คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลักบ้านและดอนปู่ตา หลักบ้านเป็นที่สถิตของ "ผีอาฮัก" หรือ "เทพารักษ์" ชาวไทยอีสานจะทำพิธีบวงสรวงผีอาฮักให้มาสถิตอยู่ ณ หลักบ้าน บือบ้าน หรือสะดือบ้าน โดยสร้างเป็นหลักไม้ตั้งอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน นิยมใช้ไม้ยอและไม้คูณซึ่งมีความหมายเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้าน ส่วนดอนปู่ตาเป็นที่สถิตของปู่ตาซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อช่วยปกป้องอารักขาลูกหลานในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข การสร้างดอนปู่ตามักเลือกเอาบริเวณที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เรียกว่า "ดอน" บริเวณนี้มักมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่นไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดไม้ มีการสร้างตูบเล็กๆ ไว้เป็นที่สถิตของผีปู่ตา และทำพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาปีละครั้ง
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม หลักบ้านมีลวดลายที่เกิดจากการแกะสลัก แต่ไม่วิจิตรมากนัก มักจะมีการยักปลายหรือที่ช่างพื้นบ้านเรียกว่า "แอวขัน" โดยแบ่งส่วนปลายและส่วนลำตัว ส่วนปลายจะถากปาดยอดให้เป็นทรงบัวเหลี่ยม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ศูนย์กลางของหมู่บ้านและการปกปักรักษาครอบครัวและชุมชน
“ศาลหลักบือบ้าน” และหุ่นรูปเหมือนหลวงปู่ทองมา ถาวโร พระเกจิชื่อดังแห่งภาคอีสาน ที่ชาวอิสานขนานนามว่า
"พระอริยเจ้าแห่งเมืองเกินร้อย" ตั้งอยู่ภายในศาลหลักบ้าน ที่คอยคุ้มครองปกปักรักษาคนในชุมชน
บ้านโนนเที่ยง ตำบลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์
(ภาพจาก http://namon.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/3/menu/138)
หลักบือบ้าน มีชื่อเรียกเฉพาะท้องถิ่นอีสานหลายชื่อ เช่น หลักบ้าน หลักธรรม หลักกลางบ้าน ฯลฯ บือบ้าน คำนี้มาจาก สายบือ (สะดือ) หมายถึง บริเวณกึ่งกลางของหมู่บ้าน ธรรมเนียมการฝังหลักบ้านที่เรียกกันว่า “บือบ้าน” มีคติความเชื่อเดียวกันกับการฝังหลักเมืองคือ การสร้างสัญลักษณ์อันเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของผีผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองคนในบ้านเมือง
หลักบือบ้าน นิยมทำด้วยไม้มงคล ประเภท ไม้พะยูง ไม้คูณ (ต้นราชพฤกษ์) ไม้ยอป่า ไม้มะขามแก่น ฯลฯ มีความสูงประมาณ 1.5 – 3 เมตรทำเป็นรูปคล้ายดอกบัวหรือรูปสี่เหลี่ยมตามเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
พระสงฆ์กำลังสวดพุทธมนต์ที่เสาหลักบ้าน ประเพณีบุญซำฮะ(ชำระ) หรือบุญเดือนเจ็ดของชาวอีสาน
(ภาพจาก http://www.kaentong.com/index.php?topic=4667.0)
ช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน ของทุกปี ชาวอีสานจะมีการจัดประเพณีบุญซำฮะ (ชำระ) หรือ บุญเบิกบ้าน เป็นประเพณีบุญเดือนเจ็ดในฮีตสิบสอง (ฮีตสิบสองคือประเพณีบุญสิบสองเดือนของภาคอีสาน) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเพื่อความสงบสุขแก่ชุมชน สถานที่ทำบุญจัดขึ้นบริเวณหลักบ้าน งานบุญจัด 2 วัน คือ มื้อโฮม (วันรวม) ตอนเย็นชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
ส่วน มื้องัน (วันงาน) ตอนเช้า ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ ในแต่ละครัวเรือนจะทำ “ทงหน้าวัว” ซึ่งภายในทงจะใส่อาหารคาวหวาน และทำหุ่นรูปคนสองคนใส่ไว้ในกระทงด้วย เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกทุกคนในครัวเรือน และนำน้ำสะอาดใส่ถังมาร่วมในพิธีเพื่อให้พระสงฆ์สวดมนต์ เสร็จแล้วนำทงหน้าวัวไปวางไว้ตามทาง ‘สามแพร่งหรือสี่แพร่ง’ บริเวณนอกหมู่บ้าน ส่วนน้ำมนต์จะนำมาประพรมตามบ้านเรือนและให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควายกิน โดยเชื่อว่าจะทำไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้แล้วพระสงฆ์จะนำหินกรวดและทราย ที่ผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ไปหว่านใส่หลังคาบ้านเรือนทุกหลังในหมู่บ้าน เพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นมงคลให้ออกไปจากบ้านเรือน ถือเป็นเสร็จพิธีในการทำบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้านประจำปี
ความสำคัญของหลักบือบ้านนั้นไม่ใช่แต่เป็นเพียงเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชาวบ้าน หากแต่เป็นการสร้างสัญลักษณ์ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในหมู่บ้านเมื่อจะเดินทางไปที่ใดก็ต้องมากราบลา เพื่อขอพรอันเป็นการเสริมกำลังใจ หลักบือบ้านจึงเป็นมากกว่าหลักแก่นของหมู่บ้าน ที่เป็นการสร้างกุศโลบายเพื่อสร้างความสงบสุขมาสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
เขียนโดย : จักรมนตรี ชนะพันธ์. จาก วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เมษายน พ.ศ.2560
คติความเชื่อเรื่อง “ผี” นั้นชาวอีสานเชื่อกันว่า ผีมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเป็นผีประเภทแผ่คุณความดี ช่วยคุ้มครองปกป้องภัยพิบัติทั้งปวงที่จะมากล้ำกราย ตลอดจนดูแลรักษาชุมชนให้เกิดสันติสุข ขณะเดียวกันก็อาจบันดาลให้เกิดความเดือดร้อนยุ่งยากได้ หากผู้ใดล่วงละเมิดขาดความเคารพยำเกรง หรือมีพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาของชุมชน กลุ่มผีดังกล่าวมีผีเจ้า ผีนาย ผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีปู่ย่า ผีปู่ตา ผีตายาย ผีมเหสักข์ หลักเมือง ผีฟ้า ผีแถน ผีมด ผีหมอ ผีเจ้าปู่หลุบตา หรือผีที่ชาวบ้านนับถือเฉพาะถิ่นซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เป็นต้น
ส่วนผีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผีร้ายที่คอยมุ่งทำลายล้าง เบียดเบียน ก่อความวุ่นวายสับสนให้เกิดโทษภัยอยู่เนืองๆ เช่น ผีปอบ ผีเปรต ผีแม้เล้ง ผีห่า เป็นต้น
เมื่อชาวบ้านได้ก่อตั้งชุมชนขึ้นมา ณ บริเวณใดก็ตาม ย่อมจะต้องสร้างบ้านเรือน โรง หอ หรือศาล (ตูบ) ไว้เป็นที่พำนักอาศัยของกลุ่มผีประเภทที่ให้คุณไว้เสมอ ณ บริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นที่พึ่งพิงสำหรับบูชาเซ่นสรวงสังเวยเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ
กลุ่มผีให้คุณที่ชาวอีสานดูจะให้ความเคารพศรัทธาค่อนข้างมากนั้นคือ “ผีปู่ตา” ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผีบรรพชน หรือกลุ่มผีประจำตระกูลที่ล่วงลับไปแล้วของชาวบ้าน แต่ดวงวิญญาณยังเป็นห่วงบุตรหลานอยู่ จึงเฝ้าคอยดูแล รักษา คุ้มครอง ป้องกันภัยร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในชุมชน โดยมอบหมายกำหนดให้ “เฒ่าจ้ำ” ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานสื่อสาร ระหว่างผีบรรพชนกับชาวบ้าน ความเชื่อถือ ศรัทธาเรื่องผีบรรพชน หรือ “ผีปู่ย่าตายาย” ของชาวอีสานนั้นปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นประเพณีทุกท้องถิ่น ทุกชุมชน และดูเหมือนว่าชุมชนจะยึดมั่นเคารพในผีเพศชายเป็นสำคัญ จึงคงเหลือชื่อเป็น “ผีปู่ตา” หรือ “ผีตาปู่” ส่วน “ผีย่ายาย” นั้นกลับเลือนหายไป อย่างไรก็ตามการคงชื่อ “ปู่” และ “ตา” อาจมุ่งหวังเป็นบรรพชนทั้งฝ่ายบิดามารดา ให้ทัดเทียมกันด้วย “ปู่” เป็นญาติข้างฝ่ายชาย และ “ตา” เป็นญาติข้างฝายหญิง
โดยทั่วไปแล้วมักนิยมให้ "ศาลปู่ตา" อยู่ด้านทิศตะวันออกของชุมชน บริเวณป่าอีกส่วนหนึ่งจะกำหนดให้อยู่ด้านทิศเหนือ หรือทิศใต้ของชุมชน เป็นป่าสำหรับเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หรือสัตว์ใช้งานอื่น ซึ่งเรียกว่า “ป่าทำเลเลี้ยงสัตว์”
การกำหนดเลือกพื้นที่อยู่อาศัยของผีปู่ตานั้นต้องให้พื้นที่เป็นเนินสูง โนน โคก หรือดอน ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพป่าหนาทึบ ร่มครึ้ม มีสัตว์ป่าชุกชุมหลากหลายพันธุ์ มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ทั้งเสียงร้องของส่ำสัตว์ คลุกเคล้าประสานไปกับเสียงเสียดสีของต้นไม้เครือเถาทั้งปวง ซึ่งทำให้อาณาเขต “ปู่ตา” “ดอนปู่ตา” หรือ “ดงปู่ตา” ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
เรือน โรง หอ หรือโรงศาลที่ต้องสร้างไว้เป็นที่พักอาศัยของผีปู่ตานั้น บางทีก็เรียกว่า “หอปู่ตา” “ศาลปู่ตา” “ตูบปู่ตา” หรือ “โฮงปู่ตา” นิยมสร้างกันเป็นสองลักษณะกล่าวคือ ใช้เสาหลักเพียงตัวเดียวเหมือนศาลพระภูมิทั่วๆ ไป แล้วสร้างเป็นเรือนยอดบนปลายเสา กับอีกแบบใช้เสาสี่ต้นแล้วสร้างโรง เรือน หรือศาลาให้มีห้องขนาดเล็กหรือใหญ่ตามต้องการ โดยทั่วไปแล้วจะมีห้องโถงเพียงห้องเดียว และภายในห้องนั้นต้องให้บริเวณสำหรับเป็นที่วางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมทั้งวัสดุที่แกะสลักด้วยไม้หรือรูปปั้น ตามที่เชื่อถือกันว่าเป็นสิ่งของที่มีผีปู่ตาต้องการ เช่น เป็นรูปคน สัตว์ ข้าทาส และบริวาร ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นไว้สำหรับให้ผีปู่ตาได้ใช้สอยไม่ขาดแคลน ส่วนด้านหน้าตูบหรือศาล มักจะสร้างให้มีชานยื่นออกมาสำหรับเป็นที่ตั้ง หรือวางเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นสังเวยไว้ด้วย
"เฒ่าจ้ำ" เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของชุมชน เพื่อติดต่อสื่อสารกับผีปู่ตา หรือรับบัญชาจากผีปู่ตามาแจ้งแก่ชุมชน ตลอดจนมีภาระหน้าที่ในการดำเนินกิจการด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ตา และบริเวณที่อยู่อาศัย เฒ่าจ้ำอาจเรียกได้หลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระจ้ำ ขะจ้ำ ข้าวเจ้า เฒ่าประจำ เจ้าจ้ำ หรือ จ้ำ
นอกจากเฒ่าจ้ำจะมีภารกิจดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำยังต้องเอาใจใส่ดูแลป้องกันรักษาพื้นที่บริเวณป่า ต้นไม้ สัตว์ รวมไปถึงทรัพยากรผลิตผลจาก “ดงปู่ตา” เช่น เห็ด แมลง ฟืนไม้แห้ง ผัก และพืชสมุนไพร เป็นต้น ต้องขออนุญาตผีปู่ตาเป็นส่วนตัว และผ่าน “เฒ่าจ้ำ” เสมอ มิฉะนั้นจะถูกผีปู่ตาลงโทษให้ผู้นั้นได้รับภัยพิบัติต่างๆ จนอาจถึงแก่ชีวิตได้
เมื่อเฒ่าจ้ำมีบทบาทผูกพันกับผีปู่ตาและชุมชนดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนสถาบันอันศักดิ์สิทธิในชุมชนทุกสถาบัน นับตั้งแต่ “ดงปู่ตา” พระภูมิเจ้าที่ เทวดา หลักเมือง มเหศักดิ์ และหลักบ้าน
บุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของเฒ่าจ้ำนั้น น่าจะได้พิจารณาเชื่อมโยงจากการเลือกเฟ้นหรือกำหนดตัวบุคคลให้ทำหน้าที่นี้ โดยปกติแล้วเมื่อเฒ่าจ้ำถึงแก่กรรมลง จะต้องหาเฒ่าจ้ำคนใหม่มาทำหน้าที่แทนทันที โดยคัดเลือกจากบุคคลในหมู่บ้านที่มีความประพฤติดี บุคลิกน่าเลื่อมใส เป็นที่ยอมรับของชุมชน ในแต่ละชุมชนอาจมีวิธีการเลือกเฒ่าจ้ำแตกต่างกัน เป็นต้นว่า อาจเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นที่ปรารถนาในหมู่บ้านมา 5 - 10 ราย พร้อมไม้คานหรือไม้ไผ่ที่มีความยาวเท่ากับวาของแต่ละคน แล้วมากำหนดวาอีกครั้งต่อหน้าศาลปู่ตา และผู้อาวุโสในหมู่บ้านร่วมเป็นพยานรู้เห็น ถ้าผู้ใดวัดวาแล้วปรากฏว่า ไม้คานหรือไม้ไผ่ยาวเกินวา แสดงให้เห็นว่าผีปู่ตาจงใจเลือกบุคคลผู้นั้นไว้เป็นเฒ่าจ้ำ
ลักษณะการใช้ประโยชน์จากป่าดอนปู่ตา โดยทั่วไปนั้นมีอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ กล่าวคือ
ประการแรก ใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรม โดยปกติแล้วดอนปู่ตาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้าน ชาวบ้านจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อันเกี่ยวกับความศรัทธาที่มีต่อผีปู่ตา พิธีกรรมต่างๆ มีเช่น พิธีกรรมเลี้ยงประจำปีในเดือนสาม และเดือนหกซึ่งเรียกว่า “เลี้ยงขึ้น” (เป็นการเลี้ยงเมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว) และ “เลี้ยงลง” (เป็นการเลี้ยงเมื่อจะเริ่มต้นฤดูการปักดำ) นอกจากนี้มีพิธีเสี่ยงทายสภาพดิน ฟ้า อากาศ ก่อนจะเริ่มต้นไถหว่านและพิธีบนบานเฉพาะราย (ชาวอีสานเรียกว่า “บ๋า”) ซึ่งทุกพิธีกรรมจะมีการเซ่นไหว้บูชา และเลี้ยงดูด้วยความสำนึกในพระคุณ พร้อมกับอัญเชิญบวงสรวงผีปู่ตาให้มาช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีมีสุขโดยทั่วหน้า นอกจากจำใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ดอนปู่ตาบางแห่ง บางพื้นที่ยังใช้เป็นสถานที่เผาศพในบางโอกาสอีกด้วย
ประการที่สอง เป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ทั่วๆ ไปของชุมชน เช่น เลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควาย ชุมชนอาจร่วมมือกันจับสัตว์น้ำตามหนองน้ำในบริเวณป่าดอนปู่ตา โดยมีเงื่อนไข ในป่าดอนปู่ตาเหล่านี้มีต้นไม้ประเภทต่างๆ และมีพืชพันธุ์ผัก เห็ด แมลง พืชสมุนไพร เป็นต้น คนในชุมชนสามารถขออนุญาตตัดไม้ ค้นหาเก็บผลิตผลป่ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามความจำเป็นเฉพาะราย บางบ้านเก็บใบตองของไม้บางชนิดมาเย็บเป็นฝากั้นห้อง หรือแม้แต่ใช้เศษไม้และกิ่งไม้มาเป็นเชื้อเพลิง ตลอดจนทำเป็นไม้หลักสำหรับพืชประเภทแตงกวา แตงร้าน เป็นต้น ซึ่งการใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากกรรมการหมู่บ้านและเฒ่าจ้ำ
อันที่จริงความเชื่อเกี่ยวกับผีดอนปู่ตาของชาวบ้านนั้น ค่อนข้างจะส่งผลให้ชาวบ้านเชื่อว่า หากล่วงละเมิดต่อป่าดอนปู่ตา ผีปู่ตา จะโกรธและบันดาลให้เกิดผลร้ายขึ้นแก่ชุมชน และคนในหมู่บ้าน ไม่ยกเว้นแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านได้เคยประสบพบเห็นมาแล้ว และเล่าสืบต่อกันมา ชาวบ้านจึงเชื่อถือและยอมรับว่าดอนปู่ตาและผีปู่ตา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
ข้อห้ามต่างๆ ในแต่ละชุมชนนั้นอาจกำหนดขึ้นจากมติที่ประชุมของชาวบ้าน หรือเฒ่าจ้ำจะเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเองก็ได้ตามคำขอของผีปู่ตา ซึ่งได้มาเข้าฝันเฒ่าจ้ำให้กำหนดข้อห้ามต่างๆ ขึ้นมาเป็นต้นว่า ห้ามผู้ใดยึดครองพื้นที่บริเวณป่าดอนปู่ตา หรือห้ามจับจองทรัพยากรต่างๆ ในอาณาบริเวณป่าดอนปู่ตา เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด
ห้ามจับสัตว์ทุกประเภทในบริเวณดอนปู่ตา ให้ถือว่าเป็นเขตอภัยทาน บ้างก็เชื่อว่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ที่อยู่อาศัยในบริเวณดอนปู่ตาคือ บริวารของท่าน ห้ามผู้ใดล่าสัตว์เด็ดขาด จึงมักพบเสมอว่าในพื้นที่ดอนปู่ตาจะมีสตว์หลายประเภทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ห้ามตัดไม้ทุกชนิดในป่าปู่ตา จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเฒ่าจ้ำ หรือได้รับอนุญาตจากมติของชาวบ้าน จึงจะสามารถเข้าไปตัดไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ในบางพื้นที่มีเงื่อนไขว่า จะต้องปลูกต้นไม้ชดเชย 1 ต้น หรือมากกว่านั้น ในกรณีที่ขอตัดมาใช้งาน 1 ต้น
ด้วยเหตุที่มีข้อห้ามเหล่านี้ พื้นที่ดอนปู่ตาจึงมักเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หนาแน่น มีสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดอนปู่ตาจึงกลายเป็นวิธีการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรของชุมชนได้อย่างคุ้มค่าที่สุด นับเป็นกุศโลบายในการอนุรักษ์โดยวิถีชุมชน
ในปัจจุบันนี้ เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามามากๆ เรื่องของดอนปู่ตาก็อาจจะจางหายไปในหลายๆ หมู่บ้าน ด้วยเหตุที่ดอนปู่ตาไปอยู่ในเส้นทางของการพัฒนา ตัดถนนหนทางให้กว้างขวาง (ไม่ได้ตัดอ้อมเหมือนทางเกวียน) เราจึงได้ยินว่า ผีปู่ตามาเข้าฝันเถ้าจ้ำบอกว่า "เห็นจะอยู่ที่เดิมไม่ได้เสียแล้ว เพราะโดนเจ้ากุดจี่ทอง (รถแทรกเตอร์) มันไถดุนจนบ้านเจ้าปู่พังทลาย ทั้งๆ ที่เจ้าของของมัน (คนขับรถไถ) ก็พยายามดึงบังเหียน (คันบังคับรถ) ไว้อย่างสุดแฮงก็เอาไม่อยู่ ยิ่งดึงมันยิ่งมุดเข้ามาไถโพนและบ้านของข้าจนพังทลายแล้ว" นับวันดอนปู่ตาจะสูญหายหมดไปจากคนอีสาน
เรียบเรียงและดัดแปลงจากบทความ ดอนปู่ตา : ป่าวัฒนธรรมอีสาน โดย รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เต่า : สัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมข้าว
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)