คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปินพื้นบ้าน คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลาย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเราชาวอีสาน จึงขอประกาศเชิดชูคุณูปการของท่านเหล่านั้นให้ลูกหลานได้รู้จัก เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ผู้จัดทำเว็บไซต์ไม่อาจทำความรู้จักกับศิลปินพื้นบ้านทุกท่านได้ ก็ได้แต่หวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ช่วยชี้แนะกันมา ยินดีรับข้อมูลและภาพประกอบของศิลปินชาวอีสานทุกท่านนำมาเสนอ ณ ที่นี้ ติดต่อได้ที่ webmaster(@)isangate.com ขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ
ปราชญ์พื้นบ้านผู้เป็นครูเพลงหมอลำ และยาสมุนไพร เป็นผู้ผลิต "พิณ-ซุง" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอีสาน ประเภทดีด ที่ชาวอีสานรู้จักกันดีมาช้านาน โดยนำมาบรรเลงควบคู่กับแคน ประสานเสียงกับบทเพลงหมอลำได้อย่างลงตัว ด้วยท่วงทำนองที่เร้าร้อน คึกคัก ตามแบบฉบับชาวอีสาน ใครได้ฟังจะต้องขยับแข้งขยับขาตามไปแบบไม่รู้ตัว เพราะมีความมันในอารมณ์
จากความเชี่ยวชาญสู่การอนุรักษ์และถ่ายทอดวิชาความรู้ ในเรื่องการผลิต และการเล่นอย่างถูกวิธี สู่รุ่นลูก รุ่นหลานให้คงอยู่สืบไป ทำให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน ได้มีงานทำ มีอาชีพติดตัว เป็นศิลปินบรรเลงกับคณะหมอลำ ที่สำคัญทำให้เยาวชนในหมู่บ้านห่างไกลจากยาเสพติดอีกด้วย
นายอัมพร ขันแก้ว อายุ 69 ปี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 13 บ้านสร้างถ่อใน ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นครูเพลงหมอลำซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับคณะหมอลำ ได้แต่งเพลงให้นักร้องหมอลำมานานหลายปี มีความต้องการที่จะอนุรักษ์เครื่องดนตรีพื้นเมือง ประเภทดีด คือ พิณและซุง ไม่ให้สูญหาย จึงได้เปิดสอนให้เด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่เข้ามาศึกษา ฝึกหัดการดีดพิณและซุง สามารถเล่นเป็นเพลงได้และประสบผลสำเร็จไปแล้วหลายรุ่น
นายอัมพร ขันแก้ว เล่าว่า บิดา เป็นศิลปินพื้นบ้าน(หมอลำ) สามารถเล่นได้ทั้งพิณและซุง รวมถึงทำการผลิตเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้กับคณะหมอลำต่างๆ อยู่เป็นประจำ บางครั้งก็ถูกว่าจ้างให้ไปเล่นเดี่ยวพิณ เดี่ยวซุง ในงานพิธีมงคลต่างๆ ทั่วภาคอีสาน ซึ่งตนก็ได้ติดตามบิดาไปทุกหนทุกแห่ง ระหว่างที่ได้ติดตามบิดาไปเล่น ก็ได้มีการศึกษาเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย จึงมีความเชี่ยวชาญทั้งการเล่นบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดนี้ รวมทั้งการผลิตพิณและซุงได้เป็นอย่างดี
จนกระทั่งบิดาเสียชีวิต ตนเองก็ได้มีการสืบทอดเจตนารมณ์ของบิดาในการเล่นและผลิตเครื่องดนตรีชนิดนี้ มานานกว่า 40 ปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะดนตรีแบบโบราณนี้ไว้ ที่ผ่านมาตนก็ได้เปิดสอนเด็กนักเรียน เยาวชนในหมู่บ้านให้ได้เรียนรู้ จนจบไปหลายรุ่นแล้ว โดยสอนวิธีการเล่นพิณและซุงอย่างถูกต้อง ทำให้เด็กที่จบออกไปนำเอาความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพกับคณะหมอลำ หรือไม่ก็ไปรับจ้างเล่นตามงานพิธีมงคล หรืองานวัดต่างๆ เรียกว่า มีงานเล่นตลอดเวลาเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา
นายอัมพร ได้บอกเล่าถึงวิธีผลิตพิณและซุงให้พอเข้าใจโดยสังเขปว่า ไม้ที่ใช้ทำพิณและซุงนั้นที่นิยมมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ ไม้หมากมี้ (ขนุน) ไม้ประดู่ และไม้พยุง โดยจะใช้ไม้ที่มีความยาว 1 เมตร หน้ากว้าง 10 เซนติเมตร มาทำการตกแต่งแปรรูปเป็นตัวพิณและซุง แล้วใช้ตัวคอนแท็ค (ของกีตาร์ เป็นตัวรับเสียง) และมีตัวคีย์ (เฟรช) ขั้นระดับเสียง 11 ตัว จากนั้นใส่สาย 2 เส้น 3 เส้น หรือ 4 เส้นตามความต้องการ (ของผู้เล่น) แล้วทำการปรับเทียบเสียงให้เข้ากับเสกลโน้ตสากล เมื่อปรับเทียบเสียงได้ถูกต้องแล้ว ก็จะทำการตกแต่ง แกะสลักลวดลายต่างๆ ทั้งบนตัวลำตัวพิณ และปลายคอให้เป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม เช่น ลายกนก ลายมังกร และลายพญานาค รวมทั้งสลักคำ ข้อความ หรือชื่อเจ้าของลงไปตามที่ลูกค้าต้องการ จากนั้นจึงลงแลคเกอร์เคลือบทับเพื่อความสวยงาม
สำหรับราคาจำหน่ายพิณและซุงที่ผลิตขึ้นนั้น จะเริ่มตั้งแต่ราคา 500 - 5,000 บาท ก็ขึ้นอยู่กับชนิดเนื้อไม้ที่ใช้ทำ รูปร่างและขนาดของตัวพิณ บวกกับความต้องการของลูกค้าว่าจะต้องการรูปแบบไหนอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังคงผลิตพิณและซุงจำหน่ายให้กับผู้สนใจทั่วไป สถานศึกษา วงดนตรีพื้นเมือง และคณะหมอลำต่างๆ บางครั้งก็แต่งบทเพลงหมอลำแถมให้ด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะพื้นเมืองของชาวอีสานให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
พิณ ตัวพิณทำจากไม้ที่มีความบาง แบนทึบตัน (เหมือนกีตาร์ไฟฟ้า) และจะใช้สายกีตาร์เป็นตัวดีดให้เสียง ซึ่งเมื่อดีดจะมีเสียงแหลม เพราะตัวพิณไม่มีลำตัวภายในโปร่งเป็นโพรง แต่จะเจาะเป็นรูเท่านั้น การดีดพิณจะมีการดีดทีละสาย คล้ายการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าโซโล่เป็นทำนอง ซึ่งจะดีดคู่กับเสียงร้องเพลงหมอลำผู้หญิง เล่นกับหมอลำซิ่งกันมากในปัจจุบัน
ซุง จะทำจากไม้มีลำตัวที่หนากว่า เจาะเป็นโพรงภายในเหมือนกับกีตาร์โปร่ง แต่ใช้สายลวดของเบรกรถจักรยาน ซึ่งเป็นเกลียวที่แข็งแรงกว่าสายกีตาร์ เมื่อดีดแล้วจะให้เสียงทุ้มกังวาน จากโพรงภายในตัวซุง ส่วนใหญ่จะเล่นกับคณะหมอลำยุคเก่า การบรรเลงเดี๋ยว ส่วนการดีดซุงจะดีดพร้อมทุกสายเป็นจังหวะเหมือนกับกีตาร์คอร์ด คนที่เล่นเก่งๆ จะเล่นพลิกแพลงใส่ทำนองไปพร้อมกับการดีดคุมจังหวะไปด้วย (เหมือนการเล่นกีตาร์แบบ Fingerstyle) นั่นคือข้อแตกต่างของเครื่องดนตรีทั้ง 2 ชิ้นนี้
นอกจากนี้ นายอัมพร ขันแก้ว ยังเป็นปราชญ์พื้นบ้านด้านพืชสมุนพรอีกด้วย โดยบริเวณหลังบ้านได้กั้นพื้นที่จำนวน 2 งาน สำหรับปลูกพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด เพื่อทำเป็นยารักษาโรค ทั้งแบบต้มรับประทาน หรือแบบเคี้ยวกินสด ก็มีไว้บริการแก่ผู้สนใจแบบฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรหญ้ารีแพร หมามุ่ยญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อขนถูกร่างกายจะไม่คันเหมือนหมามุ่ยไทย มีสรรพคุณเพิ่มพลังทางเพศ ว่านชมจันทร์นำไปต้มกิน 1 หม้อ จะทำให้ร่างกายไม่หย่อนยาน เป็นยาระบาย ส่วนถั่วดาวอินคา มีสรรพคุณแก้เหน็บชาตามมือ ตามเท้า เป็นต้น
หากท่านใดมีความสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการยาสมุนไพรรักษาโรค ก็ติดต่อไปที่ นายอัมพร ขันแก้ว บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 13 บ้านสร้างถ่อใน ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ทุกวัน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)