คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ดอย อินทนนท์ มีชื่อจริงว่า นายสมบูรณ์ สมพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ที่บ้านโนนจาน ตำบลแคน อำเภอรัตนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสนม) จังหวัดสุรินทร์ คุณพ่อชื่อลี คุแม่ชื่อเสาร์ สมพันธ์ จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสนมศึกษาคาร และบวชเรียนจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก มีภรรยาชื่อ นางอัมราภรณ์ สมพันธ์ (สกุลเดิม ใจหาญ) มีบุตรชาย 2 คน
เนื่องจากเป็นคนชอบการแต่งกลอน มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ก็เริ่มฝึกแต่งเพลงมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ขณะที่ยังบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ได้ส่งบทเพลงที่ประพันธ์ไปให้ ครูพยงค์ มุกดา พิจารณาบันทึกเสียงให้กับนักร้อง ทำให้ผลงานได้รับการพิจารณา จนเมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้ลาสิกขาบทเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าสู่วงการเพลงจากการชักนำและสนับสนุนโดย ครูพยงค์ มุกดา และมอบหน้าที่ให้เป็นนักแต่งเพลงประจำวงดนตรีของครู
การแต่งเพลงยุคแรกๆ ใช้ชื่อว่า "สรบุศย์ สมพันธ์" ผลงานเพลงแรกที่ได้รับการพิจารณาบันทึกเสียงคือเพลง "พอทีนครสวรรค์" ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ เพลงที่สอง "หนุ่มอีสาน" ให้ ชินกร ไกรลาศ ขับร้องเช่นเดียวกัน ส่วนเพลงที่สาม "สาวอีสาน" เป็นเพลงแก้ให้ ศรีสอางค์ ตรีเนตร ขับร้อง
นอกจากนั้น ครูพยงค์ มุกดา ยังได้นำเพลงที่แต่งในนาม สรบุศย์ สมพันธ์ ไปให้ ธานินทร์ อินทรเทพ ทูล ทองใจ อรรณพ อนุสรณ์ ขับร้อง แล้วครูพยงค์เปลี่ยนชื่อให้ใหม่อีกชื่อหนึ่งว่า "บูรณพันธ์" มีเพลงดังที่คุ้นหูกันดีคือ "อภันตรีที่รัก" ร้องโดย อรรณพ อนุสรณ์ "คุณช่างสวย" ร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ และเริ่มเป็นที่รู้จักในนาม "สมบูรณ์ สมพันธ์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาก็แต่งเพลงให้กับนักร้องประจำวงดนตรีพยงค์ มุกดา ร้องอีกหลายคน เช่น เพลง "กระท่อมสาวเมิน" ให้ ชินกร ไกรลาศ ร้อง "สาวพระประแดง" ให้ ชัยณรงค์ บุญนะโชติ ร้อง รวมทั้งมีโอกาสแต่งให้นักร้องต่างวงร้องหลายคนเหมือนกัน เช่น "ขอเป็นหมอนข้าง" ให้ โรม ธรรมราช บันทึกเสียงเป็นเพลงแรกของเขา ในสมัยที่อยู่วงดนตรีศรีนวล สมบัติเจริญ แต่งเพลง "รักทหารดีกว่า" ให้ รังสรรค์ จีระสุข ร้องและแต่งเพลงให้นักร้องในวง "จิระบุตร" ร้องอีกหลายคน
อยู่กับวงครูพยงค์ มุกดา ได้ 4 ปี ก็ลาออก หลังจากนั้นไปตระเวนอยู่ทางภาคเหนือ 3-4 ปี เกิดความประทับใจกับยอดดอยอินทนนท์ กลับมากรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ดอย อินทนนท์" และได้รับการชักชวนจากครูฉลอง ภู่สว่าง ให้มาช่วยแต่งเพลงให้กับ "ศรชัย เมฆวิเชียร" จนศรชัยมีชื่อเสียงโด่งดัง และผลงานได้รับความนิยมกลายเป็นเพลงอมตะมาจนถึงบัดนี้ เช่น เพลง "จันทร์อ้อน" ที่ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช ซึ่งเป็นเพลงร้องแก้เพลง "อ้อนจันทร์" ของ ศรชัย เมฆวิเชียร ที่เป็นเพลงร่วมกันแต่งกับครูฉลอง ภู่สว่าง
รับโล่เชิดชูเกียรติจากสมาคมนักแต่งเพลง
และหลังจากนั้น ศรชัย เมฆวิเชียร ก็มีเพลงดังจากการประพันธ์ของ ดอย อินทนนท์ ร้องอีกไม่ต่ำกว่า 30 เพลง เช่น เสียงซอสั่งสาว, บัวหลวงบึงพลาญ, สะพานรักสะพานเศร้า, ซึ้งสาวปากเซ, สาวประเทืองเมืองปทุม มาแต่งให้ สายัณห์ สัญญา ร้องก็ดัง เช่นเพลง รักติ๋มคนเดียว, แม่ดอกสะเลเต, เสียงพิณสะกิดสาว เป็นต้น
ครูดอย อินทนนท์ เป็นคนแรกที่บุกเบิกงานเกี่ยวกับ "ลำแพน" ให้นักร้องลูกทุ่งหมอลำที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น แต่งชุด "แม่ไม้หมอลำ" ให้ บานเย็น รากแก่น ร้องทั้งชุด ตามด้วย "งิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว" เป็น กลอนลำ “10 กลอนลำ 10 ลีลา” ซึ่งเป็นศิลปะ เพลงลูกทุ่งสลับลำ ซึ่งแต่ละกลอน “สังวาสสไตล์ลีลาลำ” จะไม่ซ้ำแบบกันเลยทั้ง 10 กลอน (10 กลอน 10 แบบ) "ฝากรักจากแดนไกล" (ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน) ขับร้องโดย บานเย็น รากแก่น และแต่งกลอนลำให้ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม, หงษ์ทอง ดาวอุดร ในชุด "หงษ์ทองคะนองลำ" กลอนดังทุกกลอนของทองมัย มาลี และขวัญตา ฟ้าสว่าง, เฉลิมพล มาลาคำ, นกน้อย อุไรพร, ลูกแพร ไหมไทย, น้องผึ้ง บึงสามพัน, อังคณางค์ คุณไชย โดยเฉพาะ ศิริพร อำไพพงษ์ ครูดอย อินทนนท์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ นอกจากนั้น เพลงเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในวง "เสียงอีสาน" ล้วนเป็นผลงานการประพันธ์ของครูดอย อินทนนท์
ลูกศิษย์ ศรชัย เมฆวิเชียร และ บานเย็น รากแก่น บูชาครูดอย อินทนนท์ ในงาน "เชิดชูครูเพลง"
สำหรับนักร้องลูกทุ่งอื่นๆ ครูดอย อินทนนท์ ได้ประพันธ์ให้ร้องเช่นกัน เพลง "เพชราจ๋า" ร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ "วอนพระธรรม" ร้องโดย ยอดรัก สลักใจ "ฝนมาน้ำตาซึม, บาดทะยักใจ" ร้องโดย สุนารี ราชสีมา "เจ็บแล้วต้องจำ, พุ่มพวงลำเพลิน" ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ "บ่เที่ยวตี๋อ้าย" ร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ "รักพี่ไข่นุ้ย, ตบตาหลุด, ติดฝนทั้งปี, เขาชื่นเราช้ำ" ร้องโดย อัมพร แหวนเพชร รวมผลงานการประพันธ์ทั้งลูกทุ่ง ลูกทุ่ง และหมอลำ รวมกว่า 3,000 เพลง
จันทร์อ้อน - ผ่องศรี วรนุช
จากเกียรติคุณและความสามารถที่หลากหลายในการสร้างสรรค์ประพันธ์เพลง ทั้งไทยลูกทุ่ง ลูกกรุง และหมอลำ นับเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับวงการเพลงเมืองไทย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) ประจำปี 2557 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เสียงซอสั่งสาว - ขับร้อง : ศรชัย เมฆวิเชียร, สีซอ : ทองฮวด ฝ้ายเทศ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)