คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เกิดที่ย่านวัดป่าน้อย หรือวัดมณีวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2480 เป็นลูกคนที่ 2 ของนางผ่องจิต และนายทองคำ ศรีอักษร โดยมีพี่น้อง 3 คน เป็นหญิง 2 และชาย 1 โดย นวลพรรณ ศรีอักษร น้องสาวคนเล็ก ก็ดำเนินรอยตามพี่สาว โดยการเป็นนักร้อง และใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า พริ้ว แพรชมพู เจ้าของบทเพลง รักน้องจริง อย่าทิ้งน้องนะ ซึ่งเป็นเพลงดังในสมัยนั้น
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิไลวัฒนา พ่วงท้ายด้วยตำแหน่ง เทพีงานแห่ต้นเทียนพรรษา หลังจบการศึกษาชั้นต้น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เข้ากรุงเทพฯ ด้วยหวังที่จะศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร แต่เมื่อได้ศึกษาหลักสูตรของโรงเรียน และเห็นว่าเธอต้องกลับมาเริ่มเรียนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานใหม่ จึงเดินทางกลับบ้านโดยไม่ทันได้เขียนใบสมัคร
เมื่อจบการศึกษาชั้นต้นจากอุบลฯ "ศักดิ์ศรี" เข้ากรุงเทพฯ ศักดิ์ศรีมาเป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่ง เมื่อได้ข่าวทราบว่า ครูไพบูลย์ บุตรขัน ลงประกาศแจ้งความต้องการรับสมัครนักร้อง เพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอจึงไปสมัครและโชว์การร้องเพลง ร้องหมอลำ และการฟ้อนเพื่อเอาชนะใจครู
ในที่สุด ครูไพบูลย์ก็ให้เธอไปฝึกร้องเพลงอยู่กับ พิพัฒน์ บริบูรณ์ หรือ "อิง ชาวอีสาน" สักระยะหนึ่ง ซึ่ง "พิพัฒน์" นั้น เป็นหุ้นส่วนในการสร้างนักร้องกับครูไพบูลย์ และในระหว่างรอการบันทึกแผ่นเสียงนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสาวอุบลฯ กับนักธุรกิจทำแผ่นเสียงก็สุกงอม จนถึงขั้นแต่งงานกันในที่สุด
ปี 2500 "ศักดิ์ศรี" บันทึกเสียงเพลงชุดแรก 3 เพลง คือ "กระถินบนถระถาง" "เหนือฟ้าฝั่งโขง" และ "สาวฝั่งโขง" ซึ่งเป็นผลงานของครูไพบูลย์ และหลังจากนั้นเธอก็เดินสายร้องเพลงไปกับ วงดนตรี พิพัฒน์ บริบูรณ์ ซึ่งในยุคนั่นมีนักร้องในวงหลายคน อาทิ ชัยชนะ บุญนะโชติ, เพชร พนมรุ้ง, ชาย ชาตรี, นํ้าผึ้ง บริบูรณ์ และดาว มรกต หรือ สรวง สันติ
ระหว่างเดินสายร้องเพลง สองสามีภรรยาได้เก็บประสบการณ์จากการแสดงลำกลอน ซึ่งมีนำเอาเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมาเล่นล้อเลียน ทำให้พิพัฒน์นำพล็อตนี้มาเขียนเป็นเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ในภายหลัง
จากปี พ.ศ. 2502 - 2504 ทุกครั้งที่วงพิพัฒน์ บริบูรณ์ เปิดวิกทำการแสดงที่ใด "ศักดิ์ศรี" ก็จะออกมาร้องเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และได้รับการตอบรับจากแฟนกันล้นหลาม โดยเฉพาะข้าราชการสายปกครองที่ถูกพูดถึงในเนื้อหาของเพลงดังกล่าว
เมื่อหยั่งกระแสจนมั่นใจแล้ว พิพัฒน์จึงให้ภรรยาบันทึกแผ่นเสียงเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และตัวเขาใช้นามปากกา "อิง ชาวอีสาน" ในการแต่งคำร้อง ตอนแรกเขาสั่งตัดแผ่นออกขาย 300 แผ่น ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว
เพลงนี้ก็ทำให้ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร กลายเป็นตำนาน และปรากฏการณ์ของวงการเพลงลูกทุ่งไทยมาจวบจนถึงปัจจุบัน มันก็ทำให้เธอเป็นสาวอีสานคนแรกที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการลูกทุ่ง และก็กลายเป็นภาพพจน์ประจำตัวของเธอไปตลอดชีวิต เพราะเมื่อใครได้ฟังคำว่า “หมาน่อยธรรมดา“ คนที่รู้จักก็คงจะนึกถึงเธอ และยิ้มกันออกทุกครั้งไป ความดังของเพลง ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อวงจาก วงดนตรีพิพัฒน์ บริบูรณ์ เป็น วงดนตรีศักดิ์ศรี ศรีอักษร
"เพลงผู้ใหญ่ลี" โด่งดังในช่วงประมาณปี 2504 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สะท้อนให้เห็นถึง การสื่อสารระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านอย่างมีอารมณ์ขัน ซึ่งดัดแปลงมาจาก "รำโทน" เนื้อหาเป็นเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางวงเคยนำมาร้องล้อเลียนและได้รับความนิยมมากมาย
"ผู้ใหญ่ลี" คือ สัญลักษณ์ในชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของ อิง ชาวอีสาน หรือ ครูพิพัฒน์ บรืบูรณ์ สามารถนำข้อเท็จจริงในสังคมยุคสมัยนั้น สะท้อนผ่าน "ดนตรี" ฉายให้เห็นภาพอดีตที่สังคมไทยมีการประกาศใช้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรก 2503" มีการปรับปรุงแก้ไขปี 2504 ในสมัยนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้พันธกิจ "ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย" โดยมุ่งนำความเจริญสู่พื้นที่ชนบท จนชาวบ้านพูดติดปากว่า "ยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"
"ทักษ์ เฉลิมเตียรณ" เขียนบันทึกเรื่อง "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" เนื้อหาช่วงหนึ่งได้ยกสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ สะท้อนการเมือง "ยุคผู้ใหญ่ลี" ว่า "ท่านคงจะได้เห็น หรืออาจจะรู้สึกรำคาญที่ข้าพเจ้าสนใจเรื่องพัฒนาการอยู่ทุกวันทุกเวลา ข้าพเจ้าทำในสิ่งที่เคยมีบางท่านทักท้วงว่าไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เช่น ความสะอาด ถนนหนทาง ร้านตลาด แม่น้ำลำคลอง ความเป็นไปในหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องส้วม"
ทว่าสาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ไม่ใช่ถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอก หากเป็น "ภูมิปัญญาของครูพิพัฒน์" ที่มีความฉลาดล้ำลึก สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย สะท้อนการพัฒนาชนบทของรัฐและกลไกของรัฐ
ที่สำคัญ "สะท้อนความผิดพลาดในการสื่อสาร" อีกทั้งยัง "สะท้อนการศึกษาที่ล้าหลังของประชาชนในภาคอีสาน" ตลอดจนสะท้อนความเข้าใจที่ต่างระดับ ระหว่าง "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" กับ "ผู้นำชาวบ้าน" และ "ชาวบ้าน" ได้อย่างลึกซึ้งและงดงาม
อย่างที่ "แวง พลังวรรณ" เรียบเรียงไว้ใน "อีสานคดีชุด ลูกทุ่งอีสาน" อธิบาย "ปรากฏการณ์ผู้ใหญ่ลี" ว่า "ผู้แต่งจะเป็นใครก็ช่างเถิด แต่สิ่งที่ได้รังสรรค์จนเป็นคำร้องเพลงผู้ใหญ่ลีนั้น มันล้ำลึก ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนผู้มีทักษะในการแต่งเพลงลูกทุ่งธรรมดา เกินกว่าที่คนคลุกคลีสัมผัสชีวิตของชาวอีสานเพียงผิวเผิน เกินกว่าที่คนที่มีแนวคิดต่อการพัฒนาชนบทอย่างธรรมดาจะคิด และหยั่งไปถึง"
"สิ่งที่ควรยกย่องและสดุดีบุคคลทั้งสอง พิพัฒน์ บริบูรณ์ และศักดิ์ศรี ศรีอักษร (คนร้อง) เฉพาะหน้า ณ เวลานี้ และควรยกย่องได้อย่างสนิทใจ คือ ความกล้าหาญที่คนทั้งสองได้นำเอาเพลงผู้ใหญ่ลี ออกเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป นอกจากนี้ทั้งสองยังเป็นผู้ริเริ่มเอาเพลง และศิลปะการร้อง-ลำ ของชาวอีสานในรูปแบบต่างๆ ออกเผยแพร่และบันทึกไว้เป็นแผ่นเสียงให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและซาบซึ้ง"
ความโด่งดังของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ทำให้ไนต์คลับชื่อดังของกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ นักร้องลูกทุ่งอย่าง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ได้เข้าไปร้องขับกล่อมแขก ไม่ว่าจะเป็นที่ "มอนติคาร์โล", "แมนดาริน" หรือ "โลลิต้า" แต่เธอร้องอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็ต้องเลิกราไปเพราะแพ้ควันบุหรี่
นอกจากนี้ นักร้องสาวชาวอุบลฯ ก็ได้รับบทเป็นนางเอกหนังไทยให้กับ "อุษาฟิล์ม" ในปี 2507 เรื่อง "ลูกสาวผู้ใหญ่ลี" โดยเธอแสดงเป็นลูกสาวผู้ใหญ่ลี และมี ดอกดิน กัญญามาลย์ รับบทเป็น "ผู้ใหญ่ลี"
หลายปีต่อมา กระแสผู้ใหญ่ลีซาความนิยมลง พิพัฒน์ก็ได้เปลี่ยนทำนองเพลงโดยใช้จังหวะวาทูซี่ ชื่อเพลง "ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่" และศักดิ์ศรีเป็นผู้ขับร้องเช่นเคย และอีกไม่กี่ปีถัดมา ถึงจุดอิ่มตัวของชีวิตการร้องเพลง พิพัฒน์และศักดิ์ศรีจึงยุบวงดนตรี
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ในวัย 68 ปี เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตและโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยครอบครัวได้นำศพไปประกอบพิธีที่วัดสะพานใหม่ดินแดน ฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 16.00 น.
ส่วนครูเพลงคนดังในอดีตอย่าง “พิพัฒน์ บริบูรณ์” คู่ชีวิตของ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เป็นชาวกรุงเทพฯ เติบโตในย่านวรจักร ครอบครัวมีอาชีพทำทองรูปพรรณ จึงมีคนสงสัยว่า เขาเป็นคนแต่งเพลงผู้ใหญ่ลีจริงหรือ?
ลูกจีนย่านวรจักรคนนี้ ไม่คิดจะเดินตามรอยบรรพบุรุษที่เป็นช่างทอง เพราะเขาอยากเป็นนักร้อง หลังจบ ม.6 พิพัฒน์มุ่งหน้าไปหา ครูไพบูลย์ บุตรขัน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ด้วยหวังที่จะเป็นนักร้อง แต่ตอนนั้น เขาแอบแต่งเพลง จึงนำเพลงที่ตัวเองแต่งไปร้องให้ครูไพบูลย์ฟัง พิพัฒน์จึงเลือกเป็นนักแต่งเพลง แต่กว่าจะได้รับการยอมรับจากห้างแผ่นเสียง ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เมื่อนายห้างแผ่นเสียงซื้อเพลงเขาไปให้นักร้องบันทึกแผ่นเสียง เขาก็เรียนรู้วิธีการทำแผ่นเสียงขาย ไม่นานนัก เขาร่วมกับครูไพบูลย์ทำแผ่นเสียงขายเอง
จุดเปลี่ยนของชีวิตคือ การที่พิพัฒน์ได้รู้จักกับ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร สาวอุบลราชธานี ที่มีใจรักด้านการฟ้อนและการขับร้อง จึงได้มาเรียนการร้องเพลงกับพิพัฒน์ และกลายเป็นคู่ชีวิตของหัวหน้าวงดนตรีพิพัฒน์ บริบูรณ์ ทั้งคู่ช่วยพัฒนาวงดนตรี จนเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลง และศักดิ์ศรีได้เป็นนักร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง ด้วยการสนับสนุนของเขา
พิพัฒน์ บริบูรณ์ ยังถือว่าเป็น นักผลิตมาสเตอร์เพลง (แผ่นเสียง) มากที่สุดคนหนึ่งโดยมีมาสเตอร์เพลงลูกทุ่งและลูกกรุงอยู่กว่า 300 มาสเตอร์ อาทิ ชรัม เทพชัย, จินตนา สุขสถิตย์, สมจิต ตัดจินดา, ชาญ เย็นแข, สุเทพ วงศ์คำแหง, สวลี ผกาพันธ์, ทูล ทองใจ, ชัยชนะ บุญนโชติ, วงจันทร์ ไพโรจน์, เพลิน พรหมแดน, รุ่งฤดี เพ่งผ่องใส, นริศ อารี, ยอดรัก สลักใจ, ดาวใจ ไพรจิตร, ดอน สอนระเบียบ, ผ่องศรี วรนุช, ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ฯลฯ
ผู้ใหญ่ลี, รอยรักในอารมณ์, ฉันจนใจ, ฝนหนาวสาวครวญ, เสือกับหญิง, แล้วจะรู้ว่าพี่รัก, เหนือดวงชีวา, รามสูร, แอ่วสาวกอด, สาวฝั่งโขง, รักสุดหัวใจ, สาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สงกรานต์, รักเหนือหัวใจ, ชีวิตคนเศร้า, ตามองตา, เดือนดารา, ใกล้เข้าอีกนิด ชิดเข้ามาอีกหน่อย, หนุ่มสุพรรณฝันเฟื่อง, บางกอกน้อย, รักจนขาดใจ, กระท่อมปลายนา ฯลฯ
พิพัฒน์ บริบูรณ์ นามแฝงแต่งเพลง "อิง ชาวอีสาน" หรือ สมบัติ เพชรลานนา นั้นได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 ด้วยวัย 76 ปี ส่วนพิธีการฌาปนกิจศพนั้น มีการตั้งบำเพ็ญกุศลที่ วัดตะพาน สามเหลี่ยมดินแดง กรุงเทพมหานคร
ผู้ใหญ่ลี - ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (ต้นฉบับ)
ในตำนานเพลงลูกทุ่ง ต้องยอมรับว่าเพลง "ผู้ใหญ่ลี" เป็นเพลงอมตะ และน่ารักอีกเพลงหนึ่งของวงการลูกทุ่งไทย และมีอานุภาพมากที่สุดเพลงหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนโน้น ทั้งยังเป็นเพลงที่แวดวงวิชาการพูดถึงบ่อยๆ “ผู้ใหญ่ลี” เป็นเพลงลูกทุ่งเสียดสีสังคม ที่โด่งดังในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสาร ระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านอย่างมีอารมณ์ขัน ประโยคที่ว่า สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา นั่นคือบุคลิกอมตะของผู้ใหญ่ลี ที่เซ่อๆ ไม่รู้แม้กระทั่งความหมายของคำว่า ''สุกร'' ที่ทางราชการสั่งมา ขณะเดียวกันก็เป็นการล้อเลียน คนอีสาน ซึ่งถือกันโดยทั่วไปว่า เป็นตัวแทนของคนบ้านนอกทั่วประเทศไทยด้วย
ผู้ใหญ่ลีเป็นเรื่องเล่า ที่ล้อเลียนการสื่อความหมายของข้าราชการกับชาวบ้าน ในยุคที่เริ่มประกาศใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2504 เป็นการเตือนข้าราชการว่า ไม่ควรใช้ศัพท์แสงที่ผู้ฟัง โดยเฉพาะชาวบ้านทั่วไปอาจจะฟังไม่เข้าใจ เพราะเมื่อฟังไม่เข้าใจเสียแล้วก็ย่อมเอาไปตีความหมายผิดๆ ทำให้การพัฒนาผิดเป้าหมายไปได้
จากเรื่องเล่าที่ล้อเลียนการตีความหมายผิด ที่กลายเป็นเพลง “รำโทน” และการละเล่นแบบชาวบ้านในแถบอีสานอื่นๆ แล้ว ในที่สุด มันก็กลายเป็นเพลงที่ดังไปทั่วประเทศ
เพลงผู้ใหญ่ลี ได้รับเลือกเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นจากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2534
เพลงนี้ถูกนำมาดัดแปลง และบันทึกเสียงใหม่อีกหลายครั้งโดยนักร้องคนอื่นๆ และถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารกรุงไทย ชุดไม้จิ้มฟัน เมื่อ พ.ศ. 2547 โดย มีศักดิ์ นาครัตน์ เป็นผู้ร้องเพลงประกอบ แต่ก็ยังถูกประท้วงจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านถูกเสียดสีเรื่อง การเอาไม้ทั้งต้นมาทำเป็นไม้จิ้มฟัน จนต้องออกมาร้องเรียนว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านสมัยนี้ไม่ได้โง่ๆ เซ่อๆ อย่างในหนังโฆษณา
กรุงไทยผู้ใหญ่ลี - โฆษณาล้อเลียนเพลงผู้ใหญ่ลี
บทความในนิตยสาร สกุลไทย ฉบับที่ 2599 ปีที่ 50 ประจำวันอังคาร ที่ 10 สิงหาคม 2547 ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เพลงนี้น่าจะมีข้อผิดพลาดยู่หลายประการด้วยเช่น คำว่า “ตีกลอง” คำที่ถูกต้อง หากพิจารณาจากภาษาถิ่นที่น่าจะเป็นต้นกำเนิดของเพลง น่าจะเป็น “ตีกะลอ” หรือ "ขอลอ" ซึ่งมาจากคำว่า “ตีเกราะ" โดยในสมัยก่อนผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันมักตีเกราะเรียกประชุมลูกบ้านเป็นประจำ ส่วนกลองนั้นเป็นเครื่องสัญญาณที่พระใช้ตีบอกเวลาเพล
แต่ที่ผู้แต่งไม่ใช้เกราะ หรือ ขอลอ หรือ กะลอ อาจจะมีเหตุผลอื่น เช่น แถวบ้านผู้แต่งอาจใช้กลองเรียกประชุม หรือมิฉะนั้นก็อาจจะหลีกเลี่ยงคนสัปคนจะแปลงเพลงจาก “กะลอ” เป็นคำอื่นที่หยาบคายก็เป็นได้
ส่วนคำว่า “ตาสีหัวคลอน” นั้น ภาษาเพลงดั้งเดิมเขาใช้ว่า “ตาสีหัวงอน” หมายถึงคนที่มีศีรษะงอน คือศีรษะเรียวยาวและช้อยหรือโง้งขึ้นบน ส่วนคำว่า “(หัวสั่น) หัวคลอน” น่าจะเป็นอากัปกิริยาของคนที่ต้องนั่งรถ หรือนั่งเกวียนไปบนถนนหนทางที่ไม่ราบเรียบ (เช่น วันนี้นายอำเภอนั่งรถจิ๊ปมาประชุมที่หมู่บ้าน ก็นั่งหัวควย (หัวโยก/สั่น/คลอน) อยู่ ขนาดนั่งเบาะหน้า) ไม่ใช่นั่งฟังผู้ใหญ่บ้านประชุม ทางผู้แต่งจึงอาจจะบิดเบือนแปลงภาษาไป เพราะอาจไม่รู้จักคน “หัวงอน” ก็อาจเป็นได้
ส่วนคำสำคัญอย่างคำว่า “หมาน้อย” นั้น แต่เดิมชาวบ้านเขาใช้ว่าคำว่า “ม้าน้อย” โดยคำว่า “ม้าน้อย” นั้น เป็นคำเรียก “หมา” อย่างล้อเลียน ซึ่งตรงกันข้ามกับ “ม้าใหญ่” ซึ่งคือม้าทั่วๆ ไป โดยเวลาใครที่อุตริกินเนื้อหมา ชาวบ้านก็จะพูดหลีกเลี่ยงไปว่ากิน “ม้าน้อย” เพื่อเลี่ยงคำว่าหมา เพราะชาวไทยทั่วๆไป ยังรับไม่ได้ที่คนจะกินเนื้อหมา คำว่า “หมาน้อย” ในเพลงนั้น ที่ถูกต้องจึงควรเป็น “ม้าน้อย” แม้ว่าความจริงจะหมายถึง “หมา” ก็ตาม ขณะที่การเรียก “หมา” ตรงๆ นั้นผิดกับเรียก “ม้าน้อย” ที่เป็นการ “เล่นคำ” อย่างใช้ภูมิปัญญา ไม่ใช่เรียกตรงๆ ทื่อๆ
อีกประการหนึ่ง เพราะว่าเดิมที เรื่องนี้มาจากถิ่นอีสานนั่นเอง คำว่า “ม้าน้อย” ในภาษากลาง หากจะออกเสียงอย่างชาวอีสานแท้ก็ต้องออกเสียงว่า “ม่าน้อย”
แต่หากมาคิดอีกที สำหรับคนภาคกลาง ผมว่า คำว่า “หมาน้อย“ ขำกว่า “ม้าน้อย“ อยู่มากทีเดียว
เพลงผู้ใหญ่ลี ดังไกลไปถึงอเมริกา ร้องโดย หลุยห์ เคนเนดี้
และจากอิทธิพลของเพลงผู้ใหญ่ลี ทำให้ นงไฉน ปริญญาธวัช หรือ กาญจนา นาคนันทน์ ประพันธ์ผลงานอันเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้ อย่าง “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา“ ออกมา ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าว ก็ถูกหยิบยกมาทำเป็นละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์แล้วหลายครั้ง และก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน
กาญจนา นาคนันทน์ กำหนดให้เนื้อเรื่องดำเนินไปในเขตภาคกลาง ซึ่งเป็นถิ่นที่บรรพบุรุษของท่านผู้เขียนได้มาตั้งรกราก แทนที่จะเป็นภาคอีสาน และให้ผู้ใหญ่ลี เป็นคนหนุ่มมีการศึกษา ไม่ใช่เป็นคนบ้านนอกและไม่มีความรู้ อย่างผู้ใหญ่ลีในบทเพลง
ผู้เขียนบอกว่า "ด้วยความประทับใจกับบรรยากาศแถบบ้านนอกของภาคกลาง ประกอบกับต่อมาเมื่อได้ฟังเพลง "ผู้ใหญ่ลี" เลยอยากเปลี่ยนบุคลิกผู้ใหญ่ลีเสียใหม่ จึงเริ่มแต่งนิยายเรื่องนี้ออกมาในปี 2506 และแต่งเสร็จในอีก 2 ปีต่อมา
ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่ - ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
ส่วนผู้ใหญ่ลีในชีวิตจริงของภาคนิยายนั้นเป็นครู โดยเป็นลูกของนางปุย และไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหรือทำนาแต่อย่างใด โดยครั้งหนึ่งนางปุยได้มาปรึกษาผู้เขียนเรื่องลูกชายจะไปเรียนต่อ แต่ไม่รู้จะให้เรียนสาขาไหนดี ผู้เขียนจึงแนะนำให้ไปเรียนด้านการเกษตร เพราะจะได้นำความรู้ที่ได้มาใช้พัฒนาที่ดินที่ไร่ของที่บ้านได้ แต่ลูกชายนางปุยไม่ชอบ เพราะเห็นว่าอาชีพชาวนาลำบากจึงไปเรียนวิชาครูแทน ผู้เขียนรู้สึกว่าขัดใจ ก็เลยตั้งใจว่าจะจับลูกชายนางปุยให้มาเป็นชาวนาให้ได้ (ในจินตนาการ )"
ความในใจของ Louise Kennedy กับการนำเสนอเพลงผู้ใหญ่ลี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)