foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

asian culture header

วัฒนธรรมร่วมของอาเซียน เมื่อมีการพูดถึงศิลปวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็มักจะมีการถกเถียงกันในวงเล็กๆ อยู่เสมอว่า ศิลปะนั้น วัฒนธรรมนี้ เป็นของชาตินั้น ชาตินี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่มีร่วมกันผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนเป็นประเทศดังทุกวันนี้ แต่มีการไปมาหาสู่กันไปทั่วสุวรรณภูมิ นำรูปแบบศิลปะ การละเล่น การแต่งกาย อาหารการกิน ไปให้เห็น ได้แลกเปลี่ยนกันไปมา อันไหนดีและชอบก็สืบสาน และประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของกลุ่มตน จนแยกไม่ออกว่ามาจากที่ใด

โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 มีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ระหว่าง คนไทย กับ คนกัมพูชา เรื่อง "โขน" เป็นของใครกัน จากการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO ทั้งๆ ที่มันเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของหลายประเทศในแถบนี้

lakon khon 01

ประเด็นเรื่อง "ถิ่นกำเนิดโขน" เคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันดุเดือดมาอย่างยาวนาน และดูเหมือนจะประทุขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ดังเช่น ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรมของไทย ได้ประกาศจะขอขึ้นบัญชี "โขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับโลก" ก็ได้เกิดกระแสความไม่พอใจของชาวกัมพูชา โดยทั้งแหล่งข่าวและประชาชนกัมพูชาทั่วไป ต่างก็ออกมาให้ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ว่าที่จริงแล้ว “โขนเป็นของกัมพูชา” ดังจะเห็นได้จากข่าวในหนังสือพิมพ์ “พนมเปญโพสต์” สื่อใหญ่ภาษาอังกฤษของกัมพูชา ที่เผยแพร่ข้อความส่วนหนึ่งว่า

“ละโคนโขลของกัมพูชา เป็นละครรำที่นำเรื่องราวมาจาก Reamker บทประพันธ์ของกัมพูชา ซึ่งนำโครงเรื่องมาจาก "มหากาพย์รามายณะ" ในภาษาสันสกฤตอีก ที-และโขนหลวงของไทยก็เชื่อกันว่า มีรากกำเนิดมาจากรูปแบบของกัมพูชา”

แหล่งข่าวนี้ยังได้กล่าวอ้างถึงข้อมูลในหนังสือ “Acting: An International Encyclopedia of Traditional Culture” (การแสดง: สารานุกรมนานาชาติว่าด้วยวัฒนธรรมตามจารีต” โดย เบธ ออสเนส (Beth Osnes)) ซึ่งให้ข้อมูลตอกย้ำที่มาของโขน ว่า

“ถูกขโมยไประหว่างที่ไทยเข้ารุกราน และถูกนำกลับไปยังประเทศไทย เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับราชสำนัก”

นอกจากสื่อของกัมพูชาเองแล้วก็พบว่า ชาวกัมพูชาทั่วไปก็มีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับเหตุการที่เกิดขึ้น ดังที่ได้มีโพสต์ภาษาอังกฤษแชร์กันโดยทั่วในเฟซบุ๊กว่า

ละโคนโขล (Lakhon Khol) หรือระบำหน้ากากเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา 100% มันคือมรดกจากบรรพชนชาวขแมร์จากยุคที่สยาม (ประเทศไทย) ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ มันเก่าแก่ยิ่งกว่าประเทศที่เรียกตัวเองว่าไทย แม้ว่าเราจะสูญเสียบันทึกเอกสารเกี่ยวกับการละเล่นนี้ไปในช่วง สงครามกลางเมือง และสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่มันยังคงได้รับการบันทึกและรับรู้กันว่าเป็น ระบำตามจารีตของกัมพูชา เราไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้ไทยมาอุทธรณ์ต่อยูเนสโกว่าระบำตามจารีตขแมร์ เป็นระบำดั้งเดิมของตน โปรดแสดงความรับผิดชอบและทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เราจะไม่ยอมยุติข้อเรียกร้องนี้ จนกว่าจะได้รับความยุติธรรมด้วยการยอมรับว่า ละครโขนหรือระบำหน้ากากเป็นของขแมร์/กัมพูชา”

lakon khon 02

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องที่ว่า โขนมีต้นกำเนิดมาจากกัมพูชานี้ แม้แต่นักวิชาการของไทยอย่าง “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เองก็ยังเห็นด้วย เพราะใน หนังสือ วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “โขนอยุธยาจากขอม” สุจิตต์ได้ให้คำอธิบายที่มาของวัฒนธรรมโขนในไทยว่า

“พิธีกวนเกษียรสมุทรของราชสำนักขอมกัมพูชา เป็นต้นแบบให้ราชสำนักไทยสยามอยุธยา ที่นับถือศาสนาผี – พราหมณ์ – พุทธ มีการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราพิเษก ซึ่งจะมีพัฒนาการเป็นโขนต่อไป”

ถึงแม้เรื่องที่ว่า โขนไม่ได้ถือกำเนิดในประเทศไทยจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุจิตต์ ยังได้ขยายความต่อไปอีกว่ารากเหง้าเดิมของโขนในรูปแบบปัจจุบันนี้ก็คือ การผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมของอินเดียและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์ กล่าวคือ เครื่องแต่งกายมาจากอินเดียและเปอร์เซีย ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นคำว่า “โขน” นั้นได้มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า “Lakon” หรือ “Lakun” หรือคำบาหลีว่า “Legong” สำหรับท่าโขนและปี่พาทย์รับโขนก็ได้มาจากวัฒนธรรมการเต้น และการดนตรีของชาวอุษาคเนย์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้การพากษ์โขนที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์นั้น ก็มีแบบแผนมาจากกัมพูชา และการเจรจาโขนแต่งด้วยร่ายยาวนับเป็นร้อยกรอง ก็เป็นของพื้นเมืองดั้งเดิมตระกูล ลาว-ไทย

จากคำอธิบายข้างต้นนี้ สุจิตต์จึงได้ให้ข้อสรุปว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกัน จะแยกโดดๆ มิได้ ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน หรือของที่นี่ ที่โน่น ที่นั่น”

ทั้งนี้ข้อสรุปดังกล่าว ก็อาจช่วยบรรเทาดราม่าการแย่งกันแสดงความเป็นเจ้าของ "วัฒนธรรมโขน" เพราะแท้จริงแล้วโขนไม่ใช่ของไทย หรือของกัมพูชา แต่เป็นวัฒนธรรมร่วม ที่ไม่ควรมีใครออกมาแสดงความเป็นเจ้าของ อีกทั้งการที่ไทยหรือกัมพูชาเสนอให้องค์การยูเนสโก ประกาศให้โขนขึ้นทะเบียนบัญชีมรดกวัฒนธรรม ก็ไม่ใช่วิธีการแสดงความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด หากแต่เป็นความพยายามที่จะคงรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้ ดังที่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ได้กล่าวไว้ว่า

“…การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นความภาคภูมิใจของประเทศที่นำเสนอให้ขึ้นทะเบียน ไม่ใช่การจดลิขสิทธ์ หรือการแสดงความเป็นเจ้าของ ที่สำคัญการแสดงโขนของกัมพูชา และการแสดงโขนในประเทศไทย ต่างมีแบบแผนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และเป็นเครื่องแสดงความภาคภูมิของประเทศ”

lakon khon 03

นักประวัติศาสตร์ชี้ “โขน” เป็นวัฒนธรรมร่วม จะแยกโดดๆ ว่าเป็นสมบัติใครไม่ได้!

การละเล่นชนิดนี้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมภายนอกและภายใน ของบรรดาราชสำนักจารีตโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ กล่าวคือ ตัวเนื้อเรื่อง ได้มาจาก วัฒนธรรมภายนอก คือ อินเดีย โดยเฉพาะอินเดียใต้ และเครื่องแต่งกาย ก็ได้มาจากอินเดียและเปอร์เซีย เช่น มงกุฎ ชฎา และผ้าต่างๆ ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่มาจากวัฒนธรรมภายในอุษาคเนย์เอง ประกอบด้วย ชื่อ “โขน” มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า “Lakon” หรือ “Lakun” หรือคำบาหลีว่า “Legong”

“หัวโขน” ก็พัฒนามาจากหน้ากากเครื่องสวม เพื่อพรางหน้าจริงในพิธีเข้าทรง เพื่อเชื่อมโยงมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งล้วนมีในกลุ่มชนดั้งเดิมทุกชนเผ่า ส่วนท่าเต้น ท่าโขน น่าจะมาจากการเต้นฟ้อนของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ ตั้งแต่ราว 3 พันปีมาแล้ว เห็นได้จากภาพเขียนสีที่พบตั้งแต่มณฑลกวางสีในจีนตอนใต้ ลงมาถึงภาคอีสานและภาคกลางของไทย

pla daeg 01

ปลาร้า หรือ ปลาแดก วัฒนธรรมร่วมของอาเซียน

ในเรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน อย่าง "น้ำปลา" "ปลาแดก" หรือ "ปลาร้า" ก็เป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน การทำน้ำปลา ปลาร้า หรือ ปลาแดก มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสาน หรือในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก "จากการที่ต้องเก็บถนอมปลาเอาไว้กินในยามขาดแคลน และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ปลา เกลือ และข้าว"

เริ่มต้นกันที่ “น้ำปลา” ที่เป็นส่วนผสมของ ปลา เกลือ และน้ำเกลือเข้มข้น ผ่านการหมักบ่มนานนับปีก็จะได้หัวน้ำปลาอย่างดีที่หนึ่ง จากนั้นก็นำกากปลาที่เหลือมาผสมกับน้ำเกลือเข้มข้นแล้วหมักต่อ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้น้ำปลาเกรดสอง, สาม, สี่,... ไปจนกระทั่งกากปลาย่อยสลายไปหมด

nam pla 01

น้ำปลา นั้นเป็นสิ่งที่ช่วยชูรสชาติให้จัดจ้านกลมกล่อมขึ้น จากที่เป็นอาหารจืดๆ ใส่น้ำปลาลงไปก็เพิ่มความอร่อย แซบ นัว อย่างที่ประเทศไทย เรียกว่า น้ำปลา เพื่อนบ้านเราก็กินน้ำปลาเหมือนกัน แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาษา อย่างเช่น เวียดนาม เรียกว่า “Nuoc Mam” ฟิลิปปินส์ เรียกว่า “Patis” สปป.ลาว เรียกว่า “น้ำปา” ส่วน พม่า เรียกว่า “Ngan Bya Yay”

ส่วน "ปลาร้า" หรือ "ปลาแดก" ก็มีทำกินกันจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า มีการทำอาหารในลักษณะเดียวกันกับปลาร้าอยู่ในหลายประเทศ แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • ประเทศไทย เรียกว่า ปลาร้า ปลาแดก
  • ประเทศ สปป.ลาว เรียกว่า ปลาแดก (เหมือนกันกับภาคอีสานบ้านเฮา)
  • ประเทศกัมพูชา เรียกว่า ปราฮ็อก
  • ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า บากุง
  • ประเทศเวียดนาม เรียกว่า มาม
  • ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า เปกาซัม
  • ประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า บากาแซ็ง
  • ประเทศเมียนมาร์ เรียกว่า งาปิ๊

การทำปลาร้า หรือ ปลาแดก จึงนับได้ว่า เป็นวัฒนธรรมร่วมในการถนอมอาหารของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในแต่ละประเทศล้วนมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใกล้เคียงกันคือ ปลา เกลือ และข้าว ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

เครื่องดนตรีและการขับร้อง

นอกจากเรื่อง "โขน" และ "ปลาแดก" แล้ว ยังมีวัฒนธรรมร่วมอีกอย่างคือ ดนตรีและการขับร้อง ลำ ที่มีความเหมือนกัน และถ่ายทอดกันไปมา โดยเฉพาะการลำ หรือ "หมอลำ" นั้น จะพบว่า มีการแสดงและขับร้อง รวมทั้งชื่อเรียกที่คล้ายคลึงกันด้วย และยังเป็นที่นิยมกันไปในถิ่นที่มีคนไทย/ลาวอพยพ โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่หรือทำงานในทุกทวีปทั่วโลก (ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียของเราที่มีชาวลาวอพยพไปอยู่ ช่วงลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ "ลาวแตก" ในช่วงปี 2518-2519 รวมทั้งถิ่นที่มีแรงงานไทยไปค้าแรงงานทั่วโลก)

kan lao 01

“มีลาวอยู่แห่งใด มีมัดหมี่ แลลายจกอยู่ที่นั้น” แสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติลาว ส่วนในด้านดนตรี ลาวมี "แคน" เป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ มีหมอขับ หมอลำ วงดนตรีของลาวก็คือ วงหมอลำ (เหมือนกับอีสานของไทย ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมสองฝั่งของ) มีหมอลำ และหมอแคน ท่วงทำนองของการขับลำจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทางภาคเหนือของลาวเรียกว่า "ขับ" ทางภาคใต้จากแขวงบอลิคำไซลงไปจะเรียกว่า "ลำ" เช่น ขับทุ้ม ของแขวงหลวงพระบาง ขับลื้อ ของชาวลื้อ ขับงึม ทางเวียงจันทน์ ขับพวน ทางเซียงขวง ลำสาละวัน ของแขวงสาละวัน ลำภูไท ลำตังหวาย ลำคอนสะหวัน ลำบ้านซอก ของ แขวงสะหวันนะเขต ขับโสม ลำสีพันดอน ของแขวงจำปาสัก ลำมะหาไซ ของแขวงคำม่วน เป็นต้น

morlum lao

ต้องย้อนไปที่ภาษากันก่อน ชาวลาวจะมีภาษาของตนเองทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน คือ ภาษาลาว (ลาว: ພາສາລາວ พาสาลาว) เป็นภาษาราชการของประเทศลาว เป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ในภาษากลุ่มไท และสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาอีสานของประเทศไทย ระบบการเขียนในภาษาลาวจะใช้อักษรลาว ซึ่งเป็นระบบอักษรสระประกอบ (ระบบการเขียนที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์แทนพยัญชนะ และตามด้วยสระที่จะอยู่ด้านหน้า หลัง บน ล่าง ของพยัญชนะ) และสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอักษรไทยລາວ

lao alphabet

สำเนียงภาษาถิ่นในภาษาลาว สามารถแบ่งได้ 6 สำเนียงใหญ่ คือ:

  • ภาษาลาวเวียงจันทน์ (นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงบริคำไชย)
  • ภาษาลาวเหนือ (หลวงพระบาง แขวงไชยบุรี อุดมไชย หลวงน้ำทา)
  • ภาษาลาวตะวันออกเฉียงเหนือ (แขวงเชียงขวาง หัวพัน)
  • ภาษาลาวกลาง (แขวงคำม่วน สุวรรณเขต)
  • ภาษาลาวใต้ (แขวงจำปาศักดิ์ สาละวัน เซกอง อัตปือ)
  • ภาษาลาวตะวันตก (ไม่มีใช้ในประเทศลาว เป็นภาษาที่คนลาวรับเอาไปจากการเสพละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเพลงภาษาอีสาน)

ทางการประเทศลาว ไม่ได้กำหนดให้สำเนียงถิ่นใดเป็นสำเนียงภาษากลาง แต่การใช้ภาษาลาวอย่างเป็นทางการ เช่น ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศลาว สถานีวิทยุแห่งประเทศลาว จะใช้สำเนียงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นสำเนียงของคนเมืองหลวง สามารถเข้าใจกันได้ทั่วประเทศ การเรียนภาษาลาวในประเทศลาวนั้น รัฐบาลลาวไม่ได้บังคับให้ใช้สำเนียงเวียงจันทน์ แต่ให้สามารถใช้สำเนียงท้องถิ่นต่างๆ ได้เลย

แต่การเรียนภาษาลาวสำหรับชาวต่างประเทศ รัฐบาลลาวแนะนำให้ใช้สำเนียงเวียงจันทน์ ฉะนั้นประชาชนในประเทศลาวจึงพูด อ่าน ภาษาลาวเป็นสำเนียงท้องถิ่นของตน แต่ประชาชนก็สามารถฟังเข้าใจได้ทุกสำเนียงทั่วประเทศ แม้จะพูดภาษาต่างสำเนียงกันก็ตาม รวมทั้งฟังภาษาไทยกลาง อีสาน ได้ดีอีกด้วย

นอกจากสำเนียงถิ่นใหญ่แล้ว ยังมีสำเนียงแตกออกไปอีกหลายสำเนียงย่อย เช่น ภาษาลาวใต้ถิ่นสาละวัน ภาษาลาวกลางถิ่นสุวรรณเขต สำเนียงย่อยถิ่นเมืองอาดสะพังทอง ภาษาถิ่นเมืองจำพอน ภาษาเวียงจันทน์ถิ่นเมืองปากงึม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผู้พูดภาษาลาวใต้ถิ่นจำปาสักในจังหวัดพระวิหาร สตึงแตรง และรัตนคีรี ของประเทศกัมพูชาด้วย

lao alphabet 2

ป้ายแจ้งเตือนในสถานที่ต่างๆ ที่พบเห็นได้ใน สปป.ลาว ตรงเข้าใจง่าย
ป้ายบนในบริเวณวัดสีสะเกด ป้ายล่างในมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (ดงโดก)

มารู้จักคำในภาษาลาว กับภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันกันหน่อย เผื่อใครจะข้ามไปเที่ยวในลาวจะได้เข้าใจ ใช้ได้ถูก (เคล็ดลับหนึ่งคือ ถ้าท่านจะใช้ภาษาไทยกลางก็จงใช้สนทนากับเขาไปตลอด อย่าได้สลับใช้ภาษาอีสานปนกับไทยกลาง จะทำให้เขาสับสน ถ้าพูดแบบไทยๆ ก็คือ อย่ากระแดะอังกฤษคำไทยคำ หรือไทยกลางคำปนอีสานคำนั่นเอง จะพูดอีสานก็เอาให้ตลอดเขาจะเข้าใจครับ ประสบการณ์จากการไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมให้ข้าราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกีฬา ของ สปป.ลาว)

ภาษาลาว ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาไทย
 สบายดี  สวัสดี (คำทักทาย)  โชกดี  สวัสดี (คำกล่าวอำลา)
 ขอบใจ (หลาย)  ขอบคุณ (มาก)  เจ้า หรือ โดย (ผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่)  ครับ/ค่ะ
 แม่นแล้ว  ใช่  บ่แม่น  ไม่ใช่
 ขอให้มั่นยืน  ขอให้อายุยืน  ขอให้เข้มแข็ง  ขอให้สุขภาพดี
 เจ้าชื่อหยัง  คุณชื่ออะไร  ข้อยชื่อ  ฉันชื่อ
 เจ้ามาแต่ไส  คุณมาจากไหน  สบายดีบ่  คุณเป็นอย่างไรบ้าง
 บ่เป็นหยัง  ไม่เป็นไร  ขอโทด  ขอโทษ, ขออภัย
 เอื้อย  พี่สาว  อ้าย  พี่ชาย
 น้อง  น้องสาว, น้องชาย  ไผ  ใคร
 งาม  สวย  น่าฮัก, ตาฮัก  น่ารัก
 อยู่ไส, อยู่บ่อนใด๋  อยู่ที่ไหน  บ่อน  สถานที่
 บ่ฮู้  ไม่รู้  บ่ดี  ไม่ดี
 เอิ้นว่า  เรียกว่า  ตื่ม  เพิ่ม
 คือกัน  เหมือนกัน  ซ่ำกัน  เท่ากัน
 คำ  ทองคำ  ทอง  ทองแดง
 แม่น้ำของ  แม่น้ำโขง  ป่องเอี้ยม  หน้าต่าง
 ตะเว็น  ดวงอาทิตย์  อีเกิ้ง  ดวงจันทร์
 ถิ่ม  ทิ้ง, ทำให้ตก (สิ่งของ)  ตำ (ลดตำ)  ชน (รถชน)
 ฮ้านจอดยาง  ร้านปะยาง  ไฟอำนาจ  ไฟจราจร (ไฟแดง)
 ไฟเกี้ยม  ไฟเหลือง  ไฟเสรี  ไฟเขียว
 บ่อนนั่ง  ที่นั่ง  ห้ามสูบยา  ห้ามสูบบุหรี่
 ลดถีบ  รถจักรยาน  ลดจัก  รถมอเตอร์ไซค์
 รถตุ๊ก/รถจัมโบ้  รถสามล้อเครื่อง  ลดเก๋ง  รถยนต์นั่งสี่ล้อ
 ลดหนัก  รถบรรทุก  ลดเม  รถโดยสาร
 เฮือ  เรือ  ยน  เครื่องบิน
 เดิ่นยน  สนามบิน  เดิ่นกีลา  สนามกีฬา
 ปี้, ปี้ยน  ตั๋ว, บัตรโดยสารเครื่องบิน  ฮูปเงา  ภาพยนตร์
 กาซ่วน  น้ำมันดีเซล  แอ๊ดซัง  น้ำมันเบนซิน
 เฝอ  ก๋วยเตี๋ยว  ข้าวเปียก  ข้าวต้ม, ก๋วยจั๊บ
 ขัว  สะพาน  จั๊กโมง  เวลาเท่าใด
 1 จอก  1 แก้ว (เครื่องดื่ม)  1 แก้ว  1 ขวด (เครื่องดื่ม)
 ตำจอก  ชนแก้ว  น้ำก้อน  น้ำแข็ง
 โมง  นาฬิกา  เกิบ  รองเท้า

นอกจากนั้น ในประเทศลาวก็มีประเพณีวัฒนธรรมเหมือนอีสานบ้านเฮา อย่างในเรื่อง "ฮีต 12 คอง 14" ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเรื่อง "คอง 14" ที่เป็นข้อกำหนด หรือ ข้อควรปฏิบัติ 14 ข้อของพุทธศาสนิกชนคนลาวในการครองตนเป็นคนดี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังยึดถือสืบต่อกันมา “คอง 14” นั้นประกอบด้วย

  1. อย่าเดินเหยียบเงาพระสงฆ์
  2. อย่านำอาหารเหลือไปถวายแก่พระ
  3. อย่ามีเพศสัมพันธ์ในวันพระ, วันเข้าพรรษา, วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชาและ วันบุญสงกรานต์ โดยเด็ดขาด
  4. เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านหน้าต้องนั่งลงพร้อมพนมมือไหว้
  5. เมื่อไปวัดให้เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมเครื่องอัตถบริขารไปถวายพระสงฆ์
  6. ก่อนเข้านอนต้องอาบน้ำและ ล้างเท้าก่อน
  7. ในวันพระ (ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) ให้ทำบุญตักบาตร หรือนิมนต์พระมาสวดที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
  8. ในวันพระ (ข้างขึ้น) ให้จัดพานดอกไม้ ธูป เทียน ขอขมาแก่สามีตน
  9. เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรมาบิณบาตร ต้องมารอก่อนหน้าที่ท่านจะมาถึง การตักบาตรระวังอย่าให้มือโดนบาตร ห้ามถืออาวุธ ใส่รองเท้า หรือใส่หมวก เอาผ้าคลุมหัว ในเวลาตักบาตร
  10. ในวันพระ (ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) ให้ขอขมาแก่เตาไฟ ขั้นบันได และประตูเรือนที่อยู่อาศัย
  11. ก่อนเข้าบ้านหรือขึ้นเรือนต้องล้างเท้าเสียก่อน
  12. วัดใดไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ให้ช่วยกันกั้นรั้วให้แก่วัดนั้นๆ รวมทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของตัวเอง
  13. เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้ในครั้งแรกของปี ให้นำไปถวายพระก่อน
  14. อย่าลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือพูดจาหยาบคาย ต้องประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม

pratat luang viantian

เอามาเล่าสู่กันฟังครับ สำหรับท่านที่สนใจเรื่อง "ขับ ลำ" ของลาว อาวทิดหมู มักม่วน ได้นำเสนอทั้งกลอนลำและเพลงลาวไว้แล้วในหัวข้อ "กลอนลำตามคำขอ" และ "ภาษาอีสานจากเพลง" ครับ เชิญทัศนากันได้เลย

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)