คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระไม้อีสาน ได้รับอิทธิพลศิลปะล้านช้างมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งแผ่ขยายข้ามมายังฝั่งไทย พระไม้ในอีสานเริ่มแรกน่าจะเกิดขึ้นภายหลังการปกครองของพระเจ้าฟ้างุ้ม และน่าจะเริ่มจากการทำพระพุทธรูปประทับยืนเลียนแบบพระบาง ต่อมาศิลปะการสร้างพระไม้ได้ถ่ายทอดสู่สามัญชน แต่เนื่องจากพระไม้ประทับยืนค่อนข้างทำยาก และไม่เหมาะสำหรับช่างพื้นบ้าน ช่างพื้นบ้านจึงสร้างพระไม้แบบประทับนั่งปางต่างๆ แทน ในภาคอีสานจึงพบเห็นพระไม้แบบประทับนั่งมากกว่าแบบประทับยืน
พระไม้ ในพระธาตุหลวง เวียงจันทน์ และ ถ้ำติ่ง หลวงพระบาง (เมื่อผู้เขียนไปทำงานและเที่ยวที่ สปป.ลาว)
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปร่างแบบพื้นบ้านไม่อ่อนช้อยดูไม่เหมือนจริง หมือนตุ๊กตา ท่าทางค่อนข้างแข็ง แกะสลักแบบหยาบๆ โดยฝีมือของชาวบ้าน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คนอีสานสร้างพระไม้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา สร้างแทนองค์พระพุทธเจ้า ชาวบ้านมีความศรัทธาและทำด้วยใจเป็นสำคัญ ด้วยเชื่อว่าภายภาคหน้าจะได้เกิดในดินแดนของพระศรีอริยเมตไตรย
ข้อมูลจาก : "พระไม้อีสาน" รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ
การสร้าง "พระไม้ในอีสาน" ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า มีประวัติความเป็นมาและการสร้างอย่างไร ใครเป็นผู้สร้างขึ้นครั้งแรก เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารอ้างอิงชัดเจน จากการศึกษารูปแบบ พระไม้อีสาน เมื่อเปรียบเทียบกับ พระไม้ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก จนแทบจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสกุลช่างเดียวกัน ที่ไดรับและแลกเปลี่ยนอิทธิพลซึ่งกันและกัน นักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่า พระไม้ในอีสาน ได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยศิลปะแบบล้านช้าง แล้วแผ่ขยายอิทธิพลข้ามมายังฝั่งไทย จากการอพยพโยกย้ายก็ดี หรือจากการถ่ายโอนโดยทางเครือญาติก็ดี
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้กล่าวอ้างสนับสนุนแนวความคิดข้างต้นดังกล่าวคือ ชนชาติลาวได้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยอยู่ในจีน ในสมัยแผ่นดินขุนหลวงลีเมา (พ.ศ. 612) อยู่ใน นครงายลาว อาณาจักรหนองแสง แล้ว เป็นพุทธศาสนาแบบมหายาน ภายหลังได้จางหายไป เพราะแพร่หลายอยู่ในชนชั้นสูงเท่านั้น ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังนับถือผีฟ้า ผีแถน จนกระทั่งพระเจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ จึงได้นำพุทธศาสนาเข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1902 นับจากนั้นพุทธศาสนาจึงได้เจริญรุ่งเรืองสืบมา
นักวิชาการเชื่อว่า พระไม้ในอีสาน แรกเริ่มเดิมที่ น่าจะเกิดขึ้นภายหลังสมัยการปกครองของพระเจ้าฟ้างุ้ม และน่าจะเริ่มจากการทำพระพุทธรูปประทับเป็นยืน เลียนแบบพระบาง ซึ่งพระเจ้าฟ้างุ้ม ได้อัญเชิญมาจากเมืองอินทปัตนคร (กัมพูชา) ต่อมาจึงได้แพร่กระจายความเชื่อสู่สามัญชน เนื่องจากพระไม้ประทับยืนค่อนข้างทำได้ยาก และไม่เหมาะสำหรับช่างพื้นบ้าน จึงเปลี่ยนมาสร้างพระไม้ประทับนั่งปางต่างๆ แทน ดังนั้นจึงพบเห็นพระไม้ประทับนั่งมากกว่าประทับยืน
คนอีสานอันหมายรวมทั้งชาวบ้าน ช่างแกะสลัก และพระสงฆ์ มีความเชื่อในการทำพระไม้หลายประการดังนี้
อีสานในอดีตซึ่งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็น “เอกลักษณ์เฉพาะของพระพุทธรูปแบบที่เรียกว่า พื้นบ้านพื้นเมืองอีสาน” ซึ่งมักไม่ได้รับความสนใจด้านคุณค่า ความหมายในวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งส่งผลต่อโลกทรรศน์ และรสนิยมทางศิลปะของคนอีสานเอง หรือคนอื่นๆ นอกวัฒนธรรม อย่างเช่น ในมิติทางด้านประวัติศาสตร์มีบันทึกในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 4 ที่น่าสนใจกล่าวว่า มีกลุ่มเสนาบดีตำหนิพระพุทธรูปลาว (พระเสริม พระไส) ว่าไม่คู่ควรกับบ้านเมืองกรุงเทพฯ ว่า… เพราะพระพุทธรูปเป็นแต่ของหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมๆ ไม่เป็นที่เห็นเป็นประหลาดอัศจรรย์อะไรนัก นั้นก็ไม่ควรแก่พระบารมีเลย พระพุทธรูปอย่างนี้ถึงอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็ไม่เป็นที่ออกอวดแขกบ้านแขกเมืองได้ เหมือนพระแก้วมรกต และพระแก้วผลึก… (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. โลกทัศน์อีสาน. 2537, น.35.)
หรือในวงการนักเลงพระเครื่องอย่างที่ สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธรูป กล่าวว่า ในวงการนักสะสมพระพุทธรูปในเมืองไทย จะนิยมเรียกพระพุทธรูปที่ไม่งดงาม หรือมีความอ่อนด้อยทางทักษะฝีมือว่าเป็น พระพุทธรูปลาว เช่น เรียกว่า พระเชียงแสนลาว หรือพระอยุธยาลาว ฯลฯ โดยทั้งหมดมีนัยยะที่มีพื้นฐานมาจากความมีอคติทางชาติพันธุ์ จากคำว่า "ลาว" ในฐานะผู้ตํ่าต้อย โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่อยู่ในกลุ่มสายสกุลช่างพื้นบ้าน โดย สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่าแท้จริงแล้ว ศิลปะพระพุทธรูปล้านช้างแบบช่างเมืองหลวงนั้น มีความสวยงาม ความประณีต ไม่แพ้ศิลปะของประเทศใดในโลก เป็นความงามแบบอุดมคติและมีความเป็นเอกลักษณ์ลาวอย่างแท้จริง (สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์. ประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปล้านช้าง. 2543, น. 257.)
หากพิเคราะห์พิจารณาตาม หลักเกณฑ์มหาปุริสลักษณะ หมายถึง คุณลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการ เป็นความงามอันประณีตที่เป็นปทัสถานของสังคม ตามขนบนิยมแล้ว พระพุทธรูปอีสานก็ดูจะด้อยค่าลงในทันที โดยมีปฐมเหตุเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยแวดล้อมทางสังคมในมิติแห่งบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเครื่องมือ และอุปกรณ์ ตลอดจนวัสดุ นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่สำคัญคือ คติความเชื่อของวัฒนธรรมพื้นถิ่น ก่อเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอีสาน” โดยจำแนกตามคุณลักษณะดังนี้ คือ
พระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาค กล่าวคือ จะมีคุณลักษณะของพระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาค ในธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปโดยทั่วไป เช่น สัดส่วนที่ดูขาดๆ เกินๆ ซึ่งพระพุทธรูป (บางแบบ) พระหัตถ์พระบาท จะมีลักษณะที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปโดยทั่วไป ซึ่งสะท้อนถึงสังคมอีสาน ซึ่งเป็นวิถีสังคมเกษตรกรรมที่ทำไร่ ทำนา ต้องใช้มือเท้าเป็นสำคัญ ดังนั้นมือเท้าต้องแข็งแรง
พระเสี่ยงทายประจำวัดแกะสลักจากแก่นไม้ ศิลปะลาวล้านช้าง
วัดขะยูงวนาราม ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
สุนทรียภาพการแสดงออกทางอารมณ์ของพระพักตร์ (ใบหน้า) พระพักตร์ของพระพุทธรูปอีสานเป็นลักษณะเฉพาะ ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดสะเทือนอารมณ์ ทั้งในบุคลิกที่เคร่งขรึม ดุดัน หรือผ่อนคลาย ด้วยสีหน้าอารมณ์ที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่พระพักตร์จะมีลักษณะที่ยิ้มแย้มสดใส แลดูอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่เป็นกันเอง ดูผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด บางแห่งช่างได้จำหลักส่วนพระพักตร์มีลักษณะแบบเด็กๆ ซึ่งแลดูเด๋อๆ ด๋าๆ น่ารัก แบบซื่อๆ
เส้นสายรายละเอียดของรูปทรงและผิวสัมผัสอันมีลักษณะดิบๆ แข็งๆ หยาบๆ มีทักษะฝีมือที่ไม่อ่อนหวานละเอียดอ่อน อันเกิดจากสัญชาตญาณในสุนทรียะที่ใช้ความรู้สึก ซึ่งให้อารมณ์ที่มีคุณค่าสูงยิ่งในศิลปะ จนลบล้างข้อด้อยอื่นๆ ซึ่งคุณลักษณะนี้เองที่ช่วยก่อเกิด “อัตลักษณ์เฉพาะ”
ด้วยลักษณะสังคม ยืดหยุ่น จริงใจ ซื่อตรง อย่างในวิถีชาวบ้าน ที่มีโครงสร้างทางสังคมที่มีความเสมอภาค นี่เองที่เป็นปฐมเหตุอันสำคัญ ก่อให้เกิดคุณลักษณะความงามอย่างในวิถีชาวบ้านที่ปรากฏอยู่ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในงานศิลปะพื้นบ้านอีสานทุกแขนง โดยเฉพาะคุณลักษณะเสรี ที่เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ที่สร้างคุณค่าทางศิลปะ อันปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปอีสาน ซึ่งมีความแปลกและแตกต่างจากสกุลช่างอื่นๆ (แม้ในวัฒนธรรมล้านช้างซึ่งเป็นวัฒนธรรมแม่) ด้วยลักษณะงานช่างอย่างลักษณะศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีสังคมวัฒนธรรมชาวบ้าน ดังนั้น คุณค่า ความงามไม่งาม จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์โดยตรงกับสังคมวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องศิลปะโดดๆ
ดังบทกวีที่ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ได้รจนาไว้ว่า “…นั่งเลี้ยงควายหาไม้มาแซะเป็นพระ ไม่สวยสะแต่สวยซื่อคือ พระพุทธ แทนคุณค่าความดีความบริสุทธิ์ใจผ่องผุดเกิดพุทธ…ปฏิมากร” (บันทึกอีสานผ่านเลนส์, 2543, น. 1.) อย่างวัฒนธรรมอีสานซึ่งมีเบ้าหลอมจากวิถีแห่งความลำบากอย่างปากกัดตีนถีบ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และสภาวะที่ถูกทำให้เป็นอื่น คือเบ้าหลอมให้วิถีแห่งอีสาน “ง่ายและงดงาม” คุณค่าความงามเป็นเรื่องของมายาจริตของคอกความคิด แต่พลังศรัทธาเป็นเรื่องของจิตวิญญาณความรู้สึก ซึ่งข้าพเจ้าค้นพบแล้วในงานช่างวิถีแห่งอีสานโบราณ
แต่ทำไม เพราะอะไรพวก…จึงดูถูก ดูแคลน เย้ยหยัน รื้อๆ และอยากอายๆ มูนมังของเจ้าของ!?
จาก : ติ๊ก แสนบุญ
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2555
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)