คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นักร้องยอดเยี่ยมมาลัยทอง 2543 และ 2545
นักร้องหนุ่มเสียงดีอีกคน ที่ต้องบอกว่าเขาได้เพลงดีๆ จากนักแต่งเพลงหลายๆ ท่านทำให้เราได้มีกำลังใจจากการฟังเพลงของเขา ด้วยคำพูดง่ายๆ แต่ติดหูอย่าง "เหนื่อยไหมคนดี ได้พี่เป็นแฟน" ฟังแล้วประทับใจจริงๆ ครับ หรืออย่างเพลงชุดแรกๆ ของเขา ละครชีวิต ขายแรงแต่งงาน ล้วนแล้วแต่เป็นชีวิตของฅนอีสานแท้ๆ คนสู้ชีวิตจากบ้านนาสู่เมืองหลวง สุดท้ายก็ต้องหวนกลับสู่ไร่นาเช่นเดิม เฮ้อ!
ไมค์ ภิรมย์พร หรือชื่อ-นามสกุลจริงตามบัตรประชาชนคือ พรภิรมย์ พินทะปะกัง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ที่ บ้านท่าม่วง ตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของ นายสม พินทะปะกัง และ นางซ่อนกลิ่น พินทะปะกัง มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน เป็นลูกชายคนโตและมีน้องชายอีก 1 คน การศึกษา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งซุปเปอร์สตาร์ชาวไทย เจ้าของฉายา "นักร้องขวัญใจผู้ใช้แรงงาน" ในสังกัดค่ายแกรมมี่โกลด์ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นนักร้องไม่กี่คนในประเทศไทย ที่สามารถอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งมายาวนานกว่า 20 ปี มีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่นิยมครองใจมหาชนจนถึงปัจจุบัน สามารถทำสถิติยอดขายได้ทะลุล้านเกินกว่า 19 ชุด โดยมีผลงานเพลงดัง ละครชีวิต และเพลงลูกทุ่งยอดนิยมตลอดกาลอย่าง ยาใจคนจน ที่ทำยอดขายเกิน 1 ล้านชุด และยังมีอีกหลายผลงานเพลงดัง เช่น ขายแรงแต่งนาง, ทางเบี่ยงอย่าเสี่ยงเดิน, เหนื่อยไหมคนดี, นักสู้ ม. 3, ด้วยแรงแห่งรัก, แค่แขกรับเชิญ, โรงเรียนล้างจาน, อยากให้เธอเข้าใจ, ผ้าขาวบนบ่าซ้าย, เดาใจฟ้า, รอสายใจสั่งมา, ฮักแพงกันเด้อ, สเตตัสบ่เคยเปลี่ยน ฯลฯ
"เพลงสะท้อนชีวิตของลูกทุ่งที่มุ่งสู่เมืองกรุงมาขายแรงงานเป็น ละครชีวิต ที่สุดท้ายก็ต้องบากหน้ากลับหาอ้อมอกแม่บ้านนาดังเดิม เพลงนี้ก็ชีวิตของฅนบ้านนอกอย่างผมอีกเหมือนกัน ยาใจคนจน (ผลงานการประพันธ์ของ สลา คุณวุฒิ)" คำบอกเล่าของไมค์ ภิรมย์พร และยังมีผลงานอื่นๆ ตามมาอีกเพียบไม่ได้ขาด
พรภิรมย์ พินทะปะกัง หรือ ไมค์ ภิรมย์พร เกิดในครอบครัวที่มีอาชีพทำไร่ทำนา รับจ้างทั่วไป และมีฐานะยากจนอย่างมาก ไมค์ ภิรมย์พร เคยต้องรับจ้างตัดฟืนขาย เพราะนาแล้ง ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หาเงินมาใช้ซื้อข้าวกิน และเจียดส่วนหนึ่งไว้ใช้ในการศึกษาภาคค่ำ จนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ 3 เขาชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้อง โดยเมื่อมีงานที่ไหน เขาจะขึ้นไปร้องเป็นประจำ
เมื่อช่วงอายุประมาณ 17 - 18 ปี ไมค์ ภิรมย์พร เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาหางานทำและได้ทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง แถวบางบอน เขาทำอยู่ 3 - 4 เดือน ตอนเย็นหลังเลิกงาน ไมค์ ภิรมย์พร ชอบขึ้นไปบนดาดฟ้า เป่าขลุ่ยแซวสาวโรงงาน และระบายความเหงา กับความคิดถึงบ้าน ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับบ้านนอก เมื่องานหมด และหันไปทำงานรับจ้าง ทำไร่ทำนาตามเดิม
พออายุ 23 เขาก็กลับมาเมืองหลวงอีกครั้ง โดยคราวนี้มาเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่ง แถวถนนสุขุมวิท 71 แต่เขาไปพักอยู่กับเพื่อนที่ช่องนนทรี ช่วงที่รองานอยู่นั้น เขาต้องอดมื้อกินมื้อ กินเฉพาะยามที่หิวจริงๆ และอาหารหลักก็คือ กล้วย หลังจากนั้นราว 2 อาทิตย์เขาก็ได้งาน ตอนแรกถูกส่งไปประจำที่โรงงานยาแถวลาดกระบัง ซึ่งที่พักกันดารมาก เขาอยู่ได้เดือนกว่า ก็ย้ายมาอยู่ที่นาซ่า ดิสโก้เธค แถวคลองตัน ซึ่งโด่งดังมากในขณะนั้น โดยทำหน้าที่ตรวจตราความเรียบร้อย และโบกรถอำนวยความสะดวก ในช่วงวันหยุดเขาก็จะรับจ๊อบเป็นเด็กรับรถแขกที่มาเที่ยวนาซ่าด้วย รวมเวลาสำหรับการเป็นยามของเขาก็ประมาณ 7 - 8 เดือน
ระหว่างที่เป็นยาม เขาได้รู้จักกับเจ้าของผับที่เปิดด้านล่างนาซ่า ก็เลยฝากเนื้อฝากตัวขอเป็นเด็กเสิร์ฟ เพื่อให้ได้เข้าใกล้ความฝันเรื่องการเป็นนักร้องของเขา เพราะที่นี่เขาได้เจอดารา นักร้องชื่อดัง ที่มาเที่ยวและมาเปิดผับแถวนั้นมากมาย ระหว่างที่เป็นเด็กเสิร์ฟ เขาช่วยดูแลนักดนตรีวง THE JET ที่เล่นอยู่ที่ผับเป็นพิเศษ เลยได้รับความเอ็นดูจากนักดนตรี
และวันหนึ่ง จอห์น นูโว กับ โจ นูโว ก็มาติดต่อวงดนตรีของนักดนตรีเหล่านี้ไปเล่นแบ็คอัพให้กับ ใหม่ เจริญปุระ ที่ออกผลงานเพลงชุดแรกชื่อ "ใหม่ ไม้ม้วน" นักดนตรีเหล่านี้ก็เลยชวนเขาไปเป็นเด็กประจำวงด้วย โดยทำหน้าที่หลังเวทีทุกอย่าง ทั้งขนหรือติดตั้งเครื่องดนตรี ซึ่งไมค์ ภิรมย์พร ก็ยินดีที่ได้ร่วมงาน และไม่สนใจเรื่องค่าจ้าง เพราะอยากเข้าไปใกล้วงการบันเทิงอยู่แล้ว เวลาว่างเขาก็ชอบไปยืนดูใหม่ร้องเพลง และฝันอยากจะเป็นเช่นนั้นบ้าง
วันหนึ่ง นักดนตรีแนะนำให้รู้จักกับนักจัดรายการคนหนึ่งชื่อ สุพจน์ สุขกลัด ที่เป็นทั้งดีเจ และโปรดิวเซอร์ให้กับ สมหมายน้อย ดวงเจริญ หมอลำชื่อดังในสมัยนั้น เขาเลยได้ไปเทสต์เสียง และได้เป็นลูกศิษย์ของสุพจน์ คอยติดสอยห้อยตาม และรับใช้ทั่วไป เช่น รดน้ำต้นไม้และล้างจาน อาจารย์สุพจน์ บอกว่าจะให้เขาบันทึกเสียง แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์ก็ออกจากบริษัทค่ายเทป และหันมาทำร้านอาหาร ไมค์ ภิรมย์พร ก็ตามอาจารย์มาด้วย โดยมาช่วยเสิร์ฟ ต่อมาก็พัฒนามาเป็นกุ๊ก ระหว่างนั้นเขาเคยไปช่วยสมหมายน้อยร้องประสานเสียง และร้องเพลงโฆษณาเตาแก๊สลัคกี้เฟลม กับทำเดโมเอาไว้ชุดหนึ่ง เป็นเพลงที่เขาแต่งเองเพลงหนึ่ง กับที่อาจารย์สุพจน์แต่งอีกเพลง
แต่หลังจากอาจารย์สุพจน์ที่ทำร้านอาหารต้องปิดกิจการ ไมค์ ภิรมย์พร ก็ต้องระเหเร่ร่อนอีกครั้งและได้ติดต่อไปยังลูกพี่เก่าซึ่งก็คือ นักดนตรีที่เคยเล่นดนตรีให้ ใหม่ เจริญปุระ เพื่อของานทำ เขาก็เลยได้ทำงานเป็นเด็กตักน้ำแข็ง และล้างแก้วอยู่ที่ผับในโรงแรมนารายณ์ และด้วยความขยันทำให้เขาเลยได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นบาร์เทนเดอร์ และได้เป็นหัวหน้าบาร์ในที่สุด ซึ่งที่นี่เขามีโอกาสได้ร้องเพลงโชว์ความสามารถด้วย แต่ต่อมาผับก็ต้องปิดกิจการไป หลังจากเห็นเพื่อนทำงานเป็นพนักงานห้องน้ำ ในผับแห่งหนึ่ง ได้ทิปดีวันละ 2 - 3 พัน เขาก็เลยขอทำบ้าง แต่ทำได้พักหนึ่งผับก็ปิดอีก ไมค์ ภิรมย์พร รู้สึกท้อ เลยอยากทำกิจการของตัวเอง เขาจึงนำเงินที่เก็บไว้มาซื้อรถเข็น โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อขายลาบส้มตำ ต่อมาก็ขายลูกชิ้นปิ้งแถวซอยโชคชัย 4 ตรงข้ามโรงพยาบาลสยาม ที่นี่เขาเจอกับการไล่จับของเทศกิจเป็นประจำ
ต่อมาทราบข่าวว่า ทาง บริษัทอาร์เอส ประกาศรับสมัครนักร้องลูกทุ่ง เขาจึงนำเดโมเทปไปส่ง แต่หลายวันผ่านไป ปรากฏว่า ทางบริษัทยังไม่ได้ฟังเดโมของเขาเลย เขาจึงนำมันกลับมา เพื่อหวังนำไปเสนอที่ใหม่
อยู่มาวันหนึ่ง ไมค์ ภิรมย์พร อ่านข่าวบันเทิงในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเห็นข่าวที่บอกว่า บริษัทแกรมมี่ ประกาศลุยตลาดลูกทุ่งเต็มตัว เขาจึงอยากลองสมัครเป็นนักร้อง ก็เลยได้ไปหานักดนตรีที่รู้จักกันให้ช่วยแนะนำให้ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้นำเดโมเทปไปให้ อาจารย์ จรัล สารีวงษ์ โปรดิวเซอร์ของแกรมมี่ ราว 2 สัปดาห์ เขาก็ถูกเรียกตัวมาเทสต์เสียง ซึ่งเขาก็ทำได้ดี เพราะเทคเดียวผ่าน จากนั้นประมาณครึ่งเดือนต่อมา อาจารย์จรัล ก็โทรบอกว่า เขาอาจจะมีสิทธิ และเมื่อเขามาที่บริษัทก็ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินลูกทุ่งคนแรกของค่ายแกรมมี่
สำหรับชื่อ ไมค์ ภิรมย์พร นั้น ตอนแรกหลายคนเรียกเขาว่า สมหมาย เพราะเขาชอบร้องเพลงหมอลำของ สมหมายน้อย ดวงเจริญ ต่อมาในสมัยที่ทำงานอยู่ที่โรงแรมนารายณ์ การที่เขาชอบเต้นเหมือน ไมค์ ไทสัน นักมวยที่กำลังดังในยุนนั้นเต้นฟุตเวิร์ค เขาก็เลยถูกเปลี่ยนมาเรียกว่า ไมค์ และในที่สุด ก็กลายเป็น ไมค์ ภิรมย์พร โดยสมบูรณ์เมื่อมาอยู่กับค่ายแกรมมี่นี่เอง
ไมค์ ภิรมย์พร มีผลงานชุดแรกชื่อ "คันหลังก็ลาว" แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ พอถึงชุดที่ 2 มีเพลงที่เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงอย่าง ละครชีวิต และเพลงละครชีวิตนี้ ก็เกือบทำให้ ไมค์ ภิรมย์พร ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทานในฐานะ นักร้องยอดเยี่ยม แต่ใน 2 ชุดหลังจากนั้น บริษัทเปลี่ยนแนวให้เขามาร้องหมอลำ เพราะมองว่าเขาน่าจะเข้ากับเพลงแนวสนุกสนาน แต่ปรากฏว่า ไม่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในชุดต่อมา เขาจึงต้องเปลี่ยนแนวอีกครั้ง มารับบทนักร้องแนวคนสู้ชีวิต ในเพลง ยาใจคนจน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นความโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ จนถึงทุกวันนี้ ในฐานะ "นักร้องขวัญใจผู้ใช้แรงงาน"
กลับคำสาหล่า โดย ไมค์ ภิรมย์พร
อีกมุมของนักร้องยาใจคนจน ไมค์ ภิรมย์พร ที่หลายคนรู้ แต่อาจยังไม่มีโอกาสจะได้เห็น นั่นก็คือชีวิตการเป็นชาวนาจริงๆ ของไมค์ ไม่ว่าจะเป็นการดำนา ปักข้าว ทำปุ๋ยหมัก ขี่แทรกเตอร์ ทำนาตามแนวพระราชดำริแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษที่ไมค์ภูมิใจมาก ไม่ว่าจะเมื่อไร ถ้ามีเวลาว่างจากการร้องเพลง ไมค์เป็นต้องขับรถมาที่ บ้านนาคำแก้ว หมู่ 13 ตำบลนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เพื่อมาทำนา ถึงจะวันเดียวไมค์ก็มา
ในขณะเดียวกัน ไมค์ ภิรมย์พร ก็ทุ่มเทให้กับการขยายตลาดกิจการ "น้ำปลาร้าแซบไมค์" ทั้งในและนอกประเทศ และทำหน้าที่เป็นผู้นำสร้างชุมชน ให้หนุ่มสาวหันมาเห็นคุณค่าในผืนแผ่นดินของตนเอง ไม่คิดจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตกระกำลำบากทำมาหากินต่างถิ่น
"กิจการน้ำปลาร้าแซบไมค์ผมทำมาประมาณ 6-7 ปี มาเริ่มขยายตลาดจริงจัง 2 ปีหลัง ผลตอบรับดีครับ มีตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ และเริ่มมีตัวแทนติดต่อไปจำหน่าย ที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี ดูไบ แต่ข้อกฏหมายการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาร้าของประเทศเหล่านี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน อยู่ในระหว่างดำเนินการเรื่องเอกสารเพื่อให้ถูกต้องรัดกุมกันอยู่ครับ ผมเองก็อยากขยายฐานอาเซียน ลาว พม่า กัมพูชา และต่อไปเวียดนามด้วย แล้วก็กำลังสร้างร้านของฝากต้นแบบ นำผลิตภัณฑ์ของผมทั้งหมด อาทิ นำปลาร้า หมูยอ แกงอ่อม จัดจำหน่าย ที่ ปั๊มบางจาก สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) จังหวัดอุดรธานี และปั๊มปตท.ขอนแก่น ช่วงบายพาสไป จังหวัดสกลนคร และเข้ากรุงเทพฯ
โดยธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มาคุยกันบอกว่า อยากให้ผมเป็นผู้นำชุมชนสร้างธุรกิจขนาดกลางในชุมชนเป็นต้นแบบนำร่อง ซึ่งผมก็ยินดีและพร้อมทุ่มให้กับตรงนี้ ผมไปศึกษาดูงานที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เลี้ยงปลาดุก นำมาแปรรูปเป็นปลาดุกร้าจำหน่าย จากปลาสดขายได้ไม่กี่ตังค์นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว ซึ่งผมก็จะทำตรงนี้เป็นต้นแบบให้พี่น้องเกษตรกรที่ จังหวัดอุดรธานี บ้านเกิดผม และในภาคอีสาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มหลังจากการทำนา อยากให้หนุ่มสาวเห็นคุณค่าผืนดินของพ่อแม่ ช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด ช่วยกันสร้างชุมชน ไม่คิดทิ้งบ้านไปตกระกำลำบากทำงานต่างถิ่น"
ยุทธการสู้แล้ง ของไมค์ ภิรมย์พร
เมื่อถูกถามว่า อาสาเป็นผู้นำชุมชนแบบนี้มีความคิดลงเล่นการเมืองหรือไม่ ไมค์ ภิรมย์พร ตอบด้วยเสียงหนักแน่นแบบไม่ลังเลทันทีว่า "ไม่" พร้อมกับยอมรับว่าที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหลายพรรคมาทาบทามตนเหมือนกัน แต่ก็ได้บอกปัดไปหมด เพราะตนเป็นลูกชาวนาไม่ใช่ลูกนักการเมือง มีความสุขกับการสืบทอดวิถีของบรรพบุรุษ มีความสุขกับการทำให้พี่น้องเห็นความสำคัญกับความเป็นอยู่ตามพระราชดำริแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ยุทธการสู้แล้ง ของเกษตรกรชื่อ ไมค์ ภิรมย์พร
แฟนๆ ทักทายติดตามชีวิตได้ทาง : Facebook ไมค์ ภิรมย์พร
“สุดท้าย ผมขอตายที่นี่ เพราะผมผูกพันมาก ผมบอกลูกทุกคนว่า ลูกจะโตที่ไหน จบมาทำงานอะไร สุดท้ายแล้ว สิ่งที่พ่อทำคือพ่อจะสร้างไว้ให้ทุกคน หากถึงเวลาพ่อปลดเกษียณ พ่อจะมาอยู่ที่นี่ ทำการเกษตรไปตามวิถี แค่ได้ตื่นเช้ามาเดินดูสวนเกษตรจนค่ำชีวิตก็มีความสุขมากแล้ว” ประโยคนี้อาจไม่ได้มาจากน้ำเสียงอันไพเราะยาม ‘อ้ายไมค์’ จับไมโครโฟนครวญเพลงบนเวที แต่มันมาจากความรู้สึกของใจจริง เมื่อเบื้องหน้าและฝ่าเท้าของเขาได้ยืนอยู่บนแผ่นดินบ้านเกิดอันเป็นที่รัก ไม่มีพวงมาลัยคล้องคอ แต่มีความสุขคล้องใจ
ความสุขของไมค์ ภิรมย์พร ในทุ่งนาอีสานบ้านเกิด
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)