คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นายสุรินทร์ ภาคศิริ มีชื่อจริงว่า ชานนท์ ภาคศิริ ชื่อในการจัดรายการวิทยุ คือ ทิดโส โปข่าว หรือ ทิดโส สุดสะแนน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2485 ที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม. 6 เดิม) จากโรงเรียนอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ. 2503 มีพรแสวงและพรสวรรค์ในการประพันธ์มาตั้งแต่เด็ก เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้จากคณะละครอุลิตราตรีศิลป์ และคณะเทพศิลป์ 2 ที่ไปปักหลักเปิดแสดงที่บ้านต่างจังหวัด
สมัยเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ได้เริ่มแต่งกลอน นวนิยาย เรื่องสั้น และแต่งเพลงเชียร์กีฬาโรงเรียน พอจบ ม. 6 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตามหาความฝันของชีวิต ศึกษาด้านการเป็นนักร้อง นักประพันธ์ ด้วยการอาศัยชายคากุฏิวัดนรนารถสุนทริการาม เทเวศน์ พึ่งใบบุญข้าวก้นบาตรพระ มีอุปสรรคด้านการศึกษาเล่าเรียน จึงหันมาแต่งเพลง ประพันธ์กลอน เรื่องสั้น และฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครู ก. แก้วประเสริฐ ครูเพลงชื่อดังในยุคนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างดี ขณะเดียวกันก็ได้สอบเข้ารับข้าราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง
จึงมีผลงานให้กับนักร้องดังในสมัยนั้น เริ่มจากผลงานชิ้นแรกคือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอล ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะของหมอลำ จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดังๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ไพรินทร์ พรพิบูลย์ สนธิ สมมาตร กาเหว่า เสียงทอง ศรคีรี ศรีประจวบ ศรชัย เมฆวิเชียร เรียม ดาราน้อย ศักดิ์สยาม เพชรชมภู สันติ ดวงสว่าง เอ๋ พจนา สายัณห์ สัญญา ชาย เมืองสิงห์ แม้แต่วงสตริงอย่าง รอยัลสไปรท์
เพลงที่สร้างชื่อเสียงและทำให้แฟนเพลงรู้จักสุรินทร์ ภาคศิริ มากที่สุด คือ วอนลมฝากรัก, อ.ส.รอรัก, ทหารเกณฑ์ผลัด 2, หนาวลมที่เรณู, ทุ่งกุลาร้องไห้, หอมกลิ่นดอกคำใต้, หนุ่ม น.ป.ข., ลำกล่อมทุ่ง
รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ คือ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ปี 2514) คือเพลง "งานนักร้อง" ขับร้องโดย พรไพร เพชรดำเนิน (ปี พ.ศ. 2534 - 2538) รับรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเพลง "ทุ่งกุลาร้องไห้" ขับร้องโดย ศักดิ์สยาม เพชรชมภู เพลง "หนี้กรรม" ขับร้องโดย สุมิตร สัจเทพ และยุพิน แพรทอง และเพลง "หนาวลมที่เรณู" ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ
นายสุรินทร์ ภาคศิริ จึงได้รับการเชิดชูเกีรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ ประเภทประพันธ์เพลง (ลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อพูดถึงครูสุรินทร์แล้วก็ถือว่า เป็นนักเพลงลูกทุ่งอีสานรุ่นบุกเบิกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง ครูเบญจมินทร์ ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานี เช่นเดียวกัน ในภาพนักร้องเบญจมินทร์ โดดเด่นทั้งความเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ และเบญจมินทร์ คือ ต้นแบบเสียงของสุรพล สมบัติเจริญ ส่วนครูสุรินทร์นั้นเป็นนักประพันธ์เพลง เป็นนักจัดรายการวิทยุ ที่ได้สัมผัสกับเพลงที่หลากหลาย ทำให้สามารถสร้างสรรค์เพลงออกมาได้หลากหลายแนว
ยุคที่เพลงอีสานแผ่เป็นวงกว้างในวงการเพลงลูกทุ่งนั้น นักร้องหลายๆ คนได้เพลงจากครูสุรินทร์ เช่น เทพพร เพชรอุบล, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สนธิ สมมาตร และดาว บ้านดอน เป็นอาทิ
จะว่าไป ถ้าบอกว่า "เมืองนักร้อง" ต้องสุพรรณบุรี อันนี้ไม่เถียงใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าถามว่าอีสานมีพลังในบทเพลงสูงอยู่อุบลราชธานี (รวมทั้งอำนาจเจริญด้วย) นักแต่งเพลงลูกทุ่งอีสานที่เป็นธารกระแสในยุคยังไม่เรียกว่าเป็น “ลูกทุ่ง” แต่ยังเป็น “เพลงตลาด” เริ่มจาก “เบญจมินทร์” ที่นำเพลงรำวงเข้ามาในเพลง “รำเต้ย” เป็นต้นมา
จนมายุค ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา – สุรินทร์ ภาคศิริ ที่มีนักร้อง 4 เด็ดเพชรอีสานเป็นขุมกำลังสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่าเพลงดังๆ ในเรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ของรังสี ทัศพยัคฆ์ นั้น นอกจากเพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน แล้ว เพลงของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ก็มีอยู่หลายเพลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ครูสุรินทร์ ถูกกล่าวขานกันในวงการเพลงลูกทุ่งว่า เป็นคู่แฝดแห่งวงการกับ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา นักแต่งเพลงรุ่นพี่ชาวอุบลราชธานี อีสานมีนักร้อง นักแต่งเพลงมากมาย แล้วจะฟูมฟายอะไรกับความคิดที่ถูกสร้างกลให้ว่า ตัวเองไม่มีพลัง แต่พลังยังเต็มเปี่ยมอยู่บนความเป็นพลังลาวคักๆ อยู่เต็มภูมิแท้ๆ
ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ก็ประสบความสำเร็จในการแต่งเพลงลูกทุ่งตั้งแต่อายุเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้น รวมทั้งเพลงดังไปทั่วประเทศอย่างเพลง "วอนลมฝากรัก" ที่แต่งให้ บุปผา สายชล เป็นผู้ร้อง และทำให้บุปผาพลอยแจ้งเกิดไปด้วยนั้น ท่านก็แต่งเมื่ออายุเลยเบญจเพศมาไม่นานนัก หรืออย่างเพลง "หนาวลมที่เรณู" ก็ดังตั้งแต่ครูยังอายุไม่เต็ม 30 ปีด้วยซ้ำไป จากคนที่ไม่ใช่นักดนตรี ไม่รู้จักโน้ต แต่ก็ยังแต่งเพลงได้ และแต่งได้ดีด้วย ต้องถือว่าครูสุรินทร์เป็นอัจฉริยะท่านหนึ่งทีเดียว
กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะถึง 40 เปอร์เซ็นต์ด้วยจากรายชื่อเพลงที่ปรากฎ เป็นเพลงที่เกี่ยวกับภาคอิสานบ้านเกิดของครู ที่ดังมากๆ ก็เช่นเพลง "หนุ่มบ้านแต้" ที่แต่งให้กับวง สุนทราภรณ์ เป็นเพลงรำวงที่เริ่มว่า "เดือนหกนกกาเหว่ามันร้อง" แฟนเพลงรุ่นเก่า คงจำได้ มาจนถึง "หนาวลมที่เรณู" ที่แต่งให้ ศรคีรี ศรีประจวบ ซึ่งกลายเป็นเพลงที่มีการนำมาบันทึกใหม่โดยนักร้องคนใหม่ๆ มากที่สุดถึง 53 ครั้ง
แต่ที่ชอบเป็นพิเศษขอยกให้เพลง "อีสานลำเพลิน" ที่จำได้ เพราะชอบชุดที่ ต่าย อรทัย นำมาขับร้องใหม่ โดยให้ต่ายขึ้นไปร้องและรำพร้อมๆ กับนางรำอิสานหลายสิบคนบนลานหิน "สามพันโบก" กลางลำน้ำโขง มองเห็นวิวข้างล่างสวยงามเหลือเกิน ฟังเพลงและดูมิวสิกวีดิโอชุดนี้แล้ว ก็ทำให้รักเมืองไทย รักแผ่นดินอิสานบ้านเกิดอย่างบอกไม่ถูก อาจจะเป็นเพราะลีลาการร่ายรำของ ต่าย อรทัย ที่เข้ากับสาวนางรำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงที่ร้องว่า "ลีลาเหมือนดังหงส์เหิน อิสานลำเพลินอรชรอ้อนแอ้น" นั้น ต่าย อรทัย ก็รำได้อย่างหงส์เหินสมดังคำร้องจริงๆ
อีสานลำเพลิน - ต่าย อรทัย
ก็เพิ่งจะทราบนี่แหละครับว่าเพลงนี้ ครูสุรินทร์ แต่งขึ้นตั้งแต่ปี 2516 เป็นเพลงในภาพยนตร์เรื่อง "บัวลำภู" ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ขับร้องโดย อังคนางค์ คุณไชย นางเอกหมอลำ เป็นรายแรก หนังทำเงินพอสมควร แต่เพลง "อิสานลำเพลิน" ฮิตมาก มีการนำมาร้องอีกหลายๆ ครั้ง โดยนักร้องอิสาน ตั้งแต่ บานเย็น รากแก่น ศิริพร อำไพพงษ์ ฯลฯ จนล่าสุดก็คือ ต่าย อรทัย
ตรวจสอบจากประวัติ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ แล้ว เพลงจากอิสานของครูได้รับรางวัลดีเด่น ในฐานะ "เพลงลูกทุ่งดีเด่น" ถึง 2 เพลง ได้แก่เพลง "ทุ่งกุลาร้องไห้" และเพลง "หนาวลมที่เรณู" ซึ่งต้องยอมรับว่าเหมาะสมทุกประการ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเพลง "อิสานลำเพลิน" ไว้เลย แสดงว่าเพลงนี้ยังไม่เคยได้รับรางวัลมาก่อนแน่ๆ ถ้าจะมีใครที่ไหน? สถาบันไหน? จะมอบรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นให้ครูอีกในโอกาสหน้า ขอฝากเพลง "อิสานลำเพลิน" ไว้ด้วยนะครับ ฮิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงบัดนี้ 2560 รวมแล้ว 44 ปี แม้จะบันทึกใหม่น้อยกว่า "หนาวลมที่เรณู" แต่ก็น่าจะเข้าข่ายเพลงลูกทุ่งอิสานดีเด่นได้อีกหนึ่งเพลงนะครับ
สุรินทร์ ภาคศิริ - ฐานข้อมูลมรดกอีสาน
เคยรับราชการเป็น ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ สมัยที่ยังสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง ฉะนั้นครูจึงพูดเล่นเสมอๆ ว่า อดีตคือ “คนรับจ้างหลวงเฝ้าคุก” และผลงานหลายๆ เพลงก็มาจากเหตุการณ์ในคุก เช่นเพลง ผ้าขาวม้า ของวงรอยัลสไปรท์
ผลงานชิ้นแรกๆ คือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอน ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร ตอนหลัง ศักดิ์สยาม เพชรชมพู นำมาร้องใหม่ และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะหมอลำ
จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดังๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร, ไวพจน์ เพชร สุพรรณ, สนธิ สมมาตร, กาเหว่า เสียงทอง, ศรคีรี ศรีประจวบ, ศรชัย เมฆวิเชียร, เรียม ดาราน้อย, วงรอยัลสไปรท์, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สันติ ดวงสว่าง, เอ๋ พจนา, ชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น
ครูสุรินทร์ แต่งเพลงแรกในการบันทึกแผ่นเสียงของนักร้องลูกทุ่งหลายคน เช่นเพลง หนองหานสะอื้น ให้ พรไพร เพชรดำเนิน แล้วต่อมา พรไพร เพชรดำเนิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากเพลง งานนักร้อง ในปี 2514 เพลง รูปไม่หล่อพ่อไม่รวย ของ ดำ แดนสุพรรณ, เพลง อย่าเดินโชว์ ของ บรรจบ ใจพระ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บรรจบ เจริญพร)
เพลงที่สร้างชื่อให้มากที่สุดคือ วอนลมฝากรัก ของ บุปผา สายชล อ.ส.รอรัก ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู รวมทั้งยังแต่งเพลงแนวช้าให้กับนักร้องที่ถนัดเพลงแนวสนุกอย่าง ศักดิ์สยาม ในเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ จนได้รับรางวัลลูกทุ่งกึ่งศตวรรษทหารเกณฑ์ผลัด 2 ทำให้ ศรชัย เมฆวิเชียร แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากเพลงนี้ หนาวลมที่เรณู ของ ศรคีรี ศรีประจวบ กลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม หอมกลิ่นดอกคำใต้ ให้กับนักร้องเสียงดีเมืองขอนแก่น ก้องเพชร แก่นนคร หนุ่ม นปข. ของ สุริยา ฟ้าปทุม ลำกล่อมทุ่ง ของ ไพรินทร์ พรพิบูลย์ ลูกทุ่งคนยาก ให้กับ สนธิ สมมาตร
หนาวลมที่เรณู - ศรคีรี ศรีประจวบ
โดยเฉพาะเพลง อีสานลำเพลิน ของ อังคนางค์ คุณไชย ที่นับเป็นการเปิดศักราชเพลงลูกทุ่งอีสาน ทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานกลายเป็นแนวเพลงแนวหนึ่งที่แพร่หลาย เป็นที่นิยมสนใจของคนในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง
เปิดบ้าน ครูสุรินทร์ ภาคศิริ EP.1
เปิดบ้าน ครูสุรินทร์ ภาคศิริ EP.2
เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 "ครูสุรินทร์ ภาคศิริ" นักแต่งเพลงชั้นครู ได้เสียชีวิตลงในวัย 79 ปี หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จากอาการของโรคมะเร็งทางสมอง กระทั่งจากไปอย่างสงบ และทางครอบครัวพร้อมกับลูกศิษย์ลูกหาได้นำไปประกอบพิธีรดน้ำศพ สวดอภิธรรม และพระราชทานเพลิงศพ ณ ศาลา 13 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธุ์ 2565 ถึง 3 มีนาคม 2565 และจะพระราชทานเพลิงศพวันที่ 5 มีนาคม 2565
ทางทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสานขอกราบคารวะท่านด้วยความจริงใจครับ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)