foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

เฮือนและเถียงนา

ดินแดนในภาคอีสานเป็นถิ่นที่มีความแห้งแล้งจากสภาพภูมิอาศในฤดูร้อน มีตวามหนาวเย็นในหน้าหนาว บ้านเรือน หรือ เฮือน ที่อยู่อาศัยจึงมีรูปแบบยกใต้ถุนสูง (มี ใต้ล่าง หรือ ตะหล่าง) ตัวบ้านค่อนข้างทึบ มีเฮือนนอน เฮือนไฟ ชายคากว้างค่อนข้างต่ำ มีชานเรือนมีหลังคาคลุม ใต้ถุนสูงเพื่อเป็นที่พักอาศัย ทำกิจกรรมต่างๆ ในหน้าร้อน เช่น การต่ำหูกทอผ้า เป็นที่เก็บเครื่องมือทำการเกษตร และที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง

baisri sukwan 20

ชาวอีสานได้รับอิทธิพลไต ลาว จึงนำคติความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน จะนับถือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ คือ ผีปู่ตา ผีฟ้า ผีแถน ควบคู่ไปกับศาสนาพุทธ ซึ่งทำให้เกิดระเบียบแบบแผนในการก่อสร้างบ้านเรือน การหาฤกษ์ยามปลูกบ้านเฮือน ฤกษ์การเข้าอยู่อาศัย การสู่ขวัญเฮือน เป็นต้น

คำว่า "บ้าน" กับ "เฮือน" สำหรับความเข้าใจของชาวอีสานแล้วจะมีความต่างกัน คำว่า "บ้าน" มักจะหมายถึง "หมู่บ้าน" ที่ประกอบด้วยเฮือนหลายหลัง อยู่อาศัยรวมกันเป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน มิใช่เป็นหลังๆ ส่วนคำว่า "เฮือน" นั้น ชาวอีสานหมายถึง เรือนที่เป็นหลังๆ

นอกจากคำว่า "เฮือน" แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า "โฮง" หมายถึงที่พักอาศัยที่ใหญ่กว่า "เฮือน" มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองในสมัยโบราณ คำว่า "คุ้ม" หมายถึง บริเวณที่มี "เฮือน" รวมกันอยู่หลายๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน ในหนึ่งหมู่บ้านอาจมีหลายคุ้ม เช่น คุ้มเหนือ คุ้มใต้ คุ้มตะเว็นตก คุ้มตะเว็นออก (ตะเว็น = ตะวัน, ดวงอาทิตย์) ส่วนคำว่า "ตูบ" หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้

รูปแบบของเรือนไทยอีสาน

รูปแบบของเรือนไทยอีสานสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการพักอาศัย ที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในวาระต่างๆ กัน ดังนี้

  • ประเภทชั่วคราว หรือ ใช้เฉพาะฤดูกาล ได้แก่ "เถียงนา" หรือ "เถียงไร่" ส่วนใหญ่จะยกพื้นสูง เสาเรือนใช้ไม้จริง ส่วนโครงใช้ไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นเป็นไม้ไผ่สับฟาก ทำฝาโล่ง หากไร่นาไม่ไกลสามารถไปกลับได้ มีอายุใช้งาน 1-2 ปี สามารถรื้อซ่อมใหม่ได้ง่าย
    เถียงนา 
  • ประเภทกึ่งถาวร เป็นเรือนขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก ชาวอีสานเรียกว่า "เรือนเหย้า" หรือ "เฮือนย้าว" เป็นการเริ่มต้นชีวิต การครองเรือน และค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไปสู่การมีเรือนถาวรในที่สุด เรือนประเภทนี้วัสดุก่อสร้างมักไม่พิถีพิถันนัก อาจเป็นแบบ "เรือนเครื่องผูก" หรือเป็นแบบผสมของ "เรือนเครื่องสับ" ก็ได เรือนประเภทกึ่งถาวรนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
    เฮือนเหย้า
    • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด "ตูบต่อเล้า" เป็นเรือนที่อิงเข้ากับตัวเล้าข้าว ซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือน มีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงนทั่วไป ด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็นตัวยึด ต่อหลังคาลาดต่ำลงไปทางด้านข้างของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น มุงหลังคา ด้วยหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ยๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว อาศัยกันไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง
      ตูบต่อเล้า
    • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด "ดั้งต่อดิน" เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ทำนองเดียวกับ "ตูบต่อเล้า" แต่จะดูเป็นสัดส่วน มากกว่า ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อย กว้างไม่เกิน 2 ม. ยาวไม่เกิน 5 ม. นิยมทำ 2 ช่วงเสา คำว่า "ดั้งต่อดิน" เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสานที่ หมายถึง ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดิน และใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่
      วิธีสร้าง "ดั้งต่อดิน" มักใช้ผูกโครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูก ตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก หลังคามักมุงด้วยหญ้าคา ที่กรองเป็นตับแล้วเรียกว่า "ไพหญ้า" ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตอง โดยใช้ใบกุงหรือใบชาดมาประกบกับไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟาก สานลายขัดหริอลายสองทแยงตามแต่สะดวก ส่วนพื้นนิยมใช้พื้นสับฟากหรือใช้แผ่นกระดานปูรอง โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัด ขนาบกันแผ่นกระดานขยับเลื่อน
    • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด "ดั้งตั้งคาน" ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก มีความแตกต่างจากเรือน "ดั้งต่อดิน" ตรงที่เสาดั้งต้น กลางจะลงมาพักบนคานของด้านสกัดไม่ต่อลงไปถึงดิน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนจะใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท "ดั้งต่อดิน"
  • ประเภทถาวร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น "เรือนเครื่องสับ" สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบของการก่อสร้าง ประโยชน์ใช้สอย และความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น 3 ชนิด คือ
    • ชนิดเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว เสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)
    • ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ
    • ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ
    เรือนเครื่องสับเหล่านี้ ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง มักทำหน้าต่างเป็นช่องแคบๆ ส่วนประตูเรือนทำเป็นช่องออกทางด้านหน้าเรือนเพียงประตูเดียว ภายในเรือนจึงค่อนข้างมืด เพราะในฤดูหนาวมีลมพัดจัดและอากาศหนาว จึงต้องทำเรือนให้ทึบและกันลมได้ หลังคาเรือนทำเป็นทรงจั่วอย่างเรือนไทยภาคกลาง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องไม้สัก (แป้นเกล็ด) จั่วกรุด้วยไม้ตีเกล็ดเป็นรูปรัศมีของอาทิตย์ทั้งสองด้าน รอบหลังคาไม่มีชายคาหรือปีกนกยื่นคลุมตัวบ้านเหมือนอย่างเรือนไทยภาคกลาง

เฮือนแฝด

เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคอีสาน

  • ไม่นิยมทำหน้าต่างทางด้านหลังตัวเรือน ถ้าจะทำจะเจาะเป็นช่องเล็กๆ พอให้ยี่นศีรษะออกไปได้เท่านั้น เรียก ป่องเอี้ยม
  • ไม่นิยมต่อยอดป้านลมให้สูงขึ้นไปเหมือนเรือนของชาวไทยล้านนาที่เรียกว่า "กาแล"
  • ไม่นิยมตั้งเสาเรือนบนตอม่อ เหมือนเรือนของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ชาวไทยภาคอีสานปลูกเรือนด้วยการฝังเสาลงในดิน จึงไม่มีการตั้งบนตอม่อ

พาเบิ่งเฮือนอิสานโบราณ ที่ นาดูน มหาสารคาม

องค์ประกอบของเรือนไทยภาคอีสาน

huan isan 01

  • เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า "เรือนสามห้อง" ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
    • ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชาย มักไม่มีการกั้นห้อง
    • ห้องพ่อ-แม่ อาจกั้นเป็นห้องหรือปล่อยโล่ง
    • ห้องนอนลูกสาว หรือเรียกว่า ห้องส้วม มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิด หากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้
    ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ อาจใช้สอยได้อีก เช่น กั้นเป็นคอกวัวควาย ฯลฯ
  • เกย คือบริเวณชานโล่งที่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก หรือที่รับประทานอาหาร ส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ อาจไว้ใช้เป็นที่เก็บฟืน
  • เรือนแฝด เป็นเรือนทรงจั่วแฝด เช่นเดียวกับเรือนนอน โครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคา จะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมากกว่าเรือนนอน ก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก
  • เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝดตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยก ออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อย ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัวชั่วคราวได้
  • เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด
  • ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี "ฮ้านแอ่งน้ำ" อยู่ตรงขอบของ ชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี "ชานมน" ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ
  • เสาแฮก (แรก) เสาขวัญ จะยึดเสาคู่ในทางตะวันออก เสาแฮกจะอยู่ด้านในซึ่งเป็นด้านขยายตัวเรือนออกเป็น เฉลียง ชาน ถ้ากรณีหันหัวนอนไปทางทิศใต้ตำแหน่งเสาแฮก-เสาขวัญจะสลับกันกับเสาลักษณะแรก การเลือกเสาคู่นี้ต้องเลือกเสาที่ดี วิธีผูกเสาแฮก-เสาขวัญ การผูกเสาจะใช้สิ่งที่เป็นมงคลและที่มีความหมายเป็นศรีแก่เรือนและผู้อยู่ อาศัยให้มีความเป็นสิริมงคลเช่น ใบยอ ใบคูน ยอดอ้อย กล้วย ไซใส่เงิน-ทอง อัก (เครื่องมือสำหรับเก็บด้ายทอผ้า)

haan angnam 01

ฤกษ์ยามในการปลูกเฮือน

ฤกษ์เดือน

  • เดือนอ้าย นาคนั้นหลับนอนหลับหากปลูกเรือนอยู่มักตาย
  • เดือนยี่ นาคนอนตื่น ปลูกเรือนอยู่ดีมีสุข
  • เดือนสาม นาคหากินทางเหนือ มิดี อยู่ฮ้อนไฟจักไหม้
  • เดือนสี่ นาคหากินอยู่เรือน ปลูกเรือนอยู่ดีเป็นมงคล
  • เดือนห้า นาคพ่ายครุฑหนี ปลูกเรือนร้อนอกร้อนใจ มิดี
  • เดือนหก จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มิตรสหายมาก
  • เดือนเจ็ด นาคพ่ายหนี จักได้พรากจากเรือน มิดี
  • เดือนแปด นาคเห็นครุฑ จักได้เสียของมีรู้แล้ว
  • เดือนเก้า นาคประดับตน ปลูกเรือนมีข้าวของกินมิรู้หมด
  • เดือนสิบ นาคถอดเครื่องประดับ ปลูกเรือนเข็ญใจ และคนในเรือนมักเจ็บไข้ตาย
  • เดือนสิบเอ็ด จะเกิดทุกข์ภัยอันตรายต่างๆ มักจะมีคนฟ้องร้องกล่าวหา จักมีโทษทัณฑ์
  • เดือนสิบสอง จะได้ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของและคนใช้

ฤกษ์วัน

  • วันอาทิตย์ ปลูกเรือนจะเกิดทุกข์อุบาทว์
  • วันจันทร์ ทำแล้ว 2 เดือน จะได้ลาภผ้าผ่อนและของขาวเหลือง เป็นที่พึงพอใจ
  • วันอังคาร ทำแล้ว 3 วัน ไฟจะไหม้หรือจะเจ็บไข้
  • วันพุธ ปลูกเรือนจะได้ลาภเครื่องอุปโภคมีผ้าผ่อน เป็นต้น
  • วันพฤหัสบดี ปลูกเรือนจะเกิดสุขกายสบายใจ ทำแล้ว 5 เดือนจะได้โชคลาภมาก
  • วันศุกร์ ปลูกเรือนจะมีความทุกข์และความสุขก้ำกึ่งกัน ทำแล้ว 3 เดือนจะได้ลาภเล็กน้อย
  • วันเสาร์ ปลูกเรือนจะเกิดพยาธิ หรือเลือดตกยางออก ทำแล้ว 4 เดือนจะลำบาก ห้ามไม่ให้ทำแล

huan fad 02

ก่อนการลงมือก่อสร้าง "เฮือน" อันดับแรกต้องพิจารณาสถานที่ๆ จะสร้างเรือนก่อน โดยต้องเลือกเอาสถานที่ปลอดโปร่ง ไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีจอมปลวก ไม่มีหลุมผี ไม่มีตอไม้ใหญ่ และต้องดูความสูงต่ำ ลาดเอียงของพื้นดินว่า ลาดเอียงไปทางทิศใด และจะเป็นมงคลหรือไม่ดังนี้

  • พื้นดินใด สูงหนใต้ ต่ำทางเหนือ เรียกว่า "ไชยะเต ดีหลี"
  • พื้นดินใด สูงหนตะวันตก ต่ำทางตะวันออก เรียกว่า "ยสะศรี-ดีหลี"
  • พื้นดินใด สูงทางอีสาน ต่ำทางหรดี เรียกว่า "ไม่ดี"
  • พื้นดินใด สูงทางอาคเนย์ ต่ำทางพายัพ เรียกว่า "เตโซ" เฮือนนั้นไม่ดี เป็นไข้ พยาธิฮ้อนใจ

เมื่อเลือกได้พื้นที่ปลูกเรือนแล้ว จะมีการเสี่ยงทายพื้นที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดข้าว 3 กระทง คือ ข้าวเหนียว 1 กระทง ข้าวเหนียวดำ 1 กระทง และข้าวเหนียวแดง 1 กระทง นำไปวางไว้ตรงหลักกลางที่ดินเพื่อให้กากิน ถ้า กากินข้าวดำ ท่านว่าอย่าอยู่เพราะที่นั้นไม่ดี ถ้ากากินข้าวแดง ท่านว่าไม่ดียิ่งเป็นอัปมงคลมาก ถ้ากากินข้าวขาว ท่านว่าดีหลี จะอยู่เย็นเป็นสุข ให้รีบเฮ็ดเรือนสมสร้างให้เสร็จเร็วไว

การเลือกพื้นที่ที่จะปลูกเรือนอีกวิธีหนึ่งคือ การชิมรสของดิน โดยขุดหลุมลึกราวศอกเศษๆ เอาใบตองปูไว้ก้นหลุม แล้วหาหญ้าคาสดมาวางไว้บนใบตอง ทิ้งไว้ค้างคืนจะได้ไอดินเป็นเหงื่อจับอยู่หน้าใบตอง จากนั้นให้ชิมเหงื่อที่จับบนใบตอง หากมีรสหวาน เป็นดินที่พออยู่ได้ มีรสจืด เป็นดินที่เป็นมงคล จะอยู่เย็นเป็นสุข มีรสเค็ม เป็นอัปมงคล ใครอยู่มักไม่ยั่งยืน มีรสเปรี้ยว พออยู่ได้แต่ไม่ใคร่ดีนัก จะมีทุกข์เพราะเจ็บไข้อยู่เสมอ

huan isan 02

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม การออกแบบเฮือนจะเน้นประโยชน์ใช้สอยและคำนึงถึงธรรมชาติโดยรอบ สัดส่วนมีความพอดี กลมกลืน และชาญฉลาด

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อโบราณในเรื่องความอยู่สบายและเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย

เถียงนา

คําว่า "เถียงนา" มีการอธิบายถึงความหมายอย่างกว้างๆ ว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในที่นาใช้งานในช่วงฤดูเพาะปลูกเป็นหลัก สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการเดินทางไป-กลับ ระหว่างบ้านและที่นาที่ต้องใช้เวลานาน และใช้เป็นสถานที่เพื่อการพักผ่อนระหว่างวัน ซึ่งสถาปัตยกรรมลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า "ห้างนา" ของภาคเหนือ "โรงนา" ของภาคกลาง และ "ขนํานา" ของภาคใต้

tiang na 01

ทั้งนี้พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความหมายคําว่า "เถียง" หมายถึง "โรงนาขนาดเล็กที่ทําไว้ชั่วคราวตามท้องไร่ท้องนา" เรียกว่า "เถียงนา" ถ้าสร้างในป่า เรียก "เถียงไฮ่" สําหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า "เรือนพักอาศัยชั่วคราวในทุ่งนาสําหรับอยู่เฝ้าข้าว"

ในภาษาลาวปรากฏคำว่า “เถียงนา” เช่นกัน หมายถึง ร้านชนิดหนึ่งที่มีการยกพื้น ลักษณะคล้ายกับเรือนแต่มีขนาดย่อมกว่า มักสร้างอยู่ตามทุ่งนาหรือไร่ และยังมีการอธิบายที่มาของชื่อเรียก "เถียงนา" ในภาษาลาวนั้นน่าจะเป็นการปรับรูปคำและความหมายมาจากคำว่า “เตียง” ในภาษาจีนโบราณ ซึ่งหมายถึง ร้านที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนนอน

"เถียงนา" มักสร้างในพื้นที่ราบลุ่มที่มีการหักร้างถางพง เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่นา โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า "ดอนหัวนา" ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง และมักมีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เป็นไม้ผลโดยรอบบริเวณเถียงนา และถ้าเป็นเถียงนาขนาดใหญ่กึ่งถาวร จะปลูกผักพืชสวนครัวไว้เป็นอาหาร และมีพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ บางแห่งมีการขุดบ่อน้ำไว้สำหรับอาบ กิน หรือใช้เลี้ยงปลา ในช่วงฤดูทำนา เก็บเกี่ยว ไถหว่าน ชาวนาจะยกครอบครัว เครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่เถียงนาเพื่อความสะดวกในการดูแล เสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง และเมื่อสิ้นฤดูการทำนา เถียงนามักจะถูกทิ้งร้าง ใช้เป็นเพียงที่พักพิงในช่วงเวลากลางวันตอนออกไปเลี้ยงวัว ควาย หรือหาของป่าตามหัวไร่ปลายนา หรือใช้เป็นที่ตั้งวงเหล้า รวมทั้งเล่นการพนัน

สําหรับประเด็นเรื่อง ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเถียงนา เชื่อว่า ก่อนการสร้างเถียงนาบางแห่งมีการทําพิธีบนบาน บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างเถียงนา และบางพื้นที่ก็อาจมีการสมมติเหตุการณ์ เพื่อเป็นการถือเคล็ด โดยให้คน 2 คนออกไปในนา บริเวณตรงที่จะปลูกสร้างเถียง แล้วให้ทั้งสองคนถกเถียงกันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดเสียงดังมากๆ หรืออาจจจะทำให้ถึงขั้นลงมือชกต่อยกัน เพื่อให้ดูสมจริงมากขึ้น จะได้เป็นการรบกวนไปถึงผีป่าหรือวิญญาณที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เกิดความรำคาญหรือความกลัว จนต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเชื่อกันว่า จะทำให้พื้นที่ปลูกสร้างนั้นเกิดความสงบร่มเย็น ปราศจากภัยอันตรายต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มลงมือปลูกสร้างเถียงนา

โดยในการสร้างเถียงนานี้ บางพื้นที่จะไม่สร้างเถียงนาหันไปทางทิศตะวันตก เพราะถือว่าเป็น "ทิศผีตาย" และยังมีการกล่าวถึงความเชื่อเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าบ้านใดไม่มีเถียงนาเป็นของตนเอง คนนั้นจะยากจนและไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคม นอกจากนี้ การเลือกที่ตั้งยังต้องสังเกตว่า เป็นที่อากาศปลอดโปร่ง สะดวกต่อการเดินทาง การลําเลียงผลผลิต และสามารถมองเห็นโดยรอบ เพื่อให้ง่ายในการดูแลนาข้าว ซึ่งการเลือกทําเลที่ตั้งนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันต่อมา

tiang na 02

เอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็น "เถียงนา" คือ เป็นเรือนมีหลังคา ด้านข้างเปิดโล่งคล้ายศาลา ไม่นิยมกั้นฝา เพื่อระบายอากาศเวลาพักผ่อน สามารถสอดส่องดูแลผลิตผลทั่วถึง บางแห่งอาจกั้นฝาในบางด้าน เพื่อป้องกันฝน ลม และแดด แต่จะไม่นิยมกั้นโดยรอบ และไม่นิยมทำรั้ว

  • เสา ส่วนใหญ่มีเสา 4 ต้น อาจมีการเพิ่มเสาเพื่อต่อหลังคาสำหรับใช้ประโยชน์เพิ่มเติม วัสดุทำจากไม้เนื้อแข็งที่หาได้ในบริเวณใกล้เคียง
  • หลังคา เป็นทรงจั่ว หรือเพิงระนาบ ยกสูงด้านด้านหนึ่งเพื่อระบายฝน วัสดุส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา ใบไม้ หรือวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ในปัจจุบันเปลี่ยนไป เช่น ใช้สังกะสี พลาสติก กระเบื้อง ป้ายโฆษณา (หาเสียงของผู้แทน)
  • พื้น ส่วนใหญ่ทำจากไม้ ไม้ไผ่ หรือไม้กระดาน พื้นของเถียงนาจะยกสูงจากพื้นดิน บางหลังอาจต่อเติมพื้นเพื่อการใช้งานเพิ่มเติม ลักษณะคล้ายกับเกยของเรือน เถียงนาบางแห่งไม่มีพื้นกระดาน ใช้พื้นดินแทน มักเป็นเถียงนาที่น้ำท่วมไม่ถึง
  • ใต้ถุน บางแห่งยกพื้นขึ้นสูง เพื่อใช้งานบริเวณด้านล่าง เช่น เลี้ยงสัตว์ ใช้เก็บผลผลิต เครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์การเกษตร หรือประกอบอาหาร

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเถียงนา มีลักษณะและขนาดที่ไม่แน่นอน แต่ปกติมักมีขนาดตั้งแต่ 2 x 2 เมตรขึ้นไป ความคงทนและความประณีตขึ้นอยู่กับที่ตั้งระหว่างเถียงนากับบ้านว่า มีความใกล้หรือไกลมากน้อยเท่าใด มีการระบุการแบ่งประเภทเถียงนาออกเป็น 2 ลักษณะคือ

  • เถียงนาชั่วคราว เป็นเถียงนาที่สร้างอยู่ใกล้บ้าน เดินทางไป-กลับได้ภายในหนึ่งวัน มีขนาดเล็กมักใช้เสา 4 ต้น ทําเป็นห้องเดียว มีการยกพื้นง่ายๆ หรืออาจไม่ยกพื้น เพราะใช้การนั่งติดพื้นดินได้เลยและ
  • เถียงนาค่อนข้างถาวร เป็นเถียงนาที่สร้างไกลจากบ้าน ไม่สะดวกในการเดินทางไป-กลับ โครงสร้างเถียงนามักมีขนาดเสา 6 ต้น สามารถทําห้องได้ 2 ห้อง มีการยกพื้นสามารถอาศัยนอนได้

tiang na 03

มีการพบเถียงนาอีกแบบหนึ่ง เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของชาวนา ที่ไม่สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมสําหรับการสร้างเถียงนาได้ มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเสาหลัก 4 ต้น และโครงสร้างหลังคาไม้ไผ่ ใช้หญ้ามุง มีน้ําหนักเบาง่ายต่อการเคลื่อนย้ายได้ เรียกว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับเถียงนาพื้นติดดินเรียกว่า "เถียงนาเคลื่อนที่" (เป็นแคร่ไม้ไผ่ยกพื้นเล็กน้อยมีเสา 4 ต้นมุงด้วยหญ้าคาหรือฟางข้าว)

tiang na 04

[ อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้อง : การปลูกเฮือน | การสู่ขวัญเฮือน | เฮือนอีสาน ]

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)