คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เชียงคาน แต่เดิมตั้งอยู่ที่เมืองชะนะคาม ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ปัจจุบัน เชียงคาน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 940.45 ตารางกิโลเมตร บรรยากาศดีเงียบสงบ ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มาได้ยาวนานกว่า 100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณจะมีการจัดงานฉลอง "100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณริมฝั่งโขง" ไปเมื่อวันที่ 4 - 6 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ของเชียงคานให้คงอยู่สืบไป
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม บ้านเรือนไม้ริมแม่น้ำโขงที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เมืองมีบรรยากาศดีและเงียบสงบ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ให้ความรู้สึกถึงความเป็นอดีตทั้งในด้านภูมิปัญญาและประเพณีที่คงอยู่ ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีพลัง
ประวัติความเป็นมา เมืองเชียงคาน เดิมตั้งอยู่ที่ เมืองชะนะคาม ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งสร้างโดย ขุนคาน โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้าง แยกออกเป็นสองอาณาจักรคือ อาณาจักรหลวงพระบาง ซึ่งมีพระเจ้ากีสราชเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรเวียงจันทน์ ซึ่งมีพระเจ้าไชยองค์เว้เป็นกษัตริย์ โดยกำหนดอาณาเขตให้ดินแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไปเป็นอาณาเขตหลวงพระบาง และใต้แม่น้ำเหืองลงมาเป็นอาณาเขตเวียงจันทน์ ต่อมาทางหลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองซึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่านและทางเวียงจันทน์ได้ตั้ง เมืองเชียงคาน เดิมเป็นเมืองหน้าด่านเช่นกัน
ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ ตีเวียงจันทน์ได้จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกัน และให้เป็นประเทศราชของไทย และได้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองไปขึ้นกับเมืองพิชัย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย โดยยกกำลังจากเวียงจันทน์มายึดเมืองนครราชสีมา แต่ในที่สุดเจ้าอนุวงค์ถูกจับขังจนสิ้นชีวิต กองทัพไทยที่ยกมาปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาได้ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงมายังเมืองปากเหืองมากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้ พระอนุพินาศ (กิ่ง ต้นสกุล เครือทองศรี) เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก แล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงคาน ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง และได้เข้าปล้นสะดมเมืองเชียงคานเดิม ที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก
ครั้งต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองเชียงคานใหม่ ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่า ศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมี พระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่ง นายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้
เว็บมาดเซ่อกะได้ไปนอนเชียงคานอยู่ตั่วนี่ (ภาพเก่าตั้งแต่ปี 2554)
เชียงคาน เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงสุดชายแดนไทย เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ที่คงยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบประเพณี การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งหาดูยากในปัจจุบัน เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบแห่งนี้กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ภาพบ้านเก่าๆ ที่เรียงรายติดกันอยู่ริมถนนชายโขง ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายรุ่นต่างหลั่งไหลเดินทางกันมาที่นี่ บ้านเรือนที่เมืองเชียงคานจะแบ่งออกเป็นซอยเล็กๆ เรียกว่า ถนนศรีเชียงคาน ขนานคู่กันไปไปกับถนนใหญ่ซึ่งเป็นถนนสายหลัก เริ่มตั้งแต่ถนนศรีเชียงคาน ซอยที่ 1- 24 แบ่งเป็นถนนศรีเชียงคานฝั่งบนกับฝั่งล่างซึ่งชื่อซอยเหมือนกัน
ถนนศรีเชียงคานฝั่งล่าง คือ ถนนเส้นที่เต็มไปด้วยบ้านไม้เก่าแก่ ที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร และร้านค้าเก๋ มากมายซึ่งถนนในเส้นนี้จะเรียกว่า "ถนนชายโขง" ซึ่ง ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยว นิยมมาปั่นจักรยานชมบรรยากาศ ถ่ายรูปเล่น ชมบ้านไม้สมัยเก่า แต่ก็มีบางส่วนเป็นตึกแถวสร้างใหม่ ซึ่งทางเทศบาลไม่อนุญาตให้ปลูกสร้าง เพราะต้องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมบริเวณถนนสายนี้ให้เป็นบ้านไม้ทั้งหมด เป็นการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเชียงคาน แต่ถึงแม้บ้านไม้เก่าๆ ถึงแม้ถูกดัดแปลง ให้เป็นร้านขายของ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ บ้านพักโฮมสเตย์ไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรความ สงบเรียบง่ายของวิถีชีวิต รอยยิ้มที่แสนจะจริงใจของผู้คนในเมืองนี้ ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เมืองเชียงคานแตกต่างจากเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ
เชียงคาน เป็นเมืองเล็กมาก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจักรยานจึงเป็นพาหนะยอดฮิตของใครหลายๆ คน มาเที่ยวเชียงคานต้องมาปั่นจักรยาน เพราะทำให้เรารู้จักและสัมผัสกับเสน่ห์ของเชียงคานได้มากยิ่งขึ้น การปั่นจักรยานไปตามตรอกซอกซอยชมบ้านไม้เก่าๆ ที่บางส่วนก็ถูกดัดแปลงให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านกาแฟ แถมได้ทักทายยิ้มแย้มทำความรู้จักกับชาวบ้าน ปั่นไปมาเพียงแค่วันเดียวก็เกือบรู้จักกันเกือบทั่งซอย เพราะที่นี่เป็นเมืองที่เล็กที่มีแต่รอยยิ้มและมิตรภาพ การปั่นจักรยานเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้ปลดปล่อยอารมณ์ไปพร้อมกับความเรียบง่ายของเมืองเล็กๆ แสนสงบแห่งนี้ น้อยนักที่เราจะสามารถปั่นจักรยานและปล่อยเวลาให้เดินช้าลงแบบ ไม่ต้องเอาเรื่องอื่นใดมาใส่ให้หนักสมอง เพราะเราจะเห็นแต่รอยยิ้มอันอบอุ่นของชาวบ้านและ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งบนแคร่ไม้หน้าบ้าน คอยทักทายเราตลอดเส้นทาง ได้ออกกำลังกายไปในตัวรับอากาศบริสุทธ์แบบห่างไกล มลพิษอีกด้วย
วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเชียงคานก็คือ ชาวบ้านเกือบทุกหลังจะลุกขึ้นมาตักบาตรข้าวเหนียวแต่เช้าตรู่ ถือเป็นประเพณีที่มีมานานแล้ว ซึ่งจะปฎิบัติกันแทบทุกบ้าน ตอนเช้าๆ เราจะเห็นผู้เฒ่า ผู้แก่ จะอาบน้ำแต่งตัวตั้งแถวเรียงกันยาวไปตามริมถนน เพื่อมารอพระบิณฑบาตรแต่เช้า ด้วยความศรัทธาวิธีการตักบาตร คือ หยิบข้าวเหนียว จากกระติ๊บมาหยิบกำมือเหมือนกับเราตักข้าวสวย แล้วตักใส่บาตรพระจนครบทุกองค์ ซึ่งหากเรามาพักที่โฮมสเตย์ในแต่ละที่ก็จะมีการเตรียมข้าวเหนียวไว้ให้เราสำหรับตักบาตร ด้วยเช่นกัน
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ กับเชียงคานมีที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขงห่างจาก ตัวอำเภอเชียงคาน ประมาณ 3 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ๆ เป็นจำนวนมาก ตัวแก่งกว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบๆ ใกล้ฝั่งไทยซึ่ง กระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะสมที่จะมาชมแห่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้งมองเห็นเกาะแก่งต่างๆ ได้ชัดเจน
ภูทอก จุดชมทัศนีย์ภาพเมืองเชียงคานและทะเลหมอก สวยงามริมฝั่งโขงที่แปลกตาด้วยทิวเขาสลับซับซ้อนสุดตาไกลถึงฝั่งลาว การเดินทางจากตัวอำเภอเชียงคาน นักท่องเที่ยวต้องนั่งรถมาลงที่จุดจอดรถขึ้นไปชมทะเลหมอกภูทอก ซึ่งจะมีรถสองแถวให้บริการคิดราคาคนละ 25 บาท ไม่อนุญาติให้นำรถส่วนตัวขึ้นไป
การดินทางไปอำเภอเชียงคานนั้น สามารถเดินทางด้วยรถยนตร์ส่วนตัวไปที่จังหวัดเลย แล้วตรงไปยังอำเภอเชียงคานระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร หรือจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยรถประจำทางปรับอากาศของ บริษัท ขนส่ง จำกัด ปลายทางที่อำเภอเชียงคานได้โดยตรง ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ตอนสองทุ่มแล้วไปตื่นรับอากาศบริสุทธิที่เชียงคานในเช้าวันรุ่งขึ้น
ออกพรรษาที่เชียงคาน - สนธิ สมมาตร
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตรงกับคืนวันออกพรรษา หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เท่านั้น ในวันดังกล่าวระหว่างเวลาประมาณ 19.00 - 22.00 น. จะมีลูกไฟกลมโตประมาณลูกไข่หรือผลส้มสีแดงชมพู บ้างก็ว่าสีหมากสุกผุดขึ้นจากแม่น้ำโขง ลูกไฟแต่ละลูกจะลอยสูง 20 - 30 เมตร ตำแหน่งที่ลูกไฟผุดขึ้นมานั้นจะเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ โดยจะพุ่งขึ้นเป็นเวลา 2 - 3 วินาที ก่อนที่จะดับหายไปโดยไม่มีเสียงใดๆ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เป็นระยะทางยาวประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นปรากฏการณ์ที่มีชื่อเสียงจนกลายเป็นมหกรรมการท่องเที่ยวระดับสากล
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีลักษณะเป็นลูกไฟสีชมพู ไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีเสียง พุ่งขึ้นเหนือลำน้ำโขง
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นปรากฏการ์ธรรมชาติที่ยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ และป็นความเชื่อในวัฒนธรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับพญานาค
บั้งไฟพญานาค หรือก่อนปี 2529 เรียก บั้งไฟผี เป็นปรากฏการณ์ที่กล่าวกันว่าเห็นที่ แม่น้ำโขง ลักษณะเป็นลูกกลมเรืองแสงลอยขึ้นจากน้ำขึ้นไปในอากาศ จำนวนลูกไฟมีรายงานระหว่างหลายสิบถึงหลายพันลูกต่อคืน บั้งไฟพญานาคเกิดช่วงวันออกพรรษาของทุกปี
ในปี 2555 ผู้จัดการออนไลน์ ลงข่าวที่มีช่างภาพไปถ่ายภาพบั้งไฟพญานาค ช่างภาพเล่าว่า "จากสายตาพวกเขาเห็นตรงกันว่าลูกไฟนั้นขึ้นจากน้ำ แต่ภาพที่บันทึกด้วยการเปิดหน้ากล้อง 5 – 30 วินาทีเป็นภาพต่อเนื่องเหมือนเลเซอร์ ซึ่งมีจุดเริ่มอยู่บนบกของฝั่งลาวที่ห่างจากไทยประมาณ 1 กิโลเมตร" ช่างภาพอีกคนกล่าวว่า "บริเวณที่จัดไว้ให้ชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนั้นมืดมาก"
ในปี 2558 มีผู้คาดว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้มีเงินสะพัดกว่า 150 ล้านบาท นอกจาก "บั้งไฟพญานาค" แล้ว ยังมีปรากฏารณ์ลูกไฟโดยมีชื่อเรียกต่างๆ กันในบริเวณอื่นของโลก
ลักษณะบั้งไฟพญานาค เป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ จนถึงขนาดเท่าไข่ห่าน หรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จะเริ่มปรากฏจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1 – 30 เมตร พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50 – 150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5 – 10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังโตอยู่ มิได้หรี่เล็กลงแล้วค่อยๆ ดับ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ
วินิจ พลพิทักษ์ หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดหนองคาย อธิบายว่า "ทั่วจังหวัดหนองคายมีตำแหน่งที่มักปรากฏบั้งไฟพญานาคประมาณ 20 จุด โดยพบที่อำเภอโพนพิสัยมากที่สุด บั้งไฟพญานาคยังขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ บ่อน้ำ ลำห้วย ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากลำน้ำโขงราว 500 เมตร ก็มีผู้พบเห็น สำหรับระยะเวลาในการขึ้นของบั้งไฟพญานาคนั้นจะขึ้น ระหว่างตะวันตกดินถึงประมาณ 23.00 น."
นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้ศึกษาบั้งไฟพญานาค เผยว่า "ปริมาณของบั้งไฟพญานาคจะลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละปี ล้วนแล้วเกิดจากระบบนิเวศ และเงื่อนไขของเวลา ไม่แน่ว่าในปีต่อไปจะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคอีกหรือไม่ เรื่องดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ตลอดจนภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน อาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้บั้งไฟพญานาคลดจำนวนลงจนหมดไป"
งานวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยหลายฉบับสรุปว่า บั้งไฟพญานาค คือ ก๊าซมีเทน-ไนโตรเจน เกิดจากแบคทีเรียที่ความลึก 4.55 – 13.40 เมตร อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนน้อย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องช่วงประมาณ 10, 13 และ16 นาฬิกา มีอุณหภูมิมากกว่า 26 องศาเซลเซียสทำให้มีความร้อนมากพอย่อยสลายสารอินทรีย์ และจะมีก๊าซมีเทนจากการหมัก 3 – 4 ชั่วโมง มากพอให้เกิดความดันก๊าชในผิวทรายทำให้ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ ฟองก๊าซที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วนจะฟุ้งกระจายออกไป ส่วนแกนในของก๊าซขนาดเท่าหัวแม่มือจะพุ่งขึ้นสูง กระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืนทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้
นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ กล่าวในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2538 ว่า "บั้งไฟพญานาคน่าจะเป็นสสาร และจะต้องมีมวล เพราะแหวกนํ้าขึ้นมาได้ จึงน่าจะเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เอง และต้องเบากว่าอากาศ" เขายังพบว่าความเป็นกรดด่างของน้ำในแม่น้ำโขงสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ที่จะเกิดการหมักมีเทน ซึ่งเขาเคยไปวางทุ่นดักก๊าซในแม่น้ำโขง และพบว่าก๊าซที่ดักได้ในแม่น้ำโขงสามารถนำไปจุดติดไฟ จะเกิดการพุ่งวูบขึ้นมีสีออกเป็นแดงอมชมพู ส่วนคำถามที่ว่าทำไมบั้งไฟพญานาคถึงเกิดขึ้นในคืนวันออกพรรษา เขาบอกว่าในคืนนั้นมีอ็อกซิเจน ก๊าซที่ช่วยให้ติดไฟสูงสุดในรอบปี ซึ่งก็เกิดจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงพลังงานรังสีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลก
มีคำอธิบายที่คล้ายกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงใน ฟิสิกส์พลาสมา (plasma physics) โดยเป็นลูกพลาสมาลอยอิสระซึ่งสร้างจากไฟฟ้าสถิต (เช่น จากตัวเก็บประจุ) ถูกปล่อยสู่สารละลาย ทว่า การทดลองบอลพลาสมาส่วนใหญ่กระทำโดยใช้ตัวเก็บประจุค่าแรงดันสูง ตัวกำเนิดสัญญาณไมโครเวฟหรือเตาอบไมโครเวฟ มิใช่ภาวะธรรมชาติ
สารคดีของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในปี 2545 แสดงทหารลาวยิงกระสุนส่องวิถีขึ้นฟ้า และมีเสียงเฮ ที่ดังมาจากฝั่งไทยที่มารอชมบั้งไฟพญานาค และเมื่อสัมภาษณ์คนท้องถิ่นในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2546 ชาวบ้านในพื้นที่ก็รู้ดีว่า มีการยิงลูกไฟในฝั่งลาวในวันออกพรรษา แต่ลักษณะจะแตกต่างจากบั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นจากบริเวณกลางแม่น้ำโขง และสามารถแยกแยะออกว่าอันไหนของจริง อันไหนคนทำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า "ไม่มีก๊าซชนิดใดในโลกที่สันดาปเองแล้วกลายเป็นลูกไฟลอยสูงขึ้นไปสูงๆ ได้ เว้นแต่มีการสันดาปด้วยเชื้อเพลิงขับ เช่น ดินปืน พลุ หรือกระสุนส่องแสงขึ้นจากฝั่งตรงข้าม แต่หลอกตาเหมือนขึ้นจากน้ำ" และยังตั้งข้อสังเกตว่า "ที่ผ่านมายังไม่มีภาพถ่ายวิดีโอใดๆ เลยที่ชี้ให้เห็นว่าลูกไฟขึ้นจากน้ำได้จริง โดยมักเป็นภาพลูกไฟที่ลอยขึ้นไปในอากาศแล้ว พร้อมขอให้มีการสร้างบั้งไฟพญานาคเลียนแบบปรากฏการณ์ธรรมชาติขึ้นมาเพื่อพิสูจน์"
ปิ่น บุตรี เขียนลง ผู้จัดการออนไลน์ ในปี 2556 ว่า สกู๊ป (ของไอทีวี) ที่ว่า บั้งไฟพญานาคเกิดจากการยิงปืนของทหารลาวนั้นถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ และยังถูกคนจับผิดและหาข้อมาหักล้าง ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของการยิงปืนขึ้นฟ้าที่ต้องมีเสียง ควัน และมีวิถีการพุ่งที่เร็วมาก แถมสีก็แตกต่างกับลูกไฟประหลาดที่พวยพุ่งขึ้นมา พุ่งช้ากว่า ไม่มีควัน เสียงไม่ดังเท่า นอกจากนี้ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคยังมีบันทึกว่าเกิดขึ้นมานับร้อยๆ ปี มาก่อนการยิงปืนของทหารนานแล้ว
เฉลยปริศนาบั้งไฟพญานาค - VoiceTV
บทความในผู้จัดการออนไลน์ว่า "เดิมทีพญานาคอาศัยอยู่ในเมืองบาดาล มีนิสัยดุร้าย ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ก็เกิดความเลื่อมใสศาสนาพุทธ เลิกนิสัยดุร้าย และคิดบวช แต่ก็ติดที่เป็นสัตว์ไม่สามารถบวชได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ พญานาคจึงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนครบ 1 พรรษา (3 เดือน) และเสด็จกลับโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อรู้ถึงพญานาคที่อยู่เมืองบาดาล จึงจุดบั้งไฟถวายความเคารพด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เกิดเป็นบั้งไฟพญานาคให้มนุษย์ได้พบเห็น และยังว่า ตราบเท่าที่ความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านเกี่ยวกับพญานาคยังคงอยู่ คนอื่น ๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ก็ควรยึดหลัก "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่"
มีการนำเรื่องข้อสงสัยที่มาของบั้งไฟพญานาค มาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง "15 ค่ำ เดือน 11" โดย จิระ มะลิกุล ออกฉายเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งเรื่องราวเนื้อหาในภาพยนตร์นั้น บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์
การชมเหตุการณ์บั้งไฟพญานาคนั้น ไม่ได้มีเฉพาะจุดที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เท่านั้นนะครับ ตามสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่เชียงรายไล่ลงมาถึงอุบลราชธานี มีผู้พบเห็นและเฝ้าสังเกตการณ์การเกิดของบั้งไฟพญานาคกันทุกปีในช่วงออกพรรษา ที่อุบลราชธานีผู้เขียนเคยไปดูที่บ้านตามุย บ้านท่าล้ง อำเภอโขงเจียม มาแล้วเหมือนกัน เรื่องนี้ยังมีข้อสงสัยกันอีกมากมาย ใครอยากติดตามอีกมุมมองก็ไปติดตามเพจนี้ครับ "พิสูจน์บั้งไฟพญานาค"
รายการความจริงไม่ตาย : 15 ค่ำ เดือน 11 สปป.ลาว
หลักบ้านและดอนปู่ตา หลักบ้านเป็นที่สถิตของ "ผีอาฮัก" หรือ "เทพารักษ์" ชาวไทยอีสานจะทำพิธีบวงสรวงผีอาฮักให้มาสถิตอยู่ ณ หลักบ้าน บือบ้าน หรือสะดือบ้าน โดยสร้างเป็นหลักไม้ตั้งอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน นิยมใช้ไม้ยอและไม้คูณซึ่งมีความหมายเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้าน ส่วนดอนปู่ตาเป็นที่สถิตของปู่ตาซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อช่วยปกป้องอารักขาลูกหลานในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข การสร้างดอนปู่ตามักเลือกเอาบริเวณที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เรียกว่า "ดอน" บริเวณนี้มักมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่นไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดไม้ มีการสร้างตูบเล็กๆ ไว้เป็นที่สถิตของผีปู่ตา และทำพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาปีละครั้ง
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม หลักบ้านมีลวดลายที่เกิดจากการแกะสลัก แต่ไม่วิจิตรมากนัก มักจะมีการยักปลายหรือที่ช่างพื้นบ้านเรียกว่า "แอวขัน" โดยแบ่งส่วนปลายและส่วนลำตัว ส่วนปลายจะถากปาดยอดให้เป็นทรงบัวเหลี่ยม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ศูนย์กลางของหมู่บ้านและการปกปักรักษาครอบครัวและชุมชน
“ศาลหลักบือบ้าน” และหุ่นรูปเหมือนหลวงปู่ทองมา ถาวโร พระเกจิชื่อดังแห่งภาคอีสาน ที่ชาวอิสานขนานนามว่า
"พระอริยเจ้าแห่งเมืองเกินร้อย" ตั้งอยู่ภายในศาลหลักบ้าน ที่คอยคุ้มครองปกปักรักษาคนในชุมชน
บ้านโนนเที่ยง ตำบลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์
(ภาพจาก http://namon.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/3/menu/138)
หลักบือบ้าน มีชื่อเรียกเฉพาะท้องถิ่นอีสานหลายชื่อ เช่น หลักบ้าน หลักธรรม หลักกลางบ้าน ฯลฯ บือบ้าน คำนี้มาจาก สายบือ (สะดือ) หมายถึง บริเวณกึ่งกลางของหมู่บ้าน ธรรมเนียมการฝังหลักบ้านที่เรียกกันว่า “บือบ้าน” มีคติความเชื่อเดียวกันกับการฝังหลักเมืองคือ การสร้างสัญลักษณ์อันเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของผีผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองคนในบ้านเมือง
หลักบือบ้าน นิยมทำด้วยไม้มงคล ประเภท ไม้พะยูง ไม้คูณ (ต้นราชพฤกษ์) ไม้ยอป่า ไม้มะขามแก่น ฯลฯ มีความสูงประมาณ 1.5 – 3 เมตรทำเป็นรูปคล้ายดอกบัวหรือรูปสี่เหลี่ยมตามเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
พระสงฆ์กำลังสวดพุทธมนต์ที่เสาหลักบ้าน ประเพณีบุญซำฮะ(ชำระ) หรือบุญเดือนเจ็ดของชาวอีสาน
(ภาพจาก http://www.kaentong.com/index.php?topic=4667.0)
ช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน ของทุกปี ชาวอีสานจะมีการจัดประเพณีบุญซำฮะ (ชำระ) หรือ บุญเบิกบ้าน เป็นประเพณีบุญเดือนเจ็ดในฮีตสิบสอง (ฮีตสิบสองคือประเพณีบุญสิบสองเดือนของภาคอีสาน) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเพื่อความสงบสุขแก่ชุมชน สถานที่ทำบุญจัดขึ้นบริเวณหลักบ้าน งานบุญจัด 2 วัน คือ มื้อโฮม (วันรวม) ตอนเย็นชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
ส่วน มื้องัน (วันงาน) ตอนเช้า ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ ในแต่ละครัวเรือนจะทำ “ทงหน้าวัว” ซึ่งภายในทงจะใส่อาหารคาวหวาน และทำหุ่นรูปคนสองคนใส่ไว้ในกระทงด้วย เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกทุกคนในครัวเรือน และนำน้ำสะอาดใส่ถังมาร่วมในพิธีเพื่อให้พระสงฆ์สวดมนต์ เสร็จแล้วนำทงหน้าวัวไปวางไว้ตามทาง ‘สามแพร่งหรือสี่แพร่ง’ บริเวณนอกหมู่บ้าน ส่วนน้ำมนต์จะนำมาประพรมตามบ้านเรือนและให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควายกิน โดยเชื่อว่าจะทำไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้แล้วพระสงฆ์จะนำหินกรวดและทราย ที่ผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ไปหว่านใส่หลังคาบ้านเรือนทุกหลังในหมู่บ้าน เพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นมงคลให้ออกไปจากบ้านเรือน ถือเป็นเสร็จพิธีในการทำบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้านประจำปี
ความสำคัญของหลักบือบ้านนั้นไม่ใช่แต่เป็นเพียงเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชาวบ้าน หากแต่เป็นการสร้างสัญลักษณ์ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในหมู่บ้านเมื่อจะเดินทางไปที่ใดก็ต้องมากราบลา เพื่อขอพรอันเป็นการเสริมกำลังใจ หลักบือบ้านจึงเป็นมากกว่าหลักแก่นของหมู่บ้าน ที่เป็นการสร้างกุศโลบายเพื่อสร้างความสงบสุขมาสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
เขียนโดย : จักรมนตรี ชนะพันธ์. จาก วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เมษายน พ.ศ.2560
คติความเชื่อเรื่อง “ผี” นั้นชาวอีสานเชื่อกันว่า ผีมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเป็นผีประเภทแผ่คุณความดี ช่วยคุ้มครองปกป้องภัยพิบัติทั้งปวงที่จะมากล้ำกราย ตลอดจนดูแลรักษาชุมชนให้เกิดสันติสุข ขณะเดียวกันก็อาจบันดาลให้เกิดความเดือดร้อนยุ่งยากได้ หากผู้ใดล่วงละเมิดขาดความเคารพยำเกรง หรือมีพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาของชุมชน กลุ่มผีดังกล่าวมีผีเจ้า ผีนาย ผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีปู่ย่า ผีปู่ตา ผีตายาย ผีมเหสักข์ หลักเมือง ผีฟ้า ผีแถน ผีมด ผีหมอ ผีเจ้าปู่หลุบตา หรือผีที่ชาวบ้านนับถือเฉพาะถิ่นซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เป็นต้น
ส่วนผีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผีร้ายที่คอยมุ่งทำลายล้าง เบียดเบียน ก่อความวุ่นวายสับสนให้เกิดโทษภัยอยู่เนืองๆ เช่น ผีปอบ ผีเปรต ผีแม้เล้ง ผีห่า เป็นต้น
เมื่อชาวบ้านได้ก่อตั้งชุมชนขึ้นมา ณ บริเวณใดก็ตาม ย่อมจะต้องสร้างบ้านเรือน โรง หอ หรือศาล (ตูบ) ไว้เป็นที่พำนักอาศัยของกลุ่มผีประเภทที่ให้คุณไว้เสมอ ณ บริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นที่พึ่งพิงสำหรับบูชาเซ่นสรวงสังเวยเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ
กลุ่มผีให้คุณที่ชาวอีสานดูจะให้ความเคารพศรัทธาค่อนข้างมากนั้นคือ “ผีปู่ตา” ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผีบรรพชน หรือกลุ่มผีประจำตระกูลที่ล่วงลับไปแล้วของชาวบ้าน แต่ดวงวิญญาณยังเป็นห่วงบุตรหลานอยู่ จึงเฝ้าคอยดูแล รักษา คุ้มครอง ป้องกันภัยร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในชุมชน โดยมอบหมายกำหนดให้ “เฒ่าจ้ำ” ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานสื่อสาร ระหว่างผีบรรพชนกับชาวบ้าน ความเชื่อถือ ศรัทธาเรื่องผีบรรพชน หรือ “ผีปู่ย่าตายาย” ของชาวอีสานนั้นปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นประเพณีทุกท้องถิ่น ทุกชุมชน และดูเหมือนว่าชุมชนจะยึดมั่นเคารพในผีเพศชายเป็นสำคัญ จึงคงเหลือชื่อเป็น “ผีปู่ตา” หรือ “ผีตาปู่” ส่วน “ผีย่ายาย” นั้นกลับเลือนหายไป อย่างไรก็ตามการคงชื่อ “ปู่” และ “ตา” อาจมุ่งหวังเป็นบรรพชนทั้งฝ่ายบิดามารดา ให้ทัดเทียมกันด้วย “ปู่” เป็นญาติข้างฝ่ายชาย และ “ตา” เป็นญาติข้างฝายหญิง
โดยทั่วไปแล้วมักนิยมให้ "ศาลปู่ตา" อยู่ด้านทิศตะวันออกของชุมชน บริเวณป่าอีกส่วนหนึ่งจะกำหนดให้อยู่ด้านทิศเหนือ หรือทิศใต้ของชุมชน เป็นป่าสำหรับเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หรือสัตว์ใช้งานอื่น ซึ่งเรียกว่า “ป่าทำเลเลี้ยงสัตว์”
การกำหนดเลือกพื้นที่อยู่อาศัยของผีปู่ตานั้นต้องให้พื้นที่เป็นเนินสูง โนน โคก หรือดอน ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพป่าหนาทึบ ร่มครึ้ม มีสัตว์ป่าชุกชุมหลากหลายพันธุ์ มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ทั้งเสียงร้องของส่ำสัตว์ คลุกเคล้าประสานไปกับเสียงเสียดสีของต้นไม้เครือเถาทั้งปวง ซึ่งทำให้อาณาเขต “ปู่ตา” “ดอนปู่ตา” หรือ “ดงปู่ตา” ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
เรือน โรง หอ หรือโรงศาลที่ต้องสร้างไว้เป็นที่พักอาศัยของผีปู่ตานั้น บางทีก็เรียกว่า “หอปู่ตา” “ศาลปู่ตา” “ตูบปู่ตา” หรือ “โฮงปู่ตา” นิยมสร้างกันเป็นสองลักษณะกล่าวคือ ใช้เสาหลักเพียงตัวเดียวเหมือนศาลพระภูมิทั่วๆ ไป แล้วสร้างเป็นเรือนยอดบนปลายเสา กับอีกแบบใช้เสาสี่ต้นแล้วสร้างโรง เรือน หรือศาลาให้มีห้องขนาดเล็กหรือใหญ่ตามต้องการ โดยทั่วไปแล้วจะมีห้องโถงเพียงห้องเดียว และภายในห้องนั้นต้องให้บริเวณสำหรับเป็นที่วางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมทั้งวัสดุที่แกะสลักด้วยไม้หรือรูปปั้น ตามที่เชื่อถือกันว่าเป็นสิ่งของที่มีผีปู่ตาต้องการ เช่น เป็นรูปคน สัตว์ ข้าทาส และบริวาร ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นไว้สำหรับให้ผีปู่ตาได้ใช้สอยไม่ขาดแคลน ส่วนด้านหน้าตูบหรือศาล มักจะสร้างให้มีชานยื่นออกมาสำหรับเป็นที่ตั้ง หรือวางเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นสังเวยไว้ด้วย
"เฒ่าจ้ำ" เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของชุมชน เพื่อติดต่อสื่อสารกับผีปู่ตา หรือรับบัญชาจากผีปู่ตามาแจ้งแก่ชุมชน ตลอดจนมีภาระหน้าที่ในการดำเนินกิจการด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ตา และบริเวณที่อยู่อาศัย เฒ่าจ้ำอาจเรียกได้หลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระจ้ำ ขะจ้ำ ข้าวเจ้า เฒ่าประจำ เจ้าจ้ำ หรือ จ้ำ
นอกจากเฒ่าจ้ำจะมีภารกิจดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำยังต้องเอาใจใส่ดูแลป้องกันรักษาพื้นที่บริเวณป่า ต้นไม้ สัตว์ รวมไปถึงทรัพยากรผลิตผลจาก “ดงปู่ตา” เช่น เห็ด แมลง ฟืนไม้แห้ง ผัก และพืชสมุนไพร เป็นต้น ต้องขออนุญาตผีปู่ตาเป็นส่วนตัว และผ่าน “เฒ่าจ้ำ” เสมอ มิฉะนั้นจะถูกผีปู่ตาลงโทษให้ผู้นั้นได้รับภัยพิบัติต่างๆ จนอาจถึงแก่ชีวิตได้
เมื่อเฒ่าจ้ำมีบทบาทผูกพันกับผีปู่ตาและชุมชนดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนสถาบันอันศักดิ์สิทธิในชุมชนทุกสถาบัน นับตั้งแต่ “ดงปู่ตา” พระภูมิเจ้าที่ เทวดา หลักเมือง มเหศักดิ์ และหลักบ้าน
บุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของเฒ่าจ้ำนั้น น่าจะได้พิจารณาเชื่อมโยงจากการเลือกเฟ้นหรือกำหนดตัวบุคคลให้ทำหน้าที่นี้ โดยปกติแล้วเมื่อเฒ่าจ้ำถึงแก่กรรมลง จะต้องหาเฒ่าจ้ำคนใหม่มาทำหน้าที่แทนทันที โดยคัดเลือกจากบุคคลในหมู่บ้านที่มีความประพฤติดี บุคลิกน่าเลื่อมใส เป็นที่ยอมรับของชุมชน ในแต่ละชุมชนอาจมีวิธีการเลือกเฒ่าจ้ำแตกต่างกัน เป็นต้นว่า อาจเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นที่ปรารถนาในหมู่บ้านมา 5 - 10 ราย พร้อมไม้คานหรือไม้ไผ่ที่มีความยาวเท่ากับวาของแต่ละคน แล้วมากำหนดวาอีกครั้งต่อหน้าศาลปู่ตา และผู้อาวุโสในหมู่บ้านร่วมเป็นพยานรู้เห็น ถ้าผู้ใดวัดวาแล้วปรากฏว่า ไม้คานหรือไม้ไผ่ยาวเกินวา แสดงให้เห็นว่าผีปู่ตาจงใจเลือกบุคคลผู้นั้นไว้เป็นเฒ่าจ้ำ
ลักษณะการใช้ประโยชน์จากป่าดอนปู่ตา โดยทั่วไปนั้นมีอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ กล่าวคือ
ประการแรก ใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรม โดยปกติแล้วดอนปู่ตาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้าน ชาวบ้านจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อันเกี่ยวกับความศรัทธาที่มีต่อผีปู่ตา พิธีกรรมต่างๆ มีเช่น พิธีกรรมเลี้ยงประจำปีในเดือนสาม และเดือนหกซึ่งเรียกว่า “เลี้ยงขึ้น” (เป็นการเลี้ยงเมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว) และ “เลี้ยงลง” (เป็นการเลี้ยงเมื่อจะเริ่มต้นฤดูการปักดำ) นอกจากนี้มีพิธีเสี่ยงทายสภาพดิน ฟ้า อากาศ ก่อนจะเริ่มต้นไถหว่านและพิธีบนบานเฉพาะราย (ชาวอีสานเรียกว่า “บ๋า”) ซึ่งทุกพิธีกรรมจะมีการเซ่นไหว้บูชา และเลี้ยงดูด้วยความสำนึกในพระคุณ พร้อมกับอัญเชิญบวงสรวงผีปู่ตาให้มาช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีมีสุขโดยทั่วหน้า นอกจากจำใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ดอนปู่ตาบางแห่ง บางพื้นที่ยังใช้เป็นสถานที่เผาศพในบางโอกาสอีกด้วย
ประการที่สอง เป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ทั่วๆ ไปของชุมชน เช่น เลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควาย ชุมชนอาจร่วมมือกันจับสัตว์น้ำตามหนองน้ำในบริเวณป่าดอนปู่ตา โดยมีเงื่อนไข ในป่าดอนปู่ตาเหล่านี้มีต้นไม้ประเภทต่างๆ และมีพืชพันธุ์ผัก เห็ด แมลง พืชสมุนไพร เป็นต้น คนในชุมชนสามารถขออนุญาตตัดไม้ ค้นหาเก็บผลิตผลป่ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามความจำเป็นเฉพาะราย บางบ้านเก็บใบตองของไม้บางชนิดมาเย็บเป็นฝากั้นห้อง หรือแม้แต่ใช้เศษไม้และกิ่งไม้มาเป็นเชื้อเพลิง ตลอดจนทำเป็นไม้หลักสำหรับพืชประเภทแตงกวา แตงร้าน เป็นต้น ซึ่งการใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากกรรมการหมู่บ้านและเฒ่าจ้ำ
อันที่จริงความเชื่อเกี่ยวกับผีดอนปู่ตาของชาวบ้านนั้น ค่อนข้างจะส่งผลให้ชาวบ้านเชื่อว่า หากล่วงละเมิดต่อป่าดอนปู่ตา ผีปู่ตา จะโกรธและบันดาลให้เกิดผลร้ายขึ้นแก่ชุมชน และคนในหมู่บ้าน ไม่ยกเว้นแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านได้เคยประสบพบเห็นมาแล้ว และเล่าสืบต่อกันมา ชาวบ้านจึงเชื่อถือและยอมรับว่าดอนปู่ตาและผีปู่ตา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
ข้อห้ามต่างๆ ในแต่ละชุมชนนั้นอาจกำหนดขึ้นจากมติที่ประชุมของชาวบ้าน หรือเฒ่าจ้ำจะเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเองก็ได้ตามคำขอของผีปู่ตา ซึ่งได้มาเข้าฝันเฒ่าจ้ำให้กำหนดข้อห้ามต่างๆ ขึ้นมาเป็นต้นว่า ห้ามผู้ใดยึดครองพื้นที่บริเวณป่าดอนปู่ตา หรือห้ามจับจองทรัพยากรต่างๆ ในอาณาบริเวณป่าดอนปู่ตา เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด
ห้ามจับสัตว์ทุกประเภทในบริเวณดอนปู่ตา ให้ถือว่าเป็นเขตอภัยทาน บ้างก็เชื่อว่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ที่อยู่อาศัยในบริเวณดอนปู่ตาคือ บริวารของท่าน ห้ามผู้ใดล่าสัตว์เด็ดขาด จึงมักพบเสมอว่าในพื้นที่ดอนปู่ตาจะมีสตว์หลายประเภทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ห้ามตัดไม้ทุกชนิดในป่าปู่ตา จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเฒ่าจ้ำ หรือได้รับอนุญาตจากมติของชาวบ้าน จึงจะสามารถเข้าไปตัดไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ในบางพื้นที่มีเงื่อนไขว่า จะต้องปลูกต้นไม้ชดเชย 1 ต้น หรือมากกว่านั้น ในกรณีที่ขอตัดมาใช้งาน 1 ต้น
ด้วยเหตุที่มีข้อห้ามเหล่านี้ พื้นที่ดอนปู่ตาจึงมักเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หนาแน่น มีสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดอนปู่ตาจึงกลายเป็นวิธีการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรของชุมชนได้อย่างคุ้มค่าที่สุด นับเป็นกุศโลบายในการอนุรักษ์โดยวิถีชุมชน
ในปัจจุบันนี้ เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามามากๆ เรื่องของดอนปู่ตาก็อาจจะจางหายไปในหลายๆ หมู่บ้าน ด้วยเหตุที่ดอนปู่ตาไปอยู่ในเส้นทางของการพัฒนา ตัดถนนหนทางให้กว้างขวาง (ไม่ได้ตัดอ้อมเหมือนทางเกวียน) เราจึงได้ยินว่า ผีปู่ตามาเข้าฝันเถ้าจ้ำบอกว่า "เห็นจะอยู่ที่เดิมไม่ได้เสียแล้ว เพราะโดนเจ้ากุดจี่ทอง (รถแทรกเตอร์) มันไถดุนจนบ้านเจ้าปู่พังทลาย ทั้งๆ ที่เจ้าของของมัน (คนขับรถไถ) ก็พยายามดึงบังเหียน (คันบังคับรถ) ไว้อย่างสุดแฮงก็เอาไม่อยู่ ยิ่งดึงมันยิ่งมุดเข้ามาไถโพนและบ้านของข้าจนพังทลายแล้ว" นับวันดอนปู่ตาจะสูญหายหมดไปจากคนอีสาน
เรียบเรียงและดัดแปลงจากบทความ ดอนปู่ตา : ป่าวัฒนธรรมอีสาน โดย รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เต่า : สัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมข้าว
ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเป็นข้าวนาปี เมล็ดข้าวเรียวยาว ขาวใสเป็นเงา แกร่งมีท้องไข่น้อย มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก คือ ดอกมะลิ 105 และ กข. 15 พื้นที่ที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตดีที่สุดคือทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดคือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี สาเหตุที่ข้าวหอมมะลิปลูกในเขตทุ่งกุลาร้องไห้แล้วมีคุณภาพดี เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาดอน
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ภาคอีสานเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุด
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม พันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้กับชาวอีสาน
ข้าวหอมมะลิ (อังกฤษ: Thai jasmine rice) เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก
ข้าวเป็นอาหารหลักของพลโลกมานานนับพันปี บางภูมิภาคนำข้าวไปแปรรูปเป็นแป้ง เพื่อปรุงแต่งเป็นอาหาร สำหรับภูมิภาคเอเชียบริโภคข้าวในรูปลักษณ์ดั้งเดิม และมีข้าวหลากหลายพันธุ์ให้เลือก สำหรับประเทศไทยแล้วข้าวหอมมะลิ ถือว่าเป็นสุดยอดของข้าวและกำลังเป็นที่ต้องการของผู้นิยมบริโภคข้าวทั่วโลกในชื่อ Jasmine Rice
เมื่อปี พ.ศ. 2497 นายทรัพธนา เหมพิจิตร ผู้จัดการบริษัทการส่งออกข้าว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมในเขตอำเภอบางคล้า ได้จำนวน 199 รวง แล้ว ดร.ครุย บุณยสิงห์ (ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าวในขณะนั้น) ได้ส่งไปปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเปรียบเทียบพันธุ์ที่ สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง (ขณะนี้เป็นสถานีข้าวลพบุรี) ดำเนินการคัดพันธุ์โดยนักวิชาการเกษตรชื่อ นายมังกร จูมทอง ภายใต้การดูแลของ นายโอภาส พลศิลป์ หัวหน้าสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 ได้พันธุ์บริสุทธิ์ข้าวขาวดอกมะลิ 4-2-105 และคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ ข้าวได้อนุมัติให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมแก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 โดยเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า ขาวดอกมะลิ 105 ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 จนได้ข้าวพันธุ์ กข. 15 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ ข้าวทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมมะลิไทย
สารคดีข้าวหอมมะลิไทย มี 4 ตอน คลิกชมต่อเนื่องได้ครับ
ลักษณะจำเพาะของข้าว ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมในตนเอง เป็นกลิ่นของธรรมชาติอันบริสุทธิ์ กลิ่นเหมือนดอกมะลิยามเช้าพร่างหยาดน้ำค้าง และปราศจากสารพิษ เวลาเคี้ยวเมล็ดข้าวจะนุ่ม หอม อร่อยมากกว่าข้าวอื่นๆ ลักษณะของข้าวหอมมะลิไทยจะมีเมล็ดเรียวยาวสวยงาม สีขาวหรือครีมอ่อนๆ
ถูกนำมาปลูกในภาคอีสานใต้บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งครอบคลุมหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี โดยภาครัฐสนับสนุนให้ปลูกเป็นแปลงสาธิตขนาดใหญ่ มีการประชาสัมพันธ์ จนกลายเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิชั้นดี เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ พื้นที่ภาคอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้รับความสนใจมาเป็นเวลานาน ว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับมรดกจากธรรมชาติมาน้อยมาก เพราะพื้นที่นี้เป็นดินทราย อินทรียวัตถุต่ำ บางแห่งจะปรากฏว่าดินจะมีความเค็ม สังเกตได้จากร่องรอยเกลือสีขาวที่ปรากฏอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ ธรรมชาติในภาคอีสานนี้ ถ้าบอกว่า พื้นที่ฝนแล้งที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ภาคอีสาน และพื้นที่ที่จะมีน้ำท่วมในฤดูก็อยู่ในภาคอีสานอีกเช่นกัน แต่ก็ให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิได้ดีเช่นกัน
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (Thung Kula Rong-Hai Thai Hom Mali Rice : TKR) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ซึ่งปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดข้าวยาวเรียว และเมล็ดไม่มีหางข้าว เมล็ดข้าวที่ผ่านการสีแล้ว จะมีความเลื่อมมัน จมูกข้าวเล็ก เมื่อหุงแล้วจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม มีความยาวมากกว่า 7.0 มิลลิเมตร สัดส่วนความยาวต่อความกว้าง มากกว่า 3.2 มีท้องไข่ น้อยกว่าร้อยละ 6
ประโยชน์และสรรพคุณของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย
ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ข้าวหอมมะลิ (Thai jasmine rice = Official name "Thai Hom Mali") เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกที่ไหนในโลกไม่ได้คุณภาพดีเท่ากับปลูกในไทย และเป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก
ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ : ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์
ถึงคนจำนวนไม่น้อยในภาคอีสานจะใช้ข้าวเหนียว แกล้มก้อย ต้อยลาบ มากกว่าใช้ข้าวเจ้า ข้าวสวย แกล้มแนม แต่ข้อเท็จจริงมันก็ทนโท่อยู่ว่า ข้าวสวยหอมมะลิที่งอกจากดินทุ่งกลาร้องไห้มันแซ่บคัก คนมักหลายไม่แพ้ข้าวจากภูมิภาคอื่นๆ ทว่าเมื่อสืบโคตรเหง้า ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ กลับมิได้มีปิตุภูมิเป็นดินอีสาน และเพิ่งย้ายรากย้ายกอมาอยู่ทีหลัง แถมการพลัดถิ่นคราวนั้นยังมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องเสียด้วย เรียกว่า ถ้าพวกชังอเมริกาได้รู้ คงล้วงคออ้วกแทบไม่ทัน อย่าทำหน้าไม่เชื่ออย่างนั้น ไปอ่านกันเลย...
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)