foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan vocation

การปลูกปอ (ปอกระเจา ปอแก้ว)

การปลูกปอ ก็เป็นผลมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 - 2509 (ยุครัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) กล่าวคือ เมื่อมีแผนงานสร้างรายได้จากภาคเกษตร จึงมีการมองหาช่องทางว่าจะนำพืชชนิดใดมาให้เกษตรกรปลูก แล้วนำผลผลิตไปสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไร "ปอ" จึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง ที่ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือในราว พ.ศ. 2512 - 2518 นิยมกันมาก

ก่อนจะอ่านบทความนี้ต่อ ต้องสร้างบรรยากาศร่วมด้วยการเปิดฟังเพลงนี้ไปด้วยครับ (เพลง ผู้ใหญ่ลี ต้นฉบับเดิม โดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (ต้นฉบับเดิม พ.ศ.2504) คำร้อง/ทำนอง : พิพัฒน์ บริบูรณ์)

เพลงผู้ใหญ่ลี ต้นฉบับโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

ในสมัยโน้นเกษตรกรทั่วไปรู้จักดีกับ "การทำนา" ตามฤดูกาล พอฝนมาก็เริ่มไถนา หว่านกล้า ปักดำ ไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งฉาง จบไปอีกหนึ่งฤดู ข้าวที่ได้ก็มีพอได้กินตลอดทั้งปี  บางส่วนก็ัเลือกไว้ทำเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกฤดูกาลต่อไป บางส่วนที่เหลือก็นำไปแลกเกลือไว้ทำปลาแดก แลกผ้ามาทำเครื่องนุ่งห่ม  ที่เหลือเกินจึงนำไปขายเปลี่ยนเป็นเงินไว้ซื้อสิ่งของอื่นๆ พอมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจออกมา ทางราชการก็สั่งการผ่านผู้ใหญ่บ้านไปยังประชาชน ให้เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น โดยการเร่งบำรุงดินด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (หนี้แรกเริ่มมา) ทำนาอย่างเดียวไม่พอต้องทำอย่างอื่นด้วย ทั้งไร่ปอ ข้าวโพด มันสำปะหลัง เลี้ยงไก่ เป็ด และสุกร ตามเพลงนั่นแหละเพื่อเงิน เงิน เงิน

ploog por 1

ปอกระเจา

ปอกระเจา (jute) ที่ปลูกกันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปอกระเจาฝักยาว (tossa jute) และปอกกระเจาฝักกลม (whitejute) ปอกระเจาทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชในวงศ์ทิเลียซีอี (Tiliaceae) สกุลคอร์โครุส (Corchorus) แหล่งกำเนิดของปอกระเจานั้น สันนิษฐานว่า ปอกระเจาฝักยาวมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา แล้วแพร่กระจายมายังทวีปเอเชียตอนใต้ ส่วนปอกระเจาฝักกลมมีแหล่งกำเนิดอยู่ในอินโด-พม่า (แถบประเทศที่อยู่ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

por krajao 01

ปอกระเจา พบว่ามีอยู่แพร่หลายในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานการนำเข้า พบขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณดินที่ชื้นแฉะใกล้ๆ น้ำ หรือพบเห็นเป็นวัชพืชในสวนผลไม้ ต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร นอกจากนี้ก็มีการปลูกริมฝั่งแม่น้ำในเขตภาคกลาง และภาคตะวันออก สาเหตุที่กสิกรนิยมปลูกปอกระเจาฝักกลม เพราะในช่วงสุดท้ายของการเจริญเติบโต สามารถทนน้ำท่วมได้สูงถึง 80 เซนติเมตร ส่วนปอกระเจาฝักยาวเท่าที่สำรวจเป็นพันธุ์พื้นเมือง ไม่ได้ปลูกกันอย่างแพร่หลาย การใช้ประโยชน์จากปอกกระเจาส่วนใหญ่จะนำมาลอกเป็นปอกลีบ ขูดผิวตากแห้ง ทำเป็นเชือกในลักษณะต่างๆ

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก จึงต้องใช้กระสอบในการบรรจุและขนส่ง ในอดีตต้องสั่งซื้อกระสอบจากต่างประเทศเข้ามาใช้งาน ในปี พ.ศ. 2482 กรมเกษตรและการประมง จึงได้สำรวจแหล่งพื้นที่ปลูกปอกระเจาพบว่า มีการปลูกบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และตามริมแม่น้ำในท้องที่ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ทำการทดลองการฟอกปอให้ได้เส้นใยนำไปทอกระสอบ จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมา จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีกับสุโขทัยบางตอน

por krajao 02

หมายเหตุ : ใบปอ ที่นำมาทำเป็นอาหารอย่าง ใบปอผัด มาจาก ปอกระเจาฝักกลม

ปอแก้ว

ปอแก้ว (Kenaf) ที่ปลูกกันในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ปอแก้วไทย (Thai Kenaf or roselle) หรือที่เรียกว่า "ปอแก้ว" ในปัจจุบัน และปอคิวบา (Cuban Kenaf) ทั้งปอแก้วและปอคิวบา เป็นพืชในวงศ์มัลวาซีอี (Malvaceae) เช่นเดียวกับฝ้าย และอยู่ในสกุลเดียวกันคือ ไฮบิสคุส (Hibiscus) แต่ต่างชนิดกัน ส่วนปอคิวบามีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ประเทศแองโกลา ซึ่งภูมิประเทศมีลักษณะร้อนชื้น

ปอแก้ว เป็นปอพื้นเมือง ซึ่งปลูกกระจัดกระจายในแอฟริกาและอินเดีย มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันตกของประเทศซูดาน เป็นพืชให้เส้นใยที่ได้จากเปลือกของลำต้น รู้จักกันดีในอียิปต์ และอินเดีย มาหลายศตวรรษแล้ว ต่อมาปลูกกันแพร่หลายในทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา มีลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาน้อยมาก จึงตั้งชื่อย่อยว่า แอลติสซิมา (Var. altissima) ซึ่งได้ปลูกแพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย เพื่อใช้ผลิตกระสอบป่านบรรจุธัญพืช และน้ำตาลทราย ปอแก้วมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ใช้กลีบรองดอกเป็นอาหารที่เรียกว่า กระเจี๊ยบ และชนิดที่ใช้เปลือกทำเส้นใยสำหรับใช้งาน

ปอแก้ว ก็ถูกเลือกให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญตัวหนึ่งที่นิยมปลูกในภาคอีสาน เพราะปอเป็นพืชที่ปลูกไม่ยากเลย เพียงแต่หาพื้นที่ป่าละเมาะที่น้ำท่วมไม่ถึง (นาโคก) มาถางให้โล่ง เตียน ไถพรวนสักหน่อย พอเข้าเดือนเมษายนก็นำเมล็ดปอไปหยอดในหลุม (ที่ขุดด้วยจอบ หรือเสียม หรือไม้ปลายแหลม) หลุมละ 3 - 4 เมล็ด เกลี่ยดินมากลบ เหยียบให้แน่น พอสิ้นสงกรานต์เริ่มมีฝนโปรยลงมาบ้าง ปอก็เริ่มงอก ได้แดดดีๆ และความชื้นจากละอองฝน ปอก็จะงดงามได้โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยใดๆ มากนัก

ploog por 3

พอช่วงพฤษภาคม - มิถุนายน ต้นปอสูงประมาณหัวเข่า เกษตรกรจะเริ่มดายหญ้า (ภาษาอีสานเรียก "เสียหญ้า" เสีย คือการทำลาย) ทางโคราชจะเรียก "ดายหุ่น" หรือ "ทำรุ่น" บางถิ่นเรียก "เอาหุ่น" ซึ่งก็คือการ "ดายหญ้า" ในภาคกลางนั่นเอง เพื่อไม่ให้หญ้าแย่งอาหารจากต้นปอนั่นเอง ศัตรูพืชพวกแมลงก็ไม่มี จะมีและต้องระวังคือ วัว ควาย นั่นเอง ที่อาจจะมากินป่าปอราบพนาสูญได้

แล้วก็ถึงฤดูลงทำนาเราก็จะทิ้งป่าปอไว้ ไปจัดการเรื่องปักดำนาให้เสร็จสิ้น พอสิ้นฝนประมาณต้นตุลาคม - พฤศจิกายน ก็ได้เวลาของการตัดปอแล้ว ต้นปอที่แก่แล้วจะมีลำต้นขนาดสูง 2.5 - 3 เมตร เปลือกหุ้มต้นจะหนา การตัดก็เพียงใช้มีดอีโต้คมๆ ฟันฉับเฉียงๆ ที่โคนต้น แล้วรวบรวมมามัดรวมกัน มัดหนึ่งๆ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 - 12 นิ้ว นำมากองรวมกันไว้ (ปกติการตัดปอจะไม่นิยมการลงแขก แต่จะเป็นการจ้างแรงงานเพื่อกระจายรายได้ในหมู่บ้าน ครัวเรือนใดมีแรงคนมากก็ไม่ต้องจ้าง)

จากนั้นก็จะทำการขนย้ายมัดลำปอไปแช่น้ำในแหล่งน้ำหัวไร่ ปลายนา หรือที่สาธารณะ เช่น ลำคลองข้างถนนหนทาง เป็นต้น (แต่จะไม่แช่ในหนองน้ำสาธารณะที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค) โดยปกติลำปอจะมีเนื้อไม้ที่เบา ไม่จมน้ำ การนำมัดลำปอไปแช่จึงต้องใช้ขอนไม้ที่มีน้ำหนักมากทับลำปอให้จม หรืออาจใช้ก้อนหิน ดินโคลนถ่วงน้ำหนักเพิ่ม แช่ไว้ประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ ตัวเยื่อเปลือกของต้นปอจะเปื่อยยุ่ย เหลือแต่เส้นใยปอที่เหนียวนุ่ม แข็งแรง การแช่ปอนี้เมื่อเกิดการเน่าเปื่อยของเปลือกลำปอ ก็จะส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว สามารถสัมผัสกลิ่นได้ไกลกว่าระยะ 50 เมตรทีเดียว

ploog por 4

ขั้นตอนต่อไปที่สุดคลาสสิกมากคือ "การลอกปอ" เพราะผู้ทำงานนี้จะได้รับทั้งวิตามินดีจากแสงแดดเต็มๆ และกลิ่นเหม็นรุนแรงจากมัดลำปอนั่นเอง ผู้เขียนเองก็เคยผ่านมาแล้ว จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะพ่อกับแม่จะให้รางวัลชุดนักเรียนใหม่เมื่อขายปอได้ หรือชุดเอาบุญ (ใส่เที่ยว) ใหม่ด้วย ถ้าขายได้เงินเยอะ แต่ละคนก็จะหาทำเลเหมาะๆ ริมฝั่งน้ำที่สะดวกในการดึงมัดลำปอขึ้นมาบนฝั่ง ตัดเชือกมัดหัว กลาง ท้ายมัด ให้ขาด จากนั้นหยิบลำปอขึ้นมาสัก 3 - 4 ลำต้น ใช้เล็บมือจิกดึงเอาใยปอออกมารวมกัน แล้วดึงจากโคนต้นไปยังปลาย นำเอาใยปอมาวางเรียงกันไว้ แยกเอาลำปอเปล่าๆ ทิ้งไปอีกด้าน

ploog por 2

เมื่อได้ใยปอมากพอประมาณก่อนที่เปลือกปอจะแห้ง ก็จะหอบนำไปบริเวณน้ำที่สะอาด ทำการตีกับพื้นน้ำให้เยื่อเปลือกหลุดออกมา จนได้เส้นใยที่ใสสะอาด นำไปตากแดดให้แห้งต่อไป กว่าจะได้เส้นใยปอที่ดีมีราคาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องขยันอดทน ทำงานละเอียดทีเดียว ใจร้อนการลอกปอก็จะหลุด ขาดเป็นช่วงๆ ได้เส้นใยไม่ยาว หรือใจเย็นจนปล่อยให้เปลือกปอแห้งตอนเอาไปล้างก็จะไม่สะอาด ทำงานซ้ำซ้อนอีกหลายรอบ รวมทั้งการได้กลิ่นเหม็นติดตัว เสื้อผ้า หน้าผม สมัยนั้นยังไม่รู้จักการใช้ผ้าปิดปาก จมูก หรือถุงมือดอกครับ ที่ทนทำก็เพื่อเงินล้วนๆ

ploog por 7

สภาพถนนหนทางเมื่อ 40 ปีก่อน สองข้างทางกำลังลอกปอ ภาพจากภาพยนตร์ "ครูบ้านนอก 2521"

ความบันเทิงที่มีในการลอกปอก็จะได้จากการฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ เพลงลูกทุ่ง หมอลำ หรือละครวิทยุ หมู่บ้านไหนมีคนเชี่ยวชาญทางร้อง ทางลำก็จะขับร้องกลอนลำ กลอนสอย กลอนเพอะ (เรื่องทางเพศ) สนุกสนานกันไปทั้งวัน ค่าจ้างลอกปอในสมัยนั้นผู้เขียนเคยได้มัดละ 6 สลึง ถึง 2 บาท คนที่เก่งๆ ก็จะได้รับค่าจ้างวันละ 20 - 30 บาททีเดียว

ploog por 5

เมื่อตากปอจนแห้งแล้วก็จะนำมามัดเป็นโค่น (ม้วนใหญ่) น้ำหนักประมาณโค่นละ 100 - 150 กิโลกรรม นำส่งขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อถึงบ้าน ใยปอจะถูกส่งไปเข้าโรงงานทอกระสอบ สมัยนั้นจะอยู่ที่แถวอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน เมืองโคราชโน่น กลายมาเป็นกระสอบป่านใส่ข้าวเปลือก ข้าวสารดังที่เห็นนั่นแล

ความเหม็นของการแช่ปอ ลอกปอ เสื้อผ้า เส้นผม ไปจนถึงโรงเรียน บรรดาเพื่อนๆ ก็จะทำหน้าเหยเก แหย่เพื่อนๆ ว่า ตัวเหม็น แต่ก็ไม่โกรธกัน คุณครูก็ไม่ดุว่าอะไร กลับยกย่องเสียอีกว่า "มีความขยันช่วยงานทางบ้าน รู้จักหาเงินมาใช้จ่ายช่วยครอบรัว เป็นตัวอย่างที่ดี" แต่ควรอาบน้ำ สระผมให้สะอาด ซักเสื้อผ้าให้สะอาดตากแดดจัดๆ ให้แห้งจะได้ไม่มีกลิ่นเหม็นติดตัว

ploog por 6

นอกจากนั้น น้ำแช่ปอที่มีกลิ่นเหม็นนั้นยังส่งผ่านไปยังสัตว์น้ำที่อาศัยในแหล่งน้ำนั้นด้วย พอน้ำแห้งขอดพวกเราชาวบ้านก็จะไปหา "ปลาข้อน" คือ ปลาที่รวมกันอยู่บริเวณน้ำลดใกล้จะแห้ง (ภาษากลาง ปลาตกคลัก) ปลาที่อึด ทน อย่างพวก ปลาดุก ปลาเข็ง (หมอ) ปลาค่อ (ช่อน) ปลาหลด ก็จะรวมกันอยู่เราก็เอาสวิงไปช้อนเอามาล้างน้ำ ทำอาหารกินกัน (แม้กลิ่นของน้ำแช่ปอในตัวปลาจะยังมีอยู่) การจะให้กลิ่นเน่าของลำปอหายไป คงต้องเอาปลาไปแช่น้ำเลี้ยงในกระชังน้ำไหลผ่านเยอะๆ สักเดือน สองเดือนโน่นแหละกลิ่นถึงจะลดลงได้

วันนี้ การปลูกปอ เป็นอดีตไปแล้ว คือมีการปลูกน้อยลงในบางพื้นที่ เดินทางผ่านไปหลายๆ ที่ตามถนนหนทางก็ไม่ค่อยจะเห็นการแช่ปอ ลอกปออีกแล้วครับ ความรู้เรื่องการปลูกปอสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนไทย โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

pla kon
หาปลาข้อนกันยามแล้ง

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)