คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
คำเกิ่ง ทองจันทร์ ชื่อจริง นายคำแอ ทองจันทร์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ที่บ้านสะพือใต้ ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ที่บ้านหนองกุง ตำบลภูเงิน อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าของผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงดัง "ปากโกรธใจคิดถึง" ซึ่งขับร้องโดย สาธิต ทองจันทร์ และผลงานกลอนลำอีกมากมาย
คำเกิ่ง ทองจันทร์ มีชื่อเสียงดังเป็นพลุที่ร้อยเอ็ด เมืองสาเกตนคร หลังสึกจากพระก็มาร่ำเรียนด้าน "หมอลำกลอน" มีโอกาสได้แสดงความสามารถครั้งแรกที่ร้อยเอ็ด เหตุที่ต้องเริ่มต้นให้มาแต่งกลอนลำด้วยตัวเองเพราะว่า โดยหลักการของเหล่าหมอลำ เมื่อจะแสดงจะร้องจะลำก็ต้องซื้อกลอนลำของคนอื่นมาท่อง กลอนละ 30 บาท ผมจึงตั้งใจศึกษาแต่งกลอนขึ้นด้วยตัวเอง โดยอาศัยพื้นฐานสมัยที่เรียนนักธรรมเอกโดยได้ สุพรรณ ชื่นชม (คนแต่งเพลง "โบว์รักสีดำ" ให้ ศิริพร อำไพพงษ์ ขับร้อง) ครูเพลงอีสานอีกคนช่วยหนุนให้ได้อัดเสียง พร้อมกับขัดเกลาและช่วยแต่งเพลงกลอนให้ 3 - 4 ชุด "พลทหารโข่ง" คือเพลงที่ทำให้ชื่อของ "คำเกิ่ง ทองจันทร์" กังวานขึ้นบนถนนเพลงดังกลอนเด่นของอีสาน นอกจากนั้นยังมี "ดา ดา ดา" และ "โก๋อีสาน" แต่สิ่งที่ทำให้ อาจารย์คำเกิ่ง จดจำได้ไม่เคยลืมเลยคือ การแต่งเพลง ข้าวนอกนา, วอนเจ้าพ่อพลาญชัย, ไม่หวงแต่อย่าควงให้เห็น และสาวกาฬสินธุ์คอยคู่ ให้นักร้องชื่อ "พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย" ขับร้องจนโด่งดัง โดยได้ค่าเพลงๆ ละ 300 บาท โดยเพลงเกือบทั้งหมดที่พิมพ์ใจร้อง อาจารย์คำเกิ่งเขียนทั้งหมด
เมื่อมาแต่งกลอนลำให้หมอลำสาวเมืองร้อยเอ็ด พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย บันทึกเสียง จนโด่งดัง อาจารย์คำเกิ่ง จากเด็กชาวนาดงดอนผู้เกิดมาท่ามกลางอารยธรรมอีสาน วิถีชีวิตผู้คนที่ดำเนินไปในการแก้ไขปัญหาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้สัมผัสความเป็นศิลปินตั้งแต่แม่ร้องกล่อม ซึมซับคำเจรจาคำสอนจากวัฒนธรรมและศาสนา นำพาให้ได้เรียนรู้การใช้ถ้อยคำสัมผัส การผูกอักษรให้ได้ความไพเราะกินใจมีอุปมาอุปไมย ท่วงทำนองแหล่เทศนาหลากหลายประทับฝังใจให้เกิดความมุ่งมั่น
ค่อยๆ สร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจโดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ่ายทอดความเจนจบของชีวิตผ่านออกมาเป็นอารมณ์ความรู้สึก ชวนให้ผู้ฟังนึกคล้อยตามจนเหมือนจริง ความรักยามหวานก็แสนหวานกว่าทุกสิ่ง ยามอาลัยก็ยิ่งครวญคร่ำรำพันแทบขาดจิต เมื่อยามคิดถึงราวจะโลดแล่นไปหา ผลงานอักษราทุกถ้อยความล้วนแพรวพราวงดงามด้วยวรรณศิลป์
อันท่วงทำนองของการร้องลำนั้นเล่า ก็ถือเอาแบบอย่างครูที่เรียนรู้จากบรรพชน แล้วฝึกฝนจนชำนาญหาญกล้าออกแสดง จนส่องแสงโด่งดัง พัฒนาพลังเสริมต่อด้วยลีลาเอกลักษณ์เป็นที่ประจักษ์ความสามารถ ฉลาดในเชิงไหวพริบด้นกลอน สำเนียงเสียงถ้อยคำลึกล้ำออดอ้อนแสนกินใจ ชนต่างหลงใหลชื่นชม
เมื่อชะตาวาสนาดีขึ้นตามลำดับ อาจารย์คำเกิ่ง ได้รับนักร้องนาม "สาธิต ทองจันทร์" มาไว้และฝึกปรือ รวมทั้งแต่งเพลงป้อนอยู่เกือบ 10 ปี เพลง "หยุดน้ำตาเถิดน้อง, รักแท้คือแม่ผม, แด่แฟนสาธิต" ชุดที่อาจารย์คำเกิ่งปั้นให้ "สาธิต ทองจันทร์" มียอดเทปพุ่งทะลุฟ้าหลายแสนตลับ คือ "ปากโกรธใจคิดถึง" เมื่อเพลงดัง วงดนตรีสาธิต ทองจันทร์ ก็ประสบความสำเร็จทั้งเงินและชื่อเสียงจนคนในวงการให้สมญาอาจารย์คำเกิ่งว่า "อินทรีอีสาน"
หลังจากนั้นมา อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ก็แต่งทั้งเพลงและกลอนลำให้กับนักร้องมากมาย อาทิ "ผิดหรือที่จะรัก" ให้ เฉลิมพล มาลาคำ "พลังรัก, สาวอีสานพลัดถิ่น" ให้ จินตหรา พูนลาภ เพลง "ไม่เอาพระเจ้าก็แจก" ให้ ศิริพร อำไพพงษ์ และที่มีชื่อเสียงเปรี้ยงปร้างทันตาเห็นจากเพลงของอาจารย์คำเกิ่งคือ "เดือนเพ็ญ อำนวยพร" จากชุด "สาวนาขาดรัก, คนหลังยังคอย, พื้นเมืองอีสาน, เธอคือฆาตกร" ภายหลังอาจารย์คำเกิ่ง มาตั้งวงดนตรีให้กับ เอ๋ พจนา และเขียนเพลงป้อนให้อีก 3 ชุดอาทิ เพลง กาฝากหัวใจ, ล้านคูณสิบ, ฝากเสียงกล่อมหอ ฯลฯ ทำให้ เอ๋ พจนา โด่งดังนำพาเม็ดเงินจากยอดขายเทปมาสู่อาจารย์คำเกิ่งมากมาย ซึ่งอาจารย์คำเกิ่งนำเงินที่ได้มาใช้ปรับปรุงวงให้ เอ๋ พจนา ทั้งหมด และสร้างนักร้องประดับวงเอ๋ให้แข็งแรงขึ้นอีกเช่น ทอง ดวงอารีย์ (โอ๋ พจนา) ชาญชัย จัตุรงค์ รวมกันเป็น 3 พลังหนุ่มแถมด้วย เดือนเพ็ญ อำนวยพร ทำให้ วงเอ๋ พจนา มีทีมงานที่แข็งแรงมาก
นอกจากนั้น อาจารย์คำเกิ่ง ยังเขียนเพลงและกลอนลำดีๆ ให้นักร้องอีกมากมายเช่น "สาวลำน้ำชีหนีแฟน" (ประสาน เวียงสิมา) "ผิดหรือที่จะรัก" (เฉลิมพล มาลาคำ) "จดหมายฉบับสุดท้าย" (รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย) "วันรู้คุณแม่" (แมน มณีวรรณ) "สะอื้นบนรถทัวร์" (ลาวัณย์ จันทร์เพ็ญ) "กำพร้าลาบวช" (มนต์สิทธิ์ คำสร้อย) "สายตาพาคิดฮอด" (ใบตอง จันทร์งาม) "หมองูตายเพราะงู" (ศักดิ์ ภูเวียง) "ชายอิสระ" (หงส์ทอง หงษา) "ซังคนตอแหล" (ชาญชัย จตุรงค์) "กราบแม่เพื่อชาร์ตใจ" (ปอยฝ้าย มาลัยพร) "อยากลืมเมียเขา" (ศรีจันทร์ วีสี) "ใกล้แฟนร้องใหม่" (บัวผัน ทังโส) "คิดฮอดแม่" (ดอกอ้อ ทุ่งทอง - ก้านตอง ทุ่งเงิน) "ออนซอนอีสาน" (ศร สินชัย ,ดอกอ้อ ทุ่งทอง, ก้านตอง ทุ่งเงิน) "คิดฮอดผู้ลางคน" (ทัศพร ทองจันทร์)
ปากโกรธใจคิดถึง - สาธิต ทองจันทร์
ท่ามกลางกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ กระแสอื่นพุ่งซัดสังคมไทย แต่คำเกิ่งมิหวั่นไหวสิ่งนั้นมุ่งยืนหยัดสร้างสรรค์ ผลักดันศิลปะอีสานผสานวัฒนธรรมให้กลมกลืน ให้ศิลปินยืนได้มีความหมายว่า เราคือของแท้ มิพ่ายแพ้ต่อผู้ใด ส่งเสริมขัดเกลาให้ลูกหลานบ้านเฮา แต่งกลอนลำเอาให้ไปร้อง แต่งทำนองให้เอาไปเอื้อนประสานผองเพื่อนน้องพี่ที่มีใจรักงานด้วยกัน สร้างสรรค์เผยแพร่ด้วยสื่อตามยุคสมัย ปลอบขวัญกำลังใจมิให้ท้อ ทำงานต่ออย่าล้มอดทนข่มต่อความไม่สำเร็จ ไม่เข็ดต่อความล้มเหลว มีเปลวไฟแห่งการทำงาน สู้บากบั่นมิท้อถอย
จนกระทั่งพลอยเปล่งแสงเจิดจรัสเป็นมหัศจรรย์แห่งวงการ ได้ชื่อว่า "พญาอินทรีย์แห่งอีสาน" เป็นตำนานผู้สร้างศิลปิน กล่าวยลยินได้ว่า ยังไม่เคยมีศิลปินผู้กล้าใดจะยิ่งใหญ่เทียมเท่า ว่าเป็นผู้เฝ้าส่งสร้างศิลปินหมอลำให้โด่งดังเลิศล้ำชื่อก้องมากที่สุดของเมืองไทย เท่าที่มีในยุคสมัยของท่าน
ลำกลอน ดั้งเดิม - คำเกิ่ง ทองจันทร์
อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีในตับ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ในวัย 67 ปี ที่บ้านพักในอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
งานศิลปินรวมใจให้ครูคำเกิ่ง ทองจันทร์
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)