คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม ดนตรีพื้นเมือง (พิณอีสาน)
ครูทองใส ทับถนน คือ หนึ่งในจำนวนผู้มีผลงานทางด้านศิลปกรรมของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทางการศึกษาระดับชาติ จากผลงานทางด้านดนตรีและศิลปะการแสดง "การดีดพิณ" ครูทองใส ทับถนน จนเป็นที่ยอมรับ ยกย่องในระดับต่างๆ ดังกล่าว จึงสมควรที่จะได้มีการบันทึกประวัติชีวิตและผลงาน ครูทองใส ทับถนน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงความเป็นมาของชีวิตศิลปิน และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2490 ที่บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ พ่อปิ่น - แม่หนู ทับถนน มีอาชีพทำนา และอาชีพเสริมเป็นศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) วัยเด็กศึกษาเล่าเรียนที่บ้านเกิด จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีภรรยาคู่ชีวิตคือ นางประมวล (สกุลเดิมจันไตร) มีบุตร-ธิดา 3 คน ได้แก่ นางพิณทอง มณีเนตร นายสีแพร ทับถนน และนางบุญสวย ทับถนน
ครูทองใส ทับถนน คือ หนึ่งในจำนวนปราชญ์ศิลปิน ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะการแสดง คือ การดีดพิณ ลีลาลายพิณโบราณจากพิณสองสาย และท่วงทำนองการดีดพิณของครูทองใส ได้รับการยอมรับว่า คือ มือพิณชั้นครู ระดับปรมาจารย์มีลูกศิษย์จากทุกสารทิศ มาเรียนรู้มากมาย ทั้งที่ครูทองใสเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง อาชีพหลักคือ การทำนา จบการศึกษาแค่ชั้น ป. 4 แต่มีความรู้ ความสามารถทางด้านศิลปะการแสดง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูภูมิปัญญาไทย ทำหน้าที่ถายทอดความรู้ทางด้านการดีดพิณของตนเอง ให้กับคนทั่วไปได้เรียนรู้
บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีตำนานหมู่บ้านที่เล่าขานกันต่อๆ มาน่าสนใจว่าประมาณปี พ.ศ. 2400 ได้มีชนกลุ่มหนึ่งเดินทางรอนแรมมาจากอำเภอเขื่องใน เพื่อหาที่พักอาศัยและที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ มาถึงบริเวณแม่น้ำมูลเลยพากันหยุดพักกินข้าว และเห็นว่าเป็นที่ลุ่มที่ดอน เหมาะสมที่จะตั้งเป็นที่อยู่อาศัย ได้พากันข้ามแม่น้ำมูลมายังฝั่งอำเภอวารินชำราบ (ปัจจุบัน) ซึ่งมีท่าน้ำติดกับแม่น้ำมูล จึงได้พากันตั้งรกรากปลูกที่พักอาศัยกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นมา ซึ่งในสมัยนั้นยังขาดผู้นำหมู่บ้าน จึงยังไม่มีการตั้งชื่อหมู่บ้าน
จากนั้นเล่ากันว่า ก่อนจะมีชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านท่ากกไฮ เพราะว่า เดิมทีมีต้นไฮขนาดใหญ่หลายคนโอบอยู่ที่ท่าน้ำ ทางเกวียนลงสู่แม่น้ำมูล วันหนึ่งได้มีพ่อค้าขายปลาแดก (ปลาร้า) นั่งเรือผ่านมา และจอดเรืออยู่ใต้ต้นไฮใหญ่ เพื่ออาศัยร่มเงาพักผ่อนเอาแรง แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือ กิ่งไฮตกลงมาใส่ทับคนในเรือเสียชีวิต ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า บ้านท่ากกไฮ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ส่วนสาเหตุที่เป็น บ้านหนองกินเพล นั้น ด้วยความบังเอิญสมัยนั้น มีพ่อค้าแม่ค้าและผู้คนสัญจรเดินทางผ่านไปมาระหว่าง หมู่บ้านและอำเภอบ่อยๆ พอมาถึงบริเวณทุ่งนา ทุกวันพระ สงฆ์ในวัดจะตีกลองเพลเป็นประจำ ผู้คนที่ผ่านไปมาก็จะพูดและนัดหมายกันว่าพบกันที่ หนองเพล คือ ลักษณะการนัดพบกันกินข้าวเที่ยง (กินเพล) ที่หนองน้ำ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อจาก บ้านท่ากกไฮ เป็น บ้านหนองกินเพล มาจนถึงทุกวันนี้
ทองใส ทับถนน ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
โดยสภาพทั่วไปชาวบ้านหนองกินเพล เป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำสวน ปลูกพืชไร่ และเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำมูล ชาวบ้านจึงมีอาชีพส่วนหนึ่งคือ การประมงจับปลาจากแม่น้ำมูล และความรู้ในการทำเครื่องมือจับปลา เช่น สานแห ไซ ส่วนผู้หญิงมีความรู้ในด้านการทอผ้าและทอเสื่อ และที่บ้านหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ หมู่บ้านแห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้ที่มีอายุถึงร้อยกว่าปี คือ หมู่บ้านที่เป็นถิ่นกำเนิดของ สองพ่อลูกศิลปินดนตรีพื้นบ้าน ผู้ยิ่งใหญ่ คือ
หนึ่ง พ่อหมอลำปิ่น ทับถนน ชาวบ้านหนองกินเพล เป็นศิลปินพื้นบ้านผู้มีความสามารถทางด้านการแสดงหมอลำ กับ การเล่นหนังบักตื้อ (หนังปราโมทัย หรือหนังตะลุงทางภาคใต้) เมื่อว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา จะพาคณะออกตระเวนเล่นตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทำให้มีลูกศิษย์มาฝากตัวเรียนรู้วิชาหมอลำ กับ หนังบักตื้อ มากมาย รวมทั้งยังเป็นผู้มีน้ำใจ จึงมีเพื่อนพ้องศิลปินพื้นบ้านมาเยี่ยมเยือนที่บ้านหนองกินเพลเป็นประจำ ทำให้บ้านหนองกินเพล สมัยนั้นเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะการแสดง เพราะเป็นแหล่งรวมของศิลปินพื้นบ้านของอีสาน
สอง ลูกชาย นายทองใส ทับถนน จึงได้รับการถ่ายทอดมรดกทางศิลปินมาตั้งแต่กำเนิด เพราะเกิดมาท่ามกลางวงล้อมของครอบครัว และหมู่ศิลปินพื้นบ้าน ซึมซับอยู่กับเสียงดนตรี เสียงร้อง ของศิลปินหลายคน จนสามารถพัฒนาตนเองเป็น ศิลปินนักดนตรีพื้นบ้าน พิณอีสาน เจริญรอยตามบิดา มาจนถึงทุกวันนี้
เด็กชายทองใส ทับถนน มีแววศิลปินมือพิณมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะมีความสามารถเล่นพิณได้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จากความสนใจ และแรงบันดาลใจที่ได้เห็น ครูพิณ ดีดพิณสองสายได้อย่างไพเราะน่าฟัง จึงเกิดความรู้สึกเบื้องต้นอยากจับต้องสัมผัส ตัวพิณ อยากเป็นเจ้าของพิณและอยาก ดีดพิณ ให้ได้เหมือนกับครูพิณที่ตนเองประทับใจและชื่นชมในฝีมือ เมื่อได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ พิณตัวแรก เมื่ออายุ 4 ปี จากการรบเร้าให้แม่ขอพิณ จากครูพิณที่มาพักแรมที่บ้านให้
จากนั้นมาเด็กชายทองใสได้เริ่มต้นฝึกฝน ฝึกปฏิบัติ การดีดพิณด้วยตนเองอย่างจริงจัง จนสามารถเล่นพิณประกอบจังหวะดนตรีหมอลำ ร่วมกับคณะของพ่อหมอลำปิ่นได้ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่ออายุ 8 ปี เด็กชายทองใสเริ่มเรียนรู้ ลายพิณโบราณ จากครูพิณพื้นบ้านหลายคน เริ่มต้นจาก พ่อปิ่น ถือเป็นครูคนแรกที่ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดีดพิณ จากนั้นเรียนรู้กับครูบุญ ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายแม่เป็นผู้ถ่ายทอดลายพิณ แบบลายลำเพลินโบราณให้
จนกระทั่งพบกับ ครูบุญชู โนนแก้ว ชาวบ้านโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ศิลปินมือพิณพิการตาบอด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อหมอลำปิ่น ซึ่งมีฝีมือการดีดพิณลายโบราณเก่งมาก จนเด็กชายทองใสประทับใจ อยากเล่นพิณได้เหมือนกับครูบุญชู จึงขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์และได้เรียนรู้ลายพิณพื้นบ้านอีสานแบบโบราณ โดยเฉพาะ ลายพิณลุ้นตุ๋ย ซึ่งเป็นที่มาของ ลายพิณปู่ป๋าหลาน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับครูทองใสในเวลาต่อมา เมื่อเรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชีวิตของเด็กชายทองใส มีความสนใจที่จะเรียนรู้วิชาการดีดพิณต่อไป จึงตั้งใจฝึกฝนตนเองด้วยวิธีการจดจำ ลายพิณพื้นบ้านจากครูพิณคนเก่า และเสาะแสวงหา ลีลาลายพิณ จากศิลปินมือพิณคนอื่นๆ ตลอดเวลา
รวมทั้งยังได้มีโอกาสเล่นกับคณะหมอลำของพ่อปิ่นตามงานแสดงต่างๆ ทำให้ฝีมือการดีดพิณของเด็กชายทองใสพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนสามารถเล่นพิณประจำให้กับวงหมอลำของพ่อปิ่น และวงดนตรีพื้นบ้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนได้ชื่อว่าเป็นมือพิณที่มีฝีมือและชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนั้น
ด้วยความเป็นสายเลือดศิลปิน มือพิณอย่างครูทองใส จึงตัดสินใจที่จะประกอบอาชีพศิลปินตามรอยบิดา คือ หมอลำปิ่น ทับถนน หากแต่เป็นการก้าวเดินตามรอยเท้าที่มีความเหมือน และความต่างจากพ่อปิ่น ความเหมือน คือ ทั้งพ่อปิ่น และ ครูทองใส เป็นศิลปินที่มีความสามารถทางด้านการแสดงออกทางด้านดนตรีพื้นบ้านเหมือนกัน ความต่าง คือ พ่อปิ่น เด่นทางด้านการแสดงหมอลำที่อยู่ด้านหน้าเวที แต่ลูก คือ ครูทองใส เด่นทางด้านการเล่นดนตรีพื้นบ้าน คือ การดีดพิณ จึงเป็นศิลปินที่ต้องอยู่เบื้องหลังของนักแสดงด้านหน้าเวที
ครูทองใส ย้ำกับลูกศิษย์ทุกคนว่า "ไม่มีใครที่จะสามารถเรียนรู้และเก่งได้ด้วยตนเอง ทุกคนต้องมีครูครูคนแรก คือ พ่อแม่ ครูคนที่สองคือครูที่โรงเรียน ส่วนครูพิณ แม้จะเรียนรู้โดยวิธีการจดจำและนำมาฝึกปฏิบัติเองแบบครูพักลักจำ หรือครูนิรนาม แต่ก็ยังถือว่าจำเอามาจากคนอื่นอยู่นั่นเอง" ศิษย์ต้องมีครู ครูของทองใส ครูทองใสจัดลำดับ ทำเนียบครูพิณ ที่ถือว่าเป็น ครู ที่ได้ให้ความรู้กับครูทองใสเป็น มือพิณ ที่มีความสามารถทางด้านการดีดพิณ การสอนพิณ และการทำพิณ และเป็น ครูภูมิปัญญาไทย - ดนตรีพื้นบ้านพิณอีสาน ในวันนี้ คือ
เมื่อ อายุ 21 ปี เข้าวัยเกณฑ์ทหาร ครูทองใส ใช้ชีวิตทหารรับใช้ชาติที่ กองพันทหารปืนใหญ่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 6 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ครูทองใสได้พบจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ประสบความสำเร็จเป็นมือพิณในปัจจุบัน คือ การประยุกต์ฝีมือลายพิณพื้นบ้านอีสานตามที่ครูทองใสถนัด พัฒนามาเป็นการดีดพิณแบบประยุกต์ตามแบบดนตรีสากล เพราะมีโอกาสได้เล่นร่วมกับ วงดนตรีสากล ของกองพันทหารปืนใหญ่เป็นประจำ ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะเล่นลายพิณโบราณต่างๆ ให้เข้ากับดนตรีของเพลงลูกทุ่ง เพลงสากล ซึ่งครูทองใสก็สามารถที่จะ "ปรับวิธีการดีดพิณ" ให้เข้ากับแนวดนตรีสากลได้อย่างกลมกลืน
ครูทองใสเล่าช่วงชีวิตทหารเกณฑ์ให้ฟังตอนหนึ่งว่า "เนื่องจากเป็นคนที่มีความสามารถในการเล่นพิณ จึงมีโอกาสได้เล่นเป็นประจำอยู่กับวงดนตรีของทหาร เวลาเล่นแล้วนายทหารส่วนมากที่มาจากกรุงเทพฯ ชอบเสียงพิณอีสานมาก อยากให้เล่นพิณให้ฟังอีกหลายครั้ง ชีวิตทหารของครูทองใสจึงค่อนข้างสบาย เพราะส่วนมากจะได้เล่นพิณ จนทำให้มีเวลาฝึกฝนฝีมือพิณเพิ่มเติมจนชำนาญมากขึ้นมาอีก"
จากจุดนี้เองที่ทำให้ ลายพิณ ของครูทองใส เริ่มที่จะออกมาเป็น เอกลักษณ์ของตนเอง คือ การนำเอาความชำนาญจากลายพิณโบราณ มาผสมผสานกับจังหวะ ทำนองของดนตรีสากล จนเกิดเป็นลายพิณประยุกต์กึ่งพื้นบ้านโบราณอีสาน กึ่งดนตรีสากล ที่เป็นผลทำให้เกิดเป็น องค์ความรู้ใหม่ ที่ครูทองใสได้พัฒนาขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว แต่ได้ซึมซับไว้ในสมองและจิตใจของครูทองใสจากช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา
เมื่อ ปี พ.ศ. 2513 พ้นจากราชการทหาร กลับมาอยู่ที่บ้าน ใช้ชีวิตเช่นเดิม คือทำไร่ ทำนา และเล่นพิณประกอบวงหมอลำตามแต่จะถูกเชิญชวน ได้ฟังประกาศรับสมัครนักดนตรีพิณอีสาน เพื่อร่วมเล่นดนตรีกับ ครูนพดล ดวงพร ซึ่งแยกตัวออกมาจาก วงดนตรีจุฬารัตน์ ครูทองใสเกิดความสนใจจึงไปสมัครพร้อมพิณคู่กาย มีหัวพิณเป็นไม้แกะสลักรูปพญานาค จึงมีฉายาในช่วงนั้นว่า "ทองใส หัวนาค" (เพราะครูนพดล ดวงพร ไม่เชื่อว่า "ทับถนน" คือนามสกุลจริงๆ จึงเอาลักษณะของหัวพิณรูปพญานาคมาเป็นนามสกุลแทน)
มีนักดนตรีมือพิณ มาสมัครมากมาย ด้วยยุคนั้นสื่อทางวิทยุเป็นที่นิยม และรายการวิทยุที่ ครูนพดล ดวงพร จัดเป็นรายการที่ชาวบ้านชื่นชอบรับฟังกันมาก จากมือพิณประมาณ 100 คน ทองใส ทับถนน ได้รับการคัดเลือกเพียงคนเดียว จึงได้รับการคัดเลือกเป็นมือพิณคู่กาย ประจำวงดนตรีอาจารย์นพดล ดวงพร จากนั้นเป็นต้นมา
ช่วง ปี พ.ศ. 2514 อาจารย์นพดล ดวงพร จัดตั้งวงดนตรีพิณประยุกต์มีชื่อเสียงมากในช่วงนั้น และเพลงพิณของ ทองใส ทับถนน ที่บรรเลงนั้น สถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 ขอนแก่น ได้ใช้เปิดเป็นเสียงประกอบในรายการต่างๆ และวงพิณประยุกต์ก็ได้แสดงออกอากาศ ทุกวันเสาร์ เพลงลูกทุ่งอีสานประยุกต์ ที่มีชื่อเสียงก็ได้กำเนิดในยุคนั้น และในปีเดียวกันนั้นเอง อาจารย์นพดล ดวงพร ได้รับเชิญให้นำวงดนตรีพิณประยุกต์ไปแสดงถวาย ณ ที่ประทับเขื่อนน้ำพอง ขอนแก่น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาจารย์นพดล ดวงพร ร่วมกับ ทองใส ทับถนน ได้ถวายพิณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านตรัสว่า "เพชร นี้เป็นเพชรน้ำเอก.." ของเครื่องดนตรีอีสาน ในครานั้นสร้างความปลื้มปิติ แก่อาจารย์นพดล ดวงพร และคณะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้อาจารย์นพดล ดวงพร ได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรีเพลงลูกทุ่งอีสาน "พิณประยุกต์" ใหม่เป็นวง "เพชรพิณทอง" ที่ถือว่าเป็นมงคลนาม อันเกิดจากการถวายพิณในครั้งนั้น
วงเพชรพิณทอง เป็นวงดนตรีของชาวอีสานวงแรกที่ได้ไปแสดงที่ต่างๆ เทียบเท่าวงดนตรีชั้นนำของประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2515 - 2540 สามารถทำรายได้ไม่น้อยกว่าวงดนตรีลูกทุ่งชื่อดังต่างๆ อย่างวงดนตรียอดรัก สลักใจ วงดนตรีสายันต์ สัญญา หรือวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ และมือพิณประจำเพชรพิณทอง ก็คือ ทองใส ทับถนน
เมื่อเริ่มต้นชีวิตนักดนตรีใหม่ๆ ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ภายหลังจึงได้บ้างเป็นครั้งคราว ประมาณ 300 - 600 บาทในการเล่นตามงานต่างๆ การเล่นพิณบนเวทีประกอบวงดนตรี "พิณประยุกต์" ในช่วงแรกที่ใช้ พิณโปร่ง (พิณอีสานเดิมเป็นพิณโปร่งเวลาเล่นบนเวทีต้องใช้ไมโครโฟนจ่อที่ตัวพิณ) เสียงพิณที่ออกมาแม้จะมีเสน่ห์ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟัง แต่ความดังของเสียงพิณยังไม่เพียงพอ ไม่สามารถทำให้คนฟังสนุกสนานกับเสียงพิณได้ อาจารย์นพดล ดวงพร ในฐานะของหัวหน้าวง จึงได้คิดที่ทำให้เสียงพิณมีความดังเพิ่มขึ้น จึงทดลองนำเอา คอนแทรค ของกีตาร์ไฟฟ้ามาดัดแปลงใส่กับพิณ และมอบหมายภาระหน้าที่สำคัญให้กับมือพิณประจำวง คือ ทองใส ทำให้เสียงพิณดังขึ้นให้เหมือนกับกีตาร์ไฟฟ้า
ครูทองใสใช้ความพยายามทดลองการปรับตัวพิณโปร่งที่เป็นไม้ มาใส่กับระบบไฟฟ้าอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งสามารถที่จะพัฒนาฝีมือการดีดพิณโปร่งมาเป็นพิณไฟฟ้าได้ ตามความต้องการและเป็นที่พอใจของ อาจารย์นพดล ดวงพร และได้ใช้พิณไฟฟ้าบรรเลงเป็นเอกลักษณ์ จุดนี้เอง ที่ทำให้ อาจารย์นพดล ดวงพร ได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดประดิษฐ์พิณไฟฟ้าตัวแรกของโลก ที่ต่อมามีผู้ทำตามจนแพร่หลายจนกลายเป็นพิณไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่วนของครูทองใสเอง การปรับเปลี่ยนจาก การดีดพิณไม้โปร่ง มาเป็น การดีดพิณไฟฟ้า ในครั้งนี้ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของครูทองใส คือ การปรับวิธีการดีดพิณไฟฟ้าที่เสียงดังมากกว่าพิณโปร่ง ให้ออกมาน่าฟัง ซึ่งมีปัญหาบ้างในระยะแรก แต่ต่อมาสามารถที่จะแก้ไข ทดลอง เรียนรู้และประยุกต์จนสามารถที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงได้
จากการเรียนรู้จากครูพิณ หลายคน ความพยายามในการฝึกฝน ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง และการปรับเปลี่ยนจากจุดพัฒนา คือ การประยุกต์ลายพิณโบราณกับแนวดนตรีสากล เมื่อครั้งเป็นทหาร มาถึงโอกาสที่ได้รับ คือ การปรับวิธีการเล่นพิณโปร่งมาเป็นพิณไฟฟ้า และเล่นร่วมกับวงดนตรีเพชรพิณทอง ของ อ.นพดล ดวงพร ทำให้ ครูทองใส ทับถนน สามารถก้าวผ่านจาก มือพิณธรรมดา มาเป็น มือพิณชั้นครู ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
กว่าจะมาเป็น ครูทองใส ทับถนน วันนี้ได้ต้องใช้เวลากว่า 50 ปี ของชีวิตในการเรียนรู้ สั่งสมองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียน จากลูกชาวนาที่มีเลือดศิลปินติดตัวมาแต่กำเนิด เติบโตท่ามกลางกลิ่นไอของธรรมชาติและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนอีสาน สภาพแวดล้อมของศิลปินพื้นบ้าน จนก้าวผ่านเข้าสู่วงการศิลปินนักดนตรีมืออาชีพและร่วมเดินทางบนถนนสายดนตรี กับวงดนตรีลูกทุ่งอีสานชื่อดัง เพชรพิณทอง ในฐานะของมือพิณ
รายการ ปราชญ์เดินดิน : ทองใส ทับถนน
ตลอดเวลาครูทองใส ได้พยายามสร้างสรรค์และพัฒนาฝีมือ ผลงานการดีดพิณของตนเองมาโดยตลอด จนได้รับการยอมรับในวงการนักดนตรีมืออาชีพ และได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม ดนตรีพื้นบ้าน-พิณอีสาน อันเป็นเกียรติประวัติสูงสุดที่ครูทองใส ได้รับอีกครั้งหนึ่งในชีวิต
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ใน ระบบโรงเรียน จะสิ้นสุดที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่การเรียนรู้ในชีวิตจริงของครูทองใส ดำเนินพัฒนาองค์ความรู้ด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการปฏิบัติจริงมาตลอดชีวิต จนกลายเป็นองค์ความรู้ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงความชำนาญความเชี่ยวชาญใน ด้านการดีดพิณได้รับการยอมรับจากบุคคล สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการต่างๆ เห็นได้จากการมีผู้คนมาฝากตัวเป็น ลูกศิษย์ ร่วมเรียนรู้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่อง พิณ กับครูทองใสมากมาย และการได้รับเชิญไปร่วมแสดงในงานสำคัญๆ ทางด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
กว่าระยะเวลากว่า 30 ปี บน "ถนนสายดนตรี" กับอาชีพ "ศิลปิน" มือพิณประจำวงเพชรพิณทอง ครูทองใส ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศกับวิชาชีพนักดนตรี ดังนี้
นอกจาก รางวัลเกียรติยศ ที่ครูทองใสได้รับแล้ว ที่สำคัญเหนืออื่นใดที่ครูทองใสภูมิใจที่สุด คือ การยอมรับจากประชาชนที่ชมการแสดงของวงดนตรีเพชรพิณทอง และให้การยอมรับว่า ทองใส ทับถนน คือ คนดีดพิณสองสายลายพื้นบ้าน และลายประยุกต์ที่ไพเราะที่สุดของภาคอีสานและประเทศไทย
กว่าที่จะก้าวมาสู่ความสำเร็จบนถนนสายนักดนตรีอาชีพได้ในวันนี้ ครูทองใสบอกว่า มีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างง่ายๆ แบบพิณสามสาย คือ ใช้ ทางสายกลาง อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และครูทองใสก็ใช้หลักข้อนี้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอด นอกจากนั้น คุณธรรมประจำใจ ที่ครูทองใส ยึดมั่นในการเป็นนักดนตรีอาชีพมาตลอดกว่า 50 ปีที่ทุกคนรู้จัก ครูทองใส จะเห็นชัดเจนในคุณธรรม 4 ประการ คือ
ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร : ตำนานเสียงพิณ
นอกจากนี้ ครูทองใส ทับถนน ยังได้ฝากข้อคิดในการทำงาน เป็นสิ่งเตือนใจส่งไปยังศิลปินพื้นบ้านรุ่นหลัง ดังนี้
เช้าตรู่ของวันที่ 20 มีนาคม 2567 ได้รับข่าวเศร้าจาก ทองเบส ทับถนน ว่า พ่อทองใส ทับถนน ครูภูมิปัญญาไทย/ศิลปินมรดกอีสาน ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของลูกหลาน และลูกศิษย์ลูกหาด้านการดีดพิณ ที่ได้ร่ำเรียนกับครูผู้อุตสาหะสั่งสอนตลอดมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี
ปิดตำนาน พิณไฟฟ้าดวงแรกของประเทศไทย พ่อครูทองใส ทับถนน ที่สรรสร้างเสียงดนตรีพิณอีสานให้เป็นที่รู้จักจดจำ คงอยู่จนบัดนี้
ทอง ประกายเจิดจ้า จรัสอีสานเฮย
ใส เสนาะดีดพิณดี เด่นล้ำ
ทับ พิณอื่นหมองศรี หมดสว่าง สิ้นนอ
ถนน แห่งดนตรีย้ำ ยอดชั้นครูพิณ
ลูกศิษย์ลูกหาทุกคน จะสืบสานเสียงพิณ อย่างที่พ่อตั้งใจไว้ จะไม่มีวันเลือนหาย ไปจากแผ่นดินอีสาน ขอให้พ่อไปดีดพิณอยู่บนสวรรค์ให้เทวดาฟังเสียงพิณก้องกังวานอยู่บนบนสวรรค์ มีแต่ความม่วนโฮแซว
ลำเพลินโบราณ แบบอีสานบ้านเฮา
กำหนดสวดอภิธรรม พ่อทองใส ทับถนน ที่ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย (บ้านหนองกินเพล) วันที่ 20-24 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น. ทุกวัน กำหนดประชุมเพลิง วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 ณ วัดบ้านหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)