ทำไมหมอลำต้อง "โอละนอ" ก่อนลำเสมอ ไม่มีได้ไหม แล้วมีทำไม?
หลายคนมักจะตั้งคำถามเช่นนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฟังหมอลำมาก่อน ส่วนผู้ที่ชื่นชอบหรือคุ้นเคยในการฟังลำเป็นอย่างดี อาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะฟังจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เฉพาะอย่างยิ่ง “หมอลำกลอน” ถ้าไม่โอละนอ แทบจะบอกได้เลยว่า นั่นไม่ใช่หมอลำกลอน ซึ่งเท่ากับเป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นคำถามนี้
อันที่จริงคำว่า “โอนอ” หรือ “โอ้ละนอ” นั้นก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ฟังมานานแล้ว เนื่องจากคำว่า “โอ” นั้น ทำนองลำบางประเภทออกเสียงว่า “โอย” เช่น
ลำยาว (ลำล่อง) ร้องขึ้นต้นว่า “โอย…ละนอ ฟ้าเอ๋ยฟ้าฮ้องส่วยผู้ใดซวยแฮ่งเสียตื่ม”
ลำเพลิน ร้องขึ้นต้นว่า “โอยละหนอหละพี่เอ๋ย” หรือ “โอ้โอ่ยนอชาย”
รวมลำกลอน โดย หมอลำเคน ดาเหลา
ดังนั้น หลายคนจึงเข้าใจผิด เพราะหยิบเอาเฉพาะคำว่า “โอย” มาตีความ โดยลืมฟังคำต่อไปคือคำว่า “ละนอ” มาต่อท้าย ก็เลยกลายเป็นว่าภาคอีสานนั้นแห้งแล้ง ถึงขนาดหมอลำต้องร้องโอดครวญเป็นภาษาเพลง ทั้งๆ ที่ “โอย” คำนี้ มาจากคำว่า “โอยละนอ” หรือ “โอนอ”
เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ชอบเอาภาษาส่วนกลางเข้าไปจับภาษาถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดจากการตีความได้ง่าย
คำว่า “โอละนอ” มาจากไหน
นิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง มักจะใช้คำว่า “โอละนอ” หรือ “โอนอ” เมื่อกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับความรักหรือการเกี้ยวพาราสี เช่น
ขูลูนางอั้ว
โอนอ ปานนี้นางแพงแก้ว เถิงปรางค์ผาสาท
แม่แจ่มเจ้า สิกุมให้บ่าวลาง แลนอ
และ
โอนอ ขูลูท้าว ผัวขวัญหลายชาติอวนเอย
บาหากละน้องไว้ ทางพี้บ่คนิง แลนอ
แดงนางไอ่
โอนอ แพงแสนสร้อย เสมอตาตนพี่ เฮียมเอย
พี่ก็คิดฮอดน้อง ประสงค์ตั้งแต่งไฟ
แสนสิไกลเหลือล้น บ่มีคนไปใส่ก็ตามถ้อน
ใจหากคึดฮอดน้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น
ท้าวก่ำกาดำ
โอนอ เจ้าอย่าได้ลวงพางข่อย เสียแฮงอ้ายนั้นเนอ เจ้าคำเอ๋ย
เมื่ออี่พี่จักขัดอยู่แท้ การเจ้าบอกไป อุ่นเอ๋ย
โอนอ คำไขน้อยสีไวซู่พี่ อี้เฮียมเอ๋ย
น้องอย่ามีใหม่ซ้อน ลืมอ้ายขาดขวัญ น้องเอ๋ย
พระเชตพล
โอนอ พี่หากคิดเถิงเจ้า สายคอบ่ฮู้สว่าง อวลเฮย
วิบากเป็นกำพร้า ยินค้อยคั่งทวง
พี่นี้เป็นดั่งชาลีท้าว กัณหาพลัดแม่ วันนั้น
ก็บ่ปานพี่พรากน้อง เดียวนี้ดุ่งมา พี่นา
แม้แต่ประเพณีเกี่ยวกับความรัก เช่น ประเพณีเกี้ยวสาวลงข่วง ก็ใช้คำว่า “โอนอ” นำหน้าบทพูด ที่เรียกว่า “คำผญา” เช่น
(ชาย) โอนอ อันว่าสุดที่ทางไกลล้ำ เดินทางมาถามข่าว
สุดที่คอยล่ำเยี่ยม หาน้องก็บ่เห็น อุ่นเอย
เจ้าก็นอนในห้อง แจเฮือนคอยถ้าพี่
แสนสิคิดฮอดน้อง นอนแล้วหากต่าวฝัน
(หญิง) โอนอ อ้ายเอย แนวหญิงนี้ คือกันกับดอกท่ม
ครันว่าอ้ายบ่หักไม้หมิ้น ดวงดั้วบ่หล่นลง ได้แล้ว
น้องนี้แนวนามเชื้อ สกุลญิงยศต่ำ
ญิงหากสุขอยู่ย้อน บุญสร้างพร่ำผัว
ต่อมาเมื่อภาษาพูดและภาษาวรรณกรรมถูกพัฒนามาเป็นภาษาเพลง คำว่า “โอนอ” ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบเพลง ดังคำ “ขับโคลง” ของหนุมาน ในนิทานเรื่อง พระลักษณ์-พระราม (รามเกียรติ์) สำนวนเก่าของอีสานที่ว่า
โอนอ มาเสียดายโพธิ์ศรีต้นลังกาบานแบ่ง เพื่อนเด
ง่าหากโปดจากต้นบ่มีเอื้อต่อลำ แลนอ
โอนอ มาเสียดายบุปผาต้นลังกาหอมอ่อน เพื่อนเด
บัดนี้ กาบฮ่วนแล้วใบซิเยี้ยมล่ำคอย นี้เด
โอนอ เมื่อก่อนกี้งูหากคาบกินกบ เดนอ
เทื่อนี้ บ่มีดาวอยู่อ้อมดูเส้าหม่นหมอง แลนา
เมื่อนั้น หุลละมานท้าวขับสาส์นแล้วอย่า
เนือด ๆ ฟ้อนบาท้าวอ่านโคง”
ดังนั้นคำว่า “โอนอ” หรือ “โอละนอ” จึงกลายเป็นธรรมเนียมการเกริ่นนำขึ้นเพลง เฉพาะกลุ่มภาษาตระกูลลาวล้านช้าง เช่น ไทยภาคอีสาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เลยไปจนถึงเขตมณฑลยูนนาน ตอนใต้ประเทศจีน เช่น
ขับทุ้มหลวงพระบาง (ประเทศลาว)
โอ้นอ โอ้นอ น้องเอย หนอน้องนอ ตูมดอกนอเดือนเต้า
เมียบ่หนี อกสินวลสิไลแล้ว บ่หนีทางพระเนอน้อง
สิคึดต่อ อ้ายตายนำเด้อ น้องเอย… ”
ຂັບງື່ມຜ່າຊຳ(ຂັບຕໍ່ແຍ) ຂັບງື່ມໂດຍ: ໂອທອງ ແສງອາລຸນ
ขับงึมโดย: โอทอง แสงอาลุน
ขับงึ่ม (ประเทศลาว)
โอนอ มาอิดูโตนเด อกสิเพแตกแลง คำแพงเอย
อันแม่นว่า บ่แม่นหน่ายหลดตั้งแก้งแปลงล้อมพระนาง คิงบางเอย…
บัดนี้เจ้าผู้ก้อนน้ำล้าง ฮูปฮางเสมอเขียน
ขอเป็นดาวเดือนเพ็งแต่งลงยามสิย้อย
อันแม่นว่าสาธุเนอขอให้เป็นของข้อยบัวผันไคแน พี่น้องเอย
คันได้เป็นแท้ ๆ ตนน้องก็บ่แหนงสังแล้ว… ”
ขับขึ้นเมืองลา (มณฑลยูนนาน)
โอยแหละโอยนอ นางเอยนางเอย” หรือ “โอย โอยนอ ชายเอยชาย”
ขับปุลาง (มณฑลยูนนาน)
โอ่ยนอ…”
ลำสาละวัน ทำนองลำวัฒนธรรมล้านช้าง โดย หมอลำอินแต่ง แก้วบัวลา
ลำสาละวัน (ประเทศลาว)
โอนอ จิตระวังใจระเว อกสิเพแตกแล่ง โอ…โอย แพงนางเอย
โอนอ น้องหล่ากะวิงน้องอยู่บ่แล้ว แก้วอยู่หว่างใจอ้ายนา ”
ลำผญา (อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร)
โอนอ มักไถด้ำหรือไถคน นาโนนหรือนาต่ำ แม่ซิตำฮากไม้ไถบักอ้ายซิรับรอง ”
ทำไมหมอลำต้อง “โอ้ละนอ”
จากกลอนลำและคำขับทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น พอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมหมอลำต้อง “โอละนอ” หรือ “โอนอ” โดยเฉพาะหมอลำกลอน ทั้งนี้เพราะ
- เป็นการเกริ่นนำ เพื่อบอกกล่าวคู่ลำหรือคู่ขับ ก่อนที่จะร้องกล่าวถ้อยคำต่อไป (เดินกลอน)
- เป็นการตั้งเสียง (Tune) ระหว่างเสียงหมอลำและเสียงแคนให้อยู่ใน “ลาย” (Mode) เดียวกัน ไม่เช่นนั้น เสียงลำอาจจะเพี้ยน คือร้องไม่เข้ากับเสียงแคนได้
- เป็นการอวดน้ำเสียงของหมอลำแต่ละคน ว่าใครจะเสียงดีกว่ากัน เพราะในช่วงขึ้นต้นว่าโอละนอ หมอลำสามารถเอื้อนเสียง หรือ “เล่นลูกคอ” ได้อย่างเต็มที่
- เป็นการรักษารูปแบบคำ ที่ใช้แสดงออกเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวก่อนที่จะพัฒนามาเป็นภาษาเพลงดังเช่นปัจจุบัน
- แสดงถึงอัตลักษณ์ทางด้านภาษาเพลงพื้นบ้านตระกูลลาวล้านช้าง
ที่มา : สนอง คลังพระศรี นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม ๒๕๔๐
สังวาสหมอลำ
นอกจากเรื่องการขึ้นลำด้วย "โอละนอ" แล้วยังมีคำถามที่ตามมาอีกคือ ท่วงทำนอง หรือ สังวาสลำ ที่หลายๆ คนสงสัย สังวาสลำไม่ใช่ชนิดของการลำแต่อย่างใด เพราะการลำของหมอลำในภาคอีสานนั้นแบ่งเป็น ลำโบราณ ลำคู่หรือลำกลอน ลำหมู่ ลำซิ่ง ซึ่งในการลำเหล่านี้ก็จะมีกลอนที่เป็นการเกริ่นนำ (กลอนขึ้นลำ) กลอนเดินเรื่อง กลอนเต้ย (กลอนลา) กลอนลงลำ เป็นต้น
สังวาสลำ คือ สำเนียงการลำ (สังวาส คือ พื้นถิ่น/ท้องถิ่นนั้นๆ) บางทีใช้คำว่า "วาทลำ" จะมีใช้ในลำกลอนที่มีการแสดงเป็นเรื่องราว ซึ่งจะบ่งบอกว่า หมอลำคณะนั้น คนนั้นเป็นคนพื้นถิ่นใด หรือเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ที่ใด การลำที่มีวาทลำเป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่างกันเด่นชัดจะมีอยู่หลายจังหวัด เช่น
ลำศรีธนมโนห์รา โดย คณะรังสิมันต์ (ทองคำ เพ็งดี - บานเย็น รากแก่น)
- ลำสังวาสอุบลฯ หรือลำทำนองอุบลฯ เป็นทำนองลำแบบดั้งเดิมของหมอลำกลอนในอดีต ที่เป็นรู้จักกันดีคือ คณะรังสิมันต์ ของ พระเอกใหญ่ทองคำ เพ็งดี และนางเอกคู่บารมีฉวีวรรณ ดำเนิน อย่างลำเรื่อง ศรีธนมโนราห์ (สุธนมโนราห์) นางนกกระยางขาว พระเวสสันดร เป็นต้น ต่อมามีนางเอกสาวน้อย แสนสวยที่แจ้งเกิดกับคณะนี้อีกคนคือ บานเย็น รากแก่น จากนั้นก็มีหมอลำในคณะอื่นยุคต่อๆ มา ที่เป็นรุ่นศิษย์ของ อาจารย์ทองคำ ก็โด่งดังสืบต่อกันมา เช่น หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม อังคนางค์ คุณไชย และมีนางเอกดังอีกคนคือ สไบแพร บัวสด ล้วนชนะเลิศได้รางวัลการประกวดมาแล้วทั้งสิ้น นี่เรียกว่า "วาทลำ" หรือ "ทำนองลำอุบล" เป็นที่นิยมมากในยุคนั้น เพราะจะเน้นการเล่นลูกคอมาก และยากต่อการฝึกให้ได้ดี จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรในปัจจุบัน ดำเนินเรื่องจะเนิบช้าด้วย ปัจจุบันมักจะลำในเทศกาล หรือโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น ลำเฉลิมพระเกียรติ รณรงค์หาเสียง หรือโอกาสอื่นๆ แต่ลำเป็นวงก็ยังมีอยู่ในแถบอุบลและใกล้เคียง
ลำทำนองอุบลนี้ หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ได้พัฒนาวาทลำเป็นแบบฉบับของตัวเอง จนเป็นที่รู้จักว่าเป็น ลำทำนองอุบลฯ อย่างปัจจุบัน มักจะกล่าวพรรณาถึง ฟ้า อากาศ ต้นไม้ ธรรมชาติ (แต่ถ้าใครสนใจมีโอกาสลองหาฟังลำเรื่อง ศรีธนมโนราห์ สมัยที่ อาจารย์ทองคำ อาจารย์ฉวีวรรณ และหมอลำบานเย็น จะเป็นแบบยุคแรก ที่เป็นวาทลำเดิมเมืองอุบล ปัจจุบันหาค่อนข้างยาก)
ลำกลอนประวัติเมืองอุบลฯ ฉลอง 200 ปี
ผู้ลำ : ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ผู้แต่ง : กำนันดวง จันทร์น้อย
- ลำสังวาสขอนแก่น หรือ ลำทำนองขอนแก่น เป็นอีกทำนองหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันมาก และยังสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน ลำสังวาสขอนแก่นเป็นทำนองลำที่ไพเราะ ทั้งการใช้เสียงและกลอนที่ประพันธ์ โดยเฉพาะ "กลอนโศก" วาทลำทำนองนี้จะขึ้นชื่อมากว่า โศกได้ใจสุดๆ เสียงจะขึ้นนาสิกได้ไพเราะและน่าประทับใจมาก จนคนฟังต้องร้องไห้ตาม เรียกว่าระงมร้องไปตามๆ กัน จากนั้นก็มีการประยุกต์เป็นลำคล้ายเพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน ที่ออกเทปกันเป็นเพลงๆ อย่าง กุหลาบแดง สายตาพิฆาต โบว์รักสีดำ เป็นต้น ถ้าจะพูดถึงคณะหมอลำที่มีวาทลำแบบขอนแก่นแท้ๆ ก็คือ คณะรัตนศิลป์ ถือว่าเป็นต้นตำรับของหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น ครูผู้ก่อตั้งคณะ คือ พ่อครูอินตา ได้พัฒนาการขับลำนำในลักษณะของ หมอลำพื้น หมอลำล่อง มาเป็นการแสดงเป็นเรื่องเป็นราว มีตัวละครสมมติสวมบทบาทการแสดงโดยใช้วรรณคดีหรือนิทานอีสาน เอามาแต่งเติมดัดแปลงเป็นบทเป็นกลอน เพิ่มตัวแสดงเข้าไปมีพระเอก นางเอก ตัวประกอบ ตามเรื่องในนิทาน แล้วแทรกด้วยลำเดิน (การเดินกลอน) ทำให้มีความสนุกสนาน น่าดู น่าฟังมากขึ้น
ในเวลานี้จะมีการเรียกลำทำนองขอนแก่น ออกเป็น 2 ยุค 2 สไตล์ คือ
- ทำนองขอนแก่นแบบเก่า ที่เป็นเอกลักษณ์ยืนยันได้ชัดเจนคือ คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ที่ยังคงสืบทอดแบบของ "พ่อครูอินตา" สืบมาจนปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนแปลงตัวแสดงพระเอก นางเอก ตัวประกอบมามากมายหลายรุ่นแล้วก็ตาม
- ทำนองขอนแก่นแนวใหม่ เป็นการปรับปรุงลักษณะการลำ ท่วงทำนอง ให้มีความแปลกใหม่ขึ้น ถ้าจะมองภาพให้เห็นได้ชัดเจนก็ให้ดูการลำของ คณะระเบียบวาทะศิลป์ จะเห็นได้ชัดเจนว่าต่างจาก คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ อย่างไร ถ้าอยากเห็นความแตกต่างของท่วงทำนองกันอย่างชัดเจน เช่น การเอื้อนเสียง การเล่นคำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ลองเอาทำนองลำของ คุณหน่อยวัชรินทร์ (ระเบียบฯ) กับ คุณเจี๊ยบฐิติมา (รัตนศิลป์ฯ) เปรียบเทียบกันดู ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนทีเดียว
- ลำสังวาสจังหวัดอื่นๆ มีอีกหลายแบบ หลายทำนอง ที่เคยเป็นที่รู้จักในอดีต แต่ปัจจุบันนี้มีคนสืบทอดน้อยแล้ว ไม่มีคณะใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก เช่น ลำสังวาสกาฬสินธุ์ ลำสังวาสมหาสารคาม เป็นต้น
หมอลำชื่อดังของภาคอีสาน
มีข้อมูลคณะหมอลำชื่อดังที่เป็นรู้จักกันดี มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน (ข้ามไปฝั่ง สปป.ลาว ด้วย) การจองคิวจ้างไปแสดงในงานต่างๆ นั้นยาวข้ามปีกันเลยทีเดียว ข้อมูลนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 นะครับ ปัจจุบันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ้างแล้วก็ได้ ตามการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตัวพระเอก นางเอก ทีมตลก หางเครื่อง และอุปกรณ์แสง สี เสียง ที่พัฒนาขึ้นมาก แข่งขันกันชัดเจนเลยทีเดียว
วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ ลำเรื่องต่อกลอน ที่เป็นความบันเทิงอันดับหนึ่งของพี่น้องชาวอีสาน การแสดงด้านหน้าเวทีตั้งแต่เริ่มต้น โชว์นักร้องน้องใหม่ หางเครื่อง ไปจนเต้ยลาช่วงสุดท้ายถือว่า เป็นความสุดยอดและคุณภาพทั้งด้านการแสดงโชว์เพลง เสื้อผ้า เวที เล่นตลก หมอลำ พระเอก นางเอก จัดนักแสดงได้ลงตัวเหมาะกับกลอนลำ ลำเรื่องต่อกลอนและช่วงเต้ยลาสุดท้ายในช่วงรุ่งสาง เรียบเรียงเรื่องราวได้เป็นอย่างดี จนจัดอันดับเป็นสุดยอดแห่งปี สำหรับ "10 อันดับคณะหมอลำยอดเยี่ยมแหงปี 2558" มีดังนี้
- อันดับที่ 10 ได้แก่ หมอลำคณะแก่นนครบันเทิงศิลป์
- อันดับที่ 9 ได้แก่ หมอลำคณะสมจิตร บ่อทอง
- อันดับที่ 8 ได้แก่ หมอลำคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง การแสดงของคณะหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง แสดงได้ดีมาก แหวกแนวไปจากคณะอื่นๆ จึงเป็นที่นิยมไม่แพ้วงอื่นๆ
- อันดับที่ 7 ได้แก่ หมอลำคณะรุ่งทิวาอำนวยศิลป์ หนึ่งในวงหมอลำที่มาแรงในช่วงนี้เลย ทั้งคิวงาน ทั้งการแสดง ถึงไม่พลาดขึ้นมาติดอันดับได้ครับ
- อันดับที่ 6 ได้แก่ หมอลำคณะวีระพงษ์ วงศ์ศิลป์ เป็นอีกวงหมอลำที่มีแฟนคลับเยอะมาก และคิวงานแน่นมาก เรียกว่าถี่สุดๆ เล่นแทบทุกวัน กำลังมาแรง
- อันดับที่ 5 ได้แก่ หมอลำคณะหนูภารวิเศษศิลป์ เป็นอีกวงหมอลำที่โด่งดังมาก คิวงานล้นมือ (ข้ามปี) แถมยังเป็นอีกวงที่ยังคงความอลังการงานสร้างแบบไม่ขาดตกบกพร่อง
- อันดับที่ 4 ได้แก่ หมอลำคณะเสียงอีสาน ปีพุทธศักราช 2518 "วงดนตรีเสียงอิสาน" โดยมี นกน้อย อุไรพร เป็นนักร้องนำถือกำเนิดขึ้นมาในวงการ โดยอาวทิดหลอด (นักจัดรายการวิทยุชื่อดังสมัยนั้น) ทุ่มเททั้งแรงเงิน แรงกาย เพื่อผลักดันวงดนตรีของตัวเองให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ที่เรียกว่า "วงดนตรีของตัวเอง" นั้น ก็เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการว่า อาวทิดหลอด กับ นกน้อย อุไรพร ได้อยู่กินเป็นสามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่สิ่งที่อาวทิดหลอดคาดการณ์ไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้น วงดนตรีเสียงอิสาน ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน งานจ้างก็มีกระท่อนกระแท่น จนต้องยกวงเดินสายและพากันกลับมาอย่างบอบช้ำ ขาดทุนยับเยิน สมาชิกภายในวงก็เริ่มหนีหาย จนเหลืออยู่ไม่กี่สิบคน
ภายหลังเปลี่ยนจากวงดนตรีมาเป็นวงหมอลำ ชื่อเสียงของคณะ "เสียงอิสาน" เริ่มขยายวงกว้างเป็นไฟลามทุ่ง ด้วยทีมงานที่ยิ่งใหญ่ขบวนคอนวอยที่ยาวเหยียด เวทีแสงสีเสียงและการแสดงอันตื่นตาตื่นใจ และรูปแบบของการสร้สงเวทีใหม่โดยใช้รถ 6 ล้อ 2 คัน กางปีกออก แล้วก็จัดสเต็ปเวทีโดยใช้ระบบไฮดรอดริกส์ยืดขึ้น มีจอ LCD ขนาดใหญ่เป็นฉากหลัง ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง และรูปแบบการแสดงใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปทุกปี
- อันดับที่ 3 ได้แก่ หมอลำคณะรัตนศิลป์ อินตาไทยราษฎร์ จังหวัดขอนแก่น เป็นคณะหมอลำที่สร้างขื่อเสียงได้รับการยอมรับทั่วภูมิภาคอีสาน โดยมีหมอลำบุญลือ หาญสุริย์ และหมอลำชวาลา หาญสุริย์ สองสามีภรรยา ได้ก่อตั้งคณะหมอลำขึ้น โดยเริ่มต้นจากการสืบทอดเจตนารมณ์ วงหมอลำจากพ่อครูอินตา บุญทา เดิมชื่อ "คณะเสียงทองบันเทิงศิลป์อินตาไทยราษฎร์" ต่อมาเมื่อพ่อครูอินตา บุญทาได้เสียชีวิตลง ได้จัดตั้งคณะใหม่ขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยให้ชื่อว่า "คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์"
จนถึงปัจจุบัน คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ เป็นวงหมอลำที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งโดยเฉพาะการแสดงลำเรื่องต่อกลอน ตั้งแต่สมัยหมอลำ บุญถือ และหมอลำ ชวาลา หาญสุรีย์ เป็นพระเอก นางเอก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากหมอลำที่แสดง แสดงได้สมบทบาท มีกระแสเสียงที่ไพเราะนุ่มนวลทั้ง พระเอก นางเอก และตัวแสดงประกอบ โดยได้รับการฝึกฝน ถ่ายทอดจากครูหมอลำเป็นรุ่นๆ เป็นคณะหมอลำที่สืบทอด ลำเรื่องต่อกลอนลำพื้น ทำนองขอนแก่นที่ดีคณะหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีการสืบสานทำนองกลอนลำ ที่เป็นเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมจากพ่อครูผู้ประสิทธิปรสาทวิชาความรู้ มีจรรยาบรรณ ในการแสดงของศิลปินหมอลำอย่างเต็มที่ และถ่ายทอดการแสดงให้แก่เยาว์ชนคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้จะมีกระแสวัฒนธรรมของตะวันตก หลั่งไหลทะลักเข้ามาในประเทศ แต่คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ก็สามารถที่ผสมผสานการแสดงสมัยใหม่กับพื้นบ้านกลมกลืน จนปรากฏเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างกว้างขวาง
ผลงานดังกล่าว เป็นผลให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดหมอลำหมู่ และประกวดดนตรีพื้นบ้าน จากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2536 และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสุดยอดศิลปินอีสาน 40 ปี จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2547
- อันดับที่ 2 ได้แก่ หมอลำคณะระเบียบวาทะศิลป์ เป็นหมอลำที่มีงานมากๆ อีกคณะหนึ่งและเป็นที่นิยมมากในช่วงนี้ เรียกได้ว่าคิวยาวไปถึงปีหน้า
- อันดับที่ 1 ได้แก่ หมอลำคณะประถมบันเทิงศิลป์ ก่อตั้งโดย คุณแม่บุญถม นามวันทา เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2500 ใช้ชื่อวงในตอนแรกว่า "บุญถมบันเทิงศิลป์" คุณแม่บุญถมได้แต่งงานกับคุณพ่อประพันธ์ สิมเสน จึงเป็นที่มาของชื่อคณะ ประถมบันเทิงศิลป์ โดยนายกสมาคมหมอลำในสมัยนั้นชื่อ นายคำดี สาระผล บอว่า "ชื่อบุญถมไม่เพราะ" จึงเปลี่ยนให้โดยให้ยึดเอาชื่อ คุณพ่อประพันธ์ และ คุณแม่บุญถม เป็นหลัก จึงเป็นชื่อ "ประถมบันเทิงศิลป์" มาจนถึงปัจจุบัน