ในการแสดงของทุกภาคนอกจากจะมีเครื่องดนตรีที่ให้ท่วงทำนองสนุกสนาน มีนักร้อง นักรำแล้ว ส่วนประอบอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เครื่องแต่งกาย ซึ่งในภาคอีสานจะมีเครื่องแต่งกายหลากหลายแบบตามสภาพถิ่น วัสดุ และภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้ภาคอื่น
ผ้าพื้นเมืองอีสาน
ชาวอีสานถือว่า การทอผ้า เป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดูการทำนาหรือว่างจากงานประจำอื่นๆ ใต้ถุนบ้านแต่ละบ้านจะกางหูกทอผ้ากันแทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงในวัยต่างๆ จะสืบทอดกันมาผ่านการจดจำและปฏิบัติจากวัยเด็ก ทั้งลวดลายสีสัน การย้อมและการทอ ผ้าที่ทอด้วยมือจะนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนสำหรับหญิงวัยสาว ทั้งการเตรียมสำหรับตนเองและเจ้าบ่าว ทั้งยังเป็นการวัดถึงความเป็นกุลสตรี เป็นแม่เหย้าแม่เรือนของหญิงชาวอีสานอีกด้วย ผ้าที่ทอขึ้นจำแนกออกเป็น 2 ชนิด คือ
- ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสีตามต้องการ
- ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ผ้าที่ทอจึงมักมีลวดลายที่สวยงามวิจิตรพิสดาร มีหลากหลายสีสัน
ประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือ การลงข่วง โดยบรรดาสาวๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณ แคน โหวต มาบรรเลงจ่ายผญาโต้ตอบกัน
เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม
กลุ่มอีสานเหนือ
เป็นกลุ่มชนเชื้อสายลาวที่มีกำเนิดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และยังมีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น ข่า ผู้ไท โส้ แสก กระเลิง ย้อ ซึ่งกลุ่มไทยลาวนี้มีความสำคัญบิ่งในการผลิตผ้าพื้นเมืองของอีสาน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฝ้ายและไหม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำเอาเส้นใยสังเคราะห์มาทอร่วมด้วย ผ้าที่นิยมทอกัยในแถบอีสานเหนือคือ ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด และผ้าแพรวา
- ผ้ามัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองที่ใช้กรรมวิธีในการย้อมสี ที่เรียกว่า การมัดย้อม (tie dye) เพื่อทำให้ผ้าที่ทอเกิดเป็นลวดลายสีสันต่างๆ เอกลักษณ์อันโดดเด่นก็อยู่ตรงที่รอยซึมของสีที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ผูกมัด และการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งต่างๆ ของเส้นด้ายเมื่อถูกนำขึ้นกี่ในขณะที่ทอ ลวดลายสีสันอันวิจิตรจะได้มาจากความชำนาญของการผูกมัด และย้อมหลายครั้งในสีที่แตกต่าง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
การทอผ้ามัดหมี่ จะมีแม่ลายพื้นฐาน 7 ลาย คือ หมี่ขอ หมี่โคม หมี่บักจัน หมี่กงน้อย หมี่ดอกแก้ว หมี่ข้อและหมี่ใบไผ่ ซึ่งแม่ลายพื้นฐานเหล่านี้ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ เช่น จากลายใบไม้ ดอกไม้ชนิดต่างๆ สัตว์ เป็นต้น ผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ เขตอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อำเภอบ้านเขวา จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น
- ผ้าขิด หมายถึงผ้าที่ทอโดยวิธีใช้ไม้เขี่ย หรือสะกิดซ้อนเส้นยืนขึ้นตามจังหวะที่ต้องการ เว้นแล้วสอดเส้นด้ายพุ่งให้เดินตลอด การเว้นเส้นยืนถี่ห่างไม่เท่ากันจะทำให้เกิดลวดลายต่างๆ ทำนองเดียวกับการทำลวดลายของเครื่องจักสาน จากกรรมวิธีที่ต้องใช้ไม้เก็บนี้จึงเรียกว่า การเก็บขิด มากกว่าที่จะเรียก การทอขิด ผ้าขิดที่นิยมทอกันมีอยู่ 3 ชนิด ตามลักษณะประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก คือ
- ผ้าตีนซิ่น เป็นผ้าขิดที่ทอเพื่อใช้ต่อชายด้านล่างของผ้าซิ่น เนื่องจากผ้าทอพื้นเมืองจะมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดผืนผ้า ดังนั้นเวลานุ่งผ้าซิ่นผ้าจะสั้น จึงต่อชายผ้าที่เป็นตีนซิ่นและหัวซิ่นเพื่อให้ยาวพอเหมาะ
- ผ้าหัวซิ่น ก็เช่นเดียวกันเป็นผ้าขิดที่ใช้ต่อชายบนของผ้าซิ่น
- ผ้าแพรวา มีลักษณะการทอเช่นเดียวกับผ้าจก แพรวา มีความหมายว่า ผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่ทอเป็นผืนมีความยาวประมาณวาหนึ่งของผู้ทอ ซึ่งยาวประมาณ 1.5 - 2 เมตร
- ผ้าแพรมน มีลักษณะเช่นเดียวกับแพรวา แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส นิยมใช้เช่นเดียวกับผ้าเช็ดหน้าและหญิงสาวผู้ไทนิยมใช้โพกผม
- ผ้าลายน้ำไหล ผ้าลายน้ำไหลนี้ที่มีชื่อเสียงคือ ซิ่นน่าน (ของภาคเหนือ) มีลักษณะการทอลวดลายเป็นริ้วใหญ่ๆ สลับสีประมาณ 3 หรือ 4 สี แต่ละช่วงอาจคั่นลวดลายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น ผ้าลายน้ำไหลของอีสานก็คงจะได้แบบอย่างมาจากทางเหนือ โดยทอเป็นลายขนานกับลำตัว และจะสลับด้วยลายขิดเป็นช่วงๆ
- ผ้าโสร่ง เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย ลักษณะของผ้าโสร่งจะทอด้วยไหมหรือฝ้ายมีลวดลายเป็นตาหมากรุกสลับเส้นเล็ก 1 คู่ และตาหมากรุกใหญ่สลับกัน กว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 2 เมตร เย็บต่อกันเป็นผืน
กลุ่มอีสานใต้
คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร ที่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตนเอง มีสีสันที่แตกต่างจากกลุ่มไทยลาว
- ผ้ามัดหมี่ ในกลุ่มอีสานใต้ก็มีการทอเช่นเดียวกัน นิยมใช้สีที่ทำเองจากธรรมชาติเพียงไม่กี่สี ทำให้สีของลวดลายไม่เด่นชัดเหมือนกลุ่มไทยลาว แต่ที่เห็นเด่นชัดในกลุ่มนี้คือการทอผ้าแบบอื่นๆ เพื่อการใช้สอยกันมากเช่น
- ผ้าหางกระรอก จะมีสีเลื่อมงดงามด้วยการใช้เส้นไหมต่างสีสองเส้นควั่นทบกันทอแทรก
- ผ้าปูม เป็นผ้าที่มีลักษณะการมัดหมี่ที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์ต่างจากถิ่นอื่น
- ผ้าเซียม (ลุยเซียม) ผ้าไหมที่นิยมใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ
- ผ้าขิด การทอผ้าขิดในกลุ่มอีสานใต้ มีทั้งการทอด้วยผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ส่วนมาก มักจะใช้ต่อเป็นตีนซิ่นในหมู่คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมดี เพราะชาวบ้านทั่วไปไม่นิยมใช้กัน ลักษณะการต่อตีนซิ่นของกลุ่มนี้ นิยมใช้เชิงต่อจากตัวซิ่นก่อน แล้วจึงใช้ตีนซิ่นต่อจากเชิงอีกทีหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มไทยลาวอย่างเด่นชัด
ลักษณะผ้าพื้นเมืองอีสาน
ลวดลายผ้าพื้นเมืองอีสานทั้งสองกลุ่ม นิยมใช้ลายขนานกับตัว ซึ่งต่างจากผ้าซิ่นล้านนาที่นิยมลายขวางตัว และนุ่งยาวกรอมเท้า ในขณะที่ชาวไทยลาวนิยมนุ่งผ้าซิ่นสูงระดับเข่า แต่ไม่สั้นเหมือนผู้หญิงเวียงจันทร์และหลวงพระบาง การต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นจะต่อด้วยผ้าชนิดเดียวกัน ส่วนหัวซิ่นนิยมด้วยผ้าไหมชิ้นเดียวทอเก็บขิดเป็นลายโบคว่ำ และโบหงายมีสีแดงเป็นพื้น ส่วนการต่อตะเข็บและลักษณะการนุ่งจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาคอื่นคือ การนุ่งซิ่นจะนุ่งป้ายหน้าเก็บซ่อนตะเข็บ ยกเว้นกลุ่มไทยเชื้อสายเขมรในอีสานใต้ ซึ่งมักจะทอริมผ้าเป็นริ้วๆ ต่างสีตามแนวตะเข็บซิ่น จนดูกลมกลืนกับตะเข็บและเวลานุ่งจะให้ตะเข็บอยู่ข้างสะโพก
การใช้ผ้าสำหรับสตรีชาวอีสาน
ผ้าซิ่นสำหรับใช้เป็นผ้านุ่งของชาวอีสานนั้นจะมีลักษณะการใช้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ผ้าซิ่นสำหรับผู้หญิงที่มีสามีแล้ว จะใช้ผ้าสามชิ้นมาต่อกันโดยแบ่งเป็นผ้าหัวซิ่น ผ้าตัวซิ่น และผ้าตีนซิ่น ผ้าแต่ละชิ้นมีขนาดและลวดลายต่างกัน
- ผ้าหัวซิ่น จะมีขนาดกว้างประมาณ 20 ซม. ยาวเท่ากับผ้าซิ่น มีลวดลายเฉพาะตัว คือ ทอเป็นลายขวางสลับเส้นไหมแทรกเล็กๆ สลับสีสวยงาม
- ส่วนตัวซิ่น คือส่วนกลางของผ้าซิ่นมีความกว้างมากกว่าส่วนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเท่าฟืมที่ใช้ทอ ซึ่งนิยมทอเป็นลายมัดหมี่
- ส่วนตีนซิ่น คือส่วนล่างของผ้าซิ่นจะมีความกว้างเพียง 10 ซม. และยาวเท่ากับความยาวของผ้าซิ่น เมื่อต่อเข้ากับตัวซิ่นแล้วลายจะเป็นตรงกันข้ามกับผ้าหัวซิ่น ความงามอยู่ที่การสลับสีส่วนใหญ่จะเลียนแบบจากลวดลายของสัตว์ เช่น ลายงูทำเป็นลายปล้องสีเหลืองและดำ
- ผ้าซิ่นสำหรับหญิงสาว จะเป็นผ้าซิ่นมัดหมี่เหมือนกันแต่เป็นผืนเดียวกันตลอด ใช้วิธีการมัดหมี่เป็นดอกและลวดลายติดต่อแล้วทอเป็นผืนเดียวกันตลอด ในผืนซิ่นจะมีลายที่ริมขอบด้านล่างในลักษณะเชิงซิ่นลวดลายส่วนใหญ่ทั้งตัวซิ่นและเชิงนิยมใช้ลายรูปสัตว์ เช่น ไก่ฟ้า หงษ์ทอง
ชุดผ้าพื้นเมืองอีสานที่สวยงามทั้งจากซิ่นไหม และผ้าฝ้าย
ความเป็นมาของการฟ้อนและเซิ้ง | การแสดงที่ปรากฎในภาคอีสาน | เอกลักษณ์การฟ้อนภาคอีสาน
การฟ้อนแบบต่างๆ | การเซิ้งแบบต่างๆ | ดนตรีประกอบการฟ้อน | เครื่องแต่งกายสำหรับการฟ้อนภาคอีสาน