คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
สมบัติ สิมหล้า หมอแคนระดับเทพเจ้า เขาคือเทพแห่งแคนจริงๆ และที่สำคัญคือ เขา...ไ ม่ มี ต.. า ....ครับ ตาเขาบอดทั้งสองข้าง ความที่เก่งกล้าสามารถในเรื่องแคน ถึงขนาดที่ อาจารย์บรูซ แกสตัน ต้องขอทำความรู้จัก
แต่ก่อนไม่มีใครรู้จัก สมบัติ สิมหล้า อยู่ๆ เมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2518--2520 (ไม่แน่ใจ) มีเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งโด่งดังทะลุฟ้าเมืองไทย และสร้างความตื่นตะลึงในหมู่คนฟังมาก จากการขับร้องของ ศรชัย เมฆวิเชียร ในเพลง "เสียงซอสั่งสาว"
ที่ว่าพิเศษจนคนตื่นตะลึงก็เพราะ เสียงซอสั่งสาว เป็นเพลงที่ขึ้นอินโทรโดยใช้การโซโลเดี่ยวซอล้วนๆ ยาวประมาณ 20 วินาที.. มันไพเราะมากๆ มากจนผู้คนไต่ถามว่า มันผู้ใด๋กันที่เดี่ยวซอได้คักถึกใจขนาดนี้ คำเฉลยคือ.. สมบัติ สิมหล้า เป็นบุคคลผู้นั้นครับ
ตั้งแต่นั้นมา ชื่อ สมบัติ สิมหล้า ก็ดังยิ่งกว่า ศรชัย เมฆวิเชียร เสียอีกครับท่านผู้ชม หลังจากนั้น อาจารย์บรูซ แกสตัน ก็ไปตามหาตัว ดึงมาเล่นดนตรีร่วมในวงฟองน้ำด้วยกัน ที่นี้ยิ่งไปกันใหญ่เลย มารับรู้กันกว้างขวางยิ่งขึ้นว่า สมบัติ เล่นดนตรีอิสานได้เก่ง เฉียบขาด แทบทุกชิ้นรวมทั้งการเป็นเซียนแคนที่สามารถอีกด้วย
นายสมบัติ สิมหล้า เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2506 เป็นบุตรของคุณพ่อโป่ง คุณแม่บุดดี สิมหล้า ซึ่งคุณพ่อเป็นหมอแคน คุณแม่เป็นหมอลำกลอน ปัจจุบันพำนักที่ บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 8 บ้านวังไฮ ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โทร.(043) 727184
เมื่อแรกเกิดดวงตาของ สมบัติ สิมหล้า แฉะ หมอตำแยจะทำการหยอดตาให้แต่ใช้ยาผิด โดยเอายาที่ใช้เช็ดสะดือมาหยอดตา จากการที่ใช้ยาผิด จึงเป็นสาเหตุทำให้ดวงตาของสมบัติ สิมหล้า เริ่มมืดและมองไม่เห็นในที่สุด
ประวัติการศึกษา ศึกษาอักษรเบลล์ จาก โรงเรียนคนพิการ ปากเกร็ด นนทบุรี เป็นเวลา 3 เดือน ได้เริ่มฝึกหัดเป่าแคนตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ พ่อชื้อแคนมาให้เป่า หวังจะให้มีลูกมีอาชีพเป็นหมอแคนในอนาคต ทั้งที่ตอนแรกสมบัติยังไม่รักที่จะเป่าแคนเลย
เมื่อได้รับการฝึกฝนทักษะจากผู้เป็นบิดาที่มีอาชีพเป็นหมอแคน ก็สามารถเป่าแคนให้กับหมอลำกลอนเมื่ออายุได้ 14 ปี โดยเป่าแคนให้ หมอลำบัวผัน ดาวคะนอง, หมอลำคำพัน ฝนแสนห่า, หมอลำวิรัติ ม้าย่อง โดยได้รับค่าตอบแทนในตอนนั้นเป็นจำนวนเงิน 500 บาท และได้ยึดอาชีพหมอแคนมาจนถึงปัจจุบัน
สมรสแล้วกับ นางนิว สิมหล้า (นิว ทึนหาญ) และมีบุตรสาว 1 คน ชื่อ เด็กหญิง สุพัตรา สิมหล้า
ลายโหวด โดย สมบัติ สิมหล้า
รายการ แทนคุณแผ่นดิน ตอน หมอแคนแดนโลกมืด #1
รายการ แทนคุณแผ่นดิน ตอน หมอแคนแดนโลกมืด #2
มหัศจรรย์ลำแคนแดนสยาม
อถาตทาในกาลเมื่อนั้น สมบัติท้าวบายแคนมาเป่า
ท้าวก็เป่าจั้นๆ ปานฟ้าล่วงบน เสียงแคนท้าวดูดังฟังม่วน
คือดั่งดนตรีเทพ เสพเมืองสวรรค์ฟ้า
เป็นที่อัศจรรย์แท้ชาวเมืองผู้มาเบิ่ง
ไผก็บ่ไอเว้า ฟังแท้บ่ติง
อัญมณีอีสานเม็ดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ เดินทางไกลจากถิ่นเกิด ทุ่งนาบ้านบรบือ มหาสารคาม มาสู่รั้ว วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม และเปิด การแสดงคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในค่ำคืนวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2545 ที่ผ่านมา แม้มีผู้ชมไม่มากนัก แต่ทุกคนยอมรับกันโดยทั่วหน้าว่า ทุกจังหวะทำนองที่อัญมณีเล็กๆ คนนี้เนรมิตรขึ้นผ่านลมหายใจไปสู่แคนไม้ไผ่คู่มือของเขา ดูมหัศจรรย์เหลือแสน และทุกนาทีที่ผ่านไปในค่ำคืนนั้น ช่างยิ่งใหญ่ในความรู้สึกเหลือประมาณ
หมอแคนตาบอด สมบัติ สิมหล้า ชื่อนี้คงเป็นที่คุ้นเคยกับผู้อ่าน ที่ติดตามวารสารผู้สื่อข่าวมาบ้าง ในเนื้อที่กระดาษบางฉบับ เขาคือใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร คงพอจะตามหาอ่านกันได้ แต่การได้มีโอกาสสัมผัส ตัวตนและผลงานของเขา ฟังเสียงแคนให้เต็มอิ่ม ลิ้มลองรสดนตรีอีสานให้เต็มหู ดูหมอลำหมอแคนให้เต็มตา และร่วมหัวเราะเฮฮาให้เต็มใจ เป็นเรื่องที่หาไม่ได้ง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตาม ทาง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนัดพบปะ ระหว่าง สมบัติ สิมหล้า และศิลปินรับเชิญอีกหลายคน หลายแนวดนตรี รวมทั้ง ผู้ชมอีกหลายพื้นเพประสบการณ์ ในงานคอนเสิร์ต "มหัศจรรย์ลำแคนแดนสยาม"
โปรแกรมการแสดงวันนั้น แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกเกี่ยวกับเพลงแคนในเชิงวิชาการแบบโบราณ และภาคหลังเป็นการเติบโตของแคนกับวัฒนธรรมดนตรีอีสานสมัยใหม่ รวมไปถึงการประชันเพลงแคนกับดนตรีข้ามเขตวัฒนธรรม อันได้แก่ ดนตรีไทยของวัฒนธรรมราชสำนักภาคกลาง และดนตรีแจ๊สจากวัฒนธรรมไพร่อเมริกัน โดยมี อาจารย์อานันท์ นาคคง เป็นผู้ดำเนินรายการ และคุณเที่ยง เป็นผู้ช่วยพระเอกในฐานะเป็นดวงตาแทนสมบัติ และเป็นพี่เลี้ยงคอยจูงขึ้นลงเวที
ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม หมอแคนสมบัติ นำพาผู้ชมที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับระบบดนตรีอีสาน ให้เดินทางร่วมกับเขาไปบน "ลายแคน" หรือ ทำนองเพลงแคนที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานระบบบันไดเสียง "ทางสั้น" และ "ทางยาว" ซึ่งอาจเปรียบได้กับระบบเสียง Major Scale และ Minor Scale ในดนตรีฝรั่งตะวันตกตามลำดับ ไม่น่าเชื่อว่า จากพื้นฐานโน้ตหลักๆ ไม่กี่ตัวและเสียงพื้นฐานที่เรียกว่า "เสียงเสพ" หรือ drone อีกหนึ่งหรือสองเสียง ก็สามารถผูกวลี สร้างประโยคขึ้นมาเป็นลายเพลงต่างๆ อย่างสลับซับซ้อนเหลือที่จะกล่าว จากลายใหญ่สู่ลายน้อย พลิกผันไปเป็นลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย ลายสร้อย ลายเต้ยธรรมดา เต้ยพม่า เต้ยโขง ลายลำเพลิน และที่สุดของความมหัศจรรย์ในลายแคนเพียวๆ น่าจะไปอยู่ที่ "ลายรถไฟ" ขบวนสมบัติทัวร์ ที่วาดฉากของรถจักรค่อยๆ เคลื่อนตัว กระฉึก กระฉัก ไปท่ามกลางภูมิทัศน์อันสดชื่นของท้องถิ่นที่ราบสูง และชะลอจอดลงตรงชานชาลาที่คึกคักไปด้วยเสียงร้องขายไก่ย่าง โอเลี้ยง หนังสือพิมพ์ ติมหลอด และข้าวโพดต้ม ก่อนที่ พขร.ตาพิการ ผู้ร่ำรวยอารมณ์ขันจะตัดสินใจเคลื่อนล้อรถต่อไปสู่สถานีของโลกดนตรีร่วมสมัย
เมื่อมีเสียงแคนแล้ว ใยเล่าจะทิ้งเสียงขับเสียงลำ สาวมั่น ผู้มาเติมสีสัน และ ความกระชุมกระชวยในอารมณ์ให้กับมิตรรักแฟนเพลง ที่มาเฝ้าชมงานคอนเสิร์ตครั้งนี้คือ บัวพัน สนั่นเมือง หมอลำสาวใหญ่จากดินแดนบรบือ มหาสารคาม เช่นเดียวกับหมอแคนสมบัติ มาในชุดสีชมพูสดใส และรอยยิ้มพริ้มพราย พร้อมกับกรีดกรายร่ายรำในท่วงท่าอีโรติค ที่กระชากหัวใจหนุ่มๆ หลายคนที่ได้ยลลีลา แต่ที่เหนืออื่นใดคือความเป็น "ปฏิภาณกวี" ของเธอ ที่สามารถด้นถ้อยคำกลอนลำได้อย่างมีชั้นเชิง และน้ำเสียงที่ไพเราะ เหมาะเจาะ และด้วยความเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ หมอลำบัวพัน ยังสามารถแนะนำท่วงทำนอง ร้องกลอนลำที่แตกต่างกัน ระหว่างท้องถิ่นย่อยๆ ในอิสาน เช่น ลำล่องมหาสารคาม ลำล่องขอนแก่น และการลำยุค ใหม่ๆ มาเสนอแก่ผู้ฟังเป็นการเปรียบเทียบกันด้วย การร้องลำแบบยุคใหม่
นอกจากจะมีเสียงแคนของสมบัติเคล้าคลออยู่แล้ว ก็ยังมีแบ็คอัพเป็น ดนตรีหมอลำลูกทุ่งบรรเลงประกอบจากคณะดนตรี "มหิดลบันเทิงศิลป์" หรือ Mahidol University Polang Orchestra (MSPO) น้องเล็กอันดับรองของวง Mahidol University Symphony Orchestra (MUSO) ที่เพิ่งเปิดเผยตัวต่อสาธารณชน ณ หอประชุมใหญ่ใกล้ๆ กันไปเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ควบคุมวงโดย อาจารย์สนอง คลังพระศรี สมาชิกในวงเป็นนักศึกษาภาควิชาดนตรีไทยและตะวันออก
สียงขับลำ เสียงแคน เสียงพิณ เสียงโหวด เสียงโปงลาง เสียงกลอง คละเคล้ากันไปอย่างมีความสุข หมอลำบัวพันปล่อยมุขเด็ดเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การเต้น และการทักทายแบบท้าทายกับผู้ชมทั้งหอประชุม
ระหว่างช่วงโชว์เพลงแคน เพลงลำ ม่วนซื่นโฮแซว สนุกสนานกันอยู่นั้น หมอแคนอดิศร เพียงเกษ นักการเมืองชื่อดัง จากจังหวัดขอนแก่น ดินแดนดอกคูณ เสียงแคนซึ่งนั่งชมอยู่ข้างหน้าเวที ก็ได้ขึ้นมาร่วมแจมบนเวทีด้วย โดยออกตัวว่ามาในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งของ หมอแคนสมบัติ ที่ได้ร่ำเรียนวิชาเพลงแคน วันนี้จะมาทำการบ้านอวดครู ขอให้ช่วยพิจารณาให้คะแนนด้วย ว่าแล้วก็เป่าลายแคนให้ฟังสองลาย เมื่อจบลงครูให้คะแนน 4,000 คะแนน นับว่าเป็นการให้กำลังใจศิษย์อย่างมาก และที่น่าชื่นใจกว่านั้นคือการรับขวัญลูกศิษย์ด้วยการบรรเลง ลายแคนเดียวกันคือ ลายใหญ่ แต่เป่าแคนกลับหัว พลิกวนไปมาเหมือนกายกรรม แถมยังเป่ามือเดียว ควักหวีออกมาเสยผมเล่นเสียอีก เรียกเสียงหัวเราะได้สนั่นห้อง
สมบัติ สิมหล้า เดี่ยวแคน ประชัน วง Thailand Philharmonic Orchestra
ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ค่อนรายการหลัง ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เวทีหมอลำถูกเปลี่ยนไปเป็นเวทีประชันดนตรี โดยมี อาจารย์สหรัฐ จันทร์เฉลิม หมอจะเข้ชื่อดังแห่งลุ่มเจ้าพระยา คว้าจะเข้ตัวโปรดขึ้นมาประลองกับ หมอแคนสมบัติ ในเพลง "ลาวแพนลำเพลิน" ที่สังคมดนตรีไทยปัจจุบันยอมรับนับถือว่าเป็นเพลงเอกเพลงหนึ่ง ประจำตัวอาจารย์สหรัฐ เนื่องด้วยความโดดเด่นของลูกเล่นพิเศษในเพลง ที่ปรับปรุงให้มีสำเนียงลาวอีสาน และลาวเหนือปรากฏอยู่ด้วย และการหยิบยืมลูกเล่นลีลาของพิณแคนอีสานมาประสมรวมเข้า กับกลวิธีการดีดจะเข้ชั้นครูที่เยี่ยมยุทธ ความเร็ว ความไหว และพลังเหลือเฟือที่ซุกซ่อนอยู่ในร่างอ้อนแอ้นบอบบางของผู้ดีด ดังนั้นเพลงลาวแพนลำเพลินซึ่งมีที่มาจากความประทับใจส่วนตัว ของอาจารย์สหรัฐกับดนตรีพื้นเมือง ก็ได้ถูกนำมาถ่ายทอดความมหัศจรรย์อีกครั้ง โดยมีนักเล่นคำขยำเสียง อาจารย์สมปอง พรหมเปี่ยม จากกลุ่มคีตวรรณกรรมและวงกอไผ่ เป็นดารารับเชิญ
หมอแคนสมบัติ เกริ่นกล่าวด้วยเสียงแคนใน ลายเพลงสุดสะแนน แล้วอาจารย์สมปองจึงเข้าขับขานด้วยเนื้อร้อง ลาวแพน ของโบราณที่เคยร้องรับ ขับขานในหมู่นักแอ่วลาวเป่าแคนย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ยุครัชกาลพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว "... ฝ่ายพวกลาวเป่าแคนแสนเสนาะ มาสอเพาะเข้ากับแคนแสนขยัน ...." ไปจนล่วงเข้าท่อนกลาง "...ระเหินระหกตกยาก เป็นคนกากคนแกน พอมีแคนอันเดียว ต้องไปเที่ยวขอทานเขากิน... " และทอดลงท้ายอย่างอ้อยสร้อย ก่อนที่จะเข้จะฉวยไม้ดีดสะบัดรับเป็นเพลงลาวแพนลำเพลิน ซึ่งทั้งแคนและจะเข้ต่างเคล้าเคลียคลอกันไปอย่างราบรื่นและครื้นเครงจนจบเพลง ออกท้ายลาวซุ้มทางพิสดาร เรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากฝ่ายผู้ชม ฝ่ายแฟนเพลง โดยเฉพาะครูศิริ นักดนตรี กุนซือของอาจารย์สหรัฐ ซึ่งออกอาการลุ้นระทึกอย่างเห็นได้ชัด
รายการสุดท้าย เป็นการจากลาผู้ชมทุกท่านด้วยความตื่นเต้นโลดโผน ไม่แพ้รายการอื่นๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่า เป็นการโชว์ความมหัศจรรย์สุดยอด ของหมอแคนสมบัติในฐานะนักดนตรีพื้นบ้าน ที่ห้าวหาญประชันฝีมือกับบรรดาคณาจารย์จากภาควิชาแจ๊ส ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมีอาจารย์แดน ฟิลิปส์ ดีดกีตาร์ อาจารย์นพดล ถิรธาราดล ดีดเบส และอาจารย์กฤษติ์ บูรณวิทยาวุฒิ จอมวิทยายุทธแซกโซโฟนที่ลือลั่นวงการแจ๊สเมืองไทย ทำหน้าที่แลกหมัดซัดเพลงกับหมอแคนสมบัติอย่างถึงพริกถึงขิง ให้จังหวะกลองโดยอาจารย์อานันท์ นาคคงและอาจารย์บรรหาร ปาโล
เสียงแซ็กโซโฟนและเสียงแคนต่างหยอกล้อ ล่อไล่กันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เหมือนภาพยนตร์จีนกำลังภายใน หากแต่ตรงเบื้องหน้าเวทีนั้นคือ หมอแคนตาพิการคนหนึ่ง กับนักดนตรีตาดีอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังดวลกันอย่างไม่ลดละ เกรี้ยวกราด และปราดเปรียว ไม่น่าเชื่อว่าดนตรีพื้นบ้านไทยและฝรั่งจะผสมกันได้ "มันส์" ถึงเพียงนี้
งานนี้บรรดาอาจารย์แจ๊สต่างทึ่งกับลีลาการเป่าแคนของ หมอแคนสมบัติ ไปตามๆ กัน อาจารย์กฤษติ์ถึงกับยกมือไหว้ตอนลงท้ายจบเพลง ส่วนอาจารย์นพดล ถิรธราดล เอ่ยปากชมว่า "หมอแคนสมบัติ เป็นคนที่หูดีมาก เพราะขณะที่มีการบรรเลงสื่อสารกันบนเวที ร่วมกับนักดนตรีท่านอื่นๆ ท่านสามารถที่จะจำ เสียง กระสวนจังหวะ และที่สำคัญที่สุด สามารถจำสำเนียงแจ๊ส แล้วนำมาเป่าให้เข้ากับแคน ได้อย่างน่าฟังและลงตัวทีเดียว"
หมอแคนฝรั่งอีกคนหนึ่ง ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์แทรี่ มิลเลอร์ (Prof. Terry Miller) แห่งมหาวิทยาลัยเค้นสเตท (Kent State University) รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้ชมประเภทแฟนพันธุ์แท้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีอีสาน ที่เขียนตำราวิชาการให้แก่วงการดนตรีโลกมากมาย ได้กล่าวความในใจในงานคอนเสิร์ตคืนนั้นว่า "นี่เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งของความยิ่งใหญ่ในดนตรีพื้นบ้านอีสาน ผมรู้สึกภูมิใจแทนคนไทย ประเทศไทยที่มีนักดนตรีอัจฉริยะอย่างหมอแคนสมบัติ เขาเป็นคนที่มีค่าของโลก ไม่ต้องไปคิดว่าเขาจะตาพิการหรือเปล่า แต่เพลงของเขาไม่เคยพิการ จินตนาการของเขาไม่เคยสิ้นสุด"
"ผมรู้สึกทึ่งมากๆ ที่เห็นเขาเล่นแคนกับดนตรีของเขาเอง และเล่นแคนกับดนตรีอย่างอื่น ซึ่งมันไปกันได้อย่างวิเศษ และการจัดคอนเสิร์ตของมหิดลอย่างนี้ทำให้ผมนึกถึงอดีตบรรยากาศ ของงานมหกรรมดนตรีพื้นบ้านอเมริกันเมื่อหลายสิบปีก่อน โอเค บางเรื่องบางอย่างอาจจะไม่สมบูรณ์ คนดูก็อาจจะมีอารมณ์ร่วมบ้าง ไฟติดบ้างดับบ้าง เสียงได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง แต่นี่แหละคือดนตรีจริงๆ ละครับ ไม่ใช่ของเสแสร้ง และการมาเห็นสมบัติเป่าแคนครั้งนี้ผมมีความสุขมาก"
ม่วนซื่นบีโทเฟน (คอนเสิร์ตคุณพระช่วยสำแดงสด)
ผู้สื่อข่าว : มีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับคอนเสิร์ตครั้งนี้คะ
บัวพัน สนั่นเมือง : ก็คิดว่าสนุกดี อาจารย์ติดต่อให้มาเล่น ก็เลยอยากจะมาร่วมเล่นกับพวกอาจารย์ค่ะ ดิฉันเป็นหมอลำซิ่งมาตั้งนานแล้ว เล่นงานผ่านมานี่เกือบถึง 300 งาน เวลาเล่นจริงๆ นี่ทั้งคืน ตั้งแต่สามทุ่ม ถึงสว่าง ถึงจะสนุกดี แต่คราวนี้จะไม่ได้เล่นมาก เขาให้เวลานิดเดียว จะได้ลำนิดเดียว เดินทางมาไกล มีแต่ความคิดถึงจะฝาก ก็ร่วมใจสนุกด้วยกัน เราเป็นคนไทยด้วยกัน
ผู้สื่อข่าว : คุณสมบัติคิดอย่างไรกับคอนเสิร์ตครั้งนี้
สมบัติ : ผมรู้สึกว่าชอบครับผม เวลาเล่นก็สนุกดีครับผม คือดนตรีอีสานก็ไม่มีใครที่จะฟื้นฟูครับผม อยากจะเอาดนตรีอีสานไปผสมกับวงแจ๊สครับผมคือว่า ให้มีแทรกๆ มีรสเด็ดนิดหนึ่ง แปลกๆ นิดหนึ่ง คือผมก็ชอบเหมือนกัน ผมก็เกิดมาไม่เคยฟังวงแจ๊ส ไม่เคยดูวงแจ๊ส ผมก็ชอบที่เขาเล่นยาวๆ ช้าๆ เลยลองเอาดนตรีอีสานมาผสมดู
ผู้สื่อข่าว : เหนื่อยไหมคะกับการซ้อมการแสดง
สมบัติ : ก็รู้สึกมีบ้างนิดหน่อย แต่ผมก็ทน คือผมก็คิดถึงแฟนที่อยู่ที่บ้าน ผมก็ต้องทนนิดหนึ่งครับผม คือผมไม่รู้ว่าจะหาอะไรไปให้แฟนที่บ้านกิน ผมก็ต้องมาหาอาชีพนี้ครับผม
ผู้สื่อข่าว : แล้วกับคุณบัวพัน เคยร่วมแสดงด้วยกันมานานแล้วหรือยัง
สมบัติ : แสดงมาสัก 7- 8 ปีแล้วครับ ตั้งแต่พี่บัวพัน อายุประมาณ 30 กว่าปี ส่วนผมอายุประมาณ 27 ปี เวลาไปลำก็ไปด้วยกัน ผมไปเป่าแคนให้เขาบ่อยๆ ยันมหาสารคราม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ก็ไป เวลางานกาชาดก็ไป อย่างงานบุญ เขาเรียกงานบุญแจกข้าว ก็ไปช่วยงานเขาจนถึงสว่างครับผม มีกลอนลำอยู่ประมาณ 4-5 คน ก็สว่างแล้วครับผม ก็มีเพลงมีอะไรก็ลำแก้ไปด้วย ส่วนมากก็เน้นของอีสาน เกี่ยวกับเพลงลำซิ่ง หรืออยากฟังลำไม่ซิ่งก็ได้ แล้วแต่เจ้าภาพเขาจะสั่ง เท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าว : มีอะไรฝากถึงแฟนหนังสือผู้สื่อข่าวไหมคะ
สมบัติ : ผมขอพูดอย่างนี้นะ ขอให้คนอีสาน คนที่อยู่ประเทศไทย ประเทศชาติบ้านเมือง ให้รู้จักดนตรีพื้นเมืองของอีสาน เช่น แคน อย่าไปถือกีตาร์เหมือนคนหนุ่มทั่วไป ไม่ส่งเสริมดนตรีอีสาน เป็นการที่ไม่ดี ผมอยากให้รุ่นหลาน หรือรุ่นเหลน หรือรุ่นน้อง รู้จักแคน รู้จักดนตรีอีสานบ้างเท่านั้นเอง ครับผม ส่วนท่านผู้อ่าน กระผมก็ไม่มีอะไรที่จะฝาก นอกจากว่า กระผมขอให้รักน้อยๆ แต่ให้นานๆ เท่านั้นเอง คือผมก็เป็นคนที่พิการทางสายตา แต่ผมชอบสนุก เล่นดนตรีครับผม
ที่มา : http://www.music.mahidol.ac.th/journal/september2002/kaen.html
สมบัติ สิมหล้า - ฐานข้อมูลศิลปืนมรดกอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)