foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

mp3

darkie 01สมชาย คงสุขดี

ดาร์กี้ กันตรึมร็อค

ถ้าพูดถึง "ศิลปินเมืองสุรินทร์" อีกท่านหนึ่งทีมีชื่อเสียงและเชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะรู้จักกันดีทีเดียว เพราะศิลปินท่านนี้เป็นศิลปินคนแรกๆ ที่นำพา "เพลงกันตรึม" ท่วงทำนองดนตรีจากอีสานใต้ไปสู่โลกภายนอก ในรูปแบบเพลงกันตรึม ประยุกต์ หรือที่เรียกว่า 'กันตรึมร็อค' ให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบกันมากในปัจจุบัน นั่นก็คือ ดาร์กี้ กันตรึมร็อค หรือ นายสมชาย คงสุขดี นั่นเอง

ศิลปินเมืองสุรินทร์ "ดาร์กี้ กันตรึมร็อค"

ลักษณะพิเศษของ "กันตรึมร็อค" คือ การนำเครื่องดนตรีฝรั่ง นำจังหวะเพลงตะวันตกมาใช้ แต่ทำนอง-คำร้องเป็นของกันตรึมทั้งหมด เนื้อหาจะประยุกต์ของดั้งเดิม มีทั้งเนื้อหาที่แต่งขึ้นมาใหม่ แต่ทำนองจังหวะยังยืนทางเก่าไว้อยู่ จะผสมเครื่องดนตรีฝรั่ง เช่น กลองชุด กีต้าร์ เบส แต่เครื่องดนตรีของเก่าจะขาดไม่ได้เป็นอันขาด คือ ซอ และ "ปี่อ้อ" ที่นับวันจะหาคนสืบสานได้ยากแล้ว และผลงานเพลงชุด “เปิดกรุอีสานใต้” เป็นผลงานที่ทำให้คนรู้จักศิลปินชื่อ "ดาร์กี้" เป็นอย่างดี เพลงชุดนี้ได้ดังระเบิดเถิดเทิงไปทั่วภาคอีสาน อย่างไม่เคยมีกันตรึมประยุกต์คณะใดเคยได้รับมาก่อน และอีกหลายๆ ผลงานเพลงต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน ในส่วนงานการแสดงภาพยนต์ ดาร์กี้ ได้เข้าร่วมแสดงภาพยนต์ มากกว่า 19 เรื่อง

ดาร์กี้ เป็นคนที่มีความไฝ่ฝัน จริงจัง และเรียนรู้ไว ทำให้เขาสามารถเรียนรู้ และจดจำศาสตร์ของกันตรึมเป็นอย่างดีคนหนึ่ง และเขาเคยประกาศว่า

กันตรึมร็อกของผมคือ อาชีพ กันตรึมแท้ๆ ผมนะรู้ แต่กันตรึมร็อกนี่ผมหาเลี้ยงชีพ ถ้าผมไม่ทำอย่างนี้ประชาชนเขาไม่จ้าง ผมไม่มีซี ไม่มีขั้นอย่างข้าราชการ คนไม่รู้เรื่องศิลปะพื้นบ้าน จะมีอุดมการณ์อย่างผมหรือ ผมกล้าตายไปกับเสียงซอ กล้าประกาศว่า... กูนี่แหละจะใช้กันตรึม…ศิลปะนี้เลี้ยงชีพ ”

แม้ ดาร์กี้ จะได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ 3 มกราคม 2546 แต่ผลงานเพลงและภาพยนต์มากมายที่เขาได้ร้องและแสดงไว้ ทำให้คนสุรินทร์และคนที่ชื่นชอบผลงานเพลงของเขาจะเก็บเขาไว้ในความทรงจำ และดวงใจตลอดไป และเป็นแบบอย่างให้กับศิลปินกันตรึมรุ่นหลังต่อไป

บันทึกการแสดงสด ดาร์กี้ กันตรึมร็อค โดย Topline Diamond

ดาร์กี้ เขาคือใคร

ดาร์กี้ หรือชื่อจริง นายสมชาย คงสุขดี เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2511 ที่บ้านนาตัง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรของคุณพ่อบุญจันทร์ และคุณแม่ประยูรญาติ คงสุขดี บรมครูเพลงเจรียงและเพลงกันตรึมของเมืองสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนบ้านนาตัง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

darkie 02

คุณพ่อบุญจันทร์ คงสุขดี เป็นครูเจรียงและกันตรึมแห่งจังหวัดสุรินทร์ ส่วนคุณแม่ประยูรญาติ คงสุขดี นามสกุลเดิม “เป็นเครือ” นอกจากมีอาชีพทำนา อยู่บ้านนาตัง แล้วท่านทั้งสองยังเป็นศิลปินพื้นบ้าน ร้องรำทำเพลง สวดมนตร์สู่ขวัญงานพิธีมงคล และงานประเพณีต่างๆ

คุณพ่อและคุณแม่ของคุณดาร์กี้ ได้ตั้งคณะกันตรึมเป็นครั้งแรกในนามคณะ “แสงจันทร์ประยูรญาติ” และได้ใช้ศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวด้วย เคยแสดงออกรายการวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งรับลูกศิษย์สั่งสอนศิลปะเจรียง, กันตรึมมาหลายรุ่นแล้ว จึงเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

ด้วยการร้องกันตรึมที่เอื้อนโอด โหนเสียง เป็นเอกลักษณ์ของ “มับ” บุตรชายของบรมครูเพลงพื้นบ้านเจ้าของวงกันตรึม “แสงจันทร์ประยูรญาติ” ที่โด่งดังในพื้นที่อีสานใต้ การซึมซับแนวทาง วิธีการร้องสู่การพัฒนาวงให้เป็น กันตรึมประยุกต์ บุกเบิกของเมืองไทย นักร้องตัวดำ น้ำเสียงดี มีลีลา การฟ้อน การเต้นโดดเด่นเฉพาะตน หาตัวจับได้ยากจนเป็นที่รู้จัก ประทับใจผู้ชมเป็นที่มาของฉายา “ดาร์กี้” จากยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งที่หน้าดำแต่ฟันขาว

จากการที่ได้เกิดในครอบครัวศิลปิน มีสายเลือดกันตรึมอันเข้มข้นทำให้ “สมชาย คงสุขดี” หรือ "มับ" มุ่งก้าวเดินเพื่อสืบสานรอยทางของพ่อ แต้มเติมต่อรอยทางของแม่ ด้วยหัวใจสุนทรียะศิลปิน นำพาบทเพลง ท่วงทำนอง เนื้อร้องกันตรึมพื้นบ้าน ก้าวสู่ความเป็นสากล “เปิดกรุอีสานใต้ อีซิวอีสร้อย เบิกจ๊ะ หม้ายมัธยม” ได้ขับขานบรรเลงผ่าน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เปิดประตูอีสานใต้ให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างชาติ ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสานความเป็นพื้นบ้านอีสานใต้ให้คงอยู่ ยึดอุดมการณ์สืบสานมรดกชาติร่วมกับ เฉลิมพล มาลาคำ และเอกชัย ศรีวิชัย

“พระเอกหน้าดำ” นามนี้ได้โลดแล่นจากหน้าเวทีการแสดงสู่จอโทรทัศน์ จอภาพยนตร์ ในหลายบทบาท หลากเรื่องราว บุคลิกของ ดาร์กี้ ช่วยขยายภาพของความเป็นคนอีสานใต้ ให้ชัดเจนในสายตาของผู้ชม เป็นต้นแบบของ ศิลปินกันตรึมร็อค กันตรึมประยุกต์ นักแสดงพื้นบ้าน ในรุ่นต่อๆ มาทั้งสิ้น กว่า 30 ปีที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นมรดกของชาวอีสาน สู่ตำนานเล่าขานที่จะยืนหยัดอยู่มิรู้คลาย เป็นลมหายใจของบทเพลงอีสานใต้ เคียงคู่กับหมอลำทางอีสานเหนือนิรันดร ดังเนื้อเพลง “...อีสานตอนเหนือ แม่เอ๋ย เขามีหมอลำ อีสานใต้แม่งามขำ มีศิลปะกันตรึม..”

ป่วยไข้ แต่หัวใจยังสู้

ดาร์กี้ บันทึกความรู้สึกเจ็บปวดในห้องพิเศษ โรงพยาบาลรวมแพทย์สุรินทร์ เมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ว่า

“ความเจ็บจุกที่ท้องทำให้ทรมานมาก จึงนึกถึงวิธีที่พระท่านส่องแสงแก้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จึงเริ่มพิจารณารูปกาย เวทนา สังขาร วิญญาณ มันเกิดขึ้นอย่างทะนุถนอมอย่างเอาใจใส่ ในเมื่อมันไม่อยากอยู่ อยากจะไป ก็คงต้องใช้จิตแยกกาย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้เป็นอนัตตา คือสิ่งไม่เที่ยง คืนสู่ความไม่เที่ยง ดำรงจิตเที่ยงให้กลายเป็นพละจิต เป็นบันไดแห่งสัมโพธิญาณ อันจะนำจิตเดิมที่บริสุทธิ์กลับคืน พลังเมตตาอย่างไม่ประมาณต่อการสิ้นสุดทุกข์ สิ้นอาสวะแห่งความเจ็บปวดโลภโกรธ หลง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอปู่อรหังสัมโพธิญาณช่วย คุ้มครอง”

ดาร์กี้ เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ข่าวปากต่อปากนี้ทำเอาคนที่สนิทชิดชอบกับดาร์กี้ตกอกตกใจ และถามสวนทวนความกันยกใหญ่ ยิ่งหนังสือพิมพ์ลงข่าวในสัปดาห์ที่สองว่า “ดาร์กี้ป่วยนอนอยู่โรงพยาบาลด้วยโรคตับแข็ง” ยิ่งทำให้เพื่อนใกล้ ไกล ต่างทยอยไปเยี่ยมด้วยเป็นห่วง ก่อนบันทึกมิวสิกวิดีโอชุด “อีซิว อีสร้อย” ดาร์กี้ ดื่มเหล้าหนักและพักผ่อนน้อย หลังจาก ทีมงานทอปไลน์ไดมอนด์ ต้นสังกัดถ่ายทำมิวสิกวีดิโอเสร็จ เขาก็ดื่มจัดไม่เลือกทั้งเหล้าชั้นดีและชั้นเลว กับหลายวงหลายกลุ่มคน หารู้ไม่… ตับที่กรองซับแอลกอฮอล์มาเกือบยี่สิบปี มันแย่แล้ว...

darkie 05

เขาจำได้… ดื่มเป๊กสุดท้ายของค่อนขวด ก่อนจะขึ้นแสดงที่บ้านระไซร์ อำเภอปราสาท รู้สึกเจ็บแปลบราวมีดโกนกรีดในท้อง เจ็บจนต้องเกร็งท้องกุมกลั้นไว้ แต่ก็เหลือจะทานทนไหวเขาตะโกนลั่น “โอ๊ย! ไม่ไหวแล้ว!” พี่น้องสมาชิกวงรีบพาร่างบิดเร่าๆ บึ่งเข้าโรงพยาบาลอำเภอปราสาทที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่ถูกส่งต่อเข้าโรงพยาบาลสุรินทร์เป็นการด่วน พอจะรู้สึกตัวหมอก็ฉีดมอร์ฟีนให้ทันที และต่อมา ญาติๆ พาย้ายมารักษาต่อที่ โรงพยาบาลรวมแพทย์สุรินทร์ เขาสลบไสลไม่ได้สติถึงสี่วัน…

สถานที่แห่งหนึ่ง… เขาพบว่าตัวเองไปปรากฏตัวในงานแสดงดนตรี เห็นเวทีขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่ มีคนดูมากมาย คล้ายๆ งานวัด มีพานดอกไม้ธูปเทียนสามอันวางอยู่ใกล้เวทีข้างล่างและผู้หญิงนั่งที่โต๊ะยาวเหมือนกรรมการจัดงานทำนองนั้น

ศิลปินพื้นบ้านหมอลำ ลูกทุ่งคณะใหญ่ หลายคนเดิน ยืน นั่ง รอขึ้นแสดงอย่างคึกคัก ที่เป็นหมอลำแต่งตัวด้วยเพชรปลอมพราวตาและยังเห็น “แดง จิตรกร” ขึ้น ร้องเพลง “เมื่อแลงว่างบ่” แล้วลงเวทีไปอย่างเซื่องๆ ซึมๆ

ดาร์กี้ถือว่าตัวเองก็ดังไม่ใช่ย่อย จะขึ้นไปช่วยร้องเพลงสนุกๆ ให้แฟนเพลงฟังด้วย แต่มีเสียง ร้องห้าม

"เอ็งยังหนุ่มยังแน่น ไม่ต้องร้องหรอก”

เมื่อเป็นอย่างนั้นเขาจึงเดินตาม แดง จิตรกร ออกไป ระหว่างนั้นเห็นพระเอกหมอลำใส่ชุดเพชรเหลืองอร่าม เขาเหลือบมองขาหมอลำเห็นใส่รองเท้าสลับข้าง ชักแปลกใจ มองที่มือเห็นมีแค่สี่นิ้ว จึงเอ่ยถาม

“เฮ้ย โตคือใส่รองเท้ากลับข้างว่ะ”

“มันก็ใส่จังซี่หละ” ตอบแล้วทำท่าอายๆ แล้วเดินหลบไปข้างเจดีย์บรรจุอัฐิ

ดาร์กี้สังเกตเห็นนักร้องหมอลำพวกนี้ ถูกเจาะหัวเป็นรูแทบทุกคน และยังมีคนพยายามจะเอาเหล็กแหลมมาเจาะหัวเขาด้วย เขาหนีและเริ่มรู้แล้วว่าที่นี่มันไม่ใช่โลกมนุษย์แน่ๆ เพ่งทางในดูก็รู้ว่าพิธีกรถือไมโครโฟนก็คือ “ยมทูต” นั่นเอง เขารู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย พอดีมีเสียงกระซิบ

“เพิ้นมาเอาซุ้มหมอลำ” หมอลำคนหนึ่งพูด

“มื้ออื่นโตสิไปเล่นไส” ดาร์กี้ถาม “ไปสิงคโปร์ ไปฮับคนอยู่พู้น” เขาถอยๆ ไปอยู่ข้างหลังผู้ชม แล้วเริ่มต้นหัวเราะดังกังวาน พร้อมตะโกนว่า

“โอ้! นี่มันหมอลำมัจจุราชตั๊วะนี่” ตะโกนเท่านั้น ก็ปรากฏชฎาเงินครอบหัวเขาและตัวขยายใหญ่ขึ้น และกลายเป็นชุดฤาษีสวมใส่แทน แล้วภาพงานผีๆ ก็วูบหายไปเหมือนปิดจอภาพโทรทัศน์

เขามาปรากฏตัวอีกที กำลังเดินผ่านบ้านหลังหนึ่ง เห็นตาภูมิ (ศาลพระภูมิ) กับยายภูมิ กำลังกินข้าวมื้อค่ำ แกเงยหน้าหันมาถาม

“ไปไหนมามืดๆ ค่ำๆ”

ไม่ทันจะได้ตอบ เพียงยกมือไหว้ตาภูมิ ก็ตื่นจากฝัน เห็นเมียซึ่งกำลังตั้งครรภ์นั่งเฝ้าอยู่กับลูกสาววัย 10 ขวบ ที่แปลกคือลูกสาวคนนี้ก็ฝันและเล่าความฝันให้ฟังแล้วต้องขนลุก

พ่อ เมื่อคืนโบว์ดูหมอลำผี มียมทูตด้วย ตัวด้ำดำ โบว์ถามว่า ยมทูตมาเอาใคร? ”

หากจะลำดับเหตุการณ์ก่อนป่วยนั้น 12 สิงหา วันแม่แห่งชาติปี 2545 วงดาร์กี้กันตรึมร็อค มีโอกาสไปร่วมแสดง ณ ทุ่งสนามหลวง กรุงเทพมหานคร หลังจากเล่น “เพลงอีซิว อีสร้อย” จบลง ดาร์กี้ ได้ประกาศต่อคนทั้งปวงอยู่ที่นั่นว่า

จะลงเวทีและเริ่มเดินเท้าสู่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และเทิดเกียรติคุณของแม่ทั้งหลาย "

ดังนั้น 8 ชีวิตนักสู่ คือ ดาร์กี้, ศักดิ์, ดาว 3 พี่น้อง “คงสุขดี” พร้อมด้วย พรพจน์ พลภักดี, ฉ่ำ ช่อมะดัน, เฉลา เงางาม, ศักดา, น้าจิต (มือซอของวง) พร้อมสำหรับการเดินเท้าบนเส้นทาง 400 กิโลเมตร ในครั้งนี้ด้วยเจตนาอันแน่วแน่...

แล้วพวกเขาก็พากันเริ่มก้าวแรก บนเส้นทาง 400 กิโลเมตรกว่าที่ทอดยาวไปเบื้องหน้าจนสำเร็จ ดาร์กี้ รักผองเพื่อน รักมนุษย์ ไปที่ไหนก็ได้ "ผูกเสี่ยวเหยเกยฮักไปทั่ว ผูกพี่ฮัก และผูกพ่อแม่ฮักกับหลายคน ทั้งเพื่อนนักร้อง นักแสดง ทหาร ตำรวจ และคนพื้นบ้าน"

เวลาเกือบครึ่งเดือนในโรงพยาบาล เมื่อออกมาบ้านพักฟื้นได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เขารู้ว่า เฉลิมพล มาลาคำ ถึงกำหนดเปิดวงอีกครั้ง หลังปักดำนาเสร็จเป็นประจำทุกปี แทนที่จะไปโรงพยาบาลขอนแก่นตามคำแนะนำของหมอ แต่... ดาร์กี้ เลือกไปช่วยงานเปิดวงของเฉลิมพลก่อน

กับ พี่หำ เฉลิมพล มาลาคำ ความสัมพันธ์นั้นลึกซึ้งนัก เพราะเคยร่วมงานกัน เคยปรับทุกข์เฉลี่ยสุขกันมา เมื่อครั้งเฉลิมพลฉีกตัวมาทำวงดนตรีของตัวเอง ถูกเจ้ากรรมนายเวรเล่นงานเสียย่ำแย่ ก็ได้ ดาร์กี้… อย่างน้อย ช่วยรับระบายความทุกข์

ดาร์กี้ ฝืนสังขารทำหน้าชื่นตาบานไปขอช่วยเพื่อนรุ่นพี่ แม้จะถูกทักท้วงให้เพียงแค่โชว์ตัวเท่านั้น เขาก็ยืนยันยังไหว นั่นเพราะ... เสียงปรบมือของแฟนเพลงปลุกพลังศิลปินในตัวเขาให้ลุกโชนขึ้นมา เขาเริ่มร้องเพลง “อีซิว อีสร้อย” ชื่อเพลงในชุดล่าสุด ต่อด้วย “หม้ายมัธยม” แม้รู้สึกเจ็บแปลบๆ ขึ้นมาอีก และมึนงงไม่น้อย ขณะที่เฉลิมพล ก็จะฟ้อนอยู่ใกล้ๆ กลัวเขาจะล้ม แต่สู้ฝืนเรียกอินโทรดนตรี “เปิดกรุอีสานใต้” ร้องไปจนจบเป็นเพลงที่สาม ด้วยอาการโงนเงนเต็มที เฉลิมพล มาลาคำ เห็นอย่างนั้นจึงรีบดึงไมโครโฟนออกและให้ลงเวทีได้แล้ว

มาหลังเวที เฉลิมพลร้องไห้สวมกอดดาร์กี้เพราะซึ้งน้ำใจไอ้น้องคนนี้นัก มันเพิ่งออกจากโรงพยาบาลแท้ๆ (16 ตุลาคม 2545) ยังอุตส่าห์มาช่วยงาน เสร็จจากนี้ไปตรวจที่ขอนแก่น และนัดผ่าตัดแต่เขาเปลี่ยนใจ

“มึงตายไม่ได้นะ…ดาร์กี้” เขาได้แต่น้ำตาซึม พูดไม่ออก เจ็บข้างในก็เจ็บ รับรู้ความซึ้งใจและเจ็บแทนของเพื่อนผู้พี่ก็ปานกัน

darkie 07

เฉลิมพล มาลาคำ นั้นลึกซึ้งกันในฐานะคนอีสานด้วยกัน เคยบุกเบิกตัวในยุคใกล้กัน เปิดตัวมักไปขึ้นป้ายออกงานด้วยกันประจำ และเคยแสดงภาพยนต์ร่วมกันหลายเรื่อง ดาร์กี้กับ เฉลิมพล มาลาคำ สนิทกันตั้งแต่ยังเป็นหมอลำธรรมดา มาเล่นอยู่สถานีวิทยุเขาก็ไปคลุกคลีอยู่ที่สถานีวิทยุด้วย จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับนักจัดรายการวิทยุไม่ว่า สัจจา ธนาภัทราสกุล, อุดมศิลป์ งามยิ่ง

กับ เอกชัย ศรีวิชัย (นักร้องรุ่นพี่สะตอแดนใต้) ก็รักนับถือกันฉันพี่น้องและนักเลง สิ่งใดเหลือบ่ากว่าแรงจะยื่นมือเข้าช่วย เรื่องนี้เมียของดาร์กี้ก็รับรู้ดี คราวหนึ่ง เอกชัย ศรีวิชัย เคยโทรมาบอกให้ดาร์กี้ ไปตรวจรักษาที่ ศูนย์มะเร็ง กรุงเทพฯ เอกชัยจะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่ในครอบครัวปรึกษากันแล้ว น่าจะลองรักษาแบบพื้นบ้านดูก่อน ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2545 หมอพื้นบ้านได้ให้ยาสมุนไพรมาต้มดื่ม และรอดูอาการสักสัปดาห์ ปรากฏว่า เพียงห้าวันเขาก็รู้สึกดีขึ้นมาจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ทว่า... ระหว่างรักษาตัวนั้น ดาร์กี้ ก็ยังรับงานแสดงอยู่เสมอ ดังนั้นสุขภาพของเขาจึงไม่อาจฟื้นฟูได้เต็มที่ กระทั่งทรุดหนักลงไป เมื่อครั้งที่ดาร์กี้ยังรักษาตัวแบบพื้นบ้านหมอให้เขาร่วม ทำวัตรเช้า, เย็น กับคนจำนวนมาก ซึ่งเขาก็ชอบเพราะปฏิบัติเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว

หลัง 4 คืนแห่งการสลบไสล พ้นความตายมาได้ เขาได้แต่สะท้อนใจในความไม่เที่ยงของสังขาร หากตายไปใครจะสืบสาน สิ่งที่เขาตั้งปณิธานไว้ จะสร้างสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านสุรินทร์ให้วัฒนาสืบไป เกรงจะไม่ได้ทำ…เกรงทำไม่เสร็จ

งานสังคมที่ดาร์กี้เข้าไปช่วยไม่ว่างานรณณรงค์กับสาธารณสุขจังหวัด และการท่องเที่ยวฯ และด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ก็ทำอย่างสม่ำเสมอ เขายังตั้งจิตอธิษฐาน.. สาธุ ขอให้ลูกรอดเถอะจะทำเรื่องนี้ให้เสร็จก่อน จะตายก็ค่อยตาย ลูกกลัวศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้จะเสื่อมและสูญหาย หากลูกหายจากโรคร้ายลูกจะขอตั้งสัจจะต่อพระอาจารย์ทุกรูป เทวดาทุกองค์ ให้คำสาบาน 5 ข้อไว้อย่างนี้

  • จะสร้างสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านให้วัฒนาสืบไป
  • จะปฏิรูปจิตวิญญาณศิลปินพื้นบ้าน
  • จะยังชีพแบบพึ่งพาอาศัยไม่เบียดเบียนใคร
  • จะบำรุงพระศาสนา ถือวัตรปฏิบัติเคร่งครัด
  • จะทำเรื่องสมุนไพร เพื่อดูแลกันในชุมชนตัวอย่าง

นี่คือ ปณิธานของเขา “ดาร์กี้” ผู้บุกเบิกจังหวะใหม่ให้กันตรึม ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเขานั่นแหละคือ "ราชากันตรึมร็อค" หรือใครจะเถียง.

สายเลือดศิลปินพื้นบ้าน

การเอื้อนโอดโหนโยนเสียง เป็นแบบแผนการร้องของเจรียง, กันตรึม ไพเราะ ครึกครื้น แต่ไม่โลดโผนโฉ่งฉ่าง ราวกับคนตัดความทุกข์ไม่หมดสิ้น แม้จะมีความสุขก็ชั่วครู่ชั่วคราว แต่ความทุกข์นั้นยาวนานนัก นอกจากบทร้องโบราณ จะบอกให้รู้ถึงวิถีประเพณีดั้งเดิม ยังฝากกฎเกณฑ์ พื้นฐานอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับปฏิบัติสืบต่อกันมาอีกด้วย

โดยเฉพาะเจรียง มีคัมภีร์เรียนโดยตรง คนเจรียงต้องรู้ถึงปรัชญาศาสนา ต้องรู้พิธีกรรมของชุมชน ส่วน กันตรึม มักเล่นเอารื่นเริงเฮฮาในงานสมรส งานเรียกขวัญ แต่จะไม่เล่นในงานศพ… ยกเว้นงานฉลองอัฐิ อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ

นี่เป็นการสอนขนบธรรมเนียม ด้วยศิลปะผ่านศิลปินแท้ๆ

ตั้งแต่เล็กๆ ทั้ง สุทิศ, สมศักดิ์, จิระพันธ์, สมชาย, แสงดาว, จิตรา, จิระภา, สุริยัน, สมถวิล และสมบัติ 10 พี่น้องร่วมอุทร ต่างได้เห็นแม่-พ่อ ร้องเจรียง กันตรึม และเห็นพ่อ-แม่ จับซอ จับกลอง ฉิ่ง ฉาบ สอนลูกศิษย์มาแต่น้อยเท่าใหญ่ ฟัง ฟัง จนคุ้นเคยเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น และเมื่อเผลอจับก็แทบจะเล่นเป็นในบัดนั้น ทั้งกลอนร้องก็ติดหูขึ้นใจ ท่ารำก็ติดตา แทบจะวาดแขนไปได้เอง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และจิตวิญญาณครอบครัว “คงสุขดี” อย่างไม่รู้ตัว

darkie 06

สำหรับ เด็กชายมับ หรือ สมชาย ยังได้สัมผัส "ดนตรีฝรั่ง" ตั้งแต่เรียนอยู่ ป. 4 หัดตีกลองชุดกับพี่สุทิศ ซึ่งเป็นคนพิการขาเปลี้ยทั้งสองข้าง สุทิศ เป็นศิลปินทางดนตรี พอๆ กับเป็นนักประดิษฐ์ สมัยนั้นนำโครงกลองชุดเก่ามาหุ้มขึงด้วยถุงใส่ปุ๋ย กระเดื่องทำจากยางรถตัดและทำเป็นราว นอกจากนำดนตรีฝรั่งเล่นคั่นกันตรึมของแม่ กระทั่ง พ.ศ. 2523 สุทิศได้ประยุกต์เครื่องดนตรีฝรั่งเข้ากับกันตรึมสำเร็จ

“มับ” ได้ช่วยตี กลองโทน ฉิ่ง สลับกับตีทอมบ้า บางครั้ง อาจได้สีซอด้วย และยังคั่นรายการด้วยเพลงร่วมสมัยเช่นกัน ทั้งคืนได้ค่าตัวคนละ 20-30 บาท เครื่องดนตรีที่เขาถนัดคือ ซอ ขลุ่ย และกลอง ยังไม่เต็มหนุ่มดี เขาก็ฉายแววยิ่งขึ้น เมื่อได้ออกงานแสดงกับคณะแม่บ่อยๆ ถึงขั้นต้องทำหน้าที่ผู้ช่วยพระเอกเล่นแทนพระเอกด้วยซ้ำ ถ้าเขาไม่ร้องคนดูจะหนี เพราะพระเอกตัวจริงมัวแต่เมาเหล้ายืนหลังเวที คนดูก็จะมารบเร้าให้ออกไปอีก

อีกสิ่งหนึ่งที่ซัมซับลึกๆ คือ วิชาวาทศิลป์ จิตวิทยา ซึ่งได้มาจากพวกหนังเร่ขายยา ซึ่งมาพักในโรงแรมที่สุรินทร์ ซึ่งเขาได้ติดสอยห้อยตามตระเวนในเขตอีสานใต้อยู่ราวปีกว่า จนถึงขั้นฉายหนังได้ พากย์หนังได้ แต่ก็เป็นเสียงแบบเด็กๆ

แม้ชีวิตยากลำบาก หิวและอิ่มเคยรู้จัก เขาก็ไม่เคยงอมืองอเท้า เห็นคุณค่าของงานและเงินอยู่ในน้ำเหงื่อและความเหนื่อยยากเข้าแลกเอา มีจัดมวยชกที่ไหนก็ขึ้นเปรียบชกมวย ได้ยกละ 20 บาท ก็ยังไว้ลายศิลปินกระทั่งไหว้ครูอ่อนช้อยสวยงาม จนได้รางวัลมาแล้ว ชกมวย…ทั้งเหนื่อยเพลียและเจ็บตัว ไม่ใช่เป็นแค่มวยไทยที่มักจะชกชนะ เพราะได้ฝึกจากพี่น้องครูมวยดี สองคนคือ จักรกฤษ ส.เทเวศร์ กับปราณี ส.เทเวศร์ เขายังได้ฝึกเทกวนโดจากครูประพันธ์ สมัยเรียนมัธยมต้นด้วย

วัยย่าง 15 ปีของ “มับ” ไม่เพียงเดินตามบารมีครูเพลงดั้งเดิมอาศัยคณะของพ่อแม่เท่านั้น ยังตั้งคณะกับพี่ๆ น้องๆ เดินสายแสดงล้อมผ้าเก็บเงินคนละ 20 บาท บางงานก็ได้เงินบางงานก็ไม่ได้ พาลูกน้องเดินสายไป ตำน้ำพริกปลาทูกินกับข้าวไป และเริ่มร้องเพลงในห้องอาหารอีกด้วย

ต่อมา พี่สุทิศ (พี่ชายคนโต) ก็เสียชีวิต… ได้สมศักดิ์ พี่คนรองทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการ และเป็นมือกลอง กีตาร์ พร้อมกันไป พี่สะใภ้ก็ช่วยดูความเรียบร้อยเรื่องเสื้อผ้า อาหาร พี่สาว (จิระพันธ์) และน้องสาว (จิตรา) ทั้งร้องนำ รำ และช่วยกันคุมหางเครื่อง ทั้งเครื่องแต่งกายและฝึกท่าเต้นช่วยกันเท่าที่จะทำได้ นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการประยุกต์เข้ากับกันตรึมคณะของแม่ “แม่ประยูรญาติแสงจันทร์” และการเริ่มต้นหล่อหลอมเป็น "ดาร์กี้ กันตรึมร็อค" ในกาลต่อมา

กำเนิดวง “กะโปโล”

แม่ทองพร นั้นได้ยอมรับนับถือให้เป็นพี่สาวใหญ่ ในฐานะครูเจรียง, กันตรึม มีชื่อเสียงมาก่อน พ่อบุญจันทร์ แม่ประยูรญาติ ก็ถือศักดิ์เป็นน้องตามวัยและคุณวุฒิ ลูกๆ ก็จับกลุ่มเป็นเพื่อนเล่น ไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ จนรวมเป็นวงสตริงในชื่อ “กะโปโล”

“เหมา” ลูกชายของแม่ทองพร เป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนให้ตั้งวงฝึกซ้อม และรับเล่นในงานต่างๆ “น้อย” พี่ชายของเหมา ถูกวางตัวให้เล่นกีตาร์คอร์ด “ปรอย” กับ “พงษ์” ตำแหน่ง คีย์บอร์ด “ศักดิ์” ถูกวางตัวให้เป็นมือกลองชุด “มับ” หรือ "ดาร์กี้" อยู่ตำแหน่งร้องนำ เพอร์คัชชั่น และแทนได้เกือบทุกตำแหน่ง พวกเขาเลือกเล่นเพลงของ คาราวาน คาราบาว และเพลงวงของฝรั่งบ้าง เช่น สกอร์เปี้ยน

วงกะโปโล ทำวงไปอย่างกระท่อนกระแท่นตามวิถีแห่งยถา ระยะเวลานั้น สังคมไม่ค่อยยอมรับอาชีพพวกนักดนตรี เห็นเป็นพวกว่างงาน สร้างความหนวกหูให้ชาวบ้าน มีแต่คนใกล้ชิดเท่านั้นเข้าใจความมุ่งมั่น และรักศรัทธาพวกเขา

“วงกะโปโล” ได้นำเอาเพลงสตริงมาเล่นร่วมกับศิลปะพื้นบ้านกันตรึม ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่คนไม่เคยเห็น สมัยนั้นคนชอบเพลงคาราบาว คาราวาน ลูกทุ่งดังๆ กะโปโล ก็เล่นได้หมด และยังสามารถเล่นละครสดหน้าเวทีได้

ความสามารถเฉพาะตัวของ "มับ" กลายเป็นตัวชูโรง ทั้งเต้นเบรกด๊านช์ และด้นกลอนสดเก่ง ได้หลายสไตล์ แต่จุดเด่นที่เห็นชัดจริงๆ ก็คือ ตัวดำๆ นี่เอง ที่ทำให้ถูกพวกนักจัดรายการเรียกขานว่า “ดาร์กี้” ซึ่งน่าจะนำมาจากยี่ห้อยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง ที่ตัวดำเห็นแต่ฟันขาวเหมือนเขานั่นเอง คำว่า “ร็อค” ต่อท้าย กันตรึม ก็น่าจะมาจากความฉกาจฉกรรจ์บนหน้าเวที ทั้งร้อง รำ เต้น ถ้าเป็นเพลงซึ้งก็เรียกน้ำตาได้เหมือนกัน ถ้าเพลงมันก็ถึงขั้นยั่วหัวใจให้คึกคักลุกมาเต้นเหยียบตีนกันจนได้ตีกันเลยทีเดียว

ด้วยความฉกาจนี่เองทำให้ไปสมัคร แข่งขันดนตรีสตริงในระดับจังหวัด แต่ก็แพ้เพียงคะแนนเดียว ถูกตัดคะแนนแต่งกายไม่สุภาพ ชื่อวง “กะโปโล” ก็บอกอยู่แล้ว… จะให้แต่งตัวดีได้อย่างไร อีกอย่างขณะนั้น ทุกคนก็ได้อิทธิพลจากวงเพื่อชีวิตไม่น้อย ซึ่งแต่งตัวปอนๆ อยู่ด้วย ขณะนั้น มี "นายทหาร" สนใจ ติดตามมาดู และได้เข้ามาชักชวนให้ไปเป็นทหารพรานเกือบครบทั้งวง

darkie 03

เสี้ยวหนึ่ง…นักรบดำ

เมื่อผิดหวังจากการแข่งขันชิงชนะเลิศวงสตริง ก็มีนายทหารมาชักชวนทั้งวงไปเล่นดนตรีให้หน่วยทหารพราน ตอนนั้นกำลังผิดหวังจากการประกวด รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม บวกกับเซ็งๆ จึงคิดว่าถ้าไปเป็น "นักดนตรีทหาร" ได้เงินเดือนด้วย ได้เล่นดนตรีสวมเครื่องแบบ ถือปืนเท่ๆ ด้วย น่าจะดีไม่น้อย หารือกันไม่นานก็ได้มติ… ตกลงใจ ไปเป็น "ทหารพราน" !

แต่สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พวกเขาตกลงใจไปเป็นทหารพรานหน่วยสันตินิมิตร น่าจะเป็นข้อแม้ที่นายทหารให้ไว้ว่า

ฝึกแค่ระเบียบแถวเท่านั้น เล่นดนตรีอย่างเดียว วันสมัครไม่ต้องไป ให้ไปรายงานตัวได้เลยที่กรม ”

แต่เอาเข้าจริงๆ ฝึกเต็มรูปแบบ แต่เพียงปีเศษเขาก็จำต้องอำลาชีวิตทหารพรานด้วยความเจ็บปวด ซึ่งก็สร้างความแกร่งให้ดาร์กี้ไปอีกขั้นหนึ่ง

พักรบ – พบรัก

สาวน้อยนั่งอยู่เคาน์เตอร์เป็น "พนักงานบัญชี" อยู่ตรงนั้น เหลือบมองนักดนตรีเล่นร้องเป็นระยะ สำหรับคนสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เช่นเธอ ฟังไม่ค่อยรู้ความหมายในเพลงพื้นบ้านสุรินทร์เอาเสียเลย แม้เขาจะเต้น จะฟ้อน อ่อนช้อยยังไง คนปรบมือให้เกรียวกราว เธอก็รู้สึกเฉยๆ กับ "เจ้าดำ" เหมือนตอตะโกคนนี้ดูท่าทางหยิ่งๆ แต่แม่รวมพร (เจ้าของร้านอาหาร) ล่ะก็ให้ท้ายจนได้ใจ ทีนักร้องคนอื่นๆ ได้ค่าพวงมาลัยแค่ห้าบาท แต่ให้เจ้ามืดคนนี้ให้ตั้งสิบบาทต่อพวง เธอยืนยันจะให้เปอร์เซ็นต์เหมือนกับทุกคน ถึงเวลาจริงเจ้ามืดโยนเงินใส่หน้าเธอ เล่นเอาเธอหน้าเสียวิ่งไปฟ้อง กลับกลายเป็นว่า "แม่รวมพร" ยืนยันต้องให้ตามนั้น เพราะ "ดาร์กี้" เป็นนักร้องแม่เหล็กดึงดูดคนเข้าร้านได้เยอะ

หมั่นไส้กันมาแต่คืนนั้น เลิกงานดาร์กี้นับเงินได้ 150 บาท เดินผ่านได้ยินเสียงแม่รวมพรพูดกับสาวแคชเชียร์กระทบมาถึงเขาว่า อย่ามายุ่งเกี่ยวกับคนอย่างเขา “แกอย่าไปยุ่งกับมันนะดาร์กี้ มันขี้เมา เจ้าชู้” ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่เคยวุ่นวายเรื่องผู้หญิงเลย จึงนึกเคืองทั้งสองคน คนหนึ่งด่าไม่รู้จริง อีกคนหนึ่งก็หยิ่งนัก นึกๆ อยากลองดี และรอโอกาสจะสั่งสอนเสียบ้าง…

ระหว่างนั้น แม่รวมพรทำกิจกรรมพร้อมกันอยู่สองร้าน อีกร้านอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองสุรินทร์ เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งเป็น ต.ช.ด. ชอบดื่มเหล้าด้วยกัน ตั้งใจมาจีบเพื่อนของแคชเชียร์ที่เขาลอบมองอยู่เหมือนกัน กระทั่งถึงคราวหนึ่ง แม่รวมพรจัดเลี้ยงให้พนักงานร้านที่ห้วยเสนง คนลงน้ำเล่นกันอยู่ดีๆ เจ้ากบ เพื่อนของ ดาร์กี้ ดันเจ้าหล่อนแคชเชียร์ที่สอดตัวอยู่ในห่วงยางลอยไปอยู่กลางน้ำ แล้วมันก็ว่ายกลับฝั่งหน้าตาเฉย แน่ละ… เธอว่ายน้ำไม่เป็นและก็กลัวมาก ร้องให้คนช่วยเสียงหลง

“กี้ ไปเอามา ๆ” กองเชียร์บอก เขาลังเลชั่วครู่ แล้วก็ว่ายน้ำไปนำเข้ามา ครั้งนี้ เธอจะมองเขาด้วยความรู้สึกดีขึ้นบ้าง… เขาเชื่อในแววตาคู่นั้น

อีกครั้งหนึ่ง แม่รวมพร ใช้ให้ดาร์กี้ไปรับนักร้องหญิงรุ่นพี่มาเล่นที่ร้านหน้าโรงพัก เธอชื่อ “สุมาลี” พ้องกับชื่อเจ้าหล่อน ดาร์กี้ ดันผ่าไปรับแคชเชียร์สาวชวนไประลึกเหตุที่ห้วยเสนงเสียอีก แขกเต็มร้าน แคชเชียร์ไม่อยู่ นักร้องดังประจำร้านก็ไม่อยู่ โดดงานไปตอนราวเที่ยงคืนเศษ

อยากให้คุณเป็นเพื่อน… เป็นทุกอย่างในชีวิต จะเป็นได้ไหม? ”

ท่ามกลางเดือนหงาย พิศดูแล้วเธอก็น่ารักดีนะ ชักเริ่มอ่อนไหวแล้วสิ ความที่อยากชนะความหยิ่งของเธอค่อยๆ มลายไป กลายเป็นความเสน่หามากกว่า เขาได้เอ่ยบอกอุปนิสัยความเป็นตัวเขาให้เธอฟัง จนถึงบทสารภาพรักกับเธอ สิ่งภายในพรั่งพรูออกราวมีคำพูดท่วมท้น ไม่อาจพูดให้สิ้นความง่ายๆ จนกระทั่งเธอก็โอนอ่อนรับจะคบกับเขาต่อไปเพื่อศึกษาดูใจกันต่อไป

ตั้งแต่วันนั้นมา เริ่มมีของขวัญยื่นให้เธอ ต้นความรักได้ค่อยๆ ผลิใบ ออกดอก ผล และสุกงอม… ทั้งคู่สมรสเมื่อปี 2533 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ

  • เด็กหญิงณัฐสุดา อายุ 12 ปี เรียนชั้น ป. 6 โรงเรียนเมืองสุรินทร์
  • เด็กหญิงภัทร์ธีรา อายุ 10 ปี เรียนชั้น ป. 4 โรงเรียนเมืองสุรินทร์
  • เด็กหญิงศิดาทิพย์ อายุ 5 ปี เรียนชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนเมืองสุรินทร์
  • เด็กหญิงชิดชนก อายุ 14 วัน

darkie 04

เกียรติประวัติ

ด้วยผลงานอันเป็นเอกลักษณ์และประจักษ์สู่สายตาประชาชน นายสมชาย คงสุขดี (ดาร์กี้ กันตรึมร็อค) จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น "อมรศิลปินมรดกอีสาน" สาขาศิลปะการแสดง (กันตรึม) พุทธศักราช 2562 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)