คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
"นพดลเป็นนักรบผู้กล้าแกร่ง และยืนหยัดต่อสู้ยาวนาน วงดนตรีเพชรพิณทองเป็นวงดนตรีวงเดียวที่มีอายุมากที่สุด สามารถยืนระยะและเก็บรับความนิยมจากแฟนๆ ได้ยาวนาน"
นพดล ดวงพร เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ชื่อจริงคือ นายณรงค์ พงษ์ภาพ เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บิดาเป็นหมอลำกลอน มารดาเป็นนักร้องเพลงโคราช
ที่อยู่ปัจจุบัน 162-164 บ้านเพชรพิณทอง ถนนนิคมสายกลาง (ท่าวังหิน) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 โทรศัพท์ 081-9667552
เพชรพิณทอง 20 ธันวาคม 2514
นพดล ดวงพร เคยอยู่กับวงดนตรี คณะพิพัฒน์ บริบูรณ์ (ซึ่งมี ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เจ้าของเพลง ผู้ใหญ่ลี เป็นแม่เหล็กสำคัญ) นานหลายปี ต่อมาได้เป็นลูกศิษย์และเข้าร่วม วงดนตรีจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ นพดล ดวงพร ให้ ต่อมาได้ลาออกจากวงกลับมาอุบลราชธานีบ้านเกิด เป็นนักจัดรายการวิทยุ AM โดยมีการเชิญคณะหมอลำ วงดนตรีมาแสดงสดหน้าสถานีวิทยุ จนเป็นที่นิยมของผู้ฟังผู้ชมในยุคนั้น แต่ก็ประสบปัญหามาโดยตลอด เพราะวงดนตรี/หมอลำเหล่านั้นมาไม่ตรงเวลาในการออกอากาศ จึงได้ก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมาเองเพื่อใช้ในการออกอากาศวิทยุเสียเอง เป็นวงดนตรีที่รวมเอาเครื่องดนตรีอีสานคือ พิณ แคน เป็นหลัก โดยได้มือพิณคู่ใจคือ ทองใส ทับถนน ที่เพิ่งจะพ้นการเกณฑ์ทหารมาร่วมงาน ใช้ชื่อวงว่า วงดนตรีพิณประยุกต์ จังหวัดอุบลราชธานี และได้กลายมาเป็นวงดนตรี เพชรพิณทอง ที่โด่งดังในภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2514 ช่วงหลังได้ผันตัวไปเป็นนักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง
เมื่อออกจากคณะจุฬารัตน์แล้ว มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดเมืองนอน อุบลราชธานี ใจอยากกลับไปอยู่บ้าน เพื่อไปตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง อยากเสนอแนวความคิด เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี อยากเสนอของดีอีสานให้เป็นที่ประจักษ์บ้าง ของแบบนี้ถ้าไม่ทำเองคงไม่มีใครทำให้ กลับไปบ้านเกิดแล้วเลยก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมาทันที ตั้งชื่อวงว่า วงดนตรีพิณประยุกต์ ลักษณะวงดนตรีเป็นแนวอีสานแท้ๆ นำเสนอดนตรีพื้นบ้าน พื้นเมืองอีสานอย่างเต็มรูปแบบ เรียกว่า วงพิณแคน
สารคดี ก(ล)างเมือง : เพชรพิณทอง
แล้วสิ่งที่ถือเป็นความภูมิใจมากที่สุดในชีวิตคือ ได้นำพาชาวคณะไปแสดงออกรายการสดที่ สถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 (ขาว-ดำ) จังหวัดขอนแก่น (ในขณะนั้น) แสดงได้ดีเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชม จนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเลือกให้เป็นวงพิเศษ ได้ไปแสดงหน้าพระที่นั่งต่อหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) - สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2514 วงดนตรีพิณแคนวงแรกของเมืองไทย ที่ได้รับเกียรติสูงส่งอย่างนี้แสดงหน้าพระที่นั่ง ที่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
นพดล ดวงพร ร่วมกับ ทองใส ทับถนน (มือพิณคู่ใจ) ได้ถวายพิณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านตรัสว่า "เพชร นี้เป็นเพชรน้ำเอก.." ของเครื่องดนตรีอีสาน ในครานั้นสร้างความปลื้มปิติแก่ นพดล ดวงพร และชาวคณะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้นพดล ดวงพร ได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรีเพลงลูกทุ่งอีสานจาก "วงดนตรีพิณประยุกต์" ใหม่เป็น "วงดนตรีเพชรพิณทอง" ที่ถือว่าเป็นมงคลนาม อันเกิดจากการถวายพิณในครั้งนั้น
ด้วยความมุมานะอุตสาหะเป็นที่ตั้ง ผู้ชายคนนี้ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา จากกรรมกรหาเช้ากินค่ำกรำอยู่กับความยากจนข้นแค้น เขาผ่านความยากจนเหล่านั้นมาได้ อย่างสง่าผ่าเผยจนกลายเป็นหัวหน้าวงดนตรีชื่อดัง ที่เป็นตำนานของพี่น้องชาวอีสาน เขาไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ เขาสร้างสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ ตลอดเวลา จากคนเสียงไม่ดีที่คนรังเกียจ เขาอัดแผ่นเสียงจนเพลง ค้นหาคนดัง ดังสนั่นหวั่นไหวเขาอัดเสียงกลอนหมอลำ ชุดหมอลำบันลือโลก ก็ดังแบบสุดๆ
จุดเด่นของวงเพชรพิณทองอยู่ที่ ทีมพิธีกร ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานเป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา รีวิวประกอบเพลง เป็นทีมตลกที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ประกอบด้วย นพดล ดวงพร, ลุงแนบ, หนิงหน่อง, จ่อย จุกจิก, ใหญ่ หน้ายาน, และอาว์แท็กซี่ เป็นต้น การแสดงของเพชรพิณทอง เต็มไปด้วยศิลปะ ที่ละเอียดอ่อน ซื่งประกอบด้วย 1) เวทีการแสดง ง่ายๆ แต่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง 2) นักดนตรี และ หางเครื่อง ก็มีเอกลักษณ์ของเพชรพิณทอง 3) ลีลาตัวแสดงทุกตัว มีเอกลักษณ์ของตนเอง ทุกคน 4) การประสมประสานกัน หรือ จังหวะในการแสดง เก็บรายละเอียดได้ดี ดนตรีสอดประสานได้ไพเราะ โดยเฉพาะเสียงพิณ เสียงแคน เสียงแซ็กโซโฟน กลอง ฯลฯ
เพชรพิณทอง และ นพดล ดวงพร คือนักรบทางวัฒนธรรมของภาคอีสาน ที่เกิดขึ้นจากมันสมองและการสั่งสมประสบการณ์ของนพดล ดวงพร เป็นการมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวด้วยตัวของตัวเอง เป็นความแน่วแน่ในอันจะจรรโลงและอนุรักษ์สิ่งดีงาม พร้อมๆ กับการผสมผสานของใหม่เข้าด้วยกัน
“แม่นแล้ว” “เบิ่งกันแหน่เด้ออาว” “น้อยทิง” “นางเอย” “เด้อนางเดอ เด๊อเด๊อนางเดอ ตึ้งๆ” อีกหลากหลายคำ อีกเป็นร้อยเป็นพันคำและวลีที่ติดหู ติดปากผู้คน ที่เพชรพิณทองไปหยิบจับจากท้องถิ่นที่อีสานเป็นและอยู่ มาใช้ทำการแสดง ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของคำและวลีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการละเล่นแสดงในภาคอีสานกลับมาอยู่ในความนิยม ทำให้เห็นความลึกซึ้งและมิติลุ่มลึกของภาษา และนี่คืออานุภาพของภาษา อานุภาพของวัฒนธรรม ความสำคัญอยู่ที่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวพันคนเข้าด้วยกันด้วยภาษา เป็นทั้งเครื่องผูกพันและเป็นรหัสให้ผู้คนได้ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กัน
อาวุธสำคัญ ของวงดนตรีและของบุคคลผู้นี้คือ การใช้ภาษาอีสาน ขณะที่สังคมอีสานกำลังเกิดความสับสนในอัตลักษณ์ของตัวเอง ท่ามกลางการดูถูกชาติพันธุ์ของสังคมไทย ที่มีต่อคนลาว ต่อชาวอีสาน ซึ่งปรากฏการณ์อย่างนี้ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมบนแผ่นดินอีสานตามมา คือ ได้เพาะเชื้อความรังเกียจกำพืดของตัวเอง ดูถูกตัวเอง เกลียดความเป็นลาวในสายเลือดตัว และพยายามหนีสุดชีวิตเพื่อให้พ้นไปจากความเป็นลาว เป็นคนอีสาน ด้วยการสร้างปมเขื่องให้กับตนเองด้วยการ “ไม่พูดสำเนียงภาษาอีสาน หรือภาษาลาว”
เพชรพิณทอง และ นพดล ดวงพร ก็โผล่ออกจากเงามืด และออกมายืนท้าทาย ต่อสู้ฟาดฟัน และที่สุด นพดลและเพชรพิณทองก็ประสบชัยชนะ นำพาผู้คนในภาคอีสาน และคนเชื้อสายลาวในจังหวัดอื่นๆ แม้กระทั่งคนลาวในต่างแดน และคนลาวในประเทศ สปป.ลาว เอง ก็ยังได้รับอานิสงส์และเก็บรับความภาคภูมิใจพร้อมกัน
คงไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า คนที่ใช้ภาษาลาวหากได้ฟังเพชรพิณทองเป็นต้องยิ้ม หัวเราะ ขบขัน และหลังจากนั้นก็จะเกิดความรักในภาษา รักในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างไว้ หลายคนบอกกับตัวเอง ถ้าไม่รู้ภาษาลาว ถ้าไม่เป็นคนลาว คงขาดทุนแย่ เพราะความงามในคำ ในนัยที่แฝงในลีลา และคำพูดมันวิจิตรและงดงามยิ่งนัก แล้วทุกคนก็มอบความรักให้กับเพชรพิณทองอย่างเต็มหัวใจ
เขาและชาวคณะได้ใช้ภาษาของพ่อแม่อย่างมีประสิทธิภาพ แง่มุมและมุกตลกของเพชรพิณทอง มาจากความงดงามของภาษาอีสาน ภาษาลาว มาจากวิถีชีวิตของชาวอีสาน มาจากคำหยอกล้อ มีจากภาษิต ผญา โตงโต่ย และภาษาถ้อยคำของคนสมัยใหม่ รวมทั้งได้สะท้อนวิถีความเป็นไปในภาคอีสาน ที่สำคัญไปกว่านั้น เพชรพิณทองได้สอดแทรกศิลปะ วัฒนธรรมของอีสานอย่างหลากหลาย และถ่ายทอดอย่างมีศิลปะ ทำให้ศิลปะและคุณค่าที่ดีเลิศอยู่แล้ว กลับผุดผาดส่องใสยิ่งขึ้น เมื่อมีการประยุกต์และนำมานำเสนอและจัดแสดงได้อย่างลงตัว
เพชรพิณทอง และ นพดล ดวงพร ได้ก่อกระแสความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในใจคนอีสาน ทำให้คนอีสานได้ประจักษ์ว่า ภาษาอีสานหรือภาษาลาวนั้น มีความงาม มีมิติล้ำลึก การเสียเวลากว่า 3 ชั่วโมงในการนั่งชมการแสดง เป็นความคุ้มค่าอย่างที่สุด เสียงปล่อยหัวเราะ เสียงโห่ฮา เพื่อบำบัดระบายอารมณ์ความสนุกจุกแน่น ที่เพชรพิณทองก่อให้เกิดมีขึ้นตลอดเวลาในการแสดง เมื่อการแสดงจบลง ทุกคนเดินออกจากวงผ้าล้อมวิก หรือโรงภาพยนตร์ ทุกใบหน้ายังคงประด้วยรอยยิ้มและไมตรี หันมองคนรอบข้าง และยิ้มให้กันอย่างมีความสุข มีหวัง แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ที่สามารถยิ้มหัวให้กันได้ก็เพราะทุกคนก็รู้ว่า คนที่เข้าชมเพชรพิณทอง คือ คนอีสาน คนบ้านเดียวกัน เป็นคนที่ฟังภาษาเพชรพิณทองแล้ว ขบขันจนตัวโก่งเหมือนกัน
ในยุคที่โด่งดังของเพชรพิณทองนั้น การปิดวิกล้อมผ้าเก็บค่าเข้าชมคนละ 50 บาท สามารถทำรายได้มากกว่าวงดนตรีสตริงวัยรุ่นที่โด่งดังยุคนั้น หรือแม้แต่กับวงดนตรีลูกทุ่งชื่อดัง สายัณห์ สัญญา มาประชันการแสดงในวัดเดียวกัน ก็มีรายได้น้อยกว่าเพชรพิณทองมาแล้ว วงดนตรีเพชรพิณทอง ไม่ได้ดังแค่ในภาคอีสานเท่านั้น ภาคใต้ก็ไปเปิดวิกล้อมผ้าโกยเงินมาแล้ว ยิ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง โรงภาพยนตร์ที่ไปเช่าที่แสดงโรงแทบแตกกันมาแล้วทั้งนั้น
จากคนที่แทบไม่มีอะไรเลย เขามีหมดทุกอย่างทั้งบ้าน ที่ดิน รถเก๋ง รถบัส รถเวที รถขนสัมภาระ อะไรที่อยากมีก็มีหมดทุกอย่าง ด้วยความสามารถทางการแสดง เป็นอย่างเดียวที่เชี่ยวชาญจนคนยอมรับ ก้าวจากเด็กถีบสามล้อ ไปถึงคนส่งหนังสือพิมพ์ จนกลายเป็น โฆษกวิทยุ เป็นนักร้อง เป็นหมอลำ เป็นได้กระทั่งดารานักแสดงหนัง ละคร มีรางวัลเกียรติยศ ประดับเกียรติความสามารถอีกต่างหาก
จากภาพยนตร์เรื่อง วิวาห์พาฝัน ถึงเรื่องที่ดังที่สุดคือ ครูบ้านนอก (2521) - รับบทเป็น ครูใหญ่คำเม้า แก้วใส แห่งโรงเรียนบ้านหนองหมาว้อ และอีกหลายๆ เรื่อง จนเมื่อไม่นานมานี้ยังได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง สิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด และผลงานละครโทรทัศน์ โคกคูนตระกูลไข่ เพลงรักริมฝั่งโขง (2550) เรไรลูกสาวป่า (2551) ดังแค่ไหนคงไม่ต้องเอ่ยกันแล้ว
ปั้นลูกศิษย์ลูกหานักร้องให้ดังมาแล้วทั่วบ้านทั่วเมือง อาทิ นกน้อย อุไรพร, วิเศษ เวณิกา, ชุติมา ดวงพร, นพรัตน์ ดวงพร อีกทั้งยังปั้นนักแสดงตลกที่ยิ่งใหญ่มาเยอะ อาทิ สุนทร คางแพะ, ลุงแนบ (ณรงค์ โกษาผล), หนิงหน่อง, แท็กซี่, จ่อย จุกจิก, ใหญ่ หน้ายาน ฯลฯ จะไม่มีใครลืมเขาได้-ผู้ชายคนเก่งนักเพลงเมืองอุบล นพดล ดวงพร
ณรงค์ พงษ์ภาพ (นพดล ดวงพร) - ประวัติ และผลงาน
นพดลยังได้เป็นผู้อำนวยการผลิตและสร้างสรรค์งาน นำเอาประวัติศสาตร์เมืองอุบล และเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของเมืองอุบล มาบอกเล่าผ่านบทเพลง ในวาระที่เมืองอุบล ครบรอบ 200 ปี ใน พ.ศ. 2535 เพื่อเฉลิมฉลองฉลอง 200 ปีอุบลราชธานี โดยมีผู้ประพันธ์เพลง คือ ชลธี ธารทอง, พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา, ณรงค์ โกษาผล, สยาม รักษ์ถิ่นไทย, ธนรรษต์ ผลพันธ์, ประพนธ์ สุริยะศักดิ์, เฉลิมพร เพชรศยาม, นคร พงษ์ภาพ
นพดล ดวงพร - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
นับเป็นการระดมนักแต่ง นักร้อง คนเมืองอุบล และที่มีชื่อเสียง มาสร้างสรรค์เพลงเมือง รวม 22 เพลง ซึ่งมีทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ที่ตั้งขึ้น และบางเพลงได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ เช่น เพลงลูกแม่มูล ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เป็นต้น
ตำนานพิณ แคน ซอ - นพดล ดวงพร ตอนที่ 1
ตำนานพิณ แคน ซอ - นพดล ดวงพร ตอนที่ 2
ตำนานพิณ แคน ซอ - นพดล ดวงพร ตอนที่ 3
ได้รับการแจ้งข่าวจาก คุณอรนุช โกศัลวัฒน์ บุตรสาวของ นายณรงค์ พงษ์ภาพ หรือ "นพดล ดวงพร" ผู้ก่อตั้งวงดนตรี "เพชรพิณทอง" ที่คนในวงการลูกทุ่งอีสานรู้จักกันทั่วไปว่า คุณพ่อได้จากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เวลา 20.19 น. ณ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ กรุงเทพมหานคร สิริอายุรวมอายุ 77 ปี
ทางญาติได้บำเพ็ญกุศลและมีกำหนดการพิธีพระราชทานเพลิงศพ กรณีพิเศษ คุณพ่อณรงค์ พงษ์ภาพ (นพพดล ดวงพร) ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 ณ เมรุวัดท่าวังหิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เหลือไว้เพียงตำนานอันยิ่งใหญ่ของ วงดนตรีมหาสนุก ลูกทุ่งอีสาน เพชรพิณทอง
มรดกเพชรพิณทอง : ความจริงไม่ตาย ThaiPBS
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)