foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

paothai thaidam

ไทดำ – ไทยทรงดำ – ลาวโซ่ง

ชาวไทดำ จังหวัดเลย นับเป็นเมืองเก่าที่มีความเป็นมาสืบสานวัฒนธรรมรักษา ภูมิปัญญา และมีกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากชาวไทยเลย แล้วยังมีชนชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่ ที่สำคัญคือ กลุ่มชนเชื้อสายไทดำ เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนพื้นเมืองเลย โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนกัน อยู่ในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยนานมาแล้ว สำหรับความเป็นมาของหมู่บ้านไทดำ นับตั้งแต่สมัยที่มีการแย่งชิงดินแดนแคว้นต่างๆ ทางตอนเหนือของประเทศลาว ซึ่งเรียกว่า แคว้น 12 จุไทย ชาวไทดำ อพยพมาจากแคว้นพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน เข้ามาในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2417

paothai dam 06

เนื่องจากมีเหตุการณ์ พวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน ทางหลวงพระบาง ขอให้ฝ่ายไทยส่งกองทัพไปช่วยเหลือ โดยมีพระยาภูธราภัย เป็นแม่ทัพคุมกองทัพไปปราบฮ่อ ผลการปราบฮ่อครั้งนั้นไทยชนะ เมื่อเหตุการณ์สงบไทยได้ใช้นโยบายอพยพผู้คนจากแคว้นพวน เข้ามายังประเทศไทยด้วย ชาวไทดำถูกกวาดต้อนมาถึงกรุงเทพฯ โดยทำมาหากินตามที่ต่างๆ เช่น เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และพิษณุโลก ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ไปตั้งหลักแหล่งที่บ้านหมี่ คลองสนามแจง จังหวัดลพบุรี

หลังจากนั้นประมาณ 8 ปี เจ้าเมืองบริขันธ์ มาทูลขอราษฎรกลับไปยังเมืองเชียงขวางตามเดิม โดยเริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อยๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำกอใหญ่ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็เข้าครอบครองดินแดนล้านช้าง และได้ขอให้ไทยส่งคนอพยพคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม ชาวไทยดำบางส่วนเห็นว่า ต้องบุกป่าฝ่าดง จึงขอหยุดตั้งหลักแหล่งที่บ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

paothai dam 10

สาวไทดำ เมืองเลย

ส่วนชาวไทดำ อีกกลุ่มหนึ่งได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปยังบ้านน้ำกุ่ม แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์ มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ชาวไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงย้อนกลับมาตั้งหมู่บ้านที่ตาดซ้อ ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อยู่ได้ระยะหนึ่ง จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาเบน แต่ภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การดำรงชีพ จึงได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งถาวรที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ด้วยกัน เพราะสภาพเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง มีป่าเขาลำเนาไพรคล้ายถิ่นฐานเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2438 โดยมีจำนวนครัวเรือนในขณะนั้น 15 หลัง ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน 825 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในทางการเกษตรกรรม

นอกจากนี้ยังมีชาวไทดำ หรือ ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ทางด้านจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยอพยพมาจากเมืองแถง ประเทศเวียตนาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ลาวโซ่งล่องเรือมาอยู่ที่ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยลาวโซ่งยังได้ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ใน จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย

ไทดำ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น ภาษาพูด และภาษาเขียน อาชีพ การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมต่างๆ การดำรงชีวิตประจำวันยังคงผูกพันกับประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมอยู่เป็นอันมาก ลักษณะทางสังคมของไทดำยังคงรักษาขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีและพิธีกรรม ไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความเป็นปึกแผ่น และการดำรงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

paothai dam 03

การแต่งกาย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เสื้อผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน กับอีกชนิดหนึ่งคือ เสื้อผ้าสำหรับใส่ในงานประเพณี หรืองานบุญต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงมักนิยมใช้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมคราม สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่ในพิธีกรรมจะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ มีสีดำตกแต่งด้วยผ้าไหมชิ้นเล็กๆ ส่วนใหญ่ มีเครื่องประดับเป็นเงิน ผู้หญิงมี "ผ้าเปียว" คล้องคอ ส่วนเด็กๆ จะมีหมวกคล้ายถุงผ้าปักไหม หรือด้ายสวยงามเรียกว่า "มู"

การใช้ผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของหญิงเผ่าพันธุ์ไทดำ ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองตั้งแต่อดีตถึงยุคปัจจุบัน ชาวลาวโซ่งก็เช่นกัน ทุกครัวเรือนผู้หญิงจะเป็นผู้ทอผ้าขึ้นมาใช้เอง เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ประกอบไปด้วยเชิงบนซิ่นเป็น "หัวซิ่น" "ตัวซิ่น" เชิงล่างซึ่งเป็น "ตีนซิ่น" ย้อมคราม จนเป็นสีครามเข้มเกือบดำ นำมาทอสลับลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลาวโซ่ง ผู้หญิงในชีวิตประขำวันจะนุ่งซิ่น "ลายแตงโม" หรือ "ลายชะโด"

ลักษณะเฉพาะของผ้าลายแตงโม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 คือ หัวซิ่นจะเป็นสีครามไม่มีลวดลายกว้าง 12 นิ้ว
  • ส่วนที่ 2 จะเป็นลายโดยใช้เทคนิคการทอขัด แต่พิเศษที่ว่าเป็นฝ้ายแกมไหม คือ ใช้ไหมสีแดงเป็นเส้นยืน ทอเส้นพุ่งด้วยฝ้ายสีครามสลับสีผ้าอ่อนเป็นทางเล็กๆ คล้ายลายบนผลแตงโม เวลาทอเสร็จจะมองไม่เห็นไหมสีแดงเลย
  • ส่วนที่ 3 กว้างประมาณ 1 ฟุต มีลวดลายสีขาวสองสามริ้ว เย็บติดเป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะตีนซิ่นนี้ออกเพื่อไว้ทุกข์

การนุ่งซิ่นลายแตงโมจะต้องจับขอบบนของผ้านุ่งทั้งซ้าย และขวามาทบเกยกันตรงกลาง และพับขอบผ้าลงมาโดยไม่ต้องคาดเข็มขัดผ้าก็ไม่หลุด

paothai dam 01

ตำนานผ้าซิ่นลายแตงโม

เป็นคำบอกเล่าสืบต่อกันมา การที่ผ้าซิ่นลายแตงโมใช้เส้นยืนสีแดงเป็นหลักเส้นพุ่งเป็นสีดำ หรือครามเข้มเกือบดำ นั้นเรื่องราวก็มีอยู่ว่า เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่โบราณกาล ผู้ชายที่เป็นสามี เป็นผู้นำของครอบครัวมีหน้าที่ออกจากบ้านไปเข้าป่า หักร้างถางพง เป็นแหล่งทำมาหากินทำไร่ไถนา หาเผือกหามัน ปล่อยให้ภรรยาอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน จนกว่าสามีจะกลับบ้าน สาวเจ้าจะนั่งทอผ้าไป ใจก็ประหวัดนึกถึงสามีที่เข้าป่าหลายวัน อันความรักความคิดถึงย่อมจะมีอยู่ในตัวของทุกคน มันวิ่งแล่นอยู่ทุกลมหายใจ ยิ่งกว่ากระสวยที่พุ่งผ่านเป็นเส้นขัดให้เป็นผืนผ้าในกี่ทอผ้าที่กำลังทออยู่

สาวเจ้าจึงใช้สีแดงย้อมเส้นยืน ซึ่งเป็นสีที่ใช้แทนหัวใจที่โหยหาอาวรณ์ในคนรักที่จากกัน ส่วนเส้นพุ่งใช้สีครามเข้าเกือบดำแทนตัวเอง ใช้ทอทับเป็นเส้นขัดให้เกิดเป็นเนื้อผ้า โดยซ่อนเส้นยืนสีแดงเอาไว้ เมื่อเวลานุ่งผ้าซิ่นลายแตงโมคอยสามี ต้องแสงแดดแวววับของเหลือบสีแดงสะท้อนออกมา เสมือนหนึ่งเป็นสื่อสัญญาณแห่งความรักที่มีต่อกัน แม้จะเห็นเพียงรางๆ ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อปกปิดความอาย ที่เป็นคุณสมบัติของหญิงสาวชาวลาวโซ่งโดยแท้

ผ้าซิ่นลายแตงโม จะต้องนำมาต่อหัวซิ่นสีครามเข้มเกือบดำ ส่วนตีนซิ่นเย็บต่อให้มีความหนา เพื่อป้องกันไม่ให้ชายผ้าซิ่นขาดง่าย โดยหลักการของการทอผ้าทั่วๆ ไปเส้นยืนจะมีขนาดเล็กกว่าเส้นพุ่ง การทอผ้าแบบลาวโซ่งจึงสามารถที่จะซ่อนสีแดงของเส้นยืนเอาไว้อย่างมิดชิด แต่ไม่สามารถจะซ่อนอณูของสีที่เหลือบเอาไว้ เมื่อเวลาต้องแสงแดดจะมีสีของเส้นยืนสะท้อนออกมาให้เห็น นี่แหละภูมิปัญญาของพื้นบ้าน

paothai dam pa 01

ตำนานซิ่นนางหาญ

"ซิ่นนางหาญ" เป็นชื่อเรียกซิ่นตาหมี่ของชาวบ้านนาป่าหนาด จังหวัดเลย เป็นซิ่นที่ทอลักษณะเดียวกับซิ่นตาหมี่ แต่มีการขิดคั่นลายมากกว่าซิ่นตาหมี่

ซิ่นนางหาญนี้มีตำนานเล่ามาคือ หญิงไทดำที่ทอ มีพี่น้องที่เป็นหญิง 3 คน หญิงคนแรกเป็นผู้คิดค้นการมัดลายและทำการทอ แต่ทอยังไม่ทันแล้วเสร็จก็เสียชีวิตลง คนที่สองจึงทอต่อ ในระหว่างทอก็เสียชีวิตตามกันไปเป็นคนที่สอง หญิงคนที่สามจึงได้บอกเล่าผีเรือนว่า หากทอซิ่นผืนนี้สำเร็จ เมื่อมีการเสนเรือนจะใส่สำรับให้ ทำให้หญิงคนที่สามทอซิ่นผืนดังกล่าวได้สำเร็จ

ตั้งแต่นั้นมาชาวไทดำจึงนิยมใช้ ซิ่นตาหมี่ หรือซิ่นนางหาญ ประกอบในพิธีการเสนเรือนมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า "นางหาญ" ชาวบ้านนาป่าหนาดบอกว่า หมายถึง ความกล้า ความเด็ดเดี่ยว ซึ่งน่าจะหมายถึงหญิงในตำนานคนที่สาม ที่กล้าทอซิ่นผืนดังกล่าวได้จนสำเร็จอย่างเด็ดเดี่ยวนั่นเอง

paothai dam pa 02

เสื้อก้อม เป็นเสื้อสีดำด้วยการย้อมคราม ตัดเย็บด้วยมือ ฝีเข็มละเอียด จนสามารถสวมได้ทั้งสองด้าน ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมผ่าหน้า แขนกระบอกเข้ารูป ติดกระดุมเงินถี่มากประมาณ 9 – 11 เม็ดถ้าฐานะดีก็จะติด 2 แถว กระดุมนั้นทำด้วยเงินเก่า ตีด้วยฝีเข็มเป็นยอดแหลมมีลายกลีบบัว ติดห่วง ปัจจุบันหายากมาก เสื้อก้อมเป็นเสื้อที่ใช้คู่กับผ้าซิ่นเป็นชุดลำลอง หรือชุดประจำเผ่าของชาวลาวโซ่งหญิง ใช้สวมไปทุกแห่ง ถ้าไปวัดก็พาดผ้าเปียว หรือ ผ้าสไบอีก 1 ผืน บางทีจะใช้ผ้าคาดอกเรียกว่า ผ้าเปียว ปักลวดลายไว้ที่ชายทั้งสองหญิงที่แต่งงานแล้ว จะใช้ผ้าเปียวสีดำ หรือ สีครามแก่ ถ้าไปตลาดก็สะพายกะเหล็บ ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ละเอียดยิบ ใช้แทนกระเป๋า หรือถ้าจะเข้าป่าก็สะพายย่าม ใช้ผ้าเปียวก็นำมาโพกศีรษะแทนหมวก

ไทดำ หรือ ลาวโซ่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวไทดำ คือ ทรงผมซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เรียกว่า ปั้นเกล้า ลักษณะของปั้นเกล้าจะบ่งบอกถึงอายุและสถานะภาพทางสังคม ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้

  • หญิงอายุ 13-14 ปี ผมยาวประไหล่ แต่ยังรวบไม่ได้ ทรงนี้เรียกว่า เอื้อมไหล่ หรือเอื้อมไร
  • หญิงอายุ 14-15 ปี ผมเริ่มยาวมากขึ้นจะพับปลายผมม้วนขึ้น แล้วใช้หวีสับไว้ตรงท้ายทอย ทรงนี้เรียกว่า ผมสับปิ้น
  • หญิงอายุ 15-16 ปี ผมยาวพอมัดได้บ้างแล้ว รวบผมมัดเป็นกระจุก และทำเหมือนกระบังไว้ข้างหน้า ปล่อยหางผมไว้ด้านหลัง ทรงนี้เรียกว่า ผมจุกต๊บ
  • หญิงอายุ 16-17 ปี ผมยาวพอสมควรแล้ว รวบโดยเอาผมผูกเป็นปมเหมือน ผูกเชือกไว้ด้านหลัง ปล่อยชายผมลงข้างขวา ทรงนี้เรียกว่า ผมขอดกระต๊อก
  • หญิงอายุ 17-18 ปี เกล้าผมโดยผูกลักษณะคล้ายโบว์ ไว้ด้านซ้าย ปล่อยชายผมเป็นหางไว้ด้านหลัง ทรงนี้เรียกว่า ปั้นเกล้าขอดซอย
  • หญิงอายุ 19-20 ปี ขึ้นไป ถือว่าเป็นสาวเต็มตัว ผมทรงนี้ต้องใช้ผมยาว มากจึงจะเกล้าได้ โดยเกล้าผมตลบไว้กลางศีรษะม้วนชายสอดเข้าข้างใน ใช้ไม้สอดขัดไว้เพื่อไม่ให้หลุด ทรงนี้เรียกว่า ปั้นเกล้าต่วง และเมื่อ พ่อแม่หรือสามีตาย หญิงนั้นต้องไว้ทุกข์โดยปั้นเกล้าให้ตกค่อนไปทาง ด้านหลังไม่ยกสูงทรงนี้เรียกว่า ปั้นเกล้าต๊ก หรือ ทรงแม่หม้าย

การละเล่นของชาวไทดำ

ไทดำ หรือ ลาวโซ่ง มีอาชีพหลัก คือการทำนา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วช่วงเดือน 5 - 6 เป็นช่วงพักผ่อน ชายหนุ่มก็จะเดินทางไปเที่ยวยังต่างหมู่บ้านเพื่อพูดคุยและทำความรู้จักกับหญิงสาวโดยมี "เสียงแคนเป็นสื่อ" ประเพณีอันนี้เราเรียกว่า อิ้นกอนฟ้อนแคน จะเริ่มด้วยการโยนลูกช่วง เมื่อรับลูกช่วงได้ก็จะมาเจรจาของสิ่งของเป็นที่ระลึกแก่กัน ชายมักขอสไบของหญิงเป็นสื่อแทนรักหญิง จะขอผ้าขาวม้าเป็นที่ระลึก หลังจากนั้นก็จะเป็นการละเล่นฟ้อนแคน ซึ่งเพลงที่ใช้ในการฟ้อนแคน มีอยู่หลายเพลง ลักษณะลีลาร่ายรำเป็นไปตามจังหวะ และทำนองของเสียงแคน แคนย่าง เป็นจังหวะค่อนข้างช้าการร่ายรำอ่อนช้อยงดงาม แคนแล่น เป็นเพลงจังหวะเร็ว การร่ายรำเป็นการหยอกล้อสนุกสนาน แคนแกร เป็นเพลงจังหวะปานกลางการร่ายรำอ่อนช้อย สลับการรำอยู่กับที่โดยย่อและโย้ตัวตามจังหวะ

paothai dam 07

ฮีตคองประเพณี

ประเพณีการเกิด นับตั้งแต่ท้องจนถึงวันคลอด ผู้เป็นแม่คงทำงานตามปกติไม่มีการพักผ่อนโดยเชื่อว่าการออกใช้แรงงานนั้น จะทำให้คลอดลูกง่าย เมื่อมีอาการเจ็บท้องก่อนคลอด จะทำพิธีเซ่นผีเรือนเรียกว่า "วานขวัญผีเรือน" การประกอบพิธีกรรมให้หมอขวัญเป็นผู้ทำพิธีฆ่าไก่ 1 ตัว เซ่นให้ผีญาติพี่น้องที่ตายทั้งกลม หรือตายในขณะคลอดลูกกินก่อน เพื่อไม่ให้มารังควาญรบกวนในขณะคลอด เมื่อเด็กคลอดพ้นจากครรภ์มารดาแล้ว ก็จะตัดสายรกซึ่งเรียกว่าสายแห่ยาวประมาณ 2 ข้อมือ อาบน้ำเด็กน้อยด้วยน้ำอุ่น แล้วนำไปวางไว้ในกระด้ง รอจนกระทั่งสายรกหลุดออกมา

เมื่อสายรกหลุดพ้นออกจากครรภ์แล้ว นำไปล้างบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ แล้วนำไปแขวนที่คบไม้ใหญ่ในป่าบั้งแห่ ซึ่งเป็นป่าสำหรับทิ้งรกเด็กแรกเกิด โดยแขวนสูงจากพื้นดินระดับเสมอศีรษะคนเดินผ่าน ส่วนแม่ก็ให้ล้างชำระทำความสะอาดร่างกายเล็กน้อย แล้วนั่งอยู่ไฟเรียกว่า "อยู่กำเดือน" เมื่อถึงเตาไฟให้หันหน้าเข้าหาเตาไฟ เอามือควักเขม่าควันไฟมากิน หลังจากนั้นดื่มน้ำร้อนอยู่ไฟ และอาบน้ำร้อนที่ต้มผสมใบไม้ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านจนครบเดือน

การอยู่กำ (กรรม) หรืออยู่ไฟ

ภายหลังคลอดเริ่มอยู่ไฟตั้งแต่วันแรกเป็นเวลา 30 วัน ในระยะแรก การอยู่ไฟจะนั่งอยู่ที่เตาไฟตลอดเวลา 3 วัน เรียกว่า "อยู่กำไฟ" แม่กำเดือนหรือหญิงที่อยู่ไฟ จะต้องระมัดระวังเรื่องอาหาร รับประทานได้แต่ข้าวเหนียวนึ่งกับเกลือคั่ว หรือเกลือเผาจนครบ 3 วัน จึงจะ "ออกกำไฟ" ในระยะนี้จะมีญาติพี่น้อง และผู้ใกล้ชิดมาเยี่ยมเยือนและอยู่เป็นเพื่อนตลอดเวลา

เมื่อออกกำไฟแล้ว ให้ไปสระผมที่ท่าน้ำแต่จะไม่อาบน้ำ ใช้ผ้ารัดเอวไว้ผืนหนึ่งพร้อมกับคาด "ผ้าฮ้ายฝั้นใต้ไฟ" (ชุดติดไฟ) ทับไว้อยู่ข้างนอกเพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย เมื่อกลับมาถึงเรือนแล้วทำพิธี เซ่นผีย่าไฟโดยใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง ไปวางไว้ตรงที่ทารกคลอด ทำพิธีสู่ขวัญให้แก่เด็กน้อย สู่ขวัญนม และสู่ขวัญที่นอนเพื่อขอให้ช่วยดูแลรักษาและเลี้ยงดูเด็กน้อยที่เกิดใหม่ ส่วนแม่ใช้ไก่ต้ม ข้าวต้ม ขนม จัดใส่สำรับทำพิธีสู่ขวัญ หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลากลางคืน ก็ให้แม่และเด็กน้อยย้ายไปนอนบริเวณที่นอนตามปกติ แต่ผู้เป็นแม่จะต้องอยู่ไฟต่อไปจนกระทั่งครบ 30 วัน จึงออกจาก "อยู่กำเดือน"

อาหารการกินในเวลาอยู่ไฟจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทั่วไป มีแต่ผักและปลาบางชนิด เช่น ปลาคิง ปลาแก้ม โดยนำมาปิ้งเมื่อครบ 20 วัน ฆ่าเป็ด 1 ตัว ทำพิธีเซ่นผีเต่ท่า จากนั้นจึงเริ่มรับประทานเนื้อสัตว์ได้ โดยเริ่มจากเป็ดก่อนต่อมาเป็นไก่ หมู ปลาย่าง ปลาไหลย่าง ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย จนกว่าจะออกจากกำเดือน โดยเฉพาะเนื้อควายเผือกห้ามรับประทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีอาการแสลงอาจถึงตายได้

ประเพณีวัยหนุ่ม การศึกษาอบรม พ่อจะสอนลูกชายให้รู้จักการทำไร่ไถนา จักสาน เช่น สาน กะเหล็บ กระบุง ข้อง ไซ และภาชนะต่างๆ ส่วนแม่จะสอนลูกสาวให้รู้จักเวียกเหย้าการเรือน ปั่นฝ้าย เลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้า และการประดิษฐ์ลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า

paothai dam pa 03

การเลือกคู่ครอง

เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มวัยสาว ผู้สาวจะชวนเพื่อนๆ ไปลงข่วงปั่นฝ้ายเป็นกลุ่มๆ ในยามค่ำคืนของฤดูหนาว ส่วนผู้บ่าวก็จะชวนกันไปเกี้ยวสาวปั่นฝ้าย โดยเป่าปี่แล้วขับไทดำ วนเวียนไปมาตามข่วงโน้นบ้างข่วงนี้บ้าง มีการขับโต้ตอบกันไปมาระหว่างหนุ่มสาวจนดึกดื่น จึงกลับขึ้นเรือนโดยมีผู้บ่าวที่ชอบพอกันติดตามไปส่ง กระทำเช่นนี้เป็นกิจวัตรประจำจนเกิดความรักซึ่งกันและกัน

ฝ่ายชายจะเล่าให้พ่อแม่ฟังเกี่ยวกับเรื่องที่ตนไปรัก มักผู้สาวแล้วอยากได้เป็นภรรยา หลังจากนั้นพ่อแม่ก็จะไปหารือ บรรดาลุงป้าน้าอาที่นับถือ แล้วแต่ง "พ่อใช้" ไปถามผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง 2-3 ครั้ง โดยปกติการไปถามครั้งแรก หรือครั้งที่สองพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะยังไม่ตอบตกลง หรืออาจบอกปัดก็ได้ ดังนั้นจึงไปถามอีกเป็นครั้งที่สามเรียกว่า ถามขาด เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงตอบรับก็เป็นอันว่าตกลงให้แต่งงานกันได้ หลังจากนั้นจะเตรียมพิธีกินดองน้อย

กินดองน้อย เป็นพิธีสู่ขอเรียกว่า "ไปส่อง" ฝ่ายชายจะจัดเตรียมพาข้าวหรือขันหมากสู่ขอ โดยฆ่าไก่ 4 ตัว แยกเป็น 4 ห่อ สิ่งของประกอบพิธีสู่ขอจะทำเป็นห่ออย่างละ 4 ห่อ ได้แก่ ปลาปิ้ง 4 ห่อ หนังหาด 4 ห่อ (เปลือกไม้ใช้เคี้ยวกับหมาก) พลู 4 ห่อ เหล้า 4 ขวด จัดใส่สำรับมอบให้เฒ่าแก่ญาติฝ่ายเจ้าสาว แล้วมอบตัวเป็น "เขยกว้าน" ในวันนั้น เพื่อเตรียมพิธีกินดองใหญ่ (แต่งงาน) ต่อไป

เขยกว้าน จะอาศัยอยู่ที่บ้านเจ้าสาว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่พิธีกินดอง โดยใช้เวลา 2 เดือน ถึง 1 ปี บางรายอาจใช้เวลา 3 - 4 ปี และยังไม่มีสิทธิ์อยู่กินกันฉันสามีภรรยา เพราะผิดผีเรือน จะต้องนอนอยู่ทางกว้าน (ปลายเท้าของพ่อตาแม่ยาย) หลังจากพิธีส่อง ฝ่ายหญิงยังมีสิทธิเสรีในการพูดคุยกับผู้บ่าวคนอื่นที่มาเกี้ยวพาราสี โดยว่าที่สามีจะต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นและไม่โกรธ ทั้งนี้เพื่อทดสอบความอดทน อดกลั้นในอารมณ์

พิธีแต่งดอง เป็นพิธีแต่งงานของไทดำ มีกำหนด 3 วัน บางครั้งจะจัดพิธีพร้อมกับการ "เสนเรือน" วันแรกฝ่ายชายจะทำพิธีเซ่นผีเรือนที่บ้านเจ้าสาว โดยฆ่าหมู 1 ตัว ไก่ 8 ตัว ปลาปิ้ง 8 ห่อ หาด 8 ห่อ พลู 8 ห่อ เหล้าไห 2 ไห พร้อมกับเงินสินเลี้ยง หรือค่าน้ำนม 5 หมัน 2 บี้ ฆ่าควาย 1 ตัว เลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน

วันที่สองสะใภ้ใหม่จะไปหยามเรือนพ่อปู่แม่ย่า คือ ไปเยี่ยมพ่อแม่ของสามี ตั้งแต่ตอนเช้าเพื่อแสดงความเคารพ สะใภ้จะต้องมีของไปฝาก เช่น ผ้าเปียว ผ้าปู ที่นอน ซิ่นไหม เสื้อ ถุงย่าม ที่ทำจากฝีมือของตนเอง ส่วนพ่อปู่ แม่ย่าจะให้เงินรับไหว้จำนวน 5 - 10 หมัน หรือให้สิ่งของตอบแทนตามสมควรแก่ฐานะ หลังจากนั้นก็จะไปนบไหว้ญาติผู้ใหญ่ของสามี จนกระทั่งถึงตอนบ่ายจึงเดินทางกลับไปรับประทานอาหารเรียกว่า กินงายหัว

ส่วนวันที่สามของพิธีแต่งดองเป็นวันสรุป เพื่อเก็บของที่ยืมมาจัดงานส่ง ทำอาหารเลี้ยงผู้ที่อยู่ช่วยงาน ส่วนมากจะเป็นญาติพี่น้องเพื่อนสนิท และเพื่อนบ้านใกล้เคียง ธรรมเนียมดั้งเดิมของไทดำ ผู้เป็นเขยจะต้องอยู่ที่บ้านของพ่อตาแม่ยาย ถึง 12 ปี จึงจะมีสิทธิ์กลับคืนไปอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายสามี หรือปลูกเรือนใหญ่อยู่ใกล้ๆ กับพ่อแม่และญาติฝ่ายสามี ต่อมาลดลงเหลือ 8 ปี ปัจจุบันลดลงเหลือ 4 ปี

"มานทาง" หญิงใดมีท้องนอกสมรสเรียกว่า "มานทาง" จะถูกสังคมลงโทษ โดยถูกอำนาจการปกครองของหมู่บ้านปรับไหมทั้งชายและหญิงเป็นเงิน 1 หมัน 5 บี้ เรียกว่า "เงินล้างน้ำล้างท่า" แล้วให้อยู่กินเป็นสามี-ภรรยากัน ถ้าหากฝ่ายชายไม่ยอมรับเป็นภรรยาจะต้องเสียค่าปรับไหมให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นเงิน 30 หมัน ในกรณีที่หญิงนั้นตายจะถูกชาวบ้านปรับไหมเรียกว่า "เฮียวซาว" โดยให้ฆ่าควาย 1 ตัวเพื่อเลี้ยงผู้มาช่วยงานศพ แล้วมอบความรับผิดชอบการจัดงานศพให้ฝ่ายชายรับภาระทั้งหมด

paothai dam 05

ประเพณีการตาย เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านจะมีการยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด เพื่อเป็นสัญญาณบอกกล่าวแก่ชาวบ้าน ซึ่งทุกคนจะหยุดทำงานจนกว่าจะนำศพไปฝัง หลังตายบรรดาญาติพี่น้องจะช่วยกันอาบน้ำศพ จากนั้นก็แต่งตัวด้วยชุดเสื้อผ้าของเผ่าไทดำ นำผ้าแพรสีขาวมาเย็บเป็นถุงบรรจุศพแล้วใช้ไหมเย็บติดให้เรียบร้อย บรรจุลงในโลงศพโดยใช้ผ้าคลุมหน้าศพไว้ผืนหนึ่ง

กรณีเด็กน้อยตายจะไม่ประกอบพิธีกรรม ตายวันไหนให้นำไปฝังในวันนั้น

ส่วนคนหนุ่มสาวถ้าตายตอนกลางคืน ในเช้าวันรุ่งขึ้นให้ฆ่าหมูหรือวัว ควาย 1 ตัว ทำอาหารจัดสำรับทำบุญอุทิศให้ผู้ตายกินเรียกว่า "เฮ็ดงาย" พอถึงตอนเย็นก็นำไปฝัง ส่วนคนวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุตายเก็บศพไว้ 1-2 คืน แล้วจึงนำไปฝัง และฆ่าหมูหรือวัวควาย 1 ตัว เฮ็ดงายให้ผู้ตายในเช้าของวันที่จะนำไปฝัง

การทำพิธีฝัง ฆ่าหมู 1 ตัว อุทิศให้เรียกว่า หมูเข้าขุม หลังจากนั้นอีก 3 วัน จะทำพิธีเฮ็ดเฮียว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนำเครื่องเฮียวไปส่งให้ที่ป่าช้า เมื่อเสร็จพิธีฝังศพ ผู้ไปร่วมพิธีศพทุกคนจะลงไปอาบน้ำชำระร่างกายและสระผมในแม่น้ำ เพื่อชำระสิ่งอัปมงคลทั้งหลายออกจากร่างกาย พอถึงตอนเย็นหมอขวัญจะทำพิธีสู่ขวัญให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย และผู้ที่ไปส่งศพ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ทุกคน

หลังจากนั้นครอบครัวของผู้ตาย จะจัดสำรับอาหารไปทานอุทิศให้ที่หลุมฝังศพผู้ตายเป็นเวลา 7 วัน พอครบวันที่เจ็ด จะทำพิธีเชิญขวัญ หรือวิญญาณของผู้ตายขึ้นไปเป็นผีเรือน โดยนำไปไว้ด้านในสุดของเรือนเรียกว่า "กะลอหอง" เพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขตลอดไป

หลังจากนั้นเมื่อครบรอบวันตายทุกๆ 10 วัน จะจัดพาข้าวเป็นสำรับเล็กๆ ทำพิธีเซ่นผีเรือนเรียกว่า "เสนเทวดาปาดตง" หรือ "มื้อปาดตง" นำไปวางไว้ที่ห้องผีเรือน โดยใช้อาหารจากที่สมาชิกในครอบครัวรับประทานในชีวิตประจำวัน ส่วนการ "เสนปาดตง" พิเศษจะทำในช่วงเวลาที่ได้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวข้าว ทำพิธีเสนปาดตงเพื่อทานข้าวใหม่ให้ผีเรือนกินก่อนสมาชิกของครอบครัว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวและลูกหลาน

paothai dam 09

พิธีเสนเรือน เป็นพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของไทดำ ซึ่งเป็นผีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตามปกติพิธีเสนเรือนจะปฏิบัติกันทุกครอบครัวเป็นประจำ 2 - 3 ปีต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ และความพร้อมของครอบครัว เพื่อคุ้มครองบุตรหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญก้าวหน้า ผู้ประกอบพิธีกรรมคือ "หมอเสน" ส่วนผู้ร่วมพิธีได้แก่บรรดาลูกหลานและญาติๆ รวมทั้งแขกเชิญในกรณีที่เจ้าบ้าน หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นพนักงานของรัฐ มีตำแหน่งสำคัญจะเชิญแขกจำนวนมาก บางครั้งแขกมาร่วมงาน 200 - 300 คน ญาติที่มาร่วมงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

คือ ญาติสืบสายโลหิต จะแต่งกายแบบธรรมดา และ ญาติจากการแต่งงาน ได้แก่ ฝ่ายเขยหรือสะใภ้ จะแต่งกายพิเศษด้วยชุด "เสื้อฮี" หรือเสื้อยาวเพื่อเป็นการเคารพผีเรือน และเป็นที่สังเกตให้ผู้มาร่วมงานรู้ว่า เป็นเขย หรือสะใภ้ ก่อนทำพิธีเสนเรือนจะจัดเตรียมสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ เหล้า หมู 1 ตัว ตามปกติจะเตรียมต้มเหล้าไว้ล่วงหน้าใส่ไหฝังดินไว้ 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้ได้เหล้าที่มีคุณภาพดี ส่วนหมูจะเตรียมเลี้ยงไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี

พิธีเสนเรือน เริ่มโดยมีหมอเสน เป็นผู้ประกอบพิธีในห้องผีเรือน ผู้เข้าร่วมพิธีได้แก่ญาติที่อยู่ในสิง หรือ ตระกูลผีเดียวกัน เริ่มจากเจ้าบ้านยกสำรับเครื่องเซ่นถวายผีเรือน จากนั้นหมอเสนจะเริ่มประ กอบพิธี โดยกล่าวเชิญผีเรือนให้มารับเครื่องเซ่นโดยเรียกชื่อผีเรือนจาก "ปั๊บ" รายชื่อผีเรือนให้มากินเครื่อง เซ่นทีละคน ขณะที่เรียกชื่อหมอเสนจะใช้ไม้ทู (ตะเกียบ) คีบอาหารและเครื่องเซ่นป้อนให้ผีเรือนกิน โดยหย่อนลงทางช่องเล็กๆ ลงไปใต้ถุนบ้านแล้วหยอดน้ำตามลงไป จนกระทั่งเรียกชื่อครบทุกคน พิธีเซ่นให้ผีกินอาหารนี้จะทำ 2 ครั้ง คือมื้อเช้าและกลางวัน จากนั้นจะเสนเหล้าหลวง โดยใช้เหล้า 1 ขวด และกับแกล้มเป็นเครื่องเซ่น หมอเสนจะทำพิธีเรียกผีบรรพบุรุษมากินตามรายชื่อในปั๊บผีเรือนจนครบทุกคนเป็นเสร็จพิธี

paothai dam 02

ความเชื่อ

ชาวไทยดำ มีความเชื่อเรื่อง "ผีฟ้า" หรือ "แถน" คือ เชื่อว่าแถนเป็นผู้สร้างโลก และบันดาลให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนี้ยังนับถือผีบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า "ผีเฮือน" ซึ่งเมื่อตายแล้วจะไม่ไปไหน ยังคงวนเวียนคอยช่วยเหลือลูกหลานอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อชาวไทยดำตายลง ลูกหลานจะนำศพไปฝัง และไปเชิญผีจากหลุมหลังจากที่ตายแล้ว 3 วัน เรียกว่า "พิธีเอาผีขึ้นเรือน" ในบ้านจะจัดที่มุมใดมุมหนึ่งของห้องเป็น "กะลอห้อง" หรือ "กะลอฮ้อง" มีพาข้าว (ถาดใส่ข้าว) เป็นที่บูชาผีบรรพบุรุษ ปกติไม่อนุญาตให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติเข้าไป

ในปัจจุบันชาวไทยดำ ที่บ้านนาป่าหนาดหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น และเริ่มเผาศพแทนที่จะฝังอย่างเดิม และพิธีกรรมต่างๆ เช่น ความเชื่อ เรื่องผีเรือน ความเชื่อเกี่ยวกับหมอรักษา หรือเจ้าบ้าน (พระเสื้อเมือง) เมื่อมีคนตายทุกบ้าน จะหยุดทำงานจนกว่าจะนำคนตายไปป่าช้าเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มทำงานใหม่ในงานศพ ไม่มีพระสงฆ์มาเกี่ยวข้องเพราะถือว่าพระกับผีไม่ถูกกัน นิยมฝังศพมากกว่าเผา

นอกจากนั้นชาวไทดำยังเป็นชนเผ่าที่นับถือ "พ่อมด" ซึ่งพ่อมดเปรียบเหมือนเทวดา การประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะเป็นการเชิญพ่อมดมาเพื่อประกอบพิธีกรรมของชนเผ่า และการประกอบพิธีกรรมบูชาพ่อมด ชาวไทดำจะล้อมวงกันเต้น และจะมีหญิงกระทุ้งไม้ไผ่ให้จังหวะรอบวง ซึ่งประเพณีดังกล่าว เป็นการเล่นเพื่ออัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้เวลานานเป็นวันๆ โดยที่ชาวบ้านจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมพิธี

ขับมด เป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อมีคนเจ็บป่วยเรื้อรังในครอบครัว รักษาด้วยหมอยาแล้วไม่หาย สามีภรรยาหรือญาติของผู้ป่วยจะไปหา "หมอเหยา" มาเสกเป่าเยียวยาแก้ไข ถ้ายังไม่หายก็จะไปเชิญหมอมด มาทำพิธีรักษา หมอมดจะรักษาด้วยการขับมดและเสี่ยงทาย เพื่อให้ทราบสาเหตุของการเจ็บป่วย ถ้าหากถูกผีทำก็จะทำพิธีเลี้ยงผีแก้ไขอาการเจ็บป่วย เดิมการรักษาของหมอมดมีค่าคาย (ขึ้นครู) 2 บี้ แต่ปัจจุบันใช้เงิน 1,000 กีบ เทียน 8 คู่ ไข่ 2 ฟอง กระเทียม 2 - 3 หัว ฝ้าย 1 มัด เกลือ 1 ห่อ ข้าวสารใส่กะละมัง หวี และปอยผม 1 ปอย เพื่อถวายให้ผีมด

การรักษาเริ่มด้วยการให้ผู้ช่วยหมอมด 2 คนช่วยกันเป่าปี่ หมอมดจะทำการขับมด เพื่อเชิญผีมดให้มาช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บป่วย โดยสุ่มถามผีมดว่าถูกผีอะไรทำ เช่น ถามว่าถูกผีเรือนทำใช่ไหม แล้วเสี่ยงทายหาคำตอบด้วยการสาดข้าวสารลงบนพื้น 3 ครั้ง ให้ได้จำนวนคู่-คี่สลับกัน กล่าวคือ ถ้าครั้งแรกได้จำนวนคู่ ครั้งที่สองจะต้องได้จำนวนคี่ และครั้งที่สามได้จำนวนคู่ แสดงว่าผิดผีเรือน ถ้าเสี่ยงทายไม่ได้จำนวนดังกล่าวก็จะเป่าปี่ขับมดต่อไปอีกจนจบคำขับมด แล้วเสี่ยงทายอีกเช่นนี้จนกระทั่งได้จำนวนคู่สลับคี่ตามที่ต้องการ ดังนั้นการขับมดจึงใช้เวลานานอาจใช้เวลาตั้งแต่ตอนบ่ายจนกระทั่งถึงกลางคืน เมื่อทราบถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยว่าถูกผีใดมาทำ หมอมดก็จะให้ญาติผู้ป่วยจัดเตรียมสิ่งของสำหรับเซ่นเลี้ยงผี เพื่อให้เลิกทำแก่ผู้เจ็บป่วย

การรักษาของหมอมดไม่มีข้อห้ามในการรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน แม้ว่าคนป่วยจะนอนอยู่โรงพยาบาล หมอมดทำพิธีรักษาที่บ้านไปด้วยก็ได้ ผู้ร่วมพิธีขับมดได้แก่ ญาติพี่น้องใกล้ชิด เพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมทั้งคนในหมู่บ้านจะมาร่วมโดยไม่ต้องบอกกล่าว ขับมดจึงเป็นการรักษาทางด้านจิตใจ การเชิญหมอมดมารักษาแสดงว่าลูกผัวรักแพง รวมทั้งมีญาติ และเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเยือนทำให้ผู้ป่วยมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้หายจากการเจ็บป่วย

paothai dam 04

วิถีชีวิตของชาวไทดำในปัจจุบัน

เป็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย บ้านเรือนมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ เหมือนชุมชนทั่วไปในชนบท การใช้ชีวิตของชาวไทยดำก็เปลี่ยนไปตามวิถีกระแสสังคมและเทคโนโลยี ชาวไทดำส่วนหนึ่งใช้ชีวิตในสังคมของการพัฒนา ลูกหลานต้องไปโรงเรียนในอำเภอ วัยรุ่นแต่งกายตามสมัยนิยมทั่วไป แต่อีกส่วนหนึ่งชาวไทดำ ก็ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทดำจะมีระเบียบแบบแผนเป็นของตนเอง ซึ่งอยู่บนบรรทัดฐานของความเชื่อ

ปีใหม่ของชาวไทดำ จะจัดขึ้นในเดือนสิบ เรียกประเพณีปาตดง นอกจากนั้น ไทดำยังมีการละ เล่น ที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นการแสดงความเคารพต่อ "พ่อมด" ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะมีเครื่องดนตรี ประกอบด้วย ปี่บั้วบู ฟางฮาด เรียกการเล่นนี้ว่า แซปาง มักมีการแสดงในวันแรม หนึ่งค่ำ และเดือนหก

ด้านหัตถกรรมภูมิปัญญา ชาวไทดำมีศิลปะการทอผ้าที่สวยงาม และมีผ้าฝ้ายซึ่งเป็นผ้าพื้นเมือง ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบัน ชาวไทดำ ยังคงใช้ศิลปะทอผ้าแบบดั้งเดิมทุกกระบวนการผลิต

paothai dam 08

อาหารของชาวไทดำ ประกอบด้วยผักและน้ำพริก คือ แจ่วอดทำจากใบบอนคัน ไม่ค่อยนิยมกินเนื้อสัตว์ ชาวไทดำจึงคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม นอกจากความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวแล้ว ชาวไทดำยังคงมีปฏิทินเป็นของตนเอง ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์ในซึ่งปฏิทินทั่วไปจะมี 7 วัน แต่ของชาวไทดำมี 10 วัน

ชนชาวไทดำ จะนับถือและบูชาพระยาแถน บรรพบุรุษและผีต่างๆ มากและมีความเชื่อว่าคนทุกๆ คนนอกจากประกอบไปด้วยร่างกายแล้ว ยังประกอบด้วยอีกส่วนหนึ่งก็ คือ ขวัญ (วิญญาณหรือจิต) และเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เกิดจากการที่ขวัญไม่อยู่กับตัวเอง หรือขวัญได้หนีหายไป จะต้องมีพิธีตามหาขวัญหรือเรียกขวัญให้กลับคืนมา ในพิธีการเรียกขวัญนี้ต้องอาศัยหมอผี ซึ่งชาวไทดำเรียกว่า มด โดยหมอผีจะเชิญผีต่างๆ ให้ไปตามหาขวัญกลับมา

ในการเชิญผีชนิดใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าขวัญนั้น จะไปตกอยู่ที่ใด เช่น ขวัญไปอยู่ตามป่าตามเขาก็จะอัญเชิญผียะวาย ซึ่งเป็นผีเจ้าป่าเจ้าเขาเป็นผู้ตามหาขวัญให้กลับมา แต่ถ้าขวัญตกน้ำ ก็จะเชิญผีกองกอยตามหาขวัญซึ่งเมื่อตามหาขวัญกลับมาได้แล้วคนไข้ ก็จะหายจากการเจ็บป่วย และเมื่อถูกรักษาหายก็จะเป็นลูกเลี้ยงของหมอผีไป เมื่อครบรอบ 4 ปี หมอผีจะจัดพิธีเลี้ยงผีขึ้น ซึ่งชาวไทดำเรียกพิธีนี้ว่า การแซปาง หรือ ชมปาง โดยหมอผีจะอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ ที่ชาวไทดำนับถือลงมาชมปางก่อน แล้วค่อยอัญเชิญผีชนิดต่างๆ ลงมาชมปาง ในพิธีนี้ชาวไทดำทุกคนจะต้องมาร่วมพิธี ซึ่งมีการจัดหาเครื่องดนตรี มีการจัดเลี้ยงและฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน กินเวลาข้ามวันข้ามคืน

สืบสานวัฒนธรรมไทดำ จังหวัดเลย จาก ThaiPBS

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ไทดำรำพัน : เพลงรำลึกถึงบ้านเกิดชาวไทดำ

 

redline

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)