foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

september festival header

วันเวลาไม่คอยใครจริงๆ แป๊บๆ เดือนกันยายนมาถึงแล้วล่ะ ได้ไปทำบุญ ทำทาน ท่องเที่ยวที่ไหนกันบ้าง สำหรับเว็บมาดเซ่อกับทิดหมูนั่นจำศีลอยู่บ้าน (มีใจกุศล บำเพ็ญภาวนาล่ะสิ เปล่า! เงินหมดต่างหาก... 😁😄😂🤣😭) หลูโตนเจ้าของอยู่เนาะ ช่วงนี้ฝนตกเยอะ น้ำก็มากไปเที่ยวธรรมชาติภูเขา น้ำตกกันครับ

  • บุญข้าวประดับดิน ประจำปี 2567 ประเพณีพื้นถิ่นอีสานทุกจังหวัดทั่วประเทศ วันที่ 2 กันยายน 2567
  • บุญข้าวสาก ประจำปี 2567 ประเพณีพื้นถิ่นอีสานทุกจังหวัด วันที่ 17 กันยายน 2567
  • การฟังเทศน์สามัคคีช่วงเข้าพรรษา หนึ่งเดียวในอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม ถึง 15 ตุลาคม 2567
  • มหัศจรรย์ธรรมชาติ "กุ้งเดินขบวน" ณ แก่งลำดวน อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ระหว่าง 1-30 กันยายน 2567

ฮีตเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน 2567

kao pradabdin 01หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณหนึ่งเดือน ก็จะมีอีกหนึ่ง ฮีตคองประเพณีอีสานบ้านเรา ในช่วงนี้คือ “บุญข้าวประดับดิน” ซึ่งทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ปีนี้ตรงกับวันที่ 2 กันยายน 2567 ประเพณีนี้ทั้งคนลาวและคนไทยอีสาน มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า กลางคืนของเดือน 9 หรือ ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า เป็นวันที่ 'ประตูนรกเปิด' ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ได้ ในคืนนี้เพียงคืนเดียวเท่านั้นในรอบปี

ดังนั้น ชาวอีสานจึงพากันเตรียมจัด 'ห่อข้าว' ไว้ให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำข้าวปลา อาหารคาว-หวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ หรือตามพื้นดิน บริเวณรอบๆ เจดีย์ โบสถ์ หรือกำแพงวัด เป็นการทำบุญที่ชาวบ้านจัดขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นประจำทุกปี

พิธีกรรม "บุญข้าวประดับดิน"

  • วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ ไว้ 4 ส่วน ส่วนหนึ่ง เลี้ยงดูกันภายในครอบครัว ส่วนที่สอง แจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่สาม อุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว และส่วนที่สี่ นำไปถวายพระสงฆ์

ในส่วนที่สามนี้ ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย ซึ่งมีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง

  • วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่ เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่างๆ เช่น ริมทางในหมู่บ้าน ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (ยาย ในภาษาอีสานหมายถึงการวางเป็นระยะๆ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองอึกทึกแต่อย่างใด

kao pradabdin 02

  • หลังจากวางเสร็จแล้วชาวบ้านจะกลับบ้าน เพื่อเตรียมอาหารไปทำบุญที่วัดอีกครั้งหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จ ก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุกๆ คน

วันที่จัดงาน : 2 กันยายน 2567

สถานที่จัดงาน : ในวัดทุกวัดของภาคอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม : ฮีตเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

บุญข้าวสาก (ฮีตบุญเดือน ๑๐)

บุญเดือนสิบ "บุญข้าวสาก" คำว่า "สาก" ในที่นี้มาจากคำว่า "ฉลาก" ในภาษาไทยกลาง ข้าวสากหรือฉลากภัตร บุญข้าวสาก คือ การทำบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย บุญข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกัน เช่น ในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ จะกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธ 2 ตุลาคม 2567

boon kao sag 02

ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระ หรือ เณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่า ในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณร ที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่า เป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่า เป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น

san donta5

สำหรับพี่น้องอีสานที่มีเชื้อสายเขมร ส่วย เยอ จะมีการจัด วันสารท (ศารท) หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า ญาติของตนที่ตายแล้ว อาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น

วันที่จัดงาน : 2 ตุลาคม 2567

สถานที่จัดงาน : ในวัดทุกวัดของภาคอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม : ฮีตเดือนสิบ บุญข้าวสาก

การฟังเทศน์สามัคคีช่วงเข้าพรรษา

ผ่านพ้นไปแล้วกับการเข้าพรรษามาถึงเดือนที่ 2 แล้ว ประเพณีทางอุบลราชธานี บ้านของเว็บมาดเซ่อจะมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นเวลานานเกือบ 70 ปีแล้ว ได้แก่ "การเทศน์สามัคคี" หรือ การเทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี ครับ คือ การที่ชาวอุบลฯ จะหมุนเวียนไปฟังเทศน์ตามวัดต่างๆ จนครบทุกวัดตามที่กำหนดไว้ การฟังเทศน์สามัคคีของพุทธศาสนิกชนชาวอุบลฯ เป็นประเพณีอันดีงาม ซึ่งมีที่มาที่ไป กล่าวคือ เนื่องจากภาวะบ้านเมืองในช่วง  พ.ศ. 2498 ได้มีผู้เอาลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเผยแพร่ ซึ่งเป็นลัทธิที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของชาติ รัฐบาลจึงมีนโยบายโดยมอบหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการหาทางป้องกัน

tesana ubon 1

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตกลงจัดให้มีการฟังเทศน์สามัคคีในช่วงเข้าพรรษา หมุนเวียนกันไปตามวัดต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ โดยใช้ชื่อว่า "การเทศธรรมัสสวนะสามัคคี" โดยมี พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล) เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และนายโพธิ์ ส่งศรี มรรคทายกวัดทุ่งศรีเมือง เป็นผู้นำ เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2498 มีวัดที่เข้าร่วมโครงการ 4 วัด คือ วัดมณีวนาราม วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดทุ่งศรีเมือง และวัดสุทัศนาราม กำหนดเทศน์วันพระแรกของวันเข้าพรรษา จนถึงวันพระสุดท้ายที่ออกพรรษา ปัจจุบันมีวัดเข้าร่วมโครงการ 23 วัด ทั้งนี้ กำหนดเอา วัดมณีวนาราม(วัดป่าน้อย) เป็นวัดแรก และวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นวัดสุดท้าย ในการเทศน์ธรรมมัสสวนะสามัคคี ส่วนวัดอื่นๆ ให้จับสลากว่าวัดไหนจะได้ก่อนหลัง หัวข้อที่นำเอามาเทศน์นั้น ได้กำหนดเป็นปีๆ ไป 

โครงการเทศน์สามัคคีนี้  เป็นรวมกลุ่มปฏิบัติธรรมโดยยึดศรัทธาเป็นที่ตั้ง บางคนไปฟังทุกรอบ ทุกวัด จนครบตลอดเทศกาลเข้าพรรษา และสังเกตุว่า จะมีสมาชิกเข้ามาฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี เป็นประเพณีการฟังเทศน์สามัคคีที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี "เมืองนักปราชญ์" นั่นเอง กำหนดการเทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี หรือเทศน์สามัคคี ประจำปี 2567 นี้ รวม 23 วัด เริ่มพฤหัสบดีวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เทศน์กัณฑ์แรกที่วัดมณีวนาราม และกัณฑ์สรุปที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วันอังคารที่  15 ตุลาคม 2567 ตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นปีที่ 66

tesana ubon 2

หมายเหตุ : การเทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี ทุกวัดเริ่มเวลาประมาณ 13.40 น. (ใช้เวลาเทศน์ประมาณ 30-40 นาที) สอบถามเพิ่มเติม โทร.045-255219 และ 092-1439777

ตารางการเทศน์สามัคคี ปี 2567 คลิกดูที่นี่

Unseen Thailand กุ้งเดินขบวน

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ (Unseen Thailand) นี้หนึ่งปีมีครั้งเดียว ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเรื่อยไป จนกระทั่งเดือนกันยายนของทุกปี ที่ ลานพันรู ในน้ำตกแก่งลำดวน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งของ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี (ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า อุบลราชธานี) มี ขบวนพาเหรดกุ้ง เดินฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากมุ่งสู่ต้นน้ำของลำโดมใหญ่ ในเทือกเขาพนมดงรัก มหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่น่าชม ปีนี้ฝนมาล่ากว่าปกติน้ำน้อยการเดินขบวนของกุ้งจะมีให้เห็นจำนวนมากในช่วงปลายเดือนสิงหาคมไปถึงต้นเดือนกันยายนนะครับ

parade kung 01

กุ้งไม่ได้ประท้วงเรียกร้องอะไรนะ แค่จะกลับบ้านเกิดไปวางไข่แพร่พันธุ์เท่านั้น

มีคำถามว่า "กุ้งชนิดใดมาเดิขบวนที่นี่ หลายคนอยากรู้ ตัวใหญ่ไหม มีเยอะไหม" คำตอบคือ กุ้งชนิดที่มาเดินขบวนที่น้ำตกแห่งนี้คือ กุ้งฝอย ชื่อสามัญว่า Lanchester’s freshwater Prawn  ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ MacrobachiamLanchesteri จัดว่าเป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยตามผิวน้ำริมตลิ่ง แหล่งน้ำต่างๆ ชอบกินจุลินทรีย์และสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 2 - 7 ซม. มีเปลือกห่อหุ้มตัว โดยเปลือกหุ้มแยกออกเป็นสองตอน ตอนหน้าจะห่อหุ้มหัวและอก ส่วนตอนหลังจะเป็นลำตัวกุ้ง ส่วนหนวดกุ้งจะทำหน้าที่รับความรู้สึก กุ้งจะมีขาสำหรับเดินและจับอาหาร 5 คู่ และรยางค์สำหรับว่ายน้ำอีก 5 คู่ ซึ่งรยางค์เหล่านี้ นอกจากจะใช้ว่ายน้ำแล้วตัวเมีย ยังทำหน้าที่เป็นที่เก็บไข่ผสมน้ำเชื้อและฟักไข่อีกด้วย สำหรับการหายใจนั้นกุ้งจะหายใจด้วยเหงือกและเลือดกุ้งจะไม่มีสี สรุปกันง่ายๆ ก็คือ กุ้ง ที่นิยมเอามาทำ "กุ้งเต้น"รสแซบนั่นแหละ

kung parade 2

เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์น้ำที่รับยีนส์ (Genes) และแรงผลักดันจากพ่อ/แม่ ให้เดินทางกลับสู่ต้นน้ำอันเป็นบ้านเกิด เพื่อมาสืบพันธุ์และวางไข่ การที่กุ้งเหล่านี้มาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู มีสาเหตุมาจากการที่จะเดินทางมายังแหล่งต้นน้ำ ที่เป็นบ้านเกิด บนยอดเขาพนมดงรัก มันต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมาย

กุ้งจะเดินขบวนช่วงไหน? ช่วงฤดูน้ำหลาก คือ กลางเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ขึ้นอยู่กับระดับน้ำและความเชี่ยวของกระแสน้ำบริเวณน้ำตกแก่งลำดวน โดยจะขึ้นมาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู อย่างน่ามหัศจรรย์ ในเวลากลางคืน เวลาประมาณ 19.00 - 05.00 น. ของอีกวันหนึ่ง แต่คืนไหนจะเดินขึ้นมามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาบนพื้นที่รับน้ำหรือลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ถ้าฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆ วัน ป่าไม้ต้นน้ำก็จะปล่อยน้ำลงมามากส่งผลให้ระดับน้ำสูงกระแสน้ำเชี่ยว กุ้งก็จะพากันมาเดินขบวนเป็นแถวยาว

kung parade 3
ก่อนไปชมกุ้งเดินขบวนตอนค่ำก็แวะเที่ยวน้ำตกห้วยหลวงกันก่อนในตอนกลางวัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ก่อน

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)