คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2529
ศิลปินหมอลำ คือผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนองเพลงที่เป็นเอกลักษณ์แห่งท้องถิ่นอีสาน ซึ่งหากจะกล่าวถึง ศิลปินหมอลำระดับปรมาจารย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน ถึงขั้นที่เรียกว่า "แตกลำ" อันเป็นคำที่ใช้ในวงการหมอลำ ซึ่งหมายถึงผู้มีความสามารถในการลำกลอน โดยไมว่าจะเป็นกลอน 7 กลอน 8 และกลอน 9 ก็สามารถลำได้สดๆ โดยไม่ติดขัด อีกทั้งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติที่เป็นหมอลำคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2529 ท่านผู้นั้นก็คือ หมอลำทองมาก จันทะลือ
นอกจากลำกลอนแล้ว ท่านยังมีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง ได้แก่ โหวด อีกทั้งยังมีความสามารถใน การเป่าแคน เป่าใบไม้ และด้วยความแตกฉานในกลอนลำ ท่านจึงเป็นหมอลำที่เก่งหาตัวจับยาก โดยมีเอกลักษณ์สำคัญคือ การสร้างความสนุกสนาน จากท่าทางลีลา ยกคิ้วหลิ่วตา ทำให้เป็นที่ถูกอกถูกใจคนดู จนได้รับการยกยองเป็นหมอลำชั้นหนึ่งในภาคอีสาน และได้สร้างลูกศิษย์ไว้สืบสานหมอลำอีกด้วย
อีกชื่อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นใช้เรียก หมอลำทองมาก จันทะลือ คือชื่อ "หมอลำถูทา" เนื่องจากท่านได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุ และเป็นโฆษกผู้โฆษณายาให้กับ บริษัท โอสถสภาเต็กเฮงหยู โดยท่านได้นำเอาศิลปะหมอลำเข้าไปประยุกต์ใช้ในการโฆษณา ส่งผลให้ยอดขายของทางบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โฆษณาทางวิทยุชิ้นหนึ่งอันเป็นผลงานของท่าน ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และติดหูของชาวอีสานในยุคนั้น ได้แก่ โฆษณายาหม่องถ้วยทอง ที่มีถ้อยคำติดหูผู้ฟังทั่วไปว่า "ถูทา ถูทา" ทำให้ชาวบ้านพากันเรียก หมอลำทองมาก ว่า "พ่อถูทา" นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
หมอลำทองมาก จันทะลือ เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำเมื่ออายุ 14 ปี โดยบิดาได้พาไปสมัครเรียนหมอลำ กับพระรูปหนึ่งนามว่า พระอาจารย์อ่อน ที่วัดประดู่น้อย โดยได้เรียนรู้ทั้งด้านกลอนลำ และพระธรรมคำสอนทาง พระพุทธศาสนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่หมอลำจะต้องเรียนรู้อย่างละเอียด ท่านได้ร่ำเรียนอยู่กับพระอาจารย์อ่อน อยู่เป็นเวลา 2 ปี จึงได้ลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกับครูหมอลำอื่นๆ อีกหลายท่าน อาทิ หมอลำคำอ้าย อาจารย์คำผาย โยมา ที่สอนให้รู้จัก การวาดลำ (คือจังหวะในการรำและฟ้อน) และแตกฉานในกลอนลำ นอกจากนั้นยังมี สิบตรีภิรมย์ อาจารย์กึม อาจารย์เคน อามาตย์บัณฑิต อาจารย์หลวย และอาจารย์บุญคา เป็นต้น ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านล้วนมีความชำนาญในด้านต่างๆ เกี่ยวกับหมอลำที่แตกต่างกันไป ทำให้หมอลำทองมาก ได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ของหมอลำอย่างกว้างขวางจนแตกฉาน
ท่านเริ่มแสดงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2491 และแสดงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้รับการยกย่องว่า เป็นหมอลำชั้นหนึ่ง หาผู้มาประชันได้ยาก โดยท่านยึดถือคุณสมบัติหมอลำที่ดีควรมีหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) มีความรู้ฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม 2) เสียงดังมีเสน่ห์ รูปร่างหนาตาดี และ 3) มีลีลาบทบาท มารยาทอ่อนโยน
ในด้านสังคม ท่านเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ ส.ส. อุบลราชธานี 1 สมัย ต่อมาได้ตั้ง สมาคมหมอลำถูทาบริการ และรับงานแสดง ตลอดจนช่วยเหลืองานราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการนำเอาศิลปะพื้นบ้านมารับใช้สังคม
หมอลำทองมาก จันทะลือ ได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้ง อันไดแก่
แม้ว่า นายทองมาก จันทะลือ จะไม่ได้เป็นคนอุบลฯ โดยกำเนิด (ชาติกำเนิด จังหวัดขอนแก่น) แต่ก็มาสร้างครอบครัว และทำงานที่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงหลังๆ เป็นทั้งนักจัดรายการวิทยุ ตั้งสำนักงานหมอลำถูทาบริการ (กกตาลคู่) ใกล้กับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ซึ่งต่อมาได้ให้บริการที่พักสำหรับญาติผู้ป่วยได้เข้าพักนอนฟรี เมื่อมาเยี่ยมญาติที่โรงพยาบาล ย้ายสำนักงานไปฝั่งอำเภอวารินชำราบ (บริเวณข้างๆ กับอุบลวัสดุ (ดูโฮม)) และโยกย้ายไปอยู่บ้านสวนเลขที่ 156 หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนสิ้นอายุขัย
หมอลำทองมาก จันทะลือ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 87 ปี (ตามอายุจริงที่เกิดในปี พ.ศ. 2467 แต่แจ้งเกิดตามบัตรประชาชน วันที่ 6กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ซึ่งหากนับตามบัตรประชาชน ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ 82 ปี) และสุดท้ายแห่งชีวิต หมอลำถูทายังได้บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกด้วย
สยามศิลปิน - ทองมาก จันทะลือ หมอลำถูทา
บรรณวัชร จากคอลัมน์ คมเคียวคมปากกา - จบตำนาน "หมอลำถูทา" (หนังสือพิมพ์คมชัดลึก) ไดกล่าวถึง หมอลำทองมาก จันทะลือ ว่า "สาหรับผมแล้ว "หมอลำถูทา" คือศิลปินของชาวบ้าน ผู้สร้างตำนาน การเมืองของคนรากหญ้าไว้อย่างน่าศึกษายิ่ง"
ผู้ใช้นามแฝง เลขายูฯ จากเว็ปไซต์ http://www.carabao2524.com กล่าวถึงหมอลำทองมาก จันทะลือ ว่า "การแสดงหมอลำของท่านแต่ละครั้งได้พยายามสอดแทรกวิชาเกษตรกรรม และรณรงค์การรู้หนังสือ สนับสนุนนโยบายของรัฐไปด้วย จนได้รับรางวัลดีเด่น การผลิตผลงานเพื่อเยาวชนประเภทสื่อชาวบ้าน ท่านได้อุทิศตนเพื่องานสังคมมาโดยตลอด เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายเกี่ยวกับการถ่ายทอดวิชาการเล่นหมอลำ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสาน ให้แก่ลูกศิษย์มากกว่า 300 คณะทั่วภาคอีสาน"
พ่อใหญ่ถูทา ทองมาก จันทะลือ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)