foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

นายกำปั่น บ้านแท่น

kampan 01นายกำปั่น บ้านแท่น ชื่อจริง นายกำปั่น ข่อยนอก (นิติวรไพบูลย์) เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี พุทธศักราช 2494 ปีเถาะ ตรงกับวันอาทิตย์ เป็นลูกชาวนา บิดาชื่อ พ่อดี มารดาชื่อ แม่เพียร ข่อยนอก ณ บ้านเลขที่ 7 บ้านแท่น ตำบลโพนทอง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้องเกิดร่วมท้องเดียวกัน 4 คน เด็กชายกำปั่น พอคลอดออกมาลืมตาดูโลกได้ประมาณ 6-7 เดือน มารดาได้เสียชีวิตลง จึงต้องอยู่ในความอุปการะดูแลของพี่ๆ บางครั้งต้องอาศัยดื่มนมจากหญิงแม่ลูกอ่อนในละแวกใกล้เคียง ด้วยความเวทนาสงสาร (เมื่อก่อนยังไม่มีนมผง หรือนมกระป๋อง) และบางครั้งต้องดื่มน้ำข้าวรินผสมใส่น้ำตาล (อร่อยมาก)

จุดหักเหสำคัญที่สุดครั้งแรก ที่ทำให้เด็กกำพร้ามีทางเดิน ก่อนที่จะถึงเกณฑ์อายุเข้าโรงเรียน เมื่อวันเทศกาลสำคัญทางศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ ชาวบ้าน ปู่ย่า ตายาย มักจะนำเด็กๆ ไปทำบุญที่วัด คนแก่ก็จะนั่งฟังเทศน์บนศาลา เด็กๆ ก็จะวิ่งเล่นในสนามวัดกันอย่างสนุก เล่นซ่อนหาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นตี่จับ หรือรีรีข้าวสาร โดยมากเด็กผู้ชายจะชอบเล่น บั้งโพล้ะ (นำกระบอกไม้ไผ่มาหนึ่งอัน และทำไม้สำหรับ กระทุ้งเข้าไปในรูกระบอกไม่ไผ่หนึ่งอันแล้วไปหาหน่วยพลับพลา ที่เกิดขึ้นอยู่ตามป่า ถ้ากินดิบๆ จะมีรสฝาด ถ้าแก่หน่อยไกล้สุกจะมีรสหวาน นำหน่วยดิบๆ มายัดลงที่รูกระบอกไม้ไผ่แล้วใช้ไม้ที่ทำสำหรับกระแทก กระแทกลูกพลับพลาเข้าไป ให้ลูกพลับพลาหลุดออกอีกทางด้านหนึ่ง จะมีเสียงดัง โพล้ะ) การเล่นบั้งโพล้ะจะมีอันตราย ถ้าหากนำไปยิงกันจะเจ็บ ถ้าถูกตาตาอาจจะบอดได้ แต่เด็กผู้ชายชอบเล่นกันมาก ทำมาประกวดแข่งขันกัน ถ้าของใครยิงออกเสียงดังโพล้ะ ดังมากๆ คนนั้นจะชนะ ไม่เหมือนเด็กผู้ชายสมัยนี้ เขามีปืนพลาสติกเล่นกัน

kampan 02

ในวันนั้นเด็กชายกำปั่น กำลังวิ่งเล่นตามประสาเด็กๆ บังเอิญเหลือบแลไปเห็น เด็กชาย 2 - 3 คน ที่เป็นเด็กวัด ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เด็กเหล่านั้นจะมีผ้าขาวม้าสีเหลืองห่มคนละผืน คงจะเป็นผ้าอาบน้ำฝนของพระที่เก่าแล้ว และท่านแจกให้เด็กวัดใช้ห่ม เด็กเหล่านั้นจะโกนผมออกหมด คงไว้แต่เฉพาะคิ้ว ดูแล้วน่ารัก และมีราศีกว่าเด็กชาวบ้านธรรมดา ทำให้เด็กชายกำปั่นหยุดจ้องมองดูเด็กเหล่านั้นด้วยความสนใจ ในใจคิดว่า "เราทำอย่างไรจะได้เป็นเด็กวัดอย่างเขาเหล่านั้น ถ้าเราได้เป็นเด็กวัดเราคงจะได้ผ้าผืนสีเหลืองไว้ห่ม และจะได้โกนผมทิ้งเหมือนกับเด็กเหล่านั้น และเมื่อถึงวันสำคัญๆ ทางศาสนา ประชาชนชาวพุทธมาที่วัดมากๆ เราก็จะได้ยืนดูผู้คนที่หน้าต่าง ใครเห็นคงจะโก้พิลึก" ความคิดนี้วูบเข้ามาในสมองของเด็กชายกำปั่น และจากวันนั้นเป็นต้นมา เขานึกเสมอว่าทำอย่างไรจะได้ไปอยู่ที่วัด เป็นเด็กวัด ถ้าจะให้สมความปรารถนา เห็นทีจะต้องเข้าไปตีสนิทกับเด็กเหล่านั้น เพื่อจะมีหนทางได้ไปเป็นเด็กวัดอย่างเขาบ้าง

เด็กชายกำปั้นเมื่อได้เข้าไปสนทนากับเด็กวัดเหล่านั้น ซึ่งได้เล่าถึงการอยู่วัดกับพระว่าดีอย่างไร และชวนเด็กชายกำปั่นไปอยู่วัดด้วยกัน เข้าทางเด็กชายกำปั่นจึงตัดสินใจออกจากบ้านไปอยู่วัด เมื่อมาอยู่วัดต้องอาศัยกินข้าวก้นบาตรพระอาจารย์ทิม ปฏิบัติต่อพระสงฆ์องค์เจ้า ตั้งแต่เรียนหนังสือชั้นประถมปีที่หนึ่ง จนจบประถมปีที่สี่ ในขณะที่เป็นเด็กวัด ก็ได้เรียนหนังสือพระ เช่น ท่องบ่นบทสวดมนตร์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และสามารถสวดได้จบหมดตั้งแต่ อายุยังน้อย

kampan 05

เพราะช่วงขณะที่เป็นเด็กวัด พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาส ท่านจะพร่ำสอนให้เด็กทุกคนรู้ในบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ คุณของบิดา มารดา ผู้ให้กำเนิด ถ้าไม่มีพ่อแม่เราอาจจะไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อาจจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คำพร่ำสอนของพระอาจารย์ทิม เด็กชายกำปั่น ยังสามารถมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนถึงปัจจุบันก็ยังยึดเอาคำสอนเหล่านั้นเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่

เมื่อศึกษาจนจบชั้นประถมปีที่สี่ (เพราะสมัยนั้นภาคบังคับมีแค่ ป. 4) จึงได้ออกจากโรงเรียนมา เพื่อนบางคนเขาก็ไปเรียนมัธยมต่อ การเรียนหนังสือระดับมัธยมสมัยนั้น จะต้องไปเรียนที่ในตัวอำเภอ คือ อำเภอบัวใหญ่ บิดาของเด็กชายกำปั่น มาคิดดูว่าครั้นจะส่งลูกให้ไปเรียนมัธยมเหมือนเด็กคนอื่น เงินทองก็ไม่มี ไหนจะค่าเสื้อผ้า ไหนจะค่าเทอม ค่ากระดาษดินสอ ตำราเรียน ค่าเช่าบ้านจิปาถะ คงจะส่งไม่ไหวเป็นแน่แท้ จึงคิดว่า อย่ากระนั้นเลย เห็นทีจะต้องส่งไปให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนธรรมะบาลีจะดีกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าเทอมค่าอาหาร

จึงได้นำเด็กชายกำปั่นเดินทางจากบ้านแท่น ไปที่ตัวอำเภอบัวใหญ่ โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่ วัดบัวใหญ่ ที่มี ท่านเจ้าคุณปทุมญาณมุณี (หลวงพ่อเขียว) เป็นเจ้าคณะอำเภอและเป็นเจ้าอาวาส เพราะที่วัดนั้นมีการเรียนปริยัติธรรม ตั้งแต่ชั้นนักธรรมตรี โท เอก และมีการสอนบาลี

kampan 04

สามเณรกำปั่น บรรพชาเป็นสามเณร และเรียนหนังสือปริยัติธรรม เพื่อจะสอบนักธรรมชั้นตรี โดยมีอาจารย์เทียนเป็นผู้สอน การเรียนนักธรรมชั้นตรี จะต้องท่องหนังสือนวโกวาทให้จบทั้งเล่ม หนังสือพุทธประวัติ หนังสือพุทธภาษิต เพื่อแต่งเรียงความแก้กระทู้ อันเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะเป็นนักแต่งเรื่อง แต่งเพลง การเชื่อมเนื้อหาแต่ละเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่สามารถแต่งให้เชื่อมต่อกันได้อย่างสนิท โดยมีสุภาษิตอ้างอิงเป็นหลักฐาน สารเณรกำปั่น จะเก่งในการแต่งเรียงความแก้กระทู้มาก เพราะด้วยสาเหตุจากการได้อ่านหนังสือพระไตรปิฏก เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัด จนได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์เทียนว่า เณรน้อยคนนี้ต่อไปจะเป็นนักเขียนเรื่องราว นักแต่งเพลง นักจินตนาการที่ดีคนหนึ่ง

สามเณรกำปั่นที่บรรพชาเพียง 3 ปี ก็สามารถสอบนักธรรมตรี โท เอก และมหาเปรียญได้ สามเณรกำปั่นยังมีความปรารถนาจะสอบบาลีไวยากรณ์ให้ได้ อีกใจหนึ่งก็อยากจะฝึกหัดเทศน์ 2 ธรรมมาส เพราะได้ปัจจัยดี เวลาโยมไปนิมนต์เทศน์ตามงานต่างๆ เขาเรียกว่า เทศน์โจทย์ จึงไปฝึกหัดเทศน์กับพระอาจารย์แสง ซึ่งเป็นพระนักเทศน์ที่ฝีปากคมกล้า ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมติดอกติดใจ จนมีงานเทศน์ไม่ขาดสักวัน จนได้เป็นนักเทศน์สมใจ ญาติโยมต่างแซ่ซร้องในความสามารถ ต่อมาก็สามารถสอบได้เปรียญธรรม 3 และ 4 ประโยค

ต่อมาได้ลาสิกขาจากการเป็นสามเณรมาเป็นฆราวาส คิดว่าจะอยู่เป็นฆราวาสประมาณสักหนึ่งเดือน หรืออย่างมากสองเดือน ก็จะทำพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ในปีนั้นเองเป็นปีที่ฟ้าฝนแห้งแล้ง กำปั่นต้องออกจากบ้านไปเที่ยวหารับจ้างคนอื่นๆ เขา เพราะครอบครัวยากจน ได้ไปเป็นคนงานตัดอ้อยที่จังหวัดระยองแต่ถูกโกงค่าแรง จึงกลับมาบ้าน ต่อมาบิดาเสียชีวิตจึงได้ไปทำไร่มันกับพี่สาว แต่ผลผลิตที่ได้ไม่ดีจึงไปหาพี่ชายที่อำเภอนางรอง

kampan 06

เมื่อไปถึงบ้านพี่ชาย เห็นหลานๆ กำลังฝึกหัด "เพลงโคราช" อยู่หลายคน โดยครูยอดชาย บ้านหนองน้ำขุ่น มาเป็นครูฝึกให้ เห็นทุกคนมีความตั้งใจที่จะเอาจริงๆ จึงนึกอยากหัดบ้างเป็นรอบที่สอง จึงได้ทำพิธีไหว้ครู รับเอาครูยอดชายเป็นครู ครูยอดชายก็รับเอากำปั่นเป็นศิษย์ ในคืนนั้นทั้งคืนจึงนั่งเขียนเพลงที่ครูแต่งให้ เพื่อนำกลับมาท่องที่บ้านดงบัง เมื่อเห็นว่า พอที่จะออกรับงานแสดงได้ จึงขออนุญาตลาครูเดินเข้าสู่สังเวียนของนักเพลงโคราช โดยได้มาสังกัดอยู่ที่ คณะหัวหนองบัว มีจ่าจเรเป็นหัวหน้าคณะ มาครั้งแรกต้องอาศัยติดตามหมอเพลงรุ่นพี่ไปตามงานต่างๆ ก่อน เมื่อช่วงตอนดึกๆ เขาแสดงเหนื่อยก็ช่วยเขาขึ้นร้อง หาประสบการณ์ไปก่อน

ต่อมาไปสมัครอยู่กับ คณะเกาะลอย อาจารย์ลอยชายเห็นก็รับทันที และให้ไปร้องออกวิทยุที่ สถานี วปถ.3 เพราะวันนั้นเป็นวันเสาร์ และได้ร้องเพลงเกี้ยวกับ นางกาเหว่า โชคชัย เป็นคนแรก เมื่อกลับมาจากออกวิทยุหัวหน้าก็ก็รับงานให้ไปแสดงงานแรก คือวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2522 เรื่อยมาจนถึงปี 2523 อยู่ในระยะปีนี้ ที่บ้านลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย ได้ค่าตัว 400 บาท ดีใจมากที่สุดในชีวิต ต่อมาหัวหน้าคณะเสียชีวิต จึงมาอยู่กับ คณะหวานน้อย หนองบุญนาค จนเป็นเหตุให้ได้ใกล้ชิดกับน้องสาวภรรยาหัวหน้าคณะ คือ นางกาเหว่า โชคชัย จึงได้แต่งงานกัน อยู่กินเป็นคู่ทุกข์คู่ยากจนถึงปัจจุบันนี้

กำปั่น บ้านแท่น - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน ปี 2555

ต่อมาจึงตั้งคณะเป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า เพลงโคราชคณะกำปั่น บ้านแท่น กาเหว่า โชคชัย อยู่ที่สามแยกวัดหัวสะพาน ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ยึดแนวทางการดำเนินงาน แบบมุ่งหวังในทางพัฒนารูปแบบต่างๆ ให้ใหม่ เสมอนำเสนอแต่สิ่งใหม่ๆ ทั้งรูปแบบการแสดง เนื้อหาของกลอนเพลง ปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีออกทิ้งไป จัดหากลอนเพลงต่างๆ โดยการแต่งขึ้นมาใหม่บ้าง จากของเก่าที่เป็นของครูเพลงบ้าง นำเสนอสำหรับแฟนเพลงและเจ้าภาพ โดยมีสมาชิกที่อยู่ในสังกัดครั้งแรกประมาณ 20 คน ผลงานการแสดงบนเวที เริ่มเข้าตานักฟังเพลง ไม่นานชื่อเสียงของ เพลงโคราชคณะกำปั่น บ้านแท่น กาเหว่า โชคชัย ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของนักนิยมฟังเพลงโคราช

kampan 03

ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน มีการนำอิเล็กโทนเข้ามาประกอบการแสดง มีหางเครื่อง และการร้องรำที่สนุกสนาน จนกลายเป็น เพลงโคราชซิ่ง มีคณะเพลงโคราชซิ่งเกิดขึ้นมากมาย จนการแสดงของคณะกำปั่น บ้านแท่น เริ่มน้อยลง มีคนแนะนำว่า น่าจะไปจุดธูปเทียนกราบขอ "ย่าโม" ดู เผื่อว่าย่าจะช่วยได้ กำปั่นและกาเหว่าจึงได้ไปจุดธูปเทียนบนบอกย่าโม

"สาธุย่าโมจงสดับรับรู้ด้วยเถิด ที่ลูกหลานกำปั่น กาเหว่า ขอขมาย่า ในการที่ลูกหลานได้นำเพลงโคราชที่เป็นมรดกย่าให้มา เอามาดัดแปลงเป็นเพลงโคราชซิ่ง ใส่ดนตรีเป็นการผิดแผกไปจากเดิม เจตนามิได้ลบหลู่ดูหมิ่น แต่ที่ทำไปด้วยใจเจตนาอยากเผยแพร่เพลงโคราช ภาษาโคราช ให้แผ่กระจายไปสู่ในผู้คน ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เพื่อเพลงโคราชจะได้ยืนอยู่คู่เมืองย่าต่อไป ขอให้ย่าจงดลบันดาลให้ลูกจำหน่ายขายเทปได้ด้วยเถิด สาธุ" นี้คือถ้อยคำของกำปั่น กาเหว่าที่ได้ขอย่าโมในวันนั้น (ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่)

และเช้าวันรุ่งขึ้น จึงได้นำเทปไปที่วัดบ้านไร่เพื่อให้หลวงพ่อคูณท่านเจิมให้ หลวงพ่อท่านก็มีความเมตตาอนุเคราะห์ทำให้เป็นอย่างดี ทั้งน้ำมนต์รด ทั้งปลุกเสกลงอักขระขอม ส.ส.ประทีป กรีฑาเวช ได้แนะนำว่า "ผลิตเพลงออกมา ถ้าไม่ได้เปิดตามสถานีวิทยุต่างๆ ให้เขาได้ฟัง แล้วจะมีใครรู้ เมื่อเขาไม่รู้แล้วจะให้ขายเทปได้อย่าไร" จริงอย่างที่ท่านพูด เรื่องนี้กำปั่นก็ลืมคิดเสียสนิทใจ

นักจัดรายการวิทยุที่ชื่อ แสนรัก เมืองโคราช กับ ศุภลักษ์ อุ่นทวง ได้นำเอาเพลงไปเปิดตามคำร้องขอของ ส.ส.ประทีป ด้วยท่าทีอึดอัดใจ กำปั่นจึงบอกว่า "ไม่เป็นไร ถ้าเปิดแล้วไม่มีกระแสตอบรับจากแฟนเพลง ก็หยุดเปิดก็ได้" เขาทั้งสองก็เลยรับปาก

kampan 08

เช้าวันรุ่งขึ้น กำปั่นได้เหมารถไปส่งเทปเพื่อฝากขายที่อำเภอพิมายอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่รถกำลังเข้าจอดที่หน้าทางเข้าชมประสาทหินพิมาย เห็นขบวนรถทัศนาจร 2 - 3 คัน กำลังเข้าจอดเช่นกัน กำปั่น ได้แบกเทปเดินข้ามถนน และมีกลุ่มนักทัศนาจรกลุ่มนั้นเดินนำหน้า โดยมุ่งตรงมาที่ร้านจำหน่ายเทปคนละฟากกับถนน เมื่อเข้ามาในร้านได้ยินเสียงนักทัศนาจรกำลังถามหาซื้อ เทปเพลงโคราชซิ่ง

เจ้าของร้าน : ไม่เคยมี ไม่เคยได้ยิน มีแต่หมอลำซิ่ง
นักทัศนาจร : มีซิ เพราะผมฟังวิทยุจากในรถเมื่อกี้นี้เอง เป็นนักร้องจากโคราชนี้แหละ
เจ้าของร้าน : อ๋องั้นก็ของ หมูพงษ์เทพ หรือ สุนารี
นักทัศนาจร : ไม่ใช่ นักร้องพวกนั้นผมรู้จักแต่นี้ ชื่ออะไรหนา... อ้อ.. ชื่อกำปั่นๆ อะไรนี่แหละ

เจ้าของร้านยืนงงเพราะไม่รู้จักจริงๆ พอดีกำปั่น แบกเทปฟังอยู่ จึงบอกว่า "ก็นี้ไง ผมกำลังเอามาส่ง เป็นเทปออกใหม่พึ่งจะวางแผงวันนี้เอง" พวกนักทัศนาจร จึงลองให้เปิดฟังดู แล้วจึงบอกว่า "นี่ล่ะ ใช่เลย" แล้วพากันอุดหนุน กันคนละ 3 - 4 ตลับ ณ ที่ตรงนั้นเองที่เทปกำปั่น บ้านแท่น ขายได้เป็นครั้งแรก และขายได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ลัง 200 ตลับ ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที เพราะมีเถ้าแก่เจ้าของแผงเทปจากสระบุรีมาเที่ยวด้วย และรับซื้อเอาไปจำหน่าย ได้เงินสดๆ หกพันบาท

รางวัลเกียรติยศต่างๆ

  • รางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่นของจังหวัดนครราชสีมา 2 ปีซ้อน คือปี 2543 - 2544
  • รางวัลศิลปินอีสานแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านสื่อสารมวลชน ปี พ.ศ. 2545 มอบให้โดย สถาบันวิจัยศิลปะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • รางวัลสื่อพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือยอดเยี่ยม ปี 2542 - 2543 ครั้งที่ 18 จากศูนย์ส่งเสริมประสานงานเพื่อเยาวชนแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี มอบให้โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
  • ได้รับการไว้วางใจจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผลิตสื่อแนวเพลงพื้นบ้านมากมาย อาทิ กรมการการเลือกตั้ง สาธารณะสุขจังหวัด วิทยุชุมชน. เทศบาล. องค์การบริหารส่วนจังหวัด. ผู้แทนราษฎร สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้รับใบประกาศเกียรติคุณทุกใบ
  • รางวัลถ้วยเกียรติยศและเงินสด 500,000 บาท จากนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการประกวดมหกรรมหมอลำซิ่ง 19 จังหวัดในภาคอีสาน รวมทั้งหมดมี 95 คณะมีศิลปินรวมแล้ว 20-90 คน ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 1
  • ไดรับการยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาสิลปะการแสดง (เพลงโคราช) ประจำปี พ.ศ. 2555 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) ประจำปี 2564 จาก กระทรวงวัฒนธรรม

kampan 10

ผลงานช่วยเหลือสังคม

หาเงินจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพลงโคราช จัดตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือศิลปินยากไร้ เจ็บ ตาย เป็นวิทยากรพิเศษกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน จัดเลี้ยงอาหารบ้านคนชราทุกปี รวมทั้งเลี้ยงอาหารเด็กเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ

ด้านศาสนา

ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างที่เก็บน้ำฝนถวายวัดเขาแก้ว อ.โชคชัย มูลค่า 50,000 บาท สร้างเสาศาลาการเปรียญวัดบ้านแท่น และเสาวิหารหลวงปู่โตวัดโนนกุ่ม สร้างกำแพงวัดป่าคลองขุนเทียน ซื้อตู้เย็นถวาย 5 วัด จำนวน 5 ตู้ ซื้อกลองยักษ์ถวายวัดบ้านโจด 1 ใบ จัดกองผ้าป่าไปทอดตามวัดต่างๆ ทุกปีไม่ขาด

kampan 09

ด้านตำแหน่งหน้าที่

  • เป็นประธานชมรมเพลงโคราช 2 ปี
  • เป็นที่ปรึกษาสมาคมเพลงโคราช
  • เป็นอนุกรรมการวิทยุชุมชนของคนโคราช
  • เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา
  • เป็นกรรมการโครงการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสุขภาพ (ส.ส.ส.)
  • อาจารย์พิเศษร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเพลงโคราช ร่วมกับวิทยาลัยนาฏศิลป์

ด้านการถ่ายทอด

  • มีลูกศิษย์ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาทั้งเพลงโคราช เพลงลูกทุ่ง.ดนตรี.ประมาณ 60-70 คน ดังที่มีรายชื่อ ทำเนียบลูกศิษย์
  • ได้ประพันธ์เพลงโคราชไว้มากมาย เช่น เพลงโคราชประวัติหลวงพ่อคูณ 100 กลอน เรื่องมหาเวสสันดรโรงใหญ่ 300 กลอน เรื่อง ยาเสพติด อนุรักษ์ธรรมชาติ 150 กลอน เรื่อง มนุษย์โลกล้านปี เรื่องต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงให้ ก.ก.ต. จังหวัด เรื่อง ป้องกันโรคติดต่อ 8 ชนิดให้สาธารณะสุขจังหวัด และเรื่องเชิญชวนท่องเที่ยวภาคอีสาน 19 จังหวัด เป็นต้น
  • สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่หอสยามกุมารี วันที่ 2 มิถุนายน 2542 และแสดงเพลงโคราชถวายต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ฯลฯ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปีพ.ศ. 2545 เป็นผู้นำการแสดงแสงสีเสียง สื่อผสมสัญจร ธ.สถิตในดวงใจของชาวไทยทั่วหล้า พ.ศ.2543 และแข่งขันหมอลำซิ่งอีสาน 95 คณะ ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทั้งที่เป็นเพลงโคราช แต่สามารถชนะหมอลำได้

kampan 07

ปัจจุบัน กำปั่น บ้านแท่น และกาเหว่า โชคชัย ภรรยา ก็ยังพำนักอยู่ที่เดิม คือบ้านเลขที่ 336 ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และก็ยังอยู่บ้านเช่า ข้าวซื้อเช่นเดิม ยังเป็นคนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง หน่วยงานใดมีงานให้รับใช้ไม่มีเกี่ยง ถึงว่าจะต้องเสียค่ารถค่ากินไปเองก็ตาม เว้นเสียแต่ติดงานเสียก่อน ติดตามได้ทาง Facebook : กำปั่น ข่อยนอก (กำปั่น บ้านแท่น)

พ่อกำปั่น – กำปั่น นิธิวรไพบูลย์ กับ แม่กาเหว่า – ทวาย เกริ่นกระโทก คู่รักเพลงโคราช

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)