คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ปอง ปรีดา เป็นนักร้องลูกทุ่งเสียงดี มีความพิเศษตรงที่ร้องเพลงเสียงสูงได้ดี เนื่องจากมีปอดที่ใหญ่ เขาเคยประกาศประโยคเด็ดว่า “กูเกิดมาเพื่อร้องเพลง” นอกจากนั้นก็ยังนักแต่งเพลงฝีมือดีจากดินแดนที่ราบสูง เขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงเอาไว้มากมาย และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักดินแดนบ้านเกิดอย่างยิ่ง เมื่อเป็นผู้ที่ร้องเพลงที่บอกเรื่องราวถึง "แม่น้ำโขง" เอาไว้มากที่สุดในประเทศไทย ปอง ปรีดา มีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง “สาวฝั่งโขง"
ปอง ปรีดา มีชื่อจริงว่า คำปัน ผิวขำ เกิดเมื่อปี 2475 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาชั้น ม. 2 (ระบบเก่า) แผนกช่างไม้ โรงเรียนช่างไม้ขอนแก่น (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น) ซึ่งในระบบนี้ ระดับชั้นสูงสุดคือ ม. 3 ปอง ปรีดา ให้เหตุผลที่ไม่เรียนให้จบว่า ขี้เกียจเรียน ขณะที่ลึกๆ อาจจะเป็นเพราะการอยากเป็นนักร้อง
ปอง ปรีดา ชื่นชอบเพลงของ สมยศ ทัศนพันธุ์ อย่างมาก และจะคอยจำเนื้อเพลงจากรถขายยาที่เข้ามาในหมู่บ้าน หรือไม่ก็จากหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน นอกจากนั้น เขาก็ยังตระเวนร้องเพลงประกวดตามเวทีต่างๆ และก็กวาดรางวัลมาได้เสียมากมาย ด้วยความช่วยเหลือของเพลง “บทเรียนชีวิต” และ “เสน่ห์แม่นาง" ของสมยศ ทัศนพันธุ์
เมื่อมีความมั่นใจมากขึ้น ปอง ปรีดา หนุ่มรูปร่างผอมดำ ก็ตัดสินใจเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อตามหาฝันในการเป็นนักร้องของเขา ด้วยความช่วยเหลือของพนักงานไฟฟ้าที่มาที่หมู่บ้าน เพื่อสำรวจติดตั้งไฟฟ้า เมื่อมาถึงกรุงเทพ พนักงานไฟฟ้าคนนั้นก็พา ปอง ปรีดา มาฝากที่ วงดนตรีสมยศ ทัศนพันธุ์ และวงอื่นๆ อีกหลายวง แต่ก็ถูกปฏิเสธเสียทั้งหมด จนผู้อุปการะต้องยอมโบกธงเลิกรา (บางตำราบอกว่าเขาเคยมาสมัครเป็นนักร้องวงดุริยางค์ทหารอากาศด้วย) และปอง ปรีดา ต้องไปขายแรงงานเป็นกรรมกรโรงเลื่อย ที่ย่านเกียกกาย เพื่อหาเลี้ยงชีพ และต่อมาเมื่อ ครูสุดใจ เจริญรัตน์ ครูมวยแห่ง ค่ายมวยเกศสงคราม เห็นแวว จึงชวนมาหัดชกมวย เขาหารายได้เสริมด้วยการตระเวนชกมวยในเมืองหลวง และปริมณฑลในชื่อ “วิเชียร ศิษย์จำเนียร“ (บางแล่งข้อมูลก็บอกว่า สิงห์น้อย เกศสงคราม) และมีสถิติการชก 25 ครั้ง ไม่เคยแพ้ใคร โดยครั้งแรกชนะน็อคที่บ้านแพน
แต่ ปอง ปรีดา มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องมากกว่านักมวย ในชีวิตยืนยันกับตัวเองเรื่อยมาว่า "กูเกิดมาเพื่อร้องเพลง" จึงตัดสินใจเลิกชก และตระเวนประกวดร้องเพลงต่อ ก่อนจะมาขออาศัยอยู่กับพระที่วัดบางอ้อ ต่อมาได้ไปเป็นคนงานส่วนโยธา กรมช่างอากาศบำรุง แถวบางซื่อ แต่ก็มักจะหลบงานเพื่อออกไปประกวดร้องเพลงตามงานวัดแถวๆ นั้น และก็มักจะคว้ารางวัลมาเป็นประจำ หลังจากตระเวนประกวดอยู่ระยะหนึ่ง และกลับมามีความมั่นใจมากขึ้น ก็วานเพื่อนให้พาไปฝากกับ ครูนารถ ถาวรบุตร หัวหน้าวงดนตรีโรงงานยาสูบ ที่คลองเตย และก็มีโอกาสได้อยู่รับใช้ครู พร้อมกับติดตามไปกับวงดนตรี และได้ร้องเพลงเมื่อนักร้องขาด จนถึงขั้นได้ร้องเพลงออกอากาศที่กรมประชาสัมพันธ์ และก็ฝันที่จะได้เป็นนักร้องอัดแผ่น ระหว่างนั้น วิม อิทธิกุล และ สกล เรืองสุข ได้ร่วมกันแต่งเพลง "เขมรพวง" ให้ร้องด้วย
แต่ไม่ถึง 2 ปีต่อมา เมื่อมารู้ความจริงว่า โรงงานยาสูบ ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้นักร้องบันทึกเสียง ประกอบกับความไม่ชัดเจนในรายได้ ปอง ปรีดา จึงออกมา และมาที่ โรงเรียนสหมิตรดนตรี ที่ครูดนตรีชื่อดังของเมืองไทยราว 50 คนได้ร่วมกันตั้งขึ้น โรงเรียนแห่งนี้เป็นแผนกหนึ่งของ บริษัท สหมิตรดนตรี จำกัด ที่ทำธุรกิจ ผลิตเพลง ทำแผ่นเสียง และขายเครื่องดนตรีเป็นหลัก แต่ ปอง ปรีดา ก็ถูกที่นี่ปฏิเสธ แต่ด้วยความเชื่อมั่นในบรรดาครูเพลงเหล่านี้ เขาก็ทนหน้าด้าน หอบข้าวของมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียน โดยเสนอตัวทำงานรับใช้ทุกอย่าง ด้วยความขยันขันแข็งเพื่อหวังสร้างความประทับใจ ขณะที่บางครั้งตัวเองก็ต้องอดข้าวอดน้ำ ถ้าไม่มีใครเมตตามอบข้าวน้ำให้
หลังจากทนอยู่ระยะหนึ่ง ครูนคร ถนอมทรัพย์ หรือ กุงกาดิน เกิดความสงสาร และเมื่อทดลองให้เขาร้องเพลงที่ร้องยาก ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ครูจึงตัดสินใจนำเขาไปแนะนำกับ ครูมงคล อมาตยกุล และเอาไปฝากกับ “วงประเทืองทิพย์“ ของ ครูประเทือง บุญญประพันธ์ ซึ่ง ปอง ปรีดา อยู่รับใช้ครูประเทือง 2 ปี ก็มีโอกาสได้ร้องเพลงออกอากาศทาง สถานีวิทยุ สทร. ท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งครูประเทืองมีหมายการแสดงอยู่สัปดาห์ละครั้ง ขณะเดียวกันตามแผนปลุกปั้น ปอง ปรีดา ยังต้องคอยรับใช้ครูมงคลด้วย ซึ่งระหว่างนั้นครูนครก็แนะนำเรื่องการร้องเพลง เป่าแคน และการเลียนเสียงนกกา การเป่าใบไม้ เพื่อให้เขานำไปแสดงความสามารถให้ครูมงคลได้ชมถ้ามีโอกาส
ต่อมา ปอง ปรีดา ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ส่งแผ่นเสียงที่ผลิต ไปวางขายตามห้างแผ่นเสียง และเก็บเงินค่าแผ่นเสียง ต่อมาได้มีโอกาสเป่าแคน และทำเสียงเป่าปากในการบันทึกเสียงให้กับนักร้องหลายคน ที่ครูมงคลพามาบันทึกแผ่น รวมทั้ง สุรพล สมบัติเจริญ และ ทูล ทองใจ ขณะเดียวกันครูนคร ก็แนะนำให้เขาลองแต่งเพลงด้วย ซึ่งเพลงแรกที่เขาแต่งได้สำเร็จคือเพลง “กลับอีสาน“ และเป็นเพลงแรกที่เขาได้บันทึกเสียง
แต่เคราะห์กรรมก็ยังไม่หมดสิ้น เพราะเพลงนี้นอกจากจะไม่ดังแล้ว ยังถูกทางการห้ามเปิด เพราะกระแสความตื่นกลัวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสาน งานนี้ทั้ง ครูนคร และปอง ปรีดา ต่างก็ถูกครูมงคลดุเอาทั้งคู่
ต่อมาครูนครได้แนะนำให้เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับ "แม่น้ำโขง" โดยมีเนื้อหาชมความงามของผู้หญิง ตามแบบเพลง “เบิ่งโขง“ ของ เฉลิมชัย ศรีฤๅชา ซึ่ง ปอง ปรีดา ลองแต่งอีกครั้ง และได้ออกมาเป็นเพลง “สาวฝั่งโขง“ หลังได้รับการตรวจทานโดย ครูร้อยแก้ว รักไทย อยู่หลายครั้ง ครูมงคล ก็ตัดสินใจว่าจะลองดูกับลูกศิษย์คนนี้อีกสักครั้ง หลังจากที่ผิดหวังมาจากครั้งแรก แต่ในปี 2501 เพลงนี้ก็ได้พลิกชีวิตให้ ปอง ปรีดา ได้ขึ้นมาโลดแล่นในวงการจวบจนชีวิตเข้าสู่วัยชรา และเพลง "สาวฝั่งโขง" ก็ได้รับรางวัลพระราชทาน จากงาน "กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1" เมื่อปี พ.ศ. 2532
สาวฝั่งโขง - ปอง ปรีดา (ต้นฉบับ)
สำหรับชื่อ ปอง นั้น ครูมงคล เป็นคนตั้งให้ ส่วน ปรีดา นั้น สัมพันธ์ อูนากูล ตั้งให้
หลังจากเพลงดัง เขาก็ถูกบรรจุเข้าเป็นนักร้องรุ่นแรกๆ ของ วงดนตรีจุฬารัตน์ ที่ครูมงคลตั้งขึ้นในปี 2501 แทน วงลีลาศมงคล อมาตยกุล ขณะที่นักร้องคนอื่นๆ ก็มีครูนคร ที่ร้องเพลงสากล เบญจมินทร์ ชัย อนุชิต ทูล ทองใจ และ พร ภิรมย์ จากนั้น ปอง ปรีดา ที่ผลิตเพลงดังอย่าง เทพีเชียงใหม่ สาวอยู่บ้านใด๋ และสาวป่าซาง รวมทั้งเคยไปแสดงถึงต่างประเทศ สปป.ลาว มาแล้ว อยู่กับวงจนถึงปี 2506 ก็ลาออกเพราะขัดแย้งกับเพื่อนในวง จากนั้นก็ไปอยู่กับวง “รวมดาวกระจาย” ของ ครูสำเนียง ม่วงทอง จนถึงปี 2511 ก็ลาออกเพราะมีปัญหากับคนในวง
จากนั้นในปี 2512 เขาก็กลับอีสาน และร่วมกับเพื่อนตั้งวง “ปอง ปรีดา“ ตระเวนรับงานแถวจังหวัดอุดรธานี แต่ก็เกิดปัญหาบางประการจนต้องยุบวงในปีเดียวกันนั้น ต่อมา ปอง ปรีดา ได้หันมาทำไร่ และปักหลักอยู่ที่ลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี แต่ก็ยังรับงานร้องเพลงตามงานต่างๆ ในระยะนี้มีผู้มาซื้อเพลงที่เขาแต่งด้วยเงินก้อนโต
2521 ศรชัย เมฆวิเชียร มาซื้อเพลง สาวฝั่งโขง และ สาวอยู่บ้านใด๋ ของเขาไปบันทึกเสียงใหม่จนโด่งดัง ซึ่งในการบันทึกเสียง ปอง ปรีดา ก็ยังไปช่วยผิวปากให้ด้วย
ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางประดิษฐ์ ผิวขำ มีบุตรชาย 1 คน คือ นายเอกชัย ผิวขำ หลังจากแต่งงานแล้วด้ย้ายครอบครัวจาก จังหวัดขอนแก่น มาสร้างครอบครัวที่ บ้านหนองเต่า ตำบลชัยนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ยึดอาชีพร้องเพลง แต่งเพลง และทำเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2553 เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และมาตรวจพบว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ตับอักเสบ เลือดจาง ปอดติดเชื้อ จนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 จึงได้ไปเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลชัยบาดาล
ช่วงปลายปี 2553 มีอาการป่วยหนักจึงไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชัยบาดาล แล้วถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดลพบุรี เมื่ออาการทุเลาจึงส่งตัวกลับมาที่โรงพยาบาลชัยบาดาลอีกครั้ง ก่อนที่ ปอง ปรีดา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 11.30 น ที่โรงพยาบาลชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื่องจากป่วยมานานด้วยหลายโรคทั้งเบาหวาน ปอดติดเชื้อ ตับอักเสบ เลือดจาง ท่ามกลางบรรยากาศของความโศกเศร้าของคนในครอบครัว ที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดจนหมดลมหายใจ และมีพิธีฌาปนกิจ ณ เมรุวัดธารีรัฐการาม (วัดหนองเต่า) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554
สาวอยู่บ้านใด๋ - ปอง ปรีดา (ต้นฉบับ)
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)