การแสดงที่ปรากฏในภาคอีสาน
การละเล่นพื้นบ้าน หรือการมหรสพ นับเป็นมรดกที่แสดงภูมิปัญญาที่สะสมจากอดีต จวบปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- เพลงพื้นบ้าน
- ละครพื้นบ้าน
- การฟ้อนพื้นบ้าน
- เอกลักษณ์การฟ้อนภาคอีสาน
เพลงพื้นบ้านอีสาน
เพลงพื้นบ้าน (Folk Song) คือ เพลงของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันดีเฉพาะถิ่นนั้นๆ ลีลาการขับร้อง หรือการฟ้อนรำจึงมีอิสระทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้าน ด้วยสาเหตุที่เพลงพื้นบ้านใช้ภาษาถิ่น ใช้ทำนองที่สนุก จังหวะที่เร้าใจ เนื้อหาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ ความเป็นอยู่และภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังนี้
1. กลุ่มอีสานเหนือ
ซึ่งสืบทอดวัฒนธรรมมาจากกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า กลุ่มไทยลาว หรือกลุ่มหมอลำหมอแคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในภาคอีสาน
- เพลงพิธีกรรม กลุ่มไทยลาว หรือกลุ่มหมอลำหมอแคน ในกลุ่มไทยลาวนี้มี "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" เป็นบทบัญญัติในการควบคุมสังคมอีสานเพื่อให้ประชาชนได้ประพฤติปฏิบัติตามเมื่อถึงเวลา ลักษณะของจารีตประเพณีที่ปรากฏอยู่ในฮีตสิบสอง อันเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น งานบุญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางจิตวิญญาณตั้งแต่เกิดจนตาย แบ่งได้เป็น
- เพลงเซิ้งต่างๆ เป็นเพลงที่ใช้ร้องประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวอีสาน เช่น
- เพลงเซิ้งบั้งไฟ
- เซิ้งนางแมว
- เซิ้งนางด้ง
- เซิ้งผีโขน
ใช้ร้องโดยมีจุดมุ่งหมายในการร้องเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ดึงดูดให้คนไปร่วมพิธี และการร้องเพลงเซิ้ง ยังเป็นสื่อกลางในการขอความร่วมมือในพิธีนั้น เช่น ขอเงิน ขอสิ่งของ หรือขอความร่วมมืออื่นๆ ตามแต่จะต้องการ การร้องเพลงเซิ้งจะประกอบด้วย คนขับกาพย์นำ และจะมีลูกคู่คอยร้องรับ ลักษณะบทเพลงจะเป็นเพลงแบบด้นกลอนสด รายละเอียดเกี่ยวกับ การเซิ้งแบบต่างๆ
- เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน เป็นเพลงร้องเล่นสำหรับหนุ่มสาว หรือผู้ให ญ่ร้องเพื่อความสนุกสนานในงานเทศกาล หรือวาระพิเศษอื่นๆ เช่น งานสงกรานต์ ผ้าป่า กฐิน งานบวชนาค ได้แก่ หมอลำหรือการลำแบบต่างๆ
- หมอลำพื้น คือ หมอลำเป็นชายที่ลำเกี่ยวกับเรื่องนิทานต่างๆ
- หมอลำกลอน คือ หมอลำชายหญิงที่ลำเกี่ยวกับเรื่องราวของความรักโต้ตอบกัน
- หมอลำหมู่ เป็นกลุ่มของหมอลำที่ลำเป็นเรื่อง และใช้ทำนองเศร้า
- หมอลำเพลิน เป็นคณะหมอลำที่ลำเรื่องใช้ทำนองสนุกสนาน
- หมอลำผีฟ้า คือ การลำรักษาคนเจ็บไข้ ซึ่งเราจัดอยู่ในกลุ่มของเพลงพิธีกรรม
รายละเอียดของกลอนต่างๆ ดูได้ในเรื่อง หมอลำ : ศิลปะพื้นบ้านที่ไม่มีวันตาย
2. กลุ่มอีสานใต้
แบ่งออกเป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมเขมร-ส่วย หรือเรียกว่า กลุ่มเจรียง-กันตรึม และกลุ่มวัฒนธรรมโคราช หรือเรียกว่า กลุ่มเพลงโคราช
- เพลงพิธีกรรม
- เรือมมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีความเชื่อแต่โบราณว่า "เรือมมม็วต" จะช่วยให้คนกำลังเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการทุเลาลงได้ ผู้เล่นมม็วตไม่จำกัดจำนวน ในจำนวนผู้เล่นนั้นจะต้องมีหัวหน้าหรือครูมม็วตอาวุโส ทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีต่างๆ และเป็นผู้รำดาบไล่ฟันผีหรือเสนียดจัญไรทั้งปวง
- เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน
- กันตรึม กันตรึมเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของอีสานใต้ กันตรึม หรือ โจ๊ะกันตรึม ยังเป็นที่นิยมและมีบทบาทสำคัญตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันสำหรับชาวอีสานใต้ เช่นเดียวกับหมอลำของชาวอีสานเหนือ ประวัติของการเล่นกันตรึมนี้ไม่มีผู้ทราบที่มาอย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าการละเล่นกันตรึมนี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากขอม วงกันตรึมยังใช้แสดงในงานต่างๆ เสมอ เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานศพหรืองานพิธีกรรมอื่น แต่จังหวะลีลาในการแสดงจะแตกต่างกันออกไป ตามพิธีของแต่ละงาน โดยเฉพาะเครื่องดนตรีประกอบการแสดงกันตรึม ก็จะแตกต่างกัน เช่น การแสดงในงานศพ จะใช้ปี่อ้อมาบรรเลง แต่ถ้าเป็นงานแต่งงานก็จะใช้ปี่เตรียงหรือปี่เญ็นแทนปี่อ้อ ส่วนเนื้อร้องก็เปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับแต่ละงาน บทเพลงและทำนองเพลงกันตรึมมีหลากหลาย แต่พอจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- บทเพลงชั้นสูงหรือเพลงครู เป็นเพลงที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มักจะนำมาบรรเลงก่อนเพลงอื่นๆ ส่วนมากมีท่วงทำนองช้า
- บทเพลงสำหรับขบวนแห่ ใช้บรรเลงในขบวนแห่ต่างๆ มีท่วงทำนองสนุกสนาน และใช้บรรเลงประกอบการขับร้องและการฟ้อนรำ
- บทเพลงเบ็ดเตล็ด เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองลีลารวดเร็ว สนุกสนาน มักจะใช้บรรเลงบนเวที
- เจรียง หรือจำเรียง ซึ่งเป็นคำภาษาเขมร แปลว่า ร้อง เป็นการขับร้องเป็นทำนองเสนาะ แบบการอ่านทำนองเสนาะ ใช้ในการเล่าเรื่องโบราณวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และประเพณี หรือเล่านิทาน เป็นการสั่งสอนให้คนทำความดี ลักษณะของเจรียงจึงคล้ายกับหมอลำและเพลงโคราช ดนตรีที่ใช้ประกอบคือ แคน การแสดงประกอบด้วยผู้ร้องฝ่ายชาย 1 คน และฝ่ายหญิง 1 คน คนเป่าแคนอีก 1 คน การแสดงอย่างเดียวกันนี้ในประเทศกัมพูชา เรียกว่า "โอะกัญโตล"
การเจรียงจะเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู เป็นการรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ แล้วเริ่มบทปฏิสันฐานกับผู้ฟัง บอกเล่าถึงความสำคัญของการแสดงว่า งานนั้นๆ มีการบำเพ็ญกุศลอะไร บางครั้งก็ยกนิทานประกอบ การเจรียงอาจจะเจรียงเป็นกระทู้ถามตอบ ในช่วงหลังๆ จะเพิ่มความสนุกสนานโดยใช้บทหยอกล้อ กระทบกระเทียบในลักษณะตลกคะนอง การเจรียงแบ่งออกได้หลายแบบเช่น
- เจรียงซันตรูจ เป็นการร้องเล่นในเทศกาลต่างๆ โดยชายหนุ่มจะหาคันเบ็ดมาหนึ่งคัน แล้วใช้ขนมต้มหรือผลไม้ผูกไว้ที่เชือกเบ็ด แล้วนำเบ็ดไปหย่อนล่อหญิงสาวถ้าหญิงสาวผู้ใดรับเหยื่อก็แสดงว่ารัก
- เจรียงกันกรอบกัย (เพลงปรบไก) เป็นการเล่นเจรียงคนเดียว ไม่มีดนตรีเป็นแบบแผน ส่วนใหญ่ใช้วิธีตบมือหรือสีซอเป็นการเจรียงแบบตลก
- เจรียงตรัว เป็นการขับร้องเดี่ยวเป็นนิทาน ประกอบซอ คล้ายการ ลำพื้น ของชาวอีสานเหนือ ผู้ขับร้องจะสีซอไปด้วย
- เจรียงจะเป่ย เป็นการขับร้องเดียวเป็นนิทาน ประกอบพิณกระจับปี่ มีผู้เล่นคนเดียวเป็นผู้ขับร้องและดีดจะเป่ย
- เจรียง-จรวง แปลว่าขับร้องโดยปี่จรวงเป่าประกอบ เป็นการขับร้องโต้ถามกันเป็นเรื่องตำนาน สุภาษิตต่างๆ เดิมใช้ปี่จรวงประกอบแต่ปัจจุบันใช้ซอแทน
- เจรียงนอรแก้ว มีผู้แสดงประกอบด้วยชาย 2 คน หญิง 2 คน เป็นการเล่นโต้ตอบระหว่างชายหญิง โดยแต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงและแม่เพลงร้องนำและมีลูกคู่ร้องตาม ต่อจากนั้นชาย-หญิงแต่ละฝ่ายจึงร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ๆ โดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ
- เจรียงปังนา เป็นการขับร้องคล้ายกับเจรียงนอรแก้ว แต่มีจังหวะเร็วกว่า มีผู้แสดงประกอบด้วยชาย 1 คน หยิง 1 คน กลองโทน 1 คน ขับร้องโดยบรรยายเรื่องราวตามต้องการ
- เจรียงเบริน เป็นการร้องเพลงคลอกับซอแบบร้องคู่ชาย-หญิง คล้าย "หมอลำกลอน" ของชาวอีสานเหนือ เป็นทำนองขับลำนำเรื่องราวหรือโต้ตอบซักถามนิทานชาดก
- เจรียงตรุษ เป็นการร้องรำเป็นกลุ่มในวันขึ้นปีใหม่ (13 เมษายน) โดยมีพ่อเพลงร้องนำแล้วลูกคู่ก็ร้องตาม หรือร้องรับเดินทางเป็นคณะไปร้องอวยพรตามบ้านต่างๆ เมื่ออวยพรเสร็จก็จะขอบริจาคเงินเพื่อไปทำสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ลักษณะการร้องรำอันนี้คล้ายกับการเซิ้งบั้งไฟของชาวอีสานเหนือ
- เจรียงกันตรึม ใช้ในงานมงคลโดยเฉพาะ เช่น กล่อมหอ ในงานแต่งงานขึ้นบ้านใหม่ มีผู้เล่นประกอบ 4 คน เป็นชายทั้งหมด เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่อ้อ 1 คน ซอด้วง 1 คน กลองโทน 2 คน คนตีกลองจะเป็นผู้ขับร้อง
เพลง กันตรึม เจรียงเงินล้าน
- อาไย เป็นเพลงปฏิพากษ์ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว คล้ายเพลงอีแซวหรือลำตัดของภาคกลาง จะเล่นประกอบกับเครื่องมโหรี วิธีเล่นจะแบ่งเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจำนวนเป็นคู่เท่าๆ กัน ไม่เกิน 4 คู่ แต่ละคู่จะยืนหันหน้าเข้าหากันและร้องโต้ตอบกัน เปลี่ยนคู่เวียนไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่ร้องจบดนตรีก็จะรับเป็นท่อนๆ และในช่วงดนตรีรับนี้ทั้งฝ่ายหญิงและชายจะรำต้อนกัน
- เพลงโคราช เป็นเพลงพื้นบ้านที่มีอายุเก่าแก่มาก และเป็นเพลงครูของเพลงพื้นบ้านอื่นๆ เช่น เพลงฉ่อย ซึ่งใช้กลอนเพลงโคราชเป็นบทไหว้ครู เพลงโคราชเป็นกลอนปฏิพากย์ คือเป็นการใช้ปฏิภาณในการแก้ปัญหาร้องโต้ตอบกัน ว่าแก้กันทันควันทันทีไม่ต้องอาศัยบทใดๆ เลย ลักษณะเป็นกลอนด้นนิยมเล่นอักษรสัมผัส ทำให้มีความไพเราะขึ้น ภาษาที่ใช้ในกลอนเพลงโคราชจะใช้ภาษาโคราช ซึ่งมีลักษณะคล้ายภาษาไทยภาคกลางแต่เพี้ยนหรือแปร่งไป เพลงโคราชจะเล่นในโอกาสงานมงคลต่างๆ เช่น งานบวช งานโกนจุก งานทำบุญ หรือแม้แต่งานศพก็เล่นเพลงโคราชได้เช่นกัน
เพลงโคราชคณะหนึ่งๆ มีผู้เล่นเพลงประมาณ 6 คน แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอย่างละเท่าๆ กัน สถานที่เล่นเดิมเล่นตามลานบ้าน ต่อมามีการยกเวทีขึ้น 4 เสามีหลังคา เริ่มเล่นโดยผู้เล่นที่มีอาวุโสหรือหมอเพลงจะออกมาร้องก่อน แล้วฝ่ายหญิงจะว่าบทไหว้ครู ตามด้วยการร้องเกริ่นโต้ตอบกันไปทั้งสองฝ่าย ลักษณะการเล่นเพลงโคราชแบ่งได้อย่างกว้างๆ 3 ประเภทคือ
- เกี้ยวพาราสี เนื้อร้องจะเป็นคำเกี้ยวพาราสีระหว่างหญิงชาย ในบางครั้งอาจมีคำเสียดสี ถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบ ซึ่งเป็นลักษณะของเพลงพื้นบ้านทั่วไป
- ลองปัญญา เป็นการนำเอาปัญหาหรือปรัชญาพุทธศาสนา หรือตำนานเรื่องต่างๆ มาซักถาม ฝ่ายใดที่ตอบไม่ได้ก็จะถูกว่าให้ได้อาย
- เล่าเป็นเรื่อง เช่น ยกนิทานที่มีคติสอนใจ หรือจับเรื่องราวตามธรรมเนียมของเพลงพื้นบ้านอื่นๆ โดยสมมติตัวละคร
เพลงโคราชกับการสร้างสรรค์ของ "กำปั่น บ้านแท่น"
คลิกไปอ่าน การฟ้อนแบบต่างๆ