตรียมว่า... “มึงเขียนเรื่องนี้เลย”
เตรียมเชื่อผม หยิบเอา "รุ่นกระทง" ไปเขียนขึ้นเป็นนิยายภาพ แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ตามกระแสหนังดังตอนนั้น คือหนังที่เกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน หนังชื่อ Melody ซึ่งมี แจ็ค ไวลด์, มาร์ค เลสเตอร์, และเทรซีย์ ไฮด์ เป็นดารานำแสดง
หลังจากเรื่อง ”เพื่อน” ตีพิมพ์ เตรียม ชาชุมพร ก็ดังขึ้นมาทันที ราวกับสวรรค์วางแผนไว้ให้ ต่อจากนั้นเตรียมเริ่มมีเพื่อนมากขึ้น ไม่เหงา และเริ่มคุ้นเคยกับกรุงเทพฯ ผมก็หมดหน้าที่พี่เลี้ยงไป
ต่อมาเมื่อนิยายภาพเรื่อง “เพื่อน” ได้ตีพิมพ์ใน "ชัยพฤกษ์การ์ตูน" (นิยายภาพเรื่องนี้ เตรียมเขียนโดยใช้ชื่อ-นามสกุลจริง) ชื่อเสียงของเตรียมก็ยิ่งเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยนิยายภาพชุดนี้มีเค้าโครงมาจากเรื่องสั้นชื่อ “รุ่นกระทง” ของ “มน เมธี” เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราว ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายชาวชนบทกับเด็กหญิงชาวกรุง ที่มีโอกาสได้รู้จักกัน และได้ใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ร่วมกันท่องไปในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของท้องไร่ท้องนา ก่อนจะจากกันในท้ายที่สุด จุดเด่นของนิยายภาพชุดนี้คือ บรรยากาศชนบทที่เตรียมรังสรรค์ได้อย่างงดงาม ชวนประทับใจ จากประสบการณ์ที่อยู่ในชนบทมาตั้งแต่วัยเด็ก และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาในเวลาต่อมา โดยเฉพาะช่วงปี 2520 - 2521 นับเป็นยุคทองของ เตรียม ชาชุมพร อย่างแท้จริง งานของเขาไปปรากฏอยู่ในหนังสือการ์ตูนมากมาย หลากหลายหัว ไม่เว้นแม้แต่บนปกการ์ตูนเล่มละบาท ที่สำนักพิมพ์หวังขายชื่อของ "เตรียม ชาชุมพร" ตามกระแสนิยม
ดำรงค์ แนวสีนาค กล่าวถึง เตรียม ชาชุมพร ในตอนที่เขียนการ์ตูนเรื่อง "โสนน้อย" ว่า "พี่เตรียม เขียนภาพประกอบเรื่องนี้ แกไปถ่ายชีวิตชาวเรือแถวใต้สะพานพระราม 6 ไปเจอเด็กผู้หญิงน่ารักมาก ชื่อ "น้องปู" แกเอามาเป็นแบบวาดตัวนางเอก และไม่รู้แกนึกยังไง เอาผมมาเป็นแบบตัวพ่อ...ซะงั้น" ผู้เขียนเรื่อง โสนน้อย คือ แม้นมาส ชวลิต เขียนภาพประกอบโดย เตรียม ชาชุมพร
ในระยะหลังงานของ เตรียม ชาชุมพร เริ่มพัฒนาไปสู่นิยายภาพแนวสะท้อนสังคม โดยเตรียมนำเรื่องราวที่เขียนมาจากข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับคนยากจน สุดชายขอบของสังคมเมือง ชะตากรรมอันน่าสลดใจ และความไร้มนุษยธรรมที่กลายเป็นข่าวแทบไม่เว้นวัน มีข้อสังเกตว่า เตรียมใกล้ชิดอยู่กับการงานของมูลนิธิเด็ก และบรรดาอาสาสมัครผู้ทำงานเพื่อสังคม ดังนั้น ข้อมูลของเขาหรือผู้ให้ข้อมูลแก่เขา จึงมาจากคนทำงานกลุ่มนี้ ทั้งนี้ นิยายภาพของเตรียม 4 เรื่องในแนวนี้ ได้แก่ "ยายจ๋า, ตากับหลาน, เพื่อนบ้านใหม่" และ "ตุ๊กตาขาด้วน" ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม และได้รับการยกย่องจากคณะผู้วิจัยของ สกว. ให้เป็น "หนึ่งใน 100 ชื่อเรื่องหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน"
จากผลงานอันโดดเด่น ในการสะท้อนภาพชีวิตชนบทได้อย่างน่าประทับใจนี่เอง ทำให้ "เตรียม ชาชุมพร" ได้รับเลือกให้เป็นผู้วาดภาพประกอบในหนังสือ "แบบเรียนภาษาไทย" ชุด มานะ-มานี-ปิติ-ชูใจ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม 1 และภาพประกอบใน "เรื่องสั้นชุดชีวิตชนบท" ซึ่งเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน สำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ของกรมวิชาการ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดย องค์การค้าของคุรุสภา เนื้อหาเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตอันรื่นเริง สดใสของบรรดาเด็กๆ ในชนบทภาคใต้ จากปลายปากกาของ "มานพ แก้วสนิท" นักเขียนผู้ถนัดเรื่องราวชีวิตชนบทเป็นพิเศษ
หมายเหตุ : ผู้วาดภาพในแบบเรียน มานะ-มานี-ปิติ-ชูใจ มีดังนี้ คือ
ท่านที่สนใจ หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ สามารถดาวน์โหลดไฟล์แบบ PDF ได้ที่นี่ [ คลิกเลย ]
เตรียม ชาชุมพร ได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุรถประจำทางปรับอากาศ พุ่งชนเขา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2533 รวมอายุได้ 38 ปี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)