foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

mp3

benjamin 01

เบญจมินทร์ (นายตุ้มทอง โชคชนะ)

benjamin 03นายตุ้มทอง โชคชนะ หรือที่เรารู้จักกันในนาม เบญจมินทร์ เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงรุ่นเก่าชื่อดัง ที่ได้รับฉายาว่า "ราชาเพลงรำวง" ในยุคที่วงการเพลงลูกทุ่งเพิ่งจะเริ่มบุกเบิก นอกจากนั้นก็ยังเคยสร้างและกำกับภาพยนตร์ เขียนบทละคร และภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งร่วมแสดงภาพยนตร์อีกด้วย

ในวงการเพลง เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จักอย่างมากจากเพลงรำวงอย่าง เมขลาล่อแก้ว รำวงแจกหมวก แมมโบ้จัมโบ้ อึกทึก สาลิกาน้อย รำวงฮาวาย รำเต้ย และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนเพลงลูกทุ่งเขาโด่งดังจากเพลงแนวเกาหลีหลายเพลง เป็นต้นฉบับแนวเสียงของ "สุรพล สมบัติเจริญ" เจ้าของฉายา ราชาเพลงลูกทุ่ง และเป็นคนเปิดศักราชลูกทุ่งอีสาน และชาวอีสานในวงการเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย ช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ ปี พ.ศ. 2490 - 2495 เพลงของเขาได้รับความนิยม และมักสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน อย่างเช่น เพลง "ไปเสียได้ก็ดี" ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2495

นายตุ้มทอง โชคชนะ (ในช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็น คนชม) เป็นชื่อ-นามสกุลจริง เกิดเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของสิบเอกบุญชู โชคชนะ นับถือศาสนาพุทธ คุณพ่อเป็นชาวบ้านย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ จังหวัดยโสธร และนางคูณ โชคชนะ เป็นชาวเวียงจันทน์ สปป.ลาว นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และเป็นต้นเสียงขับร้องเพลงในโบสถ์ และด้วยบทบาทในศาสนกิจของแม่นี่เองที่ทำให้ เบญจมินทร์ ได้ซึมซับจดจำเป็นแม่แบบทางด้านศิลปะการขับร้อง ตั้งแต่อายุได้ 3 ขวบ

เรียนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์จาก โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (โรงเรียนประจำจังหวัดชาย) ที่บ้านเกิด ซึ่งเขานำชื่อของโรงเรียนมาดัดแปลงเป็นชื่อสมญา "เบญจมินทร์" เมื่อทำงานในวงการบันเทิง สมัยเป็นนักเรียน เขาชื่นชอบวิชาภาษาไทยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จึงเริ่มศึกษาเรื่องการแต่งเพลง จากผลงานของครูเพลงอย่าง พรานบูรพ์, นารถ ถาวรบุตร, พุฒ นันทพล, จำรัส รวยนิรันทร์ และมานิต เสนะวีนิน ด้วยการนำเนื้อเพลงของท่า่นเหล่านี้มาอ่าน ท่องจำ จนเกิดความรู้เรื่องการสัมผัสคำ อักขระ พยัญชนะ วรรคตอน โดยไม่มีครูที่ไหนมาสอน

หลังจบการศึกษา เบญจมินทร์ สมัครเข้าเป็นตำรวจและได้รับยศเป็นพลตำรวจ ทำงานอยู่ได้แค่ปีเดียวก็ลาออก และเข้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2480 ก่อนจะสมัครเป็นครูเทศบาล ได้สอนชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนแถบปทุมวัน 2 ปี ต่อมาอพยพไปอยู่ นครนายก แต่ก็ย้ายกลับเมืองหลวงอีกครั้ง และทำงานหลากหลายอาชีพ ทั้งครู นักหนังสือพิมพ์ พนักงานที่ดิน พนักงานเทศบาล

benjamin 06

ทำงานกับ หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ รุ่นเดียวกับ อิศรา อมันตกุล ต่อมาย้ายมาอยู่ หนังสือพิมพ์เอกราช เมื่อมีการสังสรรค์หลังเลิกงาน เขามีโอกาสแสดงความสามารถทางด้านการร้องเพลง และแต่งเพลง (ในวงเหล้า) ทำให้ อิงอร หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม เห็นแวว จึงชักชวนมาร้องเพลงสลับฉากในละคร ดรรชนีไฉไล เป็นเรื่องแรก (บางแหล่งที่มา บอกว่าเขาร้องเพลงแรกในชีวิต ชือเพลง ชายฝั่งโขง ประพันธ์โดย จำรัส รวยนิรันดร์) เริ่มเป็นที่รู้จักและชื่นชอบจากเพลง ชายฝั่งโขง ขณะที่ร้องอยู่กับ วงดนตรีดุริยโยธิน แต่มาโด่งดังสุดขีดหลังจากหันมาร้องเพลงรำวงอย่างจริงจัง เขาจึงจับแนวเพลงประเภทนี้มาตลอด จนถึงยุคที่เพลงรำวงเสื่อมความนิยม และถูกเพลงลูกทุ่งเข้ามาแทนที่ นักร้องคนอื่นๆ หันไปร้องเพลงลูกทุ่งกันหมด แต่ เบญจมินทร์ ก็ยังคงร้องเพลงรำวงอยู่เช่นเดิม

เข้าสู่วงการเพลงเป็นนักร้อง ซึ่งเป็นนักร้องรุ่นเดียวกันกับ เสน่ห์ โกมารชุน ชะลอ ไตรตรองสอน เนียน วิชิตนันท์ กุงกาดิน หรือ นคร ถนอมทรัพย์ เสียงของ เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จัก และประทับใจแก่แฟนเพลง ด้วยเพลง "ชายฝั่งโขง" ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก โดยการนำเอาเพลง รำวงรำโทน มาบันทึกแผ่นเสียงออกจำหน่าย และได้หันมาแต่งเพลงรำวงอย่างเอาการเอางาน

อายจันทร์ ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

การประพันธ์เพลง

ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เบญจมินทร์ หลงใหลเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก ทั้งยังเคยเข้าร่วมร้องเพลงในวงรำวง - รำโทนแถวบ้านด้วย ทำให้เขาเชี่ยวชาญเรื่องบทเพลงทำนองนี้อย่างมาก เมื่อได้รับการติดต่อจากบริษัทแผ่นเสียง จึงนำความเชี่ยวชาญนี้มาใช้อย่างจริงจัง

เขาเคยกล่าวว่า "การแต่งเพลงได้รับอิทธิพลมาจากครูศิลปินที่ชื่นชอบ "พรานบูรพ์" (จวงจันทร์ จันทร์คณา) เพลงแรกที่แต่งเอง "กล่อมขวัญใจ" ไม่ได้บันทึกเสียง แต่กลับนำไปร้องกล่อมเด็กข้างบ้าน"

หันมาแต่งเพลงอย่างจริงจังเมื่อราวปี พ.ศ. 2488 ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังสนับสนุนเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก โดยชุดแรกมี 10 เพลง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "เมฆขลาล่อแก้ว" ในช่วงแรก แต่งให้กับ ห้างแผ่นเสียง บริษัท กมลสุโกศล ในราคาเพลงละ 500 บาท เพลงยังใกล้เคียงกับของเดิม คือเป็นเพลงสั้นๆ ประมาณ 2 ท่อน เป็นการหยิบเอามรดกดั้งเดิมของรำโทนอีสาน มาปรับปรุงตกแต่งให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อเริ่มมีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงรำวง - รำโทน เบญจมินทร์ เร่งผลิตผลงานให้ ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ราว 50 เพลง ได้ค่าจ้างแต่งเพลงๆ ละ 500 บาท ในช่วงนี้ เขาได้สร้างแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาอย่างโดดเด่น จากเพลงรำวงแบบเดิม ที่มีอยู่ 2 ท่อน ก็เพิ่มเป็น 3 - 4 ท่อน รวมทั้งใส่พล็อตเรื่องและเพิ่มเครื่องดนตรีลงไป แทนที่จะมีแต่กลองโทนเป็นหลัก และก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จน สาหัส บุญหลง (พฤหัส บุญหลง) เพื่อนร่วมคณะละคร ตั้งฉายาให้เขาว่า ราชาเพลงรำวง ระยะนี้เขามีผลงานทั้งประเภทแต่งเอง ร้องเอง ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดี เพลงดังที่สุดในยุคนั้นชื่อ "รำเต้ย" ที่ขึ้นต้นว่า "สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง..." นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และร้องเพลงของครูเพลงท่านอื่นด้วย

แม้กระทั่ง บริษัท อัศวินแผ่นเสียงและการละคร ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก็ยังรับสั่งให้ช่วยแต่งเพลง ยังความปลาบปลื้มแก่ เบญจมินทร์ อย่างยิ่ง

รักแท้จากหนุ่มไทย ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

ที่มาของเพลงดังชุด "เกาหลี-อารีดัง"

ตอนที่ร้องเพลงสลับฉากละคร โชคชะตาทำให้ได้เจอกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อไปร่วมงานวันเกิดของท่าน และด้วยความเมา ประกอบกับน้ำเสียงในการร้องเพลง ทำให้จอมพลเสฤษดิ์เกิดถูกชะตารับเข้าเป็นทหาร ซึ่งเบญจมินทร์เคยเล่าไว่ว่า

“วันหนึ่งผมกําลังร้องเพลงสลับละครอยู่ที่โรงละครศรีอยุธยา ล้อต๊อกเขาก็เล่นละครอยู่ที่นั่น เขาก็มาพบผมที่หลังโรงละคร เขาบอก "เฮ้ย…ตุ้ม" (ชื่อของเบญจมินทร์) "จอมพล สฤษดิ์ อยากจะพบ" ผมถามว่า "พบเรื่องอะไร"

ล้อต็อกก็เล่าให้ฟังบอกว่า "จอมพล สฤษดิ์บอกว่า ไอ้เบญจมินทร์มันเป็นใครวะ มันร้องเพลงดีว่ะ อยากจะรู้จักมัน" ผมก็เลยถามล้อต๊อกว่า "แล้วจะไปพบท่านได้ยังไง ผมกลัวเพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชื่อเสียงเวลานั้นไม่มีใครกล้าเล่นด้วย" ล้อต๊อกบอก "ไปสิไปด้วยกัน วันที่ 16 มิถุนายน วันเกิดท่าน ไปที่ฝั่งธนฯ บ้านท่านอยู่ฝั่งธนฯ" ก็ไปพบท่านนั่งอยู่บ้านริมน้ำที่บางพูน นั่งกินเหล้าอยู่กับ พล.ต. ประภาส จารุเสถียร, พล.ท. ถนอม กิตติขจร และ พล.ต. ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ได้ร้องเพลงให้ท่านฟัง ซึ่งท่านพึงพอใจมากปรบมือให้ และเรียกเข้าไปใกล้ๆ และถามชีวิตส่วนตัว พร้อมทั้งเอ่ยปากว่า

มึงอยากเป็นทหารไหม พรุ่งนี้ไปหาคุณประภาส ไปรายงานตัวเขา ”

เบญจมินทร์จึงได้ไปเป็นทหารประจําที่ กองดุริยางค์ทหารบก วันหนึ่งขณะไปทํางานที่กองดุริยางค์ ซึ่งอยู่ด้านหลังองค์การเภสัชกรรม มีนายทหารคนหนึ่งออกมาจากกองดุริยางค์ เห็น เบญจมินทร์ ลงจากรถสองล้อจึงเข้ามาสอบถาม “ไปเกาหลีไหม” “ไปสิครับ” เบญจมินทร์ตอบแบบไม่ลังเล เหมือนคราวที่ตัดสินใจเป็นทหารเมื่อถูกชวนจากจอมพลสฤษดิ์

จากนั้นอีกสองสามวันหนังสือตอบรับจากกรมผสมที่ 21 ถูกส่งไปถึงบ้าน บอกว่าพร้อมจะให้ เบญจมินทร์ เดินทางไปกล่อมขวัญทหารไทยที่สมรภูมิเกาหลี เมื่อรับหนังสือแล้ว เบญจมินทร์ก็นําหนังสือนั้นไปหา จอมพลสฤษดิ์ แจ้งให้ท่านทราบ

“อั๊วเอามึงเป็นทหาร ไม่ใช่ให้มึงไปเกาหลี กูให้มึงอยู่กับกู มึงจะไปเกาหลี มันหนาวนะ” จอมพลสฤษดิ์ พูดเสียงดัง

“ครับ ผมรู้ว่ามันหนาว แต่การไปเกาหลีก็เพื่อจะได้สิทธิพิเศษ เพื่อต้องการได้เหรียญกล้าหาญ ผมมีเมีย มีลูก ลูกผมจะได้เรียนหนังสือ” เป็นคําชี้แจงของเบญจมินทร์

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ฟังแล้ว ก็อนุญาตให้ไปเกาหลีได้ และส่งเงินให้ 3,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เบญจมินทร์ กลับไปบอกภรรยาที่บ้าน ซึ่งก็มิได้รับการทัดทานใดๆ

ต่อมาจึงได้ไปร่วมรบใน สมรภูมิเกาหลี ตามคำชักชวนของนายทหาร กองดุริยางค์ทหาร ในปี พ.ศ. 2499 อยู่ที่เกาหลีนาน 6 เดือน เมื่อกลับมาได้แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีมากมายหลายเพลง ทั้ง อารีดัง, เสียงครวญจากเกาหลี, รักแท้จากหนุ่มไทย และ เกาหลีแห่งความหลัง ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด

เพลง เสียงครวญจากเกาหลี มีเกร็ดสำคัญที่เบญจมินทร์อยากจะเล่าให้ฟังคือ

“ทีแรกผมบอกกับ ผ่องศรี วรนุช ว่า "ผ่องร้องเพลงนี้ให้ลุงหน่อย" เขาบอก "ร้องไม่ได้ ไม่มีเวลา" (ขณะนั้น ผ่องศรี วรนุช เป็นนักร้องอยู่ในวงดนตรีของ สุรพล สมบัติเจริญ) ผมเลยหันไปหา สมศรี ม่วงศรเขียว บอก "สมศรีมาร้องเพลงนี้ให้ลุง" สมศรีเขาก็มาร้องเพลงนี้จนมีชื่อเสียง ตอนหลังผ่องศรีก็มาต่อว่าผมว่า ทำไมเอาไปให้คนอื่น ผมบอกว่า "ลุงบอกให้เธอร้องเพลงให้ลุง แล้วเธอไม่ร้อง ลุงก็เลยเอาไปให้คนอื่นร้อง เขามีชื่อเสียงแล้วมาเสียใจเรื่องอะไรกัน” หลังจากรับราชการทหารได้ 5 ปี ก็ลาออกจากกองทัพ

เสียงครวญจากเกาหลี ขับร้องโดย สมศรี ม่วงศรเขียว ประพันธ์โดย เบญจมินทร์

ต้นฉบับรำวงแบบเบญจมินทร์ ได้สร้างความประทับใจแก่แฟนเพลงในยุคนั้น ยากที่คนอื่นจะตามทัน จนมีผู้ให้สมญานามว่าเป็น "ราชาเพลงรำวงของเมืองไทย" เบญจมินทร์ยังมีผลงานเพลงที่ออกแนวหวานอมตะ เป็นผู้เจียระนัยและป้อนเพลงหวานๆ ให้กับ "ทูล ทองใจ" นักร้องผู้ผูกขาดแนวเพลงหวานซึ้งของวงการลูกทุ่งเมืองไทย ที่ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิตจากการแต่งของท่านในเพลง “พี่ทุยหน้าทื่อ” ในช่วงปี พ.ศ. 2499 - 2500 และเพลงที่ทำให้ คุณทูล  ทองใจ มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศก็คือเพลง โปรดเถิดดวงใจ” นวลปรางนางหอม ในฝัน เหนือฝัน เป็นต้น

และได้สร้างศิษย์รักอีกคนหนึ่ง เพื่อสืบทอดแนวเพลงรำวง ก็คือ “คุณกุศล  กมลสิงห์” เป็นศิษย์คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ร้องเพลงที่ครูเบญจมินทร์แต่งเพลงไว้หลายเพลง เช่น รักริษยา รอยจูบ เสน่ห์ตา วาจาเศรษฐี เป็นต้น ตัวท่านเองก็ประพันธ์เอง ขับร้องเองจนได้รับความนิยม เช่น ไม่ใช่หัวตอ หนาวอารมณ์ ทูนหัวอย่าร้องไห้ ยอดรักพี่อยู่ไหน และสุดยอดเพลงรำวงที่โด่งดัง ได้รับความนิยมและนำมาร้องกันจนถึงในยุคปัจจุบัน คือ ผลงานเพลง "รำเต้ย" อันลือลั่น

รำเต้ย ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

และด้วยความทรนง อันเป็นนิสัยส่วนตัวอันสำคัญของเขา เมื่อความนิยมในผลงานเพลงของเขาสู้กับนักร้องรุ่นใหม่อย่าง สุรพล สมบัติเจริญ ไม่ได้ รวมทั้งเกิดกรณีการแต่งเพลงตอบโต้กัน โดย เบญจมินทร์ เขียนเพลง "อย่าเถียงกันเลย" ต่อว่า สุรพล สมบัติเจริญ กรณีที่ร้องเพลงตำหนิ ผ่องศรี วรนุช ที่ลาออกจากวงไป และ สุรพล ก็แต่งเพลงตอบโต้เขาชื่อ "สิบนิ้วขอขมา" ซึ่งเสียงตอบรับของแฟนเพลงก็หันไปทาง สุรพล มากกว่า ดังนั้น เบญจมินทร์ จึงได้ยกกิจการวงดนตรี "เบญจมินทร์และสหาย" ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2507 ให้แก่ลูกศิษย์รักคนที่สอง กุศล กมลสิงห์ เจ้าของฉายา ขุนพลเพลงรำวง และหันหลังให้กับวงการเพลงทันทีอย่างไม่แยแส ในปี พ.ศ. 2508 ก่อนจะหันไปจับงานบันเทิงสาขาใหม่

เพลงตอบโต้กัน ของสองครูเพลง เบญจมินทร์ กับ สุรพล สมบัติเจริญ

การทำหนัง-ละคร และงานเขียน

สร้างภาพยนตร์เรื่อง "เสือเฒ่า", "ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ" และ "แสนงอน" เคยเป็นพระเอกใน "เพื่อนตาย" และพระรองใน "สุภาพบุรุษเสือไทย" ตลอดจนเป็นตัวประกอบใน "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "ไอ้โต้ง", "แผลหัวใจ" เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "ขุนแผนผจญภัย" นอกจากนี้ก็ยังเคยเขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมทั้งเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง

benjamin 04

ชีวิตและผลงานของ เบญจมินทร์ ได้ผ่านวงการบันเทิงไทยมาทุกรูปแบบ โดยเริ่มจากการสร้างภาพยนตร์ จนทำให้ "ภัทราวดี (ศรีไตรรัตน์) มีชูทน" นางเอกของเรื่อง ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากเรื่อง "ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ" นอกจากนี้ยังได้แสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง โดยได้รับบทเป็นพระเอกเช่นเรื่อง "เพื่อนตาย" ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในการแสดงคือ เรื่อง ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ของ ท่านมุ้ย มจ. ชาตรี ยุคล

จับ โดย ครูเบญจมินทร์ ในภาพยนตร์เรื่อง "มือเสือ" (2506)

ชีวิตครอบครัว

สมรสกับนางทองขาว มีบุตรธิดารวม 5 คน ได้แก่ เบญจมินทร์, มณเฑียร, ขวัญทิพย์, มณฑล และอาริยา ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองแม้แต่หลังเดียว จนกระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาได้ขอเจียดที่ดินจากเจ้าของที่ดินย่านคลองประปา ซึ่งเป็นเจ้าของร้านข้าวแกงที่เขาติดอกติดใจ ปลูกบ้านหลังเล็กๆ บนพื้นที่ขนาด 3 คูณ 4 เมตร เพื่อใช้อาศัยอยู่ตามลำพัง แยกจากครอบครัว แม้ว่าตัวเองจะป่วยเป็นอัมพฤกษ์ก็ตามที

การสร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่ง ทั้งการขับร้องและประพันธ์ไว้เป็นอมตะมากมาย และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เบญจมินทร์ เป็นผู้มีอุปนิสัยซื่อตรง ไม่เสแสร้ง อันเป็นอุปนิสัยของคนอีสานอย่างแท้จริง เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองสูง มีความทะนงในความเป็นศิลปินพอๆ กับความเฉยเมยต่อความช่วยเหลือ แม้ขณะที่มีความทุกข์ยากลำบาก จนแม้วาระสุดท้ายของชีวิต

benjamin 05

ปูชนียบุคคลชาวอีสาน ผู้เอกอุและอุดมหลากหลายในงานศิลป์ ท่านเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถางทางให้ชาวอีสานรุ่นหลัง ได้มีที่ยืนในวงการเพลงบ้านเรา จากการทำงานหนักมาตลอดชีวิต และแล้วในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 02.00 น. ท่านได้สิ้นใจบนรถแท็กซี่ ระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ระบุว่า ท่านเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว ราชาเพลงรำวงผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุ 73 ปี

ผลงานเกียรติยศของครูเบญจมินทร์

  • ผลงานการประพันธ์เพลง ประมาณ 500 เพลง
  • พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานพระพุทธรูป จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่เป็น นักร้องเก่าแก่ของเมืองไทย
  • พ.ศ. 2532 ได้รับรางวัลพระราชทาน "ประพันธ์เพลงดีเด่น" จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 ในเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ขับร้องโดย ทูล  ทองใจ
  • พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน 2 รางวัล คือ ประพันธ์เพลงดีเด่น และ ขับร้องเพลงดีเด่น จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ในเพลง “รำเต้ย” ซึ่งแต่งเอง ขับร้องเอง

100 ปีชาตกาล ครูเบญจมินทร์

เนื่องในวาระครบ 100 ปีชาตกาล ครูเบญจมินทร์ (23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 - 23 พฤษภาคม 2564) รายการ "สารพันลั่นทุ่ง (บางเขน)" ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ThaiPBS ช่องหมายเลข 3 จึงจัดรายการ เล่า 100 ปีชาตกาล 'ครูเบญจมินทร์' ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 โดยนำผู้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเล่าเรื่องราวพร้อมเพลงอันเป็นผลงานของครูเบญจมินทร์ ชมคลิปย้อนหลัง

เล่า 100 ปีชาตกาล "ครูเบญจมินทร์" : สารพันลั่นทุ่ง (บางเขน)

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)