คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
ชีวิตขั้นสุดท้าย คือ การตาย คำว่า ตาย ได้แก่ การสิ้นลมหายใจ ร่างกายของคนตาย เรียก ซากศพ คำว่า ศพ เป็นคำไทย ภาษาบาลีว่า ฉว สันสกฤตว่า ศว แปลว่า ศพ ประเพณีเกี่ยวกับศพมีดังนี้
เทวทูต คนใช้ของเทวดา หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่รอบๆ ตัวเราเรียก เทวทูต มี 5 อย่าง คือ
เมื่อเห็นคนแก่ เจ็บ คนต้องโทษ และคนตาย พระศาสนาสอนให้คนน้อมนึกมาใส่ตัว จนเกิดความสลดใจ ไม่กล้าทำกรรมอันเป็นบาป ถ้าไปพิจารณาในเวลาคางแข็ง หรือเขียนคาถาเทวทูตใส่ปากคนตายเทวทูตจะช่วยอะไรไม่ได้
ศพที่ถูกฆ่าตาย ตกน้ำตาย ตกต้นไม้ตาย เป็นต้น ถือว่า ตายโหง ไม่นิยมอาบน้ำศพ เพียงแต่มัดแล้วนำไปฝังที่ป่าช้า เพราะถือว่าตายไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่เผาเพราะกลัวจะเกิดความเดือดร้อนแก่ญาติพี่น้อง แต่ถ้าเป็นการตายธรรมดานิยมอาบน้ำด้วยน้ำหอม
การหวีผมให้ศพ หวีไปข้างหลังครึ่งหนึ่ง ข้างหน้าครึ่งหนึ่ง
ใช้ผ้าขาวนุ่งสองชั้น ชั้นในเอาชายพกไว้ข้างหลัง ชั้นนอกเอาชายพกไว้ข้างหน้า แล้วห่มผ้าเฉลียงบ่า
เมื่อยกศพขึ้นบนเตียงแล้ว เอามือขวาของศพยื่นออกไปบนเตียง เอาหมอนใบเล็กๆ รองหันหัวศพ ไปทางทิศตะวันตกใช้น้ำอบน้ำหอมรด ถ้าผู้ตายเป็นพ่อแม่ ลูกหลานจะนำขมิ้นทาที่หน้าและเท้าพิมพ์ไว้เคารพบูชา
เงินใส่ปากศพใช้เงินฮาง เงินเหรียญเงินบาท
ผู้ชอบกินหมาก เขาก็ตำหมากใส่ปากให้
เขาใช้ขี้ผึ้งดีปิดตาปิดปากศพ
ใช้เชือกหรือด้ายมัดศพ 3 เปราะ คือที่ คอ 1 มือ 1 เท้า 1
ปุตโต คีเว เชือกคือลูกมัดที่คอ
ธนัง ปาเท เชือกคือสมบัติมัดที่เท้า
ภริยา หัตเถ เชือกคือเมียมัดที่มือ "
ตรงกับภาษิตโบราณว่าไว้ว่า "ตัณหาฮักลูกเหมือนดังเชือกผูกคอ ตัณหาฮักเมียเหมือนดังปอผูกศอก ตัณหาฮักเข้าของเหมือนดังปอกสุบตีน ตัณหาสามอันนี้มาขีนให้เป็นเชือก ให้กลิ้งเกลือกอยู่ในวัฏะสงสาร"
เอาไม้ไผ่ยาวขนาดโลงสับติดกันเป็นฟากให้ได้ประมาณ 7 ซี่ หรือใช้ไม้ไผ่ 7 ซีก ถักด้วยเชือกหรือหวาย ปูฟากแล้วเอาศพใส่
บันไดทำด้วยก้านกล้วยหรือ ไม้ไผ่ผูกเป็นสามชั้นเหมือนบันไดธรรมดา ขนาดกว้างเท่ากับ ปากโลง วางไว้ข้างนอกหรือในโลงก็ได้
ศพนั้นจะใส่ในโลงหรือไม่ก็ตาม จะตั้งไว้ในที่ใดก็ตาม ต้องหันหัวศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ
จุดตะเกียงหรือไต้ไว้ทางหัวและเท้าศพตลอดคืน
เมื่อพระมาติกาจบแต่ละครั้ง จะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม นิยมดับเทียนหรือตะเกียงชั่วคราว
ถึงเวลารับประทานอาหารเช้าเย็น เขาจะจัดอาหารคาว หวาน หมาก พลู บุหรี่ มาตั้งไว้ทางหัวโลงแล้วเอามือเคาะโลงปลุกให้ตื่นขึ้นมากิน
เฮือนที่มีศพอยู่ เรียก เฮือนดี ที่เรียกเช่นนั้นถือเอานิมิตของผู้มา คือบรรดาญาติ พี่น้องเมื่อได้ยินข่าวใครตายลงจะพากันนำข้าวของเงินทองมาช่วยเหลือ มาคบงันจนงานเสร็จ
ก่อนจะเอาศพใส่ในโลง นิมนต์พระสงฆ์มา มาติกาทั้งเช้าและค่ำ เวลาจะมาติกา เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาศพ แล้วอาราธนาศีล 5 เอามือเคาะโลงบอกให้ผู้ตายมารับศิลด้วย เสร็จแล้วพระสงฆ์สวดมาติกา
ยอดมุข คือ ยอดธรรม ยอดธรรมได้แก่ พระอภิธรรมพระที่นิมนต์ไปสวดมาติกาและยอดมุขเป็นจำพวกเดียวกัน แต่เวลาสวดแบ่งหน้าที่กัน สองรูปสวดยอดมุข นอกนั้นสวดมาติกา การสวดก็สวดไปพร้อมกันและจบพร้อมกัน
ผู้ป่วยนอนตายอยู่ในห้องใดก็ตั้งศพไว้ห้องนั้น เมื่อจะยกศพลงจากเรือนไม่ให้ลอดขื่อ เปิดฝาห้องนั้น แล้วยกออกมาทางระเบียงลงนอกชาน
เมื่อยกศพออกจากเรือนแล้ว พระท่านจะสวดทำน้ำมนต์ เจ้าของบ้านเอาน้ำมนต์ รดจากที่ตั้งศพออกไปเทหม้อน้ำกินน้ำใช้คว่ำปากหม้อไว้ การทำดังนี้ถือว่าน้ำเก่าเป็นน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ให้เททิ้งเสีย ถ้าผู้ตายเป็นพ่อแม่เขาจะเอากระดานปูเรือน 2-3 แผ่นมาต่อโลงให้ถือว่า ได้แบ่งเรือนให้พ่อแม่ที่ตายไปได้มีที่อยู่อาศัย พลิกและผูกบันได พอยกศพลงถึงพื้นดินแล้วพลิกบันไดแล้ว เอาเรียวหนามผูกปลายติดกันติดไว้ที่ประตูเรือน พอยกศพออกไปแล้วถอนกิ่งไม้นั้นออก
ดอกไม้ธูปเทียนเรียก เครื่องสักการะ ก่อนจะยกศพลงจากเรือน ลูกหลานของผู้ตาย จัดเครื่องสักการะไปเคารพศพ ส่วนญาติพี่น้องคนอื่นๆ นำเครื่องสักการะไปเคารพที่ป่าช้า การกระทำทั้งนี้ ถือว่า หากได้พลาดพลั้งต่อผู้ตาย ผู้ตายจะได้ยกโทษให้ หากมิได้ประมาทพลาดพลั้ง ก็ชื่อว่าได้บำเพ็ญกุศล เคารพต่อวุฒบุคคลอีกโสดหนึ่ง
ไม้หามใช้ไม้ไผ่บ้าน 2 ลำ เอาโลงขึ้นตั้งขันด้วยตอกชะเนาะหามข้างละ 3-4 คน เอาเท้าศพไปก่อนห้ามพักกลางทาง ห้ามเปลี่ยนบ่า ห้ามข้ามนา ข้ามสวน ที่ทำดังนี้ด้วยถือว่าเป็นของคะลำ
ใช้ด้ายหรือเชือกจูงศพ ถ้าผู้ตายมีลูกหลานเป็นผู้ชาย ก็ให้บวชเป็นพระหรือเณร เป็นหญิงให้นุ่งขาวห่มขาวบวชเป็นชีจูงศพไปป่าช้า เมื่อแจกข้าวแล้วจึงสึก หรือจะอยู่ไปตลอดก็ได้
เมื่อหามศพออกจากบ้านมีการหว่านข้าวสารไปตลอดทาง
ข้าวเปลือกที่ใช้คั่วด้วยไฟให้แตกเรียกข้าวตอกแตก ข้าวนี้ใช้โรยไป ตลอดทางเหมือนข้าวสาร
เมื่อหามศพผ่านไป เขาจะใช้ไม้ขีดทางหรือหักกิ่งไม้ไว้ เพื่อให้ผู้ตายตามไป ข้างหลังได้สังเกต อีกอย่างหนึ่งเป็นการลวงตาผีที่กลับมา มันจะเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ทางไปบ้านของเรา เพราะมีขีดและกิ่งไม้ขวางทาง
ศพที่จะปลงศพนั้น เขาเอาไข่ 1 ใบ ข้าว 1 ปั้น เสี่ยงทายถ้าไข่แตกตรงไหนให้ฝัง หรือเผาตรงนั้น โดยถือว่าตรงนั้นเจ้าของเขาอนุญาตให้แล้ว ผู้ตายก็พอใจอยู่ที่นั่นแล้ว แล้วปลงศพที่ตรงนั้นหาฟืนมากองเป็นกองเรียก กองฟอน ปักหลักสี่หลักที่มุมทั้งสี่เรียก หลักสะกอน เวียนสามรอบ ก่อนจะยกศพขึ้นตั้งกลางกองฟอนหามศพเวียนรอบกองฟอน 3 รอบ การเวียนต้องเวียนซ้าย
ก่อนล้างต้องพลิกศพ เอาผ้าห่อศพออก เพื่อไฟจะได้ไหม้เร็ว แล้วทุบเอาน้ำมะพร้าวและน้ำอบ น้ำหอมล้างหน้าศพ
ไม้แก่นสองท่อน ยาวท่อนละ 2 วาเศษใช้สำหรับบังคับมิให้โลงตกลงจากกองฟอน การเอาไม้ข่มเหงไว้เช่นนี้ ถือว่าเป็นการสอนคนว่า "คนเรานั้นไม่ว่าจะชั่วดีมีจน ใหญ่เล็กเพียงไหน ก็ต้องมีผู้ปกครองคอยควบคุมดูแล ว่ากล่าวตักเตือนอยู่ตลอด"
หมากเงินหมากทอง เรียก หมากกาละพฤกษ์ เขาเอาผลไม้ ก้านกล้วยตัดเป็นท่อนๆ หรือไม้ขีดไฟ เสียบสตางค์เข้าไปในนั้น ก่อนจะเผาศพมีการหว่านกาละพฤกษ์ ผู้คนวิ่งวุ่นกันเก็บเอา ดูแล้วน่าสนุกสนานยิ่งนัก มาติกาบังสุกุลศพ ก่อนจะเผานิมนต์พระสวดมนต์มาติกา เสร็จแล้วโยงด้ายจากโลงให้พระชักบังสุกุล เสร็จแล้วพระให้พร แล้วลงมือเผาต่อไป
วันที่ไม่ควรเผาศพ วันพระ วันอังคาร และวันถูก 9 กอง ถือว่าเป็นวันที่ไม่ควรเผา วันพระนั้นเป็นวันที่พระสงฆ์ทำกิจพระศาสนา ญาติโยมก็พากันไปรักษาศิล ฟังธรรม วันอังคารถือว่าเป็นวันแข็ง ถ้ามีความจำเป็นจะต้องเผาให้ทำการอุปโลกน์เสียก่อน คือเมื่อนำศพไปถึงป่าช้าแล้ว คนหนึ่งทำพิธีขุดหลุมจะฝัง พระสงฆ์ไปขอแผ่จากญาติโยม ขอให้ญาติโยมช่วยหาฟืนมาให้ แล้วจัดการเผา ส่วนวัน 9 กองนั้น เป็นอีกวันหนึ่งที่ไม่เคยเผาด้วยถือว่าวันทั้งสามนี้เมื่อเผาจะนำความเดือดร้อนมาให้
ไฟสำหรับจุดศพนั้นเขามีไว้ต่างหาก ใช้ไต้หรือจุดเทียนห้ามมิให้จุดติดต่อกัน ด้วยถือว่าไฟธรรมดาก็ดี ไฟราคะ โทสะ โมหะก็ดี ไฟทั้งนี้เป็นของร้อน ถ้าไปต่อกันเข้า จะลุกลามใหญ่โตไหม้บ้านเมือง และทำลายทรัพย์สินอาคาร บ้านเรือนให้เสียหายพินาศ เผาแล้วกลับบ้าน มีการบายศรีสู่ขวัญให้เพื่ออยู่เย็นเป็นสุขต่อไป
เมื่อเผาศพครบ 3 วัน แล้วเชิญญาติพี่น้องและนิมนต์พระสงฆ์ไปทำพิธีเก็บกระดูก จัดอาหารไป 1 ที่ เมื่อถึงป่าช้าหลุมเผาศพแล้วนำอาหารไปเลี้ยงผี บอกเล่าว่าพรุ่งนี้ไปกินข้าวแจกลูกหลานเขาจะทำบุญแจกข้าว พอบอกเล่าแล้วก็กองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย สมมุติว่าตาย หันหัวไปทางทิศตะวันตก แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล พอเสร็จแล้วลบรูปหุ่นนั้นเสีย ทำรูปหุ่นใหม่หันหัวไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิดใหม่ เอากระดูกใส่ในหม้อวาง ไว้ตรงกลางรูปหุ่น แล้วนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลเป็น แล้วเขี่ยเถ้าถ่านที่เหลือลงไปในหลุมฝังไว้
บางท้องถิ่นในภาคอีสานเหนือ หลังเผาศพเสร็จแล้ว 3 วัน ถึงจะเก็บกระดูกมาทำบุญที่บ้าน ว่ากันว่า รอให้กระดูกเย็นเสียก่อน คือ เย็นโดยไม่ต้องใช้น้ำราด
ระหว่างที่รอให้ครบ 3 วันนั้นลูกหลานจะจัดเตรียมเครื่องทำบุญ และของถวายวัด ที่ภาคอีสานเหนือ จะมีการทำตุงเป็นผืนใหญ่ ยิ่งยาวเท่าไหร่ได้ก็ยิ่งดี เสมือนหนึ่งว่าให้ผู้ตายเป็นทางขึ้นสู่สวรรค์
ในการทำตุงนี้ ลูกหลานทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคนละเล็กละน้อย หลังจากทำบุญที่บ้านแล้วก็นำสิ่งของที่เตรียมไว้มาที่วัด ส่วนตุงนั้นจะนำมาตั้งไว้ที่มุมโบสถ์ด้านทิศเหนือ กระดูกจะนำไปฝากวัด หรือจัดก่อเจดีย์แล้วแต่กรณี ฤดูปีหน้าฟ้าใหม่ก็มาบังสุกุลทำบุญให้ทานตามประเพณี
การเผาแบบคนโบราณ นอกจากจะทำเป็นโลงแล้ว ยังทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก คนเป็นใหญ่เป็นโตมีเกียรติยศชื่อเสียง จึงสมควรให้เผาแบบนี้ ประวัติมีว่า
นกหัสดีลิงค์ เป็นนกใหญ่ตัวโตเท่าช้าง อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เรียก ชื่อตามเจ้าของภาษาว่า หัตถิลิงคะสะกุโณ เรียกตามภาษาของเราว่า นกหัสดีลิงค์ เรื่องย่อมีว่า พระเจ้าปรันตปะเจ้าเมืองโกสัมพี นั่งผิงแดดอยู่กับราชเทวีมีครรภ์แก่ พระนางห่มผ้ากัมพลแดง นกเข้าใจว่า ก้อนเนื้อ จึงบินมาโฉบเอาไปวางไว้ในระหว่างคาคบไม้ไทร พระนางปรบมือร้อง นกตกใจบินหนีพระนางจึงลงจากคาคบไม้ แล้วประสูติพระโอรสในขณะที่ฝนตกฟ้าร้อง จึงขนานนามพระโอรสว่า อุเทน
ชาวอีสาน เมื่อเจ้าเมืองหรือพระสงฆ์ผู้หลักผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมมักจะทำศพเป็นการใหญ่โตหีบศพทำแบบโบราณ มีบุษบกหลายชั้นทำรูปนกหัสดีลิงค์ ตั้งบนกองฟอนตั้งหีบศพบนหลังนกหัสดีลิงค์ ปลูกประรำใหญ่และสูงคร่อม มีมหรสพคบงันและทำบุญกุศลครบ 7 วัน 7 คืน ถึงวันเผาก็ทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์แล้วจึงเผา ผู้นำชาวอีสาน คือ พระตา พระวอ ก็ปรากฏว่า ทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ เอาศพพระวอ พระตาขึ้นตั้งบนหลังนก มีมหรสพครบ 7 วัน 7 คืน แล้วเผา ณ ทุ่งบ้านดู่ บ้านแก เขตนครจำปาศักดิ์ ลูกชายของพระตา 2 คน คือ ท้าวคำผง เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก นามว่า พระปทุมราชวงศา และท้าวพรหม เจ้าเมืองอุบลคนที่สอง นามว่าพระพรหมราชวงศากับลูกชายท้าวคำผง ชื่อกุทอง เจ้าเมืองคนที่สามนามว่า พระปทุมราชวงศา เจ้าเมืองทั้งสามองค์นี้ ครองเมืองอุบลมาเป็นเวลานานถึง 80 ปีเศษ เวลาถึงแก่กรรม ก็จัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ มีมหรสพคบงัน 7 วัน 7 คืน ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง ในเมืองอุบลราชธานี (จากประวัติเมืองอุบลฯ โดย สิน ปิติกะวงศ์ พ.ศ. 2479)
ฝ่ายพระสงฆ์เมืองอุบลฯ ที่ท่านเจ้าเมือง หรือชาวเมืองเรียกกันว่า ยาท่านธรรมบาล วัดป่าน้อย ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็น เจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ปลายรัชกาลที่ 5 ท่านถึงแก่มรณภาพ ก็จัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ มีมหรสพคบงัน 7 วัน 7 คืน เผาที่วัดป่าน้อย เมืองอุบลฯ อีกองค์หนึ่งคือยาท่านดีโลด หรือ ที่ทางการเรียกพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ ปี พ.ศ. 2485 ท่านถึงแก่มรณภาพ ก็จัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ ตั้งศพบำเพ็ญบุญ และมีมหรสพคบงันครบ 7 วัน 7 คืน ณ วัดทุ่งศรีเมือง (จากประวัติทุ่งศรีเมือง 2514)
การจัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์นี้ถือเป็นเกียรติประวัติอย่างสูง สมควรได้รับเกียรติศักดิ์เช่นนั้น ต้องได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ และพระศาสนามากมาย ส่วนเจ้าเมืองและพระสงฆ์ผู้หลักผู้ใหญ่ในภาคอีสานซึ่งได้ทำความดีมีจำนวนมาก เวลาทำศพ จะได้ทำแบบรูปนกหัสดีลิงค์นี้หรือไม่ ผู้เขียนไม่สามารถนำมาเล่าไว้ จึงขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย (เพิ่มเติมสำหรับคำถามนี้ อ่านคำตอบได้ที่ นกหัสดีลิงค์ พิธีการปลงศพของเจ้านายชั้นสูงและพระเถระผู้ใหญ่ในอีสาน)
เกี่ยวกับการตายนี้ คนโบราณมีข้อห้ามไว้หยุมหยิม จุดประสงค์ของผู้ห้ามก็เพื่อต้องการให้เกิดความสวัสดิมงคล ผู้อยู่ก็ให้สบาย ผู้ตายให้มีสุข ข้อที่คนโบราณห้ามไว้ มีดังนี้
การฝังศพ หรือ การเผาศพ เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาตลอด เพราะเกจิอาจารย์บางคนว่าควร บางคนว่าไม่ควร โดยอ้างตำรานี่ ตำราที่ห้ามก็ห้ามเพียงว่า คะลำบ้าง จะเป็นอันตรายบ้าง จะพินาศฉิบหายถึงขายตัวบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะแก้ไขอย่างไร
สมมุติว่าห้ามไม่ให้เผา แต่เราจำเป็นต้องเผา เราจะทำอย่างไร? โบราณแนะวิธีทำไว้ดังนี้
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
อันดับชีวิตขั้นที่ 3 ต่อจากการบวชมาก็คือ การกินดอง หรือ การแต่งงานมีคู่ครอง ชีวิตขั้นนี้โบราณถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นชีวิตต้องพึ่งตัวเอง และต่อสู้อุปสรรคนานานับประการ เป็นชีวิตที่ก้าวหน้าขึ้น เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นพ่อคน แม่คน ดังนั้นผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่ชีวิตขั้นนี้ จะต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ การกินเลี้ยงในงานเอาผัวเอาเมียเรียก การกินดอง ที่นิยมทำกันมี 2 แบบ คือ
ชายหญิงที่สมสู่อยู่ร่วมกันโดยฐานะเป็นผัวเมียกัน เรียกว่า คู่ครอง โบราณแยกคู่ครองไว้ 2 พวก พวกหนึ่งเคยอยู่ร่วมในชาติปางก่อน อีกพวกหนึ่งได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน
การเลือกคู่ครองหนังสือ ธรรมดาสอนโลก ว่าไว้ดังนี้
คู่ครองที่เจริญ | คู่ครองที่เสื่อม |
|
|
การเลือกคู่ครอง ถ้าเลือกได้ดีทำได้ถูก จะมีความสุขความเจริญอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ถึงทุกข์จนมาก่อน ก็จะมั่งมีกลายเป็นเศรษฐีไปก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่คู่ครองนั้นจะมีความรักสมัครสมานถูกต้อง ปรองดองกันได้น้อยมากเพียงใด หากเลือกแล้วแต่ไม่ได้ดี หรือหาดีไม่ได้ถือว่าเป็นกรรมของเราอยู่ก็ไม่ดี หนีก็ไม่รอด ให้ถือว่า กกมิ่งแขวนกกแนนห้อย ดังภาษิตโบราณว่า "ชะตามาตกนี่จำหนีก็ได้อยู่ แผ่นดินท่อหมากบ้า แผ่นฟ้าท่อด้งหม้อนขอเมี้ยนกระดูกดอม"
ลักษณะของชาย ชายที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้
ลักษณะของหญิง หญิงที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้
การที่ชายไปพูดเกี้ยวพาราสีหญิงเรียก การเล่นสาว การเล่นของคนโบราณเป็นการแสดงวัฒนธรรมอันดีอย่างหนึ่ง คือ คนโบราณนั้น เมื่อสมัครรักใคร่กันแล้ว ไม่มีการล่วงเกินแม้กระทั่งจับมือถือแขน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ถึงผู้ชายจะไปค้าขายเป็นแรมปีก็รอคอย ชายก็เหมือนกัน เมื่อสมัครรักใคร่กันแล้ว ก็ทำการสู่ขอตามประเพณี
การไปสู่ขอหญิงสาวมาให้เป็นเมียของชาย เรียก การโอม การโอมนั้นทำดังนี้ คือ จัดขันหมากธรรมดา มีหมากจีบพลูพันใส่ขัน 1 ขัน กับเงิน 3 บาท เงินนี้เป็นค่าจ้างพ่อแม่ของหญิง เรียก เงินไขปากไขคอ ใช้ให้เจ้าโคตรฝ่ายชาย 2 คน นำขันหมากนี้ไป ขอต่อพ่อแม่ของหญิง ถ้าพ่อแม่ของหญิง ยินยอมที่จะยกลูกสาวให้ก็จะรับเอาเงิน 3 บาท นั้นแล้วคาดค่าดอง ถ้าไม่ตกลงก็ส่งเงินคืน
ราคาตัวของหญิงหรือสินสอด เรียก ค่าดอง เมื่อพ่อแม่ของหญิงตกลงปลงใจแล้วจะต้องมาตีราคาของหญิงเป็นน้ำเงิน การตีราคานั้นถือตามฮีตบ้านครองเมือง จารีตมีว่า ถ้าเป็นเจ้าเมือง อุปราช ราชบุตร เมืองแสน เมืองจันทร์ ตีราคาค่าตัว 6 ตำลึง ถ้าเป็นลูกตาแสง นายกรม นายกอง ตีราคาค่าตัว 3 ตำลึง ถ้าเป็นลูกคนธรรมดาสามัญ ตีราคาค่าตัว 6 บาท การมาดค่าตราคาของหญิงนั้น เจ้าโคตรฝ่ายชายมักจะขอต่อรอง ถ้าตกลงกันเท่าไรจะต้องนำเงินนั้นมาให้แก่หญิงในวันแต่งงาน
การสู่ขออีกอย่างหนึ่ง เรียก การหมาย (หมั้น) คือ เจ้าโคตรฝ่ายชายจัดหาหมากพลู กล้วยอ้อย แล้วข้าวต้ม เต็ม 2 กระหยั่ง ให้คน 2 คน นำไปขอหญิงต่อพ่อแม่ของหญิง ถ้าพ่อแม่ของหญิงพอใจก็รับเอาไว้ ไม่พอใจก็ไม่รับ เมื่อรับของหมายแล้ว ภายหลังเกิดไม่พอใจจะแต่งงานด้วย ถ้าเป็นชายไม่พอใจของที่นำไปหมายพร้อมกับเงิน 3 บาท ตกเป็นของหญิง ชายเรียกเอาคืนไม่ได้ ถ้าหญิงไม่พอใจชายต้องเสียเงินค่าข้าวต้ม 2 กระหยั่ง เป็นเงิน 5 บาทและคืนเงินไขปาก 3 บาทให้แก่ชาย หากตกลงปลงใจทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหญิงจะแจกข้าวต้ม 2 กระหยั่งให้พี่น้องกินพอถึง 3 วันแล้วนำกระหยั่งเปล่า 2 ใบส่งคืน ให้แก่ฝ่ายชายแล้วตกลง หาฤกษ์งามยามดีเพื่อประกอบพิธีต่อไป
สัญญลักษณ์แห่งความรักใคร่ที่ฝ่ายชายนำไปมอบให้แก่ฝ่ายหญิงเรียก ของฝาก ของฝากนั้นมีสร้อยแหวน เงินคำ เป็นต้น หญิงจะต้องเก็บรักษาของนั้นไว้มิให้สูญเสีย เมื่อผู้หญิงเกิดไม่พอใจต้องส่งสิ่งของของทั้งหมดคืนให้แก่ชาย แต่ถ้าเกิดความไม่พอใจ ไปแต่งงานกับหญิงอื่นของฝากทั้งหมดตกเป็นของหญิง ผู้ชายจะเรียกเอาคืนมาไม่ได้ ของฝากชนิดนี้รู้กันเฉพาะชายหญิง จึงเรียกของชนิดนี้ว่า ของฝากปกปิด
ของฝากอีกชนิดหนึ่งเป็นของเปิดเผยรู้เห็นกันทั่วไปในพวกวงศาคณาญาติ เป็นของฝากที่นำไปสู่ขอหญิงสาวมีขันหมาก กล้วย อ้อย ข้าวต้ม 4 กระหยั่ง และตะกร้าใบเล็กสานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ของมี ไข่ ถั่ว งา พลู หมาก ข้าวสาร สีเสียด เม็ดฝ้าย ข้าวเปลือก ตะกร้านี้มีจำนวนไม่เท่ากัน ถ้าจะนำไปสู่ขอหญิงที่เป็นลูกคนแรก และลูกคนสุดท้องใช้ ตะกร้า 32 ใบ ของหญิงที่เป็นลูกคนกลางใช้ตะกร้า 16 ใบ กับเงินอีก 2 บาท ให้ฝ่ายชายนำสิ่งของเหล่านี้ไปขอต่อหน้าพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เมื่อพ่อแม่ของหญิงรับสิ่งของเหล่านั้นไว้ ถือว่าเป็นการยินยอมยกลูกสาวให้ พ่อแม่หญิงจะเอาข้าวต้ม 2 กระหยั่ง กับเงิน 2 บาท จากฝ่ายชายแล้วส่งข้าวต้ม 2 กระหยั่ง กับค่าของฝากเป็นเงิน 10 บาทคืนให้แก่ฝ่ายชาย ส่วนของนอกนั้นพ่อแม่ ของฝ่ายหญิงจะแจกให้แก่พี่น้องของตนทั้งหมด
มื่อตกลงจะแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายชายจะจัดหาไม้ เครื่องเรือนนำไปปลูกที่บ้านของฝ่ายหญิง การปลูกก็บอกเล่าญาติพี่น้องให้มาช่วย สำหรับอาหารการกิน เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงจัดหา การปลูกจะต้องทำให้เสร็จในวันเดียวกัน ส่วนที่นอนมีเสื่อ มีหมอน เป็นต้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงจะต้องจัดหาไว้ให้พร้อมสรรพ
สิ่งของมี เสื่อ หมอน เสื้อ ผ้าซิ่น ซึ่งฝ่ายหญิงจัดทำเพื่อนำไปสมนาคุณแก่ฝ่ายชาย เรียก เครื่องสมมา ของเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง จะต้องเตรียมไว้ก่อนวันงาน เมื่อแต่งงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำของเหล่านี้ไปสมมาแด่เจ้าโคตรฝ่ายชาย
การกินดอง เป็นพิธีที่จัดให้ใหญ่โตตามฐานะ ทำให้เสร็จภายในวันเดียว ณ ที่บ้านฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เตรียมการต้อนรับญาติพี่น้องจะมาช่วยเหลือ มีอาหารการกินเลี้ยงกันอย่างอุดมสมบูรณ์ที่บ้านฝ่ายชาย ยกเครื่องขันหมาก และพาขวัญออกมาตั้งไว้ที่บ้านฝ่ายหญิง ยกเครื่องสมนา เครื่องปูที่นอน และพาขวัญออกมาตั้งไว้ เมื่อญาติพี่น้องมาพร้อมกันแล้วจึงทำการสู่ขวัญ พิธีสู่ขวัญน้อย เมื่อได้เวลาฤกษ์งามยามดีแล้วต่างฝ่ายต่างทำการสู่ขวัญที่บ้านใครบ้านมัน พอสู่ขวัญเสร็จแล้วก็ผูกข้อต่อแขน ฝ่ายชายแห่ขันหมากมาบ้านฝ่ายหญิง
เครื่องขันหมากมี 3 ขัน ขันใส่เงินค่าดอง 1 ขัน ใส่หมากจีบ พลูแนบ 1 ขัน ใส่เหล้ายา 1 ขัน ทั้งสามนี้ใช้ผ้าสีต่างๆ คลุม ขันใส่เงินค่าดองให้ผู้เฒ่าเจ้าโคตรถือเดินออกก่อน ขันหมากและขันเหล้ายา ให้หญิงสาวบริสุทธิ์ 4 คน หามเดินตามหลัง พาขวัญเดินออกก่อนคู่บ่าวและญาติพี่น้องแห่แหนไปตาม เมื่อไปถึงเรือนผู้หญิงแล้ว เจ้าโคตรฝ่ายหญิงจะออกมารับเชิญให้ขึ้นไปบนเรือน
เมื่อขึ้นไปถึงแล้วเจ้าโคตรฝ่ายชายจะยกขันทั้ง 3 ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงเปิดขันค่าดองออกมานับ ถูกต้องแล้วมอบให้แก่พ่อแม่ของหญิง ส่วนขันเหล้ายาและหมากพลูก็แจกแบ่งตามกันเคี้ยวกัน อาหารการกินที่ฝ่ายหญิงจัดไว้ก็นำมาเลี้ยงดูกัน
พอเสร็จการเลี้ยงแล้วก็มีการสู่ขวัญกับก่าย คือ ให้หญิงชายคู่นั้นเข้าพาขวัญด้วยกัน เอามือก่ายกัน ให้แขนท้าวก่ายแขนนาง เอาแขนชายทับแขนหญิง เสร็จผูกแขนให้ชายหญิงแล้วเอาไข่มาปอก ใช้เส้นผมตัดตรงกลาง ตรวจดูไข่ว่าเต็มหรือไม่ ถ้าเต็มก็หมายความว่าบ่าวสาวนั้นจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขสมบูรณ์ตลอด แล้วยื่นไข่ครึ่งหนึ่งให้ชาย ครึ่งหนึ่งให้หญิง ชายเอาไข่ของตนป้อนหญิง หญิงเอาไข่ของตนป้อนชาย เสร็จแล้วผู้ชายจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปสมมาพ่อแม่ โคตรวงศ์ของหญิง แล้วฝ่ายชายพากันกลับไปบ้านของตน [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง การสู่ขวัญ ]
เมื่อผู้ชายกลับไปแล้วเจ้าโคตรฝ่ายหญิงจะนำผู้หญิงไปสู่เรือนพ่อแม่ฝ่ายชาย เมื่อสมมาของที่จะสมมาพ่อแม่ผู้ชาย มีผ้า 1 ผืน ซิ่น 1 ผืน กับ เสื้อ 1 ผืน สมมาพ่อแม่ของผู้ชายโดยไม่คิดมูลค่าเจ้าโคตร ฝ่ายชายนอกนี้จะสมมาด้วยเสื่อสาด อาสนะอย่างหนึ่ง อย่างใดก็ได้ ตีเป็นราคาผูกเป็นเงินพอเสร็จแล้วกลับบ้านของตน
เวลาส่งผู้ชายไปอยู่เรือนผู้หญิงนั้น กำหนดเวลาโฮมแลง คือเวลาบ่าวโฮมสาว ประมาณว่า 2 ทุ่มเศษ เมื่อได้เวลาแล้ว พากันแห่ชายไปส่ง ผู้เป็นหัวหน้าร้องบอกไปว่า "แม่เฒ่าเอยลูกเขยมาแล้ว ไขป่องเอี่ยมเยี่ยมเบิ่งลูกเขย" เมื่อไปถึงแล้วฝ่ายหญิงจะมาคอยต้อนรับเชื้อเชิญขึ้นไปบนเรือน แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดูกันตามธรรมเนียม
เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้ว ผู้เฒ่าเจ้าโคตร (ชายหญิง) ที่มีฐานะดี มีความประพฤติดี มีลูกเต้าอยู่ด้วยกันมาไม่เคยหย่าร้างกันเป็นผู้ปูที่นอน ให้ปูของผู้ชายให้สูงไว้ทางขวา ของผู้หญิงให้ต่ำไว้ข้างซ้ายผ้าปูของผู้ชาย แล้วก็ทำพิธีนอนก่อน แล้วจึงลุกขึ้นมาจูงผู้หญิงเข้าไปก่อน จูงผู้ชายเข้าไปทีหลัง แล้วปิดประตูให้ชายหญิงนอนด้วยกันพอเป็นพิธี จึงเปิดประตูให้ชายหญิงออกมานั่งข้างนอกต่อหน้าผู้เฒ่าเจ้าโคตรทั้งสองฝ่าย การมอบตัวเจ้าโคตรฝ่ายหญิง จะได้บอกสอนหญิงให้รู้จักฮีตผัวครองเมีย รู้จักฮีตบ้านครองเรือน ให้ฮักแพงอยู่ดีกินดีด้วยกันตลอด พอจบการสอนแล้ว เจ้าโคตรฝ่ายชาย จะมอบหมายสายเส้นฝากฝังผู้ชายให้เป็นลูกเป็นเต้า เป็นอันเสร็จพิธีการกินดองแต่เพียงเท่านี้
ยังมีพิธีแต่งงานอีกแบบหนึ่ง การซู เมื่อชายหญิงชอบพอกันแล้ว มิได้บอกพ่อแม่ผู้หญิงให้ทราบก่อน ด้วยเกรงจะเกิดความผิดหวัง จึงตกลงกับหญิงนัดวันเวลาที่จะไปสมสู่อยู่ร่วมให้หญิงทราบ ภายหลังจึงบอกให้พ่อแม่ของหญิงทราบ แล้วทำพิธีสู่ขวัญให้
ในการแต่งงาน ถ้าฝ่ายใดเคยเป็นฮ้างหรือหม้ายมาก่อน ฝ่ายนั้นจะต้องตาบฮ้างหรือหม้าย เช่น เมื่อผู้ชายบริสุทธิ์ไปแต่งงานกับหญิงที่เป็นฮ้างหรือหม้าย ควรจะแต่ง 20 บาทก็ลดลงมาเพียง 10 บาท การทำดังนี้ถือว่า เป็นความยุติธรรมดีเหมือนกัน การกินดองของคนโบราณนั้น หลังจากกินดองนี้แล้วจะต้องกินอีก 5 ครั้ง
เหมาะสำหรับหญิงที่จะไปเป็นแม่เรือนควรศึกษาและปฏิบัติให้ได้ จึงจะได้รับความสุขเรื่องมีอยู่ว่า ธนญชัยเศรษฐี เมื่อจะส่งนางวิสาขาไปเป็นเมียของมิคารเศรษฐี ให้โอวาทคำสอน 10 ข้อ
โอวาททั้ง 10 ข้อนี้ เหมาะสำหรับหญิงที่จะไปเป็นลูกสะใภ้
หน้าที่ผัว ที่ผัวจะต้องทำต่อเมีย | หน้าที่เมีย ที่เมียจะต้องทำต่อผัว |
|
|
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
ชีวิตขั้นที่สอง รองจากเกิดก็คือ การบวช ผู้ชายทุกคนเมื่ออายุครบแล้วจะต้องบวช การบวชถือว่าเป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ดีมีศีลธรรม และเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ดังนั้นการบวชจึงถือว่า เป็นประเพณีที่จำเป็นสำหรับลูกผู้ชายทุกคน
คำว่า บวช มาจากศัพท์ว่า ปะวะชะ แปลว่า งดเว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือนมาบำเพ็ญเพียรทำกิจพระศาสนา มีสวดมนต์ ภาวนา เป็นต้น การบวชนั้น ถ้าเป็น สามเณร เรียก บรรพชา ถ้าเป็น พระภิกษุ เรียก อุปสมบท มี 3 อย่าง คือ
ในสมัยโบราณ คนที่ออกบวชย่อมบวชเพราะชรา เจ็บป่วย จนทรัพย์ สิ้นญาติขาดมิตร สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์ปรารภความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงออกบวช ส่วนคนทุกวันนี้บวชตามประเพณี เมื่ออายุครบก็บวช บวชเป็นการแก้บนบ้าง บวชตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่บ้าง
คนที่ควรบวชให้คือ | คนที่ไม่ควรให้บวช คือ |
|
คนที่มีลักษณะดังกล่าวมานี้ไม่ควรให้บวช
|
คำว่า นาค คนที่จะบวชเขาเรียกว่า นาค แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือ ผู้ไม่ทำบาป เหตุที่ได้ชื่อว่า นาค เรื่องเดิมมีอยู่ว่า พญานาคแปลงตัวเป็นมนุษย์มาบวชในพระพุทธศาสนา เวลานอนหลับกลับเพศเป็นนาคตามเดิม วันหนึ่งพวกภิกษุไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกเธอมาถาม ได้ความว่าเป็นเรื่องจริง จึงสั่งให้สึกเสีย พญานาคมีความอาลัยในเพศบวช จึงกราบทูลขอฝากชื่อนาคไว้ ถ้าผู้ใดจะเข้ามาบวชขอให้ เรียกชื่อว่า นาค คำว่า นาค จึงเป็นชื่อเรียกผู้ที่จะบวชจนถึงทุกวันนี้
เมื่อบุตรหลานมีอายุครบพอที่จะบวชเป็นพระหรือเณรได้แล้ว พ่อแม่จะนำไปฝากไว้กับเจ้าอาวาสวัดก่อนบวช ประมาณหนึ่งเดือน เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียน ทำวัตรสวดมนต์ ท่องบ่นขานนาค ทำพินธุ ปัจจุอธิษฐาน เรียนหนังสือธรรม การนำลูกหลานไปฝากไว้กับเจ้าอาวาสวัด เขาจัดดอกไม้ ธูปเทียนใส่ขันนำตัวนาคไป เมื่อท่านรับขันแล้ว ก็ตีโปง หรือ ระฆัง เพื่อบอกให้ชาวบ้านได้อนุโมทนาสาธุการนี้ เรียกว่า การประเคนนาค
อีก 2 - 3 วัน จะถึงวันบวช นาคจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปลาญาติพี่น้อง เพื่อสมมาลาโทษผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ และไปสั่งลาชู้สาว ถ้ามี หากมีหนี้สินติดตัวก็รีบชำระชดใช้เสีย เพื่อจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ การปล่อยนาคให้ไปไหนมาไหนก็ได้มีกำหนด 3 วัน เรียกว่า ปล่อยนาค ทั้งนี้เพื่อให้นาคได้มีโอกาสเวลาบวช แล้วจะได้ตั้งหน้าบำเพ็ญกุศลต่อไป
เครื่องใช้ที่จะนำมาบวชเรียกกองบวช ที่จำเป็นจะขาดเสียไม่ได้คือ บริขาร 8 มีผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าสังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็ม ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ บริขารนอกนี้ มีเสื่อ สาด อาสนะ ร่ม รองเท้า เต้า โถน เตียง ตั่ง จะมีหรือไม่มีก็ได้ไม่จำเป็น ถ้าทำพร้อมกันหลายกองให้ขนมารวมกันไว้ที่วัด ตอนค่ำสวดมนต์ เสร็จแล้วบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแด่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว กลางคืน มีมหรสพ ตอนเช้าถวายอาหารบิณฑบาต ถ้าทำบ้านใครบ้านมัน ตอนค่ำนิมนต์พระไปสวดมนต์ที่บ้าน กองบวชใช้เม็ง คือ เตียงหามออกมา เตียงนั้นใช้เป็นเตียงนอนของพระบวชใหม่ เมื่อกองบวชมารวมกันแล้ว ก่อนจะสู่ขวัญนาค
ต้องบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ตายแล้วด้วย
การแห่นาคทำตามศรัทธาของเจ้าภาพจะแห่ด้วยช้าง ม้า รถ เรือก็ได้ ที่แห่ด้วยม้าคงจะถือเอาอย่างพระสิทธัตถะคราวออกบวชเป็นตัวอย่าง นาคทุกคนต้อง โกนผม โกนคิ้ว นุ่งเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ถ้าตั้งกองบวชไว้ที่บ้าน ให้แห่กองบวชมารวมกันที่วัด เมื่อพร้อมกันแล้วก็แห่รอบศาลาอีกครั้งหนึ่ง การสู่ขวัญนาค เมื่อแห่รอบศาลาแล้วนาคทุกคนเตรียมเข้าพาขวัญ ญาติพี่น้องนั่งห้อมล้อมพาขวัญพราหมณ์เริ่มทำพิธีสู่ขวัญ เสร็จแล้วผูกแขนนาคนำเข้าพิธีบวชต่อไป
เวลาจะเข้าโบสถ์ พ่อจูงมือซ้าย แม่จูงมือขวา ถ้าพ่อแม่ไม่มีให้ญาติพี่น้องเป็นผู้จูง ถึงภายในโบสถ์แล้วนาคจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระ เสร็จกลับมานั่งที่ พ่อแม่จะยกผ้าไตรส่งให้นาค ก่อนจะรับผ้าไตรนาคต้องกราบพ่อแม่ก่อน แล้วอุ้มผ้าไตรเดินคุกเข่าประนมมือเข้าไปท่ามกลางสงฆ์
กล่าวคำขอบรรพชาต่อ พระอุปัชฌาชย์ แล้วออกมาครองผ้า แล้วเข้าไปขอศีลกับพระอาจารย์เป็นอันได้บวชเป็นสามเณรแล้ว ต่อจากนั้นอุ้มบาตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์กล่าวคำขอนิสัย เมื่อท่านเอาบาตรคล้องคอแล้วมอบบาตรจีวรให้ ให้ออกไปยืนข้างนอก ตอนนี้พระอาจารย์คู่สวดจะสมมุติตนเป็นผู้สอน และซักซ้อมนาค แล้วออกไปซักถามนาค พอถามแล้วก็เรียกนาคเข้ามาถามต่อหน้าสงฆ์ พระอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บอกเล่าสงฆ์ แล้วอาจารย์สวดเป็นผู้ถาม พอถามเสร็จก็สวดญัติ 1 ครั้ง และอนุสาวนา 3 ครั้ง เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจา เป็นอันว่านาคนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว
เมื่อบวชแล้ว พระอุปัชฌาย์จะบอก อนุศาสน์ คือ บอกกิจที่พระควรทำและไม่ควรทำ
กิจที่ควรทำมี 4 คือ | กิจที่ไม่ควรทำมี 4 คือ |
|
|
พอพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์จบแล้ว ถือว่าเสร็จการบรรพชาอุปสมบทแล้ว ต่อจากนั้นพระใหม่จะนำจตุปัจจัยไปถวายพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ และพระสงฆ์ เสร็จแล้วออกไปนั่งท้ายอาสนะ คอยรับอัฏฐะบริขาร ถ้าผู้ชายถวายให้รับด้วยมือ ถ้าผู้หญิงถวายให้ใช้ผ้ากราบ รับเสร็จแล้วเข้ามานั่งที่เดิม เตรียมกรวดน้ำไว้ เมื่อพระอุปัชฌาย์ว่า "ยถา..... " พระใหม่เริ่มกรวดน้ำพอท่านว่าถึง "............ มณีโชติรโส ยถา........ " ให้กรวดน้ำให้หมด การกรวดน้ำในพิธีนี้ถือว่า เป็นการแผ่ส่วนกุศลแด่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีเกี่ยวกับบวชแต่เท่านี้ เมื่อครบ 3 วันแล้วจะมีการฉลองพระบวชใหม่ การฉลองก็คือจัดอาหารคาวหวาน มาเลี้ยงพระ และสู่ขวัญให้พระบวชใหม่
ผู้บวชในสมัยโบราณเป็นผู้เบื่อต่อโลก จึงไม่มีการลาสิกขา ครั้นต่อมาการบวชได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นประเพณีแล้ว ผู้บวชไม่ประสงค์จะอยู่ก็ต้องลาสิกขา การลาสิกขาก็ต้องทำเป็นกิจลักษณะพิธีทำมีดังนี้
ผู้ประสงค์จะลาสิกขาเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน ไปทำวัตร พระอุปัชฌาย์อาจารย์เมื่อถึงวันกำหนดแล้วให้จัดสถานที่ นิมนต์พระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว พระภิกษุผู้จะลาสิกขาต้องแสดงอาบัติเสียก่อนแล้วว่า "นโม 3 จบ" ว่าอดีต "ปัจจเวกขณะ 1 จบ" คำลาสิกขาว่า " สิกขัง ปัจจักขามิ คีหิติ มัง ธาเรถะ ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ขอท่านทั้งหลายจงจดจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นคฤหัสถ์ ณ บัดนี้" ว่า 3 จบ แล้วพระเถระจะชักผ้าสังฆาฏิออก จึงออกไปเปลื้องผ้าเหลือง ออกแล้วจึงนุ่งห่มผ้าขาวเข้ามากล่าว คำขอสรณคมณ์และศีล 5 แล้วกล่าวคำ ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามะกะว่า "อหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สรณังคโต สาธุ ภันเต ภิกขุสังโฆ พุทธมามโกติ มัง ธาเรถะ" พระสงฆ์นั่งอันดับรับสาธุพร้อมกัน แล้วผู้ลาสิกขากราบ 3 หน เสร็จแล้วผู้ลาสิกขานำเครื่องสักการะไปถวาย พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี ส่วนการลาสิกขาของสามเณร ไม่มีคงอนุโลมตามอย่างพระภิกษุ
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
พิธีกรรมประจำชีวิต ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ได้กำหนดลำดับเหตุการณ์ในชีวิตมนุษย์ขั้นสำคัญไว้ 4 ครั้ง คือ
เมื่ออายุผ่านมาถึงขั้นหนึ่งๆ นั้น จะต้องมีการกระทำพิธีที่เกี่ยวข้อง พิธีที่กระทำในระยะนั้นเรียกว่า "พิธีกรรมประจำชีวิต"
นับตั้งแต่ปฏิสนธิ (อยู่ในท้อง) จนถึงคลอดออกมา เรียก การเกิด ผู้คนเกิดมาจะดีหรือชั่ว สำคัญที่สุดอยู่ที่พ่อแม่ ถ้าทั้งสองคนนี้ดี ลูกที่เกิดมาก็จะเป็นคนดี ดังนั้นคนโบราณจึงสอนให้สร้างแต่ความดีโดยวางหลักการสร้างไว้ดังนี้
เช่น ศาลาโรงธรรม หรือ ศาลากลางบ้าน คนโบราณชอบสร้างพระพุทธรูปที่สวยงามไว้ เวลาคนผ่านไปมาให้แลเห็นถนัด จักได้เกิดศรัทธามีความเคารพนับถือ
เมื่อเวลาตั้งครรภ์ น้อมนึกถึงพระพุทธรูปจิตใจก็จะสงบสบาย ลูกที่เกิดมาก็จะเป็นคนที่มีจิตใจดีงาม มีศีลธรรมและรูปร่างสวยงาม เหมือนพระพุทธรูปที่สร้าง
คนโบราณชอบสร้างหิ้งพระไว้ในห้องนอน มีพระพุทธรูปปางต่างๆ ไว้เพื่อสักการะบูชา
ในห้องนอนของคนโบราณ มักจะมีรูปเขียน รูปหล่อ หรือรูปปั้นของคนสำคัญๆ เช่น รูปพระพุทธเจ้า รูปพระสาวก รูปวีรชน รูปบรรพบุรุษ รูปบิดามารดา เป็นต้น เวลาเข้าไปในห้องนอนแต่ละครั้งระลึกถึงบุคคลนั้น เป็นประจำเวลามีครรภ์ลูกก็จะเหมือนบุคคลนั้นๆ
การที่คนโบราณสร้างพระพุทธรูปก็ดี สร้างหิ้งพระ หรือสร้างภาพก็ดีไว้ในห้องนอน ความประสงค์ส่วนหนึ่งก็เพื่อแนะแนวทางให้สร้างคน ถ้าทำได้ก็จะนำคนดีคนงามมาเกิด เหตุผล ในข้อนี้มีอย่างไร? จะนำหลักฐานมาประกอบ
ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา พระสาวกชื่อ พระมหากัจจายน์ ท่านมีรูปร่างสวยสดงดงาม ลูกชายเศรษฐีชื่อ โสเรยยะ ไปเห็นเข้า คิดอยากได้ท่านมาเป็นเมีย พอคิดเช่นนั้นแล้ว ลูกชายเศรษฐีก็กลายเป็นหญิง อยู่ต่อมาได้แต่งงานกับลูกชายเศรษฐีเมืองตักศิลา อยู่กันจนได้บุตร 2 คน เมื่อรู้สึกสำนึกตัวกลัวความผิด จึงได้ไปขอโทษต่อพระมหากัจจายน์ ท่านขมาโทษให้แล้ว ก็กลับเป็นชายตามเดิม
อีกเรื่องหนึ่ง
ฝรั่งผิวขาวสองผัวเมียแต่งงานกันใหม่ ได้ผู้ชายแขกดำเป็นคนใช้ ขยันหมั่นเพียรซื่อสัตย์และจงรักภักดี เป็นที่พออกพอใจของเมียฝรั่ง ต่อมาเมียฝรั่งตั้งครรภ์ เวลาคลอดออกมาลูกมีรูปร่างหน้าตาเหมือนแขกดำ แม้จะซักไซ้ไล่เลียงจนเรื่องขาวสะอาด แล้วก็ตาม ฝรั่งผู้ผัวก็ไม่พอใจเขา แบ่งข้าวของเงินทองให้เป็นค่าแรงแขกดำแล้วให้ออกจากเรือนไป
แขกดำลืมรูปถ่ายของตนไว้ เมียฝรั่งเวลาเดินเข้าออกในบ้านก็เห็นแต่รูปของแขกดำ ภายหลังตั้งครรภ์อีก พอคลอดลูกออกมา ก็มีรูปร่างหน้าตาเหมือนแขกดำอีก ฝรั่งผู้ผัวจึงหายสงสัย ได้ใช้ให้คนไปตามเอาแขกดำคนใช้นั้นมาอยู่ด้วยกัน จนตลอดชีวิตนี่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก
ขณะที่ลูกอยู่ในท้อง ถ้าเป็นคนมีบุญมาเกิด ผู้เป็นแม่จะมีความสุขกายสบายใจ ตัวอย่าง
แม่พระติสสะพอพระติสสะเกิดแม่ก็อยากทำบุญให้ทาน ถึงกับถวายข้าวมธุปายาสแด่พระสงฆ์ มีองค์พระสารีบุตรเป็นประธาน
ถ้าเป็นคนบาปมาเกิดแม่จะทนทุกข์ทรมาณมีการเจ็บไข้ได้ป่วย เวลามีอะไรมากระทบมักจะไม่พอใจ แสดงความไม่พอใจออกมานอกหน้า บางรายเป็นศัตรูต่อผู้ให้กำเนิดของตนก็มี ตัวอย่างเช่น
พระเจ้าอชาตศัตรู พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารและพระนางเวเทหิ พอเริ่มตั้งครรภ์พระนางก็อยากดื่มกินพระโลหิตของพระสวามี จนพระสวามีให้แพทย์มาเจาะพระโลหิตที่ลำแขน 1 จอกทอง พอพระนางได้เสวยอาการแพ้ท้องก็สงบ ในเวลาประสูติพระโอรส ปืนผา หน้าไม้ ในพระนครก็เกิดลุกเป็น เปลวเพลิงไปหมด
ต่อมา เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเจริญวัยได้คบคิดกับพระเทวทัตแย่งเอาราชสมบัติชิงบัลลังค์ แล้วฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นบิดาให้ตาย
สัตว์เกิดเป็นคน เวลาใกล้จะตาย ถ้าใจไปนึกไปห่วง เอาอะไรมาเป็นอารมณ์ก็มักจะเกิด เป็นสิ่งนั้น ข้อนี้มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า
"ณ เมืองอัลลกัปปะ เกิดฝนแล้ง นายโลกุตตะลิกกับนางกาลีพากันอุ้มลูกน้อยมุ่งสู่เมืองโกสัมพีเพื่อขอทาน สู้กับความหิวโหยไม่ได้ จึงทิ้งลูกน้อย ไว้กลางทาง แล้วเดินต่อไปจนถึงบ้านพักคนเลี้ยงโค ที่นั้นเขาทำบุญเลี้ยงพระปัจเจก เขาได้ให้ทานอย่างเหลือเฟือแก่สองผัวเมีย ผู้ผัวนั้นกินเกินประมาณ อาหารไม่ย่อย พอตกกลางคืนเขาก็ตาย แต่ก่อนตายเขาได้เหลือบเห็นนางสุนัขของคนเลี้ยงโค ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร เขารู้สึกรักใคร่พอใจมัน พอตายแล้วเขาได้เกิดในท้องของนางสุนัขนั้น"
ส่วนสัตว์ที่ตายแล้ว ได้มาเกิดเป็นคน มีเรื่องเล่าไว้ว่าครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสถึงบูรพกรรมของภิกษุ ผู้เป็นคนใจร้ายชอบดุด่าว่ากล่าวผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า แต่ก่อน เธอเกิดเป็นเสือ ชอบจับเนื้อกินเป็นอาหารมาบัดนี้เธอเกิดเป็นคนแล้ว บวชเป็นพระภิกษุก็ยังใจคอดุร้ายคล้ายเสืออยู่
หญิงเกิดเป็นชาย ชายที่ประพฤติย่อหย่อนต่อศีลธรรม เช่น มีการเล่นชู้สู่เมียท่าน เป็นต้น ตายแล้วไปเกิดเป็นหญิง มีเรื่องเล่าไว้ว่า พระอานนท์ คราวเกิดเป็นลูกช่างทองได้เป็นชู้สู่เมีย ท่านตายแล้วได้ไปเกิดในนรก พ้นจากนรกแล้ว ได้ไปเกิดเป็นนางบำเรอสี่สิบชาติ พ้นจากนั้นได้ไปเกิดเป็นบุรุษ ถูกเขาตอนถึงเจ็ดชาติ เมื่อสิ้นกรรมแล้วได้มาเกิดเป็นพระอานนท์
ส่วนหญิงที่ต้องการจะเกิดเป็นชาย ท่านสอนให้ทำตนดังนี้
ก่อนจะสิ้นใจให้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เกิดเป็นชาย ตายแล้วก็ได้เกิดเป็นชาย
จากหลักฐานที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เท็จจริงแค่ไหนโปรดตัดสินเอาเอง ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ชั่วดีอยู่ที่ใจ ใครอบรมใจได้ คนนั้นเป็นคนดี การสร้างคนให้ดีผู้สร้างต้องเป็นคนดี
การสมสู่อยู่ร่วมกันนั้น ทางพระพุทธศาสนาสอนให้มีความสันโดษ คือพอใจเฉพาะในผัวเมียของตน มิให้ทำการสมสู่แบบสัตว์เดรัจฉาน หากทำแบบนั้นถือว่าบาป บางรายถึงกับตกนรกหมกไหม้ พ้นจากนรกก็มาเกิดเป็นคนใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์ บางรายก็เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ให้เขาทุบตีทรมาน การฆ่าหรือรีดลูก ในท้องให้ตาย ก็ถือว่าเป็นบาปหนักจะถูกเขาฆ่าตายถึง 500 ชาติ
สำหรับวันทำการประเวณีนั้น โบราณห้ามมิให้ทำในวันศีล วันพระ ที่บริเวณวิหาร ลานเจดีย์ ลานวัด ใกล้พระพุทธรูป ห้ามมิให้ทำกับคนต่างชาติ ต่างศาสนาอันจะเป็นการสับสนปนเป เป็นเหตุให้ไม่บริสุทธิ์
การอบรมเด็กในท้องในเวลามีครรภ์ โบราณสอนให้พักผ่อนไม่ให้ทำงานที่หนัก สำหรับการอยู่กินก็ห้ามมิให้กินอาหารที่เปรี้ยวหวาน มัน เค็ม เผ็ดร้อนจนเกินไป ด้วยกลัวเป็นอันตรายแก่เด็กในท้อง การยืน เดินนั่งนอน ก็ให้ระมัดระวัง ให้ทำบุญให้ทานรักษาศีลเมตตาภาวนา การทำทั้งนี้เป็นการรักษา และอบรมเด็กในท้องให้เป็นคนดีนั่นเอง การคลอดกำหนดเวลาตั้งครรภ์ โบราณว่าไว้ว่า
"ผู้สาวมานเก้าผู้เฒ่ามานสิบ" หมายความว่า หญิงที่มีท้องคนหัวปี (คนแรก) ครบเก้าเดือนจึงจะคลอด มีท้องคนที่สองไปมีครบสิบเดือน จึงจะคลอด เมื่อถึงเวลาจะคลอดพอรู้สึกปวดท้อง ให้ไปเชิญหมอตำแยมาไว้ ถ้ามีเครื่องรางของขลังให้เอาเก็บรักษาไว้ที่อื่น ห้ามมิให้คนยืนขวางประตู หรือบันได ห้ามมิให้พูดเรื่องซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการคลอด
เมื่อคลอดแล้วเตรียมทำเตาไฟ หาหม้อและฟืนมาจุดต้มน้ำให้อยู่ไฟ (อยู่กรรม) ต่อไป ฟืนอยู่ไฟที่กองชันไว้ให้ล้ม เวลาตกฟากไม้ไผ่ที่เอามาสับติดกันเป็นแผ่นใช้นั่งในเวลาจะคลอดเรียกว่าฟาก
เวลาตกฟาก คือเวลาที่คลอดออกมาแล้วตกถึงฟาก เวลาตกฟาก นี้ถือกันว่าเป็นเวลาเกิดและเป็นเวลาสำคัญมาก ผู้เป็นพ่อแม่จะต้องจำเวลา วัน เดือน ปีเกิดของเด็กไว้ให้แม่นยำเพื่อสะดวกใน การที่จะนับอายุในเวลาบวช เวลาแต่งงานหรือจะดูฤกษ์งามยาม เวลาตกฟาก นี้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า หญิงตกหงาย ชายตกคว่ำ
คือเวลาคลอด หญิงจะต้องหงายหน้าขึ้น ชายจะต้องคว่ำหน้าลง ถ้าหญิงตกคว่ำ ชายตกหงาย ถือว่าผิดธรรมเนียม ถ้าใครเป็นเช่นนั้น เวลาคลอดออกมาเขาจะเอามือจับองคชาติ (ของลับ) เพื่อว่าต่อไปเด็กจะมีเพศนี้เขาจะต้องเป็นหมัน แต่งงานแล้วไม่มีลูก ไม่พิกลพิการ
สายที่โยงจากแฮ่ (รก) มาหาสะดือ เรียก สายแฮ่ สายแฮ่นี้จะต้องตัด เขามัดเป็นเปราะๆ ให้แน่น ให้ตัดยาวเสมอเข่าเด็ก ของที่จะตัดใช้ติว (ผิว) ไม้ฮวก (ไม้ไผ่) หรือกาบหอย ห้ามมิให้เอามีดหรือเหล็กตัด เพราะจะเป็นพิษ เขียงรอง ตัดใช้ว่านไฟ ก้อนหินหรือถ่านไฟ คนที่จะตัดก็เลือกเอาคนที่มีนิสัยใจคอดีด้วย ถือว่าเด็กที่เกิดมาจะมีนิสัยใจคอคล้ายกับผู้ตัดสายแฮ่
เมื่อตัดสายสะดือแล้ว เอาน้ำอาบให้เด็ก ถ้ามีไขมันหรือเมือกติดต้องเอาน้ำมันมะพร้าวทาตามตัว แล้วเอาผ้าเช็ดจึงอาบน้ำให้ วิธีอาบน้ำให้นั่งเหยียดขาทั้งสองข้างออกให้ตรง เอาเด็กวางลงในระหว่างขา หันหัวเด็กไปทางปลายเท้า แล้วเอาน้ำอาบให้และให้ดัดแข้งขามือเท้าให้ตรงด้วย เมื่ออาบน้ำแล้วเอาผ้าขาวยาวเท่าลำตัวมาเจาะเป็นรูตรงกลาง ระหว่างสะดือวางทาบลงบนท้องสอดสายสะดือเป็นวงวางไว้บนผ้า แล้วเอาเชือกรัดไว้ทั้งสองข้าง จึงเอาเด็กใส่ในกระด้ง
ก่อนจะเอาเด็กวางลงกระด้งให้เอาเบาะปูลง แล้วเอาผ้าขาวรองจึงเอาเด็กวางลง กระด้งนั้นใช้ทางด้านหลัง แล้วนำกระด้งเด็กไปที่ประตูเรือน ทำการผอกผีพราย ผายผีป่า เอากระด้งเคาะกับประตูเบาๆ ว่า กูหุก กูหุก กุกกู กุกกู แม่นลูกสูมา เอามื้อนี้กลายมื้อนี้เมื่อหน้าลูกกู ว่าดังนี้สามหนด้วยถือว่าในระหว่าง สามวันลูกผี วันสี่เป็นลูกคน พอผอกแล้วนำกระด้งเด็กไปวางข้างแม่ของเด็ก แล้วเสกคาถาเอาด้ายสายสิญจน์วงรอบผูกข้อต่อแขนให้ทั้งแม่และเด็ก ในขั้นตอนของการฮ่อนกระด้งนั้น หากเป็นเด็กผู้หญิงจะเอาเข็ม ด้าย หรืออุปกรณ์เย็บปักถักร้อยวางลงในกระด้งก่อน แล้วค่อยเอาเบาะปูทับ ว่าจะทำให้เป็นคนเรียบร้อย เป็นแม่บ้านแม่เรือน หากเป็นเด็กชาย จะเอาสมุด ดินสอ วางลงทำเช่นเดียวกัน จะทำให้เป็นคนรักเรียนเขียนอ่าน โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน
เมื่อตัดสายแฮ่ออกแล้ว เอาใบตองเกลือมาห่อ แล้วนำไปฝังใต้บันไดชานเรือน เอาไฟสุมไว้สามวันสามคืน ที่เอาไฟสุมไว้ทั้งกลางวันกลางคืน โบราณถือว่าป้องกันผีพราย มิให้มาทำอันตรายแก่เด็ก
เมื่อจะอยู่ไฟ ต้องมีการทำพิธีดับพิษไฟเสียก่อน โดยเสกข้าวสารกับเกลือ ด้วยคาถา " พุทโธ โลกนาโถ โมคัลลาโน อคคีสยายมม" เรียกคาถาบทนี้ว่า พระโมคัลลาน์ดับไฟนรก เสกคาถาแล้วเคี้ยวข้าวสารกับเกลือ พ่นที่ท้องของผู้ที่อยู่ไฟ 3 ครั้ง ที่หลัง 3 ครั้ง ที่เตาไฟ 3 ครั้ง จัดหาข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมทั้งกระทงสังเวย ประกอบด้วยกุ้งพล่า ปลายำ เป็นการเซ่นสังเวยแม่ก้อนเส้าเตาไฟ และขอขมาลาโทษต่อพระเพลิง ธูป เทียน นั้นจะใช้อย่างละ 4 ปักที่ 4 มุมเตา ก่อนขึ้นนอนบนกระดานไฟต้องทำเข้าขื่อเสียก่อน คือ นอนตะแคงให้หมอตำแยเหยียบตะโพกซึ่งครากจากการคลอด ให้ตะโพกเข้าที่เสียก่อนแล้ว จึงขึ้นนอนบนกระดานไฟได้ ก่อนขึ้นนอนก็ต้องกราบขอขมาเตาไฟด้วย จึงจะขึ้นนอนได้
นอกจากนั้นแล้ว หมอตำแยจะเสก ขมิ้น ปูนแดงและเหล้าขาวทาที่ท้อง และหลังของผู้ที่อยู่ไฟด้วยเพื่อเป็นการดับพิษร้อน การอยู่ไฟ หรือการอยู่กรรมนั้น ก็เพื่อย่างตัวและในขณะที่อยู่ไฟ ต้องกินน้ำร้อน หม้อน้ำร้อน เรียกว่า หม้อกรรม อาจจะผสมสมุนไพรลงไปด้วยก็ได้ หม้อน้ำร้อนจะตั้งไว้ใกล้ๆ กับผู้ที่อยู่ไฟ เพื่อให้สะดวกเวลาตักกินการกินน้ำร้อนเพื่อทำให้ร่างกายขับเหงื่อ ขับปัสสาะออกมาก็เป็นการขับพิษออกจากร่างกายได้อีกวิธีหนึ่ง ถ้าเป็นแม่ใหม่ต้องอยู่ไฟอย่างน้อย 15 วัน แม่เก่า 7 - 8 วัน ถ้าเห็นว่าจะปลอดภัยจะอยู่น้อยกว่านั้นก็ได้ สำหรับอาหารการกิน ผู้อยู่ไฟจะต้องคะลำ (เว้นของที่แสลง) ในระหว่างที่อยู่ไฟนั้น จะมีญาติพี่น้องนำอาหารการกิน กล้วย อ้อย มาฝากไม่ขาด แม้จะไม่มีอะไรมาฝาก ก็มาเยี่ยมถามสารทุกข์สุกดิบเป็นการแสดงออกซึ่งไมตรีจิตของพี่น้องประการหนึ่ง
เมื่อเข้ากรรมแล้วเขาจะทำตาแหลวห้อ (เฉลว) อันหนึ่งขนาดเท่าฝาบาตร เอาด้ายสีดำแดงขาววงรอบ ผูกติดปลายไม้ไผ่ปักไว้ข้างบันไดเบื้องขวา จนกว่าจะออกไฟการปักตาแหลวห้อไว้นี้ ถือว่าเป็นการป้องกันภูตผี ปีศาจ อีกอย่างหนึ่งแสดงให้เห็นว่าบ้านนั้นมีคนอยู่ไฟ ธรรมเนียมมีอยู่ว่า ผู้จะไปเยี่ยมก็ให้ระวังปาก คืออย่าพูดถึงเรื่องร้อน จะทำให้ผู้อยู่ไฟเกิดผด เป็นผื่นคันพุพอง
ที่นอนของเด็ก ซึ่งเขาสานด้วยไม้ไผ่เป็นตาห่างๆ เรียกว่า อู่ หรือ เปล ก่อนที่จะเอาเด็กลงนอนในอู่ต้องให้ครบ 3 วันเสียก่อน ในขณะที่ยังไม่นอนอู่นั้นจะเอาเด็กนอนในกระด้ง เวลาจะลงอู่ ต้องมีการเชื้อเชิญญาติพี่น้องมาทำพิธี ถ้าเป็นชายเอากระดาษดินสอลงในอู่ด้วย โดยถือว่าเวลาเด็กเจริญเติบโตขึ้น จะได้เป็นคนรู้หลักนักปราชญ์ ถ้าเป็นหญิงเอาด้ายและเข็มลงในอู่ด้วย โดยถือว่าเมื่อโตขึ้นจะได้ฉลาดในกิจบ้านการเรือนมีการเย็บปักถักร้อย เป็นต้น ซึ่งเหมือนกับการนอนกระด้ง [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เพลงกล่อมลูก ]
เมื่ออยู่ไฟครบกำหนดแล้ว ก็จัดการออกกรรม พิธีทำมีการบูชาเตาไฟด้วยดอกไม้ธูปเทียนให้หมอทำน้ำมนต์ดับพิษไฟให้ ต่อไปอาบน้ำเย็น กินอาหารก็ไม่ต้องคะลำ สิ่งที่ต้องห้ามอีกอย่างคือไม่ให้สมสู่อยู่ร่วมกัน เกรงเป็นอันตรายต่อมดลูก หรือมีลูกถี่เกินไป
กระโจมในสมัยก่อนจะทำเป็นโครงไม้ไผ่คล้ายสุ่มไก่ เอาผ้าคลุม มีหม้อต้มยาสมุนไพร ซึ่งได้แก่ เปลือกส้มโอ ใบส้มป่อย ว่านน้ำ ผักบุ้งล้อม มะกรูด เกลือ เป็นต้น ต้มพอน้ำเดือดแล้วต่อท่อให้ไอน้ำเข้าไปในกระโจม ก่อนเข้ากระโจม เอาว่านนางคำ ฝนหรือตำคั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับเหล้าขาวและการบูร ทาให้ทั่วตัวก่อน แล้วจึงเข้ากระโจม ช่วยขับเหงื่อ ขับพิษและยังป้องกันฝ้าขึ้นหน้าอีกด้วย
คือ กรรมวิธีการรักษาตัวอย่างหนึ่ง โดยใช้ลูกประคบ ประคบตามมือเท้า ท้องน้อยบริเวณหัวเหน่า เต้านม ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย และช่วยให้มดลูกกลับเข้าอู่เร็วขึ้น วิธีทำลูกประคบ ใช้ ไพล ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย ใบมะขาม ใบส้มป่อย ตำเคล้ากับเกลือ ห่อผ้าขาว จุ่มน้ำที่เหลือจากการเข้ากระโจม นอกจากนั้นแล้วน้ำที่เหลือจากการเข้ากระโจมก็ดี น้ำที่เหลือจากการประคบก็ดี สามารถนำมาใช้อาบได้อีกด้วย
วิธีการทำ เอาเกลือบรรจุลงในหม้อตาลมีฝาละมีแล้วตั้งไฟ พอเกลือแตกดังเผียะๆ ยกหม้อเกลือวางลงบนใบพลับพลึง หรือ ใบละหุ่ง และเอาผ้าห่อหม้อตาล พร้อมใบละหุ่ง คลึงตามตัว ช่วยให้หายปวดเมื่อย ปกติแล้วจะทำวันละ 2 ครั้ง เช้า บ่าย ทุกวันจนกว่าจะออกไฟ
ใช้ผิวมะกรูดตากแห้ง ว่านน้ำ ว่านนางคำไพล ขมิ้น อ้อยชานหมาก ชลูด ขมิ้นผง ใบหนาด ทั้งหมดหั่นละเอียด ตากแดด ใช้โรยบนเตาไฟขนาดเล็กๆ ให้ไอพลุ่งขึ้นสู่ก้นของผู้ที่คลอดลูกใหม่ เป็นการสมานแผลที่เกิดจาก การคลอดลูก จะพบว่าสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาจะเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายๆ และใช้ในชีวิตประจำวัน หาได้สะดวก หากมีไม่ครบขาดอย่างใด อย่างหนึ่งก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
การอยู่ไฟ การประคบตัว การนาบหม้อเกลือ หรือแม้แต่การนั่งถ่านล้วนเป็นขั้นตอนการบำบัดรักษาด้วยความร้อนแทบทั้งสิ้น ถือว่าคนคลอดลูกเป็นคนที่มีมลทิน การคลอดลูกจะมีเลือดฝาด และสิ่งโสโครกออกมาย่อมถือว่ามีมลทิน การชำระล้างมลทินมีอยู่ 2 อย่าง คือ ชำระล้างด้วยน้ำ หรือ ไฟ เพื่อให้สิ่งที่เป็นมลทินเหือดแห้งไป
พอออกกรรมแล้วในเช้าวันนั้น ญาติพี่น้องจะจัดทำพิธีสู่ขวัญให้ด้วยถือว่าตลอดเวลาที่อยู่กรรมต้องทนทุกข์ทรมานเอาตัวย่างไฟ กินน้ำร้อน นอนไม่เต็มตา ว่ากันว่าผู้ที่อยู่ไฟจะให้นอนแต่ตอนหัวค่ำเท่านั้น พอหลังจาก 5 - 6 ทุ่มต้องให้ตื่นอยู่ตลอดจนถึงรุ่งเช้า เหตุเพราะเกรงภูตผีจะมาเอาชีวิตผู้ที่อยู่ไฟ หากมัวนอนหลับอยู่ก็จะโดนผีเอาไป นอกจากนั้นแล้วต้องอดอาหารการกิน เสียเลือดเนื้อไปเพราะการนี้ พอออกกรรมแล้ว ก็ต้องเรียกเอาขวัญคืนมา เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข แล้วผูกข้อต่อแขนให้ทั้งแม่และลูก [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง การสู่ขวัญ ]
คนโบราณชอบตั้งชื่อเด็กม่วนๆ (ไพเราะ) โดยมากเป็นชื่อสองพยางค์ ถ้าชื่อบุญ ก็มี บุญมี บุญมา บุญสี บุญสา ถ้าชื่อ คำ ก็มีคำมี คำมา คำสี คำสา เป็นต้น ถ้าเป็นคนเลี้ยงยากถึงกับได้ไปประเคนเป็นลูกพระ ก็ตั้งชื่อเป็น เคน เช่น เคนมี เคนดี เคนสี เคนสา ถ้าเกิดวันแข็ง ก็ตั้งชื่อให้เป็น อ่อน เช่น อ่อนสี อ่อนสา อ่อนตา ถ้าเกิดวันจันทร์ถือว่าเป็นวันอ่อน ก็ตั้งชื่อให้ แข็ง เช่น ทอง ทองคำ ทองแดง ทองแสง เป็นต้น
คนโบราณชอบเย็บผ้าทำเป็นรูปตุ๊กตา ภายในยัดด้วยนุ่นหรือสำลี ทำเป็นรูปผู้หญิงผู้ชาย เพื่อให้เป็นเพื่อนเล่นของเด็ก นอกจากนี้ ก็เลี้ยงลูกหมาไว้เป็นเพื่อนเล่นของเด็ก ถ้าเด็กมีของเล่นอย่างนี้พ่อแม่จะเบาใจ เกี่ยวกับการเกิดนี้ พ่อแม่และลูก ต่างมีความสำคัญจะดีแต่พ่อแม่ ลูกไม่ดีก็ไปไม่รอดต้องดีทั้งพ่อแม่ลูกที่ถือว่าดีนั้น คือทุกคนมีหน้าที่และต้องทำตามหน้าที่
พ่อแม่นอกจากจะดีในด้านต่างๆ มากมายหลายประการก็ตาม จะต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับลูกอีก คือ
ลูกที่ดีนอกจากจะทำตัวให้ดีแล้วจะต้องทำดีต่อพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าอีก คือ
พ่อแม่และลูก ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ดังกล่าวให้เต็มเปี่ยม เขาก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ถ้าต่างฝ่ายต่างเพิกเฉยไม่เอาธุระ ก็จะตรงกับภาษิตโบราณที่ว่า "พ่อแม่บ่สอนลูกเต้า ผีเป้าจกกินตับกินไต ลูกบ่ฟังคำพ่อแม่ ผีแก่เข้าหม้อนะฮกทั้งดิบ" ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องเสื่อมเสียทั้งสองฝ่ายนั้นเอง
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)