คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
โดย ติ๊ก แสนบุญ
ความตาย คือ กฎของธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ เป็นสัจจะธรรมในทุกสรรพสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้ และการตายก็คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ลดความอหังการ และยังช่วยบรรเทาอัตตา ตัวกู ของกู รวมถึงพวกกู จนเกิดวลีกินใจ เช่น ยิ่งใหญ่คับฟ้ามาจากไหนก็เล็กกว่าโลง (โลงศพ) หรือวลีที่ชวนให้ปลงสลดซึ่งได้ยินอยู่เสมอๆ ในงานศพ เช่น เกิดมาก็มาแต่ตัวจนเมื่อสิ้นลมตายไป ก็ไปแต่ตัวไม่สามารถเอาอะไรไปได้สักอย่าง (แม้แต่สังขารร่างกายของตัวเอง) ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญที่ไขว่คว้าแย้งชิงมา สุดท้ายก็เหลือเพียงแต่เถ้าถ่าน และคุณงามความดีที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับคนอื่น และสังคม เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ระลึกนึกถึงตนเอง (ในแง่ดีๆ)
พิธีเผาศพตามประเพณีพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพเขียนลายเส้นของชาวยุโรป ช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕
ดังนั้น พิธีกรรม ที่ถือว่าแรกเริ่มสุดของมนุษย์ จึงน่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย โดยเฉพาะการจัดการกับศพซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ฝังเผา รมควัน อาบน้ำยา ดอง กินทั้งดิบ หรือ สุก (ตามความเชื่อว่า เพื่อสืบทอดสิ่งสำคัญของบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลาน) ปล่อยให้เน่า หรือทิ้งไปเฉยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่านิยมทางวัฒนธรรมที่มนุษย์มีต่อชีวิตและปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมวัฒนธรรม เช่น เพศ สถานภาพ อายุ ตำแหน่ง ลักษณะการตายรวมทั้งสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคม ที่ทำให้มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไป โดยพิธีกรรมต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อว่า ความตายมิใช่เป็นเพียงจุดสิ้นสุดของชีวิตโดยสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังคือการเปลี่ยนสภาพจากโลกที่อาศัยอยู่ หรือจากสิ่งที่มีชีวิตอยู่ไปสู่อีกโลกหนึ่ง หรืออีกสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยพิธีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพของศพเช่น การปล่อยให้เน่าเปื่อย ให้นกกากินเหลือแต่กระดูก หรือการเผา (ปราณี วงษ์เทศ 2543) และตัวพิธีกรรมได้สร้างบทบาทสถานะภาพใหม่ให้กับผู้ตาย ที่แสดงการแบ่งแยกระหว่างคนตายและคนเป็น ดั่งมีหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วว่า
ผู้คนในอุษาคเนย์เชื่อว่า คนตายจะไปอยู่ในดินแดนบรรพบุรุษ ภาพสลักบนกลองมโหระทึกชิ้นหนึ่ง แสดงการเดินทางของวิญญาณผู้ตายไปยังดินแดนบรรพบุรุษโดยทางเรือ บรรพบุรุษในดินแดนแห่งนี้คือ "พลังชีวิต" หรือ พลังที่ก่อให้เกิดความงอกงามบนพื้นโลก อาจติดต่อกับลูกหลานในโลกได้โดยผ่านพิธีกรรม และตราบเท่าที่ลูกหลานยังรักษาความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษไว้ พลังชีวิตก็จะหลั่งลงมาแก่ชีวิต และแผ่นดินของลูกหลานต่อไป (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2551)
ในด้านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี พิธีศพของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญ หรือธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืน เพื่อส่งวิญญาณ โดยกินเลี้ยงกับกินเหล้า แล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวของเผ่าพันธุ์ พิธีศพของไทยที่เก็บศพไว้ฉลองนานวันก็มาจากประเพณีดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้วอย่างนี้เอง โดยเมื่อครบกำหนดที่ตกลงกัน ก็จะมีการแห่ศพที่อาจห่อหุ้มด้วยเครื่องจักสาน อย่างใบไม้ไปฝังบริเวณที่กำหนด รู้กันว่าเป็นสถานที่เฉพาะที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบ ต่อมาใช้แผ่นหินเป็นแท่งเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้ คนปัจจุบันเรียก "หินตั้ง" ซึ่งต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่า เสมาหิน หรือ ใบเสมา ในปัจจุบัน (สุจิตต์ วงษ์เทศ 2549)
โดยคติการทำหลักไม้ หรือ หลักหินตั้ง ที่เป็นเครื่องหมาย เพื่อกำหนดรู้ขอบเขตที่ตั้งบริเวณที่เผ่า หรือบริเวณที่ฝังหม้อกระดูกคนตายดังกล่าวนี้ ยังพบเห็นได้โดยทั่วไปในสังคมชนบททั้งในฝั่ง สปป.ลาว และไทยอีสาน ซึ่งชาวอีสานนิยมเรียกว่าหลักไม้นี้ว่า "หลักเส" (หลักไม้หรือหลักหินดังกล่าวนี้ เดิมทีจะพบเห็นอยู่ตาม ป่าช้า คำนี้เป็นภาษาภาคกลางในภาษาเก่าเรียก ป่าเลว ป่าเห้วหรือป่าเปลว โดยทั้งหมดล้วนมีความหมายว่า ไม่ดี ดั่งคำว่า เลว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน โดยเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษที่ต้องให้ความเคารพยำเกรง)
ต่อมาภายหลังมีการปรับเปลี่ยน โดยนำกระดูกคนตายไปเก็บรักษาไว้ที่วัดแทน เนื่องจากในยุคหลังมีการสร้างเมรุเผาศพตามแบบอย่างวัฒนธรรมหลวงในวัด (เพราะคนอีสานจะไม่เก็บกระดูกคนตายไว้ที่บ้าน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมภาคกลาง) จึงปรากฏ หลักเส อยู่ในพื้นที่วัด และส่งต่อรูปแบบสู่พัฒนาการทางศิลปะงานช่างที่เรียกว่า ธาตุไม้ สำหรับเก็บกระดูกอยู่ตามริมรั้วกำแพงวัด (ปัจจุบันถูกขโมยไปขายอยู่ตาม ร้านค้าของเก่า ริมรั้วตลาดนัดจตุจักรกรุงเทพฯ!?) อันแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดคติพิธีศพครั้งที่ 2 เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว
บรรจุภัณฑ์แห่งความตาย ในด้านรูปแบบมีความหลากหลาย ตามลักษณะท่าทางการเก็บรักษาศพ ไม่ว่าจะเป็นท่านอนเหยียดยาว ซึ่งมีพัฒนาการมากว่า 10,000 ปีมาแล้ว หรือท่านั่งงอเข่า ซึ่งมีมากว่า 3,000 ปี ทั้งหมดได้ก่อเกิดเป็นงานช่าง อย่างเช่น บางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือทะเล ก็จะทำโลงศพที่มีลักษณะอย่างรูปเรือ ดังปรากฏหลักฐานที่หน้ากลองมะโหระทึก แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือหรือรางเลี้ยงหมูในปัจจุบัน เอาศพวางในราง แล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ่ำหรือเพิงผาแหล่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ พิธีศพครั้งที่ 2 เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังในดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อย ยุ่ย สลาย ไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก แล้วทำครั้งที่ 2 ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหิน ที่ทุ่งไหหินใน สปป.ลาว หม้อดินเผา ใส่กระดูกพบทั่วไปแต่ขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแบบ “แคปซูล” ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แล้วสืบถึงยุคทวารวดีพบภาชนะใส่กระดูกที่ทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันก็คือ โกศ (เรื่องเดียวกัน.2549)
ในวิถีสังคมชนเผ่าอย่าง กลุ่มข่า หรือ ขมุ ใน สปป.ลาว และที่เวียดนาม ยังนิยมทำโลงไม้ที่มีการแกะสลักเป็นรูปหัวสัตว์ สัญลักษณ์ทางความเชื่ออย่างรูปพญานาค รูปควาย หรือวัว หรืออย่างในวัฒนธรรมลาวลุ่ม จะนิยมทำโลงศพแบบลักษณะปากผาย ที่เรียกว่า หีบศพ โดยมีการตกแต่งส่วนบนด้วยธาตุบัวเหลี่ยม มียอดนพศูร ซึ่งลักษณะหีบศพดังกล่าวนี้ยังมีรูปแบบคล้ายกับรูปทรงของหีบพระธรรม และส่วนฐานในงานสถาปัตยกรรมที่เรี่ยกว่า ฐานเอวขันปากพาน ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปทรงหีบศพ ในวัฒนธรรมลาวทั้งในอีสาน ล้านนา ล้านช้าง ในวัฒนธรรมเขมรก็ปรากฏ โลงศพ แบบที่เรียกว่า โลงถัง บ้างก็เรียกว่า โลงเขมร ซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมตั้งฉาก (อย่างโรงศพของภาคกลางในปัจจุบัน) ที่ปากโลงไม่ผายออกอย่างวัฒนธรรมลาว
อัตลักษณ์ร่วมในเชิงช่างสกุลไท-ลาว กับการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมในบริบทใหม่
ศิลปวัฒนธรรมอีสาน หนึ่งในงานช่างพื้นถิ่นอีสานด้านหัตถกรรมไม้ ที่หลายคนมองข้ามและนึกไม่ถึง ถึงเอกลักษณ์ที่แปลกแตกต่างจากภาคอื่นๆ นั้นก็คือโลงศพหรือหีบศพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนหนีไม่พ้นต้องได้ใช้ในวันใดวันหนึ่งของวาระสุดท้ายในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะบรรจุหรือห่อหุ้มสิ่งที่ไม่น่ามอง อันได้แก่สังขารของเราเอง สำหรับสังคมวัฒนธรรมไท-ลาว มีลักษณะร่วมที่เหมือนกันโดยเฉพาะรูปแบบ รายละเอียดอาจจะแปลกแตกต่างกันไปบ้าง ขณะเดียวกันก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีรายละเอียดและชื่อเรียกที่เป็นศัพท์เฉพาะของท้องถิ่น ดังนี้คือ
ภาพรวมของรูปทรงหีบศพอีสาน ในด้านสกัดด้านแคบคล้ายกับธาตุปูน ส่วนที่เป็นเอวขัน การผายออกของหีบศพลักษณะนี้คล้ายกับโลงศพแบบพม่า หรือฝาเรือนทางภาคเหนือของไทย การผายออกของฝาจะช่วยในการรับแรงอัดและการถ่ายแรงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มจังหวะ (ส่วนเอวขันปากพาน) ในรูปทรงที่สูงชันขึ้น เพิ่มความสง่างามในตำแหน่งที่ตั้ง เพิ่มนัยยะสำคัญให้ในการจัดวางหีบศพกับตัวเมรุ
คติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับการทำโลงศพโดยสังเขป สมัยโบราณรวมถึงปัจจุบันในวิถีชาวบ้าน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการหนัก ญาติพี่น้องจะทำโลงศพเพื่อต่อดวงชะตา หรือสะเดาะเคราะห์ให้ผู้ป่วย เมื่อหายก็จะถวายหีบนั้นให้วัดเป็นการทำกุศล ให้กับผู้ยากไร้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ต่อไป อนึ่งการทำโลงศพสมัยก่อนจะใช้ยางบงมาอุดรอยต่อหรือรูรั่ว และใส่ปูนขาวไว้สำหรับดูดซับน้ำเหลืองจากศพ การเผาแบบชาวบ้านในกลุ่ม “ชาวย้อ” มีธรรมเนียมการขอบริจาคฟืนจากทุกๆ ครอบครัว เรียกว่า “แผ่ฟืน” เมื่อไม้จำนวนพอเพียงแล้วก็จะนำไปกอง ณ ที่เผา ส่วนมากจะเป็น “ป่าแอ้ว” และเคลื่อนศพด้วยการทำคานหาม โดยจัดเตรียมดุ้นไฟชนวนสำหรับเผาศพ ข้าวตอกโปรยหว่านระหว่างทาง น้ำมะพร้าวสำหรับล้างหน้าศพ และจตุปัจจัยไทยทานพระสงฆ์
อนึ่ง สมเด็จครู ได้กล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จ ว่า “เดิมที่เอาฟืนมากองกับพื้นดิน และเอาศพวางบนนั้นและจุดไฟเผา ฟืนที่สุมจะทรุดตัวทำให้ศพเคลื่อนตก ทางอุบลราชธานีเขามีไม้กดศพ เรียกว่า “ไม้ข่มเผง” ๒ อัน เพื่อกันมิให้ศพเคลื่อนเมื่อกองฟืนทรุด...”
อนึ่งในวิถีสังคมปัจจุบันของอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างถูกแปรเปลี่ยนและโดนทำลายไป แต่ยังโชคดีอยู่บ้างที่ภูมิปัญญาพื้นถิ่น (หีบศพอีสาน) ยังคงอยู่รอดแม้จะไม่ดีเท่าที่ควรนัก แต่ยังได้รับการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีการเก็บรักษาศพ) โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบดั้งเดิม แม้จะถูกปรุงแต่งด้วยลวดลายแบบภาคกลางไปแล้วก็ตาม สำหรับฐานานุศักดิ์ อาจแตกต่างในรูปแบบ เช่น การทำนกหัสดีลิงค์ ซึ่งในปัจจุบันจะทำเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ของเมือง แต่โดยรูปแบบของหีบศพนั้นไม่ต่างกันมากนัก
การทำพิธีศพบนนกหัสดึลิงค์ของเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระผู้ใหญ่
ส่วนทางภาคเหนือ จะมี เสื้อวัด หรือ ผีเสื้อวัด เป็นผีชั้นสูงที่มีอาคมอันแรงกล้า สามารถปกป้องคุ้มครองชาววัดชาวบ้านให้อยู่ดีมีสุข พูดกันมาว่า เจ้าอาวาส (ตุ๊เจ้า) ที่มีความเก่งกล้าเรื่องคาถาอาคมเมื่อตายคาผ้าเหลือง เมื่อตายลงจะได้เป็น ผีเสื้อวัด ชาวบ้านจะทำหอบรรจุศพตั้งไว้ภายในวัด ซึ่งตำแหน่งตั้งหอเสื้อวัดแต่โราณนั้น นิยมตั้งทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ของเจดีย์ ถ้าวัดไม่มีเจดีย์ก็ทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ของวิหาร เห็นแล้วเกิดศรัทธาดูมั่นคงและมีศิลปะที่งดงาม (เครดิต : ศรีเลา เกษพรหม)
ผีเสื้อวัด บรรจุภัณฑ์แห่งความตายของพระสงฆ์ผู้มีวิชาอาคมทางภาคเหนือ
[ อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้อง : พิธีกรรมประจำชีวิต - การตาย ]
ป่าบุ่งป่าทาม เป็นคำที่คนเก่าๆ ในอดีตคุ้นชิน แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือเคยได้ยินมีการกล่าวถึงแต่ก็ไม่เข้าใจ ทำหน้ายุ่งๆ ไม่เข้าใจว่าคือ "ป่า" อะไรกัน เคยได้ยินแต่ ป่าดงดิบ ป่าไม้เบญจพรรณ ฯลฯ วันนี้เลยนำมาเสนอให้ทราบกัน เพราะ "ป่าบุงป่าทาม" คือป่าที่ควรอนุรักษ์และให้ความสนใจกันให้มาก เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในอดีต ไม่ต่างจาก "ดอนปู่ตา" ที่ได้สูญหายไปจากชนบทอีสานนั่นเอง
การตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษชาวไทย ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดก็ตาม นิยมเลือก "พื้นที่ราบริมแม่น้ำลำธาร" ในการตั้งบ้านเรือน ชุมชน แล้วขยายตัวจนเป็นเมืองขนาดใหญ่จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ อย่างมากมายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ การสัญจรไปมาทางน้ำ มีน้ำกินน้ำใช้ อาหารจากสัตว์น้ำ พืชผัก ยาสมุนไพร ไม้ใช้สอยสำหรับสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ต่อรถ หรือ ต่อเกวียน ล้วนสามารถหาได้จากป่าตามริมน้ำ นอกจากนี้ พื้นที่ริมน้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์ของ "ดินตะกอน" ที่ถูกน้ำพัดพามาพร้อมกับแร่ธาตุอันเป็นปุ๋ยที่ดีเหมาะแก่การเพาะปลูกด้วย
"ป่าบุ่งป่าทาม" เป็น ป่าไม้ประเภทหนึ่ง อยู่ในเขตที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำลำธาร ที่มีน้ำท่วมยาวนานเป็นประจำทุกปี ในอดีตปรากฏมีอยู่ทั่วประเทศ พบมากในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ปัจจุบันในภาคกลางแทบจะไม่เหลือป่าชนิดนี้อยู่อีกแล้ว สำหรับในภาคอีสานยังพบได้ แต่มีจำนวนน้อยมากและขาดผู้เหลียวแล "ป่าบุ่งป่าทาม" เป็นป่าที่อยู่ใกล้ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตที่ราบลุ่มมากที่สุด ชาวอีสานในเขตนี้จึงมีความคุ้นเคย รู้จักชื่อเรียกพรรณไม้ต่างๆ และเรียนรู้ประโยชน์และโทษของพืช สั่งสม สืบต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น
บุ่ง น. ที่ลุ่มติดกับลำน้ำ ฤดูน้ำมีน้ำขังอยู่คล้ายบึงหรือหนอง เรียก บุ่ง เช่น บุ่งใหม บุ่งกาแซว บุ่งค้า. seasonal marsh which adjoins stream or river.
ทาม น. นาที่ลุ่มซึ่งมีตมเลน เรียก นาทาม นาทามเป็นนาที่ดี ปีใดน้ำไม่ท่วมข้าวปลาจะอุดมสมบูรณ์. lowlying field with abundant water. "
กระทั่งสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ป่าไม้และพรรณพืชท้องถิ่นในธรรมชาติเริ่มถูกทำลาย กลายสภาพไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน คนไทยในยุคประเทศกำลังพัฒนา ลดการพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากพรรณพืชท้องถิ่นลง หันมาปลูกพืชเกษตรเพื่อขายในตลาด ใช้ยารักษาโรคจากสารเคมีสังเคราะห์ หรือเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ทำมาจากพลาสติกและโลหะ องค์ความรู้พื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ จึงกำลังค่อยๆ เลือนหายไป เมื่อมีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มุ่งให้ประชาชนในทุกหนแห่งเร่งทำการเกษตรเพื่อการขายให้ได้มากๆ พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลาย ขยายแหล่งน้ำให้เพียงพอ เกิดการสร้างเขื่อนระบบชลประทานเก็บกักน้ำ และพื้นที่เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้นก็รุกล้ำกลืนกินเอาป่าบุ่งป่าทามให้หดหายไปด้วยเช่นกัน
ป่าบุ่งป่าทาม (Lowland floodplain forest) หรือในชื่อทางราชการว่า "ป่าบึงน้ำจืด" (Freshwater swamp forest) เป็นคำในภาษาไทยถิ่นอีสาน นำมาใช้เรียกสังคมพืชชนิดหนึ่งที่ปกคลุมพื้นที่บุ่งทาม ซึ่งมีน้ำท่วมซ้ำซากยาวนานทุกๆ ปี สังคมพืชนี้ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะป่าไม้ปกคลุมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคมพืชในบึงทุ่งหญ้า หรือไม้พุ่ม ที่ขึ้นในพื้นที่ลุ่ม ชื้นแฉะ เข้าไว้ด้วยกัน โดยสภาพภูมิประเทศแบบ พื้นที่บุ่งทาม (lowland floodplain) จัดว่าเป็นภูมิประเทศหนึ่งในเขต ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าส่วนอื่นๆ และมีร่องรอยทางน้ำเปลี่ยนทิศทางเป็นจำนวนมาก จึงเกิดน้ำท่วมได้ง่ายเป็นประจำมากกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงส่วนอื่นๆ ที่อยู่ระดับสูงขึ้นไป
ป่าบุ่งป่าทาม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsarsites) เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และหล่อเลี้ยงชีวิตคนในลุ่มน้ำ ภาคอีสานเรียก "ป่าบุ่งป่าทาม" แต่ในทางภาคใต้จะเรียกว่า "ป่าพรุ" หากมีการอนุรักษ์พิ้นที่ชุ่มน้ำในบริเวณต่างๆ ของประเทศให้มีความสมบูรณ์ ทั้งทางด้านพืชพันธุ์ไม้ สัตว์น้ำ ให้คงอยู่ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อทุกคนทั้งในชุมชนท้องถิ่น และรวมถึงในชุมชนเมืองด้วย เพราะความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลดีแก่ทุกคนในประเทศเรา นอกจากปริมาณอาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่จะได้รับ (อ่านประโยชน์ท้ายบทความ)
"บุ่ง" เป็นคำในภาษาไทลาวและไทกลางบางท้องถิ่น หมายถึง แหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือพื้นที่แอ่งกระทะที่มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปี หรือตลอดปีก็ได้ ในความหมายเดียวกันคือ บึง หรือ หนอง พื้นที่บุ่งในทางป่าไม้ยังรวมไปถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติชนิดต่างๆ ในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งจะถูกปกคลุมด้วยพืชน้ำล้มลุก หญ้า และกก เราเรียกว่า "สังคมพืชในบึง" หรือ "ป่าบุ่ง"
"ทาม" เป็นคำในภาษาไทลาว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ตรงกับคำว่า "ระนาม" ในภาษาไทโคราช และ "ระเนียม" ในภาษาเขมรอีสานใต้ หมายถึง บริเวณพื้นที่ราบ-ค่อนข้างราบ ทั้งสองข้างลำน้ำที่มีน้ำท่วมขังยาวนานเฉพาะในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ทามจะถูกน้ำท่วมทุกปีในช่วงฤดูน้ำหลากล้นตลิ่ง ยาวนาน 1 - 3 เดือน ความสูงของระดับน้ำในทาม 1 - 5 เมตร น้ำจะเริ่มหลากในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน และลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณต้นฤดูหนาว หลังจากนั้นทามจะแห้ง มีเพียงน้ำขังอยู่ตามบุ่งเท่านั้น บริเวณทามจะถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ที่เป็นพรรณไม้ต้น ไม้พุ่ม และเถาวัลย์ที่ทนทานต่อน้ำท่วมได้ดี เรียกว่า "ป่าทาม" "ป่าระนาม" หรือ "ไปรระเนียม" สำหรับรายละเอียดของระบบนิเวศป่าชนิดนี้จะได้กล่าวในลำดับต่อไป
ป่าบุ่งป่าทาม มีกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ตามริมแม่น้ำและลำห้วยสาขาที่มีน้ำท่วมซ้ำซากและยาวนาน เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ห้วยน้ำโมง ห้วยน้ำก่ำ ลำเซบาย เป็นต้น ในอดีตประมาณว่าเคยมีป่าบุ่งป่าทามในภาคอีสานถึงประมาณ 4 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนสภาพไปเป็นพื้นที่ถูกจับจองทำนา ปลูกยูคาลิปตัส เหมืองดูดทราย ขุดบ่อดิน จนเหลืออยู่ประมาณ 1.5 แสนไร่ ป่าที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ถูกตัดไม้ใหญ่ออกไป และมีการเลี้ยงสัตว์มากจนเกินไป ขาดผู้เหลียวแลเอาใจใส่ ด้วยสถานภาพเป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้ประโยชน์ได้ จนแทบจะไม่เคยเห็นว่าป่าบุ่งป่าทามที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ที่แท้จริงเป็นเช่นไร
บางคนมองว่า ป่าบุ่งป่าทามเป็นเพียงพื้นที่รกร้างที่มีไม้ไผ่ ไม้พุ่ม เถาวัลย์รก หรือเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งมีน้ำท่วมซ้ำซากยากที่ต้นไม้ใหญ่จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าหนาแน่นได้เช่นป่าบกทั่วๆ ไป นั่นไม่ผิดอะไรสำหรับความเห็นของคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีลงมา ที่เห็นสภาพป่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่จำความได้ แล้วความเป็นจริงป่าบุ่งป่าทามที่สมบูรณ์ควรจะเป็นอย่างไร ในความเห็นของผู้เขียน?
ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาความจริงได้ โดยลองเดินเข้าไปในป่าบุ่งป่าทามแล้วจะพบว่า มีกล้าไม้และตอไม้ต้นที่แตกแขนงจำนวนมาก รอการฟื้นฟูขึ้นมาเป็นไม้ใหญ่ ต้นไม้เหล่านี้เราเคยเห็นทั่วไปตามท้องทุ่งนาในเขตที่ราบน้ำท่วมถึงเกือบทั่วประเทศไทย ว่าธรรมชาติของมันมีความสูงและต้นใหญ่ได้แค่ไหน หรือท่านที่เคยไปเที่ยว "โตนเลสาบ" ประเทศกัมพูชา ก่อนที่เรือจะเข้าเขตพื้นน้ำกว้างใหญ่ เราจะล่องเรือผ่านป่าที่มีเรือนยอดทึบหนาแน่น สูง 7 - 15 เมตร สภาพคล้ายป่าชายเลน นั่นเองคือ "ป่าบุ่งป่าทาม" ที่สมบูรณ์ ที่ประเทศไทยเราก็เคยมี
พรรณไม้ในป่าบุ่งป่าทามมี 232 ชนิดจากการศึกษานี้ ประมาณ 30 % (ไม่รวมพืชน้ำ) เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการมาคู่กับระบบนิเวศที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก หรือเรียกว่ามีความเฉพาะตัวกับระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม ส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว เพื่อยืดลำต้นให้สูงพ้นระดับน้ำท่วม ทนต่อน้ำท่วมขังได้นาน มีผลสุกและงอกต้นกล้าออกมาสัมพันธ์กับฤดูน้ำหลาก-น้ำลง กล้าไม้บางชนิดสามารถทนทานจมอยู่ใต้น้ำได้นานตลอดฤดูก็มี พืชบางชนิดเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย เช่น กะสิน/รวงผึ้ง (Schoutenia glomerata subsp. peregrina) ที่กำลังนิยมปลูกกันมาก แต่แทบจะไม่มีใครทราบเลยว่า เคยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าบุ่งป่าทามในเขตภาคกลาง ที่ในธรรมชาติได้สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว
แห่น้อย (Cynometra craibii) และ เขทาม (Maclura thorelii) พืชทั้ง 3 ชนิดพบในลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งพบเพียงไม่กี่ต้น ยกเว้น ยอพญาไม้ (Morinda nana) พบมาก แต่พบเฉพาะในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเท่านั้น พรรณไม้บางชนิดชาวอีสานพบเห็นได้ทั่วไป หรือกินเป็นอาหารได้ แต่น่าประหลาดใจสำหรับนักพฤกษศาสตร์ที่ชนิดเหล่านั้น มีความสำคัญเป็น พืชถิ่นเดียวของภาคอีสาน (endemic species of Northeastern Thailand) หรืออาจพบเข้าไปในฝั่งลาวใกล้ชายแดนไทยอีกด้วย เช่น เปือยน้ำสงคราม (Lagerstroemia spireana), มันแซง (Dioscorea oryzetorum), อินถวาน้อย (Kailarsenia lineata), และ ตีนจ้ำ (Ardisia aprica) นอกจากนี้ยังพบว่า ต้นแสงคำทาม (Terminalia sp.) และ ปอทาม (Colona sp.) เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่รอการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งพบเฉพาะในเขตลุ่มน้ำสงครามเท่านั้นอีกด้วย
ป่าทามราษีไศล ศรีสะเกษ รายการ อยู่ดีมีแฮง ThaiPBS
การพบพืชสำคัญจำนวนมากในป่าบุ่งป่าทามเช่นนี้ แสดงให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัว หากยังไม่มีการอนุรักษ์ป่านี้ไว้ ประเทศไทยคงต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอีกเป็นจำนวนมาก และตามมาด้วยการเสียความสมดุลของธรรมชาติต่อไป
ความเสื่อมถอยของทรัพยากรสัตว์น้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศตามลำน้ำต่างๆ ของภาคอีสานมีหลายสาเหตุที่เกี่ยวพันกันอยู่ ทรัพยากรดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ สัตว์ และมนุษย์ ต่างพึ่งพาอาศัยกัน การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ที่มากเกินพอดีต่ออัตราการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติของทรัพยากรทั้ง 5 ภายในลุ่มน้ำภาคอีสาน จึงแสดงออกมาให้เห็นในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อย่างน้อยป่าบุ่งป่าทามที่เหลืออยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ยังไม่มีการจับจอง ก็ควรจะรักษาสภาพป่าไว้ แล้วดูแลให้ฟื้นฟูตัวเองกลับมาสมบูรณ์เหมือนในอดีต เพื่อให้ป่าสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบริการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อมนุษย์ และยังสัตว์น้ำได้ กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด ให้ชาวอีสานได้พึ่งพาเป็นอาหารพื้นบ้านรสชาติถูกปากตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน
ชาวอีสานจำนวนมากอาศัยอยู่ในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งมิน่าจะมีคนไม่รู้จัก ป่าทามหรือป่าบุ่งป่าทามอย่างแน่นอน คนที่เคยเข้าไปทำมาหากินหรือเที่ยวไปในป่าแห่งนี้ จะต้องได้อะไรติดไม้ติดมือกลับออกมาทุกคน โดยเฉพาะแม่บ้านชาวอีสาน ป่าบุ่งป่าทามเปรียบเสมือนตลาดสดท้ายหมู่บ้านเปิดรออยู่ตลอดเวลา มีทั้งผักป่าพื้นบ้านอันปลอดสารพิษ ผลไม้ป่ารสแซบ และกุ้ง หอย ปู ปลา ที่หาได้ตลอดทั้งปี นี้เป็นสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกขึ้นมาได้ เมื่อคิดถึงประโยชน์จากการมีป่าบุ่งป่าทาม ประโยชน์ของป่าชนิดนี้มิได้มีเพียงแนวกิน แนวใช้ ที่เราได้รับอยู่เป็นประจำเท่านั้น ยังมีประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้จากข้อมูลการศึกษา และที่บางท่านยังมองไม่เห็นว่าสรรพสิ่งต่างๆ ล้วนเกี่ยวพันกันในระบบนิเวศที่ราบน้ำท่วมถึงแห่งนี้
พื้นที่ทามกับปลาแม่น้ำมูน : Mekong Watch
คนเยอราษีฯ กินทามน้ำมูล รายการ อยู่ดีมีแฮง ThaiPBS
สำหรับประเทศไทยเราได้ร่วมลงนามเป็นภาคีใน "อนุสัญญาแรมซาร์ไซต์" เป็นลำดับที่ 110 ของโลก ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยการสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ปัจจุบันไทยมีพื้นที่แรมซาร์ไซต์ 15 แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า 2,515,165 ไร่ ได้แก่
ในจำนวนนี้มีในภาคอีสานเพียง 3 แห่ง คือที่ บึงกาฬ และนครพนม ทั้งๆ ที่ในภาคอีสานมีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามอีกมากมาย เช่น ป่าบุ่งป่าทามที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม ในเขตจังหวัดนครพนม ที่กำลังเร่งดำเนินการอนุรักษ์ และทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ให้เข้าใจว่า จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพในเขตอนุรักษ์ ส่วนในลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ก็มีป่าบุ่งป่าทามหลายแห่ง แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ในการเป็น เขตอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsarsites) เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า "ความเจริญ" หรือ "การพัฒนา" มาขวางกั้น คือ การที่รัฐเข้าไปสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำ ทำให้ป่าบุ่งป่าทามมีผลกระทบเกิดขึ้นในทันที เช่น ที่บริเวณ "เขื่อนราษีไศล" จังหวัดศรีสะเกษ
บทความนี้เรียบเรียงจาก : ป่าบุ่งป่าทาม มูลมังแผ่นดินอีสาน โฮงอาหารครัวไทบ้าน
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
แม่น้ำสงครามตอนล่าง ขึ้นทะเบียนเป็น แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2420 ของโลก และลำดับที่ 15 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 5,504.5 เฮกตาร์ (34,381 ไร่) มีขอบเขตเริ่มตั้งแต่ ปากน้ำบ้านไชยบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ไปจนถึงบ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม ความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร โดยการกำหนดพื้นที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์นี้ ครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็นตัวแม่น้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ที่ติดกับสองฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ป่าสาธารณะ หรือป่าบุ่งป่าทามที่ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของราษฎร
ความสำคัญที่ทำให้ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ เพราะมีระบบนิเวศที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ที่มีความหายาก (เกณฑ์ 1) ได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ ที่มีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่ของพันธุ์ปลาน้ำจืด ซึ่งบางชนิดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากตลอดลำแม่น้ำโขงของไทย ไม่มีป่าบุ่งป่าทามให้ปลาได้ใช้เป็นสถานที่อนุบาลสัตว์น้ำ และในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จะมีเพียงป่าบุ่งป่าทามอยู่ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงเป็นเสมือนมดลูกของพันธุ์สัตว์น้ำทุกชนิด
เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูน้ำหลาก (เกณฑ์ 7 และ 8) พบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด พันธุ์พืช 208 ชนิด รวมทั้งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศได้ถูกกำหนด และตั้งชื่อตามชื่อสถานที่จัดให้มีการประชุม เพื่อรับรองอนุสัญญา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ อันเป็นการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ
ต่อมา ขอบเขตการดำเนินการของอนุสัญญาฯ ได้ขยายครอบคลุมกว้างขึ้น โดยเน้นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเพื่อยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยมีพันธกิจที่สำคัญในการดำเนินงานระดับชาติ โดยความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภูมิภาคของโลก โดยอนุสัญญามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2514 และเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsarsite) เฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ และแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม
ใบประกาศรับรองพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม
ที่มา : ข่าว ThaiPBS 15 พฤษภาคม 2563
"ฝ้าย" เป็นพืชที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำเสื้อผ้าจำเป็นต้องมีเส้นใยฝ้ายรวมอยู่ด้วย แม้การผลิตเส้นใยประดิษฐ์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม เสื้อผ้าที่ผลิตจากฝ้ายหรือส่วนผสมของฝ้ายยังคงเป็นที่นิยมอยู่ตลอดกาล เพราะผ้าฝ้ายนั้นสวมใส่สบาย ให้ความอบอุ่นพอเหมาะ ซึมซับเหงื่อและถ่ายเทอากาศดีกว่าเสื้อผ้าจากใยประดิษฐ์ (Nylon)
"ฝ้าย" เป็นพืชเศรษฐกิจ เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีอากาศร้อน ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย อากาศโปร่ง ไม่ชอบที่ร่มเงาบัง เส้นใยของฝ้ายดูดความชื้นได้ง่าย เหมาะสำหรับการเป็นเครื่องนุ่งห่มในเมืองร้อน เพราะฝ้ายดูดความชื้นแล้ว ความชื้นจะระเหยกลายเป็นไอ ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าด้วยผ้าฝ้ายจะรู้สึกเย็นสบาย ฝ้ายจะปลูกในเดือนพฤษภาคมต่อกับเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคมต่อเดือนสิงหาคม แล้วแต่ภูมิภาคที่ปลูก ซึ่งเป็นฤดูฝนเป็นช่วงที่ฝ้ายได้รับฝนดี ครั้นประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมฝ้ายก็จะแก่และแตกปุย การปลูกฝ้ายชาวบ้านจะปลููกไปพร้อมๆ กับการปลูกข้าว ระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกฝ้ายจนกระทั่งสามารถเก็บปุยได้ ใช้เวลาประมาณ 6 - 7 เดือน ชาวบ้านทุกครัวเรือนสามารถปลูกฝ้ายได้ แล้วนำเส้นใยของฝ้ายมาทอเป็นผืนผ้า สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่มและใช้ในชีวิตประจำวัน
ฝ้าย (Cotton) คือ เส้นใยเก่าแก่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการทอผ้ามาแต่สมัยโบราณ โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกให้รู้ว่า มีการปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายเป็นเส้นด้ายมานานแล้ว คือ การขุดพบฝ้ายในซากปรักหักพังอายุประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ที่แหล่งโบราณคดีโมฮันโจ ดาโร (Mohenjo daro) บริเวณแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในเขตประเทศปากีสถานปัจจุบัน
ใยฝ้ายได้มาจากส่วนที่ห่อหุ้มเมล็ดของต้นฝ้าย หรือที่เรียกว่า ปุยฝ้าย ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ ฝ้ายมีคุณสมบัติเนื้อนุ่ม โปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากฝ้ายมีช่องระหว่างเส้นใย จึงเหมาะกับสภาพอากาศในฤดูร้อน และเมื่อเปียกจะตากแห้งได้เร็ว การใช้ฝ้ายมาใช้งานทำได้โดยนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย แล้วนำมาท่อเป็นผืนผ้า
ผ้าฝ้าย หรือเรียกจากคำภาษาอังกฤษของผ้าฝ้ายว่า Cotton เป็นผ้าที่ใช้กันมากที่สุดในบรรดาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เหมาะสมสำหรับการสวมใส่ในช่วงที่มีอากาศร้อนในฤดูร้อนอย่างประเทศไทย หรือสามารถสวมใส่ได้ทุกวันกับประเทศที่ภูมิอากาศร้อนชื้นทั้งปี เพราะในเนื้อเส้นใยฝ้ายนั้นสามารถซึมซับเหงือ และระบายออกได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เสื้อผ้าฝ้าย 100% จะมีราคาแพง ในปัจจุบันจึงมีเสื้อผ้าฝ้ายที่ทอผสมเส้นใยสังเคราะห์ลงไป เพื่อทำให้ราคาถูกลง แต่คนอีสานบ้านเฮานั้นร่ำรวยวัฒนธรรมจึงสวมใส่เสื้อผ้าฝ้าย 100% ได้อย่างซำบายใจ เพราะปลูกและทอกันเอง
ผ้าฝ้ายทำมาจากใยฝ้าย ซึ่งได้จากต้นฝ้ายที่สามารถปลูกขึ้นได้ดีในแถบที่มีอากาศอุ่นชื้น และมีแดดจัด เมื่อผลฝ้ายแก่จัดแล้ว ผลจะแตกมีใยเป็นปุยขาว จึงเก็บมาแยกเอาเปลือกและเมล็ดออก แล้วนำไปปั่นเป็นเส้นใยและเส้นด้าย จึงจะสามารถทอเป็นผืนผ้าได้แล้วจึงจะสามารถใช้ประโยนช์จากผ้าฝ้ายได้ โดยการนำมาตัดและเย็บเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอย่างเช่น เสื้อยืด
ฤดูปลูกฝ้าย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่ต้องกำหนด เพราะปลูกฝ้ายก็เพื่อให้ได้ปุยฝ้ายสีขาวสะอาด ฉะนั้นจึงต้องกำหนดให้ฝ้ายไปแก่แตกปุยแตกสมอในเมื่อฝนหยุดแน่นอนแล้ว อายุของฝ้ายที่ปลูกเป็นอุตสาหกรรมโดยทั่วไป ตั้งแต่วันเริ่มงอกถึงวันแตกสมอ ใช้เวลาประมาณ 120 วัน ถ้าปลูกฝ้ายต้นฤดูเกินไป ต้นฝ้ายจะงามก็จริง แต่เมื่อฝ้ายแตกสมอแล้วฝนยังไม่หยุดทำให้ปุยฝ้ายเปียกเสียได้ และถ้าปลูกล่าเกินไปต้นฝ้ายก็จะเล็กได้ผลิตผลต่ำ ฉะนั้น ฤดูกาลสำหรับปลูกฝ้ายจึงต้องเลือกเอาเวลาที่จะให้ผลดีที่สุด เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นท้องที่ที่ฝนหมดเร็วและดินไม่อุ้มน้ำนั้น จะต้องปลูกฝ้ายในระยะปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะให้ผลิตผลดี แหล่งปลูกฝ้ายในภาคอีสานมีมากที่จังหวัดเลย นคคราชสีมา และปลูกกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดอื่นๆ
ให้ฮักแพงกันไว้ เด้อชาวไทย สิเฮืองฮุ่ง
ให้หุงข้าวน้ำ ยามไทบ้านอื่นมา
บุญบ้านเฮามาฮอดแล้ว เสียงแซวๆ คนมาร่วม
รวมพลังเด้อพี่น้อง เสียงกลองฆ้องสนั่นเมือง
สามัคคีกันเอาไว้ โฮมหัวใจให้เป็นหนึ่ง
บุญมาฮอดมาถึง ของบ้านเฮาเทื่อนี้ มีคุณค่าให้จื่อจำ
ให้ตุ้มโฮมกันเอาไว้ บุญบ้านเฮายามใด๋ให้คนส่า
บ่อึดเหล้า อึดยา ผลหมากรากไม้ อาหารพร้อมอยู่สู่แนว ”อัญญา บุญทอง วงศ์ปัดสา ผู้แต่งกลอน
คํากวีข้างบน เป็นบันทึกบรรยายลายผ้า "ฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม" ของตระกูล “วงศ์ปัดสา” ซึ่ง นายบุญทองและนางวัง วงศ์ปัดสา เป็นผู้ให้กำเนิดลายผ้า โดย นางวัง เป็นผู้ทอผ้าและมัดหมี่เป็นลายต่างๆ แล้วผู้สามีคือ นายบุญทอง เป็นผู้แต่งกลอน พร้อมเล่าเรื่องประกอบลายผ้านั้นๆ บทกวีบรรยายลายผ้าลายนี้ชื่อลาย “ตุ้มโฮม” หรือชื่อเต็มว่า “ลายตุ้มโฮม ฮักแพงแบ่งปัน” มีเรื่องเล่าว่า
“เกิดจากการตีกลองร้องป่าว ในสมัยก่อนการรวมตัวของชาวบ้าน เมื่อได้ยินเสียงกลองตุ้มโฮมที่วัด เพื่อจัดงานบุญของทุกปี เพื่อความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง ของคนในหมู่บ้าน เวลาค่ำแลงลง ชาวบ้านก็รวมกัน กองประชุมทุกครัวเรือนก็จะส่งลูกชาย เพื่อร่วมแรงร่วมใจกัน การรำครั้งแรกของชาวบ้านกงพะเนียง คือ การรำตุ้มพาง เกิดจากชาวบ้านร่วมกันทำบุญ ตีฆ้องร้องป่าว และจุดธูปเทียน ขอเชิญพญานาคขึ้นมาร่วมบุญ มีนางรำคนหนึ่งเกิดเป็นลมล้มลง แล้วลุกขึ้นมาฟ้อนรำอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชาวบ้านจึงถามว่า "รำอะไรสวยงามมาก" นางจึงตอบว่า “รำตุ้มพาง” พร้อมแสดงลีลาท่ารำให้ดู”
ลายตุ้มโฮม จึงมีท่ารำตุ้มพางเป็นเรื่องเล่าประกอบ คําว่า “ตุ้ม” ก็คือเสียงกลองที่ตีดัง “ตุ้ม ตู้มๆๆ” อันเป็นที่มาของคำ “ทุ่ม” ที่บอกโมงยามนั่นเอง คำว่า “โฮม” หมายถึง “รวม” ในภาษาอีสาน "ตุ้มโฮม" จึงหมายถึงสัญญาณการประชุมรวมตัวกันที่วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประชาคมชาวบ้านแต่โบราณ
สาวชาวอีสานในสมัยโบราณมีหน้าที่สำคัญคือ การถักทอเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หรือแม้แต่ผ้าห่ม หมอน ทุกอย่างล้วนต้องใช้ฝีมือและความอดทน แต่สตรีชาวอีสานก็ไม่ได้คร่ำเคร่งกับเรื่องการงานจนลืมเติมจินตนาการและศิลปะลงในผืนผ้าของตัวเอง
“คุณยายอัญญา วงศ์ปัดสา ได้มอบมรดกเป็นหีบใบเก่าที่ไม่มีใครกล้าเปิดดู จนทายาทของท่านลองเปิดดูก็พบผ้าซิ่นมัดหมี่ลายสวยมากมาย ป้าติ๋วเห็นแล้วชอบมากจึงนำมาหัดมัดลายตามที่ท่านเคยทำไว้ เป็นลายมัดหมี่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และทุกผืนนั้นมีประวัติความเป็นมาของลายเขียนไว้หมด น่าทึ่งที่ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็สามารถคิดลวดลายและเก็บเรื่องราวไว้ได้ในผืนผ้า” ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปราชญ์ด้านการทอผ้าชาวอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงที่มาของผ้าซิ่นลายสวย
ลวดลายที่ช่างทอผ้านำมามัดหมี่เป็นลายบนผ้าซิ่นนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ธรรมชาติรอบตัว ตลอดจนความเชื่อหรือแม้แต่นิทาน นอกจากผ้าทอ "ลายตุ้มโฮม" แล้ว ยังมีอีกหลายลายที่ได้รับการสืบทอดต่อมา พร้อมเรื่องเล่า อย่าง “ลายนาคน้อย”
ในปี พ.ศ. 2427 มีเรื่องเล่าขานกันอยู่มิขาดระยะ คือ ชาวบ้านโคกกงพะเนียง ได้พบเห็นนางสองนาง (ไม่ปรากฎชื่อและที่อยู่) มายืมฟืมทอผ้า ในเวลาบ่ายคล้อยเกือบค่ำ ในวันศีล 5 พอดี วันนั้นมีลมพัดโชยมาเยือกเย็นผิดปกติ นางฟางนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน นางทั้งสองสวยผิวขาวเหลือง มีปิ่นปักผม 3 ช่อ ข้างหูทั้งสองข้าง ผมยาวถึงกลางหลัง นางยิ้มและพูดว่า “ข้ามาขอยืมฟืมเจ้าไปทอผ้าสัก 5-6 วันแล้วจะเอามาส่งคืน” นางฟางตอบว่า “ทำไมเร็ว จะทออะไรถึงได้ทอ 5-6 วัน” นางบอกว่า “ข้าจะทอผ้ามัดหมี่ลายนาคน้อย”
“เจ้าให้ยืมเถิด ข้าจะทอลายนาคน้อยมาให้เจ้าดู” แล้วนางฟางก็ถามว่า "บ้านเจ้าอยู่ที่ใด" นางตอบ “อยู่ฝั่งห้วยใกล้ๆ นี่เอง” นางฟางคิดว่าเป็นชาวบ้านท่าปัดซุม ฝั่งลาวนั่งเรือมายืมจึงให้ไป
5 วันต่อมาอากาศอึมครึม ลมเย็นๆ เช่นเดิม เวลาเดิม นางทั้งสองเดินเข้ามา “ข้าเอาฟืมมาส่งแล้ว” นางก็อวดผ้าซิ่น นางฟางรีบเดินมาขอดูใกล้ๆ ก็ตกใจ ลายผ้าเป็นตัวนาคน้อยจริงๆ นางบอกว่า “เจ้าทอลายนี้นะ ข้าจะอวยพร ใส่แล้วชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข”
ถ้าเจ้าเห็นบั้งไฟผุดขึ้นเหนือน้ำ เจ้าอย่าพากันตกใจ คือพญานาคท่านมาอวยพรให้เจ้าอยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน แล้วนางก็เดินจากไป นางฟางคิดว่าทำไมจึงอวยพรอย่างนี้ จึงรีบชวนนางจันนางยืนแอบตามไปส่องทางดูว่าจะกลับไปบ้านใด นางย่องไปจนถึงฝั่งโขงเห็นสองนางโบกมือลา นางฟางตกใจว่า กูอยู่ในป่ากล้วยแท้ๆ ทำไมนางถึงได้เห็น ภาพที่นางฟางได้เห็นคือ นางเดินลงน้ำ เห็นแต่เส้นผมฟูน้ำหายไป…ฯ”
"ลายนาคน้อย" ที่เป็นหนึ่งใน 14 ลวดลายเก่าแก่มีปรากฏในบันทึกของบรรพบุรุษที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ยังมีเรื่องเล่าในแต่ละลายผ้าที่ฝากภูมิประวัติที่เป็นตำนาน น่าศึกษาจดจำ อีกหลายลายเช่นลายที่ชื่อว่า “ลายช่อเทียน”
เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 ของเมืองสยาม ชาวบ้านโคกกงพะเนียงอยู่ในศีลกินในธรรมมาโดยตลอด ผู้ชายก็ออกรบอยู่ไม่ขาด ถ้าทางราชการต้องการก็จะส่งคนที่เก่งฟันดาบคาถาอาคมไปช่วยอยู่มิขาด เมื่อนางนวลตั้งท้องได้ 3 เดือน สามีของนางถูกส่งไปช่วยเหลือราชการแดนไกล เมื่อไปแล้วถูกส่งไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองหลวง เพราะสามีนางเก่งกาจวิชาอาคมบู๊บุ๋น นางสวดมนต์ภาวนาเสมอ นางเป็นผู้นำชาวบ้านลงวัดผู้นำขึ้นบทสวด ผู้นำร้องสรภัญญะ เสียงของนางไพเราะ ใสเหมือนระฆัง นางเลี้ยงลูกได้ 9-10 ปี มีทหารขี่ม้าส่งข่าวสารเขียนว่า
ข้าสบายดี จะได้กลับบ้านเราแล้ว ให้นำข่าวไปบอกญาติๆ ข้าด้วย คิดถึงทุกชั่วทุกยาม”
ข้าคำหาญ
นางดีใจจนสุดที่จะบรรยาย นางได้จุดเทียนสวดมนต์ด้วยน้ำตา และตั้งใจว่าจะมัดหมี่ลายช่อเทียนเป็นครั้งแรก โดยจำลองเอาเทียนที่ตนไหว้พระสวดมนต์มาทำแนวลายมัดหมี่ นางมัดหมี่เพื่อจะใส่อวดสามีตอนกลับมา นางมัดเวลาพลบค่ำจนถึงไก่ขันจึงเสร็จ แสงเทียนนางสว่างทั้งคืน นางมัดเสร็จภายในคืนเดียว ตื่นเช้ามานางย้อมคราม นางมีเจตนาว่า ถ้าผู้ใดได้ใส่ผ้ามัดหมี่ลายนี้ นางขออวยพร มีกวีประกอบลายช่อเทียนว่า
เบิ่งแสงเทียนส่องไปในผืนผ้า เปรียบกับกาลเวลา
ผู้คอยถ่าสิเมิดห่วง ผู้ไม่อยู่เมืองหลวง เผิ่นสิคืนต่าวด้ง
มาบ้านถิ่นสถาน คนเมืองเขมผู้จากบ้าน ให้คืนมา
บริหารบ้านเมือง ให้ก้าวใหม่ ชีวิตลูกหลานต้องสดใส
นำความวิไลมาฮอดแล้วแสงเทียนได้ดอกฮุ่งเฮืองฯ เด้อ เมืองเขมเด้อ”
นอกจากลายเกี่ยวกับความเชื่อแล้ว ยังมีลายที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เช่น ลายพานไหว้ครู ซึ่งเป็นลายที่ผู้คิดค้นทำขึ้นให้ลูกหลานที่เป็นครูบาอาจารย์ใส่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีลายรั้วล้อมบ้าน ลายดาวเคียงเดือน ฯลฯ
บางลายยังเป็นลายผ้าเฉพาะตัวของแต่ละตระกูล ที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน เช่น "ผ้าลายหมากไม" ของ ปรียามาศ พวงพันธ์ ที่เป็นลายโบราณประจำตระกูลซึ่งเกิดจากการ "ฟั่น" หรือเอาฝ้ายต่างสีมาทอด้วยกันจนเกิดเป็นลาย ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับสืบต่อกันมา ถ้าเป็นสมัยก่อนทุกบ้านก็ยังทอผ้าใส่กันเองก็ทำสืบทอดกัน เพราะได้เห็นมาจากพ่อแม่ก็เอามาทำต่อ แต่เดี๋ยวนี้คนเขาไม่นิยมทำใส่กันแล้ว ปรียามาศกล่าวว่า ถ้าเราไม่ทำสักวันหนึ่งมันก็จะสูญหายไป ซึ่งการทอผ้าแต่ละประเภทก็มีความยากง่ายต่างกันขึ้นอยู่กับผ้าผืนนั้นเป็นผ้าประเภทอะไร ถ้าเป็นผ้ามัดหมี่หรือผ้าย้อมครามจะมีกรรมวิธีที่ยากและต้องใช้เวลา
สำหรับการสร้างลวดลายบนผ้า ซึ่งเรียกว่า "การมัดหมี่" นั้น มีวิธีทำโดยใช้เชือกฟาง (สมัยดั้งเดิมใช้เชือกกล้วย) มัดบนเส้นฝ้าย เพื่อสร้างลายบนผ้าก่อนจะนำไปย้อมคราม หลังจากปล่อยให้แห้งแล้ว เมื่อแกะเส้นเชือกออก ส่วนที่ไม่ถูกน้ำครามย้อมจะปรากฏเป็นลาย สำหรับนำไปสู่กระบวนการทอผ้าตามปกติ
นั่นเป็นส่วนของ "การมัดลาย" ทว่ากว่าที่ผ้าฝ้ายจะกลายมาเป็นผ้ามัดหมี่ เพื่อการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าชุดสวยนั้นต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมาย ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 เดือนกว่าจะสามารถเก็บดอกนำมา "อิ้ว" เพื่อให้เมล็ดฝ้ายหลุดออก แล้วนำไป "ดีด" ให้ฟู ตีให้แตก ก่อนจะนำมา "ล้อ" จนเป็นปอยฝ้าย แล้ว "เข็น" เป็นเส้น จากนั้นจึงนำมา "เปีย" หรือเรียงเส้นฝ้ายให้ยาวต่อกัน ซึ่งระหว่างกระบวนการนี้ จะต้องมีการแช่ในน้ำข้าวสุก เพื่อให้เส้นฝ้ายแข็งแรงและตากแดดให้แห้ง จึงนำไปสร้างลำผ้าและมัดหมี่ โดยต้องดึงให้แน่นเพื่อกันน้ำครามซึมถูกฝ้ายซึ่งจะทำให้ลายไม่สวย
ทั้งนี้ การย้อมครามก็ต้องย้อมวันละครั้งจนครบ 8 วัน ตากแดดอีก 2 วัน นำมาล้างอีก 7-8 น้ำจึงจะตัดเชือกฟาง เพื่อนำมาใส่กรงปั่นในกระบวนการทอผ้า โดยการจะให้ผ้ามีความยาวผืนละ 2 เมตร ต้องใช้ฝ้ายถึง 1,400 เส้นไม่ขาดไม่เกิน เบ็ดเสร็จต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ จึงจะได้ผ้ามัดหมี่ที่สนนราคาจำหน่ายถึงผืนละ 1,500 บาท (ทำเอาไม่กล้าต่อรองราคากันเลยทีเดียว เห็นใจชาวบ้านเถอะ)
ที่บ้านของ ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปัจจุบันตั้งเป็น "แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบสานวัฒนธรรม" ของ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทอผ้า ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ทำฝ้ายให้กลายเป็นเส้นด้าย การมัดหมี่ ย้อมครามและย้อมสีธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนการทอเป็นผืน เพื่อถ่ายทอดให้เด็กๆ ในชุมชนและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้
รายการ ทุ่งแสงตะวัน ตอน ลวดลายเขมราฐ
ถ้าท่านไปเยือนจังหวัดอุบลราชธานี อย่าลืมไปอุดหนุนผลิตภัณฑ์ ผ้าฝ้ายมัดหมี่ สินค้าดีๆ จาก เมืองเขมราษฎร์ธานี กันนะครับ นอกจากการชมทัศนียภาพสวยงามริมโขง รับประทานอาหารอาหารจากปลาน้ำจืดแม่น้ำโขง ชมการแสดงทางวัฒนธรรม และเลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองที่มีจำหน่ายได้อีกด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : งานทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน
คราม ชื่อวิทยาศาสตร์: Indigofera tinctoria อยู่ในวงศ์ Leguminosae เป็นไม้พื้นเมืองในเอเชีย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ฝักตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย ใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อ ใช้ทำสีย้อม ต้นครามมีกลูโคไซด์อินดิแคน เมื่อนำต้นไปแช่น้ำ สารนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นอินดอกซิล และเมื่อถูกอากาศจะถูกเปลี่ยนเป็นอินดิโก-บลู ให้สีคราม ใช้เป็นยารักษาอาการทางประสาท บรรเทาอาการปวดแผลที่เกิดในบริเวณเยื่ออ่อน
คนสมัยโบราณนิยมนำกิ่งครามทั้งใบมาแช่น้ำด่าง เพื่อหมักเอาน้ำคราม มาย้อมผ้า สีที่ได้คือสีน้ำเงินเข้ม เรียกว่า สีคราม นั่นเอง แต่ต้องย้อมซ้ำหลายครั้ง ครั้งแรกๆ อาจได้เป็นสีฟ้าเข้ม ในการหมักนั้นมีกรรมวิธีที่เรียกว่าการ 'เลี้ยงคราม' หากทำไม่ถูกขั้นตอน ครามจะไม่ให้สี เรียกว่า 'ตาย' น้ำสีที่ยังไม่สมบูรณ์จะเห็นเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อโดนอากาศ จะเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำเงิน ถึงสีครามในที่สุด ชาวอีสานเรียก สีคราม ว่า สีนิล สีหม้อ หรือสีหม้อนิล ชาวอีสานนิยมนำไปย้อมผ้า และมัดเป็นลาย เรียกว่า ผ้าย้อมคราม
การย้อมสีจากคราม จะตัดต้นครามมาม้วนและมัดเป็นฟ่อนๆ นำไปแช่น้ำไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้ประมาณ 2-3 วัน จนใบครามเปื่อย จึงแก้มัดครามออกเพื่อให้ใบครามหลุดออกจากลำต้น นำลำต้นทิ้งไป เอาปูนขาวในอัตราส่วนที่เหมาะสมกันกับน้ำที่แช่ครามผสมลงไปแทนต้นคราม จากนั้นนำเอาขี้เถ้าซึ่งได้จากเหง้ากล้วยเผาจนดำ หรือน้ำปูนขาว (ปูนจากเปลือกหอย) ผสมลงไป แล้วกดทับให้ครามจมน้ำ ไม่ให้ทำปฏิกิริยากับอากาศและพลิกกลับครามทุกวัน แช่ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน หรือสังเกตน้ำที่หมักครามมีสีเหลือง รินน้ำสีเหลืองทิ้งไป จะได้น้ำสีครามตามต้องการ อาจใช้ผ้าขาวบางกรองเพื่อจะได้น้ำสีครามที่ละเอียด
การนำน้ำครามไปย้อมเส้นใย ควรปรับค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ให้เหมาะสมประมาณ 9.7 โดยใช้น้ำด่างธรรมชาติและน้ำมดแดง จากนั้นนำเส้นใยมาย้อมแบบย้อมเย็น การย้อมครามอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีการย้อมที่รวดเร็วได้แก่ การนำเอาครามเปียก ก้อนคราม หรือผงครามมาย้อมเส้นใย โดยใช้สารละลายด่างโซดาไฟละลายเนื้อครามแล้วเติมสารพวก Reducing agent เช่น น้ำตาลร่วมกับผงเหม็น (Sodium hydrosulfite) จนน้ำครามเป็นสีเชียวเหลือง และมีฟองสีน้ำเงิน ปรับความเป็นกรดด่าง โดยการเติมกรดน้ำส้มให้ pH น้ำย้อมอยู่ที่ 6.1-6.5 แล้วนำเส้นใยมาย้อมด้วยกรรมวิธีการย้อมเย็น นานประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อครบนำเส้นใยมาล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นนำเส้นใยมาย้อมทับอีกครั้งจะได้สีน้ำเงินหรือสีฟ้าเข้ม
วันนี้อยากเล่าเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฅนอีสานบ้านเฮา ในเรื่อง "การมีครอบครัว การครองรักครองเรือน" กันสักหน่อย เพราะปัจจุบันนี้ประเพณีดีๆ แบบในอดีตเริ่มจะเลือนหายตายจาก เพราะต่างก็หันไปนิยมเอาประเพณีแบบทางภาคกลาง หรือแบบชาวตะวันตกมาใช้กันหมดแล้ว (เพราะอารยธรรมจากดินแดนต่างๆ นั้นได้ถูกการสื่อสารสมัยใหม่รุกเข้ามามากจนตั้งรับไม่ทัน ทั้งจากสื่อภาพยนตร์ สื่อโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทำให้เกิดเห็นต่าง ชอบใจ เข้าใจว่ามันทันสมัยมากกว่า รวมทั้งมันดูมีหน้าตา ดูเท่ ทันสมัยกว่าด้วย) จนไม่มีใครกล่าวถึงเรื่องพิธีการสู่ขอ การหมั้น การแต่งดองกันแบบอีสานแท้ๆ นั้นเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน
โบราณอีสานนั้นเชื่อกันว่า หนุ่ม-สาว ที่จะได้ครองคู่อยู่สองกันนั้นจะต้องมี "ดวงสมพงษ์คู่กัน" หรือมี "สายแนน" กันมาแต่ชาติปางก่อน ถ้าใครเป็นแฟนละครเรื่องนาคี 2 คงจะจำเพลง "สายแนนหัวใจ" ของ ก้อง ห้วยไร่ ที่มีตอนหนึ่งว่า
…คือจั่งภาพเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็จำบ่ได้ว่าเกิดขึ้นตอนใด๋ อยู่ในความทรงจำหรือว่าแค่ฝันไป ทั้งที่หัวใจบ่เคยเชื่อเรื่องแบบนี้เลย… ”
ซึ่งเนื้อหาสื่อถึงความรู้สึกตอนเจอกันครั้งแรกของหนุ่ม-สาว แต่กลับรู้สึกคุ้นเคยกันมานาน ทั้งที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน และเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาคำตอบให้กับตัวเองได้ แปรเปลี่ยนไปเป็นความรัก “สายแนนหัวใจ” จึงเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่นำเสนอความหมายของว่าสายแนนได้อย่างน่าสนใจ
คำว่า “สายแนน” ในภาษาอีสาน หมายถึง คู่สร้างคู่สม เนื้อคู่ สายใยในชาติก่อน ซึ่งมักจะมาพร้อมกับคำว่า “สายมิ่ง” ที่มีความหมายเดียวกัน ดูได้จากสำนวนคำผญาที่กล่าวไว้ว่า “กกมิ่งกกแนน สายมิ่งสายแนน” ดังที่คุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง ได้ให้ความหมายไว้ใน สารานุกรมภาษอีสาน-ไทย-อังกฤษ ไว้ว่า
สายแนน น. คู่สร้างคู่สม คู่ครองที่เคยร่วมกันมาหลายภพหลายชาติ เรียก สายแนน สายมิ่งสายแนน สายบุพเพสันนิวาส กกแนน ก็ว่า. spouse, the same spouse of many reincarnations.
กกแนน น. คู่ครองที่เคยอยู่กินกันมาหลายภพหลายชาติ หรือที่โบราณเรียกว่าบุพเพสันนิวาสนั้น เรียก กกแนน กกมิ่ง กกแนน สายมิ่ง สายแนน ก็เรียก อย่างว่า อันหนึ่งกกแนนเจ้าขูลูบาบ่าวทังอ่อนน้อยยังเกี้ยวกอดกันบ่เด (ขูลู). the same spouse of many reincarnations. "
ชาวอีสานแต่ดั่งเดิมมีคติความเชื่อที่ว่า ความรักเกิดจากฟ้า (แถน) เป็นผู้กำหนดถึงความเหมาะสมของคนทั้งคู่ โดยมีกุศลผลบุญในอดีตชาติเป็นเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถคาดเดาได้ นอกจากต้องทำพิธีกรรมเพื่อถามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนฟ้า จึงนำไปสู่การประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “เสี่ยงสายแนน”
การเสี่ยงสายแนน เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของทางภาคอีสาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “พญาแถน” เทวดาผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ ใช้เสี่ยงทายเพื่อดูความสมพงษ์ของคู่บ่าวสาว และเป็นประเพณีของกลุ่มไทลาวโบราณที่เคยมีมาก่อน ปัจจุบันได้สูญหายไปจากสังคมของชาวอีสานแล้ว เหลือปรากฏอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง “ขูลู-นางอั้ว” หรือตำนานรัก “โรเมโอ แอนด์ จูเลียต แห่งแดนอีสาน”
วรรณกรรมเรื่อง "ขูลูนางอั้ว" ในฉบับที่จัดพิมพ์โดย โรงพิมพ์ศิริธรรม ของคุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง บรรยายถึงพิธีกรรมนี้ เป็นฉากที่ นางพิมพากาสี แม่ของท้าวขูลู ยกขบวนจากเมืองกาสี แล้วชักชวนให้นางจันทาแม่ของนางอั้ว ทำพิธีเสี่ยงสายแนน เพื่อดูว่าลูกๆ ของตนเป็นคู่แท้ของกันและกันหรือไม่
การประกอบพิธีเสี่ยงสายแนน ผู้ประกอบพิธีเป็นคนทรงหญิง เรียกว่า “แม่ม้อน” ซึ่งในพิธีมีอยู่หลายคน คอยทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อสื่อสาร โดยมีผีเป็นสื่อกลางระหว่าง แม่ม้อนกับพญาแถน เพื่อถามในสิ่งที่อยากรู้ ระหว่างนั้นแม่ม้อนจะขับร้อง ฟ้อนรำ ตามดนตรี ปี่ แคน ฆ้อง กลอง ที่บรรเลงไปด้วย และเมื่อพญาแถนทราบถึงจุดประสงค์ของพิธี พร้อมกับเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดมาถวายจากผีที่เป็นสื่อกลาง พญาแถนก็จะพาผีไปดูคู่ครองของแต่ละคน ซึ่งมีลักษณะเป็นลำต้นพันเกี่ยวกันเป็นคู่เรียกว่า “กกแนน” ในสวนแนนบนสวรรค์
หากกกแนนเกี่ยวพันกันตั้งแต่โคนจรดปลาย ก็แสดงว่าเป็นคู่ครองกัน แต่ถ้ากกแนนเกี่ยวพันกันแต่ปลายแตกออกจากกัน ก็หมายถึงเป็นเนื้อคู่แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ไม่นาน หรือไม่ได้ครองคู่กันในชาตินี้ เมื่อทราบผลจากสิ่งที่เห็น ผีจะลงมารายงานให้กับแม่ม้อนทราบ เพื่อนำเรื่องไปรายงานให้กับเจ้าของพิธี เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการเสี่ยงสายแนน
ในวันต่อมาหลังจากประกอบพิธีเสี่ยงสายแนนแล้ว จะมีการ “แข่งกอน” เพื่อยืนยันผลการเสี่ยงทายของคนทั้งคู่ หลังจากได้รับคำตอบจากพิธีในวันแรก โดยหนุ่มสาวจะยืนเรียงแถวกันคนละฝั่ง ผลัดกันโยนกอนผลัดกันรับกอน กอนที่ใช้โยนนั้นทำจากไม้ขนาดพอดีมือ มีเส้นฝ้ายหรือไหมผูกเป็นหาง ประดับประดาอย่างสวยงาม หากคู่ใดโยนรับ-ส่งกอนไม่ตกหล่นถือว่าคู่นั้นเป็นคู่กัน
ผู้บ่าวผู้สาวชาวอีสาน จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าเรไรย์ จังหวัดมหาสารคาม
ภาพจากหนังสือ ฮูบแต้ม ในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง สำนักพิมพ์มติชน
เรื่องขูลูนางอั้วทำให้เราทราบถึงพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่เคยเกิดขึ้นในวัฒนธรรมอีสานโบราณ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า “สายแนน” มาจากไหน และมีลักษณะเป็นอย่างไร
สายแนน จึงอาจเปรียบได้กับบุพเพสันนิวาสในรูปแบบสายสัมพันธ์ ที่พันเกี่ยวกันมาแต่ชาติปางก่อนของชาวอีสาน ในคำจำกัดความที่ว่า “สายแนนหัวใจ”
ชายหญิงที่สมสู่อยู่ร่วมกันโดยฐานะเป็นผัวเมียกัน เรียกว่า คู่ครอง โบราณแยกคู่ครองไว้ 2 พวก คือ พวกหนึ่งเคยอยู่ร่วมในชาติปางก่อน (สายแนน) อีกพวกหนึ่งได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน การเลือกคู่ครองตาม "หนังสือธรรมดาสอนโลก" ว่าไว้ดังนี้
การเลือกคู่ครองหากไม่สามารถเว้นได้จากสาเหตุข้างบน ถ้าเลือกได้ดีทำได้ถูก มีความรักความเข้าใจที่ดีต่อกัน ซื่อสัตย์มั่นคงต่อกัน ก็จะมีความสุขความเจริญ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ถึงทุกข์จนมาก่อน ก็จะมั่งมีกลายเป็นเศรษฐีไปก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่คู่ครองนั้นจะมีความรักสมัครสมาน ถูกต้องปรองดองกันได้น้อยมากเพียงใด หากเลือกแล้วแต่ไม่ได้ดี หรือหาดีไม่ได้ถือว่าเป็นกรรมของเราอยู่ก็ไม่ดี หนีก็ไม่รอด ให้ถือว่า กกมิ่งแขวน กกแนนห้อย ดังภาษิตโบราณว่า "ชะตามาตกนี่จำหนีก็ได้อยู่ แผ่นดินท่อหมากบ้า แผ่นฟ้าท่อด้งหม้อน ขอเมี้ยนกระดูกดอม"
ลักษณะของชาย ชายที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้
ลักษณะของหญิง หญิงที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้
ดังภาษิตว่า "หญิงใดสมบูรณ์ด้วยเฮือนสามน้ำสี่ เป็นหญิงดีเลิศล้ำสมควรแท้แม่เฮือน" [ อ่านเพิ่มเติม : เฮือน 3 น้ำ 4 ]
ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะคุ้นชินกับภาพของการแต่งงานตามแบบชาวตะวันตก ที่มีทั้งการตัดเค้กก้อนใหญ่ รินแชมเปญ หรือโยนช่อดอกไม้ให้สาวคนที่คาดว่าจะได้แต่งงานเป็นคนต่อไป แต่ใครจะรู้ว่าแท้ที่จริงชาวไทยเราเองก็มีประเพณีการแต่งงานที่เป็นแบบเฉพาะดั้งเดิม และสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อย่างประเพณีการแต่งงานของชาวอีสาน ซึ่งชาวอีสานเรียกขานประเพณีแต่งงานนี้ว่า "ประเพณีกินดอง" ซึ่ง "ดอง" มาจาก "การสมสู่อยู่ร่วมกันของชายหญิง" ส่วน "กิน" ก็มาจากการไปร่วมรับประทานอาหารเฉลิมฉลอง ดังนั้น "กินดอง" จึงหมายถึงการไปร่วมงานมงคลเพื่อเป็นสักขีพยานในการครองคู่กันของคู่บ่าว-สาว ซึ่งในอดีตก็มีเพียงญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเองที่มาร่วมงาน
ในการแต่งงานนั้นจะมีชื่อเรียกอยู่ 2 แบบ คือ อาวหมงคล และ วิวาหมงคล ความต่างกันคือ
ขั้นตอนในการจัดพิธีแต่งงานแบบชาวอีสานแท้ๆ นั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อนอยู่ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความหมายลึกซึ้งในทุกขั้นตอน ก็ขอเล่าเอาเป็นฉบับย่อๆ ก็มีขั้นตอนดังนี้
จะแต่งงานทั้งทีก็ต้องไปสู่ขอให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อบอกให้ญาติทั้งสองฝ่ายรับรู้ การสู่ขอ หรือเรียกว่า การโอม (บางพื้นที่เรียกว่า การขอเมีย) ที่ถูกต้องตามประเพณีของชาวอีสานคือ การที่ฝ่ายชายต้องพาผู้ใหญ่มาเป็นเถ้าแก่สู่ขอฝ่ายหญิง แต่จะไปตัวเปล่าก็ไม่ได้ จะต้องเตรียมสิ่งของสำคัญประกอบด้วย ขันใส่หมากจีบ พลูพัน พร้อมด้วยเงินอีก 3 บาท (ซึ่งถือว่าเป็นเลขมงคล) ซึ่งเรียกกันว่า "เงินไขปาก" จากนั้นพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็จะหยิบหมากพลูในขันมาเคี้ยว 2 คำพอเป็นพิธี ก่อนที่จะพูดคุยตกลงเรื่องสินสอดกันในลำดับต่อไป
หลังจากที่ทำการสู่ขอและตกลงเรื่องฤกษ์งามยามดีกันเรียบร้อย ก็ถึงเวลาพูดคุยกันเรื่องสินสอดทองหมั้น ซึ่งในภาษาอีสานเรียกกันว่า "ค่าดอง" ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้หญิง (แม่) ทั้งสองฝ่ายที่จะตกลงเจรจากัน เมื่อตกลงกันได้แล้วระหว่างที่รอให้ถึงวันหมั้นหรือวันแต่งงาน ฝ่ายชายก็มีหน้าที่ตระเตรียมเงินทองมาเป็นค่าดอง ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ ที่นอนหมอนมุ้งและของรับไหว้ต่างๆ (ในภาษาอีสานเรียกของ "สมมา" หรือ "สมา")
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า วันมือเต้า และ วันมื้อโฮม คือวันทำอะไร
เมื่อถึงวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเคลื่อนขบวนขันหมากไปที่บ้านของฝ่ายหญิง นำขบวนโดย "เจ้าโคตร" ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุดในครอบครัวของฝ่ายชาย ตามด้วยเจ้าบ่าว มีพาขวัญ (พานบายศรี) ซึ่งต้องถือโดยหญิงสาวที่บริสุทธิ์เท่านั้น ถัดมาจึงค่อยเป็นขันเหล้า ขันหมากพลู ขนมนมเนย และญาติพี่น้องฝ่ายเจ้าบ่าวตามลำดับ ระหว่างเคลื่อนขบวนก็จะมีการบรรเลงเพลงฟ้อนรำไปด้วย เพื่อสร้างความสนุกสนานครึกครื้น และเป็นการประกาศให้ชาวบ้านแถวนั้นรู้ว่ากำลังจะมีงานแต่งงาน เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว เจ้าโคตรและเจ้าบ่าวจะต้องทำการล้างเท้าบนหินลับมีดที่ปูรองด้วยใบตอง ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพ (เห็นสมัยหลัง จะมีการให้เด็กที่เป็นน้องหริอลูกหลานฝ่ายเจ้าสาวตักน้ำล้างเท้าให้เจ้าโคตรและเจ้าบ่าว ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวต้องมีของ(ซอง)กำนัลแก่เด็กๆ ด้วย อันนี้ก็ธรรมเนียมในสมัยหลังๆ)
เมื่อเข้าไปในบ้านของฝ่ายหญิงได้แล้ว (กว่าจะผ่านได้ต้องหมดซอง/เหล้า เพื่อกำนัลให้เปิดกั้นประตูเงินประตูทองหลายชั้น น่าจะเป็นธรรมเนียมภายหลัง) ก็ถึงขั้นตอนที่ฝ่ายชายจะทำการส่งมอบสินสอด ให้ญาติทางฝ่ายหญิงเป็นผู้นับ และโปรยเมล็ดข้าวเปลือก ถั่ว และงา ลงบนสินสอด ซึ่งถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีความเป็นสิริมงคล เงินทองจะได้งอกเงยดังเช่นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ เมื่อเสร็จสิ้นญาติฝ่ายเจ้าสาวจะพาเจ้าบ่าวไปที่ "ห้องส้วม" (ห้องหอ) เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า เจ้าบ่าวจะต้องมานอนกับเจ้าสาวที่ห้องนี้ ขณะเดียวกันญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวที่เป็นผู้หญิงก็จะพาเจ้าสาวไปที่ห้องเพื่อรอทำพิธีสู่ขวัญ
สำหรับพิธีสู่ขวัญนั้นเป็นพิธีที่จะต้องกระทำโดย หมอสูตร หรือหมอพราหมณ์ ชาวบ้านเรียก "พ่อหมอสูด หรือพราหมณ" ซึ่งจะทำการสวดอัญเชิญเทวดาอารักษ์มาอวยพรให้แก่บ่าวสาว บ่าวสาวจะต้องนั่งเคียงคู่กัน โดยเจ้าสาวจะนั่งทางฝั่งซ้ายของเจ้าบ่าว เมื่อสวดเรียบร้อยหมอสูตร หรือหมอพราหมณ์จะนำไข่ต้มบนยอดพาขวัญ (บายศรี) มาแบ่งครึ่ง เพื่อให้บ่าวสาวกินกันคนละครึ่งฟอง เรียกว่า "ไข่ท้าว" กับ "ไข่นาง" จากนั้นก็ผูกข้อไม้ข้อมือให้ทั้งสอง ซึ่งถัดมาผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานทุกคนจะต้องผูกข้อมือให้บ่าว-สาว พร้อมกับกล่าวคำอวยพรไปด้วย จึงจะถือว่าเสร็จสิ้นพิธีสู่ขวัญ
นอกจากจะกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความเคารพและขอขมาแล้วนั้น ตามประเพณีของชาวอีสานดั้งเดิม บ่าวสาวจะต้องมอบของแด่ผู้ใหญ่ด้วย สิ่งของที่ต้องมอบให้คือ ผ้าโสร่ง 1 ผืน เสื้อผู้ชาย 1 ตัว ให้แก่พ่อของทั้งสองฝ่าย และผ้าซิ่น 1 ผืน พร้อมด้วยเสื้อผู้หญิงอีกหนึ่งตัว ให้แก่แม่ของทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยใบและดอกรักที่มัดห่อเทียนขาวด้วยด้ายขวัญ จากนั้นผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ก็จะอบรมสั่งสอนในเรื่องของการครองเรือนต่อไป รวมทั้งญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออื่นๆ ก็จะได้รับการขอขมาจากบ่าวสาวและรับพรเช่นกัน
ในส่วนของพิธีส่งตัวนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างจากพิธีแต่งงานของภาคอื่นๆ มากนัก เริ่มต้นตั้งแต่การปูที่นอน จะต้องให้ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่เป็นผู้ปูที่นอนให้ โดยจะจัดวางหมอนของเจ้าบ่าวไว้ทางด้านขวา ในตำแหน่งที่สูงกว่าหมอนของเจ้าสาวในด้านซ้ายเล็กน้อย จากนั้นผู้ใหญ่ทั้งสองจึงทำพิธีนอนเอาฤกษ์ ทำเป็นหลับฝันได้รับแก้วแหวนเงินทองค่าล้ำ ทำเสียงไก่ขันแล้วลุกมาเล่าความฝันสู่กันฟัง ก่อนจะชวนกันไปจูงมือคู่บ่าวสาวเข้ามาในห้องหอที่จัดเตรียมไว้ เมื่อให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาว ในการครองรักครองเรือนจนเรียบร้อย ก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานตามแบบฉบับของชาวอีสานแล้ว (ส่วนการโปรยเงินทองเป็นแบงต์ เป็นเหรียญให้คู่บ่าวสาวได้ช่วยกันเก็บว่าใครจะได้มากกว่า แต่ก็ต้องมอบให้ฝ่ายหญิงเก็บกำ นั่นก็เป็นธรรมเนียมในสมัยหลังๆ ดอกเด้อ ผู้ชายจะได้มากน้อยก็ต้องมอบให้ฝ่ายหญิงอยู่ดีนั่นแหละ)
ชาวชนบทอีสานนิยมสร้างที่อยู่อาศัยด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย สร้างแบบหยาบๆ เพียงเพื่อการอยู่อาศัยชั่วคราว เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยของครอบครัวเดี่ยวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าชาวอีสานจะมีวิถีการปลูกเรือนอาศัยที่เรียบง่ายไม่เรื่องมาก แต่แท้จริงแล้วการครอบครอง “เรือน” หรือ “เรือนใหญ่” ซึ่งน่าจะหมายถึง ที่อยู่อาศัยที่มีบริเวณกว้าง และมีความคงทนถาวร ก็เป็นความความมุ่งหวัง และเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของชาวอีสานในอดีตเช่นกัน
“เรือนใหญ่” ต้องมีห้องอะไรบ้าง?
เรือนใหญ่ หรือเรือนประธานต้องมีห้อง 3 ห้อง อันได้แก่ ห้องเปิง (ห้องผีหรือห้องพระ) ห้องกลาง (ห้องนอนพ่อและแม่) และห้องส้วม (อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นห้องสุขานะ เดี๋ยวอธิบายให้ทราบ)
เมื่อหลายปีก่อนมีคำถาม มาจากเยาวชนรุ่นหลัง (ลูกอีสานบ้านเฮานี่หละ) ว่า ได้เบิ่งรายการ "เกมทศกัณฑ์ ยกสยาม" ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี ว่ามีการถามถึงความหมายคำศัพท์ภาษาอีสานว่า "ส้วม" หมายถึงอะไร ในคำตอบวันนั้นเฉลยว่า หมายถึง "ห้องนอน" คนรุ่นผู้ใหญ่อย่างรุ่นผมนี่ คงไม่สงสัยอะไร แต่รุ่นหลังข้องใจมาก ถึงกับก่นด่ารายการ และตัวพิธีกร คุณปัญญา นิรันดร์กุล ว่าไปเอาคำเฉลยมาจากไหน ไม่เคยได้ยินมาก่อน "แบบนี้ดูถูกคนอีสานชัดๆ"
ผมเลยตอบไปว่า "เขาดูถูกเราจริงๆ ดูไม่ผิดเลย คำตอบคือ ส้วม หมายถึง ห้องนอน ถูกต้องแล้วคร๊าบ..!!! แต่ห้องนอนที่ว่านี่เฉพาะเจาะจง ต้องเป็นห้องนอนของลูกสาวและลูกเขยนะครับ คงจะเคยได้ยินภาษิตที่ว่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน อย่าเข้าใจว่า "สิมีไผแวะมาขี้ใส่ส้วม แล้วบ่ล้างเด้อ..."
ความหมายของภาษิตนี่หมายถึง ต้องคอยระมัดระวัง ไม่ให้ไอ้หนุ่มหน้าไหนมาแอบเจาะไข่แดงลูกสาว ก่อนเวลาอันสมควร เพราะถ้าเฝ้าไม่ดีอาจมีเสียงนินทาว่าร้ายในภายหลังได้ มาที่คำว่า "ส้วม" จากหนังสือสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายของส้วมดังนี้
ห้องส้วม ในเรือนอีสานไม่ได้หมายถึงห้องน้ำ หรือห้องสำหรับถ่ายหนักเบา ตามที่เข้าใจในสังคมปัจจุบันแต่หมายถึง “ห้องนอน” เป็นห้องสำหรับให้ลูกผู้หญิงที่โตเป็นสาวแล้วนอนรวมกัน สำหรับลูกที่ยังเล็กๆ ให้นอนรวมกับพ่อแม่ หรือบางครั้งก็นอนรวมกับพี่ๆ ตามความสะดวกของแต่ละบ้าน ส่วนลูกชายนั้นไม่มีห้องที่แน่นอน จะให้ไปนอนห้องไหนเรือนใครก็ตามสบาย เพราะถือว่าไม่เสียหายในทางสังคมเท่าลูกสาว
ห้องส้วม จะถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บ่อนนอนพี่อ้าย” หรือที่แปลได้ว่า “ห้องนอนพี่เขย” เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงาน และฝ่ายชายย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านฝ่ายหญิงตามธรรมเนียมการแต่งเขยเข้าบ้านของชาวอีสาน โดยห้องที่ฝ่ายชายจะใช้อาศัยร่วมกับลูกสาวคนโตของบ้านนี้ก็คือ ห้องส้วม หลังจากที่ลูกเขยคนโตของบ้านย้ายเข้ามาอยู่ในห้องส้วมแล้ว ลูกสาวคนอื่นๆ ก็ต้องย้ายไปนอนที่ห้องกลางของพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ต้องย้ายไปนอนที่หน้าห้องกลางไม่ก็ที่ห้องเปิงเลย
จะเห็นได้ว่า เมื่อแต่งเข้าเขยคนหนึ่ง ก็ต้องขยับขยายย้ายที่นอนกันทั้งบ้าน ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ "ถ้าลูกสาวคนถัดมาแต่งเขยเข้ามาอีกคน พ่อแม่และลูกคนอื่นๆ จะย้ายไปนอนที่ไหนได้อีก? เพราะห้องส้วมก็มีเพียงห้องเดียว"
ปัญหาข้อนี้ ชาวอีสานมีทางแก้ไขตามผญาภาษิตที่กล่าวว่า “น้ำใหม่เข้า น้ำเก่าออก” หมายถึง หากมีเขยใหม่เข้ามาอยู่ร่วมเรือนแล้ว เขยเก่าก็ต้องแยกเรือนออกไปทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวใหม่เอง โดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบที่นาให้เป็นทุน ดังนั้น "น้ำใหม่ไล่น้ำเก่า" ในที่นี้ก็หมายถึง "เขยใหม่ไล่เขยเก่า" ไล่กันต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง
ข้อมูลจากบทความ : “ส้วม ห้องนอนในเรือนอีสาน” เขียนโดย สมชาย นิลอาธิ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2535
ครอบครัวขยายเริ่มด้วยการอาศัย "ตูบต่อเล้า" ก่อนมีบ้านเฮือนถาวรต่อไป
เมื่อเขยเก่าแยกครอบครัวออกไปเพื่อเริ่มต้นสร้างฐานะนั้น ก็จะได้ที่นามาจากพ่อตา-แม่ยายมาเท่านั้น ส่วนเรือนก็อาจจะยังไม่มีกำลังในการสร้างให้มั่นคงแข็งแรงได้ ก็มักจะสร้างแบบชั่วคราวก่อน โดยอาศัยการต่อเติมจากเล้าเข้า (ยุ้งข้าว) เรียกเฮือนนี้ว่า "ตูบต่อเล้า" เมื่อได้ลงแรงทำนาไปแล้วสัก 2-3 ปี ระหว่างนั้นก็จะได้ตระเตรียมไม้เนื้อแข็งไว้ทำเสา คาน ขื่อ ตง ฝาผนัง หาใบหญ้าแฝกมาทำไพหญ้าไว้มุงหลังคา เมื่อพร้อมแล้วก็จะหาแรงเพื่อนบ้านในการลงแขกสร้างบ้านหลังใหม่ของตนเองต่อไป
ประเพณีอีสาน “แตกบ้าน” ไม่ใช่ “บ้านแตก” พ่อแม่ ญาติพี่น้องยังปรองดองสามัคคีกันดีอยู่ คำว่า “แตกบ้าน” หมายถึง การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหาที่อยู่แห่งใหม่ เนื่องจากที่อยู่เดิมนั้นเกิดเหตุเภทภัย มีสิ่งอวมงคลต่างๆ เกิดขึ้น ผู้คนอยู่ไม่เป็นสุขหรือเกิดโรคระบาดรุนแรงในชุมชน เช่น โรคห่า (อหิวาต์) ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ผู้คนจึงต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อไปหาที่อยู่ที่ทำกินแห่งใหม่ ชาวอีสานเรียกว่า แตกบ้าน หรือ ไปหาบ้านใหม่
แต่ประเพณีแตกบ้านของชาวอีสานนั้นไม่ได้หมายถึงว่า ต้องอพยพไปอยู่อย่างถาวร ประเพณีแตกบ้าน คือ การอพยพชั่วคราวตามประเพณีความเชื่อ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ในอดีตจะไม่มีพิธีทางสงฆ์มาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารเพลเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มูลเหตุมาจากชาวบ้านเชื่อว่า "ถ้าปีใดวันขึ้นหรือแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร หรือ ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร ในปีนั้นต้องมีการแตกบ้าน โดยเชื่อว่าวันนั้นคือวันแข็ง วันร้อน, วันอุบาทว์, วันโลกาวินาศ, วันไม่เป็นมงคล และจะทำการสิ่งใดก็ไม่ดีไม่งาม จึงมีการทำพิธีแตกบ้าน ย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เพื่อแก้เคล็ดให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข"
เมื่อถึงวันดังกล่าวมาบรรจบกัน ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้นำทางพิธีกรรม จะป่าวประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ว่า วันนี้ต้องมีการแตกบ้านตามประเพณี (ผู้สูงอายุที่ไปไหนไม่สะดวกก็ให้เฝ้าบ้าน) ให้พากันเตรียมตัวเตรียมข้าวของเสบียง และเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ ปราชญ์ชาวบ้านจะอุปโลกน์สมมุติให้ผู้สูงอายุคนหนึ่ง นุ่งผ้าขาว ห่มขาว สะพายย่าม ถือดาบ มาเรียกคนในหมู่บ้านแล้วพูดว่า
ให้เจ้าไปอยู่ยั้งบึงใหญ่นทีทอง ที่นั่นเป็นสถานซุ่มเย็นเลิงเรื่อย จนว่าแสงสูรย์เศร้ามัวเมาคล้อยค่ำ ยามตูดซ้ายสาแล้วค่อยมา ”
แปลว่า "ให้พากันย้ายไปอยู่ที่ริมหนองน้ำเพราะที่นั่นอุดมสมบูรณ์ ให้อยู่จนกระทั่งเย็นจึงค่อยกลับมา"
จากนั้นผู้สูงอายุก็จะพาลูกหลานเดินทางออกจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออก และหาที่พักใกล้แหล่งน้ำ หรือหนองน้ำ กลุ่มผู้ชายก็จะออกไปหาอาหารที่มีในท้องถิ่นนั้น เช่น แย้ กระปอม นก ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ ส่วนกลุ่มผู้หญิงก็จะเตรียมทำอาหาร ประเภท ส้มตำ ต้มหอย ปิ้งกะปอมทำก้อย ต้มปลา เพื่อรอชาวบ้านมารับประทานร่วมกันเป็นวงใหญ่ (เป็นการโฮมไทบ้านกินเข้าป่านำกันนั่นเอง) ช่วงเวลาพักผ่อนมีการเล่นพนันเพื่อความสนุกสนานด้วย อาทิ ไพ่ ไฮโล ไก่ชน เป็นต้น เป็นภาพบรรยากาศที่ได้เห็นความสมัครสมานสามัคคี เปี่ยมด้วยความฮักแพงแบ่งปัน ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของของชุมชนอีสาน
เมื่อถึงตอนเย็นได้เวลากลับ จะมีปราชญ์ชาวบ้าน (ท่านเดิม) แต่งชุดพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาวสะพายย่ามและถือดาบ เดินไปเรียกชาวบ้านกลับ (เสมือนหนึ่งมีผู้มีบุญมาเชิญกลับบ้าน) เมื่อพ่อพราหมณ์เดินมาถึง ชาวบ้านก็จะสมมุติถามขึ้นว่า
พ่อเอ้ย แม่นเจ้าลุกแต่ห้องสถานถิ่นแดนใด ใจประสงค์สันน้อจั่งล่วงมาทางนี้ พวกข้าหนีเข็ญเข้าฮอดสะพังเซาฮ่ม แตกบ้านมาอยู่นี้แต่เช้าดอกนา... ”
แปลว่า "พ่อเอ้ย ท่านมาจากไหนถึงได้มาทางนี้ พวกข้าพเจ้าแตกบ้านจึงพากันหนีร้อนมาพึ่งเย็นอยู่ที่นี่"
พ่อพราหมณ์จะตอบกลับว่า “กูนี้มาแต่บ้านอยู่ซุมกินเย็น บัดนี้เข็ญกายหนีจากไปไกลแล้ว แม่นว่าโภยภัยฮ้ายอันตรายบังเบียด หรือว่าผีโขมดฮ้ายกะไปพร้อมพร่ำกัน ให้สูคืนเมือบ้านที่อยู่ภูมิสถาน ที่นั่นโสภางามศีลธรรมจริงแท้ ให้สูคืนเมือถ้อนฮอดยามแลงมันสิค่ำ พ่อนี้มาบอกเจ้าให้ฟ้าวต่าวเมีย ดอกนา ไปๆลูกหลานเอ้ย เมือบ้านเมือเฮียน โพยพะยาดกายไปแล้ว บาดนี้ให้อยู่ดีมีแฮง” แปลว่า เรามาจากบ้านที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข เหตุเภทภัยอันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ได้หายไปหมดสิ้นแล้ว ให้พวกท่านพากันกลับบ้าน และต่อไปนี้ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วยเถิด
จากนั้นชาวบ้านก็พากันเดินทางกลับบ้าน มีการเป่าแคนร้องลำอย่างสนุกสนาน เมื่อมาถึงบ้านคนที่เฝ้าบ้านไม่ได้ไปด้วยก็ให้พูดว่า “พึ่งมาถึงเหมือนกัน” ห้ามบอกว่าอยู่นี่ไม่ได้ไปไหนเด็ดขาด ถือเป็นอันเสร็จพิธีแตกบ้านของชุมชนอีสาน
การแตกบ้านของชุมชนอีสานคือความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่น ที่มีการยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ถึงแม้ในปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีที่เจริญแล้ว ผู้คนก็ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมนี้อยู่ ซึ่งได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่คอยเกื้อกูลกันอย่างไม่เสื่อมคลาย
อ้างอิง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)