foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

paothai khmer

ชนชาวเขมร

เขมรถิ่นไทย เป็นชื่อทางวิชาการได้กำหนดขึ้น เพื่อเรียกผู้ที่พูดภาษาเขมรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยทั่วไปชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตัวเองว่า "คแมร์" หรือ "คแมร์-ลือ" แปลว่า เขมรสูง เรียกภาษาเขมรและชาวเขมรในกัมพูชาว่า "คแมร์-กรอม" แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยว่า "ซีม" ซึ่งตรงกับคำว่า "สยาม" ในภาษาไทย เมื่อพิจารณาเขตการปกครอง นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาเขมรเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ภาษาเขมรเหนือ หรือ เขมรสูง (เขมรถิ่นไทย)
  2. ภาษาเขมรกลาง เป็นภาษาของผู้ที่อยู่ใน กัมพูชา
  3. ภาษาเขมรใต้ เป็นภาษาของคนเวียดนามเชื้อสายเขมร

ปัจจุบันพบชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่ใน จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว

นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี สันนิษฐานว่า บริเวณที่ราบสูงโคราช เคยเป็นที่อยู่ของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณ ดูจากกลุ่มปราสาทโบราณ ศิลาจารึก ประติมากรรมที่พบมากในบริเวณดังกล่าวเช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทพนาวัน ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น ชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาสมัยหลังในช่วง พ.ศ. 2324 - 2325

ชาวเขมรสูง ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตภาคอีสานตอนใต้มาแต่โบราณกาลแล้ว และได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน โดยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2324 เมืองกัมพูชาเกิดจลาจล จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบ ในสงครามครั้งนี้ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ได้ร่วมยกกองทัพไปตีเมืองเสียมราฐ กำพงสวาย บันทายเพชร บันทายมาศ และได้นำชาวเขมรจำนวนมากมาไว้ที่ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศีรษะเกษ เมื่อปี พ.ศ. 2410

khmer 01

ครอบครัวของชาวเขมร มีความคล้ายคลึงกับครอบครัวไทยพื้นเมือง คือ พ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัว แม่บ้านดูแลภายในบ้าน ให้เกียรติแก่เพศชายในการดำเนินกิจกรรม หรือ ตัดสินเรื่องต่างๆ และมีการอยู่รวมกันหลายครอบครัว อาจประกอบด้วยปู่ย่า-ตายาย ลุงป้า-น้าอา พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้องจำนวนมากครอบครัวใดที่มีลูกสาวหลายคน สมาชิกก็มีแนวโน้มขยายมากขึ้น การแต่งงานของชาวเขมรถิ่นไทย ฝ่ายชายต้องเสียเงินและบรรณาการให้ฝ่ายหญิง โดยต้องจัดขันหมากไปให้ฝ่ายหญิง ประกอบด้วย หมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้และเงินทอง ฝ่ายหญิงต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน ชาวเขมรสูง ส่วนมากอยู่ในชนบทมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างในตัวเมือง และในกรุงเทพฯ เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบอาชีพหลักของตน

พิธีกรรมการโจลมะม๊วด หรือ มอม๊วด กลองกันตรึม

ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี "กันซง" ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีล นำอาหารไปทำบุญ ที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า ประเพณีเบ็น หรืองาน แคเบ็น ซึ่งตรงกับสารทไทย พิธีมงก็วลจองได เป็นพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน นิยมจัดในงานมงคล เช่น งานมงคลสมรส ขวัญนาค โกนจุก ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เมื่อบรรพบุรุษเสียชีวิต ชาวเขมรจะตั้งโกศบรรจุกระดูกผู้ล่วงลับไว้ในบริเวณบ้าน ในระยะหลังจะนิยมไปไว้ที่วัดมากกว่า

พิธีมอม็วด เป็นพิธีที่ทำเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย โดยผู้เข้าทรงจะเชิญวิญญาณมาเข้าสู่ร่าง และจะมีผู้คอยซักถามว่าเหตุใดถึงได้เจ็บป่วย นอกจากนั้นชาวเขมรถิ่นไทยยังเชื่อเรื่องโชคราง ของขลัง ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลังบางอย่างสามารถป้องกันภัยและรักษาโรคได้

khmer 03

การแต่งกาย ของชาวเขมรถิ่นไทย

ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าอัลลุยซีม ผ้าซาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเกือม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู เป็นต้น

เขมรถิ่นไทยมีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ จเรียง เป็นการขับร้อง หรือแหล่กลอนสด เนียะจเรียง หมายถึง ผู้ขับร้อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเขมร จเรียงมีด้วยกันหลายประเภท เช่น

  • จเรียงนอรแกว เป็นการร้องโต้ตอบระหว่าง ชายหญิง
  • จเรียงอาไย มีการรำประกอบการร้อง
  • จเรียงซันตูจ เป็นการสนุกสนานของหนุ่มสาวซึ่งไปช่วยแต่งงาน และงานมงคลในยามค่ำคืน
  • จเรียงตรัว จะเป็นการร้องประกอบเสียงซอ
  • จเรียงจรวง เป็นการร้อง ประกอบเสียงปี่

นอกจากนั้นยังมี กันตรึม รำตรุษ เล่นในเทศกาลสงกรานต์ รำสาก เป็น การรำประกอบเสียงดนตรี และเสียงกระทบสาก ผู้รำประกอบด้วยชายหญิงรำเป็นคู่ๆ รอบวงกระทบสาก

พันแสงรุ้ง ตอน "กันตรึม ดนตรีแห่งชีวิต" ของ ป่าใหญ่ครีเอชั่น

กันตรึมพื้นบ้าน มีความสนิทแนบแน่นกับพิธีกรรม และวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ซึ่งมีเชื้อสายเขมร ชาวบ้านใช้กันตรึมในงานพิธีต่างๆ กันตรึมมีเนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ทำนองของดนตรีที่เป็นเสียงโจ๊ะ ตรึม ตรึม จึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อ กันตรึม นั่นเอง

การเล่นเพลงกันตรึมในสมัยก่อน เพื่อประกอบพิธีกรรมการเจ็บไข้ได้ป่วยมาจาก เทวดาอารักษ์ลงโทษ เพราะผู้ป่วยทำผิด ในสมัยนั้นจึงเรียกว่า เพลงอารักษ์ การเล่นเพลงทุกครั้งต้องขึ้นด้วยเพลงไหว้ครูทุกครั้ง จากนั้นจะเล่นทำนองแห่ พิธีการ เบ็ดเตล็ดขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน วงดนตรีประกอบด้วยกลองเสียงทุ้มกับเสียงแหลม ซอ ปีอ้อ และจะเสริมด้วยฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับตามความเหมาะสม แต่ปัจจุบันคนสนใจสืบทอดกันตรึมน้อยลง อาจารย์อนันต์ สบฤกษ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับผู้รู้ ครูเพลงพื้นบ้าน นักดนตรี รวบรวมเพลงกันตรึม เพราะมองเห็นคุณค่าวัฒนธรรม และให้ดนตรีเหล่านี้สืบทอดไปยังลูกหลานสืบไป

เรือมตร๊ด (รำตรุษ)

เป็นการรำของชาวเขมรถิ่นไทย นิยมเล่นในเทศกาลออกพรรษา งานกฐิน และเดือนห้า (แคแจ๊ด) โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อบอกบุญขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุนผ้าป่า กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ กลอง ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่ กระพรวนวัว ซออู้ ผู้เล่นชายร้องเพลงคนหนึ่ง ฝ่ายหญิงคนหนึ่ง มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ นางรำแล้วแต่เหมาะสม ประมาณ 10-12 คน ร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฎลีลาอ่อนช้อยเนิบนาบ นักร้องชายหญิงร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน 15-20 คน เดินไปตามบ้านเหมือนกับการเซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร)

การแต่งกายสวมชุดพื้นเมือง เช่น ผ้าโสร่ง สวมเสื้อหลากสี เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใดก็จะเริ่มตีกลอง ผู้ร้องนำก็จะเริ่มร้องขับ แล้วผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกัน พร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีขวาที กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวนให้ได้ยินถึงเจ้าของบ้าน เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำให้ดื่ม ให้สุราและถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ หลังจากนั้นคณะรำตร๊ดก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ

khmer 04

เรียมอายัย (รำอายัย)

ที่เป็นการร้องโต้ตอบกัน ทำนองเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวชาวเขมรถิ่นไทยในเทศกาล งานรื่นเริงสนุกสนาน โดยผู้รำนั้นจะไหว้ครูพร้อมกัน เสร็จแล้วเดินออกมาโต้ตอบกันเป็นคู่ๆ มีลูกคู่รองรับ เมื่อร้องจบในแต่ละวรรคดนตรีก็จะบรรเลงรับ ผู้แสดงทั้งหญิงและชายจะรำเกี้ยวพาราสีกัน ลูกคู่จะปรบมือสนับสนุน เมื่อดนตรีจบคู่ใหม่ก็ออกมาร้องทุกคู่จนครบ และร้องบทลาในตอนจบ การรำไม่มีแบบแผนตายตัว เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำส่วนใหญ่เป็นท่าจีบ และแบมือเรียกว่า อายัย รำแบบในท่าฟ้อนเกี้ยว ท่ารำของฝ่ายหญิงจะเป็นท่าที่คอยปัด หรือท่าปกป้องระวังการถูกเนื้อต้องตัว

การแต่งกาย ใช้ผ้าทอพื้นบ้าน นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสไบคล้องคอ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าไหมคาดที่เอว

เครื่องดนตรี มีกลอง (สก็วล) 1 คู่ ปี่อ้อ 1 เลา ซอ 1 - 2 คัน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ทำนองที่บรรเลงเร้าใจ สนุกสนาน

นาฎศิลป์และดนตรี

นาฎศิลป์และดนตรีของชาวเขมรนั้น แยกไม่ออกจากนาฎศิลป์และดนตรีของชาวอีสานทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร ส่วย เยอ ดนตรีหลักของชาวลาว คือพิณ แคน ให้จังหวะด้วยกลอง ดนตรีหลักของชาวเขมรคือ ซอ ปี่ ระนาด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนชาวส่วยและเยอยึดเอาดนตรีของชนเผ่าที่ตนอยู่ใกล้มาใช้ โดยเฉพาะ พิณ และแคน

ประเพณีแซนการ์ (การแต่งงาน)

พิธีแต่งงานชาวเขมร จะจัด "พิธีแซนการ์" จะกำหนดงาน 2 - 3 วัน โดยแบ่งเป็นวันรวมญาติพี่น้อง หรือวันสุขดิบ วันแต่ง และวันส่งตัว เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของทุกคน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูล หนุ่มสาวไทยเขมรในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อรักใคร่กันแน่นอนแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายก็จะมาเยี่ยมเยียน ทำความคุ้นเคย จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มด้วยการทาบทาม ด้วยเหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดตามแต่จะพอใจ ถ้าตกลงกันได้ก็จะนัดกำหนดวันแต่งงาน

khmer 05

ไงแซน (วันแต่งงาน) ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "อาจารย์" เจ้าพิธี จัดเตรียม บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ ในปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา ด้านหน้ามี ฟูกสำหรับกราบบนฟูกวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พานผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น) ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้ ขันน้ำมนตร์ เป็นต้น

การแห่ขันหมาก มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษพร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก เข้าสู่ปะรำพิธี ฝ่ายหญิงจะมารับ นำเข้าสู่ปะรำพิธี เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะออกมามอบหมากพลูให้เจ้าบ่าว จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะแก้ห่อผ้าออกหยิบกินเป็นการยอมรับ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางทับบนหลังมือเจ้าสาว การเซ่นผี อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่นแล้วยกออกไป

khmer 12

สาวชาวแขมร์ สุรินทร์

การส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอน และผ้าไหว้ แห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำ และฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาว แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง พอขึ้นเรือนผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้น และหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว นำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ฝ่ายชาย แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่ไหว้ และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้ม จากนั้นจึงไหว้เจ้าบ่าวด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม สไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน

การเสี่ยงทาย จะมีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก การแต่งงานของชาวสุรินทร์ เน้นการขอบคุณ และระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ จะพบว่า ปะต็วล เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษ ที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์

ประเพณีงานเดือนห้า

เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณที่ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ ในวันขึ้น 1 ค่ำของเดือนห้า ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ทุกครัวเรือนจะพากันหยุดงานโดยพร้อมเพรียงกัน มีกำหนด 3 วันเพื่อพักผ่อน และไปนมัสการพระพุทธบาทจำลองเขาสวาย ซึ่งได้จำลองจากพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พอถึงวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีพิธีก่อเจดีย์ทรายตามวัดวาอารามทั่วๆ ไป มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองเจดีย์ทราย และมีการละเล่นต่างๆ เช่น รำกระทบสาก เป็นต้น พอรุ่งเช้าในวันขึ้น 15 ค่ำ มีการทำบุญตักบาตรอย่างพร้อมเพรียงกัน และจากวันแรม 1 ค่ำเป็นต้นไป ตามประเพณีให้หยุด

khmer 11

งานเดือนสิบ

โดยทั่วๆ ไป เรียกว่า "วันสารท" มี 2 ระยะ ในระยะแรกตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ประชาชนจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด ในระยะหลังตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ สำหรับในวันนี้ทุกครัวเรือนจะทำพิธีเซ่นไหว้เรียกวิญญาณของญาติพี่น้องที่ได้ล้มตายไปแล้ว ให้มารับของทาน เป็นต้นว่า ขนมนมเนยและสิ่งของต่างๆ พิธีอย่างนี้ชาวบ้านเรียกว่า "แซนโดนตา" กลางคืนไปฟังพระสวดที่วัด มีการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลผลบุญต่างๆ ให้ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว รุ่งเช้าในวันแรม 15 ค่ำ ไปทำบุญตักบาตรที่วัดโดยพร้อมเพรียงกัน

khmer 07

คนไทยส่วนใหญ่เรียกชื่อว่า ขอม มากกว่า เขมร ซึ่งจะแยกฐานะของคำเรียก จะใช้คำว่า ขอม เมื่อต้องการยกยอชมเชย เช่น ศิลปะขอม ภาษาขอม และคนขอม เป็นต้น แต่เมื่อไดใช้คำว่า เขมร จะใช้ในเชิงไม่ดี เหยียดหยาม เช่น เขมรป่าดง เขมรดงดิบ และไสยศาสตร์เขมร เป็นต้น 

การแสดง "เรือมบูเจียมจวมกรู" ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

redline

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)