foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon boran kadee header

hi banchieng 2ภาคอีสานของประเทศไทย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งโบราณคดี โดยเฉพาะชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏหลักฐานในภาคอีสานนั้น มีอายุราว 12,000 - 5,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในสมัยนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ อาศัยอยู่ตามเพิงผาแนวริมแม่น้ำโขง เช่น ที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ตามถ้ำเช่นที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อาสัยธรรมชาติเป็นสำคัญ หาอาหารโดยการล่าสัตว์ ชุมชนขยายตัว มีการติดต่อสื่อสาร คบหาสมาคม แลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ระหว่างกัน มีความร่วมมือ และมีการแต่งงานกันระหว่างเผ่าพันธุ์ จึงมีการขยายชุมชนกว้างขวางเป็นสังคมเมือง หรือแว่นแคว้นเล็กๆ

ภาคอีสานจึงรุ่มรวยไปด้วยแหล่งโบราณคดี การฟ้อนชุดโบราณคดีของภาคอีสาน นั้น แตกต่างจากโบราณคดีของภาคกลาง หรือ ของกรมศิลปากรประดิษฐ์ขึ้น เพราะกรมศิลปากรนั้นนำยุคสมัยต่างๆ ทางโบราณคดีมาจัดทำเป็นชุดระบำโบราณคดี ได้แก่ ระบำทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสนและสุโขทัย ต่อมามีการประดิษฐ์ท่ารำเพิ่มเติม เช่น ระบำอยุธยา ในส่วนระบำโบราณคดีของภาคอีสานนั้นได้นำชื่อของอาณาจักร โบราณสถาน และชุมชนโบราณในภูมิภาคนี้มาจัดทำเป็นชุดฟ้อน ได้แก่ ระบำบ้านเชียง ระบำศรีโคตรบูรณ์ ระบำพนมรุ้ง และระบำจัมปาศรี

3diamondระบำบ้านเชียง 

hi banchiengระบำบ้านเชียงเป็นชุดฟ้อนโบราณคดีที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2521 โดยการฟ้อนชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวอันเก่าแก่ของวัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย เพราะชุมชนบ้านเชียงเป็นแหล่งชุมชนโบราณมีอายุประมาณ 5,600 ปีมาแล้ว โดยการหาอายุจากเครื่องโลหะสำริด แสดงให้เห็นภึงพัฒนาการของการถลุงโลหะ และการหล่อสำริดที่ได้มีพัฒนาการขึ้นมาในภูมิภาคนี้ และเก่าแก่กว่าแหล่งสำริดแหล่งใดๆ ในโลก

นอกจากนี้แหล่งชุมชนบ้านเชียง อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี ยังรู้จักการทำลูกปัด รู้จักปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ และรู้จักทำภาชนะดินเผาที่มีการเขียนลวดลายสวยงาม มีรูปทรงงดงามแปลกตา ลายที่เขียนบนหม้อที่พบมากที่สุดได้แก่ ลายก้านขด หรือลายขดน้ำวน ซึ่ง อาจารย์จิต บัวบุศย์ ได้เรียกหม้อที่มีลายแบบนี้ว่า หม้อลายวัฏ (Spiral) สันนิษฐานว่า เป็นหม้อที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีฝังศพโดยเฉพาะ ไม่ใช่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยในชีวิตประจำวัน เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดดับ (cycle of Rebirth) โดยเป็นการนำดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้ว จะได้ไปเกิดใหม่อีกโดยส่งข้ามห้วงมหรรณพไปสู่สุคติภูมิ การที่ดวงวิญญาณจะไปเกิดใหม่นั้นต้องมีพิธีกรรมเคาะเรียกและส่งดวงวิญญาณผู้ตาย

จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ทราบถึงประเพณีการฝังศพของยุคสัมฤทธิ์ว่า เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ญาติของผู้ตายจะขุดหลุมลึกประมาณ 60-65 เซนติเมตร แล้วนำศพของผู้ตายใส่ลงไปในหลุมในท่านอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และหลุมฝังศพจะขุดตื้นๆ บริเวณด้านหัวจะมีเครื่องสังเวยวางอยู่ เครื่องเซ่นสังเวยนั้นได้แก่ หม้อดินเผา และกระดูกสัตว์ การฟ้อนโบราณคดีชุดระบำบ้านเชียง จึงได้แนวความคิดจากการเกิดดับของมนุษย์นี้เอง

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงฝ่ายหญิงนุ่งผ้าถุงสีน้ำเงินจีบหน้านาง เสื้อใช้ผ้าขิดพื้นแดงลายขิดสีเหลืองรูดรัดหน้าอก สวมกรองคอสีดำ ส่วนเอวมีผ้าคาดสีน้ำเงินขลิบแดงห้อยด้วยกระดิ่ง ประดับร่างกายด้วยสร้อยหินสีต่างๆ กระพรวน และกำไลสัมฤทธิ์

ผู้แสดงฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาสามส่วนสีน้ำเงิน สวมเสื้อคอกลมไม่มีแขน ส่วนเอวมีผ้าคาดสีทองขลิบน้ำเงินห้อยกระดิ่งประดับด้วยลูกกระพรวน

เครื่องดนตรี เนื่องจากชุมชนบ้านเชียงยังไม่ปรากฏหลักฐานทางดนตรีในระยะใกล้เคียงกันนั้น ได้พบเพียงระฆังสัมฤทธิ์ ดังนั้นดนตรีประกอบการฟ้อนชุดระบำบ้านเชียงจึงใช้เครื่องดนตรีประเภทโลหะ ได้แก่ ระฆังและฆ้อง ประกอบการเคาะเรียกวิญญาณ ผู้ประดิษฐ์ดนตรีได้แก่ อาจารย์ชฎิล นักดนตรี ส่วนผู้ออกแบบท่าฟ้อนและเครื่องแต่งกายได้แก่ อาจารย์วีณา วีสเพ็ญ

อุปกรณ์ประกอบการแสดง ได้แก่ คบเพลิง หม้อลายวัฏ และโลงศพ

ระบำบ้านเชียง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ลำดับขั้นตอนของการแสดง การฟ้อนชุดระบำบ้านเชียงเริ่มโดยการนำศพมาฝัง โดยฝ่ายชายจะถือคบเพลิง และหามโลงศพออกมา ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้นำเครื่องสังเวยซึ่งอยู่ในหม้อมาประกอบพิธีกรรม เพื่ออัญเชิญวิญญาณผู้ตายมารับเครื่องเซ่นสังเวยนั้น ท่าฟ้อนจึงเริ่มด้วยท่าเชิญ ซึ่งเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายให้มารับเครื่องเซ่นสังเวย ท่าลงเป็นท่าซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิญญาณรับเชิญแล้วจะเข้าทรงผู้รำ และลงมากินเครื่องเซ่นสังเวย ต่อไปจะเป็นท่าชมเครื่องเซ่นสังเวยว่ามีอะไรบ้างและจะเป็นท่ากินเครื่องเซ่นสังเวยนั้น

3diamondรำศรีโคตรบูรณ์

fon si kotaboonการฟ้อนโบราณคดีชุด "รำศรีโคตรบูรณ์" เป็นชุดฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยข้าราชการในจังหวัดนครพนม คำว่า "ศรีโคตรบูรณ์" เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่ง เดิมอยู่ใต้ปากเซบั้งไฟ มีพระยาติโคตรบูรเป็นผู้ปกครอง ในหนังสือเรื่องอุรังคธาตุได้กล่าวถึงเมืองศรีโคตรบูรณ์ไว้ว่า

"เราทั้งหลายเรียกว่าเมืองศรีโคตโม เหตุเพราะพระโคตโมได้ให้คำวุฒิสวัสดีแก่พระยาติโคตรบูรและบัดนี้คนทั้งหลายชาวเมืองลุ่มเรียกว่า เมืองศรีโคตรบอง"

เมืองศรีโคตรบอง หรือ เมืองศรีโคตรบูรณ์ เป็นนครที่มีความรุ่งเรืองมาแต่อดีต นับเป็นอาณาจักรร่วมสมัยกับอาณาจักรทวาราวดีของภาคกลาง อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ปรากฏหลักฐานขึ้นครั้งแรกในหนังสืออุรังคธาตุว่า

พระยานันเสนผู้ครอบครองนครโคตรบูร เป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระธาตุพนม ต่อมาเมืองศรีโคตรบองนี้ได้ย้ายจากบริเวณใต้ปากเซบั้งไฟมายังฝั่ง ธาตุพนม ณ ดงไม้รวก และได้ขนานนามใหม่ว่า "เมืองมรุกขนคร" ซึ่งก็คือที่ตั้งจังหวัดนครพนมในปัจจุบันนี้

การฟ้อนโบราณคดีชุดรำศรีโคตรบูรณ์ เป็นชุดฟ้อนที่ท่าฟ้อนประยุกต์มาจากท่าเซิ้งบั้งไฟ และท่าฟ้อนผู้ไทรวมกัน ฟ้อนชุดศรีโคตรบูรณ์นี้ใช้เพลงลำผู้ไท หรือเพลงลมพัดไผ่ ซึ่งมีทำนองเนิบๆ ทำให้รำศรีโคตรบูรณ์มีลีลานุ่มนวล อ่อนช้อยสวยงามมาก

fon si kotaboon 2

การแต่งกาย รำศรีโคตรบูรณ์ใช้ผู้แสดงหญิงล้วน แต่งกายคล้ายชาวไทดำ โดยสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำขลิบแดง นุ่งผ้าถุงสีดำคาดเอวด้วยผ้าแถบสีแดง เกล้าผมมวยใช้ผ้าแดงผูกผม

fon si kotaboon 3

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน เพลงลำผู้ไท หรือเพลงลมพัดไผ่

ฟ้อนศรีโคตรบูรณ์

3diamondระบำพนมรุ้ง 

rabam panom roong 2ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว เป็นโบราณสถานที่สำคัญของภาคอีสาน และนับได้ว่าเป็นปราสาทหินที่มีความสมบูรณ์ และสวยงามที่สุดในประเทศไทย ปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่ ณ บ้านตาเป๊ก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สันิษฐานว่าปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 (สมัยเกาะแกร์) และพัฒนาความเจริญเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 (สมัยบายน) และหมดความสำคัญลงไป

ระบำพนมรุ้ง เป็นชุดการฟ้อนที่จัดทำขึ้นโดยทางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้นำการแสดงชุดนี้ไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง ณ ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ในปี พ.ศ. 2521 ในการแสดงครั้งแรกนี้จัดเป็นการรำ 2 ชุด ติดต่อกัน คือชุดที่หนึ่งเป็นการรำเดี่ยว เพื่อเป็นการแนะนำความเป็นมาของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยใช้ชื่อว่า "ชุดบุรีรัมย์รำลึก"

ต่อมาชุดที่สองจึงเป็นชุด ระบำพนมรุ้ง การฟ้อนชุดระบำพนมรุ้งนี้ใช้ผู้แสดงตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป ท่าฟ้อนแรกใช้เป็นการฟ้อนตีบทตามบทของเนื้อร้อง และในเพลงรับจะมีท่าฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นจากภาพแกะสลักบนปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

rabam panom roong

เครื่องแต่งกาย จะใช้เครื่องแต่งกายให้เข้ากับสมัยลพบุรี โดยใส่เสื้อแขนสั้นสีเหลืองคอกลมฟ้า ตัดเสื้อยาวถึงสะโพกบนรัดรูปเล็กน้อย ติดสาปสีดำเป็นแถบที่ปลายแขน รอบคอลงมาด้านหน้าจนจดชายเสื้อ รอบตัวใช้เลื่อมสีทองตกแต่งบนแถบที่ปลายแขน ในลักษณะพาหุรัด และที่รอบคอในลักษณะกรองคอ ผ้านุ่งจะเป็นผ้าป้ายทับกัน เว้าชายข้างหน้ามีความยาวเพียงครึ่งน่อง ใช้ผ้าแถบคนละสีทาบจากด้านหน้ายาวลงไปจนรอบชาย ทรงผมเกล้าเป็นมวยสูงไว้กลางศรีษะ กดให้ผมด้านข้างพองออกเป็นปีก ประดับด้วยผ้าแถบดำปักเลื่อมสีทอง รัดรอบมวยผม รัดข้อมือ ข้อเท้า พร้อมต่างหูทรงยาวเป็นสายอีก 1 คู่ (สายชล สุทธนารักษ์. ม.ป.ป.)

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้วงมโหรีทำนองเพลงเขมรขาวหรือขะแมรซอ

เพลง "ระบำพนมรุ้ง"

คำร้อง : ศุภภิดา   แผ้วพลสง
ท่ารำและออกแบบเครื่องแต่งกาย : สายชล   ชื่นวิเศษ
          บุรีรัมย์เมืองแมนแดนรื่นรมย์
ด้วยเดชะพระบารมีแห่งเทพไท
เหมือนพระพรหมประสิทธิ์สรรพนมรุ้ง
สถิตย์ยังยอดเขาราววิมาน
ลวดลายงามปราสาทวาดวิจิตร
ช่างบรรจงแกะลายละออตา
เสน่ห์เอ๋ยเสน่หาใครมาเห็น
มิตรภาพอาบไมตรีอภิรมย์
แสนชื่นชมชาวประชาหน้าสดใส
ส่งเสริมให้บุรีรัมย์งานตระการ
จรรโลงจรุงบุรีรัมย์เกินคำขาน
เป็นสถานคู่เคียงเมืองเรืองศรัทธา
เหมือนเทพนิมิตรเลิศล้ำงามสูงค่า
สุดจะสรรวาจามากล่าวชม
ธารน้ำใจใสเย็นเป็นสุขสม
หลั่งพร่าวพรมแด่ชนคนไปเยือน

ฟ้อนชุดพนมรุ้งนี้ทาง วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ได้ประดิษฐ์ชุดฟ้อนรำขึ้นใหม่ โดยอาศัยรูปจำหลักในพิพิธภัณฑ์พนมรุ้งเป็นต้นแบบ ผู้แสดงฝ่ายหญิงถือพานพุ่ม และฝ่ายชายจะถือพานใส่หมากพลู

rabam panom roong 3

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้าพื้นเมืองมีผ้าทิ้งชายด้านหน้า สวมเสื้อคอกลมสีเหลืองไม่มีแขนขลิบชายสีแดง เกล้าผมมวยมีเครื่องประดับศรีษะทิ้งเป็นชาย 2 หาง ฝ่ายชายจะนุ่งโจงกระเบนสีน้ำตาล มีผ้าทิ้งชายด้านหน้า ไม่สวมเสื้อ ใช้เครื่องประดับคอ

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานออกสำเนียงเขมร

การแสดงแสงสีเสียง พนมรุ้งมหาเทวาลัย ปี 2556

ลำดับขั้นตอนของการแสดง ฝ่ายหญิงและชายออกมาพร้อมๆ กัน โดยฝ่ายหญิงจะถือพานพุ่ม ฝ่ายชายถือพานใส่หมากพลู ต่อมาฝ่ายชายจะไปตั้งแถวแสดงลีลาคล้ายๆ กับพระศิวะนาฏราช ส่วนฝ่ายหญิงจะแสดงท่าเหมือนกับการบูชา บวงสรวง

3diamondระบำจัมปาศรี

rabam jampasiอาณาจักรจัมปาศรี หรือ นครจัมปาศรี ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามนั้น มีความรุ่งเรืองมา 2 ยุคด้วยกันคือ ยุคทวาราวดี (พ.ศ. 1000 - 12000) และยุคลพบุรี (พ.ศ. 1600 - 1800)

นครจัมปาศรี นี้คงมีอายุใกล้เคียงกับเมืองฟ้าแดดสูงยาง ซึ่งพระอริยานุวัตรเขมจารีเถระ ได้เล่าถึงประวัตินครจัมปาศรีไว้ว่า "เมืองนครจัมปาศรีอยู่ในสมัยที่พระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์กำลังเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ในสมัยนั้น พร้อมกันมานอบน้อมเป็นบริวาร ทำให้อาณาเขตของนครจัมปาศรีได้ขยายกว้างขวางออกไป นครจัมปาศรีมีพระยศวรราชเป็นเจ้าผู้ครองนคร มีพระนางยศรัศมีเป็นพระราชเทวี มีวงศ์ตระกูลมาจากกษัตริย์เสนราชา บ้านเมืองในขณะนั้นมีความสงบสุข และพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในช่วงนั้น"

นครจัมปาศรี เป็นอาณาจักรหนึ่งในยุคเดียวกับอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ทวาราวดีอินทปัตถ์ และเมืองสาเกตุ ซึ่งอยู่ในยุคฟูนัน ในหนังสืออุรังคนิทานได้กล่าวถึงยุคอวสานของนครจัมปาศรีว่า ในสมัยเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณี เมืองชวา (หลวงพระบาง) ได้ยกกองทัพข้ามแม่น้ำโขงเข้าโจมตีเมืองสาเกตุนคร พร้อมทั้งเมืองบริวาร และเมืองนครจัมปาศรีได้ถึงกาลวิบัติ และกลายเป็นเมืองร้างไปตั้งแต่บัดนั้น

ในปี พ.ศ. 2522 ชาวอำเภอนาดูนได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุรอบกู่สันตรัตน์ ได้พบพระทองสำริด พระพิมพ์แบบต่างๆ เป็นจำนวนมาก และมีการขุดพบซากเจดีย์โบราณและสถูปที่ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาทางจังหวัดมหาสารคามได้ร่วมกันสร้างพระธาตุนาดูน โดยจำลองแบบมาจากสถูปทองสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุนาดูนนับได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา จนมีผู้กล่าวว่าพระธาตุนาดูนเปรียบเหมือนพุทธมณฑลของภาคอีสาน

rabam jampasi 2

ระบำจัมปาศรี จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความเจริญรุ่งเรืองของโบราณสถานในจังหวัดมหาสารคาม และเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของชาวอีสาน พระธาตุนาดูน ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนับเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม โดย อาจารย์ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ จึงได้จัดทำระบำจัมปาศรีขึ้น โดยอาศัยจากเอกสารทางโบราณคดีและข้อเขียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนครจัมปาศรี ท่าฟ้อนชุดระบำจัมปาศรีประยุกต์ท่าฟ้อนพื้นเมืองอีสาน ซึ่งได้แก่ ฟ้อนผู้ไท ฟ้อนตังหวาย ฯลฯ ผสมกับท่าระบำโบราณคดี ชุดระบำทวาราวดี และภาพจำหลักที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยท่าเคลื่อนไหวจะเป็นท่าฟ้อนพื้นเมือง ส่วนท่าหยุดจะเป็นท่าโบราณคดี

rabam jampasi 3

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน นุ่งผ้าไหมพื้นเมืองอีสานโดบใช้ผ้าถุง 2 ผืน ผ้าถุงผืนในนุ่งธรรมดา ส่วนผ้าถุงผืนนอกพับทบทั้ง 2 ข้างตรงสะโพกหักคอไก่คล้ายรำมโนราห์บูชายันต์ ส่วนบนใช้ผ้าพันรัดหน้าอก สวมเครื่องประดับคอ รัดแขน ต่างหูและเข็มขัด

 

ระบำจัมปาศรี ฉบับดั้งเดิม

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ซึ่งได้แก่ พิณ แคน โปงลาง กลอง โหวด ฉิ่ง ฉาบ และใช้เครื่องดนตรีโลหะประกอบ ได้แก่ ระนาดเหล็ก เพลงที่ใช้ประกอบการฟ้อนชุดระบำจัมปาศรีใช้เพลง มโหรีอีสาน

next green คลิกไปดู  การฟ้อนประกอบทำนองลำ

 

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)