คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ในการทำเครื่องดนตรีอีสานประเภทเครื่องเป่าอย่าง "แคน" หรือ "โหวด" จะมีการนำท่อเสียงที่ทำจากไม้ไผ่ หรือที่เรียกกันว่า "ลูกแคน" มารวมกันเป็นมัดสอดเข้าไปใน "เต้าแคน" จะอุดด้วยวัสดุธรรมชาติที่เรียกว่า "ขี้สูด" เพื่อไม่ให้ลมเล็ดลอดออกมาตามช่องว่างระหว่างเต้าแคน บังคับให้ลมไหลผ่านลิ้นแคนให้เกิดเสียงต่างๆ "ขี้สูด" นี้จะมีความเหนียว ชุ่มชื้น ไม่แห้ง เป็นกาวธรรมชาติที่หาได้ไม่ยาก เป็นภูมิปัญญาของคนอีสานโบราณ
ชื่อ : แมงสูด , แมงขี้สูด (นักพรตแห่งโพนปลวก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetragonisca ,Trigona apicalis และ Trigona Collina
วงศ์ : Stingless bee
แมงสูด เป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลผึ้ง มีขนาดลำตัวเล็กๆ และไม่มีเหล็กในในตัวเอง นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้ง มีวรรณะ เช่น มี นางพญา (แม่รัง) สูดงาน (ไม่มีเพศ) และ สูดสืบพันธุ์ (มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย) สามารถผลิตน้ำหวาน และขยายเผ่าพันธุ์ได้ ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “แมลงขี้ตึง” แปลว่า แมลงที่ผลิตหรือเก็บน้ำยางได้ ทางภาคอีสานเรียก "แมงขี้สูด” นิยมนำมาอุดแคน หรือถ่วงเสียงเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดเสียงไพเราะ ส่วนภาคใต้เรียกตัว “อุง” สำหรับภาคกลาง รู้จักในชื่อตัว “ชำมะโรง" หรือ “ชันโรง”
บางครั้งทำรังในระดับทางเดินของคน มีชื่อเรียกภาษาอีสานว่า "สูดเพียงดิน” หมายถึง แมลงชนิดนี้ทำรังระดับเดียวกันกับพื้นดิน แล้วทำท่อขึ้นมาจากพื้นดินครับ ซึ่งปกติแล้วแมลงชนิดนี้มักจะทำรังในที่สูงครับ เช่น โพรงไม้หรือจอมปลวกครับ ”สูดเพียงดิน” นี้ค่อนข้างจะหายากครับ ถ้าใครเจอให้เก็บไว้เลยนะครับเป็นของดีเอามาใส่เครื่องดนตรีชนิดใด ก็ไพเราะจนคนไหลหลง อีกทั้งผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์ มักจะนำไปปลุกเสกเป็นมหานิยม แล
ขี้สูด เป็นแมลงสังคม (Social insect) กลุ่มเดียวกับผึ้ง ลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปจากผึ้ง คือ เป็นผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน เป็นแมลงที่เชื่อง ไม่ดุร้ายกับศัตรู บางชนิดขี้อาย ชอบหลบอยู่ในรูหรือโพรงไม้ อยู่ในวงศ์ผึ้ง กลุ่มนี้ว่า "Stingless bee" สามารถสร้างน้ำหวานได้เช่นกัน คำว่า "ขี้สูด" เป็นชื่อเรียกพื้นเมือง (Verrnacular name) ทั่วไปของภาคอีสาน ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากลักษณะการสร้างรัง เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหา ยาง (gum) ชัน (resin) ของต้นไม้ แล้วนำมาอุดยาชันรอบๆ ปากรังและภายในรัง เพื่อป้องกันน้าไหลซึมเข้าไปภายในรัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง
ตัวอ่อนเมื่อกินน้ำหวานแล้ว จะขับถ่ายเกสร หรือยางไม้ออก พวกวรรณะงาน (ตัวสูดไม่มีเพศ) จะขนถ่ายเศษเหล่านั้นไปสะสมไว้ใต้รัง ส่วนนี้เองที่เรียกว่า ”ขี้สูด” เนื่องจากมีกลิ่นหอมแปลกๆ จากยางไม้ดอกไม้นาๆ ชนิด หากจับต้องแล้วเป็นต้องดมสูดกลิ่นอันนี้ ประหลาดแท้ จึงเรียกว่า ขี้สูด อีกอย่าง สมัยโบราณ ไม่มีส้วม จึงอาศัยตื่นแต่เช้า ไปขี้ (ขับถ่าย) อยู่ข้างโพน บังเอิญเจอแมงอันนี้ จึง โก่งโก้ย ไปสูดดมปล่องรัง ได้ทั้งกลิ่นขี้ได้ทั้งกลิ่นน้ำหวาน แมงอันนี้ จึงตั้งชื่อว่า "แมงขี้สูด" นั่นเอง
สำหรับขนาดตัวของแมงขี้สูดโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า เป็นแมลงที่รวมกันอยู่เป็นสังคมเช่นเดียวกับ ผึ้งรวง (ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และผึ้งเลี้ยง) ภายในสังคมแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา (Queen) ตัวงาน (Worker) และตัวสืบพันธุ์ (Male) โดยที่ขนาดลำตัวระหว่างนางพญา กับตัวงานมีขนาดแตกต่างกันมาก ตัวสืบพันธุ์มีขนาดใกล้เคียง หรือเล็กกว่านางพญาเล็กน้อย
ส่วนหัวมีตารวม มีหนวด 1 คู่ ตาเดี่ยว 3 ตา ช่วงท้อง (Metasoma) ไม่เป็นรูปปิระมิดมีลิ้นเป็นงวงยาว ขา3 คู่ ขาคู่หน้าและคู่กลาง ค่อนข้างเล็กขาหลังเรียวไม่แผ่แบน ไม่มีเหล็กใน
ตัวของ”สูดงาน”ตัวงานมีจำนวน 12 ปล้อง มีคล้ายนางพญาแต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า กรามพัฒนาดีต่อการใช้งาน ขาคู่หลังแผ่กว้างเป็นใบพายมีขนจำนวนมาก รูปร่างคล้ายหวีสำหรับใช้เก็บละอองเรณูของดอกไม้ มีปีกปกคลุมยาวเกินส่วนท้อง และไม่มีเหล็กใน
ลำตัวมีจำนวน 13 ปล้อง คล้ายนางพญา มีขนาดเล็กกว่า หรือใกล้เคียงกัน ตารวมเจริญพัฒนาดี กรามพัฒนาไม่ดีพอต่อการใช้งาน หนวดยาวกว่า วรรณะทั้งสอง โค้งเว้าเป็นรูปดัวยู ปลายส่วนท้องปล้องสุดท้ายมีครีบสำหรับผสมพันธุ์ (genitalia) ส่วนของขาคล้ายกับ “สูดงาน“ แต่ขาคู่หลังของชันโรงตัวผู้เล็กกว่า
ลักษณะรัง การสร้างรังในป่าธรรมชาติเกิดจากการที่สูดวรรณะงานบางตัว เสาะหาแหล่งที่จะสร้างรังใหม่ เนื่องจากประชากรในรังเก่ามาก แออัด และมีนางพญารุ่นลูก (daughter queen) เกิดขึ้นมา ทำให้ต้องแยกรังออกไปสร้างใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของมัน การสร้างรัง ขึ้นอยุ่กับแต่ละชนิด แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกัน สามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้
แมงขี้สูดนี้จะสร้างปากรังออกมาเป็นหลอดกลม หรือแบนที่สร้างด้วยยางหรือชันไม้ โดยที่แมงสูดแต่ละชนิดจะมีรูปร่างปากรูใกล้เคียงกัน หรือแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน ภายในรังมีการสร้างเป็นเซลล์ หรือ หน่วยๆ เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บ ละอองเรณู น้ำหวาน เพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน เซลล์เรียงตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน ตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆ ชั้นโดยที่ผนังเซลล์แต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆ จากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้ ภายในรังสามารถแยกเซลล์ออกเป็น หลอดนางพญา หลอดตัวงาน หลอดเก็บเกสร และหลอดเก็บน้ำหวาน และท้ายสุดหลอดที่เก็บขี้สูด
สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กน้อยเวลาไปทุ่งนากับพ่อ ชอบไปดูตามจอมปลวกเหนือโพนด้วยความอยากรู้ ไปเจอรังของแมลงเล็กๆ ถามพ่อว่าเป็นรังอะไร พ่อบอกว่าเป็นรังของแมงสูด หรือตัวขี้สูด พ่อบอกว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านจะมาหาขุดหาเอาน้ำหวานจากรังของมัน รวมทั้งเอา “ขี้สูด” เพื่อเอาไปทำประโยชน์ต่างๆ เช่น อุดเต้าแคน อุดเต้าโหวด ใช้ยึดติดขั้น (Frets) ของพิณ หรือซุง ซึ่งจะสามารถเลื่อนไปมาได้ ตามความต้องการของผู้ดีดที่ประสงค์จะให้เสียงลายพิณตรงกับเสียงที่ต้องการในแต่ละลายที่ดีด (ไม่ตายตัวเหมือนกีตาร์ฝรั่ง)
พอโตขึ้นได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านต่างๆ ไปเจอชาวบ้านใช้คุไม้ใส่น้ำ ที่สานจากไม้ไผ่เอาชันยามาทาเคลือบไว้ ทำให้บรรจุน้ำได้ไม่รั่ว เมื่อใช้ไปนานๆ อาจมีรูรั่วก็จะใช้ขี้สูดอุดไว้กันน้ำรั่ว เวลาเล่นว่าวจุฬา เอาขี้สูดติดตรงรอยต่อของ ”สะนูว่าว” ปล่อยว่าวลอยลมขึ้นฟ้า เสียง "สะนู" ดังก้องท้องทุ่งทั้งคืน แคนที่เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์ของโลก ก็เอาขี้สูดติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นไม้ไผ่เหี้ย โหวตเครื่องเป่าก็ใช้ขี้สูดติด รวมทั้งการทำหน้ากลองยาว กลองกิ่ง ชาวบ้านก็เอาขี้สูดติดเพื่อถ่วงเสียงให้ได้ตามที่ต้องการ
กลิ่นของขี้สูดมักมีกลิ่นหอมแปลกๆ ของยางไม้หรือเกสร อนึ่งบนหิ้งพระของปู่ มีก้อนขี้สูดเพียงดิน ปั้นเป็นรูปพระ แกเล่าว่า ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว เอาไว้ทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม เป็นของดี
จะเห็นได้ว่า “ขี้สูด” ข้องเกี่ยวทางวิถีอีสานหลายอย่าง ยกแคนขึ้นมาเป่า เอากลองมาตี เอา “โตดโต่ง “ (พิณ) มาดีด ก็จะได้กลิ่น "ขี้สูด” เอา “สะนู” มาเล่นยามลมห่าว ก็มีขี้สูดติด นับว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หลายอย่าง อีกทั้งแมลงชนิดนี้ช่วยในการผสมเกสร ดอกไม้ต่างๆ ทำให้ผลไม้ติดผลดี นิสัยก็ไม่ดุร้าย ไม่เคยทำลายใคร ดังนักพรตแห่งจอมปลวก เครื่องดนตรีของภาคอีสาน ล้วนต้องมีขี้สูดข้องเกี่ยวทั้งนั้น เสมือนจะบอกว่า
ดนตรีมิเคยทำร้ายใคร มีแต่เอิบอิ่มเติมเต็ม ดังเช่นนิสัยแมงขี้สูด... "
รายการ Foodwork ThaiPBS : น้ำผึ้งชันโรง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)