คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลังจากที่เขียนถึง "กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าไทในอีสาน" ที่ผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง ก็ได้รับการสอบถามและท้วงติงมาว่า "น่าจะขาดไปอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มคนเชื้อสายญวน และเชื้อสายจีน" ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นครับ วันนี้จะเพิ่มในส่วนของกลุ่มไทญวนครับ ส่วนกลุ่มเชื้อสายจีนขอยกไว้ก่อนเพราะผสมปนเปกันในทุกภาคมากที่สุด และถ้าจะสืบย้อนไปแล้วจริงๆ ในหลายๆ กลุ่มที่เราได้กล่าวถึงไว้ก็ล้วนอพยพโยกย้ายมาจากทางตอนเหนือ (คือแผ่นดินจีน) หรือจะเป็นว่าเราอพยพขึ้นไปอันนี้ไม่ยืนยัน ให้นักประวัติศาสตร์ได้ถกเถียงกันเถอะ
ชาวไทยเชื้อสายญวน หรือ “เหวียดเกี่ยว” เป็นชื่อเรียกชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศเวียดนาม หรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล ที่ไม่ว่าจะอพยพออกนอกประเทศเวียดนามด้วยเหตุผล หรือช่วงเวลาใดก็ตาม สำหรับชาวเวียดนามอพยพ หรือชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จะเรียกตนเองว่า เหวียดเกี่ยวในไทย หรือ Việt Kiều Thái Lan ซึ่งคำว่า “เหวียดเกี่ยว” นี้ มีความหมายไปในทางที่ดีกว่าคำว่า “ญวน” ที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักใช้เรียก ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือในประเทศเวียดนามเอง (อาจได้ยินว่า คนเวียดนาม หรืออานัม หรือแกว ก็มี) ชาวญวนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายญวนแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ญวนเก่า และญวนใหม่ โดยมีการจำแนกออกเป็นกลุ่มญวนเก่า (เข้ามาก่อนปี พ.ศ 2489) ที่ใช้ชื่อว่า เหวี่ยดกู๋ และกลุ่มญวนใหม่ ที่เรียกว่า เหวี่ยดเหมย ซึ่งหมายถึงชาวญวนที่เข้ามาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 คือ ตั้งแต่หลังปีพ.ศ. 2489
ภาพจาก FB : สมาคมชาวไทยเชื้อสายเวียดนามจังหวัดอุบลราชธานี
“ญวน” เป็นคำที่ปรากฏขึ้นในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 มาจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย การคงอยู่ของชุมชนหรือหมู่บ้านของชาวเวียดนามได้ปรากฏขึ้นแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่ามกลางชุมชนหรือหมู่บ้านของชาวต่างชาติอื่นๆ บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคำว่า “ญวนเก่า” และ “ญวนใหม่” ชาวเวียดนามจะเรียกชื่อชนชาติตนเองว่า “เหวียด” โดยใช้อักษรจีนเขียน เพราะชาวเวียดนามเคยใช้อักษรจีนก่อนที่จะมาใช้ตัวอักษรแบบโรมันดังเช่นในปัจจุบัน โดยภาษาจีนแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า “ฮ้วด” ชาวจีนฮกเกี้ยนออกเสียงว่า “หย้วด” มีสมมติฐานว่า ชาวไทยที่ติดต่อกับชาวเวียดนามน่าจะใช้ล่ามที่เป็นคนจีนฮกเกี้ยน จึงเรียกตามภาษาฮกเกี้ยน และเพี้ยนเสียงจาก “หย้วด” จนมาเป็นคำว่า “ญวน” ส่วนคำว่า “แกว” นั้นเป็นภาษาถิ่นอีสานที่ใช้เรียกชาวเวียดนามมาแต่ช้านานแล้ว
ประวัติศาสตร์การอพยพของคนไทยเชื้อสายเวียดนามในภาคอีสานของไทย
สาเหตุสำคัญที่ชาวญวนอพยพเข้าสู่ดินแดนสยาม คือ เพื่อลี้ภัยทางศาสนา และลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเพื่อนบ้านที่มีเสถียรภาพ อุดมสมบูรณ์ และพวกเขาสามารถอาศัยอยู่อย่างสงบสุขได้
ชาวญวน หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า "แกว" ชนชาติหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน และทางทิศตะวันออกของประเทศลาวและเขมร คนกลุ่มนี้ มีอุปนิสัยขยันขันแข็งในการทำมาหากิน จนมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในอดีตได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวลาวในประเทศลาว และภาคอีสานมานานแล้ว และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองญวน (เวียดนาม) ดิ้นรนที่จะเป็นอิสระจากฝรั่งเศส จึงทำการสู้รบปลดแอกโดยการนำของลุงโฮ (โฮจิมินห์) ญวนในภาคเหนือ (บริเวณเมืองเดียนเบียนฟู) ได้หนีภัยการเมืองเข้ามาอยู่ในลาว (ตามตำนานเพลง ไทดำรำพัน) และภาคอีสานจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี หนองคาย สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ระหว่าง พ.ศ. 2489 - 2492
ชาวญวนมักประกอบอาชีพค้าขาย และทำให้อาหารญวนหลายชนิดเป็นที่นิยม เช่น ข้าวเส้น เฝอ และอื่นๆ [ อ่านเพิ่มเติมที่นี่ ] บ้านของชาวญวนส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนบริเวณโคกดิน ลักษณะเหมือนเป็นเกาะเล็กๆ ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังคงพูดภาษาเวียดนาม ในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม ได้อพยพมาอยู่ที่ประเทศไทย เป็น 4 ระยะ ดังนี้
ในสมัยอยุธยา ปรากฏว่า มีหมู่บ้านญวนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช (2199 - 2231) จำนวนคนญวนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีประมาณ 5,000 - 8,000 คน โดยตั้งรกรากตามสถานที่ต่างๆ คือ อยุธยา พาหุรัด (ย้ายไปสามเสน) บางโพ จันทบุรี กาญจนบุรี โดยที่ชาวญวนกลุ่มที่นับถือคริสต์ศาสนาจะอาศัยอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ส่วนกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี [ อ่านเพิ่มเติม : ชาวไทยเชื้อสายญวน ]
สมรภูมิเดียนเบียนฟู การสู้รบใหญ่ที่เอาชัยชนะต่อฝรั่งเศส
ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด ชาวเวียดนามจำนวนมากจึงอพยพเข้ามาอยู่ประเทศลาว ประเทศเขมร และประเทศไทยตามเส้นทาง ดังต่อไปนี้
เมื่อชาวเวียดนามอพยพเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม สกลนคร หนองคาย บางส่วนก็กระจายไปยังจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี สำหรับชาวเวียดนามที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร นั้นส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่บ้านท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นชุมชนคาทอลิกกลุ่มใหญ่ในภาคอีสาน
การแต่งกายของชาวเวียดนาม เมืองนครพนม สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2449
ภาพจาก FB : ประวัติศาสตร์อีสานล้านช้าง
เวียดสกล - ชาวเวียดนามอพยพในจังหวัดสกลนคร
ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างฝรั่งเศสกับกลุ่มขบวนกู้ชาติเวียดมินห์ ชาวเวียดนามจึงอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 48,000 คน ซึ่งในการศึกษาของ ขจัดภัย บุรุษพิพัฒน์ (๒๕๒๑) กล่าวว่า ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาบริหารประเทศ ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้มีมาตรการควบคุมชาวเวียดนามอพยพ ให้อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 15 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ เลย อุบลราชธานี หนองคาย นครพนม บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ซึ่งชาวเวียดนามอพยพจะอาศัยอยู่นอกเขต 15 จังหวัดนี้ไม่ได้
พ.ศ. 2493 ให้ชาวเวียดนามอพยพมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยบังคับให้เดินทางไปยังจังหวัดควบคุมใหม่ ภายในเวลา 1 เดือน คือ จังหวัดหนองคาย สกลนคร นครพนม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี
พ.ศ. 2496 รัฐบาลไทยได้จัดส่งหัวหน้าชาวเวียดมนามในจังหวัดหนองคาย สกลนคร และนครพนม ไปไว้ที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. 2503 อนุญาตให้ชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่กำหนดเขต 8 จังหวัด คือ จังหวัดหนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และพัทลุง
สวัสดีเวียดนาม ตอน ชาวเวียดนามในประเทศไทย
ชาวเวียดนามอพยพที่เข้ามาอยู่ในช่วงสงครามเวียดนามเหนือ-ใต้ เป็นกลุ่มชาวเวียดนามอพยพ ประมาณ 2,000 - 3,000 คน ส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่ที่ อำเภอลาดบัวขาว จังหวัดนครราชสีมา ส่วนใหญ่จะมาจากเวียดนามตอนกลาง และข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย
ในปี พ.ศ. 2503 ชาวเวียดนามอพยพที่เดินทางเข้ามาที่จังหวัดสกลนครนั้น มีชาวเวียดนามบางส่วนสมัครใจกลับประเทศเวียดนามแล้ว แต่ยังคงเหลือตกค้างอยู่ เนื่องจากเกิดการสู้รบในสงครามเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้อย่างหนัก โดยในขั้นต้นชาวเวียดนามอพยพอจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ ศูนย์ประสานงาน กอ.รมน. และสำนักงานกิจการญวนอพยพ กำหนดให้ชาวเวียดนามอพยพเหล่านี้อยู่ในเขตควบคุม 8 จังหวัด
คนเวียดนามได้รับการดูแล การจัดทำทะเบียนประวัติ การศึกษา การปลูกฝังให้มีความรู้ความเป็นคนไทย สามารถผสมผสานกลมกลืนเข้าสู่สังคมไทย จนในที่สุดก็มีชาวเวียดนามจำนวนมากได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลไทยให้ได้ "สัญชาติไทย" โดยเรียกว่า “คนไทยเชื้อสายเวียดนาม” อยู่อาศัยมานานจนกระทั่งได้รับเชื้อชาติไทย ปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ประกอบอาชีพข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น มีบทบาทต่อการปกครอง และเศรษฐกิจของจังหวัด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองยังคงรักษาเอกลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมของตนเอง
เหวียตเกี่ยวถายลาน #1 จากแผ่นดินเวียดนามถึงลุ่มน้ำโขงอีสาน
ในอดีต ชาวเวียดนามเหล่านี้เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมีสถานะเป็น “ญวนอพยพ” จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 จึงได้มีพระราชบัญญัติให้คนเวียดนามอพยพได้รับ "สัญชาติไทย" อย่างไรก็ดี ชาวเวียดนามเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องจากรัฐไทย และกลายมาเป็นสะพานทางวัฒนธรรม ที่เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ไม่ว่าจะในด้านภาษา ด้วยการเป็นครูสอนภาษาเวียดนามให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการไทย และนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการเวียดนามที่เดินทางมาเรียนภาษาไทยในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดในภาคอีสาน
เหวียตเกี่ยวถายลาน #2 ชะตากรรมท่ามกลางสงครามเย็น
นอกจากนี้ ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังมีบทบาทในการเป็น ผู้ประสานงาน เป็น ล่าม ให้แก่หน่วยงานราชการและเอกชนไทยและเวียดนาม เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "หมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม" ที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม และบ้านโห่จี๋มิงห์ ที่บ้านหนองโอน จังหวัดอุดรธานี อีกทั้ง มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย การเผยแพร่อาหารเวียดนาม เป็นต้น
รายการกระจกหกด้าน ตอน เวียดนาม ณ สยามประเทศ
ภายในบ้านของคนเวียดนามและภายในวัดทุกแห่งจะพบ "แท่นบูชาบรรพบุรุษ" การบูชาบรรพบุรุษยังคงมีความสำคัญทางสังคม และศีลธรรมอย่างสูงในสังคมชาวเวียดนาม ในวันครบรอบวันตาย และวันเทศกาลตามประเพณีต่างๆ ญาติของผู้ตายจะมาชุมนุมกัน โดยลูกชายคนโตของผู้ตายจะเป็นผู้นำในการเซ่นไหว้ ด้วยอาหารและธูป จากนั้นคนในครอบครัวทั้งหมดจะไปที่สุสานของผู้ตาย พิธีจะจบลงด้วยสมาชิกในครอบครัวทุกคนคุกเข่าลงหน้าแท่นบูชา ความล้มเหลวในการบูชาบรรพบุรุษของลูกหลานจะถูกมองว่า เป็นการกระทำที่แสดงถึงความอกตัญญูต่อบิดามารดา เพราะทำให้บรรพบุรุษต้องเร่ร่อนอยู่ในนรก
ในทางปฏิบัติแล้ว หมู่บ้านชาวเวียดนามทุกแห่งจะมี "จั่ว" (chua-ที่วัด) และ "ดิงห์" (dinh - ศาลาประชาคม) ชาวบ้านจะบูชาพระพุทธเจ้าที่จั่ว ซึ่งดูแลรักษาโดยภิกษุจำพรรษาอยู่ที่นั้น ทุกวันที่ 1 และ 15 ค่ำชาวบ้านจะไปที่จั่ว โดยนำดอกไม้ธูปเทียนและผลไม้ไปถวายพระพุทธ และประกอบพิธีที่วัดในตอนเย็นของวันที่ 14 และ 30 ของเดือน เพื่อแสดงความเสียใจในสิ่งที่ไม่ดีที่ได้กระทำลงไป และปฏิญาณว่าจะประพฤติในสิ่งที่ดี การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในระดับหมู่บ้านจะไม่เหมือนกับของเซน แต่เป็นการผสมผสานระหว่าง "เซนกับอมิตาภะ" เป็นที่เชื่อกันว่า อมิตาภะจะได้สภาวะแห่งพุทธภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่ท่านได้ต้อนรับคนทุกคน ที่เรียกชื่อท่านอย่างจริงใจเวลาตาย และจะนำพวกเขาไปยังสวรรค์
จิตวิญญาณของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม
ศาสนาพุทธ ได้รับการเผยแพร่เข้ามาจากอินเดียและจีนมานานกว่าพันปีแล้ว ผู้เชียวชาญในสาสนาพุทธชาวเวียดนามคนหนึ่งถูกส่งตัวไปยังราชสำนักญี่ปุ่นเพื่อสอนบทเพลงทางสาสนา ซึ่งปรากฏลัทธิ 2 ลัทธิ คือ อาอาม (A -HAM, Agaham) และเทียน (Thien) ต่างแข่งขันกันอย่างสันติภาพในหมู่ผู้เลื่อมใสศรัทธา ลัทธิเทียนเป็นลัทธิหนึ่งในศาสนาพุทธนิกายมหายาน เนื่องจากกฎเกณฑ์น้อยทำให้เป็นที่นับถือกันมาก ญวนที่อพยพมาอยู่ในภาคอีสานนั้นส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแบบ "อานัมนิกาย"
ลัทธิขงจื้อ มีอายุยืนยาวมากกว่าระบบความเชื่ออื่นใด ทั้งในโลกตะวันออก และตะวันตก ลัทธินี้มีพื้นฐานมาจากคำสอนของขงจื้อ ซึ่งเกิดในราวปีที่ 550 ก่อนคริสตกาล และอยู่ในยุคที่จีนมีความวุ่นวายทางการเมือง ขงจื้อได้ชื่อว่าเป็นผู้ชี้นำทางจริยธรรมและศีลธรรม มากกว่าที่จะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ลัทธิขงจื้อเข้ามาสู่ชาวเวียดนามโดยผ่านชาวจีนกว่า 2,000 ปี มาแล้ว
เต๋า เต็ก เก็ง (Tao Te Ching) คัมภีร์แห่งมรรคและอำนาจของเต๋า เริ่มต้นในหมู่บ้านที่มีศาสนาพุทธและขงจื้อ วิญญาณนิยม และความเชื่ออื่นๆ อยู่รวมกัน ในหมู่บ้านเหล่านี้ จะมีการสร้างสถานที่สำหรับบูชาที่เรียกกันว่า เดี่ยน (dien) หรือ ติ๋งห์ (tinh) ในระดับชาวบ้าน เต๋าเป็นเรื่องของความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ เวทมนตร์คาถา และการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยอาคม
ศาสนาคริสต์ ชาวเวียตนามส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิค และประเทศเวียดนามเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยศาสนา ปรัชญาและความเชื่อ แบบวิญญาณนิยมเปลี่ยนไปคาทอลิก มิชชันนารีตะวันตกพวกแรกได้เข้ามาในตังเกี๋ยทางภาคเหนือของเวียดนาม ในปี 1533 และเข้าสู่ภาคกลางของเวียดนามในปี 1596 การเผยแพร่ครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ฮอย อัน (Hoi An) ดานัง และฮานอย โดยคณะมิชชันนารีเยซูอิตชาวโปรตุเกส การเผยแพร่ศาสนาก่อให้เกิดความขัดแย้ง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้กระนั้นคาทอลิค ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง 2 ด้าน คือ
การเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในหมู่ขุนนางและชนชั้นปกครอง ผู้มองว่า ศาสนาใหม่เป็นสิ่งคุกคามระเบียบสังคมแต่ดั้งเดิม และพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเชื่อเรื่องสวรรค์ และการบูชาบรรพบุรุษ (อันเป็นสาเหตุให้มีชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์บางส่วนอพยพออกจากเวียดนาม ไปยังดินแดนข้างเคียงทั้ง สปป.ลาว ไทย กัมพูชา ในอดีตตามที่กล่าวถึงข้างต้น)
อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม นับว่า เป็นลักษณะเด่นของแต่ละสังคมที่ได้รับการถ่ายทอดมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งชาติกำเนิดเปรียบเสมือนพื้นที่ทางสังคม ที่เปิดโอกาสให้ชาวญวนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยผูกติดอยู่กับผู้คนมาตั้งแต่เกิด และเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตนของชาวญวนที่ไม่เหมือนกับกลุ่มชนชาติอื่นๆ และเมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวญวน (เหวียดเกี่ยว) จึงถูกผูกโยงเข้ากับสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมก็มิได้มีเพียงแค่ภาษาเวียดนามเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายด้าน ดังนี้
เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมไทยช่วง ค.ศ. 1948 โดย หว่าง วัน ฮวาน มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมความรักชาติ และความสามัคคีของชาวเหวียดเกี่ยวในไทย ในขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อกอบกู้เอกราชจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส มีการนำเอาคำสอนของโฮจิมินห์มาเขียนไว้ตรงหิ้งบูชาแผ่นดินทั้งสี่แถว ซึ่งแต่ละประโยคจะมีความเชื่อมโยงกับครอบครัว กลุ่มทางสังคม และรัฐ หิ้งบูชาแผ่นดินนี้ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อ แต่ถูกปรับเปลี่ยนและให้ความหมายใหม่ด้วยการสร้างคำสำคัญขึ้นมา เพื่อเป็นหลักคำสอนหรือแนวทางปฏิบัติให้กับชาวเหวียดเกี่ยวในไทย โดยมีเนื้อหาดังนี้
ซึ่งคำสอนเหล่านี้เปรียบเสมือน กาวประสานระหว่างชาวไทยและชาวเหวียดเกี่ยว เปรียบเสมือนสิ่งที่ตอกย้ำให้ชาวเหวียดเกี่ยวพึงระลึกถึงชาติกำเนิดของตน รวมถึงโฮจิมินห์ ในฐานะผู้นำสูงสุดในการกู้ชาติเวียดนาม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะให้ความเคารพแผ่นดินไทยที่เป็นที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวเหวียดเกี่ยวปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ของสังคมไทย เป็นมิตรและทำความดีช่วยเหลือชาวไทย มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน
เป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ เนื่องจากประเทศเวียดนามเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นเวลายาวนาน จึงได้รับอิทธิพลทางศาสนาที่ผสมผสานมาจาก 3 ลัทธิ ทั้ง พุทธมหายาน ขงจื๊อ และเต๋า สำหรับชาวเหวียดเกี่ยวนั้น ศาลเจ้าเปรียบเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ตลอดจนเป็นศาลที่ปกครองคนในชุมชน ด้วยกฎระเบียบและความเชื่อในเทพเจ้าที่สิงสถิตย์อยู่ มีความเลื่อมใสศรัทธาคอยทำหน้าที่หล่อหลอมคนในชุมชนให้มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงถึงความสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษอยู่เสมอ ในศาลเจ้านอกเหนือจากหิ้งบูชาแล้ว ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประดับอยู่ภายในศาลเจ้าเช่นกัน
สุสาน เป็นสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวเหวียดเกี่ยวอย่างหนึ่ง เพราะหากมีสุสานเวียดนาม ณ ที่แห่งใด นั่นหมายความว่าบริเวณนั้นต้องมีชุมชนชาวเวียดนามอาศัยอยู่แน่นอน โดยชาวเหวียดเกี่ยวแต่ละเขตที่อยู่อาศัยจะทำการแบ่งกันอย่างชัดเจนว่า สุสานแต่ละแห่งเป็นของชุมชนใด และผู้ใดที่มีสิทธิ์จะนำศพมาฝังได้ สำหรับชาวเหวียดเกี่ยว หากไปทำงานที่อื่นแล้วเสียชีวิต ญาติพี่น้องก็จะนำศพกลับมาฝังที่สุสานของชุมชนทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ไกลเพียงใด แต่หากบุคคลนั้นๆ เคยทำผิดกฎระเบียบของชุมชนมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป หรือคณะกรรมการศาลเจ้ามีมติว่า บุคคลนั้นๆไม่เคยช่วยทำนุบำรุงศาลเจ้าของชุมชน รวมไปถึงการขาดการติดต่อกับญาติพี่น้องเป็นเวลานาน คณะกรรมการศาลเจ้ามีอำนาจที่จะตัดสินมิให้นำศพของบุคคลดังกล่าวมาฝังที่สุสานของชุมชนได
4.1 เทศกาลเต๊ด หรือ ตรุษ (Tet Nguyen Dan)
เทศกาลเต๊ด จัดขึ้นปีละครั้ง โดยยึดตามปฏิทินวันสิ้นเดือนสิบสอง ของปีจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันตรุษจีน นับเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดของชาวเหวียตเกี่ยว เพราะเป็นวันฉลองการเริ่มต้นปีใหม่ การเฉลิมฉลองจะเริ่มขึ้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันตรุษ คือ วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินเวียดนาม ในวันนี้จะมีพิธีไหว้เทพเจ้าแห่งเตาไฟ ที่คอยสอดส่องดูแลความเป็นไปทกอย่างภายในบ้าน เพื่อส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ หลังจากนั้นสมาชิกในครอบครัวก็จะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน และประดับตกแต่งสิ่งของต่างๆ เพื่อความสวยงาม ต้อนรับเทศกาลตรุษที่จะมาถึง และก่อนวันตรุษหนึ่งวัน ก็จะมีการไหว้อัญเชิญบรรพบุรุษ กลับมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลโดยญาติพี่น้องทุกคน โดยพิธีจะเริ่มทำในตอนบ่าย แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
ประเพณีตรุษญวน
หลังจากไหว้ต้อนรับบรรพบุรุษกลับมาบ้านเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานทุกคนก็จะเฉลิมฉลองและรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลนี้ก็คือ แบ๋งจึง (Banh chung) ที่มีลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดห่อด้วยใบตอง ภายในมีข้าวเหนียว ถั่วเหลือง และหมูสามชั้น
4.2 งานแต่งงาน (Lễ cưới)
ตามประเพณีการแต่งงานดั้งเดิมของชาวเหวียดเกี่ยว จะประกอบด้วย 3 พิธี คือ
4.3 งานศพ (Lễ tang)
การจัดการพิธีงานศพ โดยปกติแล้วเมื่อมีคนในชุมชนเสียชีวิตลง ญาติของผู้เสียชีวิตจะต้องนำหมากพลู 1 สำรับ ที่ประกอบด้วย หมาก 5 คำ พลู 5 คำ เหล้าขาว 1 ขวด เพื่อไปทำการครอบ คือ การบอกกล่าวต่อประธานศาลเจ้า หรือผู้อาวุโส หลังจากนั้นประธานศาลเจ้าจะให้สัญญาณแก่สมาชิกในชุมชนว่ามีคนเสียชีวิต โดยชาวบ้านจะทราบจากเสียงกลอง เจ้าภาพจะตั้งศพไว้ที่บ้าน เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณดัง ชาวบ้านก็จะมารวมตัวกันที่บ้านที่จัดงาน
สำหรับการจัดตั้งศพของชาวเหวียตเกี่ยว จะวางศพบนที่นอนตามแนวยาวของบ้าน หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ลักษณะศพวางมือซ้ายทับขวาบริเวณหน้าท้อง ใช้ผ้าแพรคลุมศพ โดยเท้าต้องโผล่ออกนอกผ้าคลุมและหันเท้าออกนอกบ้าน ตั้งกระถางธูปไว้ปลายเท้า โดยปกติจะนิยมตั้งศพไว้ประมาณ 3-5 วัน เพื่อให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และคนใกล้ชิดได้มีโอกาสมาเคารพศพก่อนถึงวันฝังหรือเผา และมีการนิมนต์พระมาสวดหน้าศพประมาณ 2-3 คืน การเคารพศพของชาวเหวียตเกี่ยวจะจุดธูป 1 ดอกใหญ่ปักไว้กลางกระถางธูป มีเทียน 2 เล่มวางด้านหน้า และตั้งโต๊ะเล็กๆ ที่ประกอบด้วยข้าวสวย ตะเกียบ 1 คู่ น้ำ 1 แก้ว ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่จุดไฟไว้ตลอดเวลา 1 ดวง โดยมีความเชื่อว่าข้าวหมายถึงความสมบูรณ์ และการจุดตะเกียงจะมอบแสงสว่างในการรับประทานอาหารให้แก่ผู้เสียชีวิต
หากเป็นงานศพของผู้สูงอายุไม่ว่าเป็นเพศใด ชาวเหวียตเกี่ยวจะตัดชุดแดงให้ศพสวมใส่ และใส่ข้าว 9 เมล็ด เงิน 1 บาท และทองคำจำนวนหนึ่งไว้กับศพ เพราะเชื่อว่าข้าวสารและเงินทองเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ในคืนก่อนเคลื่อนศพไปฝังยังสุสาน จะมีพิธีบอกกล่าวศพให้รู้ตัว โดยจะยกโลงศพหันด้านศีรษะออกนอกบ้าน และเดินรอบโลงศพ 3 รอบ ในวันเคลื่อนศพไปทำพิธีฝังที่สุสานมักเริ่มทำในช่วงบ่าย ลูกชายคนโตจะเดินนำหน้าโลงศพ และมีบรรดาญาติมิตรเดินตามขบวนศพ และก่อนฝังศพจะมีผู้อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต เช่น ชื่อ สกุล อายุ ภูมิลำเนา เพื่อเป็นใบเบิกทางให้ไปสู่สวรรค์หรือนรก ตามความเชื่อของคนเหวียตเกี่ยว และจะแปะใบเบิกทางนี้ไว้หน้าโลงศพเช่นกัน
ชาวเวียดนาม เป็นกลุ่มคนที่มีความขยันขันแข็งและมีความอดทนเป็นพิเศษ แม้คนจีนก็ยังยอมรับว่า คนญวน มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพมากว่าตน ในเรื่องน้ำอดน้ำทนของคนญวน ไม่มีชาติใดในเอเชียที่เหนือกว่าคนญวน การที่คนญวนสามารถสู้ทนทำสงครามต่อสู้กับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เป็นเวลายาวนานหลายสิบปี ทั้งๆ ที่ประเทศของตนประสบกับความเสียหายอย่างยับเยิน จากการโจมตีที่ทิ้งระเบิดและถล่มด้วยสารเคมีของสหรัฐ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีถึงความอดทนของคนญวน
เมื่อคนญวนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ตั้งหน้าทำมาหากิน ประกอบกับการที่รัฐบาลไทยในระยะนั้น ได้ให้อุปการะช่วยเหลือ ทำการจัดสรรแบ่งที่ดินให้ทำกิน และจัดหาทุนกู้ยืมในการประกอบอาชีพ รวมทั้งปล่อยให้ทำมาหากินโดยอิสระเสรี ไม่มีการกีดกั้นหรือหวงห้ามแต่อย่างใด จึงเป็นผลให้คนญวนสามารถสร้างฐานะความเป็นอยู่ ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดคนญวนก็สามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้เหนือกว่าคนไทยในชุมชนเหล่านั้นได้
คนญวนประกอบอาชีพเกือบทุกประเภท นับแต่ด้านการเกษตร การช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน (ซึ่งจะเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาคารในภาคอีสาน เช่น สิมหรืออุโบสถ ในวัดแถบอุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม ฯลฯ) ชางเหล็ก ช่างกลึง ช่างนาฬิกา ช่างไฟฟ้า-วิทยุ ช่างเย็บเสื้อผ้า ช่างเครื่องยนต์ ต่อตัวถังรถยนต์ อาชีพค้าขายทุกชนิด การประมง การแพทย์ ถ่ายรูป การค้าขายในตลาดสด เป็นต้น ด้วยความขยันหมั่นเพียร และการมีน้ำอดน้ำทน สามารถประกอบอาชีพได้ทุกชนิด โดยไม่มีการรังเกียจ ผลจึงปรากฏว่า ชุมชนใดที่มีกลุ่มชาวญวนอยู่ อิทธิพลทางเศรษฐกิจจะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้เสียเป็นส่วนใหญ่
ในท้องถิ่นที่มีคนญวนอาศัยอยู่ คนญวนจะรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น คบค้าสมาคมเฉพาะกลุ่มคนญวนด้วยกันเอง สรุปแล้ว ในด้านสังคมส่วนมากคนญวน แสดงออกโดย
โดยสรุปแล้ว ชาวญวน ต้องการมีอิสระเสรีที่จะเดินทางไปไหน มาไหนได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับที่ทางการกำหนดไว้ สำหรับคนญวนอพยพ และชาวญวนส่วนมาก ไม่ต้องการเดินทางกลับเวียดนาม ถึงจะรักภักดีต่อประเทศเวียดนามก็ตาม สาเหตุเพราะในระยะหลัง ได้มีกลุ่มคนญวนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาก ญวนกลุ่มใหม่นี้ไม่เคยเห็นประเทศเวียดนามมาก่อน ความรู้สึกผูกพันในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของบิดามารดา ก็ย่อมไม่แน่นแฟ้นเหมือนกับคนญวนรุ่นเก่า และชาวญวนรุ่นใหม่ยังเคยชินต่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรี มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เมื่อเทียบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนญวนในเวียดนามปัจจุบัน ซึ่งมีลัทธิการปกครองต่างกัน จึงไม่ปรารถนาที่จะกลับเวียดนาม และพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย จนสำเร็จในปัจจุบัน
เด็กญวนที่เกิดในเมืองไทย ทางราชการได้ผ่อนปรนให้เข้าเรียนในระดับต้นๆ ในท้องถิ่นที่ญวนอาศัยอยู่ได้ แต่การศึกษาในระดับสูงๆ นั้น จะมีปัญหาเพราะต้องใช้หลักฐานหลายอย่างที่คนญวนอพยพไม่มี เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เด็กญวนที่ต้องการเรียนต่อ ต้องหาทางให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย และอีกทางที่ทำได้ก็คือ "การให้คนไทยรับเป็นบุตรบุญธรรม" ด้วยวิธีการนี้ทำให้มีลูกหลานญวนได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ภายหลังมีการแต่งงานกับคนไทย ใช้นามสกุลไทยและได้สัญชาติไทย กลายเป็นลูกครึ่ง ลูกเสี้ยว (มีเชื้อไทยเกิน 75% กันแล้ว)
"คำ" ในภาษาเวียดนามกว่า 80% ของภาษามาจากภาษาจีน และยังรวมไปถึงอิทธิพลทางวรรณคดีจีน และยังมีร่องรอยของภาษาฝรั่งเศสด้วย คำที่เข้ามาในพจนานุกรมเป็นครั้งแรกในสมัยจักรวรรดินิยมช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 20
ส่วนภาษาอังกฤษนั้น ได้มาจากชาวอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม (เวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ที่มีอเมริกันหนุนหลัง) และจากการเป็นพี่น้องร่วมลัทธิคอมมิวนิสต์กับสหภาพโซเวียต เวียดนามก็ได้รับอิทธิพลทางภาษาจากรัสเซีย ความจริงแล้วความหมาย และคำศัพท์เฉพาะทางวิชาการต่างๆ ของแนวคิดและเทคโนโลยีสมัยศตวรรษที่ 20 มักใช้คำภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย และภาษาที่เข้ามาล่าสุดคือ ภาษาญี่ปุ่น
สำเนียงที่แตกต่างกันในเวียดนามนั้น เผยให้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่เหนียวแน่นของภูมิภาค ตัวอักษรบางตัวของพยัญชนะ ออกเสียงต่างกัน ศัพท์ของชาวเหนือและชาวใต้ประกอบด้วยคำที่แตกต่างกัน รากของภาษามาจากการผสมของวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน คือ การผสมของ เขมร ไท และเมือง แม้แต่การวางรูปประโยคก็ยังเหมือนกัน
การเรียนการสอนภาษาเวียดนามในจังหวัดนครพนม
อิทธิพลของจีนในช่วงศตวรรษแรกๆ ของประวัติศาสตร์เวียดนาม ทำให้มีการใช้ตัวอักษรที่เรียกกันว่า จื๋อ โย (chu nho) อย่างกว้างขวาง จนแทนที่ภาษาเขียนโบราณที่มีต้นกำเนิดจากภาษาอินเดีย หลังจากได้อิสรภาพ บรรดานักปราชญ์ต่างตระหนักถึงความจำเป็น และประโยชย์ของการพัฒนาภาษาเขียนที่เป็นของเวียดนามขึ้นมา ผู้ที่ทำได้สำเร็จ คือ เหวียน เทวียน (Nguyen Thuyen) ทุกวันนี้เวียดนามมีตัวอักษรแบบโรมัน อันเป็นผลงานของ อเล็กซองเดร เดอโรดส์ (Alexandre de Rhodes) มิชชันนารีเยซูอิต ชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งได้พัฒนาตัวอักษรที่เรียกกันว่า กว๊อก หงือ (quoc ngu) ภาษาเวียดนามเป็นภาษา Austroasiatic ภาษาหนึ่ง
สำหรับชาวญวนรุ่นใหม่ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร โดยมีสำเนียงอีสานตามกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ จะเหลือเพียงรุ่นปู่-ย่า ตา-ยาย ส่วนน้อยที่ยังสื่อสาร อ่าน-เขียนภาษาเวียดนาม ได้เท่านั้น
ในมิติด้านประวัติศาสตร์กระแสหลัก ชาวญวน หรือชาวเวียดนาม ได้เข้ามาในแผ่นดินสยาม ตั้งแต่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ จำนวนชาวเวียดนามได้เพิ่มขึ้น จนกลายเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะความสามารถเฉพาะตัวในเชิงช่าง กล่าวได้ว่า "ช่างญวนเป็นช่างที่ฝีมือดี และมีบทบาทในการช่วยก่อสร้างบ้านเมือง ในสมัยของการก่อตั้งราชธานีตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์" (ผุสดี 2541) ทั้งหมดนี้เป็นโลกทัศน์ของสังคมไทยในอดีตที่มีต่อ ชาวญวน ในบริบททางวัฒนธรรมกระแสหลักของราชสำนักกรุงเทพฯ
หลักฐานทางศิลปะุวัตถุ ศาสนาคารที่สร้างโดยช่างญวน ดั่งมีจารึกระบุปีสร้างใน ปี พ.ศ. 2434 ณ วัดอุดมหาวัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย หรือกรณีการสร้างหอธรรมาสน์ศิลปะญวนที่เก่าแก่ที่สุดในอีสาน ที่อ้างอิงว่า สร้างในช่วงราวปี พ.ศ. 2452 - 2454 (สัมภาษณ์ คุณตาอ่อน ศรีสุธรรม อายุ 92 ปี) รวมถึงการบูรณะซ่อมสร้างองค์พระธาตุพนม ที่สร้างต่อจากยุค "พระครูวิโรจน์รัตโนบล" ช่างพระจากเมืองอุบลฯ โดยมีการบูรณะพระวิหารและกำแพงชั้นนอกต่อเติมในปี พ.ศ. 2454 ที่มีการให้ช่างญวนทำ โดยเมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระวิหารจึงมีรูปแบบอย่าง "ศิลปะญวนปนไทย" ลวดลายเป็นศิลปะญวนโดยมาก (ประวัติพระธาตุพนม หน้า 49) นั้นหมายความว่า ได้มีกลุ่มชาวญวนได้เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับสังคมอีสานนานแล้ว เช่น ในกรณีของจังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ในวิถีสังคมวัฒนธรรมอีสาน ด้านมิติทางภาษาชื่อที่ใช้เรียกขาน ชาวเวียดนาม หรือ คนญวน โดยมากจะนิยมเรียกเค้าตามภาษาปากตลาดทั่วไปกันว่า แกว หรือ ช่างแกว ดังที่ปรากฏหลักฐานจากจารึกการสร้าง "หอแจก" ของ วัดธรรมละ ตำบลโพนเมือง อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี (ที่สร้างราวปี พ.ศ. 2477) ที่ว่า "หอแจกแห่งนี้ท่านพระครูสีดำสุดแสง เป็นผู้ลงมือออกหัวคิดร่วมกับช่างแกว" (เขียนตามที่มีการจารึกไว้ที่บริเวณหย่องหน้าต่าง) นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง จากหลักฐานประเภทที่มีอักษรลายลักษณ์เป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นชื่อที่คนอื่นนิยมใช้เรียก คนญวน หรือ คนเวียดนาม ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน กับภาคเหนือ ของบ้านเราในสมัยก่อน
ชนชาวญวน หรือ เวียตนาม หรือ อานัม หรือ แกว (ภาคเหนือเรียกว่า แก๋ว) นั้นมักจะมีคำถามว่า "การที่เรียกคนญวน ว่า 'แกว' นั้นเป็นการดูถูกเหยียดหยามหรือไม่" อันนี้ผมในฐานะลูกอีสานแท้ๆ คนหนึ่ง มีเพื่อนที่รู้จักนับถือกันก็หลายคน มีลูกศิษย์ที่มาเล่าเรียนด้วยที่ครั้งก่อนใช้แซ่เหวียน เหงียน จนเปลี่ยนมาเป็นไทยก็หลายคน ขอยืนยันว่า "มิใช้คำดูถูกเหยียดหยามแต่อย่างใด" (แต่เขาก็ไม่ต้องการให้เรียกอย่างนั้น)
แกว คือคำว่า แกว แกว มีความหมายถึง "เสียงดังแซด แต่ไม่ได้ศัพท์" ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ มองว่า น่าจะเป็นการล้อเลียนเสียงพูดในภาษาเวียดนาม ที่มีเสียงสูงต่ำ ตัดกันชัดเจนกว่าภาษาไทย-ลาว นอกจากนี้ยังมีคำลาวในวรรณคดีเรื่อง "ท้าวฮุ่ง" เรียกชาวเวียดนามอย่างเหยียดหยามว่า แย้, แกวแย้ และแกวม้อย (จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:ชนนิยม. 2556, หน้า 242-243)
ผู้รู้อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “แกว” เป็นชื่อลำลองในภาษาโบราณ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไททุกกลุ่มใช้เรียกบ้านเมืองของชาวเวียดนามเหนือ (กิง) ซึ่งทั้งชาวสยาม ลาว ไทใหญ่ ไทลื้อ จ้วง ฯลฯ ล้วนแต่เรียกเวียดนามว่า “แกว” หมด หลักฐานคือ ชาวจ้วงในกวางสีก็เรียก คนเวียดนาม หรือ ชาวกิง เหมือนกับคนไทย-ลาวคือ “geu” นั่นแปลว่า แกว คำนี้เป็นคำเก่าแก่มาก ก่อนที่ภาษากลุ่มไทตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai เช่น ภาษาไทย ลาว ไทใหญ่) จะแยกตัวออกจากกลุ่มไทเหนือ (ภาษาจ้วง ปู้ยี) เสียอีก
ชื่อ “แกว” นี้นักภาษาศาสตร์สันนิษฐานว่า มาจากชื่อรัฐโบราณชื่อ 交趾 (Giao-chỉ) ซึ่งตั้งอยู่ทางเวียดนามเหนือ ช่วงเวลาเดียวกับที่ชนเผ่าไทเริ่มอพยพเข้ามาในแหลมทอง และได้ติดต่อกับชนเผ่าที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวกิงหรือเวียดนามปัจจุบัน จริงๆ คำว่า “เวียด” ก็มาจากชื่อรัฐโบราณคือ “รัฐเยว่” ซึ่งนักโบราณคดีต่างลงความเห็นว่า ชนเผ่าเยว่ส่วนใหญ่คือบรรพบุรุษของเผ่าไทกะได ไม่ใช่เผ่ากิงหรือเวียดนามเพียงแต่ชาวกิงใช้ชื่อรัฐของชาวไทกะไดมาเรียกแค่นั้น
“แกว” เป็นคำกลางๆ ไม่มีความหมายเชิงดูถูกแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้พูดเหมือนกับคำว่า “ลาว” “แขก” และ “ฝรั่ง” ที่เป็นได้ทั้งลบและบวกตามบริบทของการนำไปใช้ในขณะนั้น
ทำนองเดียวกับที่คนไทยเรียก คนพม่า ว่า “ม่าน” (มาจาก မြန် mran) เรียก คนกะเหรี่ยง ว่า “ยาง” (มาจาก ကြျာင် kryang) หรือคนทางเหนือเรียก คนจีน ว่า “ห้อ” (มาจาก 華) หรือ “แข่” (มาจาก 夏) คำเหล่านี้เป็นคำเก่าแก่และมีที่มา ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีคำว่า “เจ๊ก” “ยุ่น” พวกนี้เป็นการเรียกเชิงดูถูกเหยียดหยามชัดเจนครับ
อาหารญวนที่ถูกดัดแปลงจนมีชื่อเสียงในเมืองไทย
บ้างก็บอกว่า น่าจะมาจากคำว่า "แกวปะกัน" ในตำนาน "ท้าวฮุ่งขุนเจือง" เป็นตำนานร่วมของดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง สมัยก่อนทางอีสาน เรียก คนญวน ว่า แกว เช่นกัน และชาวผู้ไท (ภูไท) ที่อพยพจากแม่น้ำดำ แถบเมืองเดียนเบียนฟู ก็ใช้คำว่า แกว เช่นกัน ในครั้งนั้นคำว่า แกว ไม่ใช่คำดูหมิ่นดูแคลนแต่ประการใด มีตั้งแต่โบราณนานมา คนลาว เรียก คนเวียดนามว่า แกว มาแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อนมีการเรียกภูเขาเทือกหนึ่งที่กั้นดินแดนลาวกับเวียดนามว่า ภูแกว บางทีก็เรียก แดนแกว ซึ่งเหมือนกับคำว่า ลาว ของชาวกรุงเทพฯ ที่ชอบเรียกผู้คนจากอีสานว่า เป็นพวกลาว แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเปลี่ยน ความหมายของภาษาก็เปลี่ยนไปได้
อีกความหมายเอาแบบขำๆ ผมยังไม่ยืนยัน บอกว่า "เพราะชายฝั่งลำแม่น้ำโขงด้านฝั่งไทย (นครพนม) นั้นตลิ่งลึก และฝั่งสูงเกินกว่าจะปีนขึ้นไปได้ง่ายๆ เมื่อชาวเวียดนามยังหนีภัยสงครามข้ามน้ำโขงมาเรื่อยๆ แพเรือก็มีมากขึ้นตามจำนวนการอพยพ คนไทยและเจ้าหน้าที่ไทย มาพบกลุ่มคนเวียดนามที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งต้องการขึ้นมาบนตลิ่ง ยืนโบกไม้โบกมืออยู่ในเรือ พร้อมกับตะโกนว่า "แกว แกว แกว"
สมัยนั้นไม่มีใครรู้จักภาษาเวียดนาม แต่เห็นอาการโบกไม้โบกมือ พร้อมส่งเสียงว่า แกว แกว แกว คงน่าจะเป็นเหตุให้เรียกผู้คนที่อยู่ในเรือแพด้านล่างว่า "พวกแกว หรือคนแกว" แต่ในความเป็นจริงการตะโกนบอกคนบนฝั่งว่า แกว แกว แกว นั่นเป็นการร้องขอความช่วยเหลือ "แกว" ในภาษาเวียดนามแปลว่า "ดึง" แกวๆๆ ก็คือ ดึงๆๆ ด้วยเขาต้องการให้คนไทยที่อยู่ด้านบนช่วยดึงพวกเขาขึ้นไปบนฝั่ง แต่ไม่รู้จะพูดสื่อสารกันยังไงให้เข้าใจ" ก็แล้วแต่จะเชื่อนะครับ มาจากคำบอกเล่าของคนอำเภอท่าแขก นครพนม กับมัคคุเทศน์ดูแล บ้านลุงโฮ (โฮจิมินห์) เล่ามาตรงกัน
อร่อยทั่วไทย : อาหารญวนในอุบลราชธานี
ได้รับการแนะนำเพิ่มเติมข้อมูลมาจาก คุณฤดี ศรีนครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานผู้ผลิตสารคดีชุด "คนเวียดนามในแผ่นดินสยาม" มีทั้งสิ้นจำนวน 7 ตอน น่าสนใจเนื้อหาครอบคลุมตามที่ผมรวบรวมมาข้างต้น ดังนี้
EP.1 ปฐมบทคนเวียดนามในแผ่นดินสยาม "จากโคชินไชน่าถึง 3 กรุงราชธานี"
EP.2 สุพรรณบุรี .. คนเวียตแห่งลุ่มน้ำ "ศรัทธาสืบสาน อาหารดำรงอยู่"
EP.3 อนัมนิกายในสยามประเทศ "ตำนานและศรัทธา"
EP.7 กลับคืนมาตุภูมิ 'เหวียตเกี่ยวโห่ยเฮือง' ... "ความทรงจำและสัมพันธภาพ"
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)