คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
ชาวอีสานถือคติความเชื่อที่ถือกันเป็นประเพณีอย่างหนึ่งคือ การส่วงเรือ หรือ การแข่งเรือ โดยเฉพาะชาวอีสานชนบทที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำเช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำเสียว และแม่น้ำโขง เป็นต้น น้ำจะหลากในระหว่างเดือน 11 เดือน 12 ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวชาวบ้านจะเสร็จสิ้นการดำนา และรอเวลาข้าวออกรวง จึงจัดให้มีการแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) โดยออกหนังสือเชิญไปตามหมู่บ้านต่างๆ ให้จัดส่งเรือและฝีพายมาร่วมสนุก
ในภาคอีสานที่มีการแข่งเรือกันจนเป็นประเพณีประจำได้แก่ ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จึงได้นำเอาประเพณีการแข่งเรือนี้มาจัดทำเป็นชุดฟ้อนรำขึ้น
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายซึ่งอยู่ที่หัวเรือและท้ายเรือจะสวมเสื้อม่ฮ่อม นุ่งโสร่ง ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ฝ่ายหญิงจะสวมเสื้อแขนสั้นคอกลม นุ่งซิ่นใช้ผ้าคาดเอว ห่มสไบ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้
ฮีตส่วงเฮือ มหาวืทยาลัยมหาสารคาม
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน เพลงแข่งเรือ
อุปกรณ์การแสดง เรือทำเฉพาะโครงด้านนอก ผู้พายสามารถเข้าไปยืนได้ ทำเป็น 2 ลำ และไม้พายสำหรับพายเท่ากับผู้พาย
หลังจากการทำงานอันเหน็ดเหนื่อย ชาวอีสานนิยมจัดการรื่นเริงเพื่อความสนุกสนาน โดยเฉพาะในกลุ่มของชาวผู้ไท ในการฟ้อนจะมีการฟ้อนเพื่อแสดงการเกี้ยวพาราสี เย้าหยอกเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งคล้ายกับชาวลาวโซ่งในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการฟ้อนประจำถิ่นโดยมีเพลงอยู่ 2 ทำนอง คือ ทำนองแคนย่าง (แคนเดิน) กับแคนแล่น (แคนวิ่ง) ในทำนองแคนแล่น ชายหนุ่มและหญิงสาวจะรำจก คือการล้วง คล้ายกับการยืนมือล้วงเข้าไปในผ้าซิ่นของฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงก็จะพยายามหลบหลีกให้พ้นการจู่โจมของฝ่ายชาย ซึ่งการหลบหลีกนั้นจะมีลีลาเฉพาะตัว คล้ายกับของชาวผู้ไท
ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงนำลีลาการฟ้อนเช่นนี้มาจัดทำเป็นชุดฟ้อนขึ้น โดยใช้ผู้แสดงชายและหญิงฟ้อนออกมาเป็นคู่ๆ ในแต่ละคู่จะแสดงลีลาการรุกไล่ หลบหลีก ปัดป้อง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าซิ่นพื้นเมือง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อม กางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าคาดพุงและโพกศีรษะ
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายสังข์ศิลป์ชัย
จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในเขตอีสานทางตอนใต้ เนื่องจากแต่เดิมเมืองบุรีรัมย์ขาดแคลนน้ำมาก โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ไม่มีน้ำพอสำหรับบริโภค เพราะพื้นดินแถบจังหวัดบุรีรัมย์เป็นดินทรายไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ชาวบ้านจึงได้หาวิธีการเพื่อให้มีน้ำสำหรับบริโภค โดยใช้วิธีอันชาญฉลาด โดยไปตักเอาน้ำที่ขุ่นๆ ตามก้นบ่อ หรือสระมาทำให้ตกตะกอน โดยใช้ไม้กระบอกตำเพื่อทำน้ำให้ใส สามารถนำไปบริโภคได้ ทำให้คนทั่วไปพากันร่ำลือถึงชาวบุรีรัมย์ว่า "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน" ติดปากมาจนทุกวันนี้
ทางวิทยาลัยครูสุรินทร์ โดยท่านอาจารย์ทองคูณ หงส์พันธ์ ได้คิดที่จะอนุรักษ์วิธีการตำน้ำกินไว้ในรูปของการแสดง ทางภาควิชานาฏศิลป์ โดยอาจารย์ผกา เบญจกาญจน์ และอาจารย์ภูมิจิตร เรืองเดช ได้นำเอาข้อมูลของการตำน้ำกินมาประดิษฐ์เป็นชุดฟ้อนให้ใช้ชื่อว่า "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน"
การทำน้ำขุ่นให้เป็นน้ำใส มีขั้นตอนดังนี้
บริเวณหนองน้ำในฤดูแล้ง เมื่อน้ำแห้งลง น้ำในหนองน้ำเหล่านั้นจะขุ่นเป็นสีขาวออกเหลือง ไม่สามารถตักเอามากินได้ วิธีตำน้ำกิน ชาวบ้านจะขุดหลุมใกล้ๆ บริเวณหนองน้ำ ซึ่งน้ำขุ่นอย่างน้อยก็ต้องขุดสัก 2 หลุม ครอบครัวใหญ่มีสมาชิกหลายๆ คน ก็จะขุด 2-5 หลุม ขนาดของหลุมจุน้ำได้ 1-2 หาบ เมื่อขุดหลุมเรียบร้อยแล้วก็ตักน้ำมาเทลงในหลุมให้เต็ม แล้วโกยเอาดิน (ดินส่วนที่ขุดจะต้องเป็นดินเหนียว) ซึ่งอยู่ขอบๆ หลุม ใส่ลงไปประมาณ 2 - 3 กะลา (กะลามะพร้าวใช้ตักน้ำแทนขัน) จากนั้นก็เริ่มตำ โดยใช้ไม้ไผ่ขนาดยาวประมาณ 50 - 70 ซ.ม. ตัดด้านโคนบริเวณที่เป็นปล้องไม้ไผ่
วิธีตำน้ำ
กดกระแทกไม้ไผ่ที่ใช้ตำ หมุนข้อมือเล็กน้อย พยายามไม่ยกไม้ไผ่มาบนผิวน้ำ เพราะจะทำให้น้ำกระฉอก ตำไปเรื่อยๆ ประมาณ 15 - 20 นาที น้ำในหลุมจะเริ่มเปลี่ยนสภาพคล้ายๆ เอาสารส้มลงไปกวน ถ้าหากว่าน้ำยังไม่มีการเปลี่ยนสภาพต้องเติมดินลงไปอีก แล้วตำไปเรื่อยๆ เมื่อมองเห็นว่าน้ำเริ่มตกตะกอน ก็หยุดไปตำหลุมใหม่ ทิ้งน้ำให้ตกตะกอนในหลุม ค่อยๆ เอากะลาตักน้ำขึ้นมาจากหลุมจะได้น้ำที่ใสสะอาดไว้ดื่ม ถ้าตำในช่วงเช้าก็จะตักน้ำขึ้นจากหลุมในช่วงบ่าย พร้อมกับตำไว้ใหม่อีก และลุกมาตักน้ำในช่วงเช้าสลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ก็จะได้น้ำที่ใสสะอาดนำไปเก็บไว้ดื่ม "น้ำที่นำมาตำ ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นสาป หากแต่ว่าเป็นน้ำขุ่นๆ ซึ่งจะเอามาตำ ให้เป็นน้ำใสเท่านั้น"
รำวงบุรีรัมย์
ลำดับขั้นตอนการแสดง
เครื่องแต่งกาย ชายนุ่งโจงกระเบน โดยใช้ผ้าขาวม้าพื้นเมือง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว หญิงนุ่งโจงกระเบนผ้าพื้นเมืองสีสด ใช้ผ้าขาวม้าพื้นเมืองห่มแบบตะเบ็งมาน ผมเกล้ามวยต่ำ ทัดดอกไม้สีขาวข้างซ้าย
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้ วงกันตรึม ทำนองเพลงกัดเตรยและอาไขเวง
อุปกรณ์การแสดง 1) ครุสานด้วยไม้ชันยา 2) กะลามะพร้าวสำหรับตักน้ำ 3) เสียมสำหรับขุดดิน 4) ลำไม้ไผ่สำหรับตำน้ำขนาด 50-70 ซ.ม.
ระบำโคราชประยุกต์ เป็นการแสดงที่ได้นำลีลาการเล่นรำโทนและเพลงโคราช มาประยุกต์เข้าด้วยกัน การเล่นรำโทนเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวโคราชในสมัยโบราณ วิธีรำก็รำเป็นคู่ ชาย-หญิง ไม่มีเพลงร้องประกอบแต่ใช้เสียงโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ เป็นเครื่องจังหวะ การร่ายรำก็เป็นท่าง่ายๆ ปักหลักรำอยู่กับที่บ้าง รำเดินไปเดินมาเป็นเชิงเกี้ยวพาราสีกันบ้าง ดักหน้าดักหลัง โดยไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวกันเลย ต่อมามีการแต่งเพลงที่เป็นเนื้อร้องประกอบการรำ เช่น เพลงตามองตา ยวนย่าเหล วิธีเล่นโดยแสดงท่าทางตามคำร้องสลับกัน การรำซึ่งแล้วแต่ใครจะคิด ยังไม่มีใครกำหนดเป็นมาตรฐาน
พอร้องจบก็มีดนตรีรับเป็นช่วงๆ ต่อมารัฐบาลได้มอบให้กรมศิลปากรแปลงรูปแบบของรำโทนเป็น "รำวง" โดยวางท่ารำไว้เป็นมาตรฐานมีท่ารำ 14 ท่า เพลงร้อง 10 เพลง ส่วนการเล่นเพลงโคราชก็จะมีการรำประกอบรำทีละคู่ ท่ารำก็แล้วแต่ใครจะคิดได้
เครื่องแต่งกาย ผู้หญิงแต่งกายแบบไทยโคราช คือนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก
เครื่องดนตรี ใช้เครื่องดนตรีที่เป็นเครื่องจังหวะ เช่น โทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ
คลิกไปอ่าน ดนตรีประกอบการฟ้อนภาคอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)