คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เมื่อมีเรา ก็มีของเรามาหมายมั่น เหมือนกันกับฝาผนัง ถ้าไม่มีหัวตะปูแล้วห้อยเสื้อไม่ได้ ห้อยกางเกงไม่ได้ ไม่มีที่เกาะฉันใด ถ้าภาวนาถึงที่แล้วมันก็ "ไม่ใช่เรา" "ไม่ใช่ของเรา" เป็นต้น พระอรหันต์ท่านจึงหลุดพ้น หลุดพ้นจาก "เรา" หลุดพ้นจาก "เขาอาสวะทั้งหลายไม่มีที่เกาะ อาสวะทั้งหลายไม่มีที่แอบอิง ไม่มีที่พึ่ง ถ้ามันหมดตัวเรา
การกระทำทุกวัน การประพฤติทุกวัน การพิจารณาทุกเวลา จึงเป็นปัญหาที่จะแก้ปัญหาให้รู้จักตัวว่าเราหรือไม่ใช่ของเราออก ถ้ายังมีตัวเราอยู่อย่างอุปาทาน ก็มีของเราตลอดไป เมื่อมีของเรา ก็มีของหาย มีของได้ เมื่อมีได้เมื่อมีเสีย ก็มีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสุขเมื่อมีทุกข์ก็มีเหตุมีปัจจัยหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีที่สิ้นสุดที่จบลงได้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงเน้น เน้นข้อประพฤติ เน้นข้อปฏิบัติให้เห็นตามเป็นจริง เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้วก็สบาย แต่เราไม่ค่อยเห็นตามเป็นจริงได้ง่าย
สมัยก่อนศีล สมาธิ ปัญญาไม่ค่อยมี มีแต่ว่าบรรลุธรรมะไปฟังธรรมก็ภาวนาไปด้วย เมื่อรู้จักธรรมความละอายก็เกิดขึ้นมาไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดทางกาย วาจา ใจ เพราะได้ฟังธรรมะ รู้เรื่องตามความเป็นจริงแล้วจึงมีความละอาย ความละอายท่านเรียกว่า"ศีล" จิตที่มั่นอยู่กับความละอายว่าจะเป็นบาปอยู่นั้น ความมั่นในอารมณ์ที่ว่ามันเป็นบาปอันเดียวนั้นเรียกว่า "สมาธิ" ก็ได้ เมื่อสมาธิความมั่นอยู่ในอารมณ์ ไม่กระทำบาป ทำใจให้สุขุม "ปัญญา" ความรู้เท่าทั้งหลายก็เกิดขึ้นมา บรรลุถึง "สนติธรรม"เห็นตัวเราของเราตามความเป็นจริงว่ามิใช่เราขึ้นมา เป็นตัวปัญญาเกิดขึ้นมาพ้นจากวัฏฏะสงสารอันนี้ได้ ฉะนั้นในครั้งพุทธกาลท่านว่า เมื่อมีการฟังธรรมก็บรรลุธรรมเท่านั้นเอง เมื่อมีศีล สมาธิแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นมา
เมื่อหากว่าเราพอแล้ว สิ่งอื่นก็หมดราคา พูดง่ายๆว่าเรารับประทานอาหาร แม้ว่าอาหารจะเอร็ดอร่อยอย่างไรก็ช่างมัน เมื่อมันมีเกินที่เราต้องการแล้ว ถ้าหากว่าเราอิ่มอยู่ทุกอย่างแล้ว อาหารที่เหลือนั้นมันหมดราคาน้อยลง ไม่เหมือนเรารับประทานครั้งแรก ทีแรกอันนั้นก็จะเอา อันนี้ก็จะเอามีราคาหมดทุกอย่าง พออิ่มเข้าอิ่มเข้า อาหารที่อร่อยย่อมหมดราคาน้อยลง เพราะเราอิ่ม มันเลยเป็นของหมดราคา เมื่อความหิวมีอยู่ก็เอาหมด ผักน้ำพริกก็เอา แก่เท่าไรก็ว่าอ่อน เพราะความหิวมีอยู่ ความอยากมีอยู่เป็นต้น ความต้องการมีอยู่ เมื่อความเป็นเราเป็นเขามีอยู่เป็นต้น มันก็มีปัญหาอยู่ตลอดกาลตลอดเวลาเสมอ
ดังนั้นการฟังธรรมะเพื่อจะอบรมใจเราให้เกิดปัญญา เพื่อให้ไปแก้ปัญหาของโลก ปัญหาของโลกอยู่ไหน "โลก" คือ"อารมณ์" ที่มีอยู่รอบๆตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นต้น จัดได้ว่าเป็นอารมณ์ ดีชั่วทั้งหลายทั้งปวงเป็นอารมณ์ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราหลงอารมณ์ก็คือเรา "หลงโลก" "หลงโลก" ก็คือ"หลงอารมณ์" คำว่าดูโลกไม่ใช่ว่านั่งเครื่องบินไปรอบโลก โลกนั้นคืออารมณ์ อารมณ์ที่ชอบใจไม่ชอบใจ มีสุขมีทุกข์ ทั้งหมดท่านเรียกว่า "อารมณ์" ซึ่งมันเกิดขึ้นกับใจเราก็มี นั่งอยู่เฉยๆก็เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีอยู่รอบสิ่งทั้งหลายเท่านี้แหละเมื่อเราได้สัมผัสกับอารมณ์ทั้งหลายแล้ว ใจเรามันจะหลงอารมณ์ถ้ามันหลงอารมณ์มันก็แก้ปัญหาของโลกไม่ได้ เมื่อแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ใจเราก็เศร้าหมอง ก็ไม่ผ่องใสติดอยู่ในโลก เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้ามันติดปัญหาข้องปัญหาขึ้นมาจริงๆแล้ว บางทีก็ร้องไห้น้ำตาไหล เคยร้องไห้ไหม? แก้ปัญหาลูกไม่ตก แก้ปัญหาเมียไม่ตก แก้ปัญหาวัตถุข้าวของเงินทองไม่ตก แก้ปัญหาความเจ็บไข้ไม่ตก มีแต่น้ำตาไหลออกมาเท่านั้นแหละ คนโง่คนไม่มีปัญญา
คนแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ก็ร้องไห้ ถ้าไม่ร้องไห้ก็หนี หนีไปยิงตัวตาย หนีไปกินยาตาย หนีไปโดดน้ำตาย มันก็หนีไปอย่างนั้นแหละ เพราะคนโง่คนชั่วหนีไปทั่วนั่นแหละ เหมือนกับไฟมันไหม้ป่า สัตว์ต่างๆก็หนีไปตามสัญชาติญาณของมันเพราะกลัวตายมันดับไฟไม่ได้ มนุษย์เรานี้เหมือนกันฉันนั้น มันติดในอารมณ์ แก้อารมณ์ของโลกไม่ได้ เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เดี๋ยวก็วุ่นวายกันเดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวก็ร้องไห้วุ่นวาย เป็นอยู่อย่างนี้เอง สภาพของโลกเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น เราฟังธรรมก็เพื่อจะได้มีความรู้ ไปแก้ปัญหาของโลก เพราะโลกอันนี้ไม่ต้องแก้ปัญหาอะไรให้มันมากมาย มาแก้ความเห็นของเรา มาแก้ความคิดของเรา มาแก้ทิฏฐิของเราให้มีความเห็นอันถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น โลกที่มันตั้งอยู่มันก็ตั้งอยู่ตามสภาพของมัน เพราะเราไปหลงโลกมันจึงทุกข์ โลกนั้นมันไม่ทุกข์ โลกนั้นมันไม่ยาก เราเป็นคนยาก
เหมือนกับเราเดินทางหนทางไกลเท่าไร มันก็ไม่เหนื่อยกับเรา หนทางไม่เหนื่อยเราผู้เดินนี้เหนื่อย เราผู้วิ่งนี้มันหนักหนทางมันจะไปไหนก็ช่าง มันไม่เมื่อย มันก็ไม่เหนื่อย มันเหนื่อยเพราะเราเดินทาง มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นทางมันพอดีของมันอยู่ พอดีอย่างไร ถ้าเราเดินเหนื่อยเราก็พัก ก็ไม่เป็นไรถ้าเราฉลาด ถ้าเหนื่อยแล้วยังขืนเดินไปก็ตายกับหนทางเท่านั้นแหละทางไม่เป็นอะไร ถึงแม้ว่าเราจะหยุด มันก็ไม่บังคับให้เราเดินไปอีก ถึงแม้เราจะไปอีกมันก็ไม่บังคับให้เราหยุด โลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทางก็รู้จักกำลังของเรา พอสมควรเราก็พักได้เราจึงค่อยเดินไป เป็นเรื่องของเรา คนรู้จักทางเป็นอย่างนี้
คนรู้จักโลกก็เหมือนกัน โลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเองทางนั้นก็เป็นโลก โลกนั้นก็คือหนทาง ถึงแม้ว่าเราเดินต่อมันก็ไม่สิ้นสุดสักที โลกไม่ได้ทำให้เราทุกข์ เราทุกข์เอง ฉะนั้นจึงมาแก้ที่เรา ใจเรานี้มันหลงโลก ไม่ใช่โลกหลงเรา เรามันหลงโลกเข้าใจไหม? ถ้าว่าอาหารทั้งหลาย ถ้ามันอร่อย ไม่ใช่อาหารมันหลงเรา เรามันหลงอร่อยอันนั้น หลงหวาน หลงเปรี้ยว หวานก็พอดีของมัน เปรี้ยวก็พอดีของมัน มันเป็นของพอดี
โลกนี้เป็นของพอดี แต่เรามีความโลภ ทะเยอทะยาน ไปเอง ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักภาษาของโลก ไม่รู้จักความหมายของโลกว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติของมัน อยู่ทุก วินาที ว่าเมื่อมันเกิดแล้วมันก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เมื่อเจ็บแล้วมัน ก็ตาย
คนทั้งหลายเกิดแล้วก็ไม่อยากแก่ แก่แล้วไม่อยากไปทางไหน อยากอยู่อย่างนี้ ให้มั่นคงให้ยั่งยืนอยู่นี่ อยู่กับลูกกับหลานนี่ "ลูกไปไร่ไปนา ลูกไปสวนมาบ้าน คนขี้คร้านให้นอนอยู่บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปที่ไหนอีก" อยากอยู่นี่ไม่อยากไปทางไหน ไม่อยากให้เฒ่า ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้วุ่นวาย ไปกั้นแม่น้ำทะเลเอาไว้ ถ้ากั้นไม่อยู่ก็ท่วมบ้านท่วมเรือนเหมือนเก่านั้นแหละ ตายหมดเหมือนเก่านั่นแหละ
ท่านจึงให้พิจารณาโลก ปัญญารู้เท่าตามความเป็นจริงของโลก โลกเป็นอย่างใดก็ให้รู้เท่าตามเป็นจริงมันซะ ถ้าเรารู้จักปัญหาของโลกแล้ว ก็เหมือนกันกับเรารู้จักธรรมะ รู้บรรลุธรรมะเมื่อรู้จักธรรมะแล้วมันก็รู้แจ้งโลก เมื่อรู้แจ้งโลกก็ไม่ติดในโลกเป็น "โลกวิทู รู้แจ้งโลก"
ฉะนั้นธรรมะนี้จึงมีอานิสงส์มาก ท่านว่าฟังธรรมะมีอานิสงส์มาก การให้ธรรมเป็นทานได้บุญมากกว่าสิ่งทั้งหลายปวงมันก็ถูกอยู่การฟังธรรมก็ได้บุญ คนฟังธรรมเอาบุญเกิดจากการฟังไม่ค่อยมี ทุกวันนี้ฟังแล้วหมดไป หมดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักอะไรการฟังธรรม การรักษาศีล ปีนี้ชาวพิบูลฯเขามารดน้ำ เขามาขอศีล ขอก็ให้ นั่งดีๆ อาราธนาแล้ว ข้อ ๑. อย่าฆ่าสัตว์ ๒. อย่าลักขโมยของเขา ๓. อย่าไปนอกใจลูก ใจผัว ใจเมีย ข้อ ๔. อย่าโกหกกัน ข้อ ๕. อย่ากินสุรา เอาแหละใครจะเอาก็เอา ถ้าจะเอา เอาไหมล่ะ? พูดอย่างนี้ ทำไมให้ศีลง่ายจัง นั่นแหละให้ง่ายๆอย่างนี้แหละ มันจะยากอะไรถ้าจะเอา เอาไหมล่ะเรื่องเท่านี้ เรื่องไม่มากหรอก เขาไม่ค่อยได้ยิน เขาอาราธนาขอศีลก็ว่าไป มันไม่ค่อยได้เรื่องแบบนั้น มันตรงเกินไป
กระเทาะเอาเปลือกเอารำมันออกหมด ไม่ค่อยอยากจะได้มันไม่รู้จักของกินหรือนี่ ทีเอาข้าวสารให้ไม่ค่อยอยากจะกิน แต่ถ้าเลียแกลบเลียรำนั้นเร็วมาก ชอบมาก
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)