คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เนื้อหานี้ทำขึ้นใหม่ทดแทนเนื้อหาเดิม Banpaaua ที่ลูกศิษย์ผมเคยทำไว้ เพื่อเข้าประกวดเมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งใช้ Macromedia Flash ทำก็สวยจนไ้รับรางวัล แต่พอเทคโนโลยีเปลี่ยนไป Browser สมัยนี้ไม่สนับสนุนการใช้ Flash ซึ่งไม่มีความปลอดภัยจากบรรดาผู้ไม่ปรารถนาดีนำมาเป็นช่องโหว่โจมตีบนโลกไซเบอร์ จึงทำให้ไม่สามารถแสดงผลได้อีกต่อไป ก็เลยมีการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมอีกนิดให้ตรงกับกาลสมัย
เมื่อเดินทางจากตัวเมืองอุบลราชธานี ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 จาก อุบลราชธานีมุ่งหน้าจังหวัดยโสธร เพียงแค่ 18 กิโลเมตร สังเกตหลักกิโลเมตรที่ 273 เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่เราจะได้พบกับ "หัตถกรรมเครื่องทองเหลือง" และ "ผ้าไหม ผ้ากาบบัว" ที่เป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อของที่นี่
ที่นี่คือ "แหล่งผลิตหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง" ที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน... ทั้งด้วยการเป็นหมู่บ้าน ชุมชนที่มีอายุมากกว่า 200 ปี และวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณ ที่ว่ากันว่าเป็นวิธีการเดียวกับการทำกระพรวนสัมฤทธิ์ สมัยยุคบ้านเชียงเมื่อ 2,000 ปีก่อน
เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว ท้าวคำผง ท้าวทิศพรหม และท้าวคำ บุตร พระวอ พระตา หนีภัยสงคราม "พระเจ้าสิริบุญสาร" เจ้าแห่งนครเวียงจันทร์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จตากสินมหาราช ซึ่งต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นบริเวณ "ดงอู่ผึ่ง" ใกล้แม่น้ำมูล ครั้ง พ.ศ. 2322 ได้ปักหลักสร้างคูเมืองจนแล้วเสร็จ จึ่งได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณทสีมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเมื่อ พ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีเชิญท้องตราพระราชสีห์มาพระราชทานเมืองว่า "อุบลราชธานี" ทรงให้ "ท้าวคำผง" เป็นเจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้พระราชทานศักดิ์เป็น "พระปทุมวงศา" เมืองอุบลราชธานีได้มีเจ้าของสืบต่อกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปี 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวง และผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลปกครองจนถึงปัจจุบัน
ประวัติดั้งเดิมเล่าว่า ผู้ก่อตั้งบ้านปะอาวมีชื่อว่า "ท้าวแสนนาม" เป็นไพร่พลของ พระวอ พระตา ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลฯ หลังจากการก่อตั้งเมืองอุบลฯ แล้วเสร็จมีความมั่นคง กลุ่มคนผู้ที่ติดตามมาก็ได้อพยพแยกย้ายออกมาทางด้านทิศตะวันตกของเมืองอุบลฯ เพื่อหาทำเลอันเหมาะสมในการตั้งหมู่บ้านอยู่อาศัยเป็นการถาวร ได้มีพี่น้องสองคนเดินทางมาด้วยกัน พอมาถึงสถานที่อันมีความเหมาะสมทำเลดี มีหนองบึง หนองบัวใหญ่ หนองบัวน้อย ผู้น้องจึงตัดสินใจก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น ชื่อว่า "บ้านป๋าอาว" คำว่า "ป๋า" แปลว่า ละทิ้งจากกัน ส่วนคำว่า "อาว" หมายถึง อา น้องของพ่อ ต่อมามีการเรียกเพี้ยนออกไปว่า "บ้านปะอาว" จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งหมายถึง "เป็นหมู่บ้านที่ผู้เป็นพี่ละทิ้งผู้เป็นน้องชายไว้" ส่วนผู้เป็นพี่นั้นได้เดินทางออกไปหาทำเลที่มีความเหมาะสมถัดออกไปอีก มีหนอง มีน้ำอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน เลยก่อตั้งหมู่บ้านชื่อ "บ้านโพนเมืองมะหัน" ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ ในปัจจุบัน
สารคดี "เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว" มรดกภูมิปัญญา เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
เมื่อพูดถึง "บ้านปะอาว" ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึง "ผลิตภัณฑ์จากทองเหลือง" ด้วยชาวบ้านปะอาวทำการหล่อทองเหลือง เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ในยุคแรกๆ การหล่อทองเหลืองก็เพื่อทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เต้าปูน กระดิ่ง หมากหิ่ง (ลูกกระพรวน) หมากหวิน (ใช้รัดปลอกคอวัว) ต่อมาเมื่อมีการตั้งกลุ่มเพื่อผลิตหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง "เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว" จึงเป็นที่รู้จักและผลิตออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆ
บ้านปะอาว มีทำเลที่ตั้งสงบร่มเย็น อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ปลูกผัก หาปู ปลา หอย มาเป็นอาหาร แบ่งปันกัน ไม่มีการลักขโมยกัน ผู้คนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ดังคำขวัญของหมู่บ้าน ที่ว่า
ทองเหลืองสดใส ผ้าไหมสุดสวย ร่ำรวยน้ำใจ บั้งไฟแสนเลื่องลือ ยืดถือคุณธรรม "
สำหรับการผลิตหัตถกรรมทองเหลืองเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้ชุมชน มี "ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว" ตั้งอยู่ที่ บ้านปะอาว หมู่ที่ 5 ตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งจากการบอกเล่าของ นายบุญมี ล้อมวงศ์ ทายาทรุ่นที่ 6 ผู้สืบทอดการทำหัตถกรรมทองเหลืองจากบิดา (นายทอง ล้อมวงศ์) ได้เล่าให้ฟังว่า "ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พากันทำเครื่องทองเหลืองมาก่อนแล้ว ผมก็ได้เรียนรู้และช่วยเหลือครอบครัวทำเครื่องทองเหลืองมาตั้งแต่เด็ก พอพ่อทองได้เสียชีวิตลง ก็ได้สืบทอดมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได็ศึกษาเรียนรู้ ปัจจุบันได้เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้การหล่อทองเหลืองโบราณที่มีเพียงหนึ่งในสองของประเทศไทย"
นอกจากการทำเครื่องทองเหลืองแล้ว สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของชุมชนอีกอย่างหนึ่ง คือ การทอผ้าไหม และผ้ากาบบัว (ผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี) ชาวบ้านสืบทอดการทอผ้าไหมมาแต่โบราณ สำหรับการใช้ในครัวเรือน ซึ่งลวดลายและสีสันของผ้าก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ใช้ไหมแท้ในการทอจึงเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย มีการรวมกลุ่มทอผ้าขึ้นในชื่อ "กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านปะอาว" ได้ทำการทอผ้าไหมด้วยมือมีฝีมือประณีต ส่งเข้าร่วมการประกวดในงานแสดงและจำหน่ายผ้าไหมต่างๆ ได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่ยอมรับในฝีมือ ลวดลาย สีสันผ้าไหมไปทั่วประเทศ
ใกล้กับ "ศูนย์หัตถกรรมท้องเหลืองบ้านปะอาว" เป็นที่ตั้งของวัดบูรพา ที่ภายในเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านปะอาว" โดยดัดแปลงชั้นล่างของกุฏิพระสงฆ์เป็นที่จัดแสดงวัตถุต่างๆ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 หัวเรือใหญ่ที่ริเริ่มคือ หลวงพ่อพระครูธรรมสุทรนิวิฐ เจ้าอาวาส พระอาจารย์มหาพยนต์ สนตจิตโต รองเจ้าอาวาส และนายอภิชาติ พานเงิน กำนันตำบลปะอาว โดยขอรับบริจาคสิ่งของตางๆ จากชาวบ้าน และของส่วนหนึ่งที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ วัตถุที่จัดแสดงมีหลากหลายชนิดวางบนชั้นไม้และในตู้กระจก อาทิ พระเครื่อง ตู้พระคัมภีร์ อาสนะ เครื่องมือทอผ้า ที่ฟักไข่และออกใยไหมของตัวหม่อน โฮงกระบอง โบม (ถาดใส่ข้าวเหนียว) กระติบข้าว กระดึง เงินฮาง ผ้าหอคัมภีร์ ผ้าไหม-บังสุกุล เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง พานหมาก ตะเกียง วิทยุเก่า เป็นต้น ของบางชิ้นมีป้ายคำอธิบายสามภาษา ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น
เงินงบประมาณส่วนหนึ่งที่นำมาจัดทำตู้จัดแสดง ป้าย แผ่นพับ เป็นเงินสนับสนุนจาก "โครงการรุ่งอรุณ" ที่ส่งเสริมให้นักเรียนโรงเรียนปะอาว เรียนรู้สังคมและสิ่งรอบตัว ไม่ใช่เรียนรู้แค่ในโรงเรียนอย่างเดียว
ในการทำ "หัตถกรรมเครื่องทองเหลือง" นั้น เป็นการทำทองเหลืองด้วยการหล่อและหลอมออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น เต้าปูน ตะบันหมาก กระดิ่ง กระพรวน ผอบ ชุดเชี่ยนหมาก และอีกมากมาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแท้ๆ ซึ่งเราทำด้วยมือสมกับเป็นหัตถกรรมจริงๆ บ้านปะอาวเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เป็น "บ้านนายช่าง" "บ้านนายฮ้อย" หรือ "หมู่บ้านช่างหล่อ" ในอดีต เพราะชอบการหล่อหลอม และชอบค้าขาย (นายฮ้อย) สมัยก่อนนั้นเมื่อทำการหล่อเสร็จแล้วก็นำไปขาย โดยหาบบ้าง สะพายบ้าง ตามแต่กำลังที่จะเอาไปได้ รอนแรมไปตามหมู่บ้านต่างๆ จนกว่าสินค้าจะหมดจึงจะหวนเดินทางกลับบ้าน การทำทองเหลืองนั้นทำเป็นกลุ่ม สมัยก่อนทำกันแทบทั้งหมู่บ้าน แต่เดี๋ยวนี้เหลืออยู่ไม่กี่กลุ่ม เพราะเลิกลากันไปทำอาชีพอย่างอื่นๆ
เครื่องทองเหลือง ชุมชนบ้านปะอาว : รายการไทยศิลป์
สำหรับกรรมวิธีทำหัตถกรรมหล่อทองเหลืองโดย "วิธีการหล่อแบบขี้ผึ้งหาย" ของชุมชนบ้านปะอาว เริ่มจากการเตรียมดิน โดยนำดินโพน (ดินจอมปลวก) มาตำให้ละเอียดผสมกับมูลวัวและแกลบ คลุกเคล้าจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงปั้นหุ่นต้นแบบหรือพิมพ์ โดยนำดินที่ตำเสร็จแล้วผสมน้ำและปั้นเป็นหุ่นให้มีรูปร่างลักษณะตามที่ต้องการ จากนั้นใช้ไม้มอนเสียบกลางหุ่นเพื่อให้สามารถจับยึดกลึงได้ แล้วนำไปตากให้แห้ง
บ้านปะอาว มีการประดิษฐ์ลูกกระพรวนสืบต่อมาจากบรรพบุรุษมาช้านานประมาณ 200 ปี ลักษณะและรูปแบบการผลิต เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเอง การทำลูกกระพรวนมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 การปั้นหุ่นดิน หุ่นดิน คือ หุ่นที่กำหนดขนาดและรูปแบบของลูกกระพรวนมีขั้นตอนคือ
วิธีผสมดิน
วิธีพิมพ์หุ่นดิน
ขอบคุณภาพประกอบจาก Guideubon.com
ขั้นที่ 2 การพันด้วยเส้นผึ้ง
ขั้นที่ 3 การโอบเพชร การโอบเพชร คือ การใช้ดินเหนียวหุ้มพอกหุ่นขี้ผึ้งลูกกระพรวน เพื่อให้เกิดช่องว่าง เมื่อขี้ผึ้งหลอมเหลวและเผาไหม้ เป็นขั้นตอนการเททอง
ขั้นที่ 4 การโอบเบ้า การโอบเบ้า คือ การรวมชนวนลูกกระพรวนให้เป็นแท่งเดียวกัน และลูกกระพรวนจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก มีประมาณเบ้าละ 25-30 ลูก
ขั้นที่ 5 การเททอง การเททอง คือ การเตรียมน้ำทองในเบ้าหลอม น้ำทองหลอมเหลวส่วนผสมทองเหลืองและอลูมิเนียม อัตราส่วน 100 : 1 โดยน้ำหนัก
เสน่ห์การทำหัตถกรรมทองเหลืองของบ้านปะอาวนี้ ถึงขนาดที่กวีซีไรต์อย่างท่าน อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังได้นำไปเขียนเป็นบทกวีใน หนังสือเขียนแผ่นดิน ไว้ด้วยว่า....
....ตำดินปั้นเบ้าใส่เตาสุม ฟืนรุมไฟโรมเข้าโหมเบ้า
ไม้ซาก สุมก่อเป็นตอเตา ลมเป่าเริมเปลวขึ้นปลิวปลาม
แม่เตาหลอมตั้ง กลางไฟเรือง ทองเหลืองละลายทองก็นองหลาม
สูบไฟโหมไฟไล้ทองทาม น้ำทองเหลืองอร่ามเป็นน้ำริน
รินทองรองรอลงบ่อเบ้า ลูกแล้วลูกเล่าไม่สุดสิ้น
ต่อยเบ้าทองพร่างอยู่กลางดิน สืบสานงานศิลป์สง่าทรง
ลงลายสลักลายจนพรายพริ้ง ลายอิ้งหมากหวายไพรระหง
ดินน้ำลมไฟ ละลายลง หลอมธาตุทระนง ตำนานคน....
เครื่องทองเหลืองของชาวบ้านปะอาวนั้น ไม่ใช่ไก่กานะขอรับ เคยได้รับเกียรตินำไปเข้าฉากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์กันมาแล้วนะครับ ทั้ง ตำนานพระศรีสุริโยทัย และ ตำนานพระนเรศวรมหาราช ไม่ว่าจะเป็น เชี่ยนหมากลายอิงหมากหวาย หรือ กาน้ำทองเหลือง ที่สวยงามอลังการยิ่ง
ท่านสามารถอุดหนุน "กระดิ่งทองเหลือง" ของชาวบ้านปะอาว ที่มีเสียงดังกังวานทีเดียว ไม่ใช่มีแค่กระดิ่งนะ เครื่องทองเหลืองที่ผลิตจากบ้านปะอาว ยังมีให้เลือกทั้ง ผอบ เต้าปูน ตะบันหมาก ขันน้ำ หัวไม้เท้า ซึ่งล้วนแล้วแต่มีลวดลายที่วิจิตรบรรจง สมกับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแห่งอาณาจักรล้านช้างโดยแท้
ท่านที่สนใจเครื่องทองเหลืองที่เป็นมรดกตกทอดของชุมชนแห่งนี้ ติดต่อไปได้ที่ ศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ที่ 170 หมู่ 5 บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 08-1548-4292, 08-3155-8265
รายการทุกทิศทั่วไทย ตอน เที่ยวชุมชนทำเครื่องทองเหลือง อุบลราชธานี
ฅนอีสานในอดีตนั้นมีเครื่องใช้ไม้สอยมากมาย เนื่องจากธรรมชาติในพื้นถิ่นเต็มไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้หลากหลาย น้ำท่าบริบูรณ์ จึงมีการคิดค้นสร้างเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาใช้งานซึ่งมีทั้งคุณค่าความสวยงาม อรรถประโยชน์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทันสมัยยุคพลาสติกเข้ามา เครื่องใช้ในอดีตก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา เรามาย้อนอดีตกันว่ามีอะไรบ้าง
โฮงกะบอง น. ที่สำหรับวางกะไต้ เพื่อจุดไฟให้มีแสงสว่าง เรียก โฮงกะบอง สร้างบ้านเรือนแล้วยังขาดโฮงกะบอง โบราณถือว่ายังสร้างไม่สำเร็จ อย่างว่า สร้างเฮือนแล้วยังโฮง (ภาษิต). stand for holding lit torch. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
โฮง คือ ขาตั้งกะบอง (ขี้ไต้) เพื่อให้แสงสว่างในยามค่ำคืน มีฐานเป็นไม้หนาขุดร่องรองรับขี้ไต้ ขาทำเป็นง่ามไว้รองรับตัวกะบอง (ดังภาพ) ในชนบทเมื่อครั้งอดีตกาลยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตะเกียงน้ำมัน เทียนไข (มีก็ต้องซื้อหาราคาแพง) ชาวบ้านจึงทำกะบองไว้จุดไฟให้แสงสว่างยามค่ำคืน
กะบอง มีความหมายตรงกับ "ไต้" หรือ "ขี้ไต้" ของภาคกลาง ใช้สำหรับจุดไฟให้แสงสว่างในเวลาค่ำคืนแทนตะเกียง หรือไฟฟ้าในปัจจุบัน กะบอง ทำด้วยไม้ผุ หรือไม้ขอนดอก (ไม้ผุที่เป็นขุยตามขอนไม้ล้ม ภาษาลาวทางเวียงจันทน์ เอิ้นว่า "โดก" คือขอนไม้ผุ) คลุกเคล้ากับน้ำมันยางซึ่งได้จากต้นยางนา (ไม้ยางที่ใช้สร้างบ้านเรือน) นำมาปั้นให้เป็นแท่งกลม ยาวประมาณ 1 ศอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้วฟุต ใช้เปลือกไม้หรือใบไม้ขนาดใหญ่ เช่น ใบพลวง ใบจิก หรือใบต้นยางนาห่อมัดด้วยตอก หรือเชือกเป็นเปลาะๆ กะบองจำนวน 1 อัน เรียกว่า 1 เล่ม ถ้ามัดรวมกันเป็นมัดๆ ละ 10 เล่ม เรียกว่า 1 ลืม หรือ 1 หลึม
กะบอง ในภาคอีสานมี 4 ชนิด
การจุดไต้ภาษาอีสาน เรียกว่า "ไต้กะบอง" (ไต้ แปลว่า จุดไฟ) ขณะที่ไต้กะบองจะทำฐานรองรับขี้ไต้ และมีที่เสียบไต้เรียกว่า "เขียงกะบอง" หรือ "โฮงกะบอง" ทำเป็นกระบะไม้ขนาดกว้าง 8 นิ้ว ยาง 12-16 นิ้ว สะดวกในการย้ายที่ และขี้ไต้ไม่ตกเรี่ยราดบนพื้นเรือน ป้องกันไฟไหม้บ้านเรือนได้ (เป็นภูมิปัญญาอีสาน)
ในสมัยผู้เขียนเป็นเด็กน้อยเรียนหนังสือชันประถม ก.กา นั้น ครูใหญ่ที่โรงเรียนมีวิธีพิสูจน์ว่า "ไผอ่านหนังสือเฮียน เฮ็ดการบ้านอยู่เฮือน ยามมื้อแลงได้ โดยให้เด็กน้อยจก (ล้วง) ในฮูดัง (รูจมูก) ถ้ามีเขม่าควันสีดำๆ ติดมือออกมา แสดงว่า ทำจริง ถ้าไม่มีก็เป็นการขี้ตั๋ว (โกหก) ครู" เพราะว่า ถ้าไต้กระบองหรือจุดตะเกียงน้ำมันก๊าด (บ้านไผมีฐานะ) ก็จะพบว่า เขม่าจากควันกะบอง หรือตะเกียงเข้าไปติดในขนจมูกนั่นเอง ครูใหญ่กะแม่นฉลาดคัก อาวทิดหมูกะบ่ได้อ่านดอกแค่ไปนอนข้างโฮงกระบองให้ฮูดังดำไปตั๋วครู 🤣😂😁
การทำน้ำมันยางนั้น คนหาน้ำมันยางจากต้นยางนา จะหาต้นยางในป่าที่ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มจำนวนมากๆ ใช้ขวานบ่อง (เจาะ) ต้นยางให้เป็นช่องลึกขนาด 8 นิ้วฟุต กว้างยาวประมาณ 8 นิ้วฟุต หากต้นยางใหญ่อาจจะบ่องรูใหญ่กว่านี้ การบ่องต้นยางนี้จะบ่องจำนวนมาก 50-60 ต้น เมื่อบ่องต้นยางได้จำนวนดังกล่าว คนหาน้ำมันยางจะใช้เศษใบไม้จุดไฟในหลุมต้นยางที่บ่องไว้ทุกต้น มักจะจุดในตอนกลางวัน ปล่อยทิ้งไว้จนไฟดับไปเอง
ซีรีส์วิถีคน ThaiPBS ตอน "ขี้ไต้ยางนา ขุมทรัพย์จากป่า" บ้านสร้างถ่อใน อำนาจเจริญ
วันรุ่งขึ้นจะมีน้ำมันยางจำนวนมากไหลออกมาขังอยู่ในหลุมที่บ่องไว้ จะใช้กะลา หรือ ใบไม้ช้อนเอาน้ำมันยางใส่ในภาชนะที่เตรียมมา หากมีต้นยางนาจำนวนมากดังกล่าวข้างต้น จะได้น้ำมันยางประมาณวันละ 5-6 ปีบ เมื่อตักน้ำมันยางแล้วก็จะจุดไฟในหลุมยางที่บ่องไว้อีก ปล่อยให้ไฟดับไป วันรุ่งขึ้นก็มาตักน้ำมันยางได้อีก การหาน้ำมันยางจะทำดังกล่าวจนหมดฤดูแล้ง หรือจนกว่าต้นยางให้น้ำมันยางจำนวนลดลง ก็จะหยุดชั่วคราว น้ำมันยางในชนบทสมัยอดีตมีความต้องการมาก เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ทำกะบอง (ไต้) ใช้ยาเรือ ใช้ยาครุตักน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำอื่นๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมทำร่ม กระดาษ ทำหมวก ฯลฯ
วิธีทำขี้ไต้ หรือ ขี้กระบอง สำหรับจุดไฟให้แสงสว่างในอดีต
ที่มาข้อมูล : ธวัช ปุณโณทก : หนังสือสารานุกรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1
โบม กระโบม หมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่งทําด้วยไม้มีลักษณะกลมแบน เครื่องใช้ในครัวเรือนของชาวบ้านชนบทอีสาน ใช้สำหรับส่ายข้าว หรือ ใช้สำหรับสงข้าวเหนียวนึ่งเสร็จใหม่ๆ โดยจะนำข้าวเหนียวนึ่งสุกเทออกจาก หวด หรือ มวย ใส่ลงใน โบม แล้วจึง สง เพื่อให้ไอน้ำในข้าวนึ่งและความร้อนระเหยออกไปบางส่วน จากนั้นจึงนำไปใส่ลงใน กระติบข้าว หรือ ก่องข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวเปียกแฉะ ซึ่งจะทำให้ข้าวบูดหรือเสียง่าย
ในบางท้องที่เรียกว่า โบม บ้างเรียก บม หรือ กระโบมส่ายข้าว ก็เรียก ทางจังหวัดเลย เรียก อัวะ หากขนาดเล็ก เรียก กะบอม กะบง และกระบาย หรือในถิ่นอื่นๆ มีเรียก อั๊วะ กั๊วข้าว เขียน กระเขียน หรืออ่างไม้ ในท้องถิ่นอื่นใช้สำหรับนวดข้าวให้อ่อนนุ่ม หรือใช้นวดแป้งทำขนมจีน
ใช้เป็นที่รองนวดสำหรับทำอาหาร เช่น นวดทำขนมจีน (หรือ ทำข้าวปุ้น) ก่อนจะบีบเป็นเส้น ใช้เป็นที่รองสำหรับคั้นส้มผัก (ทำผักดอง) หรือทำข้าวหมาก ใช้เป็นพาข้าว ภาชนะรองพาข้าวเพื่อทำสำหรับข้าว
การใช้โบมนั้นเมื่อล้างให้สะอาดแล้ว ต้องผึ่งลมให้แห้งจะได้ไม่ขึ้นรา ห้ามตากแดดโดยตรงอาจทำให้ไม้แตกได้ วันเวลาผันผ่าน ธรรมชาติป่าไม้เริ่มร่อยหลอ ชาวบ้านก็หันมาใช้ไม้ไผ่จักสานเป็นกระด้งใช้แทนกระโบม และต่อมาก็กลายเป็นถาดสังกะสีดังที่เห็นในปัจจุบัน เพราะหาซื้อได้ง่ายกว่านั่นเอง (งานหัตถกรรมเริ่มมีน้อยลง มีคนสืบสานการทำน้อยลง และมีราคาสูงขึ้น)
ส่ายข้าวชาวอีสาน กับกระโบมไม้โบราณ
อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับโบมคือ ไม้ส่ายเข้า หรือไม้ค้นด้าม เมื่อเรานึ่งข้าวเหนียวสุกแล้ว ก็จะนำโบมมาวางใช้น้ำพรมที่กระโบมลูบให้ทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเหนียวติดพื้นโบม เทข้าวเหนียวลงในโบมใช้ไม้ค้นด้ามส่ายข้าวเหนียว (คน/พลิกข้าวเหนียวไปมา) ระบายไอน้ำออกพอประมาณ โดยสังเกตได้จากไม่มีน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำมาจับที่ข้าวเหนียวและที่โบม แล้วปั้นคลึงข้าวเหนียวเป็นก้อนขนาดเท่ากระติบใส่ลงไปในกระติบข้าวให้พอดี ได้ข้าวเหนียว หอมๆ แซ่บๆ สิจ้ำป่น จ้ำแจ่ว หรือกินกับลาบงัว คั่วไก่ หรือตำหมากฮุ่งกะแซบคือกันเด้อ
การส่ายข้าวเหนียวด้วย กะโบม
กระต่ายขูดมะพร้าว หรือ ง้อง เป็นเครื่องมือสำหรับขูดมะพร้าวที่ยังไม่ได้กะเทาะเปลือกออก เดิมทีการขูดเนื้อมะพร้าวคั้นกะทิ จะใช้ช้อนทำจากกะลามะพร้าวขูดให้เป็นฝอย ต่อมาทำเป็นฟันซี่โดยรอบ บางแห่งใช้ซีกไม้ไผ่บากรอยเป็นซี่สำหรับขูดมะพร้าว จนกระทั่งเมื่อมีการใช้เหล็กมาทำของใช้ในครัวเรือน จึงได้ตีเหล็กแผ่นบางๆ ตัดรูปโค้งมน ใช้ตะไบถู ทำซี่ละเอียดที่ปลายเหล็กคมเรียกว่า "ฟันกระต่าย" หรือ "เหล็กง้อง" นำส่วนเหล็กขูดฟันกระต่ายนี้ไปประกบ หรือเข้าเดือยกับรูปตัวสัตว์ที่เตรียมไว้จนเป็นกระต่ายขูดมะพร้าว
กระต่าย น. เครื่องมือขูดมะพร้าว ทำด้วยไม้กลมหรือแบนก็ได้ ที่ปลายฝังเหล็กเรียก กระต่ายขูดหมากพร้าว อย่างว่า ชื่ออยู่ครัว ตัวลี้อยู่ในป่า (ปัญหา) ไม้แท้แท้สังมาเอิ้นว่าสัตว์ เอากะโป๋งุมหัวกัดกินพวดพวด (ปัญหา). coconut grater tool.
ง้อง น. เหล็กแหลมงอ มีด้ามถือ ใช้แกว่งครูดในโคนเพื่อเกาะปลาหลด เรียก ง้องเกาะปลาหลด อีกอย่างหนึ่งเหล็กมีฟันเป็นซี่ ๆ เหมือนขวานฟ้าผ่า สำหรับใช้ขูดมะพร้าว เรียก ง้องขูดหมากพร้าว กระต่ายขูดหมากพร้าว ก็ว่า. curved metal scraper. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
การเรียกชื่อ "กระต่ายขูดมะพร้าว" อาจเนื่องมาจากฟันที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าวมีลักษณะเป็นซี่ยาวเหมือนฟันกระต่าย ประกอบกับการทำโครงไม้ซึ่งใช้เสียบฟันขูดและนั่งเวลาขูดมะพร้าว มักทำเป็นตัวกระต่ายมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น แม้ว่าจะมีการประดิดประดอยโครงไม้เป็นตัวเต่า แมว สุนัข และนก เป็นต้น ก็ยังเรียกกันว่า "กระต่ายขูดมะพร้าว" อยู่ดี
นอกจากคำว่า "กระต่ายขูดมะพร้าว" ยังมีคำอื่นอีก เช่น คำว่า "เหล็กขูด" ที่พูดกันมากในภาคใต้ของประเทศไทย และยังมีคำว่า "แมว" หรือ "งอง" ที่พูดกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย คงเรียกตามรูปร่างลักษณะของเหล็กขูด ซึ่งมีรูปงอ "กองงอง" เป็นต้น โดยเมื่อดูความนิยมใช้คำศัพท์ "กระต่ายขูดมะพร้าว" ที่นิยมกันมากกว่า "เหล็กขูด"
ท่าทางขูดมะพร้าวของผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างกัน โดยหากผู้ชายเป็นคนขูด มักจะนิยมนั่งคร่อมกระต่ายขูดมะพร้าว ในขณะที่ผู้หญิงจะนั่งไพล่หรือนั่งพับขาไปทางด้านใดด้านหนึ่งของกระต่ายขูดมะพร้าว วิธีการขูดมะพร้าวของชาวบ้านจะขูดเบาๆ ไม่กดแรงเกินไป เพราะจะทำให้ได้เนื้อมะพร้าวหยาบ ชิ้นใหญ่คั้นกะทิยาก หากขูดเบาๆ แล้วเนื้อมะพร้าวจะเป็นฝอยละเอียด คั้นน้ำกะทิง่ายและได้ปริมาณมากกว่าด้วย
ปกติการขูดมะพร้าวใช้ปรุงอาหารเฉพาะครอบครัว ต้องขูดในระหว่างเตรียมอาหารขณะนั้น ไม่นิยมขูดเนื้อมะพร้าวไว้ล่วงหน้านานๆ เพราะจะทำให้เนื้อมะพร้าวเหม็นบูด (มีกลิ่นหืน) ถ้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ ชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกันจะมาช่วยขูดมะพร้าวไว้จำนวนมาก เมื่อใช้ปรุงอะไรก็หยิบใช้ได้ทันที อาหารคาวหวานอร่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกะทิมะพร้าวด้วย หากมีกะทิมันหรือที่เรียกว่า “แก่กะทิ” คือ คั้นกะทิปรุงอาหาร ชาวบ้านจะชอบเพราะมีรสดี นั่นเอง
การขูดมะพร้าวโดยใช้กระต่ายขูดนับวันจะน้อยลง เพราะมีเครื่องมือขูดมะพร้าวชนิดใช้มือหมุน และแรงเครื่องยนต์เข้ามาแทนที่ ไปตลาดบอกแม่ค้าว่าจะเอากี่กิโล รอประเดี๋ยวเดียวก็ได้มะพร้าวขูดพร้อมนำไปคั้นกระทิแล้ว ส่วนชาวบ้านก็ไม่ค่อยทำโครงไม้เป็นรูปสัตว์ชนิดอื่นอีก เพราะไม่มีเวลาประดิดประดอย เพียงแต่ใช้เหล็กแผ่นๆ ทำเป็นเหล็กขูด และมีขาตั้งพื้นเชื่อมติดเป็นแผ่นเดียวกันเท่านั้น (ทำม้ารองนั่งด้วยไม้ธรรมดา ติดเหล็กขูดเข้าไปก็ใช้ได้แล้ว เหมือนในรูปที่เด็กนั่งขูด)
"การทำกระต่ายขูดมะพร้าว" รายการทุกทิศทั่วไทย ThaiPBS
เดี๋ยวนี้หายากแล้วกับ "ครุไม้ไผ่" เพราะมีครุถังเหล็ก ครุถังพลาสติก ราคาถูกมาแทนที่ "ครุ" คือ ภาชนะตักน้ำของชาวอีสาน ซึ่งสานมาจากไม้ไผ่แล้วนำมาลงน้ำมันยางผสมกับชัน (ภาษาอีสานเรียก ขี้ซี) มาทาโดยรอบทั้งด้านนอกด้านใน ปล่อยให้แห้ง สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นอย่างดี
ครุ น. ถังตักน้ำ ถังตักน้ำที่สานด้วยไม้ไผ่ ทาชันผสมน้ำมันยาง เรียก คุ ทำด้วยไม้ไผ่เรียก คุไม้ไผ่ ทำด้วยสังกะสีเรียก คุสังกะสี. pail, bucket. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
บางแห่งเรียก "กะป่อม" เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ทาชันเหมือนครุตักน้ำ แต่ทรงสูงก้นแหลม ใช้สำหรับหย่อนตักน้ำในบ่อลึก บางท้องถิ่นในภาคอีสานเรียก “แคง” ก็มี เรียก “ป่อม” ก็มี ส่วนภาคเหนือเรียกภาชนะชนิดเดียวกันนี้ว่า “น้ำถุ้ง” (รูปร่างป้อมเตี้ยกว่ากะป่อมอีสาน ส่วนหูใช้ไม้ตรึงติดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อให้ล้มตะแคงให้น้ำไหลเข้าได้ง่าย แต่หูของภาคอีสานจะใช้ไม้ไผ่โค้งต่อออกมาเป็นวงสำหรับหิ้ว)
"กะป่อม" คือ ครุตักน้ำในบ่อ มีขนาดย่อมกว่าครุ ก้นกลมรูปร่างเป็นทรงครึ่งวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากกะป่อมประมาณ 1 ฟุต สานด้วยไม้ไผ่เหมือนครุใส่น้ำ (ครุก้นสี่เหลี่ยมสำหรับวางตั้งได้) ทาด้วยชัน (กันน้ำรั่ว) ส่วนกะป่อมจะก้นกลมแหลม เพื่อที่จะให้กะป่อมล้มลงบนผิวน้ำในบ่อลึกได้เอง ส่วนงวงหรือหูนั้นทำด้วยไม้ไผ่ขนาดหนาประมาณ 1 นิ้วฟุต หรือ ไม้กลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วฟุต ต่อยึดกับตัวกะป่อมให้มั่นคง
การใช้งานกะป่อม จะใช้เชือกผูกติดกับงวงกะป่อม หย่อนลงไปในบ่อน้ำ (ภาษาอีสานเรียก น้ำส่าง ถ้ามีขอบเป็นไม้โดยรอบแบบรูปด้านซ้ายมือเรียก ส่างแซ่ง) กะป่อมจะล้มตัวบนผิวน้ำจนน้ำเต็มกะป่อม คนตักน้ำก็จะสาวกะป่อมขึ้นมา มีน้ำเต็มกะป่อม นำน้ำใส่ในภาชนะอื่นๆ หรือครุใส่น้ำเพื่อหาบน้ำกลับไปใช้สอยที่บ้าน และใช้กะป่อมตักน้ำในบ่ออีก บางแห่งใช้คันไม้สำหรับเกี่ยวกะป่อมตอนตักน้ำในบ่อลึก เรียกว่า “คันกะป่อม” หรือ “คันป่อม”
ในสมัยต่อมา ครุตักน้ำและกะป่อมไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากหาคนสานได้ยากขึ้น และมีราคาแพงกว่าถังน้ำสังกะสี หรือถังน้ำพลาสติกราคาถูก (งานหัตถกรรมเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ความพยายาม และความสนใจ ตั้งใจจริงเท่านั้น จึงมีน้อยคนที่คิดจะทำและสานต่อจากบรรพบุรุษ) ปัจจุบันครุไม้ไผ่จึงกลายไปเป็นของที่ระลึกเสียมากกว่านำมาใช้สอยกันในชีวิตประจำวันแล้ว
ถังเหล็ก แกลลอนพลาสติก มาแทนครุไม้ไผ่เกือบหมดสิ้นแล้ว
"วิธีการหาตาน้ำของชาวอีสานในอดีตก่อนขุดส่าง"
(เกร็ดความรู้จากภาพยนตร์ นายฮ้อยเลือดอีสาน)
ในอดีต "การขุดส่าง" เพื่อทำบ่อน้ำนั้น ใช่ว่าจะขุดลงไปแล้วน้ำจะผุดขึ้นมาเลย โดยเฉพาะการขุดส่างไว้บนโคก ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งจากน้ำ โอกาสที่จะขุดลงไปแล้วเจอน้ำนั้นน้อยมาก ดังนั้น เราอาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน (ปู่ย่า-ตายาย) เล่าให้ฟังถึงเรื่องการเดิน "หาบคุขี้ซี" ไปตักน้ำมาใช้ในแต่ละวันตามโคกต่างๆ ที่มีการขุดส่างเอาไว้ บางโคกอาจจะไกลจากเฮือนหลายกิโลเมตร บางโคกอาจจะอยู่ใกล้หมู่บ้าน เช่น ส่างแส่งโคกป่ากุง ส่างแส่งโคกป่าแก ส่างแส่งโคกขี้เหล็ก ฯลฯ (คนอีสานจะตั้งชื่อสถานที่ตามลักษณะของภูมิประเทศและต้นไม้ที่มีมากหรือเป็นจุดเด่นในบริเวณ แม้การตั้งชื่อหมู่บ้านก็ด้วย) และส่างเก็บน้ำก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านร่วมแรงรวมใจขุดช่วยกัน จนมีวลีที่พูดกันเล่นว่า "ไผบ่ขุดบ่ให้ตักนำ"
เมื่อขุดเสร็จแล้ว "ส่าง" จะมีชื่อเรียกตามลักษณะการตกแต่ง เช่น ส่างที่การใส่ไม้กั้นทั้งสี่ด้าน ทำเป็นผนังลงไปและโผล่พ้นดินขึ้นมา เรียกว่า ส่างแส่ง คำว่า "แส่ง" ในภาษาอีสาน คือ ไม้ที่นำมากั้นดินทรุด หรือ เป็นสิ่งกำบังไม่ให้สิ่งอื่นรุกล้ำเข้าไปในสิ่งที่อยู่ในแส่ง เช่น แส่งฮ้านผัก กันไก่ไม่ให้เข้าไปเขี่ยผัก การใส่แส่งให้ส่างน้ำก็เพื่อไม่ให้ดินผนังส่างตกลงไปในบ่อ เดียวบ่อจะตื่นและไปอุดตาน้ำ ส่วนแส่งที่โผล่พ้นดินขึ้นมานั้นก็เพื่อไม่ให้สัตว์ หมู หมา วัว ควาย เดินตกส่าง บางส่างอาจจะใส่แส่งด้วยการปั้นดินขึ้น เรียกว่า ส่างแส่งดิน
แต่ประเด็นที่น่าสนใจและอยากนำเสนอผู้อ่านคือ "คนอีสานในอดีตนั้นรู้ได้อย่างไรว่า ตรงไหนมีตาน้ำ" มันเป็นไปไม่ได้ที่จะขุดดินแบบสุ่มเอา แบบมั่วๆขุดลึกตั้ง 3- 7 เมตร บางที่ 9 เมตรก็ยังมี แสดงว่า ต้องมีวิธีในการดูและเสาะหาแหล่งตาน้ำในพื้นที่อันแห้งแล้งอย่างเช่น โคก เป็นต้น
คนอีสานในอดีตมีภูมิปัญญาที่สั่งสมและตกทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ นั้นคือวิธีการหาตาน้ำเพื่อขุดส่าง
1. ดูจากต้นไม้
2. ด้วยภาชนะ คือ คุขี้ซี คุขี้ซีนอกจากจะเป็นภาชนะที่คู่กันกับส่าง เพื่อใช้ตักและหาบน้ำแล้วยังสามารถหาตาน้ำได้
วัฒนธรรมการตักน้ำของคนอีสานในอดีต ทำให้เกิดเรื่องราวมากมายแตกแขนงออกไป เช่น การจีบพลอดรักกันของหนุ่ม-สาว การไปตักน้ำส่างเป็นโอกาสให้หนุ่มได้พบรัก หนุ่มบางคนไปดักรอพบสาวที่น้ำส่าง บางคู่นัดกันที่ส่าง ต้องตื่นแต่เช้า หรือตื่นแต่ดึกเพื่อไปนั่งรอน้ำออกส่าง บางครั้งน้ำไม่ออกส่าง ผู้ชายก็จะลงไปขุดตาน้ำ เพราะดินอาจจะไปอุดตาน้ำเอาไว้
เมื่อน้ำออกบ่อพอที่จะตักได้แล้ว ฝ่ายผู้หญิงก็จะต้องตักน้ำให้ผู้ชายไว้อาบก่อน มันเป็นธรรมเนียม ถึงสาวจะไม่ชอบผู้ชายคนนั้นก็ตาม เมื่อเขามาจีบ จะต้องตักน้ำให้เขาอาบก่อน เป็นมารยาททางสังคม เกิดเป็น "เนินสาวเซา" หมายถึง เนินที่สาวๆ หาบน้ำมาแล้วเมื่อย ก็จะหยุดพักกลางทาง สถานที่หยุดพักน้ำนั้น เรียกว่า เนินสาวเซา คำว่า เซา แปลว่า หยุด หนุ่มๆ ก็จะไปรอจีบสาวที่เนินสาวเซา บางคนก็อาสาหาบน้ำให้สาวที่ตนชอบจนถึงบ้าน เกิดเป็นตำนานรักเล่าให้ลูกหลานได้ฟังกันต่อๆ มา
โฮงกะบอง/ขี้ไต้ | โบม | กระต่ายขูดมะพร้าว | ครุไม้ไผ่ | ครกมอง | โม่หิน (โม่แป้ง) | ตะเกียงเจ้าพายุ | กระบวย ไหปลาแดก
กินข้าวฮางเป็นยา กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น กินสิ่งอื่นเป็นรอง "
ข้าวฮาง เป็นข้าวสารแปรรูปที่ผลิตขึ้นตามกรรมวิธี ซึงเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยอีสานมาตั้งแต่เดิม โดยการนำเอาข้าวเปลือกมาแช่น้ำไว้ เพื่อกระตุ้นให้สารอาหารต่างๆ จากเปลือกข้าวซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว แล้วจึงนำมานึ่ง เพื่อจัดเก็บสารอาหารให้คงไว้ แล้วนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง และนำไปสีโดยเครื่องสีข้าวกะเทาะเปลือก ทั้งนี้การนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการงอกของข้าว จะทำให้ผลิตสารชนิดหนึ่งขึ้นมา คือ สาร GABA (กาบา) ที่มีส่วนในเรื่องความจำ และเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ข้าวฮางงอก คือ ข้าวที่เพาะงอกจากข้าวเปลือก จะมีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และกลิ่นหอม จากเปลือกมาเคลือบที่เมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ข้าวฮางมีสารอาหารมากกว่าข้าวกล้องงอก มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าธัญพืชทั้งหลาย ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและสมดุล เพิ่มภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันเชื้อโรคหรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคได้ดี เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน ไขข้ออักเสบ โรคไต โรคเกี่ยวกับประสาทและสมอง ความจำเสื่อม การแก่เกินวัย โรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง หรือได้รับสารพิษต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี สารเร่งการเจริญเติบโต สารกันบูด สารสังเคราะห์ต่างๆ และอากาศที่เป็นพิษ เป็นต้น
ข้าวฮางงอก เป็นภูมิปัญญาชาวภูไทสกลนคร และชาวอีสานมานานนับเป็นร้อยๆ ปีมาแล้ว แต่ยุคหลังๆ วัฒนธรรมข้าวขาว (ชอบข้าวสวย หรือจะเป็นที่มาของชื่อข้าวหุงขาวๆ ในปัจจุบันก็ไม่ทราบได้) ทำให้ผู้คนหลงลืมกันไป
การเพาะงอก จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาชีวเคมี ทำให้เกิดสารอาหารเพิ่มขึ้นทั้งชนิดและปริมาณหลายเท่าตัว ดังนี้
ข้าวทุกพันธุ์สามารถนำมาทำข้าวฮางได้ แต่คนอีสานนิยมนำข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข 6 มาทำข้าวฮาง เนื่องจากปลูกเป็นประจำ และข้าวหอมมะลิจะมีกลิ่นหอม เหนียวนุ่มน่ารับประทาน และถ้าใส่สมุนไพรลงไปอีกยิ่งเพิ่มคุณค่าของข้าวฮางให้น่ารับประทาน ข้าวฮางที่ดีมีข้อสังเกตดังนี้
ข้าวฮางงอก ภูมิปัญญาอีสาน
ข้าวฮางงอกจะมีปริมาณสารกาบ้าในปริมาณมากกว่าข้าวฮางชนิดไม่งอก เนื่องจากข้าวฮางงอกมีการบ่มให้เกิดรากก่อนนำไปนึ่ง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอก บ้านน้อยจอมศรี อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
"ผงชูรส" เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นตัวการทำให้เกิดอาการมือสั่น หัวใจเต้นแรง ยิ่งถ้าร่างกายได้รับปริมาณที่มากเกินไป จะมีผลต่อระบบประสาท ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกรณีผงชูรสไหม้ไฟ ทำให้เกิดกระแสเลิกบริโภคผงชูรสไปชั่วขณะ วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่ต้องฝากท้องไว้กับอาหารถุง อาหารจานเดียว ทำให้โอกาสที่จะหลีกเลี่ยงจึงเป็นไปได้ยาก จะมีพ่อค้าแม่ค้าสักกี่รายที่ไม่ใช้ผงชูรส อีกทั้งอาหารกึ่งสำเร็จรูปทั้งหลาย หรือแม้แต่ขนมกรุบกรอบของเด็กก็ยังหนีไม่พ้น
"ผงนัว" ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และเป็นที่น่ายินดีว่า ทีมนักวิจัยจากแดนอีสานได้คิดค้น "ผงนัว" (นัว หมายถึง รสกลมกล่อมของอาหาร เช่น ต้ม แกง ลาบก้อย มีรสกลมกล่อม เรียก นัว) แบบสำเร็จรูปขึ้นมา โดยต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ใช้พืชผักสมุนไพรทำเครื่องปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหาร
นิภาพร อามัสสา แห่งสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร ได้สนใจที่จะวิจัยศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อราว 4 ปีที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตออกมาวางขาย และถ่ายทอดงานวิจัยตัวนี้ลงสู่ชุมชน เธอได้กล่าวถึงที่มาของการคิดค้นสูตรเครื่องชูรสนี้ว่า ในฐานะที่พื้นเพเดิมเป็นคนอีสาน ทำให้เห็นและรับรู้ถึงใช้พืชผักพื้นบ้าน อย่าง หม่อนนำมาใช้ในการปรุงอาหารให้มีรสชาติที่อร่อย เช่น ต้มไก่ใส่ใบหม่อน นอกจากนี้ยังมี "สูตรข้าวเบือ" ที่ใช้ข้าวเหนียวมาแช่น้ำ แล้วป่นใส่ในอาหารเพิ่มรสชาติ อย่างแกงหน่อไม้ หรือแกงอ่อมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เฉพาะที่สกลนคร มีเครื่องปรุงรสที่แปลกออกไป โดยชาวบ้านใช้ใบของผักพื้นบ้านหลายชนิดตากแดดให้แห้ง แล้วตำให้ละเอียดแล้วผสมกัน เก็บไว้ใส่อาหารเวลาต้มแกง หรือที่เรียกว่า ผงนัว
สำหรับผักที่ใช้ทำผงนัวมี 12 ชนิด ได้แก่ ใบผักหวาน, ใบมะรุม, ใบหม่อน, ใบกระเทียม, ใบหอม, ใบมะขาม, ใบกระเจี๊ยบ, ผักโขมทั้งต้น, ใบส้มป่อย, ใบน้อยหน่า, ใบชะมวง, ใบกุยช่าย เลือกใบที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป โดยผสมผักพื้นบ้านในอัตราส่วนที่ต่างกันไป แต่ที่มีอัตราส่วนปริมาณมากคือผักหวานและใบหม่อน รองลงมาเป็นใบมะรุม และที่ใส่ลงไปน้อยสุดคือใบน้อยหน่า เนื่องจากมีการถ่ายทอดมาว่าใบน้อยหน่ามีพิษ ซึ่งคนสมัยโบราณนำใบน้อยหน้ามาฆ่าเหา แต่อะไรก็แล้วแต่ถ้ามีพิษ และมีรสขมหากใส่แต่น้อยถือว่าเป็นยา ขณะเดียวกันชาวบ้านยังใช้ใบน้อยหน่ามาแกงกินได้
ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มข้าวเหนียวแช่น้ำ ข้าวกล้องแช่น้ำ และข้าวเหนียวนึ่งสุก ข้าวกล้องหุงสุก และเติมเกลือไอโอดีนลงไป ผ่านการอบแห้งแล้วป่นรวมกัน ซึ่งงานวิจัยผงนัว ยังคงส่วนผสมที่ชาวบ้านเคยทำไว้แต่มาปรับปรุงด้านสัดส่วน และเพิ่มเกลือไอโอดีนลงไป พร้อมดัดแปลงเรื่องของรสชาติที่เหมาะกับอาหารแต่ละชนิด
ผงนัวจากงานวิจัยได้มีการทดสอบรสชาติให้เป็นที่น่าพอใจ จึงมีด้วยกัน 2 รส คือ รสมันหวาน ใช้สำหรับ ต้ม ผัด หมัก แกงและย่าง และ รสเปรี้ยว ใช้กับต้มยำ ยำ ลาบ อ่อม แจ่ว รสนี้เพิ่มผักที่มีรสเปรี้ยวอย่าง ส้มป่อย ใบมะขาม เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รสชาติของผงนัว จะเพิ่มรสให้อาหารได้นั้น ต้องใส่ในน้ำต้มแกงตอนร้อน แต่ถ้าชิมเปล่าๆ จะไม่มีรสชาติ แต่รู้สึกได้ว่ามีรสปะแล่มๆ คล้ายกับผงชูรสที่ขายตามท้องตลาด
"การทำผงนัวต้องใช้เวลาทั้งปี เพื่อเก็บใบของผักพื้นบ้านให้ครบทุกชนิด เนื่องจากผักแต่ละชนิดจะมีตามฤดูกาล เช่น ใบหอม ใบกระเทียมจะมีตอนฤดูหนาว ผักหวานต้องรอให้ถึงหน้าฝนจึงจะมีใบ" อาจารย์นิภาพร อธิบายเพิ่มเติม
ผงนัวนอกจากมีคุณสมบัติเป็นเครื่องปรุงรสแล้ว ยังให้ประโยชน์ด้านสมุนไพร โดยเฉพาะตัวผักพื้นบ้านเองมีวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และจากการศึกษาของสถาบันการแพทย์แผนไทยพบว่า ใบมะขามอ่อน, ยอดส้มป่อย, ผักหวานป่า, ผักหวานบ้าน, ผักโขมและชะมวง อีกทั้งดอกมะรุม มีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระในระดับที่สูงมาก
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า กุยช่าย มีฟอสฟอรัสช่วยบำรุงกระดูก ใบหม่อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ระงับประสาท กระเจี๊ยบแดง ช่วยขับเสลดทำให้โลหิตไหลเวียนดี ทั้งนี้ ผักพื้นบ้านยังมีสารลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ช่วยฟอกโลหิต และบำรุงร่างกาย "ขณะนี้วิธีการทำผงนัวมีการถ่ายทอดไปสู่ชุมชนมากขึ้น ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บริโภคกันเองในชุมชน บางที่ผงชูรสถึงกับขายไม่ออก โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวานนิยมหันมาใช้ผงนัวเยอะขึ้น"
ยงยุทธ ตรีนุชกร ครูภูมิปัญญาไทย ด้านการแพทย์แผนไทย คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นคนแรกที่สัมผัสชีวิตวิถีชุมชนชาวอีสาน จนรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงว่า ชาวบ้านเริ่มมีโรคภัยที่ใกล้เคียงกับคนเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยปรากฏ "ผมเข้าไปทำงานกับลุ่มชาวบ้านที่ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นชนชาวกะเลิง (ชนเผ่าภาคอีสาน) เราเข้าไปทำแผนแม่บทชุมชนโดยการวิจัยศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้านที่เปลี่ยนไปทำให้สุขภาพเริ่มแย่ลง ซึ่งพบว่า จากที่ชาวบ้านเคยบริโภคอาหารจากพื้นผักสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เมื่อระบบเกษตรฯ เริ่มเปลี่ยนเป็นเน้นส่งออก ทำให้ชาวบ้านเน้นผลิตเพื่อขาย และต้องพึ่งพิงอาหารถุง อาหารกระป๋อง ที่มีผงชูรสเป็นส่วนประกอบ ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคเรื้อรังสารพัดโรค ทั้งโรคหัวใจ โรคเครียด โรคประสาท ความดันโลหิต ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคของคนเมือง"
ทำให้ต้องหาวิธีการพลิกฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีสุขภาวะที่ดี อายุยืนนับร้อยปี จึงได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนราชมงคลวิทยาเขตสกลนคร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันผลิตผงนัวขึ้นมาทดแทนผงชูรส ซึ่งนอกจากรสชาติดีแล้วยังปลอดภัยไร้สารพิษอีกด้วย "ผมอยากให้ทางนักวิจัยได้ไปวิเคราะห์วิจัยอย่างเป็นระบบ เพราะผมได้สอบถามผู้ที่กินผงนัวพบว่า โรคร้ายหลายโรคของเขาทุเลาลง ในบางโรคหายได้อย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะเบาหวานสามารถคุมน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี อาการปวด เมื่อย อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการของการได้รับสารพิษนั้นก็หายกันเป็นปลิดทิ้ง"
อย่างไรก็ตาม ยงยุทธ บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจคุณค่าทางอาหาร ในไทยจึงยังไม่มีวางขายในรูปแบบแพคเกจที่สวยงาม แต่เน้นส่งออกก่อนและได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าในเร็ววันนี้ประเทศไทยก็สามารถวางจำหน่ายได้ ส่วนประเภทผงบดละเอียดที่ชาวบ้านทำนั้นก็มีขายในท้องถิ่นได้รับความนิยมเป็นอย่างดี
รสมันหวาน
ข้าวเหนียว (เมล็ดสุกตากแห้ง) บำรุงกำลัง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกระดูก ให้พลังงาน
มันเทศ (หัว) ถอนพิษ ต้านเชื้อแบคทีเรีย
ก้านตรง (ใบ) บำรุงกำลัง
คอนแคน (ยอดอ่อน) แก้โรคกระเพาะ แก้ไอ แก้เบาหวาน
มะรุม (ยอดอ่อน) แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ บำรุงกระดูก
ข้าวโพด (หนวด) บำรุงม้าม ขับปัสสาวะ รักษาบวมน้ำ บิด ท้องร่วง
รสเผ็ดร้อน
ข่า (หัวเหง้า) ขับลมแก้ท้องอืดเฟ้อ แก้โรคกระเพาะ ลดไขมันในเลือด แก้หลอดลมอักเสบ
กระเทียม (ใบ) แก้ความดันโลหิตสูง ลดไขมันในเลือด แก้จุกเสียด
กะเพรา (ใบ)ขับลมแก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ แก้โรคผิวหนัง
รสเผ็ดหอม
ผักแพรว/ผักไผ่ (ใบ) ขับลมในกระเพาะ ช่วยเจริญอาหาร
รสหอมร้อน
ผักแป้น (ใบ) แก้หวัดบำรุงกระดูก แก้ลมพิษ ปวดแน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด
ตะไคร้ (หัวเหง้า) แก้ท้องอืดเฟื้อ ปัสสาวะพิการ นิ่ว บำรุงไฟธาตุ
ชะอม (ราก เปลือกต้น) ขับลมในกระเพาะ แก้ท้องอืดเฟ้อ ปวดเสียวในท้อง
กระชาย (หัวเหง้า) แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย บำรุงน้ำนม บำรุงสมอง บำรุงไต
หอมป้อม (ต้น) ช่วยขับลม ละลายเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หัดผื่น
ขมิ้นชัน (หัวเหง้า) ป้องกันมะเร็งลำไส้ รักษานิ่วในถุงน้ำดี ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้อักเสบ ป้องกันสมองเสื่อม
รสหอมเย็น
หอมเป/ผักชีฝรั่ง (ใบ) ให้ แก้ท้องอืด แก้ปวดเมื่อย ระบายท้อง
แมงลัก (ใบ) ให้รสหอมเย็น ขับสารพิษในลำไส้ ขับลมในกระเพาะ บำรุงกระดูก สร้างเม็ดเลือดรสหอมจืด
โหระพา (ใบ) ให้ แก้ท้องเสีย ปวดข้อ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แผลหนองรสหอมเผ็ดหวาน
ชะพลู (ใบ) บำรุงธาตุ ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้โรคเบาหวานรสหอมเย็นหวาน
ผักกาดหัว (หัว ก้าน ใบ) ขับเหงื่อ เป็นยาเย็น ขับลมในกระเพาะอาหาร
รสหวานเย็น
ผักหวานบ้าน (ยอดอ่อน) บรรเทาความร้อนในร่างกายรสขมเย็น
ย่านาง (ใบ) ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อีสุกอีใส แก้บิดรสมันขม
มะกรูด (ใบ) แก้ไอ แก้เจ็บคอ บำรุงเลือดรสขมเมา
หม่อน (ใบ) ขับเหงื่อ แก้เจ็บคอ แก้ไอ แก้ร้อนใน บำรุงไต ลดน้ำตาลในเลือดรสเบื่อเมา
น้อยหน่า (ยอดอ่อน) ขับพยาธิในลำไส้ แก้ฟกบวมรสขมหวาน
ผักขม (ต้นอ่อนทั้งต้น) ลดไขมันในเลือด มีเส้นใยมาก กำจัดการก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในน้ำดื่ม ในไส้กรอกได้ดี
รสเปรี้ยว
มะนาว (ใบ) แก้ไอ ขับเสมหะ เจริญอาหาร
ส้มป่อย (ใบ) ฟอกโลหิต ขับเมือกมันในลำไส้
ชะมวง (ใบ) ระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ ขับเลือด แก้ธาตุพิการ
มะขาม (ใบอ่อน) ระบายท้อง ขับเสมหะ ขับลมในกระเพาะ
กระเจี๊ยบ (ใบ กลีบดอก) ขับปัสสาวะ ลดน้ำตาลในเลือด แก้ร้อนในกระหายน้ำ สมานแผลใน กระเพาะอาหาร บำรุงกระดูกฟัน
ติ้ว (ใบอ่อน) ฟอกเลือด ช่วยระบาย
มะกอก ( เปลือก) แก้ร้อนใน อาเจียน หอบสะอึก
สับปะรด (ผล) แก้ไอ ขับเสมหะ ฟอกเลือด ขับปัสสาวะแก้อักเสบตามข้อ
ท่านที่สนใจ ผลิตภัณฑ์ผงนัว บ้านยางโล้น ตำบลโคกภู อำาเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ผงปรุงรส
เครื่องปรุงรส หรือน้ำปรุงรสนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าอาหารนั้นจะมาจากที่ใด หรือชนชาติใดก็ตาม ต่างก็ต้องมีเครื่องปรุงรสสูตรเด็ดของแต่ละที่ เช่น คนชายเลนำปลาทะเลมาหมักเป็นน้ำปลา คนอิสานทำปลาร้าและใช้ปรุงรสให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ยังมีน้ำปรุงรสอีกมากที่เกิดจากความคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในพื้นที่ต่างๆ น้ำผักสะทอน ก็เป็นหนึ่งเครื่องปรุงรสแสนเยี่ยมของคนเมืองเลยเช่นเดียวกัน
น้ำผักสะทอน เป็นหนึ่งภูมิปัญญาน้ำปรุงรส ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดเลย ที่อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว โดยเฉพาะในช่วงเมษาหน้าร้อน พี่น้องชาวบ้านจะตั้งเตาต้มน้ำผักสะทอนกันแทบทุกบ้าน ก็เพราะว่าช่วงหน้าร้อนเช่นนี้ ต้นสะทอนมียอดและใบอ่อน พร้อมให้พี่น้องออกไปเด็ดมาทำน้ำผักสะทอนไว้ปรุงอาหารนั่นเอง
“ต้นสะทอน” เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจังหวัดใกล้เคียง เป็นพืชตระกูลถั่ว มักเกิดขึ้นตามป่าที่อุดมสมบูรณ์บริเวณเชิงเขา และสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการเพาะเมล็ดและปักชำ รากและใบมีสรรพคุณทางยา ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืดและลดไข้ ชาวบ้านจะนำใบของต้นสะทอนที่แตกใบอ่อน ในช่วงกลางเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนเมษายน มาตำและนำไปหมักในน้ำสะอาดนาน 3-4 วัน ก่อนนำไปต้มเคี่ยวด้วยความร้อนจนได้น้ำผักสะทอนที่มีสีน้ำตาลไหม้ มีความหอม หวาน เค็ม ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
“น้ำผักสะทอน” เป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรสท้องถิ่นในจังหวัดเลย ที่ใช้แทนน้ำปลา เพียง 1-2 ช้อนโต๊ะ ก็จะสามารถปรุงรสอาหารประเภทต่างๆ เช่น แกง ต้ม ผัด ส้มตำ ยำ น้ำพริก และน้ำจิ้มต่างๆ ให้มีรสชาติกลมกล่อมอร่อยถูกปาก
ต้นสะทอน สามารถจำแนกได้ 3 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่ สะทอนจั่น สะทอนวัว และสะทอนจาน แต่ละสายพันธุ์จะให้น้ำสะทอนที่มีสี และรสชาติที่แตกต่างกันไป
ชาวบ้านทั่วทั้งด่านซ้ายจะขุดเตาดินขึ้นใหม่ กระทะใบบัวตั้งอยู่เหนือเตา น้ำผักสะทอนที่ต้มเคี่ยวไว้ตั้งแต่เช้าตรู่ ค่อยๆ งวดลงไปทีละนิดๆ กลิ่นน้ำผักสะทอน หอมอบอวลทั่วทั้งหมู่บ้าน ช่วงนี้ทุกบ้านต่างก็ต้มน้ำผักสะทอนกันทั้งนั้น สมาชิกในครอบครัวจะได้ร่วมมือร่วมใจ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะช่วยกัน เด็กน้อยช่วยเก็บ ช่วยลิดใบ เอาไปให้ผู้ใหญ่ทำน้ำปรุงรสแสนอร่อย ใบผักสะทอนไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไปนี้ใช้ต้มเป็นน้ำผักสะทอนได้ และเก็บไว้ทำอาหารแทนปลาร้าได้ตลอดทั้งปี เพราะให้กลิ่นและรสที่มีเอกลักษณ์
แต่สำหรับใครที่สนใจศึกษาดูงานเรื่อง น้ำผักสะทอน หรือสนใจสั่งสินค้าน้ำผักสะทอน สามารถติดต่อได้ที่ : แม่คำพัน 128 หมู่ 4 บ้านนาหว่า ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โทร 089 209 2367 หรือติดต่อที่ Facebook : น้ำพริกแจ่วดำน้ำผักสะทอนแม่คำพัน
เอกลักษณ์ของผ้าลายพื้นเมือง ที่ได้รับการกล่าวขานถึง จากครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันของชาวอุบลราชธานีคือ ผ้ากาบบัว ชื่อนี้เป็นที่ถกเถียง และสงสัยกันมากถึงที่มาที่ไป ทำไมจึงเป็น กาบบัว ไม่ใช่ กลีบบัว และลายที่แตกต่างนั้นดูตรงส่วนใด? คำถามเหล่านี้ผู้เขียนได้รับการสอบถามอยู่เสมอ จากเพื่อนพ้องต่างถิ่น ผู้มาเยือน และแม้แต่ลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจใคร่รู้ จึงเป็นที่มาของเรื่องราวที่จะกล่าวถึง ตำนาน และความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานี ในวันนี้
โดย : ครูมนตรี โคตรคันทา
ผ้ากาบบัว เป็นชื่อผ้าที่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมโบราณอีสานหลายเรื่อง คำว่า "กาบ" ในภาษาอีสานมีความหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของต้นไม้บางชนิด เช่น เปลือกหุ้มต้นกล้วย เรียก กาบกล้วย หุ้มไม้ไผ่ เรียก กาบลาง กลีบหุ้มดอกบัว เรียก กาบบัว (สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ : ปรีชา พิณทอง)
ผ้ากาบบัว อาจจะทอด้วยไหมหรือฝ้าย โดยมี เส้นยืน (Warh) ย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว ตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เส้นพุ่ง (Weft) จะเป็นไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด
จังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าพื้นเมืองมาช้านาน เห็นได้จากวรรรกรรมโบราณอีสาน และประวัติศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานี ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดถึงความประณีตสวยงาม แสดงออกถึงภูมิปัญญาของผู้ทอผ้า ที่ได้รังสรรค์บรรจงด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายอันวิจิตร สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ผ้ากาบบัว ได้รับการสืบสานให้เป็น "ผ้าเอกลักษณ์" ทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นผ้าไทย มีการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ลายกาบบัวนี้ ตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยรุ่น ด้วยรูปแบบแฟชั่นที่หลากหลายจากนักออกแบบมีชื่อ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำผ้าทอเมืองอุบลฯ ทูลเกล้าถวาย ซึ่งปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ.114 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ความว่า
"ถึง สรรพสิทธิ ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม ส่งผ้าเยียรบับลาวมาให้นั้นได้รับแล้ว
ผ้านี้ทอดีมากเชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย ถ้าจะยุให้ทำมาขายคงจะมีผู้ซื้อ ฉันจะรับเป็นนายหน้า ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู แต่อย่าตั้งใจคอยเพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้
จากการค้นคว้าถึงตำนานผ้าเยียรบับนี้พบว่า เป็น ผ้าลายกาบบัวคำ ทอด้วยเทคนิคขิด หรือยกด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) แทรกด้วยไหมมัดหมี่ ใช้เทคนิคการจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆ ลงบนผืนผ้า
ในเวลาต่อมาอีก 55 ปีถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ชาวอุบลราชธานีได้ร่วมใจกันทอ ผ้าซิ่นไหมเงิน ยกดอกลายพิกุล ทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และถัดจากนั้นอีก 5 ปีต่อมา ในวโรกาสเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมเงิน ที่ชาวอุบลราชธานีทูลเกล้าฯ ถวาย และมีพระกระแสรับสั่งกับเหล่าผู้เฝ้ารับเสด็จฯ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ว่า "ชาวอุบลฯ เขาให้ผ้าซิ่นนี้เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯ เขาดู" ยังความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นของชาวอุบลราชธานีทั้งมวล
โครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลราชธานี ได้เกิดขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองอุบลราชธานี โดย นายศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ได้มอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาฟื้นฟูลายผ้าพื้นเมืองในอดีตที่สวยงาม จนได้ลายผ้ามีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ชื่อว่า ผ้ากาบบัว พร้อมกับมีประกาศจังหวัดให้ "ผ้ากาบบัว" เป็น "ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด" เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 (ดูประกาศด้านล่างบทความนี้)
ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืนย้อมอย่างน้อยสองสี เป็นริ้วตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลราชธานี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่ และขิด
ผ้ากาบบัว (จก) คือ ผ้าพื้นทิว หรือ ผ้ากาบบัวเพิ่มการจกลาย เป็นลวดลายกระจุกดาว (บางครั้งเรียก เกาะลายดาว) อาจจกเป็นบางส่วน หรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า เพื่อสืบทอด "ซิ่นหัวจกดาว" อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าซิ่นเมืองอุบล ผ้ากาบบัว (จก) นี้เหมาะที่จะใช้งานในพิธีหรือโอกาสสำคัญ
ผ้ากาบบัว (คำ) คือ ผ้าทอยก (บางครั้งเรียก ขิด) ด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) อาจสอดแทรกด้วยไหมเงิน หรือไหมสีต่างๆ อันเป็นผ้าที่ต้องใช้ความประณีตในการทออย่างสูง
ผ้ากาบบัว คือ ผ้าที่ใช้เทคนิค 4 เทคนิคผสมกันในการทอ เริ่มจากเส้นยืนที่ต้องใช้ 2 สีขึ้นไป เพื่อให้เกิดลายทิวหรือลายแนวนอนขวางลำตัวเวลานุ่งซิ่น ส่วนเส้นพุ่งประกอบด้วย 3 เทคนิค นั่นคือ ยก (หรือ ‘ขิด’ ภาษาอีสาน แปลว่า การสะกิดเส้นยืนเพื่อให้เกิดลวดลายแค่บางจุด) หางกระรอก (หรือ ‘มับไม’ ภาษาอุบลคือการนำเส้นไหม 2 เส้นมาพันเกลียวกันก่อนใส่กระสวยทอ) และมัดหมี่ (คือการใช้เชือกมัดบางจุดก่อนย้อม ทำให้สีติดบางส่วนจนเกิดลวดลาย)
ในอดีต ผ้ากาบบัว ต้องมีลายทิวหรือลายแนวนอน ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มไทและไทยวน รวมถึงชาวอุบลสมัยก่อน เป็นคุณสมบัติที่ผ้ากาบบัวทุกผืนต้องมี ผ้ากาบบัวรุ่นต่อมายังมีการเพิ่มลวดลายจกดาวที่ตีนซิ่น การจกดาว คือ การเอานิ้วจกลงไประหว่างเส้นด้ายที่ขึงทออยู่ แล้วปักลวดลายเฉพาะจุดออกมาเป็นรูปดาวระยิบระยับ นี่คือลักษณะเด่นที่ไม่มีในผ้าเก่าของจังหวัดอีสานอื่นใดเลยนอกจากอุบลราชธานี
ผ้ากาบบัวคำ ผ้ากาบบัวรุ่นที่เพิ่มเทคนิคยกทองเข้าไป การยกทอง คือ การตีโลหะให้เป็นเส้นบางมากๆ แล้วทอแทรกเข้าไประหว่างไหม ทำให้ได้ผ้าออกมาแวววาวแต่ก็หนักสุดๆ ด้วย นี่เป็นเทคนิคที่เคยเกือบสูญหายไปจากอุบลราชธานี เพราะคนธรรมดาสามัญในสมัยก่อนนั้นห้ามใส่ผ้ายกทอง สงวนไว้สำหรับเจ้านายและผู้สืบสกุลจากเจ้าเมือง ทำให้มีทอผ้ากาบบัวคำนี้เฉพาะในวังเจ้าวังนายเท่านั้น โชคดีที่บ้านคำปุ่นสืบทอดเชื้อสายมา ทำให้ยังคงมีภูมิปัญญานี้อยู่จนปัจจุบัน
ผ้ากาบบัว ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ทั้งชายและหญิง ในสมัยโบราณนั้น ฝ่ายชายจะใช้ ผ้าปูม (ทอแบบมัดหมี่สำหรับนุ่งโจม) ผ้าวาหรือผ้าหางกระรอก (ทอด้วยเส้นมับไม) ผ้าโสร่ง (ทอคั่นเส้นมับไม) ผ้าสร้อยปลาไหล (ทอด้วยเส้นมับไม) ผ้าแพรอีโป้ (ผ้าขะม้า) ผ้าปกหัว (นาค) และผ้าแพรมน (ผ้าเช็ดหน้า เช็ดปาก) เป็นต้น
สำหรับฝ่ายหญิง มีซิ่นชนิดต่างๆ คือ ซิ่นยกไหมคำ (ดิ้นเงิน - ดิ้นทอง) ซิ่นขิดไหม (ยกดอกด้วยไหม) ซิ่นหมี่ ซิ่นทิว ซิ่นไหมควบ ซิ่นลายล่อง นอกจากนี้ยังมีผ้าห่ม (ถือ) หรือผ้าเบี่ยง (สไบ) และผ้าตุ้มอีกหลายแบบ
ผ้ากาบบัว ในปัจจุบันนี้ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นสินค้าชั้นนำ OTOP โดยมีพรีเซนเตอร์ระดับประเทศสนใจเป็นแบบโดยไม่ตั้งใจ เพราะหลงไหลในลวดลายและสีสันของผ้ากาบบัว ตั้งแต่ดารา นางแบบ นางสาวไทยหลาย พ.ศ. ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายๆ กระทรวง รวมทั้งรัฐมนตรีทุกท่านในคณะรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร บางท่านถึงกับสั่งตัดพิเศษเพื่อใช้ประจำทุกสัปดาห์ โดยไม่ให้ซ้ำสี ซ้ำลายเลยทีเดียว
คำตอบของชื่อนี้มีที่มาที่ไปครับ อย่าสับสนกับคำในภาษาไทยกลาง เพราะตามความหมายในพจนานุกรมนั้น (ภาษากลาง) กาบ จะหมายถึง "น. เปลือกหุ้มชั้นนอกของผลหรือดอก และของต้นไม้บางชนิด ลอกออกได้เป็นชั้นๆ เช่น กาบมะพร้าว กาบหมาก กาบกล้วย โดยปริยายหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น" แต่ถ้าไปดูคำในภาษาอีสาน คำว่า "กาบ" ในภาษาอีสานมีความหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของต้นไม้บางชนิด เช่น เปลือกหุ้มต้นกล้วย เรียก กาบกล้วย หุ้มไม้ไผ่ เรียก กาบลาง กลีบหุ้มดอกบัว เรียก กาบบัว (สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ : ปรีชา พิณทอง) และจากเอกสารข้อยุติของคณะทำงานพิจารณาผ้าพื้นเมืองได้ให้เหตุผลไว้ดังนี้
ผ้ากาบบัว ในการประชุมคณะทำงานพิจารณาลายผ้าพื้นเมือง คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ได้เสนอชื่อ ผ้ากาบบัว อันเป็นชื่อผ้าในวรรณกรรมโบราณอีสาน ซึ่งไม่อาจทราบหรือพบในยุคปัจจุบันแล้ว ให้เป็นชื่อเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลฯ
ชื่อ ผ้ากาบบัว ออกเสียงง่าย ไพเราะ และง่ายต่อการจดจำ
ชื่อ ผ้ากาบบัว สอดคล้องกับความนิยมในเรื่องสีของยุคปัจจุบัน โดยจะเห็นได้ว่า ในการเสนอข่าวแฟชั่นของทุกปี จะต้องมีการนำเสนอสีแนวธรรมชาติ (Earth Tone) อยู่เสมอ สีของกาบบัว (ภาษาท้องถิ่น) หรือกลีบบัว ซึ่งไล่อ่อนแก่จาก ขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล อยู่ในความนิยมเสมอ และยังสอดคล้องกับการย้อมจากพืชพรรณธรรมชาติอีกด้วย
ชื่อ ผ้ากาบบัว มีความหมายเหมาะสมกับชื่อ จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อดูความหมายของ "กาบ" ตามพจนานุกรมฯ อธิบายไว้ว่า "น. เปลือกหุ้มชั้นนอกของผลหรือดอก และของต้นไม้บางชนิด ลอกออกได้เป็นชั้นๆ เช่น กาบมะพร้าว กาบหมาก กาบกล้วย โดยปริยายหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น"
โดยนัยแห่งคำอธิบายตามพจนานุกรมนี้ "กาบบัว" จึงหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของดอกบัว มิใช่กลีบบัวที่หุ้มรอบเกสรบัวที่อยู่ชั้นใน (หรือจะพูดแบบภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า กาบบัวคือกลีบบัวชั้นนอกสุดที่แก่จัดเกือบร่วงโรย นั่นเอง) ดังนั้น จึงมีข้อคิดเห็นที่สนับสนุนในการเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลว่า ผ้ากาบบัว ดังนี้
กาบบัว มีพื้นผิวเป็นเส้นทางตั้ง ขึ้นเด่นชัด สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการทอลายผ้าได้อย่างงดงาม ตรงข้ามกับกลีบบัวที่ยังไม่ปรากฏลายเส้นนูน
กาบบัว มีสีตามธรรมชาติชัดเจน สอดคล้องกับการย้อมสีจากพืชพรรณธรรมชาติ ให้ได้สีตามต้องการ แต่กลีบบัวยังไม่ปรากฏสีเด่นชัด
ผ้ากาบบัว เป็นผ้าที่มีมาแต่โบราณในอุบลฯ จึงใช้ชื่อเดิม เพื่ออนุรักษ์ประวัติผ้าชนิดนี้ไว้มิให้เสื่อมสูญ
ชื่อ ผ้ากาบบัว นอกจากมีความเหมาะสมกับชื่อจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ยังมีความหมายถึงเชื้อสายบรรพบุรุษ ที่สืบเนื่องมาจาก "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" อีกด้วย
เรื่องเล่า "ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี"
ผ้ากาบบัว ไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็ยังมีการสั่งนำไปตัดเย็บ เป็นผ้าประดับในการตกแต่งอาคาร เช่น เป็นผ้าม่าน มูลี่กั้นแสง ผ้าปูโต๊ะ หมอนอิง และโซฟา รวมทั้งเป็นเครื่องใช้เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรี และที่น่าภาคภูมิใจคือ เจ้าชายอากิชิโน พระราชโอรสสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ที่เสด็จฯ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทรงงานด้านการประมงน้ำจืด ก็ทรงโปรดฉลองพระองค์ด้วย "ผ้ากาบบัว"
และในปี พ.ศ. 2547 นี้เอง ชาวอุบลราชธานีก็ได้ปลาบปลื้มอีกวาระหนึ่ง จากการได้เฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดฉลองพระองค์ผ้ากาบบัว ที่ช่างชาวอุบลราชธานีได้ทำการทอผ้าลายกาบบัวพิเศษเฉพาะพระองค์ และคาดเดาออกแบบฉลองพระองค์ตัดถวาย โดยมิได้เข้าเฝ้าวัดพระวรกาย ทรงโปรดและชื่นชม ทั้งลายผ้าและการออกแบบฉลองพระองค์ทั้ง 3 ชุด (สีฟ้า สีกาบบัว และสีม่วง) ได้ทรงฉลองพระองค์ทั้ง 3 ชุดระหว่างการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียง เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2547
ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล :
งามวิจิตรผ้ากาบบัว : รายการศิษย์มีครู ThaiPBS
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)